ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“คินีและทูรันโดต์” การตีความข้ามกาลเวลา Chini and Turandot, Interpretation across Time

1
ธันวาคม
2565

 

 

“การแสดงเดี่ยว” (Solo performance) ไม่ว่าประเภทไหนล้วนเป็นงานปราบเซียนเฆี่ยนฝีมือให้ระบือได้ในทุกๆ ศาสตร์ ถ้าไม่ขาดความมั่นใจและฝึกฝนจนแน่จริง ไม่งั้นต้องทิ้งแนวทางสร้างสายใหม่ แต่ ครูกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงเดี่ยวในวัยเยาว์เขามักปรารภอย่างถ่อมตัวและชัดเจนในตนเสมอว่า

 

“กั๊กทำอะไรสเกลใหญ่เยอะไม่เป็น ถนัดจับเฉพาะจุดรับผิดชอบเป็นเรื่องๆ ไป ไม่สามารถดูแลภาพรวมทุกหน้าที่ทั้งหมดได้”

 

เมื่อกว่า 30 ปีก่อนครั้งยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กั๊กเปิดโรงละครแบบ Black Box บนห้องแถวย่านถนนรามคำแหง และยืนยันตัวตนด้วยผลงานการแสดงเดี่ยวเรื่องแรก “ราโชมอน” จากวรรณกรรมอมตะของ ริวโนสุเกะ อากิตางาวะ ชาวญี่ปุ่น มีเทคนิคการแสดงคือแรงของสัญชาติญาณ การก้าวล้ำกรอบจึงแจ้งเกิดด้วยโซโลโชว์เดี่ยวเกี่ยวสามตัวละคร (เมียซามูไร-ซามูไร-โจรป่าตาโจมารุ) รวบมาเล่นคนเดียว เปรี้ยวสุดในช่วงนั้นซึ่งการแสดงแนวร่วมสมัยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มันคือการค้นพบแนวทางของตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มเรียนรู้ และก้าวต่อไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีโอกาสได้ร่วมงานกับ ภัทราวดี เธียเตอร์ ศิลปสถานที่เป็นทั้งโรงเรียนและโรงละครของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน เด็กซนเติบไต่ไวว่องด้วยอัตลักษณ์ของตัวเอง มีอารมณ์ขำนำเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์

โพรดักชันของกั๊กช่วงเริ่มขยับมีเล่นกับดนตรีเหมือนวงอันปลั๊กขนาดเล็ก นักดนตรีไม่กี่คน เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เป็นงานศิลป์แบบ poor art ปราศจาก prop หรูหรา แต่ทว่าแน่นไปด้วยแก่นของการออกแบบที่แนบเป็นหนึ่งเดียวกับหัวใจของเรื่องอย่างเปรื่องปราชญ์ มีชาติพันธุ์จีนโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์และไม่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี

 

 

 

ล่าสุด มีพัฒนาการเติบโตตามวัยและวุฒิอย่างคนที่ไม่หยุดจะเรียนรู้ ครูกั๊กร่วมงานกับโครงการ ARCADE 2022 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว ภายใต้ “โครงการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ” ก่อเกิด “คินีและทูรันโดต์ การตีความข้ามกาลเวลา” (Chini and Turandot, Interpretation across Time) การแสดงเดี่ยวเรื่องล่าสุดที่เกิดจากการรังสรรค์ศิลปกรรม วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง ดนตรี และการออกแบบสื่อผสมบนพื้นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการวิจัย

ครูกั๊กเขียนบทร่วมกับ ผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นการขยายโพรดักชันสเกลใหญ่ขลังอลังการที่สุดเท่าที่ครูกั๊กเคยสร้างสรรค์มา เพื่อให้ลูกศิษย์ได้มีโอกาสฝึกฝนบนเวทีอย่างที่เขาเคยได้รับ ด้วยเทคนิคการละครที่สอนเสริมเรื่องรับส่งให้ลงตัวในรายละเอียดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยจัดให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมระหว่างการสร้างสรรค์ละครเวที กับการถ่ายทำสารคดีเรื่อง “ตามรอย Galileo Chini” นำทีมโดย พัชรินทร์ โต๊ะบุรินทร์ ด้วยการรังสรรค์งานผ่านชีวประวัติและผลงานของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) นายช่างชาวอิตาเลียนคนสำคัญในประเทศไทย เริ่มจากการศึกษาชีวประวัติ และหลักฐานทางศิลปกรรมของนายช่างในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการออกแบบและตกแต่งโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้งหมด รวมถึงการวาดภาพพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 อันเป็นส่วนผสมของศิลปะกีแบร์ตี[1] กับศิลปะไทยอย่างกลมกลืน

คินี ที่ได้รับการกล่าวขวัญในอิตาลี และเป็นตัวอย่างศิลปะตะวันตกในประเทศไทย นับเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยล้ำค่าที่ข้ามผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า 100 ปี

 

 

 

เมื่อคินีกลับสู่อิตาลีในเวลาต่อมาเขาได้เป็นอาจารย์ประจำในสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ทั้งยังเป็นมัณฑนากร จิตรกร ประติมากร และนักออกแบบฉากละครผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือ เขาออกแบบฉากอุปรากรเรื่อง “Turandot” ของ จิอาโคโม ปุชชินี (Giocomo Puccini คีตกวีอุปรากรคนสำคัญชาวอิตาเลียน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้เป็นทั้งเพื่อนและผู้อุปถัมภ์ของเขา)

อุปรากรทั้งเรื่องเกิดขึ้นในประเทศจีน คินีไม่เคยไปประเทศจีนแต่ได้ใช้ความทรงจำที่เคยอยู่ในประเทศไทยย่านเยาวราชวาดฉากประเทศจีนออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่และแยบยล จนเป็นที่มาของละครเวที “Chini and Turandot : Interpretation across Time” นำเรื่องราวใน Turandot โอเปร่าเรื่องสุดท้ายของ ปุชชินี มาเล่าขนานไปกับการเดินตามเส้นทางศิลปะที่หลากหลายของ คินี ศิลปินผู้สร้างสรรค์ฉากโอเปร่าที่ได้แรงบันดาลใจจากสยาม รับกับลายเซ็นงามตามแบบของครูกั๊กผู้รักในศิลปวัฒนธรรมจีนจนเป็นเอกลักษณ์ ร่วมสลักให้โดดเด่นเห็นเสลาเข้ากันได้เป็นอย่างดี หรือนี่คือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้หมดแล้วเพราะ “คนเราทุกคนล้วนมีสิ่งที่ต้องทำด้วยกันทั้งนั้น”  ในบทเพลงไพเราะดนตรีเสนาะกันต์ “มันเริ่มด้วยกฎเกณฑ์และคำสัญญา เวียนวนซ่อนอยู่ในใจนี้ไม่มีใครหลีกหนีพ้นพาน

 

 

 

“Chini and Turandot” บอกเล่าเรื่องราวของ เจ้าหญิงทูแรนโดต์ (Turandot) ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้เลอโฉมแต่เหี้ยมโหดและเย็นชา ไม่เชื่อในความรัก เพราะพระนางแค้นที่บรรพบุรุษถูกลักพาตัว ฉุดคร่า และสังหารเมื่อ 2,000 ปีก่อน จึงหันหลังให้บุรุษเพศทั้งปวงและตั้งปณิธานว่าจะไม่มีวันยอมเป็นคู่ครองของชายใด แต่เมื่อต้องแต่งงานจึงตั้งกติกาว่าใครจะได้อภิเษกกับเจ้าหญิงต้องผ่านด่านทดสอบด้วยการตอบปริศนา 3 ข้อ ถ้าตอบผิดต้องถูกบั่นศีรษะด้วยทัศนะที่ว่า “เพราะเธอไม่รู้จักฉัน เธอแค่อยากครอบครองฉันและทุกอย่างที่เป็นของฉัน”

วันหนึ่งมีชายลึกลับปรากฏตัวขึ้นเขาคือ เจ้าชาย คาลาฟ (Calaf) ที่ถูกเนรเทศมาจากบ้านเกิดของตัวเองและดำรงตนในฐานะคนนิรนาม เจ้าชายได้เห็นเจ้าหญิงเป็นครั้งแรกเมื่อเธอปรากฏกายกลางสาธารณะเพื่อสำเร็จโทษเจ้าชายอีกองค์ที่แก้ปริศนาไม่สำเร็จ รู้สึกตกหลุมรักเธออย่างลุ่มหลง โดยไม่ฟังคำทัดทานของใครเจ้าชายมุ่งหน้าไปตีฆ้องก้องประกาศเข้าร่วมการประลองและลงชีวิตเป็นเดิมพัน

เริ่มเรื่องด้วยผู้เล่า (Narrator) กับหุ่นชายชรา ตัวแทนพ่อของเจ้าชายคาลาฟที่มาตามหาลูกชายซึ่งตัดสินใจตอบคำถามเจ้าหญิง ด้วยความเป็นห่วงกลัวเสียลูกชายจึงรีบให้สาวใช้พาเดินทางมาเร่งเจราจาก่อนจะสายไป และเล่นกับเมนพร็อพ กรงนกสีทอง (สนองสถานะของเจ้าหญิงผู้ไร้สุข) ภายในมีทุกคำตอบของปริศนา 3 ข้อ

ข้อที่ 1 อะไรเอ่ยเกิดใหม่ทุกราตรี พอรุ่งสางก็ตาย … “ทุกค่ำคืนก่อนที่เราจะนอนหลับ เรามักจะหวังกันว่า ในวันรุ่งพรุ่งนี้ จะมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต แต่พอยามรุ่งมันกลับไม่มีอะไรดีๆ เข้ามาเลย” คำตอบคือ “ความหวัง” 

ข้อที่ 2 อะไรเอ่ยส่งประกายแดงฉานดั่งแสงเพลิง แต่ไม่ใช่เพลิง บางครั้งลุกเป็นไฟ บางคราก็อ่อนกำลังลง เมื่อเธอมองมาที่ฉัน ความรู้สึกมันวิ่งพล่านอยู่ในเส้นเลือดของเธอ คำตอบคือ “เลือด” 

ข้อที่ 3 อะไรเอ่ยทำให้คุณรู้สึกลุกเป็นไฟ และจากไฟก็ทำให้คุณมอดไหม้ กลายเป็นน้ำแข็ง คำตอบคือ “ความรัก”

เจ้าชายนิรนามตอบคำถามถูกทุกข้อ ยื่นเสนอย้อนกลับไปยังเจ้าหญิงว่า ถ้าสามารถหานามแท้จริงของพระองค์ได้จึงจะยินดีให้นางบั่นศีรษะ เจ้าหญิงโกรธและสืบหาชื่อเจ้าชาย ถ้าหาไม่ได้จึงจะยอมแต่งงานด้วย (เป็นเงื่อนไขที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำล้ำลึก เหมือนรู้สึกและเข้าใจกันอยู่สองคนว่า “สาร” ที่ต้องการสื่อเพื่อ “พิสูจน์” แท้จริงแล้วมีนัยอะไรซ่อนอยู่)

ละครเลือกที่จะจบตามบทเดิมของปูชินีที่แต่งค้างไว้ก่อนเสียชีวิตช่วง นางทาสหลิว บริวารเก่าของเจ้าชายถูกจับมาทรมานให้คายชื่อนาย แต่นางยอมตายเสียดีกว่า ต่อมามีผู้ตัดแปลงเป็นการแสดงให้จบแบบ Happy Ending เจ้าชายได้อภิเษกกับเจ้าหญิง ทิ้งสิ่งรันทดให้งดงามด้วยความบันเทิงเริงรมย์

 

 

 

ศิลปะมีหน้าที่ชี้นำและเสนอแนะแนวทางสร้างความคิด ตอบปริศนาของแต่ละคนปนประสบการณ์ “Chini and Turandot, Interpretation across Time” ชวนให้ตีความถอดสัญลักษณ์จากลายลักษณ์ของ จิอาโคโม ปุชชินี (Giocomo Puccini เจ้าของบทละคร TURANDOT ต้นแบบ “Chini and Turandot”) ที่ซ่อนนัยให้ค้นหา เร้าใจให้เกิดการศึกษาผลงานที่ผ่านแรงบันดาลใจของผู้เขียน บนบริบทของศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก ในวันที่โลกไร้พรมแดน

องก์ 1 “ความหวัง”  คือความหวังของมวลชนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุขจากการปกครอง หากผู้เป็นเจ้าของอำนาจไร้สติครองตน ก็ไม่ต่างจากปีศาจกระหายเลือดที่จ้องแต่จะเชือดประชาชน คือความมืดมนอนธการของบ้านเมือง

องก์ 2 “เลือด” เป็นกุญแจสำคัญที่เด่นชัดของเรื่อง หายนะจากสงครามซึ่งไม่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดี มีเพียงร่องรอยของปีศาจที่อาละวาดไม่รู้จบ ถ้าเราไม่พยายามลบจากดวงจิต แล้วปล่อยวางให้ใจได้อยู่อย่างสงบ ก็ต้องรบกับความคิดร้ายไม่เลิกรา แม้เวลาก็ไม่อาจลบเลือน ในวังแห่งนี้เมื่อหลายพันปีก่อน เสียร้องโหยหวนดังขึ้น และการร้องไห้นั้นยังคงอยู่มาอีกหลายชั่วอายุคน ซ่อนอยู่ในจิตวิญญาณของฉัน ย่าของฉัน เจ้าหญิงโหล่วหลิง หญิงสาวที่งดงามและบริสุทธิ์ เมื่ออาณาจักรของเราพ่ายแพ้เธอถูกฉุดคร่า โดยพวกผู้ชายเหล่านั้น ผู้ชาย ผู้ชาย ที่เหมือนกับคุณ พวกคนแปลกหน้า เธอหลับใหลมานานหลายศตวรรษในหลุมฝังศพขนาดใหญ่ มันช่างเป็นคืนที่โหดร้าย ย่าคงหวาดผวา ฉันรู้สึกได้ว่าเสียงร่ำไห้ของย่า เหมือนดังก้องในหูของฉัน เจ้าชายทั้งหลายเดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อมาตอบคำถามและต้องตาย “คำถามมี 3 ข้อ แต่ความตายมีเพียงหนึ่งเดียว คำถามมี 3 ข้อ และชีวิตมีเพียงหนึ่งเดียว”

องก์ 3 “ความรัก” โลกจะดำรงสันติสุขได้ด้วยความรัก รักตัวเองด้วยการไม่ทำร้ายตน ต้องหนีให้พ้นจากปีศาจซึ่งมีอำนาจเหนือความคิด แล้วปลูกจิตสำนึกให้รักเพื่อนมนุษย์เพื่อหยุดสงครามทั้งภายนอกและภายใน ใจตน 

 

 

 

เรื่องส่งให้เจ้าหญิงโหล่วหลิงเป็นตัวแทนของผู้หญิงจีนที่แหวกขนบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ของจีนโบราณอย่างหาญกล้าท้าทาย มุ่งทลายแรงกดดันที่ให้ความสำคัญกับชายเป็นใหญ่ในปฐพี บอกทัศนคติที่ชาวตะวันตกมีต่อวัฒนธรรมตะวันออกผ่านมหาอุปรากรของ ปุชชินี เรื่องนี้ครูกั๊กเป็นผู้เล่าเรื่องและแสดงเองรวม 5 ตัวละครหลัก คือ ผู้เล่าเรื่อง (Narrator) กับหุ่น, เจ้าหญิงทูรันโดต์, ชาวเมืองที่มาลุ้นเจ้าชาย, ปิง ปอง แปง (ตัวแทนเหล่า) ข้าราชการพลเรือน และพลเมืองที่คัดค้านการปกครองของเจ้าหญิงฯ และนางทาสหลิว

อุปกรณ์ประกอบฉากและเครื่องแต่งกายของ “Chini and Turandot” ครูกั๊กดีไซน์ใหม่ขึ้นมาจากของเหลือใช้ทั้ง reuse และ recycle จากโปรเจกต์ “World Wild Waste” เมื่อ 2 ปีก่อน คือในปี 2563 ที่เคยสอน  ล้วนเป็นเศษของเก่าธรรมดานำมาเนรมิตรให้ผิดไปจากรูปลักษณ์เดิมเพิ่ม craft ฉาบคุณค่าด้วยจินตนาญาณ และแนวทางของการแสดงเดี่ยวที่เชี่ยวชาญล้นพลังถั่งโถมประโลมใจให้หฤหรรษ์ได้ทุกรอบ[2]

การแสดงที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จะไม่สามารถจัดไฟแบบโรงละครได้ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเอนกประสงค์ แสงแรงช่วงบ่ายที่ฉายฉานลอดเพดานตึกแต้มตรง ส่งให้แผ่นสีกรองแสงอ่อนแรงลง สไลด์ผลงานจิตรกรรมของ Galileo Chini ที่ถูกเพิ่มม่านโปร่งแสงแต่งทับกลับทำให้เลือนลางจางจมเมื่อชมด้วยตา (แต่ช่วยให้การถ่ายภาพและตกแต่งสีเพิ่มเติมได้ง่ายงาม) ตรงข้าม หากเป็นการจัดแสงในสตูดิโอหรือโรงละครผ้าขาวบางซอฟต์แสงจะช่วยสร้างมิติให้ภาพเจิดจรัสมากขึ้น

 

 

 

ต่อให้การแสดงจะเด่นมีลายเซ็นเป็น type character ตามสไตล์ที่คุ้นตา แต่ผู้ชมต่างเชื่อและคล้อยตามทุกบทบาทของครูกั๊กโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นคนล้นพลัง เล่นใหญ่ เปี่ยมหัวใจรักต่อผู้คนซึ่งเป็นมนต์วิเศษของนักแสดงคนนี้เท่านั้น อีกส่วนสำคัญคือความพร้อมเพรียงพิเศษของทีมที่ร่วมทุ่มหลังซุ่มคัดสรรกันมาแล้วเป็นอย่างดี ทั้งดนตรี และทีมงานเบื้องหลังล้วนรวมพลังสร้างจนทางของ Production Design ขยายตามสเกลเวที

เอกลักษณ์ของครูกั๊กที่เคย “Less is More” มางานนี้ไม่ “Less” เสียแล้ว ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินผู้ชมได้เพลินกับวง Quartet นำโดย อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณะดุริยางคศาสตร์ เพิ่มดนตรีรวมเป็นนักแสดงร่วม 6 ชิ้น ทั้ง Piano Percussion Violin (2 ชิ้น) Viola และ Cello รวมกันเป็นนักแสดงพหุศิลป์ที่มีองค์ประกอบงดงามตามสไตล์ได้ลงตัว แต่คนดูก็ยังรู้สึกว่าเวลาของการส่งสารสำคัญสั้นเกินไป อาจเพราะเงื่อนไขของสถานที่ และเวลา

อยากให้งานจิตรกรรมของ Chini และบทละคร Turandot มีโอกาสแสดงบทบาทได้มากกว่านี้… เพื่อให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ได้ประสาทความรู้จากอดีตผ่านการจับประเด็น ตีความ และเสนอแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกัน (Think Globally, Act Locally) เพราะการสร้างสรรค์ศิลป์คือสื่อที่สามารถชี้นำสังคม บ่มเพาะองค์ความรู้ และ เป็นครูของอนาคตในบทบาทของศิลปะการแสดง

 

 

 

“Chini and Turandot” เป็น Tragedy ไม่ได้เร้นความเป็น Comedy แต่การแสดงที่ผู้เล่าเร้าใจผู้ชมด้วยเทคนิคเฉพาะตัวกลั้วอารมณ์ขัน คือเสน่ห์ที่เป็นธรรมชาติในตัวตนเพราะเป็นคนตลกน่ารัก ชวนชักปักใจให้ผู้ชมเตรียมฮา จากบ้านมาขานรับทุกก้าวขยับของครูกั๊กผู้มีความเป็น Entertainer ใน DNA แม้จะไม่ถนัดแนวการทำงานแบบดูแลภาพรวมใหญ่ทั้งหมดในหน้าที่ของนักจัดการ แต่ในความเป็นผู้รอบรู้ที่มีเครือข่ายอยู่ทุกสายซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำละคร หนุนเสริมให้การทำงานของของครูกั๊กมีบทบาทหน้าที่ทั้ง Acter, Costume Designer, Art Director และ Producer ครบอยู่ในทุกเรื่องที่สร้าง แตกต่างเพียงโครงการนี้ครูกั๊กมีเพื่อนครูผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาร่วมรังสรรค์ผลักดันให้ “Chini and Turandot, Interpretation across Time” เป็นบทเรียนสำคัญที่เชื่อมศิลป์สัมพันธ์ให้สมบูรณ์โดย “คณะทำงานตามรอยกาลิเลโอคินี” (โดยเฉพาะครูโอ๋ ผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ ผู้เขียนบทร่วม เสมือน Co-producer) และสาขาวิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนทุกฝ่ายให้มาร่วมกันศึกษาบทละครครูของ Giocomo Puccini และผลงานจิตรกรรมสำคัญล้ำค่าของ Galileo Chini โดยเฉพาะลูกศิษย์ทุกคน (ในรายวิชา Light and Sound for Performing Art)

“Chini and Turandot” เหมือนเป็นงานศิลปะนิพนธ์ของคนหลายรุ่นมารวมกัน คือมรดกด้านศิลปกรรมสำคัญที่ร่วมเพาะพันธุ์ต้นกล้าน้อยๆ ให้เติบโตอย่างมีวุฒิภาวะเป็นบุคลากรสายศิลปะที่มีคุณภาพ ร่วมพัฒนาให้ประเทศไทย (ที่ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ) เป็น “Thailand The Land of Art and Culture” ตามนโยบายของรัฐและเราที่วาดหวังร่วมกัน Makes Art, Art Makes Us together สร้างสรรค์ศิลป์ ศิลป์สร้างรวมเรา และ “เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงสัมผัสและเข้าถึงได้ไม่ต่างกับการหายใจ” ตามปรัชญาในการทำงานของ ครูกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ศิลปินศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ปี 2563 

 

 

 

หมายเหตุ : 

  • ภาพประกอบบทความถ่ายโดยผู้เขียน คุณกวินพร เจริญศรี

[1] ศิลปะกีแบร์ตี มาจากชื่อของ โลเรนโซ กีแบร์ตี (Lorenzo Ghiberti) ศิลปินชาวอิตาเลียน ผู้มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ค.ศ. 1378 - 1 ธันวาคม ค.ศ. 1455 เป็นประติมากรสมัย Renaissance ตอนต้นคนสำคัญของประเทศอิตาลี มีความเชี่ยวชาญด้านประติมากรรม งานโลหะ และจิตรกรรมฝาผนัง

[2] การแสดง 3 โรงละครรวม 10 รอบ 12-13 พฤศจิกายน 2565 ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ , 25-27 พฤศจิกายน ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และ 2-3 ธันวาคม ณ โรงละครทรงพล คณะอักษณศาสตร์ ม.ศิลปากร ทับแก้ว จะแตกต่างกันในสเกลของการออกแบบฉาก และอื่นๆ ในรายละเอียด ฯลฯ