ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : ไม่มีสิ่งใดล้ำค่าไปเกินกว่า เอกราช เสรีภาพ (ตอนที่ 15)

3
มิถุนายน
2566

โฮจิมินห์มีอายุ 64 ปีเมื่อกลับคืนสู่ฮานอย ถึงแม้ระยะ 10 ปีแรก คือ ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1954 - ค.ศ. 1964 ยังมีสุขภาพแข็งแรงมากสำหรับชายวัยนี้ แต่เมื่อต้องตรากตรำกับงานบริหารอย่างไม่หยุดหย่อน สุขภาพย่อมร่วงโรย 

ครั้นโฮจิมินห์มีอายุ 75 ปี สหายนำของพรรคฯ ห่วงใยสุขภาพของท่านเป็นอย่างยิ่ง พยายามลดปริมาณงานน้อยลง ให้ท่านพักผ่อนมากขึ้น แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเพราะท่านยังมุ่งมั่นสานต่อการงาน โดยเฉพาะหลังจากกรณีเรือพิฆาตแมดดอกซ์ล้ำน่านน้ำเวียดนามเข้ามาที่อ่าวตังเกี๋ย และเกิดปะทะกับเรือเร็วตรวจฝั่งเวียดนาม อเมริกาฉวยโอกาสส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ ทั้งที่ฮานอยและเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ

รัฐบาลได้สร้างหลุมหลบภัยที่แข็งแรงให้ท่านในบริเวณเรือนไม้ที่พักด้านหลังทำเนียบประธานฯ เพราะท่านไม่เคยใช้ตัวตึกทำเนียบเป็นที่พักเลย ชั้นบนของเรือนไม้จึงเป็นที่พักและที่ทำงาน ชั้นล่างบางครั้งใช้ประชุมกรมการเมืองของพรรคฯ และประชุมกรรมาธิการทหาร

เวลามีสัญญาณภัยทางอากาศท่านจะสวมหมวกเหล็กเข้าไปยังที่หลบภัยพร้อมติดตามรับฟังผลการต่อสู้และสั่งการด้านต่างๆ ทางโทรศัพท์ที่ติดตั้งไว้หลายเครื่อง ความเสียหายที่เกิดขึ้นถึงแม้จะไม่ทำอันตรายท่านได้ แต่การสูญเสียชีวิตผู้คนก็ทำให้ท่านเศร้าสลด และสั่งการให้ประชาชนพลเมืองพยายามสร้างที่หลบภัยป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ส่วนทหารต่อสู้อากาศยานผู้ยิงขีปนาวุธแซมก็ได้รับคำชมเชยและกำลังใจทุกครั้งที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตก

เล่ากันว่า สหพันธ์สตรีมีความห่วงใยสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของโฮจิมินห์มาก จึงเสนอว่าท่านอายุมากแล้วควรมีผู้หญิงเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ท่านตัดบทไปว่า ขอขอบใจในความปรารถนาดี ชั่วชีวิตนั้นทำงานอภิวัฒน์มาตลอด ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย และทุกคนเป็นเสมือนลูกหลานท่านอยู่แล้ว

 

การปลูกต้นไม้คือชีวิตของโฮจิมินห์
การปลูกต้นไม้คือชีวิตของโฮจิมินห์

 

หนังสือชีวประวัติของโฮจิมินห์เท่าที่อ่านมา พบว่าพวกนักเขียนค่ายตะวันตกส่วนมากพยายามเจาะเฉพาะเรื่องที่เป็นข้อเสีย เช่น เรื่องการมีภรรยา ความขัดแย้งระหว่างท่านกับแกนนำพรรคฯ ความขัดแย้งกับพรรคพี่พรรคน้อง แต่กระนั้นก็ยังไม่ถือว่าเสียหายไปทั้งหมด ส่วนนักเขียนชาวโซเวียต ถึงแม้มีรายละเอียดที่เชื่อถือได้เพราะเข้าไปค้นคว้าอยู่ในเวียดนามเป็นเวลานาน จะมีเกินบ้างคือการยกย่องสหภาพโซเวียตมากไปหน่อย

ในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับโฮจิมินห์จำนวน 2-3 เล่มของไทย มีนักเขียนคนหนึ่งขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ และไม่เข้าใจแนวคิดของโฮจิมินห์ จึงเอาเรื่องราวที่นักเขียนตะวันตกเขียนไว้มาปะติดปะต่อกัน แล้วใช้สำบัดสำนวนที่เป็นของตัวเอง ซึ่งผิดทั้งแนวคิดและข้อเท็จจริง

สงครามกู้ชาติครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น เป็นสงครามระหว่างเวียดนามกับจักรวรรดินิยมอเมริกาและลูกสมุนเวียดนามใต้ ภายหลังอเมริกาละเมิดข้อตกลงปี ค.ศ. 1954 เริ่มต้นด้วยการวางแผนให้โงดินเดียมขับเบาใด๋หุ่นเชิดฝรั่งเศส แล้วตั้งสาธารณรัฐเวียดนาม ต่อมาโงดินเดียมก็ถูกอเมริกาเขี่ยทิ้ง แล้วเอาพวกทหารลูกแหล่งตีนมือขึ้นครองอำนาจ

การโจมตีทางอากาศของอเมริกาต่อเวียดนามเหนือถึงแม้จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก B-52 มีเพดานบินสูงสุด มองไม่เห็นลำตัวและไม่ได้ยินเสียงขึ้นบินจากฐานบินเกาะกวม ฟิลิปปินส์ และอู่ตะเภาของไทย นายพลหวอเหงียนย้าปเล่าให้คณะคนไทยที่ไปเยี่ยมท่านฟังว่า “เมื่อ B-52 ขึ้นบิน พวกเราก็รู้แล้ว” แสดงว่าเวียดนามเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และ B-52 หลายลำก็ถูกขีปนาวุธแซมสอยร่วง จนกระทั่งนักบินขยาดที่จะนำเครื่องฝ่าแนวป้องกันเข้าไป

 

ภาพในห้องรับรองในบ้านที่พำนักของนายพลหวอเหงียนย้าป ท่านนายพลพร้อมด้วยครอบครัว ได้แก่ ดั่งบั๊กฮา ภรรยา และหวอเดียนเบียน บุตรชายท่านนายพล ถ่ายภาพร่วมกับคณะมิตรภาพชาวไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตรงกลางเป็นของขวัญ ภาพปรีดี พนมยงค์ ขณะนั่งเสวนากับโฮจิมินห์ บนแผ่นเซรามิก
ภาพในห้องรับรองในบ้านที่พำนักของนายพลหวอเหงียนย้าป ท่านนายพลพร้อมด้วยครอบครัว ได้แก่ ดั่งบั๊กฮา ภรรยา และหวอเดียนเบียน บุตรชายท่านนายพล ถ่ายภาพร่วมกับคณะมิตรภาพชาวไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตรงกลางเป็นของขวัญ ภาพปรีดี พนมยงค์ ขณะนั่งเสวนากับโฮจิมินห์ บนแผ่นเซรามิก

 

โฮจิมินห์กับหวอเหงียนย้าป ค.ศ. 1962
โฮจิมินห์กับหวอเหงียนย้าป ค.ศ. 1962

 

นายกฯ ฟ่ามวันด่งได้ส่งชิ้นส่วน B-52 ไปให้นายปรีดีเป็นที่ระลึกในขณะพำนักอยู่ชานกรุงปารีส ส่วนเครื่องบินโจมตีความเร็วสูงที่บินจากฐานบินตาคลี และอุดรธานี ก็ถูกยิงตกเป็นประจำ จนกระทั่งนักบินหลบเอาลูกระเบิดไปปล่อยทิ้งบริเวณป่าเขาระหว่างทาง

 

กำลังสามประสาน ทหาร กรรมกร และชาวนา ของเวียดนาม
กำลังสามประสาน ทหาร กรรมกร และชาวนา ของเวียดนาม

 

เมื่อปี ค.ศ. 1960 จากการกวาดล้างอย่างทารุณต่อพี่น้องผู้รักชาติทางใต้ โดยมีอเมริกาบงการนั้น ทำให้มวลชนลุกขึ้นมารวมกันจัดตั้งเป็น แนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ ทางฝ่ายศัตรูเรียกว่า ‘เวียดกง’ แปลตามตัวก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ มีรูปแบบคล้ายกับขบวนการเวียดมินห์ที่ต่อสู้จนชนะฝรั่งเศสมาแล้ว ธงของแนวร่วมมีพื้นสีแดงครึ่งหนึ่งตอนบน และสีน้ำเงินอีกครึ่งหนึ่งตอนล่าง ดาวทองอยู่ตรงกึ่งกลาง การจัดตั้งครั้งนี้ก็เพื่อรักษาชีวิตพี่น้องผู้รักชาติและปลดปล่อยดินแดนภาคใต้

โฮจิมินห์และกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคฯ มีมติสนับสนุนการปลดปล่อยเวียดนามใต้ทุกวิถีทาง การส่งกำลังทห าร ยุทธสัมภาระ ต้องผ่านเส้นขนานที่ 17 ลงไปทางใต้ อาศัยเส้นทางป่าเขาที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคด ต่อมาเส้นทางดังกล่าวมีชื่อโด่งดังว่า เส้นทางโฮจิมินห์

การเดินทางบางครั้งจำต้องผ่านเข้าไปในลาว บางครั้งก็เลี้ยวผ่านเข้าไปในเขมร ส่วนใหญ่ต้องเดินทัพในเวลากลางคืน นอกจากนี้ B-52 ซึ่งบินเหนือหัว ยังมีการทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางด้วยวิทยาการทันสมัย ฝนเหลืองที่อเมริกานำมาเก็บและทดลองในไทยก็ถูกโปรยปรายลงจากเครื่องบินเพื่อทำลายป่าไม้พืชพรรณและชีวิตมนุษย์ เป็นการทำลายสิ่งกีดขวางเครื่องกำบังทางธรรมชาติและยังเหลือเป็นบาดแผลสงครามตราบเท่าทุกวันนี้

 

ประชาชนเวียดนามติดตามจับนักบินที่ดีดตัวออกจากเครื่อง
ประชาชนเวียดนามติดตามจับนักบินที่ดีดตัวออกจากเครื่อง

 

 

นักรบหญิงเวียดนามควบคุมตัวนักบินอเมริกันร่างสูงใหญ่
นักรบหญิงเวียดนามควบคุมตัวนักบินอเมริกันร่างสูงใหญ่

 

ถึงแม้สุขภาพถดถอยตามวัย แต่โฮจิมินห์ก็ยังหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพี่น้องทางภาคใต้เมื่อได้รับการปลดปล่อยแล้ว ถึงกระนั้นท่านก็ปลุกปลอบใจให้ต่อสู้ต่อไป โดยยกตัวอย่างการสู้กับฝรั่งเศสมาเกือบ 10 ปีถึงได้ชัยชนะ การสู้กับศัตรูตัวใหม่ที่มีอานุภาพมากกว่าอาจต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ชัยชนะต้องเป็นของประชาชนเวียดนาม

ทุกครั้งที่นักรบจากภาคใต้ขึ้นมาภาคเหนือ โฮจิมินห์ได้ให้เวลาเพื่อพบปะกับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งได้สร้างความประทับใจและกำลังใจเป็นอย่างมากเมื่อกลับไปปฏิบัติงาน

หลายครั้งที่มีพิธีไว้อาลัยวีรชนผู้เสียสละชีวิตจะเห็นท่านซับน้ำตา ซึ่งผู้จากไปทุกคนท่านถือเป็น ‘หลานรัก’ ของท่านทั้งนั้น

เวียดนามได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากจีน โซเวียต และประเทศแห่งค่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะจีนเป็นแนวหลังที่ช่วยเหลือเวียดนามมากที่สุด แต่จีนก็เริ่มขัดแย้งกับโซเวียต โดยกล่าวหาโซเวียตเป็นพวก ‘ลัทธิแก้’ ซึ่งไม่รู้ว่าแก้ทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินอย่างไร ส่วนโซเวียตก็กล่าวหาจีนว่าเป็นพวกลัทธิ ‘คัมภีร์’ ก็ไม่รู้ว่าคัมภีร์อะไร พอกันทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งในปัจจุบันก็เลิกราแล้วหันมาคบค้ากันอีก

พวกแก๊งสี่คนของจีน มีมาดามเจียงชิงเมียประธานเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำของขบวนการปฏิวัติวัฒนธรรม สนับสนุนกุมารแดงก่อความวุ่นวายไปทั่วประเทศ ทำให้ขบวนรถไฟมุ่งใต้ที่ส่งวัตถุปัจจัยไปช่วยเวียดนามต้องหยุดชะงัก เพราะพวกกุมารแดงยึดรถไฟเอาไปเที่ยวเพ่นพ่านทั่วประเทศ

โฮจิมินห์รู้สึกเศร้าสลดใจต่อเหตุการณ์อันมีผลกระทบถึงการสู้รบของเวียดนามเป็นอย่างมาก กระนั้นก็ตาม ท่านยังระลึกถึงนายปรีดี มิตรสนิทชาวไทยผู้ยังพำนักอยู่ในจีน ถึงกับมอบหมายให้กงสุลเวียดนามประจำกวางโจวแจ้งแก่นายปรีดีว่า ถ้าการพำนักอยู่ในจีนของนายปรีดีมีความยากลำบากอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเวียดนามยินดีต้อนรับให้มาพักที่เวียดนาม ซึ่งนายปรีดีได้ตอบขอบคุณในความปรารถนาดีนี้

ตั้งแต่อายุ 75 ปีเป็นต้นมา โฮจิมินห์เขียนพินัยกรรมและแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายหน เพื่อให้ลูกหลานชาวเวียดนามยึดมั่นในอุดมการณ์และคำสั่งสอน เพราะท่านทราบดีแล้วว่าสังขารคงจะอยู่ได้อีกไม่นาน และอาจไม่มีชีวิตอยู่จนเห็นดินแดนเวียดนามใต้ได้รับการปลดปล่อย แม้กระทั่งก่อนลาจากโลกไป ท่านยังถาม ยังติดตามข่าวคราวและรับทราบความสำเร็จทุกขั้นตอนการสู้รบ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะประสบชัยชนะในที่สุด

 

ลุงโฮกับลูกหลาน ปี 1953
ลุงโฮกับลูกหลาน ปี 1953

 

และแล้วในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1969 ประธานโฮจิมินห์ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยวัย 79 ปี วันเดียวกับที่ท่านประกาศเอกราชและสถาปนาประเทศเมื่อ 24 ปีก่อน นอกจากความเศร้าโศกเสียใจของชาวเวียดนามทั้งประเทศแล้ว ประชาชนทั่วโลกและผู้นำประเทศต่างๆ จำนวนมาก ต่างส่งสาส์นแสดงความเสียใจ และบางคนได้เข้าร่วมในพิธีไว้อาลัย ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ก็เดินทางไปร่วมด้วย

ภายหลังมรณกรรมของประธานโฮจิมินห์ นักรบเวียดนามใต้ได้ขออนุมัติชื่อยุทธการปลดปล่อยไซ่ง่อนว่า ยุทธการโฮจิมินห์ โดยกรรมาธิการทหารและกรมการเมืองของพรรคฯ มีมติเห็นชอบ พร้อมกำหนดว่าไซ่ง่อนจะมีชื่อว่า นครโฮจิมินห์ ในสมัยต้านการบุกยึดไซ่ง่อนในปี ค.ศ. 1946 ของฝรั่งเศส ชาวเวียดนามผู้ป้องกันไซ่ง่อนก็ขนานนามนครนี้ว่านครโฮจิมินห์ ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านประธานโฮจิมินห์

การจากไปของประธานโฮจิมินห์ นักอภิวัฒน์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเวียดนาม ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเสียสละตลอดชีวิต ท่านไม่มีสมบัติพัสถานทิ้งไว้ มีแต่ผลงานอันยิ่งใหญ่ ทำให้ชาวเวียดนามทุกบ้านมีรูปท่านอยู่ในที่เคารพบูชา ในฐานะญาติผู้ใหญ่ บรรพบุรุษผู้จากไป ด้วยความระลึกถึง และจักปฏิบัติตามคำสอนของท่าน จากคนชั่วอายุหนึ่งสู่อีกชั่วอายุหนึ่ง

พินัยกรรมของประธานโฮจิมินห์ที่คนทั่วไปได้รับทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 ได้รับการถอดความดังต่อไปนี้

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
เอกราช - อิสรภาพ - ความสุขสมบูรณ์

10 พฤษภาคม 1969

ถึงแม้ว่าการต่อสู้กู้ชาติของประชาชนเราต่ออเมริกาผู้รุกรานนั้นยังต้องผ่านความยากลำบากและการเสียสละอีกนานัปการ เราจักได้ชัยชนะโดยเด็ดขาดในที่สุด นั่นคือความแน่นอน

เมื่อถึงวาระนั้น ข้าพเจ้ามีความตั้งใจจะเดินทางไปทั่วทั้งภาคเหนือและใต้ เพื่อแสดงความยินดีต่อเพื่อนร่วมชาติผู้กล้าหาญ พนักงาน เจ้าหน้าที่และนักรบทั้งหลาย และเยี่ยมเยียนผู้อาวุโส เยาวชนที่รัก รวมทั้งเด็กๆ ทั้งหลาย และแล้วในฐานะตัวแทนของประชาชาติเรา ข้าพเจ้าจะเดินทางไปยังประเทศพี่น้องแห่งค่ายสังคมนิยม และมิตรประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแสดงความขอบคุณพวกเขาเหล่านั้นที่สนับสนุนช่วยเหลือในการต่อสู้อันองอาจกล้าหาญของชาวเราต่ออเมริกาผู้รุกราน

ตู้ฝู่ กวีผู้มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์ถังของจีน ได้เขียนว่า “ในทุกยุคสมัย ผู้มีอายุถึง 70 ปีนั้นมีน้อยคน”

ในปีนี้ข้าพเจ้ามีอายุได้ 79 ปีแล้ว ถือได้ว่าตนเองอยู่ในจำพวกคนจำนวนน้อย ทว่าสมองของข้าพเจ้ายังสมบูรณ์แจ่มใสอยู่ ส่วนร่างกายนั้นก็ทรุดโทรมลงไปบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดอะไร เมื่อคนเราได้เห็นฤดูใบไม้ผลิมากว่า 70 ฤดู สุขภาพย่อมเสื่อมถอยตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น

แต่จะมีใครบอกได้ว่าข้าพเจ้าจะมีอายุยืนยาวอีกเท่าใด เพื่อสามารถรับใช้การอภิวัฒน์ ประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงฝากข้อเขียนเล็กน้อยไม่กี่บรรทัด เป็นการเตรียมการล่วงหน้าเมื่อถึงวันที่ข้าพเจ้าจะได้ไปอยู่ร่วมกับคาร์ล มาร์กซ์ วี.ไอ. เลนิน และนักอภิวัฒน์ผู้อาวุโสทั้งหลาย เพื่อว่าการกระทำเช่นนี้ ประชาชนของเราทั่วทั้งประเทศ บรรดาสหายในพรรคฯ และเพื่อนของเราในโลกจะได้ไม่ต้องมีความประหลาดใจ

สิ่งแรกก็คือเรื่องเกี่ยวกับพรรคฯ อันสืบเนื่องมาจากความสามัคคีที่แนบแน่นและการเสียสละทั้งปวงต่อชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ต่อประชาชนและต่อประเทศชาติ ทำให้พรรคฯ ของเราตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้ง สร้างสามัคคี จัดตั้ง และนำพาประชาชนไปสู่ความสำเร็จ ครั้งแล้วครั้งเล่าในการต่อสู้อันเด็ดขาด

สามัคคีเป็นสิ่งมีค่าที่สุด ประเพณีพรรคฯ เรา ประชาชน และสหายทั้งหมด นับตั้งแต่คณะกรรมการกลางลงไปถึงหน่วยย่อย ต้องรักษาสามัคคีในพรรคฯ ประดุจสิ่งอันล้ำค่าแห่งแก้วตาดวงใจ ภายในพรรคฯ ต้องเสริมสร้างประชาธิปไตยให้กว้างขวาง ทำการวิจารณ์และวิจารณ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอ จริงจัง ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการรวมพลังและพัฒนาการร่วมมือ และสามัคคี มีความสัมพันธ์ ความรักกันฉันสหาย

พรรคฯ เราเป็นพรรคฯ กุมอำนาจรัฐ ชาวสมาชิกพรรคฯ ทุกคนพนักงานผู้ปฏิบัติงานทุกคน จักต้องมีคุณธรรมอย่างลึกซึ้งในการอภิวัฒน์ แสดงออกซึ่งความขยันขันแข็ง ประหยัด ซื่อตรง เป็นหนึ่งเดียว เพื่อการอุทิศตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยไม่มีความเห็นแก่ตัวใดๆ ทั้งสิ้น พรรคฯ จักต้องรักพาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ สมบูรณ์ พิสูจน์คุณค่าถึงบทบาทของผู้นำ และผู้รับใช้ที่จงรักภักดีต่อประชาชน

ต่อสมาชิกองค์การเยาวชนและคนหนุ่มสาวของเรา ส่วนใหญ่ก็ดีอยู่ พวกเขาพร้อมก้าวออกมาโดยไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบากและกระตือรือร้นที่จะก้าวหน้า พรรคฯ ต้องให้การฟูมฟักคุณงามความดีของการอภิวัฒน์ ในการสร้างสรรค์สังคมนิยม ให้มีทั้งการเมืองดีและเชี่ยวชาญ การฝึกอบรมให้การศึกษาต่อนักอภิวัฒน์แห่งอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอันใหญ่หลวงและเป็นสิ่งที่จำเป็น

ต่อผู้ใช้แรงงาน พวกเขาเหล่านี้มาจากพื้นที่ราบและป่าเขา จากชั่วอายุคนแล้วชั่วอายุคนเล่า ได้ทนทุกข์ยากลำบากจากการกดขี่ขูดรีดของระบบศักดินาและอาณานิคม ทั้งผ่านประสบการณ์ของสงครามมาเป็นเวลาหลายปี

กระนั้นก็ตาม ประชาชนของเราได้แสดงออกถึงวีรกรรมยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ การกระตือรือร้น และเอาจริงเอาจัง นับตั้งแต่พรรคฯ ได้ก่อสร้างขึ้นมา พวกเขาก็ยืนหยัดตามพรรคฯ มาด้วยความจงรักภักดีโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ

พรรคฯ จักต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนของเรา

สงครามต่อต้านสหรัฐอเมริกาผู้รุกรานยังดำเนินต่อไปอีก ประชาชนของเราอาจต้องเผชิญการเสียสละใหม่ในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราต้องรักษาไว้ซึ่งความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ในการต่อสู้กับผู้รุกรานตราบกระทั่งได้รับชัยชนะเด็ดขาด

ขุนเขาของเราเป็นของเราอยู่เป็นนิตย์

แม่น้ำของเราเป็นของเราอยู่เป็นนิตย์

ประชาชนของเราเป็นของเราอยู่เป็นนิตย์

เมื่อสหรัฐอเมริกาผู้รุกรานพ่ายแพ้ไป

เราจะสร้างประเทศของเราให้สวยงามเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า

แม้มีอุปสรรคความยากลำบากอยู่เบื้องหน้า ประชาชนของเราจักได้ชัยชนะอย่างแน่นอน

จักรวรรดินิยมอเมริกาต้องออกไปอย่างแน่นอน

บ้านเกิดเมืองนอนของเราจักได้รวมกันเป็นเอกภาพ

เพื่อนร่วมชาติทางภาคใต้และภาคเหนือจักได้อยู่ร่วมกันภายใต้หลังคาเดียวกัน

ชาติเล็กๆ ของเราจักได้รับเกียรติยศในวีรกรรมการต่อสู้ ยังความพ่ายแพ้ให้กับจักรวรรดินิยมใหญ่สองประเทศ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา

และในการเสริมสร้างบรรณาการแห่งขบวนการปลดปล่อยชาติในโลกนี้

ต่อขบวนการคอมมิวนิสต์สากล จากการที่เป็นผู้เสียสละทั้งชีวิตให้กับการอภิวัฒน์ เมื่อข้าพเจ้าภาคภูมิใจที่เห็นการเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศมากเท่าใด ข้าพเจ้าก็รู้สึกเจ็บปวดในการไม่ลงรอยกันของพรรคพี่น้องเท่านั้น

ข้าพเจ้าหวังว่าพรรคฯ เราจักทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ประกอบส่วนอย่างมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูสามัคคีในหมู่พรรคพี่น้อง บนพื้นฐานแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และลัทธิสากลนิยมแห่งชนชั้นผู้ไร้สมบัติ ด้วยการประสานสอดคล้องทั้งทางเหตุผลและความรู้สึก

ข้าพเจ้ามั่นใจว่า พรรคพี่น้องและประเทศพี่น้องจะกลับมาสามัคคีกันอีก

เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ตลอดชั่วชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รับใช้ประเทศชาติ รับใช้การอภิวัฒน์และประชาชนอย่างสุดหัวใจ เต็มสติกำลัง ถ้าข้าพเจ้าจากโลกนี้ไปก็จะไม่มีอะไรที่ต้องเสียดาย นอกจากว่ายังไม่สามารถที่จะรับใช้ต่อไปได้นานกว่านี้อีก

เมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว ควรงดเว้นพิธีไว้อาลัยใหญ่โต เพื่อไม่ต้องสูญเสียเวลาและเงินทองของประชาชน

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอฝากความรักอันสุดซึ้งต่อประชาชนทั้งมวลชาวพรรคฯ ชาวกองทัพ หลานๆ ทั้งชายหญิง เยาวชน และเด็กน้อย

ข้าพเจ้าขออำนวยพรต่อสหายและเพื่อนของเรา เยาวชน และเด็กน้อยทั่วโลก

ความปรารถนาสุดท้ายของข้าพเจ้าคือ ชาวพรรคฯ และประชาชนทั้งมวลจักร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในความพยายามสร้างเวียดนามให้เป็นประเทศมีสันติภาพ เอกภาพ อิสรภาพ ประชาธิปไตย เจริญรุ่งเรือง และมีส่วนร่วมอันสูงค่าแก่การอภิวัฒน์โลก

ฮานอย 10 พ.ค. 1969
โฮจิมินห์

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, ไม่มีสิ่งใดล้ำค่าไปเกินกว่า เอกราช เสรีภาพ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 156 - 168.

บทความที่เกี่ยวข้อง :