ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : “ลุงโฮ” (ตอนที่ 1)

21
มกราคม
2566

‘ประธานโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม’ เกิดที่จังหวัดเหงะอาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 จากครอบครัวชาวนา บิดาของท่านคือ เหวียนซิงซัค ชาวนาที่มีการศึกษา มีความคิดก้าวหน้า ตั้งชื่อบุตรชายคนเล็กของตนว่า เหวียนซิงกุง ต่อมามารดาเสียชีวิต บิดาได้นำเด็กน้อยเหวียนซิงกุงไปทำมาหากินที่เมืองเว้ และเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ท่านว่า ‘เหวียนทัตทันห์’

ชื่อ ‘โฮจิมินห์’ หรือที่ชาวเวียดนามทั่วประเทศเรียกอย่างสนิทสนมว่า ลุงโฮ่ นั้น เป็นนามที่ใช้ในการเคลื่อนไหวกอบกู้อิสรภาพ ช่วงระยะเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเขตปลดปล่อยทางภาคเหนือของประเทศราวปี ค.ศ. 1942 และได้ใช้ชื่อโฮจิมินห์เป็นทางการตลอดมาในความสำเร็จของการอภิวัฒน์เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 กระทั่งสืบต่อมาถึงวันประกาศสถาปนาเอกราช-อิสรภาพของประเทศเวียดนาม ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ที่นาม ‘โฮจิมินห์’ ขจรขจายก้องโลก

พี่ชายและพี่สาวของท่านได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสที่เข้ารุกรานยึดครองเวียดนามเป็นอาณานิคม จนถูกจับกุมคุมขังมาแล้ว

 


พ่อ

 


แม่

 

จังหวัดเง่เหงะอาน (Nghe An) ตั้งอยู่ภาคกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศเล็กน้อย ติดกับชายฝั่งทะเล ภูมิประเทศเต็มไปด้วยขุนเขามีพื้นที่ราบที่ใช้ทำการเกษตรกรรมไม่มากนัก จึงมีความแร้นแค้นอย่างมาก และด้วยระบบศักดินาแห่งราชสำนักเวียดนาม ทำให้ชาวนาผู้ยากจนถูกกดขี่จากเจ้าศักดินา เจ้าที่ดินอย่างแสนสาหัส กระทั่งเมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1858 เป็นต้นมา สังคมเวียดนามจึงเกิดสภาพกึ่งศักดินา-อาณานิคม ชาวเวียดนามในจังหวัดเหงะอานและเขตหัวเมืองใกล้เคียงที่ถูกกดขี่ได้จับอาวุธต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งฝรั่งเศสได้อาศัยเจ้าศักดินาเวียดนามทำหน้าที่ ‘ลูกแหล่งตีนมือ’ เฝ้ากดขี่รีดนาทาเร้นชาวนาเวียดนาม

สภาวการณ์รอบด้านเหล่านี้ทำให้โฮจิมินห์เกิดจิตสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะกอบกู้เอกราชของประเทศชาติ แต่ก็มองไม่เห็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จและด้วยยังอยู่ในวัยหนุ่ม ไร้ซึ่งประสบการณ์ ท่านจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ต่อไป

เมื่อเดินทางพร้อมกับบิดามายังเมืองเว้ เมืองหลวงของราชอาณาจักรเวียดนามที่อยู่ภายใต้การปกครองฝรั่งเศส โฮจิมินห์ได้เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดประจำเมืองเว้ โดยเริ่มใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบฝรั่งเศส ทำให้ท่านเริ่มเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส และเรื่องราวแห่งโลกกว้างตามหลักสูตรนั้น

เนื่องจากบิดาของท่านเป็นชาวนาปัญญาชน เมื่อมาพำนักที่เมืองเว้ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ทางภาษาจีน ตัวอักษรจีนให้กับลูกชาย ทำให้โฮจิมินห์สามารถเรียนรู้ภาษาจีน พร้อมกับเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนมัธยมเมืองเว้

เหวียนซิงซัค มีจิตใจรักความเป็นธรรม และเป็นที่พึ่งแก่ชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ จึงเป็นที่ไว้วางใจและรักใคร่ของชาวบ้าน ขณะเดียวกัน ท่านก็มีเลือดรักชาติให้การสนับสนุนขบวนการกอบกู้เอกราช ถึงกับเป็นกำลังใจให้กับลูกๆ เข้าร่วมการต่อสู้จนถูกจับกุมคุมขัง จากเหตุการณ์นี้ท่านมิได้ท้อแท้ กลับเป็นผู้จุดประกายความคิดกอบกู้เอกราชนี้ให้กับ เด็กชายเหวียนทัตทันต์

 


พี่ชาย

 


พี่สาว

 

หลังจากพี่ชายคนโตและพี่สาวคนรองถูกจับกุมตัวไป ทางการฝรั่งเศสเริ่มสงสัยระแคะระคายว่า เด็กชายเหวียนทัตทันต์ นักเรียนแห่งโรงเรียนมัธยมเมืองเว้ จะมีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส จนทางโรงเรียนต้องให้เด็กชายออกจากการเรียนไปทั้งๆ ที่ยังมิได้จบการศึกษา ซึ่งจากจุดนี้เองได้เป็นเหตุพลิกผันของชีวิต ผลักดันให้ท่านต้องออกไปเผชิญโลกกว้าง เพื่อแสวงหาหนทางในการกู้ชาติบ้านเมือง

เคยมีการกล่าวกันว่า นักอภิวัฒน์จีนชั้นนำส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดจากมณฑลหูหนาน เช่น ประธานเหมาเจ๋อตง, หลิวเซ่าฉี และเผิงเตอะหวาย เป็นต้น สำหรับเวียดนาม นั้น จังหวัดเหงะอานก็เป็นถิ่นที่ให้กำเนิดแก่นักอภิวัฒน์ชั้นนำของเวียดนาม เช่น ประธานโฮจิมมินห์, ฟานโบ่ยเจอว, ฮวงวันฮวาน ดังนั้น เหงะอาน จึงเป็นชื่อที่อยู่คู่กันกับนาม โฮจิมินห์

 

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ลุงโฮ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 25-28.