เล่าเรื่องชีวิตในรั้ว ต.ม.ธ.ก.
ครั้งแรกเข้าไปก็เป็นนักเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) อายุ 17 ปี สมัยก่อนเขาเรียกกันว่า ม.7 - ม.8 ผมเป็นรุ่นสุดท้าย เรียกว่ารุ่น 8 ที่เป็นรุ่นสุดท้าย
สมัยนั้น จำเป็นต้องมีโรงเรียนเตรียมสำหรับนักศึกษาที่จะเข้ามหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาก็มีโรงเรียนเตรียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีโรงเรียนเตรียม เพราะฉะนั้นก็เลยเรียก “เตรียมปริญญา” ก็แปลตรงตัวว่าเรียนเตรียมเพื่อเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อรับปริญญา
ตอนที่เปิดรับ ทางโรงเรียนเตรียมฯ ก็ระมัดระวังว่า นักเรียนที่รับไปแล้วต้องสอบผ่านข้อสอบของกระทรวงให้ได้ เพราะฉะนั้นก็คัดเลือกมา 250 คน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ประสงค์จะเข้าเรียนมากมาย ก็เลยไปขอร้องผู้ใหญ่ จึงได้มีการเปิดภาคสมทบขึ้นมา และเป็นที่เข้าใจว่า จะคัดเลือกใครไปสอบข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ ทางเตรียมฯ จึงคัดเฉพาะบุคคลที่ว่ามีความสามารถที่จะสอบข้อสอบผ่าน ส่วนคนที่ไม่ได้ส่งไปสอบ ก็สอบของโรงเรียนเตรียมวิชาธรรมศาสตร์ฯ เอง และก็มีสิทธิที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ นี่เป็นเงื่อนไขแรก แต่ในความเป็นจริงเวลาเปิด เราก็มาเรียนพร้อมกัน 500 คน เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่เรียกนักเรียนเตรียมฯ รุ่นนี้กันว่า “เตรียม 500”
เมื่อผ่านไปสัก 1 ภาคเรียน ทางโรงเรียนเตรียมวิชาธรรมศาสตร์ฯ ถึงจะมาจัดนักเรียนรวมคะแนนหมด และมาจัดคะแนนใหม่ว่าทั้งหมด 500 คน ใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีห็จัดให้ไปอยู่ ห้อง 1 ห้อง 2 ห้อง 3 ห้อง 4 คนที่คะแนนไม่ดีก็เรียงตามลำดับไป เพื่อจะได้คัด 250 คนที่เหลือเพื่อส่งไปเข้าสอบ
การเรียนการสอนเป็นกันเองมาก สอนสนุกมาก อาจารย์ผู้สอนก็ทุ่มเทมาก รักนักศึกษา เพราะฉะนั้นเวลาเราเรียนหนังสือ บางวิชาเป็นกันเอง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์อาจารย์ใจดี สอนดี สอนเก่ง พวกเราก็มีความสนุกสนานกันใกล้ชิดกับท่าน และอีกวิชาคือภาษาอังกฤษ จะมีอาจารย์หน้าตาคล้ายฝรั่งแต่เป็นคนไทยมาสอนภาษา โดยเฉพาะ อังกฤษและฝรั่งเศส
เมื่อหลังจากจัดห้องใหม่แล้ว นักเรียนทั้งห้องมีประมาณ 50 คน ในเพื่อนร่วมรุ่นของผมเองทีแรกเข้าไปอยู่ห้อง 2 พอจัดใหม่เราไปอยู่ห้อง 1 อย่างเช่น สมปอง สุจริตกุล, ประชุม โฉมฉาย, ปาล พนมยงค์
ปาล พนมยงค์ เขาก็คนเรียนดี ตอนที่จัดห้องเขาก็อยู่ห้อง 1 ตลอด เราก็เลยใกล้ชิดแต่เขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยที่จะมาสังสรรค์กับใครมากนัก อาจจะเป็นสไตล์ของเขา
รุ่นผมที่สำเร็จไปนั้นก็ประสบความสำเร็จกันมากมายหลายคน มีทั้งอดีตประธานศาลฎีกา ศาสตราจารย์อำนัคฆ์ คล้ายสังข์ หรืออดีตประธานศาลอุทธรณ์ บางคนไปเป็นเอกอัครราชทูตก็หลายคน
นักเรียนรุ่นผม 500 คนที่จบไปแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ที่ว่าทำความปลาบปลื้มให้กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นอย่างมาก เพราะว่าหลังจากประกาศผลการสอบของกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว ปรากฏว่านักเรียนที่ 1-6 ของโรงเรียนเตรียมวิชาธรรมศาสตร์ฯ ทั้งหมดเลย และใน 50 คนแรกของประเทศมีนักเรียนเตรียมฯ ถึง 30 คน เพราะฉะนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จึงปลื้มมาก นักเรียนเตรียมวิชาธรรมศาสตร์ฯ รุ่นสุดท้ายได้ทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย
เหตุการณ์ที่จำไม่ลืม เมื่อครั้งเป็นนักเรียน ต.ม.ธ.ก.
ตอนที่เราเรียนเตรียมฯ ปี 2 มีเหตุการณ์เรียกร้องดินแดน และนักศึกษารุ่นพี่มากล่าวปราศรัยมีการกรีดเลือด พวกผมที่เป็นนักเรียนตื่นเต้นกันมาก กรีดเลือดที่แขนให้ดูว่าเลือดเหลืองแดงเลย
อีกเหตุการณ์หนึ่งตอนสอบไล่เตรียมฯ ปีสุดท้าย ทางกระทรวงศึกษาธิการเลือกที่ธรรมศาสตร์เป็นที่สอบภาคอักษรศาสตร์ ขอใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์เป็นที่จัดการสอบ ปรากฏในวันแรกมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นมาแสดงบทบาทเป็นใหญ่ มีการปะทะกันระหว่างนักเรียนเตรียมฯ ของเรากับนักศึกษาที่อื่นพอสมควรแต่ก็จบลงด้วยดีไม่มีอะไร เพราะตอนนั้นนักศึกษาเต็มมหาวิทยาลัย สองเหตุการณ์นี้ ผมยังจำแม่นไม่มีลืม
จากนักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. สู่ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
หลังจากจบเตรียมฯ ก็เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นมี 2 คณะ คือ กฎหมาย (นิติศาสตร์) และ คณะบัญชี ธรรมศาสตรบัณฑิต
ตอนที่เรียนจบมีมหาวิทยาลัยอยู่ 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถ้าหากเลือกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ญาติๆ เขาก็สนับสนุนให้เข้าแพทย์ เหมือนคล้ายๆ ว่าเป็นอาชีพที่ดีและยังเป็นประโยชน์กับครอบครัวด้วย
ส่วนตัวเราเองคิดว่าวิชาบัญชีก็ดีนะ รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ธุรกิจต้องการ และทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง วิชาบัญชีที่เปิดสอน เป็นวิชาที่เข้มแข็ง เป็นความต้องการของนักธุรกิจมากและก็จบเร็วกว่าด้วย
ธรรมศาสตร์สมัยนั้นก็เป็นตลาดวิชาให้โอกาสคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ก็เข้ามาเรียนได้ ผมเห็นว่าตัวเองจำเป็นต้องมีรายได้ก็ไปทำงานและก็เรียนไปด้วย เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่านผู้ประศาสน์การ ท่านมองเห็นการณ์ไกล หลังจากที่ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนยังขาดความรู้ เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยไม่ง่าย ท่านจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา อุดมการณ์ของท่านก็คือให้เป็นตลาดวิชาเลย หมายความว่า ประชาชนทุกระดับ มีฐานะดี หรือมีฐานะไม่ดี ก็สามารถที่จะเข้ามาเรียนได้ เพราะเห็นว่าตัวเองยังต้องพึ่งรายได้ ก็ไปทำงานและมาเรียนก็ได้ คนที่มีฐานะอยากจะมาเรียนโดยไม่ทำงานก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น เปรียบเสมือนกับคำว่าเปิดโอกาส ไม่มีการสอบเข้า คุณอยากเรียนสมัครเข้ามาเรียนเลยเมื่อมีคุณสมบัติถูกต้อง และคุณก็เรียนไปเลย อยากเรียนอีกกี่วิชาก็ตามสะดวก ไม่มีต้องให้มาเรียนตามเปอร์เซ็นต์
นี่เป็นอุดมการณ์ที่ดีมากที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะมาศึกษาหาความรู้หลักสูตรที่ว่าจบไปมีความรู้หลายๆ อย่าง สามารถไปประกอบวิชาชีพได้เป็นอย่างดี คือไม่ได้เฉพาะเจาะจงต้องเรียนกฎหมายทั้งหมด มีความรู้อย่างอื่นอย่าง เช่น ที่ผมเรียนบัญชีผมก็รู้สึกดีใจมาก เพราะว่าเป็นหลักสูตรที่ว่า ทำไมนักธุรกิจถึงชอบคนที่จบบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนแต่บัญชี เราเรียนกฎหมายประกอบ พอเราจบไปแล้วสามารถทำงานได้เลย
ผมยังรู้สึกเสียดายที่ในปี 2495 รัฐบาลลบคำว่า “วิชา” และคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย เหลือแค่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เฉยๆ ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีท่านลี้ภัยไปแล้ว ท่านไม่ได้อยู่ในเมืองไทยนานแล้ว แต่ก็ชอบหาเรื่องท่านอยู่นั่น
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งนี้ ถือว่าเป็นปฏิญญา 1 ในหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในข้อของการศึกษาที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งท่านผู้ประศาสน์การได้ดำเนินตามนโยบายและอุดมการณ์ สร้างตลาดวิชาและเปิดโอกาสให้ทุกชนชั้นมีสิทธิเท่าเทียมกันในการศึกษา ผมเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เจอท่าน แต่ผมมีโอกาสได้เจอและได้ทำความรู้จักกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในความทรงจำ
ท่านเป็นคนที่เรียบง่าย ไม่มีการถือตัว เป็นกันเอง เป็นห่วงนักเรียน นักศึกษาทุกคน คอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบไม่ขาด และที่สำคัญ ท่านนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเสมอ พวกเราชาว ต.ม.ธ.ก. ไปงานวันเกิดของท่านเป็นประจำทุกปี ในนามชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์
จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ อาจารย์ประจำภาควิชาบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผมเป็นอาจารย์สอนคณะบัญชีฯ ชีวิตของผมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาโดยตลอดตั้งแต่อายุ 17 จนตอนนี้ 94 แล้ว มีเว้นช่วงอยู่นิดเดียวตอนผมไปต่างประเทศ พ.ศ. 2498 - 2502 เรากลับมาก็เลยไปช่วยสอน ผมก็เลยใช้ชีวิตเว้นไป 4 ปี ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย กลับมาปี พ.ศ. 2502 ผมก็มาสอนเลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2529 เรามีงานเยอะเราถึงต้องออกไป
ระหว่างที่สอน เราก็มาช่วยเป็นกรรมการประจำคณะ และในที่สุดก็ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มันมีความต่อเนื่อง พอเรามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย เราก็ลาออกกรรมการประจำคณะ งานของมหาวิทยาลัยหลายๆ งาน ยังให้เกียรติชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ในการร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาการจัดงานอยู่ อย่างในวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2566 ที่กำลังจะถึงในเดือนพฤษภานี้ ทางมหาวิทยาลัยจะจัดให้สมเกียรติเหมือนก่อนที่จะเกิด Covid - 19 ผมก็เข้าร่วมประชุมด้วย
ชีวิตในวัน 94 ปี ของศาสตราจารย์พิเศษ หิรัญ รดีศรี
จริงๆ เวลานี้ถือว่าเราเกษียณแล้ว ถามว่าคือเกษียณ นี่คือเกษียณครั้งที่ 2 ครั้งแรกคือจากงานประจำ คราวนี้เราเกษียณจากงานที่เรามารับใช้ธุรกิจสังคม เช่น เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยก็ดี ของราชการก็ดี ของเอกชนก็ดี ตอนนี้เราขอลาออกหมดทั้งสิ้นเลย ตอนนี้ถือว่าอิสระ อยู่กับบ้าน ทำอะไรในสิ่งที่เราอยากต้องการ เขียนหนังสือบ้าง ดูแลต้นไม้บ้าง ไปให้คำปรึกษา หรือเป็นคณะกรรมการในนามชมรมต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์บ้าง
“ชีวิตผมทุกวันนี้ยังคงอยู่รอบๆ รั้วเหลืองแดงไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566
ณ บ้านพัก ซ.สุขุมวิท 49
- ต.ม.ธ.ก.
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- หิรัญ รดีศรี
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ณภัทร ปัญกาญจน์
- ปรีดี พนมยงค์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะราษฎร
- สมปอง สุจริตกุล
- ประชุม โฉมฉาย
- ปาล พนมยงค์
- อำนัคฆ์ คล้ายสังข์
- พูนศุข พนมยงค์
- กบฏแมนฮัตตัน
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐประหาร
- เค้าโครงเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง