ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : เวียดนาม-หนึ่งเดียว (ตอนจบ)

10
มิถุนายน
2566

ความปรารถนาสูงสุดของประธานโฮจิมินห์ก่อนท่านถึงแก่อสัญกรรมในเดือนกันยายน ค.ศ. 1969 ก็คือ ประเทศเวียดนามจักได้รวมเป็นเอกภาพ เป็น “เวียดนาม-หนึ่งเดียว” ความสำเร็จของการนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1975 ภายหลังที่ท่านจากไป 5 ปีเศษ

 

 

กระนั้นก็ตาม ประธานโฮจิมินห์ได้รับรู้ถึงการก่อตั้ง “แนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้” องค์กรจัดตั้งลักษณะเดียวกับ “เวียดมินห์” ที่เป็นแนวร่วมในการต่อสู้กู้เอกราชสมัยทำสงครามกับฝรั่งเศส และประสบชัยชนะมาแล้ว ท่านจึงเชื่อมั่นว่าเวียดนามจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ถึงแม้ต้องใช้เวลา ทั้งยังตั้งใจว่าถ้ามีชีวิตอยู่เห็นความสำเร็จก็จะไปเยี่ยมเยือนลูกหลานชาวเวียดนามใต้และกลับไปเยี่ยมนครไซ่ง่อน ดินแดนที่ท่านจากไปเพื่อแสวงหาวิถีแห่งการปลดปล่อยประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 ขณะอายุเพียง 21 ปี

ภายหลังชัยชนะเดียนเบียนฟู ทำให้มีการลงนามในข้อตกลงเจนีวาระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม ซึ่งตกลงให้ประเทศเวียดนามเข้าครอบครองพื้นที่ทางเวียดนามภาคเหนือจากเส้นขนานที่ 17 ขึ้นไป เรียกกันอย่างทั่วไปว่าเวียดนามเหนือ มีนครฮานอยเป็นเมืองหลวง ส่วนเนื้อที่จากเส้นขนานที่ 17 ลงไปทางใต้ หรือเรียกว่าเวียดนามใต้ ให้อยู่ในความดูแลชั่วคราวของฝรั่งเศส

กองกำลังทหารประจำการของฝ่ายเวียดมินห์ที่ปฏิบัติการสู้รบอยู่ใต้เส้นขนานที่ 17 ให้ถอนกำลังพร้อมครอบครัวขึ้นไปรวมพลในเวียดนามเหนือ เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามข้อตกลง ส่วนมวลชนแนวร่วมกองกำลังจรยุทธ์ให้ตั้งมั่นในพื้นที่เท่าที่สามารถอยู่ได้

การดูแลควบคุมให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเจนีวา ที่ประชุมกำหนดให้ประเทศเป็นกลาง 3 ประเทศ อันได้แก่ อินเดีย แคนาดา และโปแลนด์ ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ก็ดูเสมือนว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไม่เกิดประสิทธิผลเท่าใด จะเห็นได้เมื่อมีการละเมิดข้อตกลงโดยเฉพาะจากอเมริกานั้น คณะกรรมการไม่อาจขัดขวางอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย

หลังจากปี ค.ศ. 1954 ฝรั่งเศสดึงเอาเบาใด๋ อดีตจักรพรรดิเวียดนามคนสุดท้ายที่สละราชสมบัติเมื่อครั้งโฮจิมินห์ประกาศเอกราชในเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 โดยฝรั่งเศสเห็นว่าเบาใด๋คงจะมีบารมีอยู่บ้างในเขตภาคกลางของประเทศและภาคใต้บางส่วน เรียกว่าเชิดขึ้นมาเป็นหุ่น แต่ด้วยวิถีชีวิตที่นิยมความเป็นอยู่หรูหราฟุ้งเฟ้อตามแบบฉบับผู้ดีชาวฝรั่งเศส มีรสนิยมในอาหาร ไวน์ และอิสตรี ไม่สนใจเรื่องบ้านเมือง จึงไม่เกิดมรรคผลประการใด

พอดีอเมริกาเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส เห็นว่ากษัตริย์เบาใด๋ไม่มีคุณค่าจึงเขี่ยตกจากเวที หันไปสนับสนุนโงดินเดียมเข้ายึดอำนาจ เปลี่ยนชื่อดินแดนใต้เส้นขนานที่ 17 เป็น ‘สาธารณรัฐเวียดนาม’ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า เวียดนามใต้ มีไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวง

โงดินเดียมมาจากครอบครัวขุนนางเก่าแห่งเมืองเว้ เมืองหลวงของกษัตริย์เวียดนามราชวงศ์สุดท้าย ครอบครัวได้กลับมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เป็นพวกนับถือแบบสุดขั้ว หาได้ยึดถือแนวทางที่ดีของชาวคริสต์ทั้งหลายไม่ โงดินเดียมทำตัวเสมือนนักพรต ไม่มีภรรยา หากแต่น้องชายคือโงดินนูนั้น มีภรรยานามมาดามนู ผู้มีบทบาทเจ้ากี้เจ้าการในงานต่างๆ แทนสามีของนางและโงดินเดียมอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีพี่น้องในตระกูลคนหนึ่งออกบวชและได้รับแต่งตั้งจากวาติกันให้เป็นพระราชาคณะชั้นบิชอป คนทั้งตระกูลนี้อาศัยในทำเนียบประธานาธิบดีด้วยกัน

เวียดนามใต้ภายใต้การนำของโงดินเดียมไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวเวียดนามใต้เท่าใด ยิ่งไปกว่านั้น การกดขี่ศาสนาพุทธที่คนส่วนใหญ่นับถือ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง จนกระทั่งอาจารย์ทิคกวงดึ๊กพระสงฆ์ นิกายมหายานของเวียดนาม จุดไฟเผาตนเองประท้วงเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ซีไอเอของอเมริกาเห็นท่าจะสนับสนุนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จึงกำหนดให้กลุ่มนายพลทำรัฐประหาร โค่นล้มโงดินเดียมและประหารชีวิตเขาทันที ส่งผลให้บรรดานายพลทั้งหลายผลัดกันขึ้นเสวยอำนาจด้วยการบงการและชี้นำของอเมริกาอย่างเต็มตัว

 

อาจารย์ทิคกวงดึ๊ก ประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง
อาจารย์ทิคกวงดึ๊ก ประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง

 

นักศึกษาเวียดนามใต้ประท้วงขับไล่อเมริกัน
นักศึกษาเวียดนามใต้ประท้วงขับไล่อเมริกัน

 

เท่ากับว่าอเมริกาได้ฉีกข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1954 และเจนีวาขยายวงกว้างใน ค.ศ. 1961 เป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อต้านยันคอมมิวนิสต์ ทำการสนับสนุนเผด็จการทหารทั้งในเวียดนามและประเทศใกล้เคียงด้วยกำลังเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย อเมริกาเชื่อมั่นว่าสามารถหยุดยั้งการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเวียดนามได้

การปกครองเวียดนามใต้เข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม นายพลคนใดที่อเมริกาเห็นว่าสนองนโยบายของตนได้ก็ให้ขึ้นมาถือบังเหียน คราใดที่เห็นว่าไม่ได้ดังใจก็สนับสนุนนายพลคนอื่นให้ทำรัฐประหารยึดอำนาจหรือถูกเขี่ยออกไป เช่น นายพลเยืองวันมิงห์ (บิ๊กมิงห์) นายพลเหวียนแข็ง ฯลฯ จนกระทั่งถึงคราวสุดท้ายก็ให้นายพลเหวียนวันเถี่ยว ขึ้นเป็นประธานาธิบดีพร้อมด้วยนายพลอากาศเหวียนเกากีเป็นรองประธานาธิบดีจวบจนวาระสุดท้าย

ผู้รักชาติเวียดนามใต้ที่ตกอยู่ใต้การปกครองระบอบเผด็จการ ที่มีอเมริกาอุปถัมภ์ค้ำชู ถูกจับทารุณกรรม เข่นฆ่า ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ทำให้พวกเขาต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้ในรูปแบบสงครามจรยุทธ์ในเขตที่มั่นเดิมทางภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เขตกู่จี่ที่ทางฝ่ายจรยุทธ์ขุดอุโมงค์ยาวติดต่อกันนับ 100 กิโลเมตร ทำการต่อสู้จากอุโมงค์ใต้ดินจนข้าศึกไม่สามารถเข้าทำลายได้ แม้กระทั่งบางครั้งมีเครื่องบิน B-52 เข้ามาทิ้งระเบิดปูพรมในบริเวณนั้นก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ จนกระทั่งกองทัพประชาชนเวียดนามได้รับชัยชนะเด็ดขาด

เรื่องสงครามอุโมงค์นี้ สมัยกองทัพแดงของจีนต่อต้านญี่ปุ่นได้ใช้ยุทธวิธีนี้สำเร็จอย่างงดงามทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมาแล้ว จึงถือว่าทั้งจีนและเวียดนามประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์การทหารที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีส่วนร่วมทำศึก

ดังได้กล่าวแล้วว่า ทหารประจำการฝ่ายเวียดมินห์ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้ฝรั่งเศสในเวียดนามภาคใต้ ซึ่งถอนตัวไปรวมพลอยู่ในเวียดนามเหนือนับแสนคน ตามข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1957 นั้น ครั้นทราบพฤติกรรมทารุณโหดร้ายที่ญาติมิตรตนได้รับ และในเมื่อฝ่ายตรงข้ามละเมิดข้อตกลง กองทหารประจำการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพประชาชนเวียดนามเหล่านั้นจึงทยอยกลับสู่สมรภูมิ เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องร่วมชาติทางภาคใต้

เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา การสู้รบระหว่างกองกำลังแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้กับพวกเผด็จการทหารเวียดนามใต้ ซึ่งมีอเมริกาสนับสนุนเต็มที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นอเมริกาส่งทหารร่วม 5 แสนคนเข้ามาทำการแทรกแซงสู้รบโดยตรง รวมทั้งนำทหารจากบางประเทศที่อเมริกาสามารถโน้มน้าวให้เข้าร่วมรบด้วย เช่น ไทย เกาหลี ฯลฯ พวกเขามุ่งยับยั้งและทำลายกำลังฝ่ายรักชาติ ที่ถือว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ‘เวียดกง’ ให้สูญสิ้น

สาเหตุแท้จริงที่ทหารจากประเทศต่างๆ ต้องไปรบก็เพราะผู้นำตามก้นอเมริกา และมุ่งหวังรายได้พิเศษ หาได้มีจิตใจที่จะเข่นฆ่าพี่น้องชาวเวียดนามไม่

ประเทศค่ายสังคมนิยมในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน และสหภาพโซเวียต ต่างให้การสนับสนุนเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่ ทางประเทศจีนช่วยเหลือด้านซ่อมแซมเส้นทางที่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิด เสบียงอาหาร อาวุธ และกระสุนสำหรับทหารราบ เช่น ปืนกลมืออาก้า (AK-47) (จีนพัฒนาจากต้นแบบของโซเวียตให้กะทัดรัดและเบาลง สมรรถนะเทียบกับ M16 ของอเมริกา) ปืนยิงเร็วเซกาเซ (CKC) และยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ส่วนสหภาพโซเวียตช่วยด้านอาวุธที่มีเทคนิคสูง เช่น ขีปนาวุธแซม (SAM) สำหรับยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะเพดานบินสูง B-52 และปืนต่อสู้อากาศยานชนิดต่างๆ

ฝ่ายอเมริกาได้เชิญที่ปรึกษาชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ เซอร์ทอมป์สัน ผู้อ้างว่าได้รับความสำเร็จในการปราบปรามคอมมิวนิสต์มลายูมาแล้ว อดีตเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของไทยคนหนึ่งก็ชมชอบท่านเซอร์ผู้นี้ เพื่อให้มาวางแผนจัดการ วิธีก็คือจัดตั้ง ‘หมู่บ้านยุทธศาสตร์’ โดยแยกชาวบ้านเข้ามาในเขตหมู่บ้านยุทธศาสตร์ที่มีรั้วรอบขอบชิด เป็นการต้านสงครามประชาชนที่ยึดหลักทหารและประชาชนคือ ‘ปลากับน้ำ’ เมื่อแยกน้ำมาแล้วปลาก็จะตาย แต่วิธีนี้ไม่ได้ผลในบริเวณอาณาเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เพราะชาวเวียดนามส่วนใหญ่คือผู้รักชาติผู้มีส่วนร่วมในการทำสงครามเป็นธรรมต่อสู้กับผู้รุกราน

การสู้รบดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ กำลังฝ่ายกองทัพประชาชนกับแนวร่วมสูญเสียกำลังคนไปไม่น้อย แต่ก็ได้ชิงความเป็นฝ่ายกระทำ ทำให้เขตปลดปล่อยในชนบทขยายออกไปอีก ร้อนถึงอเมริกาส่งกำลังทหารมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และใช้วิธีปราบปรามด้วยการสังหารชีวิตชาวเวียดนามผู้รักชาติแม้กระทั่งผู้ต้องสงสัย ซึ่งอเมริกาถือว่าเป็นชัยชนะ แต่ผลกลับทำให้ผู้คนไปเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยยิ่งขึ้น

มีการนำอาวุธเคมีโปรยลงจากเครื่องบินให้เกิดเป็นฝนเหลือง เพื่อทำให้พื้นดินเป็นพิษต่อผู้คนและธรรมชาติ อาวุธเคมีประเภทนี้ยังปรากฏตกค้างอยู่หลายถังในบริเวณใกล้กับสนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมัยที่อเมริกามาทำการทดลองใช้ในป่าของไทย

ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่สุดของอเมริกา มีทั้งเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด ระเบิดเพลิงนาปาล์ม ที่ปรากฏในภาพและข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ที่เด็กหญิงชาวเวียดนามถูกไฟลวกจากนาปาล์ม เป็นภาพที่หดหู่สยดสยอง ชาวโลกต่างประณามความทารุณโหดร้ายของสงครามที่ไม่ประกาศของอเมริกา

นอกจากนี้ มีการใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าระดมยิงที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม ใช้ในการเคลื่อนที่เร็วขนย้ายทหาร รวมทั้งผู้บาดเจ็บ เข้าทำการต่อกรกับฝ่ายผู้รักชาติผู้ไม่มีอาวุธอันทันสมัย แต่ด้วยเหตุใดอเมริกาและสมุนเผด็จการทหารไม่อาจเอาชนะได้

คำตอบในเรื่องนี้คือ ผู้เข้าทำสงครามที่เป็นธรรมต่อต้านผู้รุกราน มีจิตใจเด็ดเดี่ยวพร้อมเสียสละ และทราบดีว่ารบเพื่ออะไร ต่างจากฝ่ายรุกรานที่ไม่มีจุดมุ่งหมายเข้าทำสงคราม เมื่อเผชิญกับความยากลำบากก็ขาดจิตใจสู้รบ ถึงแม้จะมีสิ่งปรนเปรอขวัญก็ช่วยอะไรไม่ได้ สงครามประชาชนต่อต้านผู้รุกรานเป็นสงครามที่เป็นธรรม และจักประสบชัยชนะในที่สุด

 

เด็กๆ เวียดนามถูกไฟลวกจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกัน
เด็กๆ เวียดนามถูกไฟลวกจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกัน

 

ลุต้นปี ค.ศ. 1968 ก่อนจะถึงวันตรุษ (TET) เวียดนาม ในปลายเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ วันตรุษเวียดนามและวันตรุษจีนเป็นเวลาเดียวกัน เพราะทั้งสองประเทศถือปฏิทินตามจันทรคติ แต่ทางเวียดนามฉลองเทศกาลตรุษยาวนานถึงหนึ่งสัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ทางฝ่ายแนวร่วมปลดปล่อยและเวียดนามเหนือ ได้วางแผนเข้าโจมตีเมืองสำคัญของเวียดนามใต้ ด้วยการช่วงชิงโอกาสขณะทหารเวียดนามใต้รวมทั้งทหารอเมริกันพากันลาหยุดไปฉลองวันตรุษ ดังนั้นเมื่อถึงวันตรุษกองกำลังปลดปล่อยจึงเปิดฉากโจมตีเมืองขนาดใหญ่

นครไซ่ง่อน เมืองหลวงถูกโจมตีอย่างไม่คาดฝัน กำแพงสถานทูตสหรัฐฯ ถูกระเบิดเปิดช่องให้ฝ่ายจู่โจมบุกเข้าไป ทหารอเมริกันต้องใช้เฮลิคอปเตอร์มาลงบนลานจอด และใช้กำลังเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือดจึงสามารถยึดสถานทูตกลับคืนได้

ที่เมืองเว้เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์สุดท้าย การสู้รบดุเดือดรุนแรงเช่นกัน ฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถยึดไว้ได้เกือบหนึ่งเดือนก่อนถอนกำลังออก มีการต่อสู้ชนิดตัวต่อตัวในอาคารบ้านเรือน ซึ่งต้องยอมรับว่าเกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งสองฝ่าย

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และคณะเสนาธิการทหาร ได้มอบหมายให้ นายพล เวสต์ มัวร์แลนด์ ทำหน้าที่ผู้บัญชาการ อเมริกาเห็นว่านายทหารผู้นี้เหมาะสมและมีความสามารถมาก แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร นอกจากสั่งทิ้งระเบิดปูพรมทางยุทธศาสตร์พื้นที่ที่คาดว่ากองทัพเวียดนามเหนือเคลื่อนพลเข้าเวียดนามใต้ และส่งทหารเข้าไปในกัมพูชาบริเวณปากนกแก้วเพื่อต้านยันเวียดนามเหนือ

นอกจากนี้อเมริกายังหนุน นายพลลอนนอล ของเขมร ทำรัฐประหารโค่นล้มสีหนุ เพื่อหาทางร่วมมือสกัดกั้นกองทัพเวียดนามเหนือมิให้ใช้ดินแดนกัมพูชาโอบกำลังเข้าตีเวียดนามใต้ แต่การณ์กลับทรุดหนักลงไปอีก ส่วนทางด้านตะวันตกของเวียดนามเหนือ อเมริกาได้สนับสนุนให้กองกำลังของนายพลวังเปา กับทหารรับจ้างไทยทำศึกกับขบวนการปลดปล่อยประเทศลาวและทหารอาสาสมัครเวียดนามเหนือ ทั้งนี้เพื่อบีบให้เวียดนามเหนือกังวลและไม่สามารถส่งกำลังไปช่วยทางใต้ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นผลอีก

ขณะที่มติมหาชนอเมริกัน มีผู้เดินขบวนประท้วงการส่งทหารไปรบนอกบ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปรบจำนวนไม่น้อยฉีกหมายเกณฑ์ทหาร บางคนหลบไปแคนาดา ขบวนการ ‘ซ้ายใหม่’ ของอเมริกาเติบโตจนเป็นที่วิตกกังวลแก่ฝ่ายบริหาร

ดังนั้น การประชุมที่กรุงปารีสกลางปี ค.ศ. 1968 ระหว่างเวียดนามเหนือและอเมริกาจึงเกิดขึ้นเพื่อหาทางยุติปัญหา เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าชาวอเมริกันและชาวโลกต่างต้องการให้อเมริกันถอนทหารออกจากเวียดนาม และรวมทั้งสนับสนุนภารกิจต่อสู้ปลดปล่อยของเวียดนาม

 

ระหว่างการสัประยุทธ์ปลดปล่อยเวียดนามใต้
ระหว่างการสัประยุทธ์ปลดปล่อยเวียดนามใต้ 

 

บนเส้นทางโฮจิมินห์
บนเส้นทางโฮจิมินห์

 

ศึกปลดปล่อยบวนเมถวด บนที่ราบสูงภาคกลางของประเทศ
ศึกปลดปล่อยบวนเมถวด บนที่ราบสูงภาคกลางของประเทศ

 

 

รองประธานแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ คือ มาดามเหวียนธิบิ่งห์ ได้เข้าร่วมเจรจากับเวียดนามเหนือด้วย มาดามบิ่งห์เป็นสุภาพสตรีวัยกลางคน มีบุคลิกภาพสง่างาม แต่งกายในชุดประจำชาติเวียดนามที่สวยงาม เป็นที่สนใจต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ท่านตอบได้อย่างตรงไปตรงมา มั่นคงและฉะฉาน ชนะใจคนทั่วไป

 

ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ กับมาดามเหวียนธิบิ่งห์ รองประธานาธิบดีประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงฮานอย วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ กับมาดามเหวียนธิบิ่งห์ รองประธานาธิบดีประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงฮานอย วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2002

 

การเจรจายืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี หัวหน้าฝ่ายเวียดนาม คือ เลอดุ๊คโธ และอเมริกา คือ คิสซิงเจอร์ เมื่อการเจรจาสิ้นสุดลงด้วยการถอนทหารอเมริกันและทหารต่างชาติออกไปจากเวียดนาม บุคคลทั้งสองนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ประเทศเวียดนามมีเทือกเขาเป็นแนวขาวทางทิศตะวันตกของประเทศทิวเขาที่มีความสำคัญต่อการสู้รบเพื่อรวมประเทศเป็นเอกภาพ ได้แก่ ทิวเขาเจรื่องเซิน (TRUONG SON) แปลเป็นไทยคือ ภูเขาแนวยาว เริ่มจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเหงะอานในภาคกลาง ทอดยาวลงไปทางใต้ ลัดเลาะผ่านสะหวันเขตในลาวลงสู่กัมพูชา และวกเข้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคใต้

เส้นทางตามแนวเขานี้รู้จักกันดีในชื่อ เส้นทางโฮจิมินห์ และเปรียบเสมือนเส้นโลหิตทางยุทธศาสตร์ที่กองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือใช้ในการคมนาคมขนส่ง การส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

นับตั้งแต่อเมริกาส่งทหารเข้าทำการรบในเวียดนามก็ได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะตัดเส้นทางการเคลื่อนพลของเวียดนามเหนือ ด้วยการใช้เทคนิคทันสมัยที่สุดเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหว ใช้เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดแบบปูพรมตามเส้นทางที่สงสัยว่าเป็นจุดเป้าหมายสำคัญบนทางสายนี้ แต่ไม่ได้ผลเท่าใดนัก เพราะอีกฝ่ายได้วางแผนและมีระบบป้องกันที่ดี อาศัยความชำนาญภูมิประเทศ รามทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพรางตัว ความมีวินัยของทหาร และจิตใจสู้รบ จึงสามารถรักษารูปขบวนการเคลื่อนไหวได้ไม่ขาดสาย

เจรื่องเซินมีความยาวร่วม 2,000 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นแนวเขาและป่าทึบจึงมีผู้อาศัยไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นชนชาติหมู่น้อย มีอยู่ด้วยกันร่วม 30 ชนชาติ เผ่าพันธุ์เหล่านี้เคลื่อนย้ายขึ้นมาจากทะเลจีนตอนใต้ ตามเส้นทางของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ส่วนชาวเวียดนามที่อยู่ในบริเวณนั้นก็มักอยู่ทางทิศตะวันออกของแนวเขาใกล้ที่ราบ มีอาชีพทำการเพาะปลูก

พวกชนชาติหมู่น้อยทำมาหากินด้วยการปลูกไร่เลื่อนลอยไปเป็นจุดๆ ในสมัยก่อนคนพวกนี้ถูกศักดินาเวียดนามเรียกว่า ‘ม้อย’ ซึ่งแปลว่า ‘ทาส’ ปัจจุบันทางการไม่อนุญาตให้เรียกเช่นนั้นอีก เพราะถือว่าดูถูกชนชาติ เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งลาวเรียกชนเผ่าเหล่านี้ว่า ‘ข่า’ หมายถึง ‘ขี้ข้า’ ปัจจุบันทางลาวเองก็ใช้คำว่า ‘ลาวเทิง’ แปลว่า ลาวที่อยู่บนที่ราบสูง ต่างกับ ‘ลาวลุ่ม’ ที่อยู่ทางที่ราบลุ่ม และ ‘ลาวสูง’ ซึ่งเป็นเผ่าอยู่บนเขา เป็นต้น

ภูมิประเทศของเส้นทางยังคงสภาพป่าทึบ ไม่มีการบุกเบิก ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น ช้างป่า วัวป่า มีสัตว์ร้ายประเภทงูชนิดต่างๆ มีไข้ป่าหรือมาลาเรียแพร่เชื้อไปสู่ผู้คนจำนวนมาก ทำให้อเมริกาและสมุนเวียดนามใต้ไม่อยากเข้าไปปฏิบัติการ เพียงแต่ส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปในเขตที่ไม่ลึกนัก ตรงกันข้ามกับฝ่ายเวียดนามเหนือที่ใช้ชีวิตในการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง คุ้นเคยกับภูมิประเทศ จัดวางระบบก่อสร้างเส้นทางที่มีประสิทธิภาพ และจิตใจมุ่งมั่นต่อภารกิจ ทำให้เส้นทางโฮจิมินห์เป็นสายใยแห่งการคมนาคมขนส่ง มีผลต่อการเข้าพิชิตศึก

ในประวัติศาสตร์ ชาวเวียดนามใช้เส้นทางนี้ตั้งรับกองทัพใหญ่ของจีนที่รุกเข้ามาทางภาคเหนือ ซึ่งสามารถหยุดข้าศึกอยู่ที่แนวด้านบริเวณภูเขาเจรื่องเซินไม่ให้บุกลงภาคใต้ได้

ในระหว่างปี ค.ศ. 1946 - ค.ศ. 1953 ขบวนการเวียดมินห์อาศัยแนวเขานี้ต้านยันกองทัพฝรั่งเศส ผู้รุกกลับเข้ามาเพื่อหวังครองเวียดนามเป็นเมืองขึ้นอีก ถึงแม้ยึดเมืองทางภาคใต้ที่ติดกับฝั่งทะเลได้หลายเมืองแต่ก็ไม่สามารถตีฝ่าเข้าไปถึงทางตะวันตก

นายพลตรั่นวันจร่า (TRAN VAN TRA) บุรุษร่างเล็กวัย 40 ปี ผู้บัญชาการต่อสู้กับฝรั่งเศสบริเวณบวนเมถวด (BAN ME THOUT) หรือที่คนไทยบางคนเรียกว่า ‘บ้านแม่ทวด’ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางภาคกลางที่ค่อนไปทางทิศตะวันตกของประเทศ การสู้รบในครั้งนั้นทำให้นายพลตรั่นวันจร่า มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวเวียดนาม

ภายหลังข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1954 นายพลตรั่นวันจร่าและกองพลของท่านได้เคลื่อนพลขึ้นไปเหนือเส้นขนานที่ 17 ตามข้อตกลง คือการไปรวมพลในเวียดนามเหนือ จนกระทั่งข้อตกลงเจนีวาถูกละเมิดโดยอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าการรวมประเทศโดยสันติวิธีไม่มีทางเกิดขึ้น กำลังพลของกองทัพประชาชนเวียดนามชุดแรกๆ ที่เคลื่อนทัพลงใต้ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ก็คือทหารภายใต้การบัญชาการของนายพลตรั่นวันจร่านี่เอง

การเจรจาที่กรุงปารีสสิ้นสุดลง เมื่ออเมริกาและประเทศที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมรบต้องถอนกำลังทหารออกจากเวียดนาม และให้เวียดนามจัดการปัญหากันเอง โดยอเมริกายังให้การช่วยเหลือทั้งด้านการทหารและอื่นๆ เพื่อปลอบใจ เหวียนวันเถี่ยว และเพื่อต้านยันเวียดนามเหนือต่อไป ส่วนการส่งทหารเข้ามาเพิ่มในยามคับขันนั้นอเมริกาไม่เอาอีกแล้ว ไหนจะเข็ดเขี้ยวกับสงครามที่ตนไม่มีทางชนะ มติมหาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังคัดค้านเต็มที่ ดีไม่ดีอำนาจบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจพังครืน

ขณะที่อเมริกาถอนกำลังออกไปนั้น ทหารของเหวียนวันเถี่ยวมีจำนวนประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน พร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย ประกอบด้วยเครื่องบิน F 5 หลายฝูง เครื่องบินโจมตีชนิดต่างๆ เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่ รถถัง เรือเร็วสำหรับปฏิบัติการตามลำน้ำ แต่ก็ไม่ทำให้ขวัญกำลังใจดีขึ้น ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปทุกคราว เรียกว่ารบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง

คณะกรรมาธิการทหารแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม และสมาชิกกรมการเมืองแห่งพรรคอมมิวนิสต์เวียดนาม มีมติแต่งตั้งให้ นายพลวันเตี่ยนหยง เสนาธิการกองทัพประชาชน เป็นแม่ทัพเข้าเผด็จศึกปลดปล่อยเวียดนามภาคใต้

นายพลวันเตี่ยนหยงมีผลงานดีเยี่ยมในศึกเดียนเบียนฟู ท่านเป็นผู้บัญชาการกองพล ด้วยยุทธวิธีที่นำมาใช้ตั้งแต่สมัยนั้น คือยุทธวิธี ‘ดอกบัวบาน’ หมายถึงการเข้าประชิดหน่วยบัญชาการของข้าศึกแล้วทำลายให้สิ้นซาก ตัดการสื่อสารไปยังหน่วยต่างๆ แล้วจึงขยายผลออกไปยังหน่วยย่อยรอบนอก ประดุจการคลี่ขยายของกลีบบัว ยุทธวิธี ‘ดอกบัวบาน’ ได้นำมาประยุกต์และพัฒนาขึ้นในศึกเวียดนามใต้ตามความเหมาะสมของสภาพการณ์ โอกาส และสถานที่ เกิดประสิทธิผลในการเข้าตีกองบัญชาการฝ่ายตรงข้ามมากมาย

รูปแบบแห่งการบัญชาการสงครามของเวียดนามเหนือประกอบด้วยคณะกรรมาธิการทหารซึ่งมี นายพลหวอเหงียนย้าป เป็นประธาน และสมาชิกแห่งกรมการเมืองพรรคฯ ในขณะนั้นมี เลหย่วน เป็นเลขาธิการใหญ่ ทางด้านแนวหน้า นายพลวันเตี่ยนหยงได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพ ประกอบด้วยบรรดานายพลแม่ทัพนายกองน้อยใหญ่ นายพลวันเตี่ยนหยงต้องทำหน้าที่รายงานผลการสู้รบต่อคณะกรรมาธิการทหารและสมาชิกกรมการเมือง ซึ่งบางครั้งเป็นการขอความเห็นแนวทางเพื่อประสานการปฏิบัติ

ภายหลังปฏิบัติการจู่โจมเข้ายึดเมืองสำคัญในวันตรุษปี ค.ศ. 1968 เพื่อชิมลางต่อกำลังของฝ่ายข้าศึกแล้ว กองทัพฝ่ายปลดปล่อยได้ขยายผลชัยชนะออกไปมากมาย โดยเฉพาะเมื่อทหารอเมริกันถอนทหารออกจากเวียดนามตามข้อตกลงกรุงปารีส ยิ่งสามารถยึดครองพื้นที่มากขึ้นอีก หมู่บ้าน เมืองเล็กเมืองน้อยได้รับการปลดปล่อย ฝ่ายข้าศึกตั้งมั่นอยู่แต่เมืองใหญ่เท่านั้น

การรุกใหญ่อย่างเต็มรูปแบบของกองทัพประชาชนเวียดนามเปิดฉากขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1975 ทุกคนที่เข้าร่วมประกอบส่วนในการศึกต่างมีความตั้งใจที่จะทำให้ ‘พินัยกรรมโฮจิมินห์’ บรรลุผลสมบูรณ์ กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งอาวุธหนัก เช่น รถถัง ปืนใหญ่ ถูกลำเลียงเข้าสู่สมรภูมิโดยเส้นทางโฮจิมินห์

ที่ราบสูงเปลกูอยู่ภาคกลางค่อนไปทางทิศใต้ของประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การเข้ายึดครองยุทธภูมินี้เท่ากับได้ชัยชนะในสงครามปลดปล่อย ดังนั้น กองทัพประชาชนจึงวางแผนเข้าตีเมืองในบริเวณที่ราบสูง อันได้แก่ บวนเมถวด กอนตุม และที่สำคัญก็คือ การเข้าปลดปล่อยเมืองไตเหวียน (TAY NGUYEN) ทำให้พื้นที่เปิดกว้างต่อการยึดเมืองเว้ ตัดขาดเมืองดานังจากกำลังหนุนของศัตรู และสามารถยึดดานังได้ในที่สุด ทำให้กำลังทหารเหวียนวันเถี่ยวต้องแตกพ่ายเสียขวัญอย่างไม่เป็นขบวน และต้องถอยร่นลงมาทางใต้เพื่อรวบรวมกำลังเข้าป้องกันไซ่ง่อน

ทหารเวียดนามใต้หลายกองพันถูกการรบแบบบดขยี้ทำลายจนไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาได้อีก ส่วนที่ถอยร่นตามเส้นทางใหญ่น้อยก็ถูกซุ่มโจมตี ที่มั่นด่านสุดท้ายของฝ่ายไซ่ง่อนคือที่เมืองซวนลอค (XUAN LOC) ซึ่งเมื่อแนวป้องกันด้านตะวันออกของไซ่ง่อนแตกอย่างง่ายดาย จึงเปิดโอกาสให้โอบล้อมและเข้าประชิด ส่วนการต่อต้านของข้าศึกเบาบางเต็มทีแล้ว

ก่อนไซ่ง่อนแตกเพียง 3 สัปดาห์ เกิดวีรกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เครื่องบินกองทัพอากาศของเวียดนามใต้ ชนิด F-5E ขับโดย เรืออากาศโท เหวียนทันห์จรุง ได้เข้าโจมตีทำเนียบ ‘เอกราช’ ของประธานาธิบดีเหวียนวันเถี่ยว จรวดโจมตีตกบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ของทำเนียบ หลังจากนั้นนักบินก็นำเครื่องบินกลับไปลงยังสนามในเขตปลดปล่อย

ความจริงนักบินผู้นี้คือ สมาชิกขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยผู้แฝงตัวอยู่กับข้าศึก หลังสงครามทำหน้าที่นักบินพาณิชย์ของสายการบินเวียดนาม เคยขับเครื่องบินโดยสารบินจากนครโฮจิมินห์ไปกรุงปารีสมาแล้ว

มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวียดนามเหนือผู้หนึ่งแฝงตัวเข้าทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของเหวียนวันเถี่ยว สามารถปิดลับตัวเองและส่งข่าวไปยังฝ่ายตนอย่างได้ผล ซึ่งถ้าถูกจับย่อมต้องโทษประหารชีวิต ภายหลังปลดปล่อยบุคคลผู้นี้ได้รับยศเป็นนายพลตรีแห่งกองทัพประชาชน

 

นาทีสุดท้ายของการอพยพผู้คนออกจากสถานทูตอเมริกันในเวียดนามใต้
นาทีสุดท้ายของการอพยพผู้คนออกจากสถานทูตอเมริกันในเวียดนามใต้

 

เรื่องราวการปลดปล่อยเวียดนามใต้มีมากมาย

อเมริกาเคยเปิดเผยว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถถอดรหัสลับการสื่อสารของกองทัพเรือญี่ปุ่น จึงได้รับชัยชนะในการรบครั้งสำคัญนั้น แต่ไฉนจนปัญญาไม่อาจถอดรหัสลับของกองทัพประชาชนเวียดนามได้ จึงมุ่งแต่ทิ้งระเบิด ใช้เทคโนโลยีตรวจจับความเคลื่อนไหว และอาวุธเคมี ฯลฯ

ก่อนไซ่ง่อนแตกเพียงไม่กี่วัน เหวียนวันเถี่ยวและครอบครัวได้ขนทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองขึ้นเครื่องบินหนีไปไต้หวัน ทูตอเมริกันประจำไซ่ง่อนได้รับคำสั่งจากกรุงวอชิงตันให้อพยพคนอเมริกันออกจากเวียดนาม รวมทั้งชาวเวียดนามที่ทำงานรับใช้อเมริกา

ภาพปรากฏในภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ถ่ายทอดให้เห็นความโกลาหลอลหม่านทุลักทุเลของผู้คน ที่แย่งกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์บนลานจอดดาดฟ้าสถานทูตอเมริกัน โดยมีนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใช้พานท้ายปืนทั้งดันทั้งตีให้อยู่ในระเบียบ บทอวสานมาถึงเร็วเกินกว่าที่คาดคิด

หลังจากเหวียนวันเถี่ยวหนีไป พวกเศษเดนปฏิกิริยาเวียดนามใต้ที่ยังหลงเหลือ และภายใต้การแนะนำของอเมริกาก็ชูพลเรือนผู้หนึ่งขึ้นรักษาการประธานาธิบดี แต่อยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดต้องเอานายพลเยืองวันมิงห์ (บิ๊กมิงห์) เจ้าเก่าเข้ามาแทน

เช้าตรู่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 รถถัง 2 คันของกองทัพประชาชนเวียดนามบุกพังฝ่าประตูเหล็กทำเนียบเอกราชของประธานาธิบดี นายทหารยศร้อยเอกผู้บังคับการรบรถถังกระโดดลงจากรถ วิ่งตรงไปยังห้องโถงชั้นล่างของทำเนียบ ณ ที่นั้น นายพลเยืองวันมิงห์รอคอยเพื่อเจรจาสงบศึก ผู้บังคับการรบรถถังแจ้งว่าไม่เกี่ยวกับการสงบศึก แต่เป็นการยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข พร้อมสั่งให้บิ๊กมิงห์ออกวิทยุกระจายเสียงให้ทหารเวียดนามใต้ทั้งหมดวางอาวุธทันที

 

รถถังของกองกำลังปลดปล่อยเวียดนามใต้ บุกทะลวงเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี
รถถังของกองกำลังปลดปล่อยเวียดนามใต้ บุกทะลวงเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดี

 

ธงชาติเวียดนามพื้นสีแดงมีดาวทองตรงกลางกับธงแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ พื้นบนสีแดงพื้นล่างสีน้ำเงินมีดาวทองอยู่ตรงกลาง ได้รับการเชิญขึ้นสู่ยอดตึกทำเนียบประธานาธิบดี

วินาทีนั้น เวียดนามใต้ได้รับการปลดปล่อย และประเทศรวมเป็นเอกภาพ

 

 

แด่ ท่านโฮจิมินห์

นามของท่าน
ไกลกังวานก้องกลบภพไพศาล
ผู้สู้เพื่อเอกราชชาติยืนนาน
ดังประทีปชัชวาลคู่ฟ้าดิน
มวลเวียดนามน้อมนบเคารพรัก
จิตประจักษ์เทอดทูนอยู่ไม่รู้สิ้น
เป็นบิดาประชาชาติชื่นชีวิน
โฮจิมินห์เฉิดฉันอมรรตรัย

“ทวีปวร”
2 กันยายน 1991

 

ปรีดี พนมยงค์ และคณะ ในพิธีไว้อาลัยประธานโฮจิมินห์ ค.ศ. 1969
ปรีดี พนมยงค์ และคณะ ในพิธีไว้อาลัยประธานโฮจิมินห์ ค.ศ. 1969

 

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, เวียดนาม-หนึ่งเดียว, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 169 - 189.

บทความที่เกี่ยวข้อง :