ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

สนทนากับ ร้อยตรี แปลง คำเมือง เสรีไทยจากสกลนคร

27
สิงหาคม
2564

วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๔

 

กระผมได้เรียนเชิญ ‘ร้อยตรี แปลง คำเมือง’ เสรีไทยซึ่งได้ปฏิบัติงานเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาเล่าประสบการณ์ในชีวิตของท่านให้ทราบ กระผมขออนุญาตเรียกว่า “ครู” เพราะกระผมเคยเป็นศิษย์ของครูมาในสมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส กระผมขอเรียนถามครูแปลง ดังนี้

ขอเรียนถามว่า ชีวิตและการศึกษาของครูเบื้องต้น ก่อนที่จะเข้ามาร่วมกับขบวนการเสรีไทยมีอย่างไรบ้างครับ

ผมขอเล่าสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตและการศึกษา ก่อนที่จะเข้ามาร่วมขบวนการเสรีไทยนี้ ผมเป็นชาวอำเภอเมืองจังหวัดสกลนครโดยกำเนิด เรียนหนังสือจบชั้น ม.๕ ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลและมาต่อจบ ม. ๖ ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วมาต่อจบ ม.๗ ที่โรงเรียนราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานเทเวศร์ ปัจจุบันนี้เรียกว่าวิทยาลัยเขตราชมงคล และ จบม. ๘ ที่โรงเรียนสุวิชวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ (ขณะนี้คือบริเวณที่ตั้งของบริษัทการบินไทยผ่านฟ้า)

หลังจากสำเร็จ ม.๘ แล้ว เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร (ที่ตั้งกองพล ๑ ปัจจุบัน) ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๓ โดยมี ‘ครูเตียง ศิริขันธ์’ ปม. เป็นผู้แนะนำ ผมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเพื่อนๆ เกือบ ๗ เดือน ในตอนนั้นนักเรียนที่จบ ม.๘ แล้วเรียนฝึกหัดครูเพียง ๑ ปี ก็จบได้วุฒิปป. (ผมก็ไปฝึกหัดสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส )

หลังจากนั้น ผมได้รับการบรรจุเป็นครูจัตวาอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๗ และย้ายไปช่วยราชการที่โรงเรียนมัธยมสระบุรี อีกประมาณ ๕ - ๖ เดือน

เข้าใจว่า ตอนที่ครูเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยนั้น ในระหว่างที่ครูรับราชการเป็นครูอยู่ใช่ไหมครับ 

ครับ ในระหว่างที่รับราชการเป็นครูช่วยราชการที่จังหวัดสระบุรี ครูเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎร เป็นนักการเมือง เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอีสานคนหนึ่ง เห็นหน่วยก้านผมพอที่จะไว้วางใจได้มั้ง ท่านก็เลยมาทาบทามผม บอกว่า ถ้าคุณจะเสียสละชีวิตเพื่อชาตินี้ พอจะไหวไหม ผมก็ตอบว่า จะให้ผมทำอะไรล่ะ ครูสั่งมา ผมทำได้ทุกอย่าง ผมตอบท่านไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ผมก็ยังไม่รู้วัตถุประสงค์ว่า ท่านจะให้ผมไปทำอะไร

ภายหลังท่านก็มาเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังจะกู้ชาติโดยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง มีความประสงค์ให้หาคนที่ไว้วางใจไปทำงานในต่างประเทศ แต่ยังไม่รู้ว่าจะให้เดินขึ้นไปทางเหนือเข้าสู่ประเทศจีน หรือให้ไปทางไหน ขอให้คุณเตรียมตัวให้พร้อมก็แล้วกัน

ตอนนั้น คำว่า กู้ชาติ หมายถึงอะไรครับ

ตอนนั้น คำว่า “กู้ชาติ” หมายถึงการช่วยให้ประเทศไทยมีอิสระจากศัตรูคือ ญี่ปุ่น กล่าวคือการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยนั่นเอง

สรุปแล้ว ครูเตียง ศิริขันธ์ คือผู้ที่ติดต่อชักนำให้ครูเข้ามาร่วมขบวนการเสรีไทยนั่นเอง

ถูกต้องครับ

ตอนนั้นครูอายุสักประมาณเท่าไรครับ

ผมเกิดปี พ.ศ. ๒๔๕๙ มาจนถึงปี ๒๔๘๘ คือประมาณ ๒๙ -๓๐ ปี

ตอนนั้นครูมีครอบครัวหรือยังครับ

ตอนนั้นผมยังไม่มี ผมขอย้อนเล่าเพิ่มติมเพื่อให้ความสมบูรณ์ขึ้น ว่า ผมมีพี่อีกคนหนึ่งคือ ‘คุณไชยณัฐ ธีระพัฒนะ’ ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นอัยการอยู่ที่กรมอัยการแล้ว ได้รับการชักชวนเหมือนกัน ก็มาปรึกษากันสองพี่น้อง และก็ตกลงกันว่า เอาก็เอา จึงถูกส่งไปพร้อมกัน คุณไชยณัฐผู้นี้มีภริยาและลูก ๓ คนแล้ว ลูกกับภริยาอยู่ที่สกลนคร

ครูทราบไหมครับว่า ที่ครูเตียงฯ ซักนำให้มาร่วมการนี้ นอกจากคุณไชยณัฐกับครูแล้ว มีใครอีกกี่คนครับ ที่มาร่วมขบวนการนี้พร้อมๆ กับครู

ตอนนั้นไม่รู้หรอก เพราะถือเป็นความลับ มารู้ภายหลังว่า มี ‘คุณวิสุทธิ์ บุษยะกุล’ และ ‘คุณประหยัด บำเพ็ญสิทธิ์’ อีก ๒ คน

เมื่อครูเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยแล้ว นอกจากครูเตียงฯ ยังมีใครอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับการชักนำให้ครู ได้เข้าพบกับท่านผู้ประศาสน์การบ้างหรือไม่ หมายถึงการเข้าพบหัวหน้าขบวนการเสรีไทย คือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

คือมันมีขั้นตอนอย่างนี้ เมื่อเราตกลงใจแล้ว ทุกอย่างฝากไว้ที่ครูเตียงฯ คนเดียว ต่อมาวันหนึ่ง ครูเตียงฯ บอกว่า ให้เตรียมตัวได้แล้ว เอาเฉพาะเสื้อกางเกงที่ติดตัวไปเท่านั้น ตอนนั้นผมไปช่วยสอนที่สระบุรี ก็บังเอิญเปิดเทอมพอดี

ในระหว่างเปิดเทอมนี่แหละที่ผมได้รับคำบอกจากครูเตียงฯ ว่า จะส่งตัวไปแล้วนะ ผมก็ถามว่าแล้วงานทางราชการจะให้ผมทำอย่างไร ครูเตียงฯ ก็บอกว่า ให้ลาออก ผมก็ตัดสินใจลาออกเช่นเดียวกับพี่ไชยณัฐฯ ที่ลาออกจากกรมอัยการ เมื่อลาออกก็ให้เหตุผลไปว่า จะไปประกอบอาชีพทางภาคเหนือ

ทั้งนี้เพราะทีแรกคิดว่าต้องเดินทางไปทางเมืองจีน เพราะครูเตียงฯ บอกไว้อย่างนั้น เราก็เตรียมตัวอย่างนั้น ยังไม่มีโอกาสและไม่มีผู้ใดชักนำให้เข้าพบท่านอาจารย์ผู้ประศาสน์การฯ

ขณะที่ครูร่วมในขบวนการเสรีไทยนี่ ครูมีญาติพี่น้องอยู่หลายคน คนเหล่านั้นทราบหรือ ไม่ว่า ครูต้องไปปฏิบัติงานเช่นนี้

บังเอิญตอนนั้น ผมย้ายไปอยู่สระบุรี เวลานั้นผมเป็นผู้อุปการะน้องผมอยู่พร้อมกับเพื่อนของน้อง ซึ่งอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ ๒๓๔ ที่เทเวศร์ เพราะเราเช่าบ้านรวมกันที่นั่น ทุกคนก็ยังอยู่พร้อมกัน การตกลงใจเข้าร่วมขบวนการและการลาออกจากราชการนี้ ผมไม่ได้บอกใครเลย พี่น้องพ่อแม่ผมก็ไม่ได้บอก ตอนหลังเมื่อกลับมาแล้ว พี่น้องจึงถามว่า พี่ไปไหน ไปทำอะไร แหมเป็นห่วงกันแทบแย่ ผมจึงมีโอกาสเล่าให้ฟัง

ก่อนที่ได้รับมอบให้ไปปฏิบัติงาน ครูได้เข้าพบท่านผู้ประศาสน์การ คือ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยทราบว่า ท่านได้ให้โอวาทก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ ใช่ไหมครับ

หลังจากที่ได้นัดหมายว่าจะออกเดินทาง ก็มาถึงวันสำคัญที่เข้าพบ ผู้ใหญ่จะให้โอวาท ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็คือ ท่านผู้ประศาสน์การ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย เมื่อมีการนัดหมายแล้ว เราก็ไม่รู้ว่ามีใครบ้าง พอไปถึงแล้วถึงได้รู้ว่ามีทั้งหมด ๗ คน คือ คุณวงศ์ พลนิกร (วิค) คุณไชยณัฐ ธีระพัฒนะ (ชาลี) ผม-แปลง คำเมือง (ไมค์ แอดัม) ถนอม นพวรรณ (ทอม) อำนวย สุวรรณกิจบริหาร (ซีท) ละออ เชื้ออภัย (เลซ) และ ประหยัด อดุงเดชจรุง (พีท) - ความในวงเล็บเป็นชื่อที่อเมริกันตั้งขึ้น

เมื่อคณะทั้ง ๗ คนเข้าพบเพื่ออำลาและรับโอวาทนั้น ท่านผู้ประศาสน์การให้โอวาทอย่างไรบ้าง

สถานที่ที่พบในวันนั้น ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ในห้องประชุมชั้น ๒ ตึกโดมตอนย่ำค่ำประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๔๘๘ เราทั้ง ๗ คนไปนั่งที่โต๊ะสี่เหลี่ยม รอท่านไม่ถึง ๓ นาที โดยมี ‘อาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์’ เป็นผู้นำเข้าพบ

ท่านผู้สำเร็จราชการฯ คือ ท่านปรีดี ท่านก็เข้ามา ให้โอวาท วันนั้นเอง ผมจึงได้ทราบว่า ผู้ใหญ่สูงสุด คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ตอนแรกไม่ทราบมาก่อน เพราะทุกอย่างเป็นความลับทั้งสิ้น ท่านมาปรากฏตัวในวันนั้น และเป็นวาระแรกที่ผมได้พบท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วยความปลื้มปิติ หัวใจพองโต

ต่อจากนั้นท่านได้ให้โอวาท สรุปใจความได้ว่า การเสียสละครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะรอด จะเป็น หรือตาย ถ้าหากว่าชาติชนะ เราอาจจะตายก็ได้ เราแพ้เราอาจจะมีชีวิตอยู่อย่างไร้เกียรติก็ได้ แต่ว่าพูดในแง่ดีแล้ว เราก็ต้องชนะ เมื่อชนะแล้วขอให้ทุกคนพึงทราบว่า การไปทำงานครั้งนี้เป็นงานรับใช้ชาติ เมื่อชนะมาสมความปรารถนาแล้ว ขอให้พึงระลึกว่า เราเสียสละเพื่อประเทศชาติ ทุกคนเป็นเสรีไทยทั้งสิ้น แม้แต่พวกเราที่ไปทำงานโดยเอาชีวิตไปเสี่ยงนี่ ก็จะไม่ได้รับสิทธิอะไรเป็นพิเศษ

เมื่อท่านให้โอวาทจบแล้ว ท่านได้ถามความเห็นของแต่ละคนว่า ใครจะถอนตัวไหม หรือใครยังสมัครไป ได้รับตอบจากทุกคนว่า พร้อมที่จะไปเหมือนกันทุกคน โดยเฉพาะผมตอบว่า ยิ่งกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

ตอนนั้น ทราบหรือยังว่า การปฏิบัติงานข้างหน้า เป็นงานอะไร ที่ไหน

ตอนนั้นยังไม่ทราบ เรารู้แต่เพียงว่าเราถูกคัดเลือกเพื่อให้ไปศึกษาระบบกองโจร แต่ยังไม่รู้ว่าสถานที่อยู่ที่ไหน เพียงแต่รู้ว่าไปลังกา รู้ภายหลังว่าไปฝึกที่ตำบลตริงโกมาริ ซึ่งเป็นหน่วย O.S.S. ของทหารอเมริกัน เป็นค่ายของอเมริกัน

เมื่อทราบแล้วว่าจะต้องไปศึกษาในประเทศอื่น การเดินทางเป็นไปอย่างไรครับ

การเดินทางนี้ หลังจากที่ได้รับโอวาทในวันนั้นแล้ว ก็ออกเดินทางกันต่อเลยทีเดียว โดยการนำพวกเราทั้ง ๗ ลงเรือที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ เรือลำนั้นทาสีขาว ผมมาทราบภายหลังว่าเป็นเรือของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ออกเดินทางและไปสว่างที่ชะอำ แล้วพักที่นั่นสองวัน นายท้ายของเรือลำนั้นผมยังจำได้ว่า คือ ‘คุณสิงห์ อุทัยศรี’ ท่าทางจริงจัง ดุ เป็นญาติกับ ‘คุณสวัสดิ์ อุทัยศรี’ อดีดอธิบดีกรมธนารักษ์

ในการเดินทางครั้งนี้ มีนายทหารยศพันตรี ชื่อ ‘บุญมาก ประพันธโยธิน’ (อดีตนายทหารสำเร็จจากเวสต์ปอยต์ ภายหลังมียศ พลตรี และเปลี่ยนชื่อเป็น เอกศักดิ์) ร่วมเดินทางไปด้วย โดยพบกันในเรือ จึงรวมเป็น ๘ คนด้วยกัน พันตรีบุญมาก ท่านมีเอกสารลับ ๑ ห่อไปด้วย

เราพักในบ้านพักแถวชะอำ ตอนค่ำ ๆ เราลงไปเล่นน้ำที่หาด ปรากฏว่ามีเครื่องบินของญี่ปุ่นมาตรวจการณ์ บินต่ำมาก เฉียดมายังพวกเราที่ชายหาด เราก็วิ่งหนี ปรากฎภายหลังทราบว่า ญี่ปุ่นสังเกตว่าถ้าเรือขาวนี้มาเมื่อไร จะมีเครื่องบินมาลงที่เขาสามร้อยยอดซึ่งบินมาตรวจการณ์เพราะสัมพันธมิตรนำเอาอาวุธมาให้ ประกอบกับมีชุดอย่างพวกเรานี่ไปก่อนหน้ารุ่นหนึ่งแล้ว

ปรากฏในต่อมาว่า ที่ในวันนั้นมีการลาดตระเวนก็เพราะว่า ฝ่ายปกครองกับฝ่ายตำรวจยังไม่เข้าใจกัน จึงมีการส่งข่าวว่าอะไรต่ออะไรกัน ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ที่นั่นประมาณวัน ๑ คืน ต่อมาในตอนดึกคืนวันนั้น ราวๆ ๖ ทุ่ม เรือลำนี้บรรทุกเราไปที่เขาสามร้อยยอด เพราะมีการนัดหมายกับเครื่องบินที่เรียกว่า แคทารินา (เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก)

ผมจำได้ว่าบุคคลที่นำไปในคราวนั้น คือ ‘คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์’ มีการบรรทุกอาหาร ผลไม้ลงในเรือ เพื่อส่งขึ้นเครื่องบินต่อ บนเครื่องบินลำนั้นอากาศร้อนอบอ้าวมาก ร้อนจนหายใจไม่ออก จนพี่ชายของผม-คุณไชยณัฐอาเจียนและถ่าย เพราะความร้อนอบอ้าวและอากาศไม่ดี

มีเหตุการณ์หวาดเสียวตอนที่เครื่องบินจะขึ้น พอเชิดหัวขึ้นท่ามกลางคลื่นลมแรง เป็นเหตุให้เครื่องบินตกลงมาอีกที่ เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินที่ไปด้วยเลือดตกยางออก เก้าอี้โต๊ะก็หักพังเราก็ตกใจกัน และลูกเรือก็เตรียมพร้อมที่ป้อมบินทั้งสองข้างตลอด

เวลาที่บินอยู่ในเขตแดนและน่านน้ำของไทยและพม่า แต่ผลสุดท้ายเหตุการณ์ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย ไม่มีอะไร จนกระทั่งเครื่องบินร่อนลงที่เมืองมัทตราดในตอนเช้า (ใช้เวลาบินประมาณ ๖ - ๗ ชั่วโมง ) โดยมีรถยนต์มารับพวกเรา เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันได้นำเราไปพักที่บ้านพักหลังหนึ่งในเมืองมัทตราดประมาณ ๓ - ๔ วัน

ณ ที่นั้นได้รับแจกเครืองแต่งกายทั้งชุดฝึก (สีขียว) และชุดเวสต์ป๊อยท์ (ชุดสีกากี) พร้อมเสื้อผ้ารองเท้า และสุขภัณฑ์อื่นๆ ในระหว่างนั้นพวกเราทุกคนถูกสอบถามจากนายทหารฝ่ายข่าวกรองของอเมริกัน เช่น ผมถูกถามและบันทึกถึงคู่ต่อเรือของญี่ปุ่นแถววัดสามพระยา ใกล้บ้านพักของผมที่กรุงเทพฯ ด้วย

หลังจากนั้นพวกเราทั้ง ๗ คน (พ.ต.บุญมาก ประพันธโยธิน ออกเดินทางต่อไปยังแคนดี้แล้ว) ก็ถูกส่งตัวไปโคลัมโบ ที่ประเทศลังกา แล้วต่อไปถ้าค่ายฝึกที่ดริงโกมารี ซึ่งเป็นค่ายฝึกของอเมริกัน (O.S.S.) ซึ่งที่ค่ายแห่งนี้ผู้ฝึกการรบแบบกองโจรให้แก่บรรดาชาติต่างๆ นอกจากไทยเราแล้ว ยังมี จีน และพม่า เป็นต้น

อนึ่ง ก่อนหน้ากลุ่มเราไปถึงที่นั่น มีกลุ่มที่ส่งไปก่อนกลุ่มเราประมาณ ๗ วัน มี ‘คุณสุภัทร สุคมราภิรมย์’ เป็นหัวหน้า และมี คุณโชติ พรโสภณ, คุณดำหริ บุญประสิทธิ์,  คุณเสริม บุญสุด เป็นต้น รวม ๗ คน

เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว และได้ทราบว่ามีรุ่นก่อนมารุ่นหนึ่งแล้ว ครูและคณะได้ทำงาน หรือได้รับมอบหมาย หรือ ได้รับการฝึก อย่างไรบ้างครับ

เขาก็จัดโปรแกรมของเขาให้แต่ละกลุ่มเข้าเรียนในห้องเรียนที่มีจุดประสงค์ให้รับการฝึกหรือให้รับบทเรียนในหลักสูตรกองโจรของหน่วย O.S.S. นั่นเอง ซึ่งมีหลักสูตรการฝึกอบรมและปฏิบัติ อันเป็นหลักสูตรเร่งรัด จึงนับเป็นการฝึกหนัก ดังนี้

๑. การเคาะวิทยุ แบบโค้ด

๑.๑ การส่งและการรับเป็นโค้ด MOSS
๑.๒ ถอด - เข้าโค้ด เป็นข้อความ

๒. ฝึกการใช้อาวุธต่างๆ

๒.๑ ปืนสั้น ชนิดโอโตเมติก .๔๕ และ .๓๒
๒.๒ ปืนยาว ชนิดคาร์บิน
๒.๓ ปืนกลมือทอมสัน (รวมทั้งการทำความสะอาด ถอดล้าง และประกอบ)
๒.๔ ฝึกการใช้ดินระเบิด (T.N.T. ) ระเบิดต้นไม้ สะพาน ฯลฯ

๓. ฝึกการเรียนรู้ชนิดอาวุธและยานพาหนะของฝ่ายศัตรู (เฉพาะญี่ปุ่น) อาทิ เรือบรรทุก เรือรบ เครื่องบิน ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนอาวุธสงครามที่ญี่ปุ่นใช้อยู่

๔. ฝึกการช่วยตัวเองในป่า (วิชา Survival )

๔.๑ การทำแคมป์ (เป็นหมู่ ) สร้างเป็นเพิงหมาแหงน, การใช้เรือยาง
๔.๒ การเดินป่ากลางคืนโดยใช้เข็มทิศ
๔.๓ เรียนดูสภาพอากาศ (อุตุนิยม ) โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเมฆ
๔.๔ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ตลอดถึงการใช้ยา First Aid
๔.๕ อาหารการกิน ของชนิดที่กินได้และไม่ได้ ตลอดถึงการทำลายเศษอาหารเมื่อไม่ใช้

๕. ฝึกกระโดคร่ม

มีหอคอยให้เราฝึกกระโดด การทิ้งย่อ และการพับเก็บร่ม

๖.การคัดเลือกกลุ่มที่จะมาปฏิบัติการในประเทศไทย

การฝึกที่นั่นใช้เวลากี่เดือนครับ

ใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็มีการทดสอบความสามารถ ใครใช้ใด้ให้มาเลย การฝึกนั้นเราแทบไม่มีเวลาว่าง เพราะเป็นหลักสูตรเร่งรัด คือว่า ส่งออกไปฝึกนี่พอใช้งานได้ ก็ส่งกลับเข้ามา ระหว่างฝึกที่นั่นที่พักไม่ได้รวมกับกลุ่มประเทศอื่น แยกกันต่างกลุ่มต่างอยู่ ตัวอย่างเท่าที่เห็น เช่น ห้องกินข้าว พวกเราแบ่งกันกินกับพวกนายทหาร ได้เห็นพม่าก็ดี จีนก็ดี เขากินกับพวกนายสิบ รู้สึกว่าให้เกียรติกับฝ่ายเรามาก

พวกเรานี่พอไปถึงเขาก็ให้ติดยศร้อยตรีทุกคน อ้อ..ร้อยโทก็มี เขาอาจจะแบ่งเป็นระดับหัวหน้า อย่างคุณสุภัทรกับคุณวงศ์นี่ เขาสำเร็จปริญญาโทแล้ว ในสายอเมริกันที่ผมจำได้ มียศร้อยโทสองคน คือ คุณสุภัทรกับคุณวงศ์ สายอังกฤษก็มี ‘คุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ’ รายนี้เพิ่งมาทราบภายหลัง เพราะเดินทางไปคนละทาง แต่ในการฝึก ไม่ว่ายศร้อยโทหรือร้อยตรี ฝึกเหมือนกันหมด

ค่ายฝึกที่นั่นอยู่นอกเมือง ใกล้หรือไกลเมือง

เป็นค่ายที่อยู่ติดริมทะแล และมีอ่าวเว้าเข้ามาตัวย ซึ่งเป็นตำบลหนึ่ง ไกลเมืองมาก เขาสร้างเป็นค่ายของเขาโดยเฉพาะ ไม่มีชาวบ้านมาปะปน นอกจากห่างๆ ออกไปก็มีชาวบ้านที่ปลูกมะพร้าวอะไรต่ออะไร การฝึกนี้แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะเป็นหลักสูตรเร่งรัด โดยเฉพาะฝึกเข้มเรื่องเคาะวิทยุ รับ - ส่ง

เมื่อออกปฏิบัติงาน เราจึงรู้วัตถุประสงค์ว่าเขาฝึกหนักเพื่ออะไร จากประสบการณ์ของผมที่โดดร่มลงมาแล้วตอนมาฝึกพลพรรคนี้ เราต้องเป็นพี่เลี้ยงให้การคุ้มครองและเป็นสื่อให้บรรดาทหารอมริกัน เขาจะเป็น เขาจะตาย ทุกอย่างที่เขาต้องอาศัยเรา เพราะเขาเป็นฝรั่งพูดภาษาไทยไม่ได้ แม้แต่ทางการมีโครงการจะให้ผมไปตั้งสถานี รับ- ส่ง วิทยุขึ้นอีกที่แถวจังหวัดลำปาง ทหารอมริกันทั้งสามที่มาอยู่กับผม ก็ยังไม่ยอมให้ผมแยกตัวไป

อันนี้ หมายความว่าเมื่อจบการฝึกที่นั่นแล้ว เขาส่งมาให้ลงที่เมืองไทย และต้องเดินทางมาลงโดยการกระโดดร่ม เมื่อตอนไปเดินทางโดยทางเรือและเครื่องบิน ขากลับบินมาและกระโดดร่มใช่ไหมครับ

ครับใช่ เมื่อฝึกจบหลักสูตรแล้ว เขากำหนดให้มาโดยคัดเลือกกลุ่มจากนายทหารอเมริกันมีการสัมภาษณ์และการปฏิบัติงานร่วมกันก่อน จึงกำหนดการเดินทางเข้าประเทศไทย เราเดินทางมาพร้อมกัน ๒ กลุ่ม ก่อนจะถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้พักทดลองการใช้วิทยุสื่อสารครั้งหนึ่งบนยอดขาสูง (จำชื่อไม่ได้แล้ว)

ตอนนั้นย่างกุ้งกำลังถอย เมื่อมาถึงเรามาพักที่นั่นก่อน จำได้ว่าที่พักข้างสนามบินนั้นไม่มีหลังคาเพราะถูกระเบิดและทหารญี่ปุ่นเพิ่งถอยทัพ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมี ‘คุณเสริม บุญสุด’ มาด้วย ทราบว่ากำหนดจะมากระโดดลงที่จังหวัดชลบุรี เรื่องผจญภัยของคุณเสริมฯ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง

ทั้งสองกรุ๊ฟมาอยู่ในแคมป์เดียวกัน หลังจากนั้นยาก็เอาร่มมาแจกให้ พร้อมครื่องแต่งกายชุดโดดร่ม เขาบอกล่วงหน้าว่า วันนั้นเวลานั้นจะไปโดดร่มลงที่เมืองไทยละ ชุดผมมี ๔ คน คือมีทหารอเมริกัน ๓ คน หัวหน้าเป็นร้อยโท ชื่อ KUZMUX (KAY) เคยโดดร่มที่นอร์มังดีมาหลายครั้งแล้ว เป็นหัวหน้ามา และมีนายสิบสำหรับการฝึกอาวุธโดยเฉพาะเพื่อมาสอนพลพรรค และนายสิบเป็นหมอยาอีกคน คือ เขาต้อง supply ยามาให้เราด้วย จึงรวมป็น ๔ นาย ทั้งผม (ร้อยตรีไมค์) มาโดดร่มลง โดยมีการนัดหมายกันไว้ก่อน คือ ทาง BASE (ฐานทัพ) นัดหมายไว้แล้วว่า กลุ่มพวกผมที่จะต้องลงที่เมืองแพร่ (ผิดหวัง - เพราะนึกไว้ว่าคงจะได้ไปกระโดดร่มลงที่จังหวัดสกลนคร)

คืออย่างนี้ครับ กลุ่มผมบินไปแล้ว ๓ ครั้งจึงลงได้ ตอนแรกนักบินเราไม่รู้ว่าเป็นสัญญาณอะไร เมื่อบินไปครั้งที่สองต้องดูว่าสัญญาณจะไรที่เรารู้ได้ คือจะมีสัญญาณเป็นรูปตัว T โดยพลพรรคเขาจะจุดไฟเป็นรูปตัว T นั่นแหละ จึงจะกระโดดลงได้ ปรากฏว่า หลังจากที่เราลงมาแล้ว ถามว่ามา ๓ หนถึงลงได้เพราะอะไร ก่อนหน้านั้นทำไมจึงลงไม่ได้ เขาก็บอกว่า ลงไม่ได้หรอกเพราะทหารญี่ปุ่นรู้ จึงไม่ได้ส่งสัญญาณให้ลง

บินไปครั้งที่ ๒ เรายังหลงไปถึงน่าน จากแพร่ไปน่าน และก็เห็นเขาเผาศพ ก็โฉบลงไปดูเห็นว่านี่เขาเผาศพ จึงบินกลับ ครั้งที่ ๓ จึงลงได้เรียบร้อย

ตอนนั้นจิตใจของผม กระวนกระวายตลอดเวลา อยากลงจริงๆ ครับ รู้สึกอยากต่อสู้ อยากจะทดลองวิชาที่เรียนมาแล้ว ไม่ได้นึกถึงความตายว่า โดดร่มแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ความจริงเรื่องโดดร่มนี่ ผมไม่เคยเรียนมาก่อน ว่าโดดร่มจริงเป็นอย่างไร

พวกเราที่ไปนี่นะฝึกแต่เพียงท่าเท่านั้นเอง โดดจากหอทำท่าทิ้งย่อทำอย่างไร โดดจริงๆ ไม่เคยเลย อย่างเก่งก็คือเอาร่มเปล่าๆ นี่ไปที่ชายหาด ให้ลมมันตีแล้วก็วิ่งไปตามร่ม แล้วก็ม้วนตัวอย่างไร หรือล้มอย่างไรจึงจะไม่ให้เจ็บ กับวิธีปลดร่มออกจากตัว ได้แค่นั้นเอง แล้วก็ฝึกอย่างนี้เพียง ๒ หนเท่านั้น แต่ก็มาโดดจริงเลย แต่จิตใจไม่สะทกสะท้าน และลงพื้นดินสำเร็จราบรื่นไม่เจ็บตัวแต่อย่างใด

แม้จะมีอุปสรรคนิดหน่อย คนที่ไปรอรับเขาก็ร้องบอกว่า ไอแอมไทย ไอแอมไทย เขาคงคิดว่าร่มที่ลงนี่เป็นร่มของอเมริกันก็ได้แต่ความจริงเป็นร่มของผม ผมโดดลงมาแล้วมันติดที่ยอดไม้ แต่ไม่ใช่ยอดไม้ใหญ่เป็นยอดไม้เล็กมันโน้มลงมา ผมก็ติดอยู่ พอแกะออกก็หลุดและโดดลงได้ คนอื่นลงได้เรียบร้อย

เวลาที่ลง ลงตอนกลางคืนหรือกลางวันครับ

ลงตอนกลางคืน ราวตีหนึ่ง เดือนสลัวๆ ไม่มืดมาก ระยะที่โดดประมาณ ๗๐๐ ฟิต ลงมาในราวกลางเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ ผมมาสอนพลพรรคอยู่ประมาณเดือนกว่าๆ ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้

ทุกคนในชุดนี้ลงมาที่เดียวกันทั้ง ๔ คน นอกจากนั้นมีร่มสำหรับอาวุธและยาลงมาด้วยรวม ๒๖ ร่ม และมีพลพรรคไปคอยรับตามสัญญาณรูปตัว T เขาพร้อมกันรับและเก็บอย่างรวดเร็วจนเสร็จสิ้นก่อนสว่าง แล้วก็รวบรวมเดินมาที่ค่ายพักใช้เวลาอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง

หัวหน้าพลพรรคที่คอยรับคือ ‘คุณทอง กันทาธรรม’ คุณทองฯ เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่จึงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายจังหวัดแพร่ด้วย (คุณพี่ง ศรีจันทร์ เป็นอีกสายหนึ่ง) สำหรับจำนวนพลพรรคที่รอเพื่อการฝึกนี้มีประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ คน แต่ที่รอรับเมื่อโดดลงมามีประมาณ ๑๐ คน หรือกว่านั้นเล็กน้อย ส่วนจำนวนพลพรรคที่จะต้องฝึกจริงๆ มีทั้งสิ้นประมาณ ๒,๐๐๐ คน

เขาจัดทะยอยมารับการฝึก ไม่ใช่ฝึกพร้อมกันหมด ได้เท่าไรก็แล้วแต่จะหามาได้ ทางคุณทองฯ มีหน้าที่หาพลพรรคมารับการฝึก ผมมีหน้าที่ช่วยฝึกและรับ - ส่งวิทยุ และอยู่ในป่ายอดดอยตลอด สมมติว่าฝึกยิงปืนนี่ต้องเข้าไปในป่าลึก บริเวณนั้นอยู่ในอำเภอร้องกวาง อำเภอสอง หรืออะไรนี่แหละ ผมจำไม่ค่อยได้ นานมากแล้ว

ผมมาทราบเมื่อมาตั้ง BASE บนยอดเขาอีกยอดหนึ่งแล้ว ว่า มีเสรีไทยสายอเมริกันมาอยู่ก่อนแล้ว ฐานของพวกผมอยู่บนยอดเขา ส่วนข้างล่างเป็นฐานของพลพรรค ถ้าจะขึ้นไปยอดเขาจะต้องบินขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง บนนั้นทำเป็นกระโจมสำหรับนอน ข่าวคราวต่างๆ พลพรรคที่อยู่ข้างล่างก็จะแจ้งให้ทราบ ให้เราระมัดระวัง สำหรับการส่งข่าวนั้น ถ้าหากทางโน้นจะให้ทำอะไร ทางโน้นจะส่งข่าวมา มีการสื่อสารกันทางวิทยุ เป็นการติดต่อผ่านฐานใหญ่ที่ ตริงโกมารี ตรงเลย ไม่มีการติดต่อกับหน่วยอื่น การติดต่อกับหน่วยอื่น เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพลพรรค คือ คุณทอง กันทาธรรม

ครูใช้เวลาฝึกพลพรรคที่นั่นนานเท่าไรครับ

ใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ จนกระทั่งเราได้ข่าวว่าสงครามสงบ คือฝ่ายญี่ปุ่นยอมแพ้ เราก็ดีใจกันเมื่อได้ข่าวแน่นอนว่าสงครามสงบ เราก็เดินทางขนย้ายสิ่งของจากฐานของเรามาที่ตัวเมืองแพร่ มาพักอยู่ที่จวนข้าหลวงและรับ - ส่งข่าวทางวิทยุที่นั่นด้วย โดยได้รับความสะดวกจากฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง จนกระทั่งมีกำหนดการว่า ให้เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อมาเดินสวนสนาม เข้าใจว่าทุกหน่วยเหมือนกัน

เมื่อสักครู่นี้ ครูบอกว่า จะเล่าเกี่ยวกับการผจญภัยของคุณเสริม บุญสุดเป็นอย่างไรครับ

‘คุณเสริม บุญสุด’ นี่ไปก่อนผมรุ่นหนึ่ง ก่อนประมาณ ๗ วัน หรืออะไรนี่แหละ เพราะเป็นหลักสูตรเร่งรัด เพื่อพยายามผลิตบุคลากรเกี่ยวกับเรื่องนี้ รุ่นนั้นมีจำนวน ๗ คนเหมือนกัน ผมไม่ได้พบคุณเสริมเพราะบังเอิญมาพร้อมกันจนถึงย่างกุ้ง แต่มาแยกเป็นการปฏิบัติงานที่ต่างกัน

เขาโดดร่มเพื่อเข้ามาฝึกพลพรรค นายร้อย สห. ที่จังหวัดชลบุรี ครั้งแรกโดดร่มไม่ได้ เพราะร่มบังเอิญไปติดอยู่ที่แพนหางของเครื่องบินที่กำลังบินอยู่แต่ยังมีสติ คุณเสริมจึงใช้บินพกประจำตัวยิงให้สัญญาณ ความจริงก็ใกล้จะสิ้นสติอยู่แล้ว เมื่อนักบินได้ยินเสียงบินก็ตกใจ เมื่อโผล่ออกมาเห็นเข้าจึงดึงเข้าเครื่องได้ (เรื่องนี้ผมมาทราบทีหลัง)

เมื่อไปกระโดดครั้งแรกไม่สำเร็จ พบกันทีหลังถามทุกข์สุขว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณเสริมฯ จึงเล่าให้ฟัง) ตอนนั้นทราบข่าวว่า ทางการจะให้พัก ๑ เดือน แต่คุณเสริมฯ ไม่ยอม ขอกระโดดต่อ แล้วก็เอาร่มของ ‘คุณถนอม นพวรรณ’ ที่เขาเตรียมไว้ให้คุณถนอมฯมาแทน และก็โดดลงได้เรียบร้อย เป็นเหตุให้คุณเสริมฯ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเหรียญบรอนส์-สตาร์ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นเหตุการณ์หนึ่งในล้านกระมัง เดี๋ยวนี้คุณเสริมฯ ยังมีชีวิตอยู่ทำงานอยู่ด้วยกัน อดีตเป็นนักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ หลังจากเสร็จงานเสรีไทยแล้ว เข้าทำงานที่กรมศุลกากรด้วยกัน

ตั้งแต่เริ่มฝึก และมาโดดร่มเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศ ครูเหน็ดเหนื่อยอยู่ในป่าตลอดเวลา ได้เข้ามาพักผ่อนในเมืองบ้างหรือไม่

ก็มีบ้าง นานๆ เข้าเขาก็พาเข้ามืองสักครั้ง ผมก็เกือบแย่เหมือนกัน ผมไปเจอเพื่อนเก่าในเมืองแพร่ ผมต้องหลบหน้าเขา เป็นเพื่อนสมัยป็นนักเรียนฝึกหัดครูประถมมาด้วยกัน เขาก็เข้ามาทักผมก็ต้องเดินหนีไปเลย เพราะออกจะเสี่ยงมาก ถ้าไปรู้จักหรือทักทายใครต่อใคร

เมื่อเสร็จหน้าที่ และสงครามสงบแล้ว ครูเข้ามาร่วมเดินขบวนกับเขาด้วยหรือไม่ครับ

ครับ มาร่วมเดินด้วย เดินแถวหน้าเขาละ เพราะอยู่ในฐานะที่เป็นคนนำมา ส่วนฝ่ายอเมริกันที่มาด้วยเขาไม่ได้เดินด้วย เขากลับประเทศของเขา การเดินนี่เฉพาะคนไทยเท่านั้น

ต่อมาภายหลัง หัวหน้าทีมโดดร่มของผมนี่ ผมมาเจอเมื่อสัก ๕ - ๖ ปีหลังจากนั้น เจอกันที่สนามมวยราชดำเนิน สมัยนั้นยังไม่มีหลังคา เป็นการเจอกันโดยบังเอิญเพราะว่าผมนั่งอยู่หลังเขา ปรากฏว่าเขามากับนายตำรวจไทย ผมจำเขาได้ เราจึงทักทายกัน ผมถามเขาว่า จำผมได้ไหมผมชื่อ ไมค์ แอดัม ยู คือ มิสตอร์กูสมัค ใช่ไหม

พอเขาจำได้ก็ดีใจ จับไม้จับมือกัน แล้วก็เลี้ยงกัน ผมถามเขาว่ามาเรื่องอะไร เขาบอกว่าเขามาเป็นผู้ชำนาญการสอนการโดดร่มให้กับกองพันเสือดำของกรมตำรวจ ที่หัวหิน ซึ่งงกำลังใหญ่โตแห่งกับทหาร หลังจากนั้นก็ไม่ได้พบกันอีกเลย

กระผมขออนุญาตเรียนถามครูอีกนิดนะควับ เกี่ยวกับความรู้สึก ว่าหลังจากที่ครูทำงานเหน็ดเหนื่อย ทั้งฝึก ทั้งต้องผจญอะไรต่างๆ และรู้แล้วว่าเป็นงานกู้ชาติ เสร็จแล้ว เสรีไทยทั้งมวล รวมทั้งครูด้วยนะครับ หวังผลตอบแทนอะไรบ้างหรือไม่ ครับ

อันนี้ พวกเราทั้งหมดได้รับปากกับท่านผู้สำเร็จราชการฯ แล้วว่า เราไม่หวังผลตอบแทนอะไรเลย เพราะการเสี่ยงตายที่เราทำมานั้น เราถือเป็นการรับใช้ชาติ และแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังภูมิใจอยู่ แม้ไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลย และเพราะว่าผมเป็นครูมา

มิฉะนั้นแล้วผมคงจะสอบกฎหมายได้ไวกว่านี้ ตอนนั้นผมได้อนุปริญญาแล้ว มาเรียนต่อจนจบปริญญาหลังจากเสร็จงานรับใช้ชาติมาแล้ว ผมขอใช้คำว่า กู้ชาติ มาเป็นรับใช้ชาติก็แล้วกัน แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ผมก็ยังภูมิใจอยู่ ภูมิใจอยู่คนเดียวก็เป็นสุขไม่ใช่หรือ แต่ผมก็พร้อมที่จะเปิดเผย

หลังจากนั้น ครูเข้ามาทำงานในกรมศุลกากร

ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาทำงานในกรมศุลกากร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตอนนั้น ‘หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งใครเยอะแยะ ตั้งแต่ ‘หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน’ เป็นต้นมา และมีรายชื่อผมรวมอยู่ด้วย กับมีพรรคพวก เพื่อนผมเกือบทั้งนั้นที่ไปด้วยกัน ที่ไปทำงานด้วยกัน แต่งตั้งให้มียศทหาร พันโท อย่างสูงลงมาถึง ร้อยตรีให้ปฏิบัติงานปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในขณะที่สัมพันธมิตรเข้ามาปลดอาวุธ เป็นการช่วยงานกัน การแต่งตั้งนี้เป็นยศชั่วคราวหรือยศถาวรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ต่อไป สำหรับผมก็ใช้ยศ ร้อยตรี มาตั้งแต่บัดนั้น

ทีนี้ เมื่อแต่ตั้งแล้วก็ไปสังกัดกรมเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้วทางกรมเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็โอนให้ผมไปปฏิบัติงานที่กรมศุลกากร กันเพื่อนอีก ๓ หรือ ๔ คน จากนั้นกรมศุลกากรก็มีหนังสืออนุมัติให้รับโอนจากกรมเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย ให้กินเงินเดือน ๘๐ บาท มารับราชการที่กรมศุลกากร และบรรจุให้เป็นชั้นตรี ประกาศเลขวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐

ครูอยู่กรมศุลกากรกี่ปีครับ และระหว่างอยู่ที่นั่น ในฐานะที่เคยทำงานเสรีไทยมาได้รับการพิจารณาอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือไม่ครับ

อยู่หลายปี ที่ถามว่าได้รับการพิจารณาอะไรพิเศษหรือไม่นั้น คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ อย่างผมเองยังมีความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นอีก ผมไปอยู่กรมศุลกากรผมมีวุฒิ ธบ. จาก ธรรมศาสตร์ ผมได้รับเงินเดือน ๘๐ บาท แต่ขณะเดียวกันผู้ที่จบปริญญาจุฬาฯ เขาได้รับเงินเดือน ๑๑๐ บาท ซึ่งรวมค่าวิชาอีก ๓๐ บาท ผมจบปริญญา ธบ. แต่ไม่มีค่าวิชา ตอนนั้นจุฬาฯ กับธรรมศาสตร์เงินเดือนแตกต่างกันนะ

ในระหว่างนั้น เพราะเคยทำงานเสรีไทยมา มีคนคอยติดตามความเคลื่อนไหวอะไรบ้างหรือไม่ครับ

คือ ภายนอกผมไม่ทราบ แต่ว่าภายในนั้น บังเอิญที่กรมศุลกากรนี่ มี สห.นักเรียน สห. ไปอยู่แยะ เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า คนหมู่มากอยู่ในนั้น เขาก็คงไม่รังแกกัน ผมก็ไม่โดนรังแกไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลเรื่อยๆ มาก็ตาม ผมก็อยู่มาโดยตลอด เพราะว่าในกรมศุลกากรนั้น สังกัดกระทรวงการคลัง ส่วนมากในกระทรวงการคลังนี้ ถ้าเป็นข้าราชการเป็นธรรมศาสตร์ส่วนมาก อาจจะนึกถึงท่านผู้ประศาสน์การ คือ ฯพณฯ ท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นได้

ตำแหน่งหน้าที่การงานสุดท้ายในกรมศุลกากร คืออะไรครับ

เป็นพนักงานตีราคาเอก

ขอเรียนถามความรู้สึกและความเห็นของครู ในฐานะที่ครูเคยร่วมในขบวนการเสรีไทย ทำหน้าที่กอบกู้ประเทศชาติมา มีประสบการณ์มามาก เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประเทศชาติในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่ามีอย่างไรบ้าง

ผมมีความรู้สึกอย่างนี้นะ ควรปลูกฝังนิสัยให้คนรักชาติ ให้สำนึกในประวัติศาสตร์มากๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรยึดถือให้เป็นหลักสำคัญที่สุด อันนี้ ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจะมีการสอนที่เป็นเรื่องเป็นราวให้แก่คนรุ่นหลัง

อย่างที่มาสนทนากันนี่ ก็ได้ข้อคิดอย่างหนึ่ง ว่า ผมอยากจะระบายประสบการณ์ของผมว่ามีมาอย่างไร หากผมตายไป มันก็ยังมีอนุสรณ์ให้เราระลึกถึงได้ แต่ถ้าหากว่า ไม่มีการสนทนาบันทึกกันไว้อะไรต่างๆ ก็หายไป ผมตายไปก็แล้วกันไป ความลำบากหรืออะไรต่างๆ ที่ผมประสบมา ก็ทิ้งไปเฉยๆ ไม่มีใครรู้

ทำอย่างไรอนุชนรุ่นหลังเขาจึงจะได้รับทราบพฤติการณ์ หรือว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนเขาได้รับใช้ชาติมาอย่างไรบ้าง หากไม่ได้จดบันทึกไว้ เราทำเพื่อเสริมสร้างความจริงให้ปรากฏจากประวัติศาสตร์ต่อไป คนอื่นคงไม่กล้าเขียนความจริง นอกจากตัวเองที่ได้ปฏิบัติมาจึงจะทราบความจริง เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่อนุสรณ์สถานของวันสันติภาพ ก็ยังไม่มีเลย

เมื่อปีที่แล้ว ทราบว่ามีการตั้งชื่อถนนสายสั้นๆ ระหว่างประตูด้านหลังของธรรมศาสตร์ ไปถึงหน้าสโมสรเทศบาล ว่า ถนน ๑๖ สิงหาคม

ใช่ครับ นั่นปีที่แล้วของธรรมศาสตร์ ผมก็ยังได้ไปร่วมในวันเปิดนั้นด้วยคนหนึ่ง แต่ว่า เหตุการณ์ต่อเนื่องที่ผ่านมา ความต่อเนื่อง กลายเป็นความมีช่องว่างที่ห่างออกไปทุกที สมมติว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอนประวัติศาสตร์นี่น่ะ อายุคนรุ่นนั้นจะต้องอย่างน้อย ๖๐ ปี หรือกว่า แต่อาจารย์เวลานี้ ไม่ถึง ๖๐ ปี เพราะอาจารย์ท่านเหล่านั้น ศึกษาติดตามจากหนังสือ ไม่ใช่จากประสบการณ์ แต่บทความต่างๆ ที่เขียนไว้ก็ไม่มากมาย เพราะฉะนั้นทำอย่างไรอาจารย์ต่าง ๆ จึงจะสอนให้ศิษย์มีจิตสำนึกในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรับใช้ชาติของเสรีไทยให้จริงจังยิ่งขึ้น

ผู้ที่รู้จริงเขาอาจไม่กล้าเขียน ไม่กล้าทำก็ได้กระมังครับ เพราะเหตุการณ์และสถานการณ์ ไม่อำนวย ใครเขียน ใครทำ อาจจะมีคนติดตามก็ได้

สำหรับผม เขาอาจติดตามก็ได้ เราไม่รู้ แต่เมื่อเราไม่ใช่คนสำคัญ เราเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาอย่างนี้ ไม่มีความหมายอะไรหรอก แต่ผมก็ไปโน่นไปนี่ พบเพื่อนๆ ทั้งทหารก็มี ผมก็ยืนยันยกย่องท่านปรีดี  พนมยงค์เหมือนกับพ่อของผมคนหนึ่ง เพราะผมได้พิจารณาแล้วว่า ท่านเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ท่านได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบภาษีบ้าง สัญญาระหว่างประเทศบ้าง สารพัดอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการกู้ชาติบ้านเมืองจนได้เอกราชดังเดิม นี่ ใครทำได้

ทรัพย์สินส่วนตัวของท่านก็ไม่เห็นมีอะไร ในทางส่วนตัว ท่านไม่เคยสอนผมส่วนตัว แต่ผมรู้จากครูเตียงฯ ซึ่งผมเคารพนับถือ แล้วครูเตียงฯ ก็เคารพนับถือท่านขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ผมเองตอนนี้อายุ ๗๕ ปีแล้ว ไม่ควรกลัวอะไรอีก ใครมาถามผม ผมก็ตอบ เพราะเป็นข้อเท็จจริง…

ครั้งนี้เป็นส่วนนิดหน่อยเล็กน้อยเท่านั้นเอง เท่าที่ผมจำได้ อันทำให้ผมภูมิใจอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะมีอะไรให้ผมเพิ่มเดิมอีก ผมก็ยินดีนะครับ..และถ้ามีอะไรเชิญได้เลย ผมยินดีเสมอ แม้ว่าบางอย่างอาจจะจำไม่ค่อยแม่นยำ แต่ถ้าลำดับถ้อยความแล้วมาวิจัยกัน คงเป็นเอกสารที่แน่นอนยิ่งขึ้น

กระผมขอขอขอบพระคุณคุณครูแปลง คำเมือง อย่างมาก ที่กรุณาเล่ารายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงานของเสรีไทยในส่วนที่ท่านเกี่ยวข้องให้เราได้ทราบ และได้บันทึกกัน ไว้...ขอขอบพระคุณมากครับ

 

ที่มา: “สนทนากับ ร้อยตรี แปลง คำเมือง ธบ. เสรีไทยจากสกลนคร” สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ และ ระวิ ฤกษ์จำนง ร่วมสนทนา ใน หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534 หน้า 88-100