Focus
- พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ‘ผีเสื้อ’ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ค.ศ.1966-1969 แสดงให้เห็นผลกระทบทางการเมืองต่อชีวิตมนุษย์ในสังคม
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ เขียนถึงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ‘ผีเสื้อ’ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อย่างละเอียด
ก่อนหน้านี้ ดิฉันทราบว่าหวางเหมิงเป็นนักเขียนจีนร่วมสมัยที่มีฝีมือการเขียนคนหนึ่งบทประพันธ์ของเขามักจะสะท้อนปัญหาการเมืองการปกครองในประเทศจีน มีจินตนาการและการใช้ภาษาที่คมคาย แปลกใหม่และแหวกแนวกว่านักเขียนจีนร่วมสมัยคนอื่น
ดิฉันเคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งและเพียงเรื่องเดียวของหวางเหมิงเรื่อง “อาการของโรคโต้เถียง” ความยาวเพียง ๔๒๙ ตัวอักษรจีน (หรือหนึ่งหน้า กระดาษ) เป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างจิตแพทย์กับคนไข้ มีตอนหนึ่งคนไข้ โต้ตอบจิตแพทย์ว่า “คุณไม่มีอํานาจไล่ผม ที่นี่เป็นโรงพยาบาลไม่ใช่หน่วยงาน สันติบาล คุณจับผมไม่ได้ คุณยิงเป้าผมไม่ได้” ผู้อ่านอ่านความใต้บรรทัดนี้ได้ว่า ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐบาลบางหน่วยงาน เช่น สันติบาล มีอํานาจ ล้นฟ้า ประกาศิตความเป็นความตายของผู้คนได้
หลังจากนั้น ดิฉันก็ไม่ได้หยิบผลงานของหวางเหมิงมาอ่านอีกเลยจนกระทั่งมีโอกาสไปงานแนะนําพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายนของปีกลาย ดิฉันได้หนังสือ ผีเสื้อ ฉบับภาษาไทยมาเล่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์ได้ทรงแปลจากเรื่อง 蝴蝶 ของ 王蒙
บท “นําเรื่อง” ของพระผู้ทรงพระราชนิพนธ์แปลได้วิเคราะห์เนื้อหาของนวนิยายอย่างลึกซึ้งและให้แง่คิดนําร่องในการอ่านหนังสือเล่มนี้ว่า
“ความงดงามของเรื่องนี้อยู่ที่ความสามารถของผู้เขียน ซึ่งสะท้อนให้ เห็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์คือความยากลําบาก และความสลับซับซ้อนที่จะ เข้าใจตนเอง ยอมรับตนเอง และผสมผสานอุดมคติกับความเป็นจริงในชีวิต” ดิฉันค่อย ๆ พลิกอ่านทีละหน้า ทีละหน้า เนื้อเรื่องของนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ ทําให้ดิฉันหวนระลึกถึงภาพเก่า ๆ ที่คุ้นเคย ส่วนสํานวนพระราชนิพนธ์ แปลภาษาไทยก็สละสลวยรื่นหู ทําให้ดิฉันวางหนังสือไม่ลง อ่านรวดเดียวจนจบ
โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนจะเบื่อหน่ายการอ่านตําราวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ. นั้น พ.ศ.นี้ เหตุการณ์นั้น เหตุการณ์นี้ แต่ถ้าผู้อ่านได้อ่านนิยายเรื่อง ผีเสื้อ แล้วจะรู้สึกตรงกันข้าม ผู้อ่านเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ถึง ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ได้อย่างมีรสชาติ ผู้อ่านจะมีความรู้สึกร่วมกับจางซื่อหยวน ตัวเอกของนวนิยาย ผีเสื้อ ความรู้สึกเหล่านี้ บางครั้ง หนักแน่น บางครั้งสับสน บางครั้งล่องลอย บางครั้งวิตกกังวล บางครั้งชื่นบาน หรือบางครั้งสํานึกบาป ฯลฯ พร้อม ๆ กับการคลี่คลายสถานการณ์การเมืองใน ประเทศจีน อาจกล่าวได้ว่า ผีเสื้อ คือประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนในรูปแบบของนวนิยาย
ภาพสะท้อนชีวิตของจางซื่อหยวนนั้น มีอยู่หลายตอนที่ดิฉันเคยเป็น ผู้ชม เป็นพยานที่อยู่ไม่ห่างจากเหตุการณ์เหล่านั้นเท่าใดนัก เพราะดิฉันเคย ใช้ชีวิตในประเทศจีนถึง ๑๘ ปีเต็ม (ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ - ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๑) ดังนั้น ดิฉันจะขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านผู้มีเกียรติในวันนี้ ในฐานะ “คนรู้จัก” คนหนึ่งที่ติดตามเรื่องราวของจางซื่อหยวนอย่างใกล้ชิด โดยขอยกประเด็นเด่น ๆ บางประการดังนี้
ประเด็นที่ ๑ นวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ บันทึกเหตุการณ์สำคัญของจีนในช่วง ๓๐ ปี (ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๗๙) โดยเฉพาะ “บันทึกความเปลี่ยนแปลงของ สังคมจีนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๖๙)” และ “ช่วงฟื้นฟู และปฏิรูประหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๗๖” และ...“ช่วงสี่ทันสมัยใน ค.ศ. ๑๙๗๘” (จากบท “นําเรื่อง”) ค่อนข้างครบถ้วน ถึงแม้ผู้เขียนไม่ได้ลําดับเหตุการณ์แต่ได้ระบุปี ค.ศ. ไว้อย่างชัดเจน
เริ่มด้วย ค.ศ. ๑๙๔๙ เสียงเพลง “ท้องฟ้าในเขตปลดแอกแจ่มใส” ดังกึกก้อง สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อกําเนิด
จางซือหยวนในวัย ๓๐ ปี เป็นผู้ปฏิบัติงานของกองทัพปลดแอกประชาชน จีน เขาผ่านชีวิตการต่อสู้ ผ่านสมรภูมิรบมาอย่างโชกโชน ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รองหัวหน้าคณะกรรมการควบคุมทหารในเมืองแห่งหนึ่ง ในปีนั้น ความรักระหว่างจางซือหยวนกับไห่หยุน เด็กนักเรียนสาวได้ฟักตัวขึ้นทีละน้อย
ค.ศ. ๑๙๕๐ สงครามเกาหลีอุบัติขึ้น จีนส่งทหารอาสาสมัครประชาชนไปร่วมรบ
จางซือหยวนแต่งงานกับไห่หยุน ลูกคนแรกลืมตาดูโลก แต่แล้วทารกน้อยก็ตายไปก่อนวัยอันควร
ค.ศ. ๑๙๕๒ จีนได้มี “การรณรงค์ ๓ อย่าง” ในหน่วยงานของรัฐ กองทัพ และรัฐวิสาหกิจ คือ ขจัดการคอร์รัปชัน ขจัดการใช้จ่ายเงินหลวงและสิ่งของ หลวงอย่างสิ้นเปลือง ขจัดลัทธิเจ้าขุนมูลนาย นอกจากนั้น ยังมี “การรณรงค์ ๕ อย่าง” ในวงการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม คือ ขจัดการให้และการรับ สินบน ขจัดการเลียงชําระภาษีประเภทต่าง ๆ ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขจัด การยักยอกวัตถุดิบที่ทําให้ผลิตภัณฑ์และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ขจัดการทํา จารกรรมข่าวสารและข้อมูลเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการปราบปรามพวกที่ ในภาษาจีนเรียกว่า “เสือ” คือบรรดาหัวโจกของการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งหลาย ส่วนทางด้านการเมืองก็ดําเนินการกวาดล้างกลุ่มหูเฟิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติ
ในปีที่มีการเคลื่อนไหวครึกโครมในจีน ตงตง ลูกชายของจางซือหยวนกับไห่หยุนก็ได้ลืมตาดูโลก
ค.ศ. ๑๙๕๗ ในประเทศจีนมีการรณรงค์ต่อต้านพวกฝ่ายขวา ไห่หยุนถูกประณามว่าเป็นฝ่ายขวา ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๖ จางซือหยวนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการของนครด้วยทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน ความไม่เข้าใจกัน เป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ไห่หยุนเป็นผู้ขอหย่า ต่อมา จางซือหยวน แต่งงานใหม่กับเหม่ยหลาน ส่วนไห่หยุนก็แต่งงานใหม่กับเพื่อนนักเรียนชายของเธอ
กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศจีนมีไม่ขาด เดี๋ยวต่อสู้กับพวกฝ่ายขวาหรือพวกความคิดเอียงขวา เดี๋ยวต่อสู้กับพวกอนุรักษนิยม เดี๋ยวต่อสู้กับพวกฝ่ายซ้ายหรือพวกความคิดเอียงซ้าย และทุกครั้งมีผลกระทบต่อชีวิตชาว จีน ทั้งทางการงานและครอบครัว มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี การรณรงค์ ต่อต้านพวกฝ่ายขวากระทบชีวิตสมรสครั้งแรกของจางซื่อหยวน ซึ่งในคราวต่อมา การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมจะเป็นการล่มสลายของสถาบันครอบครัวของชาวจีน รวมทั้งครอบครัวจางซือหยวนด้วย
ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๕๙ การเคลื่อนไหว “ก้าวกระโดด” “ทุก ๆ บ้านสละ หม้อมาหลอมเป็นเหล็กกล้า” (หน้า ๕๐-๕๑)[1]
ตอนนั้นดิฉันเรียนอยู่ ร.ร.มัธยม พวกเราเด็กนักเรียนจะไปเก็บเศษเหล็ก หรือแม้แต่ไปแกะตะขอบานประตูหน้าต่างมาหลอมเป็นเหล็กกล้า ที่ ร.ร.มัธยม มีเตาหลอมเหล็กกล้า นอกจากนั้น นักเรียนทุกคนจะต้องไปทํางานในคอมมูน ประชาชน ช่วยชาวไร่ชาวนาทําไร่ไถนา สร้างอ่างเก็บน้ําา สร้างทางรถไฟ ฯลฯ
ในช่วงนี้ ชีวิตของจางซือหยวนดําเนินไปอย่างที่เหม่ยหลานภรรยาคนที่ ๒ ของเขาลิขิต คือเป็นไปตามแบบแผนของชีวิตผู้ปฏิบัติงานระดับเขาพึงได้รับ
ค.ศ. ๑๙๖๐ จีนประสบความยากลําบากทางเศรษฐกิจ ด้านหนึ่ง ผลผลิต ทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมตกต่ํา อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว “ก้าว กระโดด” อีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตเข้าขั้นดุเดือดรุนแรง จีนรณรงค์ต่อต้านลัทธิแก้ (Revisionism หมายถึง การดัดแปลงแก้ไขลัทธิ มาร์กซ-เลนิน) รณรงค์ป้องกันไม่ให้ลัทธิแก้ครองอ่านาจภายในพรรคและรัฐบาล จีนกล่าวหาโซเวียตว่าเป็นพวกลัทธิแก้ สมคบกับจักรวรรดินิยม ไม่ยอมรับโซเวียต ในบทบาทผู้นําค่ายสังคมนิยมอีกต่อไป เป็นผลให้โซเวียตเรียกร้องให้จีนชดใช้ หนี้สินที่เป็นค่าใช้จ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ในสงครามเกาหลี สาเหตุทั้งสองนี้ทําให้ จีนประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง ต้องใช้บัตรปันส่วนสําหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด คนจีนล้มป่วยเป็นโรคตับอักเสบเป็นจํานวนมาก
แม้ล่วงมา ค.ศ. ๑๙๖๔ แล้ว สุขภาพของตงตง บุตรชายจางซือหยวน ก็ไม่ค่อยแข็งแรงนัก เป็นเด็กผอมซีด แต่ถึงกระนั้น ตงตงก็ปฏิเสธความห่วงใยของพ่ออย่างไม่มีเยื่อใย
ค.ศ. ๑๙๖๔ มีการรณรงค์ทางการเมืองในจีนหรือที่เรียกว่า “สี่สะสาง” คือสะสางการเมืองให้มีความแน่วแน่ในอุดมการณ์สังคมนิยม สะสางเศรษฐกิจให้ มีการพัฒนาตามระบอบสังคมนิยม สะสางองค์กรจัดตั้งให้มีความเข้มแข็ง สะสาง ความคิดผู้ปฏิบัติงานและสมาชิกพรรคให้เป็นนักปฏิวัติตลอดกาล ขณะเดียวกันก็กำจัด “พวกแปลกปลอม” ที่จีนกล่าวว่าเป็นพวกต่อต้านระบอบสังคมนิยมต่อต้านการปฏิวัติ และต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่ง “พวกแปลกปลอม” เหล่านี้แฝงเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค หรือผู้ปฏิบัติงานของรัฐและกองทัพ
ค.ศ. ๑๙๖๖ “การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม” อุบัติขึ้นดังบท “นําเรื่อง” ได้กล่าวไว้ว่า
“ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นระยะที่การเมืองจีนสับสนมาก กลุ่มผู้นําขัดแย้งกันทางความคิดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอย่างเคร่งครัด ก่อตั้งขบวนการเยาวชนพิทักษ์แดงหรือเรดการ์ด (Red Guards) ขึ้นเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติวัฒนธรรมที่คิดว่าขัดต่อแนวทางการพัฒนาของตน”
ลมพายุใหญ่ลูกนี้โหมกระหน่ําจางซื่อหยวนจนตั้งตัวไม่ติด เขาถูก กล่าวหาว่าเป็นพวกทรยศ พวกต่อต้านการปฏิวัติ เขาถูกจับมาต่อสู้ ตงตง บุตรชายของเขาเป็นเรดการ์ด ตบหน้าเขาต่อหน้าธารกํานัลอัน “เป็นการทําลาย ขวัญกําลังใจของเขาทั้งหมด” (หน้า ๖๑) ไม่กี่วันต่อมา ไห่หยุนแขวนคอตาย และ หลังจากนั้นไม่นาน เหม่ยหลานภรรยาคนที่ ๒ ของเขาประกาศตัดความสัมพันธ์ ฉันสามีภรรยา สถาบันครอบครัวของจางซื่อหยวน ล้มครืนลงอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมนี้ ดิฉันได้ประสบพบเห็นสภาพ การต่อสู้ที่ดุเดือดรุนแรงดังเช่นจางซื่อหยวนประสบ ซึ่งในหนังสือบรรยายว่า
“แต่ทว่าในเวลานี้ ปรากฏมีจางซื่อหยวนอีกคนหนึ่งโก้งโค้งคอหด ก้มหน้ารับความผิด ใบหน้าน่าเกลียดน่ากลัว ดูแก่กว่าวัย เป็นจางซื่อหยวนที่ใคร ๆ ก็สาปแช่ง ถูกตี ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกทรมาน ตอบโต้ไม่ได้ หายใจอย่างโล่งอกไม่ได้ ไม่มีใครเห็นใจ ไม่สามารถกลับบ้านไปพักผ่อน...เป็นนักโทษ เป็นคนชั้นต่ำ เขาถูกพรรคขับไล่ ถูกประชาชนขับไล่ เป็นคนที่ถูกสังคมขับไล่เหมือนเป็นสุนัขจรจัด...พวกทหารเรดการ์ดเอาป้ายเขียนด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ติดที่หลังเขาแล้วถือโอกาสเอาแป้งเปียกร้อนกรอกเข้าไปในคอเสื้อ...” (หน้า ๕๙-๖๐)
“เขา” ผู้ที่ดิฉันเป็นประจักษ์พยานในการถูกต่อสู้นั้นไม่ใช่จางซื่อหยวน แต่เป็น “จ้าวจื่อหยาง” (趙紫陽) ขณะนั้นเขาผู้นี้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการพรรค คอมมิวนิสต์จีนประจํามณฑลกวางตุ้ง เขาถูกต่อสู้ท่ามกลางฝูงชนที่แน่นขนัดบนอัฒจันทร์สนามกีฬานครกว่างโจว ชีวิตของจ้าวจื่อหยางก็เหมือนผีเสื้อตัวหนึ่ง ในช่วงฟื้นฟู เติ้งเสี่ยวผิงได้ส่งจ้าวไปเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจํา มณฑลเสฉวน เขาแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงได้สําเร็จจนโด่งดังทั่วประเทศ จึง ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ปลายทศวรรษที่ ๘ จ้าวจื่อหยางต้องข้อกล่าวหาว่า ปล่อยปละละเลยด้านการให้ การศึกษาและด้านความคิดแก่ประชาชน ทําให้กระแสความคิดทุนนิยมแพร่ สะพัดทั่วจีน จ้าวยังถูกกล่าวหาว่าดําาเนินนโยบายโปรอเมริกา ดังนั้น เติ้งเสี่ยวผิง จึงปลดจ้าวออกจากทุกตําแหน่ง ตั้งแต่นั้นมา จ้าวได้ลงจากเวทีการเมืองในประเทศจีน
ดังบท “นําเรื่อง” ได้กล่าวถึงการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมอีกตอนหนึ่งว่า
“ทําลายวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ต่อต้านลัทธิขงจื้อ ทําลายวัดวาอาราม เผาวรรณคดี ฯลฯ”
พวกเรดการ์ดกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้แย่งชิงอํานาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยคนหนุ่มสาวเหล่านี้มีความบริสุทธิ์ใจและไร้เดียงสาทางการเมือง มีเรื่องชวนหัวหลายเรื่องที่ดิฉันพบแสดงความไร้เดียงสาของพวกเขา เช่น การเสนอให้เปลี่ยนกฎจราจร เรดการ์ดเห็นว่าสีแดงเป็นสีของการปฏิวัติ เป็นสีของการพัฒนาก้าวหน้า ดังนั้น รถราต่าง ๆ จะหยุดตรงสี่แยกเพราะไฟแดงไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นรถหยุดเมื่อไฟเขียวและไปเมื่อไฟแดง
ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนี้เอง ถ้าใครถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกปฏิปักษ์ ๓ อย่าง” คือพวกคัดค้านประธานเหมาเจ๋อตุ๊ง คัดค้านความคิดเหมาเจ๋อตุ๊ง คัดค้านแนวทางปฏิวัติของประธานเหมา ถือว่าเป็นคํากล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุด ดังได้ปรากฏว่า สามีภรรยาประกาศตัดความสัมพันธ์ ลูกประกาศตัดความสัมพันธ์กับพ่อ ใครที่ทนการบีบคั้นไม่ได้ ก็จะฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ของการพังพินาศของสถาบันครอบครัวที่สืบทอดตามลัทธิขงจื๊อมาหลายพันปี
ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๗๑ เป็นช่วงของการฟื้นฟูและปฏิรูป จางซือหยวนได้รับอิสรภาพ เขาขอมาใช้ชีวิตและทํางานเยี่ยงชาวไร่ชาวนาที่หมู่บ้านดอย เป็นโอกาสที่ได้ใกล้ชิดตงตงบุตรชาย แทนที่จะไปทํางานที่ “ร.ร.ผู้ปฏิบัติงาน ๗ พฤษภาคม” พ่อลูกคู่นี้จึงมีโอกาสปรับตัวเข้าหากัน
เม.ย. ค.ศ. ๑๙๗๕ จางซือหยวนได้รับตําาแหน่งคืน เขากลับมาอยู่ในเมือง เหม่ยหลานภรรยาคนที่ ๒ ขอคืนดี แต่จางซื่อหยวนปฏิเสธ
ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๗๖ มีการรณรงค์ “ตอบโต้การพลิกคดีของพวก เอียงขวา” หมายถึง ต่อต้านการแย่งชิงอํานาจของพวกฝ่ายขวา จางซือหยวน เกือบจะต้องกลายเป็น “อาชญากรการเมือง” อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เขาโชคดีที่รอดมาได้
ปี ๑๙๗๖ เป็นปีที่ประเทศจีนสูญเสียผู้นําอาวุโสถึง ๓ ท่านคือ ประธาน เหมาเจ๋อตุง นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และนายพลจูเต๋อ
ค.ศ. ๑๙๗๗ “แก๊งสี่คน” ซึ่งหนึ่งในสี่คือ มาดามเจียงชิง ภรรยาของ ประธานเหมา ถูกฮั้วกั้วเฟิงกับพวกปราบลงอย่างราบคาบ
ในปีเดียวกันนี้ จางซือหยวนได้เลื่อนเป็นรองเลขาธิการพรรคประจํามณฑล
ค.ศ. ๑๙๗๙ จีนเข้าสู่ยุคของการนําประเทศสู่ “สี่ทันสมัย” คือ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการทหารการป้องกัน ประเทศที่ทันสมัย
จางซือหยวนดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการในรัฐบาลกลาง พํานักที่ปักกิ่ง เขากลับมาเยี่ยมหมู่บ้านดอยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอแต่งงานกับคุณหมอชีว เหวิน แพทย์ประจําหมู่บ้านดอย แต่เธอปฏิเสธที่จะเป็นภริยารัฐมนตรีช่วย เป็น ช้างเท้าหลังให้จางซื่อหยวน ในปีนั้นชีวิตชาวหมู่บ้านดอยสุขสบายขึ้น มีไฟฟ้าใช้
“เพลงฮิตจากฮ่องกงกําาลังเป็นที่นิยมทั่วประเทศ” (หน้า ๔๙) ถึงแม้ เพลงประเภทนี้ห้ามร้อง แต่ก็ห้ามไม่อยู่ ดังที่ผู้เขียนเองกล่าวอย่างเป็นห่วงว่า เพลง “ความอ้างว้างแห่งความรัก” กลับมาพิชิตเพลง “สังคมนิยมนี้แสนดี” (หน้า ๔๙-๑๐๒) อันสะท้อนถึงวัฒนธรรมตะวันตกแฝงเร้นเข้ามามีอิทธิพล ในชีวิตคนจีน แม้กระทั่งจางซือหยวนซึ่งเห็นว่าเพลงฮ่องกงมีรสนิยมไม่สูง แต่เหตุไฉนเขาเองกลับร้องเพลงเบาๆ เป็นเพลงฮ่องกงที่เขาได้ยินระหว่างการเดินทาง คือเพลง “รักที่เดียวดาย” (หน้า ๑๘๗-๑๘๘)
นวนิยายจบลงพร้อมกับเสียงเพลง “ลูกขนไก่สื่อมิตรภาพ” (หน้า ๑๘๘-๑๘๙) ที่ดังกระหึ่มเนื่องจากจีนดําเนินนโยบายการกีฬาการทูต โดยเปิดสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นด้วยการแข่งขันปิงปอง และสถาปนาความสัมพันธ์กับ อเมริกาด้วยการแข่งขันแบดมินตัน อันเป็นที่มาของเพลง “ลูกขนไก่ที่ขาวสะอาด” ซึ่งประกาศให้ทั่วโลกรับรู้การดําเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศสู่โลกกว้าง
นวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ ได้จบลงในปี ค.ศ. ๑๙๗๙
จริงอยู่ ผู้อ่านซึมซับความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนทีละน้อยจากการบรรยาย ของผู้เขียน ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตจริงของตนเองผ่านจางซื่อหยวนตัวเอก ของเรือง แต่สําหรับคนที่ไม่เคยติดตามสถานการณ์การเมืองของจีนมาก่อนอาจจะ สับสน นอกจากการเขียนสลับฉากระหว่างอดีตและปัจจุบันแล้ว ยังมีชื่อเฉพาะ ขบวนการและการรณรงค์ทางการเมืองของจีนอีกมากมาย เช่น “การรณรงค์ ๓ อย่าง” “๕ อย่าง” “สี่สะสาง” “ลัทธิแก้” ฯลฯ สําหรับผู้ที่อยากรู้แจ้งเห็นจริง ก็คงต้องติดตามศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างต่อไป
ประเด็นที่ ๒ ตัวเอกของนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ เป็นปุถุชนที่มีเลือดเนื้อและชีวิตชีวา
จางซือหยวน อาจจะเป็นหวังซือหยวนหรือหลี่ซือหยวนหรือแซ่อื่นใดก็ได้ มีเป็นเรือนแสนเรือนล้านในประเทศจีน เขาเป็นผู้ปฏิบัติงานรุ่นเก่าที่ยึดมั่น ในอุดมการณ์ปฏิวัติ เขากล่าวว่า
“การปฏิวัติไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ก็ไม่ใช่การ ปฏิวัติ ถ้าทํางานล่วงเวลาไป ๑ นาที การปฏิวัติทั่วโลกก็จะประสบความสําเร็จก่อนกําหนดเป็นเวลานาทีหนึ่ง พระอาทิตย์ก็จะส่องสว่างในแหล่งเสื่อมโทรม ที่นิวยอร์กเร็วขึ้นอีกนาทีหนึ่ง ปัญหาที่ผู้แทนเกาหลีจะพูดเกี่ยวกับความยากจนในที่ประชุมเรื่องการพิทักษ์สันติภาพก็จะหมดไปเร็วขึ้นอีกนาทีหนึ่ง” (หน้า ๓๗)
จางซือหยวนตระหนักว่า
“เราไม่ใช่คนธรรมดา เราเป็นสมาชิกพรรค เป็นบอลเชวิก” (หน้า ๓๘)
ผู้เขียนบรรยายจุดยืนของจางซือหยวนว่า
“เขาเป็นคนที่มีจุดยืนที่มั่นคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง มีใจยุติธรรมไม่เห็นแก่ตัว” (หน้า ๔๕)
แต่เมื่อตําแหน่งหน้าที่การงานมีระดับสูงขึ้น จางซื่อหยวนก็เหมือนปุถุชนทั่วไปคือ
“เขาคิดเข้าข้างตนเองว่า การที่เขากลัวสูญเสียตําแหน่งผู้นํานั้น ไม่เพียง แต่ว่าจะกลัวสูญเสียความสะดวกสบายในชีวิต เขากลัวการสูญเสียตําแหน่งสู้รบ อันเป็นตําแหน่งสําคัญในกองทัพอันยิ่งใหญ่ของพรรค ลักษณะตําแหน่งย่อม มีความสําคัญกว่าตัวบุคคล ตลอดเวลาหลายปี เขาเป็นผู้นําการเคลื่อนไหว ทางการเมืองหลายครั้ง เขาเคยได้เห็นกับตาถึงความทุกข์ของคนที่สูญเสียตําแหน่งการที่ถูกประณามและถูกตัดสินลงโทษนั้นเป็นพลังที่น่าหวาดกลัว ซึ่งแข็งแกร่ง มากกว่า ๑,๐๐๐ เท่า เมื่อเทียบกับคําสั่งของพระเจ้า คําสั่งของพญายมที่มา คร่าวิญญาณไป...” (หน้า ๕๔-๕๕)
นอกจากนั้น จางซือหยวนยังติดนิสัยของผู้มีอํานาจ
“เขาชักจะเคยกับการแบ่งคนเป็นระดับผู้ใหญ่และผู้น้อย พวกหน่วย ใต้บังคับบัญชาจะแสดงความเคารพเขาอย่างอ่อนน้อม เขามักจะโมโหง่าย ๆ โดยไม่มีใครกล้าโต้แย้ง และนิสัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของความน่าเกรงขามอํานาจ อิทธิพลของเขา” (หน้า ๗๑)
ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ เขามิได้สะทกสะท้านเสียงลั่นกลองรบของพวกเรดการ์ด “เขามีความรู้สึกเครียดแต่ก็ดีใจ เขารู้ดีว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้ มักจะไร้ความปรานี แต่ว่ายิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์” (หน้า ๕๖)
จางซือหยวนเคยผ่านขบวนการการเมืองมาแล้วหลายครั้ง เขามีประสบ การณ์มากมาย จึงรู้ว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้ไร้ความปรานี และแม้เขาจะไม่ได้ร่วม กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่กําลังต่อกรกันเพื่อแย่งชิงอํานาจ แต่ตําแหน่งเลขาธิการ พรรคทําให้จางซือหยวนถูกพัดเข้าไปในกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก
“มีจางซือหยวนอีกคนหนึ่งที่ถูกประณาม ถูกด่า ถูกสาปแช่ง ถูกถ่มน้ำลายรด ถูกเรียกว่าเป็นพวกเดินทางสู่ระบบทุนนิยม ผู้ทรยศ พวกที่ต่อต้าน “สามประการ” ” (หน้า ๕๗-๕๘)
จางซือหยวนรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกะทันหันมาก ไม่ได้นึกฝันว่าจะเป็น ดังนั้น และไม่เข้าใจเลยว่าทําไมเป็นดังนั้น
“ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาถามตัวเองอยู่ คิดร้อยครั้งก็ยังไม่รู้คําตอบ เขา จึงสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย เป็นการเข้าใจผิด เป็นความผิดพลาด เป็นการเล่นตลกอย่างรุนแรง” (หน้า ๖๐)
เขาไม่เชื่อว่าตนจะกลายเป็นศัตรูของพรรคของประชาชน เป็นพวกอิทธิพลมืดดังค่ากล่าวหา ดังนั้นเขาให้กําลังใจตนเองว่า
“จะต้องเด็ดเดี่ยวอดทนให้ได้ ต้องทนการตรวจสอบให้ได้" (หน้า ๖๑) มรสุมการเมืองผ่านพ้นไป จางซื่อหยวนก็เหมือนกับผู้ปฏิบัติงานที่เคย ต้องโทษข้อกล่าวหาการเมือง แล้วเมื่อได้รับอิสรภาพ เขาเป็นผีเสื้อตัวน้อยที่ เมื่อเคยบินสูงแล้ว ย่อมบินต่ำลงสู่พื้นดิน
“เขามาที่หมู่บ้านดอยอย่าง “คนสามัญ” ไม่มีตําแหน่งราชการ ไม่มี อ้านาจ ไม่มีความชอบและไม่มีความชั่ว เขามาตัวเปล่าไม่มีอะไร เหมือนเมื่อ เขาลืมตาดูโลกที่ดึงดูดคนและก็ทําให้คนหม่นหมอง เมื่อ ๕๐ ปีก่อน เด็กเกิด ใหม่ไม่มีเครื่องปกปิดร่างกายแม้แต่ผ้าอ้อมไม่ใช่หรือ? เวลาอยู่บ้านดอยเขาไม่มี อะไรเลย” (หน้า ๔๘)
ที่หมู่บ้านดอยนี้เองที่เขาทําความรู้จักตนเอง ได้รับบทเรียนอันมีค่าจากการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดรุนแรง
“ที่หมู่บ้านนี้เช่นกัน ที่เขาค้นพบความฉลาดของตนเองรวมทั้งสําเหนียก และเกียรติยศใน ๑๗ ปีที่ผ่านมา เขาเป็นที่นับถือทั่ว ๆ ไปทุกหนทุกแห่ง แต่ชั่วพริบตาเดียวความนับถือกลายเป็นความกล่าวร้ายป้ายสี ความรุนแรงทําลายล้าง” (หน้า ๙๐)
ในตอนหลัง จางซือหยวนได้กลับคืนสู่ฐานะตําแหน่งเดิมและเลื่อน ตําแหน่งสูงขึ้น แต่จากประสบการณ์ชีวิต เขาตระหนักดีว่า
“เมื่อเคยถูกทําลายไปครั้งหนึ่งแล้ว จะกลับคืนเหมือนเมื่อก่อนนี้เห็นจะเป็นไปไม่ได้” (หน้า ๑๑๓)
“การย้อนกลับไปหาวันวานนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เขาต้องใช้ชีวิตที่เหลือของเขาเพื่อวันพรุ่งนี้ เขาต้องรีบช่วยวันพรุ่งนี้อย่างรีบด่วน” (หน้า ๑๑๘)
อีกตอนหนึ่ง จางซือหยวนกล่าวว่า
“เขาทํางานหนักเพื่อพรรคเพื่อประชาชน เขาไม่ได้ลืมไปว่าจะทําให้งานของตนดียิ่งขึ้นเพื่อประชาชนเพื่อหมู่บ้านดอย...แม้ว่าระบบการเมืองปัจจุบัน
จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง เขาก็คิดไม่ออกว่าจะมีนโยบายอะไรหรือวิธีการใดที่ดี สําหรับประชาชนมากกว่านี้” (หน้า ๑๔๑-๑๔๒)
ไม่มีใครทราบว่านโยบายฟื้นฟูและปฏิรูปของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่จางซือหยวนปรารถนาอย่างแรงกล้า ขออย่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย เขากล่าวว่า
“ถ้านโยบายไม่เปลี่ยนแปลงและดําเนินไปเช่นนี้ ขอแต่ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ” (หน้า ๑๘๐)
ถึงจะมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วย จางซือหยวนคงเป็นจางซือหยวน คนเดิมที่มีได้เปลี่ยนแปลง เขายังคงเป็นชาวหมู่บ้านดอย เป็นตัวของตัวเอง ละทิ้งความเป็นเจ้าขุนมูลนาย เขาจึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวหมู่บ้านดอย
“เป็นความรู้สึกที่ดีจริง ๆ นี่ราวกับว่าเขาไม่เคยห่างจากหมู่บ้านนี้เลย สําเนียงเดียวกัน มิตรภาพของคนบ้านเดียวกัน มีหัวใจอย่างเดียวกัน ผลักประตูบ้านไหนก็เข้าไปได้ หยิบตะเกียบบ้านไหนก็กินได้ ล้มตัวลงบนเตียงไหนก็นอนหลับได้ จนกระทั่งหมาแก่ ๆ หลายตัวไม่ลืมเขา พวกมันวิ่งกระดิกหางเข้ามาหายกขาหน้ากระโดดเกาะขาเขา หมาจมูกเปียกชื้นเหล่านี้ทําเสียงออดอ้อน” (หน้า ๑๕๘)
ชาวหมู่บ้านดอยก๋าขับจางซือหยวนว่า
“อย่าลืมพวกเรา” (หน้า ๑๘๑)
คุณหมอชิวเหวินก็ให้กําลังใจเขาว่า
“ฉันเพียงแต่หวังว่าคุณจะทําดีกับประชาชนมาก ๆ ไม่ทําความชั่ว...คุณทําดี พวกชาวบ้านก็จะไม่ลืมคุณ” (หน้า ๑๗๙)
จางซือหยวนผ่านมาแล้วทั้งร้อนและหนาว สุขและทุกข์ สะดวกสบาย และยากลำบาก ความเป็นและความตาย เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาพานพบสลับซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ แต่จางซือหยวนยังคงเป็นจางซือหยวนที่มั่นคงในอุดมการณ์ เขากล่าวว่า
“ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติเป็นสายโซ่ติดกันไม่หยุด การปฏิวัติเป็นงานของคนหลายรุ่น การรับช่วงงานไม่ได้มีความหมายว่าจะต้องยึดกรอบตายตัว เราจะต้องทดสอบทฤษฎี เราจะต้องแผ้วถางเส้นทางเพื่อการพัฒนาทฤษฎีนั้น...” (หน้า ๑๗๐)
และจางซื่อหยวนได้สรุปว่า ผู้ปฏิบัติงานที่ดีนั้นควรจะเป็นผู้ที่ตีนติดดิน
“ถึงเครื่องบินจะบินสูงเท่าไร ก็มาจากแผ่นดิน ก็ควรจะต้องสู่พื้นดิน ไม่ว่าคนเราหรือผีเสื้อก็เหมือนกันล้วนเป็นบุตรของผืนแผ่นดิน” (หน้า ๑๘๓)
จางซือหยวนเป็นเหมือนเครื่องบินและเป็นเหมือนผีเสื้อ เขาบินสูงได้และบินต่ําลงสู่พื้นดิน เขาเป็นบุตรของผืนแผ่นดิน เขาแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์ ประโยชน์อันแท้จริงได้ ก็เพราะเขาเข้าใจตนเองและสังคมของตน
ถ้าในหนังสือเล่มนี้มีแต่จางซือหยวนที่เป็นนักปฏิวัติ ก็จะจืดชืดไร้วิญญาณของความเป็นมนุษย์และปุถุชน ผู้เขียนแต่งเติมสีสันของนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ ด้วยความรักระหว่างจางซือหยวนกับไห่หยุน เป็นความรักที่เห็นแก่ตัวและเย็นชาของจางซือหยวน ซึ่งต่างจากความรักของไห่หยุนที่เร่าร้อนและเปี่ยมด้วยศรัทธาจางซือหยวนไม่ค่อยคํานึงถึงความรู้สึกละเอียดอ่อนของภรรยา ความมุทะลุ “บ้า” งานปฏิวัติเป็นเสมือนระเบิดเวลา และก่อเกิดช่องว่างระหว่างเขากับไห่หยุน แต่เมื่อเขามีเวลาสํารวจตนเอง จางซือหยวนได้ตัดสินพิพากษาตนเองว่า
“ฉันยอมรับการตัดสินลงโทษ
เธอไม่มีความผิด
ไม่ เสียงรถรางไฟฟ้าดังตึงตัง เป็นเพลงไว้อาลัย ความอ่อนเยาว์และ ชีวิตของไห่หยุน ตั้งแต่วันที่เธอพบฉันที่สํานักงาน ชีวิตของเธอถูกลิขิตให้ดับสลาย” (หน้า ๗๗)
นอกจากนี้ ยังมีความรักของพ่อลูก ระหว่างจางซื่อหยวนกับตงตง มีแต่ความเหินห่างและไม่เข้าใจกัน คนรุ่นลูกอย่างตงตงตัดพ้อว่า
“ตั้งแต่เกิดมา เราก็ได้รับการเรียนการสอนให้เชื่อฟังพ่อแม่ ฟังครูอาจารย์ ฟังหัวหน้าสันนิบาตเยาวชน ฟังเสียงชาวนาชั้นกลาง ชั้นล่าง ฟังพวกข้าราชการ ชั้นผู้น้อย ต่อไปนี้เราจะต้องสอนตัวเองได้แล้ว เราต้องเลือกคําที่ตัวเองอยากพูด” (หน้า ๑๖๙)
ที่ตงตงกล่าวว่า “เราจะต้องสอนตัวเองได้แล้ว เราต้องเลือกค่าที่ตัวเองอยากพูด” เป็นเสียงร่วมของคนรุ่นใหม่ในเมืองจีน เมืองไทยหรือมุมใด ๆ ในโลกปรารถนาแสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ของตนเองแล้ว
ตัวละครอื่นในนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ แม้จะมีไม่มาก แต่ทุกคนมีชีวิต จิตใจ สามารถสร้างจินตนาการได้ เช่น ไห่หยุน “ดวงตามีประกายเร่าร้อน เชื่อง่าย และมีชีวิตชีวา” ความศรัทธาของไห่หยุนมีมากเท่าใด ความผิดหวังย่อมมีมากเป็นทวีคูณ หรือ “รอยย่นบนหน้าผากทําให้มองดูด” ของเหม่ยหลาน หรือ “ไอ้อ้วน จมูกแดง” ที่ชวนจางซื่อหยวนเล่นไพ่โป๊กเกอร์ในรถไฟ หรือ “เด็กชายตัวอ้วน อายุ ไม่เกิน ๕-๖ ปี” ที่รู้จักใช้อํานาจแล้ว หรือ “ชายผมยาวรูปร่างสูงใหญ่” ที่รังแก จางซือหยวน หรือภรรยาของพี่ชวนผู้ที่ “ร่างกายผอมเล็ก อายุเกือบ ๒๐ ปี ไล่จับไก่ ท่าทางปราดเปรียวพอ ๆ กับนักกีฬาวอลเลย์บอล” ฯลฯ ผู้อ่านเห็นบุคคลเหล่านี้ ได้ทุกหนทุกแห่งในประเทศจีน ในเมืองและในชนบท ในสวนสาธารณะ ตามท้องถนน ในรถไฟ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
ประเด็นที่ ๓ ศิลปะการประพันธ์
๑. การอ้างอิงความคิดปรัชญาโบราณของจีน
ในบท “หมู่บ้านดอย” ผู้เขียนได้บรรยายไว้ว่า
“จวงเชิงฝันว่าตนเองกลายร่างเป็นผีเสื้อ ค่อย ๆ บินไปมา เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วไม่แน่ใจ เขาไม่ทราบชัดว่าตัวเองเป็นอะไร? หรือจวงเชิงตื่น ผีเสื้อฝัน? หรือว่าผีเสื้อตื่น? จวงเชิงเป็นความฝัน? เขาเป็นจวงเชิงในฝัน เขากลายเป็น ผีเสื้อ หรือว่าแต่ก่อนเขาเป็นผีเสื้ออยู่แล้ว ในความฝันจึงถือว่าตนเองเป็นคน คือเป็นจวงเซิง” (หน้า ๘๓)
ใครคือจวงเซิง จวงเซิง (庄生) หรืออีกนามหนึ่ง จวงจื่อ (庄子) เกิดก่อน ค.ศ. ๓๖๙-๒๘๖ เป็นนักปรัชญาสมัยจ้านกั้วหรือเมื่อ ๒,๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นคนอาณาจักรซ่ง (王國) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน ท่านเป็นศิษย์ที่สืบทอดของปรัชญาเมธีเหลาจื่อ (老子) แห่งลัทธิเต๋า (道家) ความเชื่อของปรัชญาสํานักนี้ คือ เต๋า(道) หรือมรรค เป็นสิ่งที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สถิตย์อยู่ทุกอณูของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เกิดเองดับเอง สรรพสิ่งต่าง ๆ ในสากลโลกรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน หวางเหมิงได้ยืมความฝันของจวงเชิงมาเปรียบเทียบกับ วิถีชีวิตของจางซื่อหยวน เดี๋ยวเป็นนักปฏิวัติ เดี๋ยวกลายเป็นผู้ทรยศต่อการปฏิวัติ เดี๋ยวเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับสูง เดี๋ยวกลายเป็นนักโทษการเมือง ถูกจองจํา เดี๋ยวมี ชีวิตสุขสบาย เดี่ยวต้องทํางานหนักและยากลําบากที่หมู่บ้านดอย เดี่ยวได้ดํารงตําาแหน่งรัฐมนตรีช่วย ฯลฯ ชีวิตของจางซือหยวนเหมือนฝัน ทั้งฝันดีและฝันร้าย และเหมือนผีเสื้อน้อย เดี๋ยวบินสูงเดี่ยวบินต่ำ ไม่มีอะไรอยู่คงที่ ไม่มีอะไรคงความแน่นอน สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง การอ้างอิงความคิดของจวงเซิงในเรื่อง ความฝันและผีเสื้อจึงกลายมาเป็นชื่อนวนิยายเรื่องนี้
นอกจากความรอบรู้ทางวัฒนธรรมจีนโบราณอย่างดีแล้ว หวางเหมิงยังมีความรอบรู้เรื่องต่างประเทศอีกด้วย ในนวนิยายมีการกล่าวถึง “โพรมีธุส” (หน้า ๒๘ หรือ “โพรเมเตอุส” เทพเจ้ากรีกที่นําความสว่างความสุขและเสรีภาพมาสู่ปวงชน เมื่อกล่าวถึงหลิวหูหลานวีรสตรีจีนแล้ว ก็พูดถึงโจวหย่า (หน้า ๓๓) หรือโซย่า ๓๐๙) วีรสตรีโซเวียต และยังได้กล่าวถึงเบอร์เคอชาจิน (หน้า ๓๑ หรือพาเวล คอร์ซากิน) บุคคลในวรรณกรรมของโซเวียต ฯลฯ ดังนั้น ผู้อ่านต้อง “ทําการบ้าน” ตลอดเวลาขณะอ่านว่าบุคคลเหล่านี้เป็นใคร ทําอะไร เหตุใด ผู้เขียนจึงกล่าวถึงโยงใยเรื่องใด
๒. การลำดับเรื่องเฉกเช่นการตัดต่อภาพยนตร์
๒.๑ ค่อนข้างกระชับ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ดําเนินภายใน ๓๐ ปีได้บรรจุลงในหนังสือที่มีความยาวประมาณ ๕ หมื่นตัวอักษรจีน ด้วยวิธีการประพันธ์ที่กระชับเช่นนี้ จึงทําให้ขาดรายละเอียดของเหตุการณ์ หรือผู้เขียนอาจคิดว่าผู้อ่านชาวจีนรู้เรื่องเหล่านี้ดีแล้ว ซึ่งย่อมจะต่างจากผู้อ่านในต่างประเทศ และประการสําคัญ ผู้เขียนต้องการเน้นเฉพาะสภาพช่วงการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม ช่วงฟื้นฟูและปฏิรูปและช่วงต้น ๆ ของสี่ทันสมัย (ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๗๙) ดังนั้น เรื่องอื่นจึงเป็นเรื่องรองที่กล่าวถึงเพียงสังเขป
๒.๒ การสลับภาพของอดีตและภาพปัจจุบัน หน้าแรกของนวนิยาย เริ่มด้วยปัจจุบัน จางซือหยวนในตําแหน่งรัฐมนตรีช่วย เขาหวนระลึกความหลัง หวนระลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นความทรงจําที่เต็มไปด้วยความอ่อนหวาน ความขมขื่นหรือความร้อนแรงประดุจไฟ หลากรสหลากสีสัน หน้าสุดท้ายของนวนิยายได้กลับมาสู่ความเป็นปัจจุบันอีก
การสลับภาพอดีตและปัจจุบันดังการเดินเรื่องของภาพยนตร์ ทําให้ได้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยแบบย่นย่อ ผู้อ่านต้องใช้ความตั้งใจติดตามเหตุการณ์ มากกว่าการอ่านนวนิยายทั่วไป
๒.๓ การไม่เป็นดังคาดและไม่สมหวัง ผู้อ่านใจจดจ่ออยากให้จางซื่อหยวน กับตงตงพ่อลูกคู่นี้ใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองหลวง หลังจากจางซื่อหยวนได้เป็นรัฐมนตรีช่วยแล้ว และผู้อ่านใจจดใจจ่ออยากให้จางซื่อหยวนสมหวังกับคุณหมอชิวเหวิน แต่แล้วเรื่องราวมิได้คลี่คลายในลักษณะศรีสุขนาฏกรรม ตงตงขอเป็นครูในอําเภอแห่งหนึ่ง ส่วนชิวเหวินก็ขอเป็นหมอในหมู่บ้าน ช่วยลดความทุกข์ยากของชาวบ้าน วิธีการประพันธ์แบบนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับการเดินเรื่องของ ภาพยนตร์ ที่หักเหจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ในทางตรงกันข้ามกับความปรารถนาของผู้ชมหรือผู้อ่าน
๓. การคลี่คลายเรื่องราวในนวนิยายมีแสงสีเสียงประกอบ
ดังฉากหนึ่งในอุปรากรจีน
“เสียงเพลงดังกึกก้องไปจรดฟ้า..ตีกลองเอวดังไปถึงสวรรค์” (หน้า ๒๗)
ในนวนิยายนี้ มีการกล่าวถึงเสียงเพลงและชื่อเพลงต่าง ๆ ไม่ต่ํากว่า ๑๐ เพลง เสียงเพลงประสานเสียงบ้าง เสียงเพลงกวางตุ้งบ้าง เดี๋ยวเสียงเพลงปลุกใจ สลับกับเสียงเพลงฮ่องกง หรือเสียงเพลงสื่อมิตรภาพ แต่ละเพลงที่ผู้ประพันธ์เขียนถึงมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ผู้อ่านจะได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้แว่วในโสตประสาทขณะอ่าน
ส่วนสีนั้น มี “ดอกไม้สีขาว” “ผ้าแพรแดง” “ไข่ไก่สีเหลืองทอง" “ผักกุยช่ายสีเขียวเป็นประกาย” “กระดาษเขียนสีเหลืองตัวหนังสือสีแดง” “ฟ้าสีคราม เมฆสีขาว...สีนํ้าเงินยิ่งกว่าไพลิน สีขาวยิ่งกว่าหิมะ” จัดได้ว่าเป็นสีสันที่ฉูดฉาดดั่งเสื้อผ้าอาภรณ์ของผู้แสดงอุปรากรจีน
๔. ภาษาที่สัมผัสได้
๔.๑ กลิ่น เช่น “กลิ่นยาสูบ” “กลิ่นเหงื่อไคล” “กลิ่นต้นกุยช่ายสด ๆ รู้สึกว่ามีกลิ่นเผ็ด ๆ” “กลิ่นต้นหอมออกมาจากลมปาก” ฯลฯ
๔.๒ ความรู้สึก เช่น “ม้านั่งแข็ง ๆ” (ในรถไฟ) “เบาะที่อ่อนนุ่ม” (ในรถจี๊ป)
๕. ภาษาของการเปรียบเทียบ
๕.๑ ผู้เขียนนําปรัชญาของความขัดแย้งในสรรพสิ่งมาอธิบายให้ผู้อ่าน เข้าใจได้ไม่ยากนัก เช่น
“ลมย่อมปะทะลม น้ำย่อมปะทะน้ำ คนกับคนก็ขัดแย้งกัน ตัวเองก็อาจจะสร้างความลําบากให้ตนเองได้ ชีวิตในโลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ดวงจันทร์
ที่แหว่งเว้าก็จะเต็มดวงได้ คุณจะเชื่อไหมว่า ดวงจันทร์เต็มดวงนี้ก็คือจันทร์ข้าง แรมที่แหว่งเว้ามืดสลัว" (หน้า ๔๓)
๕.๒ ผู้เขียนบรรยายภาพต่างระหว่างภายในจิตใจกับการแสดงออก ภายนอกว่า
“เป็นเวลา ๙ ปีมาแล้ว ที่จิตใจของเขาราบเรียบราวกับทะเลสาบ ถึงแม้ว่าในส่วนลึกจะเป็นวังน้ำวน มีระลอกคลื่นหรือแม้กระทั่งมีภูเขาไฟระเบิดฉับพลัน ก่อให้เกิดความพินาศ แต่ทว่าผิวทะเลสาบมักจะราบเรียบอยู่เสมอ ผิวทะเลอันราบเรียบนี้งดงามยิ่งนัก ทุกคนจะมองเห็นเงาของตัวเองได้ เงากลับหัวในน้ำมักจะสวยงามกว่าความเป็นจริง" (หน้า ๑๑๐)
๕.๓ ผู้เขียนเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกว่า
“ชาวคอมมิวนิสต์ ก็คือ คอมมิวนิสต์ แม้แต่ลูกก็จะมาแบ่งเป็นทรัพย์สิน ส่วนตัวไม่ได้...เด็กที่ไม่มีแม่เหมือนเสื้อผ้าไม่มีคนใส่ แต่เด็กที่ไม่มีพ่อ คือคนไม่มีเสื้อใส่” (หน้า ๖๙)
๖. การบรรยายธรรมชาติให้ความรู้สึกสวยงามสมจริงดั่งภาพวาด
ผู้อ่านจะรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูชุนเทียน คนจีนมักจะเปรียบชีวิตมนุษย์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเหมือน ๔ ฤดูกาล ความทุกข์ยากลําบากเหมือนดังฤดูหนาวที่หนาวเหน็บ แต่ถึงกระนั้นฤดูหนาวก็จะต้องผ่านพ้นไป ฤดูชุนเทียนหรือฤดูใบไม้ผลิก็จะเข้ามาเยือน ในนวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนได้บรรยายฤดูชุนเทียนไว้ไพเราะหลายตอน
“กิ่งไม้จะผลิใบไม้ทุก ๆ ปีในฤดูชุนเทียน เจ้าใบไม้ที่สุดอ่อน เต็มไปด้วย ความมีชีวิตชีวา เจ้าพอใจที่จะรับฝอยฝนในฤดูชุนเทียนและแสงตะวัน ในยาม
เจ้าแกว่งไหวด้วยสายลมอบอุ่นในฤดูชุนเทียน เจ้าเรียกหานกมาร้องเพลงเจื้อยแจ้ว...ในยามเย็นเมื่อเดินเข้ามาใกล้ต้นไม้จะได้ยินเสียงอ่อนหวานละมุนละไม
เจ้าต้นไม้นั้นรอความเขียวชอุ่มจากฤดูร้อน แต่เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงก็ต้องยอมให้ฤดูกาลกวาดล้างใบที่รักไปหมด ในที่สุดเมื่อใบไม้ต้องร่วงโรย เจ้าก็ไม่เสียดาย...(หน้า ๔๕-๔๖)
อีกตอนหนึ่ง หวางเหมิงบรรยายไว้ว่า
“ชุนเทียนจะไม่มีวันแก่เฒ่า ใบไม้จะคงความสดชื่น ใบจะเขียวตลอดกาล ไม่แข็งตัว ไม่แข็งทื่อ สายฝนก็จะไม่กลายเป็นน้ำแข็ง ตงตงน้อยจะปีนเก้าอี้ขึ้นไปเอาหน้าแนบกับกระจกหน้าต่างจ้องดูปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่น่าพิศวงอย่างตาไม่กะพริบ ข้างนอกมีฝนตก มีแสงสว่าง สายฝนตกช้า ๆ เหมือนถูกแขวนเอาไว้” (หน้า ๖๕)
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้บรรยายฤดูร้อนในลักษณะของพลังสิ่งมีชีวิตด้วยภาพประกอบเสียงว่า
“พวกเขาต้องนอนอยู่ในไร่ข้าวโพด ในคืนฤดูร้อนได้ยินเสียงข้าวโพด ค่อยๆ งอกขึ้น พวกชาวบ้านมักจะพูดกันว่า นี่เป็นเสียงข้าวโพดที่เติบโตขึ้นเป็น พลังชีวิตที่ไม่อาจกดเอาไว้ได้ พลังการเจริญเติบโตนี้มาจากพลังของดิน น้ําฝน และอากาศ” (หน้า ๑๔๘)
๗. การดําาเนินเรื่อง ๒ รูปแบบ
๗.๑ การบอกเล่าโดยบรรยายว่า “เขา” หรือจางซือหยวนเป็นคนเช่นไร เขาคิดอย่างไร มีชะตาชีวิตอย่างไร ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของหนังสือเล่มนี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหวางเหมิงเป็นนักเขียนจีนที่การเขียนแปลกใหม่ บางครั้งก็มิได้เป็นไปตามลักษณะการใช้ภาษาจีนปัจจุบัน บางประโยคในหนังสือเล่มนี้มีตัวอักษรจีนเรียงยาวต่อกันกว่า ๓๐๐ คํา แม้จะใช้เครื่องหมายวรรคตอนมาแยกเป็นประโยคย่อย แต่กว่าจะอ่านครบทั้งประโยค เหนื่อยมากทีเดียว และต้องย้อนกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งจึงจะตีความได้ สําหรับฉบับแปลภาษาไทยนั้น พระผู้ทรงพระราชนิพนธ์แปลทรงแปลประโยคยาว ๆ ที่ใช้คําขยายที่สลับซับซ้อนในภาษาจีนให้เป็นประโยคภาษาไทยที่สั้น และกระชับทําให้อ่านง่ายกว่าต้นฉบับภาษาจีน
๗.๒ การรําพึงรําพันของตัวเอกในนวนิยาย บท “คําพิพากษา” (หน้า ๗๗) ใช้คําว่า “ฉัน” เป็นผู้เดินเรื่อง “ฉัน” ก็คือจางซือหยวน จางซือหยวนเป็นผู้พิพากษาตัดสินความผิดของตน
“ฉันยอมรับการตัดสินลงโทษ เธอไม่มีความผิด” (หน้า ๗๗)
“แต่ว่าฉันเป็นผู้ใหญ่กว่าเธอ ฉันควรจะมีสติยั้งคิดมากกว่า ฉันควรจะ มีความรับผิดชอบมากกว่า ฉันไม่ควรที่จะเสนอตัวสอดแทรกเข้าไปในวิญญาณอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเธอ” (หน้า ๗๙)
คําพูดเหล่านี้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวที่แฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ จางซือหยวน ซึ่งภาพลักษณ์ภายนอก จางซือหยวนคือนักปฏิวัติและผู้ปฏิบัติงานระดับสูงที่มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
บทสรุป
ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระปรีชาสามารถในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ เป็นภาษาไทยให้ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักวรรณกรรมชั้นเลิศของจีน ได้ทั้งความรู้เรื่องราวของคนจีน ประเทศจีน และแง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านดังบท “นําเรื่อง” กล่าวไว้ว่า “สังคมและมนุษย์มีความสลับซับซ้อน การปฏิวัติสังคมและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามทั้งหลายเพื่อส่วนรวมนั้น จึงมิใช่จะสําเร็จผลได้เพียงเพราะมีความปรารถนา อุดมคติ หลักการหรือทฤษฎีทางการเมืองเท่านั้น หากต้องใช้ปัญญาพินิจตนเอง พิจารณาสังคมอย่างละเอียดรอบด้าน จนสามารถเข้าใจตนเองและสังคมของตนเองอย่างถ่องแท้ ตรงกับความเป็นจริงจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ประโยชน์อันแท้จริงได้สําเร็จ”
เป็นที่น่าชื่นชมว่าหนังสือเล่มนี้ ติดอันดับหนังสือยอดนิยม ๑ ใน ๕ ติดต่อกันมาหลายเดือนตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกันยายน ๒๕๓๗ และ ตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อมา ซึ่งบริษัทนานมีบุ๊คส์ จํากัด จะตีพิมพ์ครั้งที่ ๓ เร็ว ๆ นี้
พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ผีเสื้อ ซึ่งกําลังแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ ประจวบกับปีที่ ๒๐ ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นนิมิตหมายอันดียิ่งของมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษาให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นดังพระราชประสงค์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“อดีตกาลไทยจีนเป็นเพื่อนบ้าน
มิตรภาพประชาชนทั้งสองดูแจ่มใส
แต่นี้ไปการติดต่อยิ่งไปไกล
สายสัมพันธ์โบราณพัฒนายิ่งขึ้นเอย"
หมายเหตุ:
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อปี 2538 ส่วนงานเขียนถึงนวนิยายผีเสื้อนั้นอ่านมาจากฉบับภาษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เดือนกันยายน พ.ศ. 2537
- ภาพประกอบจากหนังสืออนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยบรรณาธิการ
บรรณานุกรม:
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, “เมื่อข้าพเจ้าอ่านพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง ‘ผีเสื้อ’,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562)
[1] หน้าในวงเล็บหมายถึงหน้าในหนังสือ ผีเสื้อ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๗