ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview : ชีวิต ต.ม.ธ.ก. รุ่น 4 ของสรรเสริญ ไกรจิตติ

23
มีนาคม
2567
 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับรายการ PRIDI Interview อีกครั้งนะคะ ย้อนกลับไปวันนี้ในอดีต 23 มีนาคม 2480 เป็นวันก่อตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนั้น แล้ววันนี้เราอยู่กับอาจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ หนึ่งในศิษย์เก่าจากโรงเรียน ต.ม.ธ.ก. สวัสดีค่ะ อยากให้อาจารย์แนะนำตัวหน่อยค่ะ เล่าถึงวัยเรียนตอนนั้นหน่อย ว่าเราเข้าไปในช่วงนั้นเนี่ยประมาณช่วงอายุเท่าไหร่ตอนเรียน

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ตอนนั้นก็อายุ 14 เข้าโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วก็เท่าที่จำได้เวลานี้มีเพื่อนร่วมรุ่นอยู่เหลืออยู่คนเดียวที่ยังมีชีวิตและติดต่อกันอยู่ก็คือ คุณสุภาพ สุคนธทรัพย์ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมปริญญารุ่น 4 เหมือนกัน แต่จะอยู่กันคนละห้อง นักเรียนเตรียมปริญญาทั้งหมด รุ่น 4 นี่มีถึง 18 ห้อง ห้องละประมาณ 50 คน แล้วสอนทางเครื่องขยายเสียง มีไมโครโฟนทุกห้อง มีผู้คุมห้องของแต่ละห้อง แต่ละคน ครูหรืออาจารย์บรรยายแบบเสียงตามสาย จำได้ว่าสมัยเรียนดนตรีมีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้สอน ขั้นต้นท่านขึ้นด้วยขอความเงียบ เพราะคุยกันวุ่นวาย ทั้งหมดมีห้องเกือบ 50 คน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

โรงเรียน ต.ม.ธ.ก. จะเป็นคล้ายๆ มัธยมสมัยนี้ใช่ไหม ช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ใช่ๆ ซึ่งมีกำหนดเวลา 2 ปี เรียน 2 ปี

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

พิธีเปิดปี 2480 เริ่มเรียนรุ่นแรกในปี 2481 ใช่ไหม

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

นั่นตั้งแต่รุ่น 1 เลยใช่ไหม ผมก็รุ่น 4 ปี 2484

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ย้อนไปนิดนึงตรงที่บอกว่าเรียนเสียงตามสาย อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังถึงวิธีการเรียนค่ะ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

เขานั่งกันแต่ละห้อง ห้องหนึ่งก็ราวๆ 50 คน มีครูคุมห้องละคน ส่วนผู้บรรยายนั้นก็นั่งอยู่ห้องเดียวแล้วก็มีไมโครโฟนบรรยายมาตามสาย ซึ่งมีไปถึงทุกห้อง ที่จำได้ก็มีตอนสมัยเรียนดนตรี วิชาดนตรีก็เรียนทางเครื่องขยายเสียง ผมอยู่รุ่น 4 มีห้องละ 50 คน ทั้งหมดตั้ง 18 ห้อง

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

วิชาในสมัยนั้น ก็คือจะเป็น 1 วิชา ก็คุณครู 1 คนไหม ตามความถนัดของคุณครู

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

เท่าที่จำได้ ก็ปี 1 มี 7 วิชา และปี 2 3 4 ก็ปีละ 8 วิชา ที่จำได้ดีก็สอบตกวิชาเดียว คือวิชาปี 2 วิชาตัวแทนนอกนั้นก็สอบได้หมด แต่ก่อนมันมีสอบ 2 สมัยนะ ก็ปีละ 2 ครั้ง ผมก็สอบได้ในทั้งหมดเพียง 3 ปีครึ่งก็จบตามหลักสูตรหมดละ ตกวิชาเดียวคือวิชาตัวแทนฯ ตอน ปี 2

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

อาจารย์บอกว่ามีสมุดประจำตัวด้วยใช่ไหม คล้ายๆ สมุดพกในปัจจุบันของเด็กๆ มัธยมที่เราอาจจะเคยเห็นกัน อาจารย์ลองเปิดให้ดูหน่อยดีกว่า ว่าในสมัยนั้นสมุดประจำตัวเนี่ยเขามีอะไรกันบ้างใน 1 เล่ม

 

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สมุดประจำตัวนักเรียนนามนายสรรเสริญ ไกรจิตติ :  ไกรจิตติ

 

ส -ั -น = สัน เ-ส-ิ-น = เสิน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

อันนี้ก็จะยังเป็นตัวสะกดในสมัยก่อนนะคะ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

นี้ก็เป็นรูปถ่ายแล้วก็มีลายเซ็น สรเสริญ ไกรจิตติ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

ธรรมศาสตร์ คำว่าศาสตร์ ก็ยังเป็นชื่อตัว ส-เสือ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ตอนนั้นก็เปลี่ยนอักษรหมดเลย

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ตรงนี้เลขาธิการมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น พอจะจำได้ไหม ว่าเป็นลายเซ็นใคร

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นเลขาธิการ แล้วก็ประศาสน์การก็ท่านปรีดี พนมยงค์

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

ก็มีจะมีลายเซ็นด้วยทั้งคู่นะคะ อันนี้ก็จะเป็นวิชาที่นักเรียนทุกคนได้เรียน

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

รายการสอบไล่ เขียน เรียน วิชาที่เรียนก็จะเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

แปลว่าหลักสูตรของ ต.ม.ธ.ก. ก็คือทุกคนจะต้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปด้วยใช่ไหม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ก็จะมีกฎหมายอาญาภาคต้น ตอนนั้นเป็นวันสอบไล่ 27 มิถุนายน 2486 ก็แปลว่ากฎหมายทั่วไปก็คือ ถ้าเป็นนักศึกษา ต.ม.ธ.ก.ก็จะได้เรียนหมด กฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

เรียนกฎหมายกับบัญชี 2 วิชานี้

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

อยากให้อาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ เรื่องเพื่อน หรือธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น เราไปเที่ยวไหนกันคะ ถ้าเรียนเสร็จ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

เตรียมแต่ก่อนเขามี 8 รุ่นนะ รุ่น 1 ถึงรุ่น 8 เราอยู่รุ่น 4 มีเพื่อนสนิทก็มีอรุณ ภานุพงศ์ แล้วก็สุภาพ สุคนธทรัพย์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ แล้วพบกันครั้งเร็วนี้ๆ ก็คือคุณสุภาพ สุคนธทรัพย์ ซึ่งเตรียมรุ่น 4 เหมือนกัน ก็นั่งรถรางมั่ง เดินข้ามสนามหลวงมั่ง ไปดูซื้อของ หรือดูสาวๆ ที่ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำ

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด

ก็จะเที่ยวแบบแถวสนามหลวง แถวท่าพระจันทร์เดินเล่นกันแถวนั้นใช่ไหมคะ แล้วอย่างในธรรมศาสตร์ ตอนเรียน ต.ม.ธ.ก. คือเราเรียนที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ แล้วตอนนั้นเรียนตรงบริเวณไหนของธรรมศาสตร์

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ริมตึก ริมกำแพงยาวจากท่าพระจันทร์มาสนามหลวงเลย 18 ห้อง เป็นตึก 2 ชั้น แล้วก็มีครูบรรยายอยู่ในห้องบรรยายส่งเครื่องขยายเสียงไปทั่วทุกห้อง แล้วแต่ละห้องก็มีครูคุมชั้นแต่ละคน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

ตอนนั้นที่เรียนเสียงตามสาย เด็กคุยกันไหม วุ่นวายไหม

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ตอนแรกก็วุ่นวาย แต่พอคุณพระเจนดุริยางค์เข้ามาสอนดนตรี ก็บอกให้ขอความเงียบ เด็กๆ ก็เงียบ ถ้าไม่มีครูมาก็คุยกันก็ของธรรมดา

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

แล้วอย่างตอนนั้นคนที่เรียน ต.ม.ธ.ก. ด้วยกัน พอเรียนจบก็ไปต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันหมดเลย

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

 จาก 2 ปี โรงเรียนเตรียม 2 ปี แล้วก็ขึ้นไปเรียนกฎหมาย มี 2 วิชา ถ้าเรียนกฎหมายก็ 4 ปี เรียนบัญชีก็ 5 ปี ธรรมศาสตร์มี 2 คณะ วิชากฎหมายกับวิชาบัญชี

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ซึ่งเราก็ถูกปูพื้นฐานมาหมดแล้วตอนเรียนเตรียมฯ ตอนที่เรียนเสียงตามสาย รู้สึกว่ามันกระทบกับการเรียนหรือว่ารู้สึกว่ามันเป็นช่วงสงครามใช่ไหม เรากลัวหรือว่าระแวงสงครามมั้ย

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ตอนถูกระเบิดจริงๆ ก็อพยพออกไปหมด ก็ไม่กลัว ตอนนั้นก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ถ้าในที่สุดก็อพยพไปอยู่ต่างจังหวัด ปิดมหาวิทยาลัย ปิดโรงเรียน ไปอยู่ที่อยุธยาหรือที่บางปะอินนี่แหละ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

อาจารย์เคยไปเดินรณรงค์หรือว่าไปเดินขบวนกับเขาด้วยไหม

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

เท่าที่จำได้เคยมีการเดินขบวนครั้งหนึ่ง เรามีพี่เขยเป็นทหารม้า ไปขอยืมม้าเขามาขี่นำขบวน ตามถนนราชดำเนิน เรียกร้องดินแดนคืน ตอนนั้นถูกฝรั่งเศสเอาดินแดนไปทางฝั่งอินโดจีน

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด : 

ตอนนั้นได้ร่วมไปเล่นภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกด้วยใช่ไหมคะ เป็นภาพยนตร์ที่อาจารย์ปรีดี เป็นผู้สร้าง

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ก็มีอาจารย์ 2 คน เป็นพระเอกคืออาจารย์เรียกว่าครูไว้ ไววิทย์ แล้วก็ครูเอ็ดเวิร์ด  เป็นภาษาอังกฤษ ขึ้นคอช้าง ขึ้นข้างขวาตกข้างซ้าย ขึ้นข้างซ้ายตกข้างขวา ก็ในที่สุดถ่ายทำไปก็อาจารย์ปรีดีเป็นผู้กำกับการแสดง ตั้งชื่อว่า “พระเจ้าช้างเผือก”

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ซึ่งตอนนั้นอาจารย์รับบทเป็นอะไรในเรื่อง

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ผมรับเป็นพลทหารรบกับพม่า ฟันกันไปฟันกันมา วิ่งกันสนุกสนานไม่มีใครล้มไม่มีใครตาย ผู้กำกับท่านก็บอกว่าให้คนนั้นล้ม คนนี้ล้ม คนนั้นไม่ล้ม คนนั้นไม่ล้ม ก็ผลสุดท้ายครั้งสุดท้ายก็ได้ความว่าที่ล้มก็มี ที่ไม่ล้มก็มี ตายบ้างไม่ตาย ก็เสร็จถ่ายทำพระเจ้าช้างเผือก อาจารย์ปรีดีท่านเป็นคนกำกับการถ่ายทำ พวกนักเรียนในห้องไปกันหมด

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ตอนที่อยู่ธรรมศาสตร์ฯ ได้เจออาจารย์ปรีดีบ่อยไหมคะ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ไม่บ่อย ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านก็อยู่ห่างไกลพวกเราหน่อย แต่พวกเราผ่านทุกวัน มีจะเจอในวันพิธีเปิด กล่าวบรรยายเปิด แนะนำให้วิธีการอย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่างๆ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

อาจารย์ปรีดีเป็นยังไงบ้างคะตอนนั้น ใจดีหรือดุ

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ท่านเป็นคนใจดี มีศีลธรรม น้ำเสียงท่านนุ่มนวลฟังแล้วน่านับถือ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ประทับใจอาจารย์ปรีดียังไงบ้าง

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ประทับใจที่ท่านจัดบทอันนั้นให้ อันนี้ให้ แล้วก็จำได้ว่า ตอนท่านอพยพไปอยู่ฝรั่งเศสที่ชานเมืองปารีส เมืองอองโตนี ผมก็ไปหาท่าน ไปถึง 2 ครั้ง ไปครั้งแรกก็ไปพบท่านที่บ้าน ท่านก็คุยดี ครั้งที่ 2 ท่านพาไปทานอาหารด้วย มีลูกชายไปอีกคน ปาล พนมยงค์ ผมไปเยี่ยมเยือนทักทายปราศรัย ถามความทุกข์สุขดิบของท่าน ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีอพยพไปอยู่ ครั้งแรกท่านอพยพไปอยู่เมืองจีน แล้วท่านถึงไปอยู่ที่เมืองอองโตนี กับท่านผู้หญิงพูนศุข

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ทำไมอาจารย์ถึงเดินทางไปหาอาจารย์ปรีดี

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ก็บอกไม่ถูกนะ ก็นับถือท่าน ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพวกเรานักเรียนธรรมศาสตร์ ใครๆ ไปมีโอกาสก็ต้องไปหาท่าน เป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ก็รู้จักท่านดี ก็ตั้งใจไป สมัยก่อนมันมี 4 โรงเรียนเตรียม เตรียมธรรมศาสตร์ เตรียมจุฬา เตรียมนายร้อย เตรียมนายเรือ 4 โรงเรียนเตรียม นายร้อย นายเรือก็ไปทางทหารบก ทหารเรือไปทางธรรมศาสตร์เราก็มานี่ ทางจุฬาเขาก็หลายวิชาหลายสาขาด้วยกัน ต่างคนต่างแยกไป

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

กลับจากบ้านอองโตนีได้มีติดตามข่าวคราวของอาจารย์ปรีดีต่อไหม

 

สรรเสริญ ไกรจิตติ :

ได้ติดตามว่าท่านเสียชีวิตและได้มีการเผาศพที่ฝรั่งเศสนะ แล้วก็ท่านผู้หญิงยังอยู่กับท่านจนกระทั่งเผาศพ

 

“กฎหมู่ไม่ดี กฎหมายก็ไม่แน่ แต่แท้ที่สุดคือกฎแห่งกรรม ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่เพื่อนร่วมรุ่นทุกคน”

สรรเสริญ ไกรจิตติ
ประธานมูลนิธิ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 4

 

ศาสตราจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ อดีตรองประธานศาลฎีกา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นบุตรของพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ (สุดใจ ไกรจิตติ) อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม และคุณหญิงเชย กุญชรซึ่งเป็นบุตรีพระยาอาทรธุรศิลป์ (มลช่วง กุญชร ณ อยุธยา และ คุณหญิงชม หุตะสิงห์ ซึ่งเป็นพี่สาวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

 

ผู้สัมภาษณ์ : ชญานิษฐ์ แสงสอาด
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567

ภาคผนวก: 

  • จดหมายนายสรรเสริญ ไกรจิตติ ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

จดหมายนายสรรเสริญ ไกรจิตติ ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์