ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : เดียนเบียนฟู (ตอนที่ 13)

6
พฤษภาคม
2566

Focus

  • เหตุการณ์ช่วงปลายของความขัดแย้งในสมรภูมิเดียนเบียนฟู พื้นที่ราบขนาดใหญ่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะชี้ชะตาของเวียดนาม ในการรบพุ่งครั้งนี้ฝ่ายกองกำลังเวียดมินห์วางแผน วิเคราะห์ และอาศัยชนเผ่าพื้นเมืองในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการโต้ตอบและปิดช่องโหว่ของตนเอง ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยเหลือในการปลดแอกครั้งนี้ ภายใต้การบัญชาการของ โฮจิมินห์ โดยมี หวอเหงียนย้าป เป็นกำลังสำคัญ
  • ความปราชัยของฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ทำให้ชาติอาณานิคมอย่างเวียดนามสามารถปักธงแห่งชัยชนะเหนือดินแดนของตนเองได้สำเร็จ จนนำไปสู่การเจรจาทางการเมืองในการประชุมเจนีวา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาข้อสรุปยุติความขัดแย้งและฟื้นคืนสันติภาพให้แก่ประเทศในอินโดจีน ส่งผลให้กองกำลังของเจ้าอาณานิคมต้องถอนกำลังทหารออกจากประเทศ และบรรลุข้อตกลงในการขีดเส้นแบ่งเขตแดน

 

ในที่สุดกองกำลังเวียดมินห์ โฮจิมินห์ และคณะกรรมการบริหารของพรรคฯ ต้องถอนกำลังออกจากเมืองฮานอย เข้าสู่ฐานที่มั่นเดิมบริเวณชายแดนภาคเหนือด้วยน้ำใจต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยว แต่ก็ขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ หน้าที่บัญชาการสู้รบท่านได้ให้ความไว้วางใจแก่หวอเหงียนย้าปเป็นผู้บัญชาการ ทั้งนี้เพราะประจักษ์ความสามารถในการก่อตั้งกองกำลังเวียดมินห์ ตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945

หวอเหงียนย้าปปฏิบัติภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการขยายงานด้านจรยุทธ์ ทหารบ้าน กองกำลังโฆษณาติดอาวุธของเวียดมินห์เคลื่อนที่ไปยังท้องถิ่นชนบทตามความเหมาะสมของสภาพท้องที่ ในขณะเดียวกันก็รักษากองกำลังประจำการ ยกระดับประสิทธิภาพ นำตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่มาประยุกต์กับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผสมผสานกับผลงานการต่อสู้ในอดีตกาลของท่านตรั่นฮึงด่าว วีรบุรุษแห่งชาติของเวียดนาม ทำให้กองทัพเวียดมินห์สามารถต้านยันกองทัพฝรั่งเศสที่พยายามเข้าโจมตีกวาดล้างฐานที่มั่น

ฝรั่งเศสบุกเข้ามาก็ถูกตีถอยกลับไปทุกครั้ง จนขยาดไม่กล้าเข้ามาทางเขตฐานที่มั่นซึ่งภูมิประเทศเป็นป่าและเขาสูง ฝรั่งเศสไม่สามารถเคลื่อนพลจำนวนมากเข้ามาได้ ส่วนใหญ่ระดับหมวดและกองร้อย กองพันมีน้อยเต็มที ยุทธวิธีสำคัญและได้ผลที่ทางฝ่ายเวียดนามใช้ต้านการบุก เป็นการประยุกต์การรบจรยุทธ์คือ ยุทธวิธี ‘ดักสกัดซุ่มตี’ ด้วยการหลอกล่อดึงกองทหารฝรั่งเศสไปยังยุทธภูมิที่ตั้งวางซุ่มกำลังไว้ เมื่อข้าศึกตกอยู่ในวงล้อมก็โจมตีแบบบดขยี้ให้สิ้นซาก

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1947 - ค.ศ. 1948 นั้น เวียดนามยังเป็นฝ่ายตั้งรับในฐานที่มั่น เพื่อสะสมปรับปรุงกำลังทหาร และวางแนวทางการเมืองแห่งยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อ ขณะเดียวกันกองทหารฝรั่งเศสก็ตั้งมั่นอยู่แต่เมืองใหญ่ เช่น ฮานอย ไฮฟอง ไม่กล้ายุ่มย่ามบุกเข้าไปฐานที่มั่นในเขตปลดปล่อยภาคเหนือ ส่วนทางภาคกลาง และภาคใต้ ฝรั่งเศสยึดครองเมืองใหญ่ เช่น ไซ่ง่อน ดานัง อย่างเหนียวแน่น ซึ่งกองกำลังจรยุทธ์กระจัดกระจายอยู่ตามชนบท โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เวียดมินห์มีฐานกำลังเข้มแข็งและเป็นเขตต้องห้ามสำหรับฝรั่งเศส

ถึงแม้เวียดนามอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่จิตใจมุ่งมั่นกอบกู้เอกราชที่โฮจิมินห์พร่ำสอน ทำให้สามารถยืนหยัดผ่านระยะการตั้งรับมาได้ รวมทั้งชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ประเทศไทยต่างสละเงินทองข้าวของที่พอมีเพื่อช่วยชาติบ้านเมือง และมีการจัดตั้งคนหนุ่มฝึกฝนวิชาทหาร ใช้ปืนไม้ประกอบการฝึก แล้วจัดหน่วยกำลังข้ามโขงไปลาวและเวียดนามเพื่อเข้าร่วมต่อสู้

พอย่างเข้าปี ค.ศ. 1948 เหตุการณ์ได้เปลี่ยนโฉม นำมาซึ่งสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่เวียดนาม นั่นก็คือ สงครามกลางเมืองในจีนระหว่างคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋ง หรือระหว่างเหมาเจ๋อตงกับเจียงไคเช็ค ฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายได้เปรียบตลอดแนว เนื่องจากการเน่าเฟะของก๊กมินตั๋งและไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนจีน อันสืบเนื่องมาจากความไม่เอาไหนในการสู้รบกับญี่ปุ่น กองทหารเจียงไคเช็คถูกตีแตกถอยร่นมาทางใต้อย่างไม่เป็นขบวน ทั้งๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาอย่างเต็มที่ในทุกด้าน

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1949 กองทหารปลดแอกประชาชนจีนได้ปลดปล่อยพื้นที่ประเทศจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ได้หมด เท่ากับว่าเวียดมินห์มีแนวหลังหนุนช่วยมั่นคง คอมมิวนิสต์จีนยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของอเมริกามาได้เป็นส่วนใหญ่ จนมีคำเปรียบเปรยว่า “อเมริกาเป็นผู้ผลิตอาวุธ เจียงไคเช็คเป็นแม่กองลำเลียงให้เรา” อาวุธเหล่านี้จีนได้ส่งต่อให้เวียดนามสู้ศึกกับฝรั่งเศสอีกชั้นหนึ่ง

แม่ทัพที่ประธานเหมาเจ๋อตงส่งมาดูแลให้การสนับสนุนโฮจิมินห์ ซึ่งสมควรระบุนามของท่าน ณ ที่นี้คือ นายพลเย่ห์เจี้ยนอิ๊ง ต่อมาครองยศ 1 ใน 10 จอมพลของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน บทบาทสูงส่งของท่านคือ การโค่นล้มเจียงชิงกับพวกแก๊งสี่คน ทำให้ประเทศจีนประสบความสำเร็จก้าวหน้าทันสมัยมาจนปัจจุบันนี้

 

โฮจิมินห์บัญชาการศึกปลดปล่อยชายแดน ค.ศ. 1950
โฮจิมินห์บัญชาการศึกปลดปล่อยชายแดน ค.ศ. 1950

 

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา เมื่อได้รับการสนับสนุนจากจีนและประเทศในค่ายสังคมนิยมที่ทยอยให้การช่วยเหลือผ่านพรมแดนประเทศจีนซึ่งได้รับการปลดปล่อย หวอเหงียนย้าปพร้อมคณะเสนาธิการและที่ปรึกษาทางทหารของจีน โดยมติของโฮจิมินห์และคณะกรรมการบริหารให้เปิดยุทธการชายแดนที่ติดกับจีน อันได้แก่ จังหวัดกาวบั่ง หล่างเซิน สามารถปลดปล่อยหัวเมืองชายแดนได้ทั้งหมด ถือเป็นชัยชนะขั้นแรกที่นำไปสู่ชัยชนะครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

ด้วยความดีความชอบในการชนะศึกครั้งนี้ โฮจิมินห์ได้มอบยศนายพลตรีให้หวอเหงียนย้าป และก็เป็นนายพลคนแรกของกองทัพประชาชนเวียดนาม

ฝรั่งเศสเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารคนแล้วคนเล่าก็ไม่สามารถปราบปรามเวียดนามได้ เป็นที่น่าสงสัยว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยอรมนียังความพ่ายแพ้ให้กองทหารฝรั่งเศส พวกนายทหารฝรั่งเศสเหล่านี้ไปหดหัวอยู่ที่ไหน ปล่อยให้ จอมพลเปแตง วีรบุรุษศึกแวร์ดังในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้ยอมจำนนต่อเยอรมนี และกลายเป็นผู้ทรยศต่อชาติไปในที่สุด

นายพล อองรี นาวารร์ (Henri Navarr) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารในกลางปี ค.ศ. 1953 มีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ อวดอ้างว่าจะจัดการเวียดมินห์ให้ราบคาบลงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาได้ทำ ‘แผนนาวารร์’ ขึ้น โดยสั่งให้กองกำลังทหารฝรั่งเศสไม่ต่ำกว่า 3 กองพลใหญ่บุกเข้ายึดชัยภูมิที่เมือง เดียนเบียนฟู ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฮานอย ติดชายแดนลาวทางแขวงพงสาลี มีพื้นที่เป็นแอ่งที่ราบ ล้อมรอบด้วยขุนเขาทุกด้าน

สมัย ร.5 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกทัพไทยไปปราบพวกฮ่อที่เดียนเบียนฟู ในภาษาพื้นเมืองของชาวเผ่าซึ่งเป็นพวกไทดำ เรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองแถง

นายพลนาวารร์เห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีมากในการสร้างฐานทัพฝรั่งเศสให้ทำหน้าที่หัวสะพาน เพื่อส่งกำลังเคลื่อนที่เร็วไปปราบปรามพวกเวียดมินห์ ซึ่งคิดว่าจะทำได้โดยง่าย

พื้นที่ราบของเดียนเบียนฟูขนาดประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร ฝรั่งเศสส่งกำลังรบเกือบ 20,000 คนเข้ายึด ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศ มีการสร้างสนามบินเพื่อการส่งกำลังบำรุง นายทหารที่ถูกส่งมามีทั้งชาวฝรั่งเศส แอลจีเรีย ตูนีเซีย และโมร็อกโก รวมทั้งทหารชาวแอฟริกัน ผสมปนเปกัน โดยมี นายพันเอก เดอกัสตรีย์ เป็นผู้บัญชาการ เมื่อตั้งมั่นได้ ฝรั่งเศสถึงกับคุยโอ้อวดว่ามีความแข็งแกร่งเป็นที่สุด ต่อไปนี้จะปราบเวียดมินห์ให้สิ้นซากโดยเร็ว

ฝรั่งเศสหาได้เข้าใจว่า ในยุทธการชายแดนช่วง ค.ศ. 1950 - ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพประชาชนเวียดนามได้รับชัยชนะแล้ว พวกเขายิ่งเข้มแข็งและฮึกเหิมในการทำศึก ประกอบกับในบริเวณชายแดนดังกล่าวมีชนเผ่าอาศัยอยู่หลายพวก ส่วนมากมีภาษาขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกับคนไทยในบ้านเรา ชนเผ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้แก่ นุง (ไทนุง) ไทขาว ไทดำ เป็นต้น ฝ่ายเวียดนามสร้างความสมานสามัคคีกับชนเผ่าได้ดี จนเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับฝรั่งเศส เพราะชนเผ่าเหล่านี้ชำนาญภูมิประเทศ มีความเคียดแค้นชิงชังฝรั่งเศสเป็นทุนเดิม เนื่องจากถูกกดขี่เหยียดหยาม ดังนั้น กองทัพเวียดมินห์จึงมีกำลังเพิ่มขึ้นและมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว

ในขณะจีนดูแลสนับสนุนเวียดนามนั้น จีนต้องส่งกองทัพอาสาสมัครประชาชนจีนเข้าไปช่วยเกาหลีเหนือต่อสู้กับอเมริกาซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ทำให้กองทัพจีนเสียหายไม่น้อย จึงสามารถยันอเมริกาและเกาหลีใต้ให้ถอยหลังกลับไปในบริเวณเส้นขนานที่ 38 และมีการเจรจาหยุดยิงกัน แต่การสนับสนุนเวียดนามก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นภายหลังการหยุดยิงในเกาหลี

ในบรรดาแม่ทัพนายกองฝรั่งเศสที่ผลัดเปลี่ยนกันมาปราบขบวนการกู้ชาตินับตั้งแต่ นายพล เดอลัตต์ เดอตัสซิณญี มาทำหน้าที่เพียงปีเศษก็ถูกย้ายกลับ เขาเสียชีวิตด้วยโรคร้าย และได้รับการสถาปนาเป็นจอมพลแห่งกองทัพ เช่นเดียวกับเลอแคลร์ นายพลซาลัง คนสนิทของเดอโกล เข้ามารับหน้าที่แทนระยะหนึ่งจึงถึงคิว นายพล อองรี นาวารร์

นายพลนาวารร์ นายทหารฝีมือระดับพระกาฬ ก่อนเข้ารับตำแหน่งเคยเป็นเสนาธิการทัพขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ตำแหน่งสำคัญที่สุดในยุคสงครามเย็นเพื่อต้านยันอิทธิพลโซเวียต นายพลนาวารร์ จึงมามาดใหม่ด้วยการวางแผนส่งกำลังไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างที่มั่นควบคุมตัดกำลังการเชื่อมโยงของเวียดมินห์ และส่งกำลังพลร่มเข้าปราบปรามฐานที่มั่นของฝ่ายตรงกันข้าม

ขณะเวียดมินห์สืบทราบข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างถูกต้อง จึงวางแผนตอบโต้ ชั้นต้นใช้กำลังเคลื่อนที่เร็วจากหน่วยโฆษณาติดอาวุธจำนวนไม่เกินหนึ่งหมวด อาศัยความเร็วเดินทัพมุ่งเข้าลาว ระยะทาง 200 กิโลเมตร เข้าตีเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน จุดไฟเผาคลังแสง คลังน้ำมัน แล้วถอนตัวออกอย่างรวดเร็ว กลุ่มควันไฟที่พุ่งขึ้นสามารถเห็นได้ชัดจากจังหวัดนครพนมกว่าฝรั่งเศสจะยกกำลังมาก็ต้องคว้าน้ำเหลว

เวียดมินห์ปฏิบัติการเช่นนี้หลายท้องที่ รวมทั้งความต่อเนื่องในยุทธวิธีดักสกัดซุ่มตีเมื่อข้าศึกหลงเข้ามา ทำให้กำลังฝ่ายฝรั่งเศสเหนื่อยหน่ายและอิดโรย

การเข้าปิดล้อมเดียนเบียนฟูดำเนินการต่อไป มีการถอดชิ้นส่วนปืนใหญ่ 75 มม. และ 105 มม. ขนขึ้นภูเขาที่รายล้อมเดียนเบียนฟูโดยฝ่ายตรงข้ามไม่คาดคิดมาก่อน การขนส่งยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหารต่างๆ เข้าสู่แนวหน้านั้น นอกจากแรงคนหาบหามที่ได้อาศัยพี่น้องชาวไทดำในท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญแล้ว ก็ใช้รถจักรยานเสริมแต่งให้บรรทุกได้มาก เป็นพาหนะลำเลียงซึ่งได้ผลดีมาก

นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1954 เป็นต้นมา อเมริกาแนะนำฝรั่งเศสว่า ปัญหาเวียดนามไม่สามารถใช้กำลังอาวุธ การทหาร เข้าจัดการให้สำเร็จลงได้ จึงเสนอให้เปิดการเจรจา ทางฝ่ายเวียดนามก็ตอบรับเพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าเวียดนามต้องการสันติภาพ การประชุมระหว่างฝรั่งเศส-เวียดนามเกิดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีอเมริกา สหภาพโซเวียต จีน และอังกฤษ เข้าร่วมด้วย

หัวหน้าคณะฝ่ายเวียดนาม คือ นายฟ่ามวันด่ง (นายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ) ส่วนฝรั่งเศสเปลี่ยนตัวไปเรื่อยๆ ตามสถานะแห่งการล้มลุกคลุกคลานของรัฐบาลผสมแห่งสาธารณรัฐที่ 4

เนื่องด้วยสมรภูมิเดียนเบียนฟูถือว่าเป็นความเป็นความตายที่กำหนดชะตากรรมของประเทศ บรรดานักรบเวียดนามจึงมีความฮึกเหิมในการเข้าโจมตีข้าศึกตั้งแต่เริ่มแรก แต่โฮจิมินห์และแกนนำพรรคฯ ได้ทำความเข้าใจให้เห็นว่า ถึงแม้มีอาวุธพอต่อกรแล้วยังต้องเตรียมการด้านอื่นให้พร้อม โดยเฉพาะการส่งกำลังบำรุง และได้กำหนดคำขวัญไว้ว่า “มุ่งมั่นตัดสินใจสู้รบ มุ่งมั่นในชัยชนะ”

ในสารที่โฮจิมินห์มีถึงผู้บัญชาการหวอเหงียนย้าปนั้น ท่านระบุว่า “การรณรงค์ในคราวนี้มีความสำคัญไม่เพียงแต่ในด้านการทหาร หากแต่ในด้านการเมืองเช่นกัน ไม่เพียงแต่ภายในประเทศ แต่ในด้านระหว่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น ประชาชนของเราทั้งมวล กองกำลังทหารทั้งหมด และมวลสมาชิกพรรคทั้งปวง จักต้องสามัคคีกันถ้วนทั่วหน้า เพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปได้”

สำหรับอาวุธของเวียดมินห์นั้นส่วนใหญ่ก็ยังเป็นอาวุธในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำในอเมริกา ที่จีนยึดจากทหารเจียงไคเช็ค และรวมทั้งอาวุธอเมริกาจากเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์ จัดส่งไปสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นอาวุธทหารราบ เช่น ปืนเล็กยาว สปริงฟิลด์ไรเฟิล ปืนคาร์บิน ปืนกลมือทอมป์สัน ปืนกลมือเอ็มทรี ปืนพกยูเอสอาร์มี่ 11 มม. ระเบิดมือ และดินระเบิด ทีเอ็นทีจำนวนหนึ่ง ซึ่งกองพันแห่งสยามได้ประกอบส่วนเข้าในกองพลทหารราบที่ 307, 308 ส่วนอาวุธหนักประเภทปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยานได้มาจากการสนับสนุนของโซเวียต

นายโคเบเลฟ นักเขียนประวัติโฮจิมินห์ได้กล่าวว่า มีขีปนาวุธ ‘คัทซูซ่า’ (KATYUSHA) ที่พวกนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกให้สมญานามว่า ‘ออร์แกนโบสถ์ของสตาลิน’ ซึ่งทำลายขวัญเยอรมันมาแล้ว รวมอยู่ด้วย

โฮจิมินห์และแกนนำของพรรคฯ ตั้งกองบัญชาการไม่ห่างจากแนวรบเพื่อติดตามให้คำชี้แนะแก่กองกำลังหวอเหงียนย้าปซึ่งอยู่แนวหน้า และยังมีที่ปรึกษาทางทหารชาวจีนจำนวนหนึ่งพำนักอยู่ไม่ไกลนัก นอกจากให้การปรึกษาในยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแล้ว ยังอบรมการยิงปืนใหญ่ระยะเผาขนซึ่งบังเกิดผลดีอย่างมาก เพราะเมื่อเปิดฉากโจมตีกระสุนนัดแรกจากปืนใหญ่ที่รายล้อมบนเขาตกลงที่หมายตรงเผง ทำให้หน่วยทหารปืนใหญ่ของข้าศึกถูกทำลายยับเยินและหมดสภาพทันที นายทหารผู้บังคับหน่วยผิดหวังถึงกับฆ่าตัวตาย

 

โฮจิมินห์ ณ กองบัญชาการปลดปล่อยชายแดน ค.ศ. 1950
โฮจิมินห์ ณ กองบัญชาการปลดปล่อยชายแดน ค.ศ. 1950

 

โฮจิมินห์ คณะกรรมการพรรค และรัฐบาล วางแผนเปิดศึกเดียนเบียนฟู ค.ศ. 1953
โฮจิมินห์ คณะกรรมการพรรค และรัฐบาล วางแผนเปิดศึกเดียนเบียนฟู ค.ศ. 1953

 

พี่น้องประชาชนร่วมขบวนส่งยุทธปัจจัย หนุนการเผด็จศึกเดียนเบียนฟู ค.ศ. 1953
พี่น้องประชาชนร่วมขบวนส่งยุทธปัจจัย หนุนการเผด็จศึกเดียนเบียนฟู ค.ศ. 1953

 

ธงชาติเวียดนามโบกสะบัดเหนือที่มั่นสุดท้ายของฝรั่งเศส
ธงชาติเวียดนามโบกสะบัดเหนือที่มั่นสุดท้ายของฝรั่งเศส

 

เชลยศึกฝรั่งเศส
เชลยศึกฝรั่งเศส

 

กองทัพเวียดนามขุดสนามเพลาะเข้าประชิดที่มั่นข้าศึก ระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร ป้อมค่ายด่านหน้าของฝรั่งเศสตั้งชื่อด้วยชื่อสตรีอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า ‘เบียทริซ’ บ้าง ‘แอนน์มารี’ บ้าง ‘โดมินิค’ บ้าง ‘เอเลน’ บ้าง ที่มั่นเหล่านี้รายล้อมเป็นแนวป้องกันให้กับเดียนเบียนฟู นอกจากนี้ยังมีเสนารักษ์หญิงนามว่า ‘เจเนเวียฟ’ ทางซีกโลกตะวันตกโฆษณาใส่สีตีไข่ให้เป็นยอดวีรสตรีไปเลยทีเดียว

เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - เมษายน ค.ศ. 1954 ทางเวียดนามเปิดฉากโจมตีป้อมค่ายฝรั่งเศส โดยจัดอาสาสมัครระเบิดพลีชีพเข้าประชิดทำลายที่มั่นข้าศึกพร้อมกับทหารราบขุดสนามเพลาะเข้าประจัญบานตะลุมบอน ป้อมค่ายแต่ละแห่งก็แตกสลาย ส่วนสนามบินเมื่อถูกถล่มด้วยปืนใหญ่จนใช้การไม่ได้ การส่งกำลังบำรุงทางอากาศต้องยุติ การทิ้งสัมภาระทางร่มชูชีพกลับตกไปอยู่ในมือเวียดนาม เมื่อเครื่องบินบินลงต่ำก็ถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงตกหมด

ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1954 ก่อนเดียนเบียนฟูแตกเพียงไม่กี่วัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พันเอก เดอกัสตรีย์ ผู้บัญชาการทหารฝ่ายฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู เขาได้รับการเลื่อนยศให้เป็นนายพลจัตวาโดยกองทัพฝรั่งเศสทิ้งเครื่องหมายยศใหม่นี้ลงทางอากาศ ซึ่งก็เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกอีกนั่นแหละ

วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 กองกำลังส่วนหน้าบุกเข้ายึดบังเกอร์บัญชาการของเดอกัสตรีย์ และฝรั่งเศสก็ยอมจำนน กองกำลังฝรั่งเศสจำนวนกว่า 8,000 คนต้องตกเป็นเชลยของเวียดนาม รวมทั้งทหารต่างด้าวและทหารเมืองขึ้นที่ถูกเกณฑ์มา

ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาติอาณานิคมเอเชียที่มีต่อมหาอำนาจเช่นฝรั่งเศส ผู้เป็นเจ้าแห่งยุทธศาสตร์สงครามป้อมค่ายประชิดผู้โอ้อวดไม่มีทางแพ้อาณานิคมของตน และแน่นอน เหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนทำให้นายทหารระดับสูงฝรั่งเศสเสียหน้าอย่างยิ่ง

ผลสะท้อนทางการเมือง ณ ที่ประชุมเจนีวา หลังพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู รัฐบาลฝรั่งเศสที่มีนายปีแอร์ มังเดส ฟรังซ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กับฟ่ามวันด่ง ก็ได้บรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวา โดยสรุปว่า ดินแดนเวียดนามนับตั้งแต่เส้นขนานที่ 17 ขึ้นไปทางเหนือ ให้อยู่ในความปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามที่มีท่านโฮจิมินห์เป็นประธานประเทศ ส่วนใต้เส้นขนานที่ 17 ลงมาฝรั่งเศสขอเป็นผู้ดูแล และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 2 ปีต่อมา คือปี ค.ศ. 1956 โดยจัดกรรมการชาติเป็นกลางดูแลการสงบศึก ภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยอินเดีย โปแลนด์และแคนาดา ซึ่งก็พอดูออกแล้วว่าชาติใดใกล้ชิดฝ่ายใด อนึ่ง ให้มีการขนทหารเวียดมินห์และครอบครัวจากภาคใต้จำนวนเหยียบแสนคนขึ้นมาทางภาคเหนือโดยเรือขนส่งของโปแลนด์

หลังถอนตัวจากฮานอยเมื่อปลายปี ค.ศ. 1946 ถึงต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1954 นับเป็นเวลาร่วม 9 ปีที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามใต้ได้กลับคืนสู่ฮานอยนครหลวงอย่างสมภาคภูมิ ท่ามกลางการต้อนรับล้นหลามและเมื่อกองพลทหารราบที่ 308 ได้เดินแถวข้ามสะพานลองเบียน หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า สะพานปอล ดูแมร์ ตามชื่อข้าหลวงใหญ่ผู้อำนวยการสร้างสะพานนี้เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ธงชาติเวียดนามขนาดเล็กในมือประชาชนก็โบกสะบัดไปมา เป็นอันว่าชัยชนะขั้นต้นของการรบเพื่อเอกราชได้หยั่งรากลงแล้วในเวียดนามเหนือ

เมื่อกล่าวถึงการรบที่เดียนเบียนฟูนั้น มีเรื่องแปลกแต่จริงที่คนส่วนหนึ่งนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง “แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู” ภาพยนตร์ประเภทต่อต้านคอมมิวนิสต์ เนื้อหาบิดเบือนว่าพวกคอมมิวนิสต์ทารุณโหดร้าย เอาฝ่ายพระเอกไปขังไว้ที่ค่ายนรกเดียนเบียนฟู แล้วพระเอกคนเก่งก็เข้าไปต่อกรช่วยเหลือมาได้

กลายเป็นคนละเรื่องกับเกียรติประวัติยุทธการเดียนเบียนฟูเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1954 อันเป็นเหตุการณ์พลิกโฉมหน้าใหม่แห่งประวัติการต่อสู้ของชาวเวียดนาม

 

นายพลหวอเหงียนย้าปกับนายพลวันเตี่ยนหยงในวันแห่งชัยชนะการปลดปล่อยเวียดนามใต้
นายพลหวอเหงียนย้าปกับนายพลวันเตี่ยนหยงในวันแห่งชัยชนะการปลดปล่อยเวียดนามใต้

 

นักรบหญิงกับเศษซากเครื่องบิน
นักรบหญิงกับเศษซากเครื่องบิน

 

การสังหารหมู่ประชาชนเวียดนาม
การสังหารหมู่ประชาชนเวียดนาม

 

โฮจิมินห์กับเหมาเจ๋อตง
โฮจิมินห์กับเหมาเจ๋อตง

 

กับเสด็จเจ้าสุพานุวง
กับเสด็จเจ้าสุพานุวง

 

กับยาวหระลาล เนห์รู
กับยาวหระลาล เนห์รู

 

กับไกสอน พมวิหาน
กับไกสอน พมวิหาน

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, เดียนเบียนฟู, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 136 - 148.

บทความที่เกี่ยวข้อง :