ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : ไมตรีจิตมิตรภาพ (ตอนที่ 14)

28
พฤษภาคม
2566

ภายหลังการลงนามในข้อตกลงเจนีวาเกี่ยวกับเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1954 แล้ว นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส พำนักลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1949 ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์จีน เหรินหมินรึเป้า (ประชาชนรายวัน) แสดงความชื่นชมต่อผลสำเร็จของการประชุม พร้อมให้ความหวังว่าสันติภาพจะกลับคืนสู่ภูมิภาคนี้ และในที่สุดเวียดนามจะบรรลุถึงการรวมประเทศเป็นเอกภาพ

จากบทความของนายปรีดี พนมยงค์ ชิ้นนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงส่วนกลางของจีนได้นำออกกระจายเสียงในภาคภาษาไทย เท่ากับทำให้คนไทยทราบว่า นายปรีดีผู้ลี้ภัยการเมืองหลังรัฐประหารพำนักอยู่ในประเทศจีนแล้ว

สำนักข่าวของก๊กมินตั๋งได้กระจายข่าวโฆษณาชวนเชื่อว่า นายปรีดีคือเจ้าขุนสิน กำลังซ่องสุมผู้คนเผ่าไทในสิบสองปันนา เพื่อเตรียมการยกกำลังบุกไทย แต่ข่าวทำนองนี้แพร่ออกไประยะหนึ่งก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะตามความจริงถึงนายปรีดีจะอยู่ในจีนก็ไม่เคยเดินทางไปยังสิบสองปันนาจนกระทั่งจากประเทศจีนไป อันที่จริง ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนจัดรูปการปกครองดินแดนสิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเอง และให้สิทธิคนในท้องที่ซึ่งเป็นคนไทสิบสองปันนา ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของทางการจีน หาได้เกี่ยวข้องกับนายปรีดีผู้อาศัยในฐานะลี้ภัยทางการเมืองแต่อย่างใดไม่

จีนในฐานะเจ้าของบ้านให้การดูแลนายปรีดีอย่างดี เพราะถือว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และถูกฝ่ายอธรรมกดขี่จนไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนได้ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของจีนใหม่ได้รับรองบุคคลทางการเมืองจากต่างประเทศที่ประสบเคราะห์กรรม ทางการจีนถือว่าเป็นแขกของประเทศจีน นอกจากนายปรีดี ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีจากเนปาลผู้หนึ่งที่ต้องหนีราชภัยข้ามภูเขาหิมาลัยมายังจีน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับในสถานะเดียวกัน

นอกจากนี้โฮจิมินห์ยังมอบหมายให้นายฮวงวันฮวาน เอกอัครรัฐทูตเวียดนามประจำประเทศจีน ดูแลนายปรีดีอีกชั้นหนึ่ง เนื่องด้วยท่านไม่ลืมมิตรที่ช่วยเหลือเวียดนามในยามยากลำบาก และนายฮวงวันฮวานก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา

นายปรีดีและครอบครัวได้ย้ายจากปักกิ่งมากวางโจวในกลางปี ค.ศ. 1956 กงสุลใหญ่เวียดนามประจำกวางโจวก็ได้รับคำสั่งจากโฮจิมินห์ให้ช่วยดูแลนายปรีดี ดังเช่นเอกอัครรัฐทูตเวียดนามได้เคยกระทำมาก่อน แสดงให้เห็นว่าท่านมีความจริงใจในการสนองตอบต่อทุกคนที่มีส่วนในการกอบกู้เอกราชเวียดนาม

ต้นปี ค.ศ. 1961 เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย โฮจิมินห์เชื้อเชิญนายปรีดีกับคณะไปเยือนเวียดนาม ท่านตอบรับด้วยความยินดี

คณะของนายปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วย

  1.  นายปรีดี พนมยงค์
  2.  ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
  3.  นายอัมพร สุวรรณบล (ส.ส.ร้อยเอ็ด)
  4.  นายสอิ้ง มารังกุล (ส.ส.บุรีรัมย์)
  5.  นายศุขปรีดา พนมยงค์
  6.  นายหลินอิ๊งกวง (ชาวจีนเชื้อสายไทย ล่ามและเลขาส่วนตัว)

นายปรีดีและคณะเดินทางจากเมืองหนานหนิง เมืองเอกมณฑลกวางสีโดยเครื่องบินอิลยูชิน 14 ของสายการบินจีน มุ่งหน้าสู่ฮานอย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษก็ถึงสนามบินยาลัม กรุงฮานอย มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมาต้อนรับ แต่ก็ทำด้วยความเรียบง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องการเอิกเกริก อาจเป็นสาเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามสร้างเรื่องราวโจมตี

กรรมการสงบศึกชาติเป็นกลางตกลงให้ทหารอินเดียเฝ้าดูการเคลื่อนไหวทางด่านเข้าออกทุกแห่ง ว่าจะมีอะไรผิดปกติหรือละเมิดข้อตกลงบ้าง ทหารอินเดียประเภทโพกหัว เข้าใจว่าเป็นพวกซิกข์ก็ปักหลักเฝ้ารักษาการณ์ราวกับศาลพระภูมิ ใครจะทำอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นไม่ว่ากัน

เจ้าภาพพาคณะ ไปยังบ้านรับรองขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกลางกรุงฮานอย มีห้องพักพอเพียงสำหรับทุกคน ทะเลสาบหน้าบ้านมีทิวทัศน์งดงามมาก ผู้มาเยือนทราบภายหลังว่า บ้านพักรับรองนี้โฮจิมินห์เป็นผู้กำหนด และท่านได้มาตรวจความเรียบร้อยก่อนคณะนายปรีดีเดินทางมาถึงหลายหน นอกจากนี้ท่านยังจัดส่งพ่อครัวชาวเวียดนามประจำทำเนียบที่มีฝีไม้ลายมือในการประกอบอาหารดีที่สุด ทั้งอาหารเวียดนาม อาหารฝรั่ง และอาหารจีน ให้มาประจำที่บ้านรับรองตลอดระยะเวลาที่คณะพำนักอยู่

 

บ้านพักรับรองคณะของนายปรีดี พนมยงค์ กลางกรุงฮานอย
บ้านพักรับรองคณะของนายปรีดี พนมยงค์ กลางกรุงฮานอย

 

โฮจิมินห์และรัฐบาลเวียดนามให้การต้อนรับนายปรีดีและคณะด้วยเกียรติสูงสุดเท่ากับนายกรัฐมนตรีของต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะถือว่านายปรีดีเคยเป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี และยังคงเป็นรัฐบุรุษอาวุโสของไทย

พิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในตอนบ่ายวันหนึ่งมาถึง กล่าวคือ นายปรีดี พนมยงค์ และคณะ ได้เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรีฟ่ามวันด่งและลงนามในสมุดเยี่ยม

ตอนค่ำที่ทำเนียบประธานของประเทศ โฮจิมินห์ในฐานะประธานประเทศจัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติ

ทำเนียบประธานฯ เป็นตึกที่ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสสั่งให้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอาณานิคม ตั้งอยู่ในเขตย่านบาดิ่ง ไม่ไกลจากจัตุรัสบาดิ่งที่โฮจิมินห์ประกาศเอกราชเวียดนามอย่างสง่าผ่าเผย เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945

โฮจิมินห์และนายปรีดี พบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงต้อนรับที่ฮานอย ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1961 นั่นเอง มิใช่เคยพบและรู้จักกันแล้วที่ปารีสในช่วงหลายปีก่อนอย่างที่เคยมีการเข้าใจกัน

โฮจิมินห์ต้อนรับคณะที่ห้องโถงใหญ่กลางตึกทำเนียบสถานที่จัดเลี้ยง ท่านออกต้อนรับแขกในชุดผ้าฝ้ายสีน้ำตาล เสื้อกระดุมห้าเม็ด มีกระเป๋าด้านบนสองข้างและกระเป๋าใหญ่ด้านล่างสองข้างเช่นกัน ลักษณะคล้ายเครื่องแต่งกายสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น แตกต่างจากเครื่องแต่งกายชุด ‘ประธานเหมา’ เล็กน้อย สังเกตเห็นว่า ท่านเป็นชายร่างเล็ก แต่ยังกระฉับกระเฉงว่องไว ประกอบด้วยเคราแพะอันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวดังปรากฏในภาพถ่ายตามสถานที่ต่างๆ ขณะวัย 71 ปีนั้น ท่านยังมีความจำดีเยี่ยม ความคิดปราดเปรื่อง แววตา แสดงออกถึงความจริงใจ อบอุ่นเมตตา

 

โฮจิมินห์ กับปรีดี พนมยงค์ ค.ศ. 1961
โฮจิมินห์ กับปรีดี พนมยงค์ ค.ศ. 1961

 

เมื่อได้ทำความรู้จัก สัมผัสมือ และไต่ถามสารทุกข์สุกดิบเบื้องต้นแล้ว โฮจิมินห์เชิญคณะเข้านั่งโต๊ะอาหารลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า พอกับจำนวนคนฝ่ายเจ้าภาพนอกจากท่านแล้วก็มีนายกฟ่ามวันด่ง ประธานรัฐสภาเจรื่องจิง นายพลหวอเหงียนย้าป เกาหงหลั่นท์ (รมว. วิเทศสัมพันธ์ของพรรคฯ) เหวียนเกอธัค (รมช. กระทรวงการต่างประเทศ) เหวียนดึ๊กกุ่ย (รมช. กระทรวงวัฒนธรรม)

เมื่อมาถึงโต๊ะอาหาร โฮจิมินห์เห็นทางเจ้าหน้าที่พิธีการทูตจัดป้ายชื่อที่นั่งประจำของทุกคน ท่านสั่งให้เก็บป้ายชื่อไปเสียแล้วนั่งกันตามสบาย ไม่ต้องมีพิธีรีตอง จากนั้นได้นำท่านผู้หญิงพูนศุขไปตรงกลางโต๊ะและเชิญนั่งทางด้านขวาของท่าน เชิญนายปรีดีนั่งทางด้านซ้าย คนอื่นให้นั่งตามสบาย ท่านบอกว่า เป็นการรับประทานอาหารของคนในครอบครัวเดียวกัน ที่ประทับใจมากที่สุดในงานก็คือ ท่านหยิบดอกกุหลาบสีแดงที่อยู่บนโต๊ะอาหารมาดอกหนึ่ง แล้วปักลงบนกระเป๋าเสื้อของท่านผู้หญิงพูนศุข

โฮจิมินห์และนายปรีดีสนทนากันด้วยภาษาฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าไม่เคยพบกันมาก่อน แต่ด้วยอุดมการณ์ในเรื่องความรักชาติบ้านเมืองของทั้งสองท่านทำให้การสนทนาแสดงออกถึงมีความสนิทสนมกันมาก

โฮจิมินห์กล่าวถึงการที่ท่านเคยเข้าไปเคลื่อนไหวในสยาม เมื่อปี ค.ศ. 1927 - ค.ศ. 1928 ท่านรู้สึกซาบซึ้งและเป็นหนี้บุญคุณชาวไทย ที่ให้การช่วยเหลือปกป้องมิให้พวกสายลับฝรั่งเศสมาแผ้วพาน รวมทั้งได้อาศัยข้าวก้นบาตรขณะเดินทางค้างแรมตามที่ต่างๆ และได้ถามว่าประเพณีอันดีงามนี้ยังคงมีอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับคำยืนยันว่ามีอยู่ ทำให้ท่านชื่นชมยินดีมาก

ส่วนนายปรีดีก็กล่าวแสดงความยินดีในผลสำเร็จแห่งการประชุมที่เจนีวา ถึงแม้ว่ายังต้องต่อสู้รวมประเทศให้เป็นเอกภาพในขั้นต่อไป ท่านเชื่อมั่นว่าเวียดนามต้องได้ชัยชนะจากการต่อสู้ที่เป็นธรรมในที่สุด ทั้งๆ ที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงละเมิดข้อตกลงที่จะต้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 2 ปีหลังจากข้อตกลงที่กรุงเจนีวา คือในปี ค.ศ. 1956 ซึ่งผ่านมาแล้ว 5 ปียังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ดินแดนทางภาคเหนือของเวียดนามก็มาอยู่ภายใต้อธิปไตยของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามแล้ว

การสนทนาเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรีและมิตรภาพอันอบอุ่น

อาหารเวียดนามที่จัดเลี้ยงรสชาติถูกปากคนไทยอยู่แล้ว เช่น จ่าหย่อ (เปาะเปี๊ยะ) เฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) เป็นต้น ยังมีน้ำปลา พริก และมะนาวสำหรับปรุงรส ส่วนเครื่องดื่มมีไวน์แดง ไวน์ขาวจากบัลแกเรีย และน้ำแร่จากรัสเซีย

เมื่องานเลี้ยงจบลง โฮจิมินห์กล่าวเชิญคณะไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เช่น อ่าวฮาลอง โดยมอบหมายให้เหวียนดึ๊กกุ๋ย หรือองกุ่ยของเรานำพาคณะไป

ระยะเวลาเยี่ยมเวียดนามทั้งหมด 10 วันนั้น โฮจิมินห์มาเยี่ยมยังบ้านรับรองถึง 2 ครั้ง เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ ในการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ทั่วไป เรื่องที่มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง อันเป็นบทพิสูจน์ของคติธรรมพุทธศาสนา ซึ่งนายปรีดีเคยเขียนไว้ในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม เมื่อปี ค.ศ. 1957 โดยลัทธิมาร์กซ์ได้อธิบายถึงวิวัฒนาการของสังคมในลักษณะเช่นนั้น ทั้งสองท่านมีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังทราบกันดีว่าโฮจิมินห์เป็นผู้นำทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินมาประยุกต์ใช้ในประเทศเวียดนาม

มิตรภาพของสองประเทศเริ่มจากภาคประชาชนที่มีมาช้านาน จนกระทั่งทุกวันนี้ประเทศทั้งสองก็พัฒนาสานต่อ และการได้พบปะกันเป็นส่วนตัวของบุคคลทั้งสองยิ่งทำให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ผู้ที่รู้ความจริงและรักความเป็นธรรมทั้งหลาย แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยต่างกล่าวกันว่า มิตรภาพที่มีมาจนถึงทุกวันนี้ก็ต้องถือว่า นายปรีดีเป็นผู้เริ่มต้นคนสำคัญคนหนึ่ง และน่ายินดีอย่างยิ่งที่แม้กระทั่งชาวเวียดนามในยุคนี้ต่างก็ยึดมั่นคำสั่งสอนของโฮจิมินห์ มิให้ลืมผู้สนับสนุนภารกิจกู้ชาติ

ในวัยที่ต่างกันถึง 10 ปี โฮจิมินห์เกิดวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 นายปรีดี เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ถือว่าเป็นบุคคลร่วมสมัย และทั้งสองท่านได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระชาตกาลครบร้อยปีเช่นกัน

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, ไมตรีจิตมิตรภาพ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 149 - 155.

บทความที่เกี่ยวข้อง :