ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ในกอบัวแก้ว

22
พฤศจิกายน
2565

ต.ม.ธ.ก. เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นคราวที่ต้องเรียนทางไปรษณีย์บ้าง เรียนประจำทุกวันตลอดทั้ง 2 ปี ที่จังหวัดอุบลราชธานี 128 คนบ้าง ซึ่งถือกันว่าเป็นรุ่นสุดท้ายของ ต.ม.ธ.ก. ที่มีชื่อเต็มว่าแผนกเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า โรงเรียนเตรียมปริญญา ต.ม.ธ.ก. ผู้ซึ่งเรียนสำเร็จหลักสูตร 2 ปี สอบไล่ได้เป็นที่เรียบร้อย เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ทันที ตามหลักสูตรปริญญาตรี แล้วต่อด้วย โท หรือ เอก ตามที่มหาวิทยาลัยบัญญัติไว้ต่อไป

ว่ากันว่า ผู้สำเร็จจากโรงเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่ 1 ถึง รุ่นที่ 7 มีจำนวน 5,041 คน

ทีนี้ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ที่ตั้งต้นไว้นั้น มีมาได้อย่างไร ในเมื่อ รุ่น 7 ถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายไปแล้วเข้าใจว่ามีผู้เขียนถึงความเป็นมาของ ต.ม.ธ.ก. ทุกรุ่นไว้ในส่วนหนึ่งของหนังสือนี้แล้ว ดังนั้นขอยืนยันว่า มีรุ่น 8 ด้วยก็แล้วกัน จะว่าเป็นรุ่นพิเศษก็ได้ ที่ว่าพิเศษ ก็คือ

นักเรียนเกือบ 500 คน เรียนตามหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการแผนกอักษรศาสตร์ หลักสูตร 2 ปี สอบหลักสูตรเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเข้าเรียนต่อใน ม.ธ.ก. เหมือนกับผู้ที่สำเร็จ ต.ม.ธ.ก. ทั้ง 7 รุ่นที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

ผู้ที่สอบหลักสูตร ต.ม.ธ.ก. 2 ปี (2489-2490) ได้ จำนวน 454 คน ในจำนวนนี้ สอบได้ตามหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ[1] 256 คน เพราะฉะนั้นทั้ง 454 คน จึงมีสิทธิเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิตหรือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเหมือนกับรุ่นก่อนทุกรุ่น (ตัวเลขที่สอบได้ทั้งหมดนี้ มาจากลายมือของครูนารถ จันทรสันติ)

นี่คือที่มาว่า ทำไมจึงใช้คำว่า ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ส่วนคำว่า ในกอบัวแก้ว ก็เพราะว่า

ผู้ที่สำเร็จจากรุ่น 8 นี้ มาสมัครเข้าสอบแข่งขันเพื่อทำงานในกระทรวงบัวแก้ว ชุดแรกใน พ.ศ. 2491 มีผู้สมัครเข้าสอบประมาณ 300 คน มีผู้สอบได้ตามที่ประกาศผล 45 คน แต่บรรจุ 20 คน ในจำนวนนี้มาจากหลากแห่งหลายที่ รวมทั้ง ต.ม.ธ.ก. รุ่นต่างๆ ด้วย ผู้ที่สอบได้และบรรจุ 20 คน มีรุ่น 8 อยู่ 4 คน เข้าเป็นเสมียนอันดับ 1 (เข้าใจว่าเงินเดือน 22 บาท) คือ สุริยน สิงหวิโรจน์  สุเมธ วสันตพฤกษ์  วิภาค ภิญโญยิ่ง และ เมธี (ประชุม) เอี่ยมสุทธา

ต่อมากระทรวงวังสราญรมย์ ต้องการข้าราชการเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องขยายงานตามนโยบายของรัฐบาลเวลานั้น ตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่กำลังขยายตัวหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน และกำลังเริ่มกิจการทางด้านสหประชาชาติด้วย จึงประกาศรับสมัครสอบเสมียนพนักงานอีกครั้ง และรับผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีเพื่อเข้าเป็นข้าราชการสัญญาบัตร (ชั้นตรี) ต่อเนื่องกันไป

ผู้ที่เข้าสอบแข่งขันเข้าเป็นเสมียนพนักงาน (เงินเดือน 24 หรือ 30 บาท ไม่แน่ใจ) กระทรวงประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2493 มีผู้สอบได้ 60 คน ให้มารายงานตัวครั้งแรก 50 คน แต่ไม่นานนักก็เรียกมาอีกจนครบ 60 คน แต่สละสิทธิ์ 1 คน ทราบว่าเพราะสอบจ่าศาลได้ไว้ก่อนแล้ว

มีการอบรมก่อนเข้าทำงาน 3 วัน ผู้ที่ทำการอบรมมาจากกรมกองต่างๆ อย่างน้อยเป็นข้าราชการชั้นโท เท่าที่จำได้ คือ หม่อมเจ้าวงศมหิป ชยางกูร  นายฉลี ยงสุนทร  นายวงศ์ พลนิกร  นายพยง ชุติกุล  นายมณเทียร พานิช  นายวิธูร วัฒนปฤดา และ อีก 2-3 ท่าน

ระหว่างการอบรมรับความรู้อยู่นี้ พอจะรู้กันว่าในจำนวน 59 คนนี้เป็นใคร มาจากไหนกันบ้างจำได้ว่า เป็นข้าราชการวิสามัญอยู่ก่อน 3-4 คน แต่ไม่ใช่ชาว ต.ม.ธ.ก. คือ คุณสุภัทร คชาชีวะ  คุณอุดม วาจานนท์  คุณบุญทอง วรศรี และ คุณสมบุญ อสัตกวาสี (ภริยาครูสังข์ อสัตถวาสี) นอกนั้นมาจากต่างที่ต่างถิ่นทั้งสิ้น แต่มี ต.ม.ธ.ก. รุ่น 4 รุ่น 5 รุ่น 6 รุ่น 7 รวมอยู่ด้วย

สำหรับรุ่น 8 นั้น ถ้าจำไม่ผิด มีดังนี้ 1. สุเทพ วรประศาสน์ 2. เกษม ฑีขระ 3. อภิรัตน์ ธัญญศิริ 4. จำรัส ชมภูพล 5. ศิระชัย พุทธิแพทย์ 6. นิพนธ์ สถาพร 7. ทวีพันธ์ สิงหะ 8. สมจิตต์ อินสิงห์ 9. พิชัย สุวรรณวานิช 10. เอนก จงโยธา 11. กิติ บูรพรรพ์ 12. นิรันตร์ ภาณุพงศ์ 13. พิจิต สายะศิลปี 14. ทองเติม โกมลศุกร์ 15. สุจินดา เรืองศรี 16. สวัสดิ์ รอดเจริญ 17. อรัญ สุจริตจันทร์ 18. ระวิ ฤกษ์จำนง 19. ปาล พนมยงค์ (ผู้ซึ่งต่อมาถูกเกณฑ์ทหาร และต้องลาออกเพราะเหตุผลทางการเมือง)

ไม่กี่เดือนต่อมา มีการประกาศผลสอบชั้นตรีมี สุชาติ จุฑาสมิต  ชีระ ภาณุพงศ์ และเจตนา โชติศาลิกร เข้ามาร่วมด้วย (ต่อมา ชีระ สอบชิงทุนที่อื่นได้ จึงลาออกไปก่อน)

ปี 2495 เปิดสอบเสมียนพนักงานเพิ่มเติม คราวนี้ มีไทยเทอด ไกรโชค  สุรพร เพชรวิสัย  สมศักดิ์ พันธเสน  ศรียนต์ ศรีสมุทร กับ ประสาท แสง-ชูโต สมทบเข้ามาอีก ไม่ช้าไม่นานข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการผู้หนึ่งโอนเข้ามาสังกัดกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แต่ทำงานในหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรี คือ ดร.สมปอง สุจริตกุล หลังจากนั้นไม่นาน ชาติชาย อุปพงศ์ เข้ามาในหน้าที่เสมียนหน้าใหม่ รายหลังนี้ ทันทีที่กระทรวงมหาดไทยให้ค่าวิชาเป็น 120 บาท ขณะที่วังสราญรมย์ยังได้ 90 บาท ทำให้ชาติชาย อุปพงศ์ ลาออกไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมกับสมศักดิ์ พันธเสนและอภิรัตน์ ธัญญศิริ

ปี 2498 มีการสอบแข่งขันเข้าเป็นชั้นตรี นิกร พรายแสงเพชร เข้ามาพร้อมปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน แม้ว่าเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรแล้วก็ตาม แต่เมื่อสอบได้เป็นเนติบัณฑิตและสอบผู้พิพากษาได้ กิติ บูรพรรพ์ กับ สวัสดิ์ รอดเจริญ ก็ขอลาออกเพื่อไปเป็นผู้พิพากษา

แต่รุ่น 8 ที่ยังเป็นชาวบัวแก้วก็ไม่ได้น้อยหน้า สุชาติ จุฑาสมิต จบเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตพร้อมกับสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ ศิระชัย พุทธิแพทย์ ก็คว้าเสื้อครุยปริญญาโทจากธรรมศาสตร์ปีละ 3 ปีติดกัน สมจิตต์ อินสิงห์ กับนิรันตร์ ภาณุพงษ์ ก็ไม่ย่อย คว้าปริญญาโททางการทูตด้วยกันทั้งสองคน ฝ่ายนิพนธ์ สถาพร กลับจากไทเป ด้วยความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและการเงิน ขอลาไปศึกษาต่อทำ 2 ปริญญาโทจากมะนิลา ว่าถึง จำรัส ชมภูพล ทำข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ไว้เสร็จแล้ว แต่ไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ บังเอิญต้องไปรับราชการที่นิวยอร์ค จึงถือโอกาสทำปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คจนสำเร็จ

พวกเราบางคนทำงานจนออกไปประจำการต่างประเทศ คือ เกษม ฑีขระ ไปอยู่ปีนังไม่ทันไรเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ถึงแก่กรรมที่นั่น อรัญ สุจริตจันทร์ ผู้สำเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่ออายุเพิ่งย่างเข้า 22 ปี ถึงแก่กรรมเพราะโรคภัยบางอย่าง สุริยน สิงหวิโรจน์ จบปริญญาโทจากอเมริกาไปประจำอยู่กัวลาลัมเปอร์จนจะก้าวขึ้นตำแหน่งที่สำคัญ ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจ ส่วน วิภาค ภิญโญยิ่ง ถึงแก่กรรมขณะปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด สำหรับ สุเมธ วสันตพฤกษ์ เกษียณอายุจากตำแหน่งกงสุลใหญ่ เมืองลอสแองเจลีสได้ไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ นี่เอง เอนก จงโยธา ลาไปศึกษาต่อในอังกฤษ แล้วกลับมาลาออกเพื่อทำงานเอกชน (การบินไทย) แล้วถึงแก่กรรม

ส่วนที่ลาออกหลังจากที่ไปรับราชการต่างประเทศแล้ว คือ สุเทพ วรประศาสน์ ซึ่งกลับจากรับราชการในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และ สุรพร เพชรวิสัย ซึ่งเคยรับราชการที่ปีนัง เวลลิงตัน และ เชียงตุง มาแล้ว ก็ลาออกเพื่อประกอบอาชีพอย่างอื่น

ต.ม.ธ.ก. รุ่นสุดท้าย ที่อยู่ในกอบัวแก้วนี้ ว่ากันไปแล้ว ได้รับความเมตตาปราณี เอ็นดูอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากท่านผู้อาวุโส ไม่ว่าท่านผู้ใหญ่ทุกท่านนั้นจะเป็นชาว ม.ธ.ก. รุ่นก่อนหรือไม่ก็ตาม หรือแม้แต่ชาว ต.ม.ธ.ก. รุ่นที่อยู่มาก่อนทุกรุ่นทุกคน อย่างดีที่สุด นับว่า ถ้าขาดความปราณีจากท่านเหล่านั้นแล้ว คงไม่สามารถยืนอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีจนถึงทุกวันนี้เป็นแน่เพราะนับแต่วันที่เราก้าวเข้ามา เราได้รู้จัก ได้ทราบถึงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว จากทุกท่านที่กรุณาหยิบยื่นให้ รวมทั้งการสอน เตือน แนะนำ ช่วยเหลือทุกวิถีทางตลอดมา นับเป็นพระคุณที่ยากจะลืมเลือนได้

เพราะความรู้จาก ม.ธ.ก. และความกรุณาของท่านที่กล่าวมาแล้ว ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ที่ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดทางการทูตซึ่งเป็นแขนงในกอบัวแก้ว คือ เอกอัครราชทูต ก่อนเกษียณอายุราชการมีดังนี้

1. สมปอง สุจริตกุล 2. สมจิตต์ อินสิงห์ 3. จำรัส ชมภูพล 4. สุชาติ จุฑาสมิต 5. ศิระชัย พุทธิแพทย์ 6. นิรันตร์ ภาณุพงศ์ 7. นิพนธ์ สถาพร 8. นิกร พรายแสงเพชร 9. ทองเติม โกมลศุกร์ 10. สุจินดา เรืองศรี 11. ทวีพันธ์ สิงหะ 12. เจตนา โชติศาลิกร 13. วิภาค ภิญโญยิ่ง

 

ที่มา : ระวิ ฤกษ์จำนง, ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ในกอบัวแก้ว, ใน 60 ปี ต.ม.ธ.ก. (พ.ศ. 2481 - 2541), (กรุงเทพฯ: ประกายพรึก, 2541), หน้า 272 - 274.

 

อ่านผลงานของระวิ ฤกษ์จำนงค์

สนทนากับ ร้อยตรี แปลง คำเมือง เสรีไทยจากสกลนคร โดย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ และ ระวิ ฤกษ์จำนง


[1] ผู้ที่สอบได้ตามหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนี้ มีสิทธิไปเข้าเรียนต่อที่อื่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ดังที่ จาก ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 นี้ไปเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 1 ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน คือ พิศาล มูลศาสตร์สาทร, ธานี โรจนาลักษณ์, ดร.เกษม สุวรรณกูล เป็นต้น