ดังได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า โฮจิมินห์เข้ามาเคลื่อนไหวชาวเวียดนามในสยาม ช่วงปี ค.ศ. 1928 - ค.ศ. 1929 ทำให้ชาวเวียดนาม หรือที่เรียกว่า ‘เวียดเกี่ยว’ (เวียดนามโพ้นทะเล) มีการสร้างองค์กรจัดตั้งตามแนวที่ท่านวางรากฐานไว้ ถือเป็นหน่วยสาขาพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1930 และต่อมาในปี ค.ศ. 1940 - ค.ศ. 1941 จึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแนวร่วมเวียดมินห์
สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ก่อนกรณีพิพาทอินโดจีน ยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมนีตอนต้นสงคราม รัฐบาลฝรั่งเศสที่ตั้งขึ้นที่เมืองวิชีจึงเป็นรัฐบาลหุ่นภายใต้การกำกับดูแลของนาซีเยอรมนี จอมพล ป. เห็นฝรั่งเศสอ่อนแอลงมากจึงต้องการแสดงว่าไทยสามารถเรียกร้องเอาดินแดนที่เคยเป็นของไทย แต่ถูกฝรั่งเศสใช้กำลังบีบบังคับ สิ่งที่ยังค้างคาใจคนไทยอยู่อย่างไม่ลืมก็คือ ฝรั่งเศสใช้เรือปืนบุกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2437) ดังนั้น การกระพือข่าวเรียกร้องดินแดนจึงได้รับการขานรับจากคนไทย ทั้งๆ ที่มิได้มองไปว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
กุนซือใหญ่ หรือที่ปรึกษา จอมพล ป. ที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกใจ ความรักชาติถึงกับแต่งเพลง ‘รักเมืองไทย’ คัดลอกทำนองมาจากเพลงในอุปรากรเรื่อง ‘คาร์เมน’ ของบิเซ่ท์ อีกเพลงหนึ่งคือ ‘ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย’ นำทำนองมาจากเพลงพื้นบ้านชาวอเมริกันผิวดำที่ชื่อ ‘สวอนนีริเวอร์’
ทางบทสนทนา ‘นายมั่น-นายคง’ ก็ได้นำผู้ช่วยสัตวแพทย์ชาวลาวในเวียงจันทน์ผู้ซึ่งหลบหนีฝรั่งเศส มาออกอากาศเล่าถึงความกดขี่ทารุณของฝรั่งเศสที่มีต่อพี่น้องชาวลาว บุคคลผู้นี้คือ ท้าวอุ่น ชนะนิกร ต่อมา จอมพล ป. ได้บรรจุงานให้เป็นพนักงานประจำสวนสัตว์ลพบุรี อันเหมาะสมแก่วิชาชีพ และเมื่อเกิดขบวนการเสรีไทย เตียง ศิริขันธ์ ได้นำตัวท้าวอุ่นไปเข้าค่ายที่ภูพาน ถือว่าเป็นสมาชิกแห่งขบวนการเสรีไทย เมื่อลาวฝ่ายขวาปกครองราชอาณาจักรลาว ท่านอุ่นได้ถือเอานามสกุล ‘ชนะนิกร’ เพราะเป็นญาติกับ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยได้รับตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติลาว เมื่อลาวฝ่ายขวาประสบความพ่ายแพ้ ท้าวอุ่นหมดบทบาทหลีกหนีไปลี้ภัยการเมืองยังต่างประเทศ
ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ สมาชิกแห่งขบวนการเวียดมินห์ผู้หนึ่ง เป็นทหารชั้นประทวนยศจ่าสิบเอกในกองทหารพื้นเมืองชาวเวียดนาม ประจำอยู่ที่เวียงจันทน์ บุคคลผู้นี้คือ หวูหิวบิ่นห์ (Vu Huu Bimh) เขาได้รับคำสั่งจากขบวนการเวียดมินห์ให้ข้ามฟากมาช่วยกองทัพไทยที่เปิดศึกปะทะกับฝรั่งเศสในอินโดจีนเมื่อปลายปี ค.ศ. 1940 - ค.ศ. 1941 ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความปีติยินดีเป็นอันมาก และขอพระราชทานยศ นายร้อยตรี ให้ในชื่อและนามสกุลไทยว่า ร้อยตรี สุบิน ภักดีไทย ช่วยให้กองทัพไทยได้ทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนของฝรั่งเศส อันเป็นประโยชน์ต่อการสู้รบไม่น้อย
กรณีเดียวกับท้าวอุ่น เตียง ศิริขันธ์ ได้ชวนร้อยตรีสุบินเข้ามาอยู่ในขบวนการเสรีไทย ดูแลการฝึกชาวเวียดนามให้เตรียมต่อสู้ญี่ปุ่น และขณะเดียวกันก็สร้างกองกำลังเวียดนามเพื่อเข้าสู่สงครามกู้ชาติในประเทศของตนต่อมาร้อยตรีสุบินกลับไปประจำการในกองทัพประชาชนเวียดนาม และมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบส่งกำลังบำรุงในศึกเดียนเบียนฟู จนได้รับยศนายพลตรีแห่งกองทัพ หลังจากนั้นก็ไปรับหน้าที่กงสุลใหญ่เวียดนามประจำประเทศพม่า
แม้กระทั่ง ป. อินทรปาลิต นักประพันธ์หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ยังได้นำกรณีพิพาทอินโดจีนมาผูกเป็นเรื่อง ให้สามเกลอรบฝรั่งเศสด้วยความกล้าหาญและขบขัน เช่น กำหนดให้อาเสี่ยกิมหงวนเป็นเสืออากาศยิงนักบินฝรั่งเศสตก เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านในยุคนั้นซึ่งบัดนี้มีอายุร่วม 80 ปีแล้ว ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความเกลียดชังนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นทวีคูณ เพราะในจิตใจคนไทยยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสทำไว้ในสมัย ร.5
สิ่งเหล่านี้ในด้านหนึ่งทำให้รัฐบาลไทยถึงแม้ว่าฝ่ายทหารกำลังมีอำนาจ ก็มีไมตรีจิตที่ดีต่อชาวเวียดนาม เขมร และลาว เท่ากับร่วมมือกันต่อสู้กับฝรั่งเศส ถือเป็นจุดร่วมที่กองกำลังเวียดมินห์เริ่มจัดตั้งและขยายงานการกู้เอกราช
ปลายปี ค.ศ. 1946 เมื่อฝรั่งเศสเปิดฉากทำสงครามกวาดล้างเวียดนาม ทำให้ชาวเวียดนามทางภาคเหนือส่วนใหญ่ต้องอพยพผ่านลาวเข้ามายังภาคอีสานของไทยนับแสนคน โดยเข้ามาพำนักในถิ่นที่มีชาวเวียดนามอยู่อาศัย และเป็นเขตที่โฮจิมินห์เคยเคลื่อนไหวในปี ค.ศ. 1928 - ค.ศ. 1929 คือ จังหวัดหนองคาย นครพนม อุดรธานี สกลนคร เป็นต้น ชาวเวียดนามเหล่านี้ก็สังกัดจัดตั้งของพรรคฯ และเวียดมินห์แล้ว
รัฐบาลไทยภายหลังสงครามเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่ผ่านมา และสนับสนุนขบวนการกู้เอกราชในเอเชียอาคเนย์ อันได้แก่ ลาว เขมร และอินโดนีเซีย ฯลฯ จึงให้การช่วยเหลือชาวเวียดนามที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เช่น จัดหางบประมาณให้กรมทางหลวงก่อสร้างทางหลายสาย โดยจัดจ้างชาวเวียดนาม เข้าเป็นกรรมกรสร้างทาง และแน่นอนว่าขบวนการเวียดมินห์ได้จัดตั้งผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ทำให้พวกเขายึดมั่นในตัวโฮจิมินห์ และเชื่อมั่นแนวทางที่ท่านสั่งสอน
โฮจิมินห์เฝ้าพร่ำสอนการสร้างสามัคคีในหมู่ชาวเวียดนามด้วยกัน และ ยิ่งไปกว่านั้นให้สร้างสามัคคีที่ดียิ่งกับชาวไทยเจ้าของบ้าน ปรากฏว่าชาวเวียดนามกับชาวไทยอยู่ร่วมกันด้วยมิตรภาพอันดี และได้รับความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่รับนโยบายให้การช่วยเหลือมาจากรัฐบาลในกรุงเทพฯ ชาวเวียดนามผลัดเวรกันทำความสะอาดบ้านพักข้าราชการ ตักน้ำใส่ตุ่ม รับใช้ข้าราชการไทยทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อภารกิจแห่งการกู้ชาติ
ศาสตราจารย์ตรั่นวันเหย่า ผู้ได้รับมอบหมายให้มาจัดซื้ออาวุธในไทย บางครั้งท่านมาร่วมทำงานกับชาวเวียดนาม จับค้อน จับอีเตอร์ขุดถนน และในขณะเดียวกันก็ให้การศึกษาอบรมแก่ชาวเวียดนามในเนื้อหาแห่งการกู้ชาติลัทธิอาณานิคม และลัทธิจักรวรรดินิยม
ทางรัฐบาลไทยสมัยนั้นอนุญาตให้ชาวเวียดนามเปิดสำนักงานข่าวเวียดนาม ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นหัวหน้าสำนักงาน คือ เหวียนดึ๊กกุ่ย (Nguyen Due Quy) ปัญญาชนนักอภิวัฒน์ผู้เคยถูกฝรั่งเศสจับกุมเข้าคุกที่เมืองเซินลา และได้แหกที่คุมขังในสมัยอภิวัฒน์เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945
เหวียนดึ๊กกุ่ย หรือผู้คนในวงการทั้งไทยและเทศเรียกว่า ‘องกุ่ย’ มีความรู้ภาษาฝรั่งเศสและเรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็ว สามารถเข้าวงสังคมชั้นสูงของไทยได้อย่างดี จึงรู้ความเป็นไปของการเมืองไทย ความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านและกับมหาอำนาจ นอกจากนั้นยังสนิทสนมกับ จิม ทอมป์สัน เจ้าหน้าที่โอเอสเอสผู้นิยมและนับถือโฮจิมินห์อย่างมาก ถึงขนาดว่าในวันเกิดของท่าน เขานำกระเช้าดอกไม้อวยพรไปมอบผ่านองกุ่ยที่สำนักงานข่าวเวียดนามในกรุงเทพฯ
จิม ทอมป์สัน พัฒนาคุณภาพไหมไทยให้แพร่หลายไปทั่วโลก และด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ กลางทศวรรษที่ 60 เขาหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยในป่าประเทศมาเลเซีย
องกุ่ยปฏิบัติหน้าที่ได้รับความสำเร็จ มีการพิมพ์เผยแพร่ประวัติประธานโฮจิมินห์เป็นภาษาอังกฤษ และมีข่าวสารเวียดนามรายปักษ์ออกแจกจ่ายสมาชิกผู้สนใจ หลังรัฐประหารปี ค.ศ. 1947 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายก็ได้บีบบังคับให้สำนักข่าวเวียดนามต้องปิดตัวเอง องกุ่ยต้องเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครรัฐทูตที่ปรึกษาของสถานทูตเวียดนามประจำกรุงมอสโก เมื่อพ้นวาระก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1991
บุคคลที่น่าสนใจในสำนักงานข่าวเวียดนามอีกคนหนึ่ง คือ นายสม ชื่อเวียดนามว่า ‘องเฮือง’ ลูกหลานชาวเวียดนามแห่งจังหวัดอุดรธานี ผู้ที่ฮวงวันฮวานได้ให้การศึกษาอบรมอยู่ในจัดตั้งของพรรคฯ นายสมเข้าเรียนที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล มีความสุภาพเรียบร้อย ประพฤติดีและเรียนเก่ง เป็นที่รักใคร่ของ ครูเตียง ศิริขันธ์ ต่อมานายสมขอลาออกจากโรงเรียน ครูเตียงเข้าไปพูดคุยว่า ทำไมจึงลาออก ถ้าไม่มีสตางค์ครูจะออกให้ นายสมมีความซาบซึ้งมากจึงบันทึกไว้ว่า ครูเตียงนี้เป็นคนดี
ต่อมาเมื่อทางการตัดถนนรอบเมืองอุดรธานี ได้ทลายจอมปลวกใหญ่ พบเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนจำนวนหนึ่ง และบันทึกของนายสมเกี่ยวกับครูเตียง ทำให้ทั้งนายสมและครูเตียงถูกจับกุม
นายเตียงต่อสู้คดีด้วยตนเองและหลุดพ้นมาได้ ส่วนนายสมถูกตัดสินจำคุก และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำบางขวาง ภายหลังสงครามได้รับปล่อยตัว จึงช่วยองค์กรทำหน้าที่พลสารขี่จักรยานส่งวารสารข่าวเวียดนามให้แก่บรรดาสมาชิก เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงนายสมก็กลายเป็นองเฮืองกลับไปเวียดนามปฏิบัติภารกิจต่างๆ กระทั่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมหนึ่งของกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ของพรรคฯ
เหตุการณ์ที่ท่าแขกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสด้วยความร่วมมือกับอังกฤษ มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง โจมตีตัดกำลัง ข่มขวัญกองกำลังกู้ชาติลาว ซึ่งเสด็จเจ้าสุพานุวง นายพลสิงกะโป และผู้นำการทหารเวียดมินห์เป็นผู้นำการต่อสู้ ต้องการทำลายขบวนการกู้ชาติลาวที่มีเวียดมินห์ร่วมด้วย
ประการที่สอง ไม่ต้องการให้ชาวเวียดนามอพยพที่ผ่านไปมาระหว่างนครพนม-ท่าแขก ได้รับการฝึกอบรมจากเวียดมินห์ให้มีความเข้มแข็งขึ้น
ประการที่สาม ข่มขวัญข่มขู่รัฐบาลไทยสมัยนั้น มิให้สนับสนุนขบวนการกู้ชาติเวียดนามและลาว
เหตุการณ์โจมตีเมืองท่าแขกของฝรั่งเศส ฝ่ายเสรีไทยโดย เรืออากาศโท พีระ ศิริขันธ์ น้องชายเตียง ศิริขันธ์ หัวหน้าเสรีไทยสายอีสาน ได้เข้าช่วยเหลือฝ่ายลาวอิสระรบฝรั่งเศส ชาวเวียดเกี่ยวจังหวัดนครพนมก็เข้าช่วยเหลือทางราชการอย่างแข็งขัน ทำหน้าที่สื่อข่าว ติดตามการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศส ร่วมมือกับชาวไทยเตรียมกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งบางครั้งกระสุนจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงก็ข้ามมาตกใส่
ข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนม ผู้เป็นสมาชิกแห่งขบวนการเสรีไทย ได้รับนโยบายจากรัฐบาลสมัยนั้นให้ดูแลช่วยเหลือพี่น้องเวียดเกี่ยว และท่านปฏิบัติหน้าที่จนได้รับความรักจากพี่น้องเวียดเกี่ยวมาตลอด
การช่วยเหลือทางราชการของชาวเวียดเกี่ยวไม่เพียงแต่ที่จังหวัดนครพนมเท่านั้น ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ทหารฝรั่งเศสและทหารเมืองขึ้นจำนวนหนึ่งหมวดได้ลงเรือข้ามมาจากค่ายจินายโม้ บุกรุกเข้ามาโดยอ้างว่าจะมาจับตัวผู้รักชาติทั้งลาวและเวียดนาม มีข่าวลือว่าพวกฝรั่งเศสบังอาจใช้ดาบปลายปืนบังคับพระภิกษุขึ้นไปเก็บผลมะพร้าวให้ ข่าวนี้รู้ไปถึงทางราชการเสรีไทย ลาวอิสระ และเวียดเกี่ยว เรืออากาศโท พีระ ศิริขันธ์ จึงนำกำลังไปขับไล่ แต่ไม่ทันได้รบพุ่งกันเพราะฝ่ายศัตรูถอนกลับไปแล้ว กระนั้นก็ตามทางราชการไทยได้มีหนังสือชมเชยพี่น้องเวียดเกี่ยวในการช่วยเหลือครั้งนั้น
หลังจากฝรั่งเศสเปิดศึกทำสงครามเต็มรูปแบบกับขบวนการเวียดมินห์ในปลายปี ค.ศ. 1946 และมีการต่อสู้อย่างทรหดมาระยะหนึ่ง ทางฝ่ายเวียดนามจำต้องสละที่มั่นตามเมืองใหญ่เพื่อกลับไปสู่ฐานที่มั่นเดิม โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ ในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มีความขาดแคลนอย่างหนัก ทางขบวนการเวียดมินห์จึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปหาซื้ออาวุธซึ่งมีเป้าหมายที่ประเทศไทย เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดมีอาวุธของญี่ปุ่นหลงเหลืออยู่ไม่น้อย เป็นช่องทางให้อังกฤษผู้ควบคุมคลังอาวุธและผู้เกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างชาติ หาประโยชน์ด้วยการขายอาวุธเหล่านั้นให้ทางขบวนการเวียดมินห์ ผู้แทนเวียดมินห์ที่ทำหน้าที่จัดซื้ออาวุธคือ เกาหงหลั่นท์, ตรั่นวันเหย่า โดยการรวบรวมทองคำจากผู้สนับสนุนชาวเวียดนามในประเทศมาเป็นทุนรอน
ผู้ขายอาวุธรายหนึ่งของไทย คือ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดตั้งบริษัทโกวิท อยู่แถวบริเวณทรงวาด ราชวงศ์ โดยมีชาวยุโรป น้องชายและน้องเขยนายควง คือ พระพิเศษพานิช (Pokhum) ขุนนางชาวเขมร ผู้นำเขมรเสรีในขณะนั้น ร่วมกันขายอาวุธให้เวียดมินห์
เขมรเสรีของพระพิเศษฯ ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อกู้เอกราชอย่างจริงจัง ไม่อาจเทียบกับขบวนการเวียดมินห์ และต่อมาเมื่อสีหนุเป็นผู้นำเขมรเรียกร้องเอกราช บทบาทของพระพิเศษฯ ค่อยๆ หมดไป ครอบครัวก็กลับคืนเข้าสู่สังคมไทยอย่างเป็นปกติสุข
นอกจากนี้ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยาของนายควงก็เป็นนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับธุรกิจต่างๆ ได้เข้าทำการค้าและเป็นผู้จัดการขายอาวุธให้เวียดมินห์ คุณหญิงเลขาคบค้าทั้งฝรั่งเศสและเวียดมินห์ คอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋ง การค้าของท่านในนามบริษัทสุวรรณภูมิได้ส่งผลกำไรด้วยดี บริษัทฯ ดังกล่าวตั้งขึ้นสมัยญี่ปุ่นยึดครองและสืบต่อมาหลังสงครามสงบ สถานที่ตั้งอยู่บริเวณตึกสามแยก ใกล้วงเวียนโอเดียนในปัจจุบัน
อาวุธเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น ลำเลียงออกไปทางฝั่งอ่าวไทยเข้าสู่เวียดนามใต้ เป็นเรื่องของธุรกิจค้าอาวุธ ผู้ขายก็รับผลประโยชน์ไป โดยมิได้มองว่าฝ่ายที่ต้องการอาวุธนั้นมีภารกิจต่อประเทศชาติของเขาอย่างไร
เรื่องการจัดหาอาวุธของเวียดนามนั้น นอกจากส่งตัวแทนผ่านบริษัทฯ นำทองและสินค้ามาแลกอาวุธ อันเป็นการค้าขายตามปกติแล้ว ยังมีเรื่องราวที่ได้สร้างสัมพันธภาพอันยิ่งใหญ่ของประชาชนไทย-เวียดนาม
โฮจิมินห์ได้ทราบว่า ช่วงสงครามโลกที่ผ่านมามีอาวุธทันสมัยซึ่งสัมพันธมิตรโดยทางโอเอสเอส อเมริกา ได้ช่วยเหลือขบวนการเสรีไทย อาวุธเหล่านี้ยังมิได้ใช้ปฏิบัติการเพราะสงครามสงบลงก่อน แต่ก็ยังอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของขบวนการเสรีไทย ท่านจึงให้สายงานของท่านติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่เสรีไทย คือ ร.อ.พงษ์เลิศ ศรีสุขนันท์ (ผู้กองล้วน) ให้รายงานตามลำดับขึ้นผ่าน พล.ร.ต.หลวงสังวรณ์ ยุทธกิจ ถึง นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อขอนำอาวุธเหล่านั้นไปสู่ภารกิจแห่งการกอบกู้เอกราช
นายปรีดีตอบสนองด้วยการสั่งการผ่านหลวงสังวรณ์ให้มอบอาวุธแก่ขบวนการเวียดมินห์ โดย ร.อ.พงษ์เลิศ พร้อมผู้ร่วมงานชื่อ นายลำเนา คนสนิทของหลวงสังวรณ์ จัดการลำเลียงอาวุธจากค่ายฝึกชลบุรี พร้อมด้วยนายทหารสารวัตรเสรีไทยบางนาย ลำเลียงอาวุธขึ้นรถบรรทุกจากจังหวัดชลบุรีไปจังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วขึ้นรถไฟมุ่งตรงไปยังพระตะบอง ซึ่งยังอยู่ในความปกครองของไทย ณ ที่นั้นทหารขบวนการเวียดมินห์เป็นผู้รับมอบและขนถ่ายเข้าสู่เวียดนามภาคใต้ต่อไป
ท่านสมภารวัดญวนตลาดน้อย ผู้ประสานแผนงานนี้ให้ได้รับความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีถึงกับแสดงความรักชาติว่า “ถึงอาตมาจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แต่เพื่อชาติบ้านเมืองแล้ว ศีลสิกขาขาดตกบกพร่องไปก็ต้องยอม”
ต่อมา โฮจิมินห์มีจดหมายตอบขอบใจนายปรีดีเป็นภาษาฝรั่งเศส ดังข้อความต่อไปนี้
เรียน ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์
กระผมขอขอบคุณอย่างสูงในการที่ ฯพณฯ ท่านได้สนับสนุนส่งมอบอาวุธให้กองกำลังกู้ชาติ อาวุธเหล่านี้สามารถประกอบให้กับทหารได้สองกองพัน กระผมจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้ ขอนุญาตจากท่านเพื่อเป็นเกียรติ โดยให้นามว่า ‘กองทัพแห่งสยาม’
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
Hồ Chí Minh
คณะบุคคลชาวเวียดนามผู้รักชาติที่โฮจิมินห์มอบหมายให้เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1946 - 1947 คือ
1) นายแพทย์ฟามง็อกถัค ชาวเวียดนามภาคใต้ จบการศึกษาแพทย์จากฝรั่งเศส เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามเหนือ ภายหลังปี ค.ศ. 1954 ลงไปปฏิบัติงานปลดปล่อยเวียดนามใต้ ในปลายทศวรรษ 1960 รับผิดชอบดูแลงานใต้ดินในเขตศัตรูอย่างได้ผลสูงสุด และเสียชีวิตในภาคใต้ บุคคลผู้นี้ขณะปฏิบัติงานอยู่ในไทย มีการไปมาหาสู่พบปะกับนายปรีดี พนมยงค์เสมอ ด้วยการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อที่เข้าใจกันได้ดีทั้งสองฝ่าย
2) ศาสตราจารย์ตรั่นวันเหย่า ชาวเวียดนามภาคใต้ มีบทบาทสำคัญในระยะการอภิวัฒน์เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 และต้านยันฝรั่งเศสที่บุกมายึดไซ่ง่อน ได้รับมอบหมายให้มาจัดซื้ออาวุธในไทย เพราะมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งโยงใยกับชาวเวียดนามภาคใต้ และในขณะเดียวกันก็ขึ้นไปทางภาคอีสาน เพื่อจัดตั้งให้การอบรมแก่ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในระหว่างที่ฝรั่งเศสเปิดศึกกับเวียดมินห์ในปี ค.ศ. 1946 นอกจากนี้ ในฐานะปัญญาชนก็เข้าร่วมประสานงานในการก่อตั้งสันนิบาตแห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของเสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด อุปราชลาว ผู้นำประเทศเอกราชลาวในปี ค.ศ. 1945 แต่เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองลาวอีกครั้ง จึงเสด็จลี้ภัยเข้ามาอยู่ในไทยเมื่อปลายปี ค.ศ. 1946
นายตรั่นวันเหย่า เป็นอีกผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับนายปรีดี พนมยงค์ และทั้งสองท่านพบกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี ค.ศ. 1956 ด้วยวัยร่วมร้อยปี ในปัจจุบันตรั่นวันเหย่ายังคงพำนักอยู่ที่นครโฮจิมินห์
3) สหายเกาหงหลั่นท์ บุคคลผู้นี้เข้ามาปฏิบัติงานลับในด้านอำนวยการจัดซื้ออาวุธและขนถ่ายอาวุธไปเวียดนาม ท่านผู้นี้เป็นลูกศิษย์โฮจิมินห์รุ่นแรก ปัจจุบันอายุร้อยปีแล้ว และยังพำนักอยู่ที่ฮานอย เกาหงหลั่นท์ เป็นนามที่ใช้ในการอภิวัฒน์ เนื่องจากท่านมีรูปร่างสูงจึงใช้ชื่อว่า ‘เกา’ ซึ่งแปลว่า ‘สูง’ ท่านได้เข้าร่วมงานกับโฮจิมินห์สมัยปฏิบัติงานในกวางตุ้งก่อนเข้ามาในสยาม เนื่องจากมีความรู้ดีทั้งภาษาจีนกลางและกวางตุ้ง ทำให้สนิทสนมกับชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเป็นบุคคลสำคัญในด้านการประสานงานกับคอมมิวนิสต์จีน และเมื่อเข้ามาเมืองไทยก็มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในไทยเช่นกัน
4) สหายฮวงวันฮวาน เข้ามาไทย 2 ครั้ง สมัยโฮจิมินห์ปฏิบัติงานที่นี่ และเข้ามาอีกครั้งในราวปี ค.ศ. 1946 แต่อยู่ในงานลับด้านการจัดตั้งชาวเวียดนาม ซึ่งโฮจิมินห์วางรากฐานไว้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว บทบาทในชั้นหลังไม่ถึงกับแจ่มชัดนัก แต่ว่ากันว่าท่านเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดโฮจิมินห์คนหนึ่ง
5) สหายเหวี่ยนดึ๊กกุ่ย หรือ องกุ่ย ผู้มาในฐานะหัวหน้าสำนักข่าวเวียดนาม ได้สร้างสัมพันธ์กับชาวไทยอย่างดียิ่ง และได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับการเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนจากทุกฝ่ายในภารกิจกู้ชาติของเวียดนาม สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิโฮจิมินห์ให้รู้จักแพร่หลายมากขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคนี้ องกุ่ยคุ้นเคยกับนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดีเช่นกัน
ประเทศไทยหลังสงครามโลก ถึงแม้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย อาทิ รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จากอีสาน เช่น เตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และจำลอง ดาวเรือง เป็นต้น แต่ก็มีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เสียอำนาจจากการอภิวัฒน์เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น พรรคฯ นี้โจมตีรัฐบาลมาโดยตลอด และร้ายที่สุดก็คือการใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยวิธีการสกปรกโสมมที่สุด คือจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุง ว่า “ปรีดี ฆ่าในหลวง”
แม้ต่อมา เลียง ไชยกาล ส.ส. ประชาธิปัตย์สมัยนั้นที่ร่วมมือกับ ม.ร.ว.เสนีย์ - .ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และควง อภัยวงศ์ ได้เข้าขอขมาต่อนายปรีดีในที่สุด อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายว่าบุคคลชั้นนำในพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบันยังยกย่องอดีตหัวหน้าพรรคฯ ของตนว่า เป็นปูชนียบุคคลเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในทางการเมือง โดยมิได้คิดหรือศึกษาถึงข้อเท็จจริงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกำลังทางทหาร จึงยุยงและร่วมมือกับกลุ่มทหารที่ยังจงรักภักดีต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นหมดอำนาจไปเพราะนำไทยร่วมรบกับญี่ปุ่น ให้เข้ามายึดอำนาจทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของ พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้พระพินิจชนคดี พี่เขย ม.ร.ว.เสนีย์ - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง เพื่ออำนวยการเสกสรรปั้นแต่งพยานในกรณีสวรรคต ร.8 การกระทำดังกล่าว เท่ากับยื้อยุดและทำลายขบวนการประชาธิปไตย ที่ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
รัฐประหารเดือนพฤศจิกายนทำให้นโยบายสนับสนุนขบวนการกู้เอกราชในเอเชีย ทั้งต่อเวียดนาม เขมร ลาว อินโดนีเซีย ต้องหยุดชะงักลง ผู้กู้ชาติเวียดนามของโฮจิมินห์ตระหนักในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดจึงค่อยๆ สลายตัวไปอย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขึ้นมาแทนรัฐบาลควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ยุยงให้ยึดอำนาจ ก็บีบบังคับขบวนการกู้ชาติเวียดนามให้ถอนตัวออกจากไทยเป็นขั้นต้น เพราะอเมริกาเห็นการขยายตัวของประเทศค่ายสังคมนิยม จึงเริ่มเข้ามาแทรกแซงและสนับสนุนรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยจอมพล ป. แล้วเพิ่มขึ้นในสมัยสฤษดิ์ - ถนอม ผลร้ายย่อมตกแก่ชาวเวียดนามอพยพที่พำนักอาศัยอยู่ในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นไส้ศึกที่อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
ชาวเวียดเกี่ยว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ถูกปิดล้อมจับกุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1953
ความเคลื่อนไหวชัดเจนเห็นได้จากที่นำเอา หลวงโหมรอนราญ นายทหารกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ที่ลี้ภัยไปอินโดจีน มีภรรยาเป็นชาวเวียดนาม รู้ภาษาเวียดนามและมีแหล่งข่าวเวียดนามฝ่ายขวา ให้กลับมารับราชการเป็นตำรวจ มียศร้อยตำรวจเอก รับราชการเรื่อยมาจนถึงยศพันตำรวจโท
หลวงโหมรอนราญเป็นผู้อำนวยการจัดทำประวัติทะเบียนชาวเวียดนาม ได้เจาะลึกเข้าไปในชุมชนคนเวียดนาม ยัดเยียดข้อหาต่างๆ ตามวิถีทางที่ฝ่ายปกครองตั้งเป้าไว้ และประกอบกับความคิดเกลียดชังชาวเวียดนามเป็นทุนเดิม ชาวเวียดนามในไทยจึงได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า พร้อมๆ กับการกดขี่ชาวเวียดนามผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น
อดีตสมาชิกแห่งขบวนการเสรีไทยระดับรากหญ้าในภาคอีสานที่เป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองก็ถูกรังแก ข่มขู่ จับกุม จากสมุนชนชั้นปกครองในยุคนั้น รวมไปถึงสี่อดีตรัฐมนตรีคนดีศรีอีสานก็ประสบชะตากรรมจากเงื้อมมือฝ่ายปกครองเช่นกัน
มาตรการบังคับข่มขู่พี่น้องชาวเวียดนามทางภาคอีสานเพิ่มทวีขึ้น เมื่ออเมริกาเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นับตั้งแต่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู ในกลางปี ค.ศ. 1954 เป็นต้นมา ด้วยความเกรงกลัวต่อการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ องค์การซีอาโต้หรือองค์การสนธิสัญญาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ มุ่งต้านยันคอมมิวนิสต์อย่างเดียว แม้กระทั่งต้องส่งทหารไปรบนอกประเทศก็ถือเป็นการชอบธรรม
ยิ่งเมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาเป็นผู้เผด็จการก็อาศัยอเมริกาสนับสนุนการบีบบังคับชาวเวียดนาม ถือว่าเป็นระยะเวลาที่รุนแรงที่สุด มีการกักกันห้ามออกนอกเขต จับผู้สงสัยเป็นหัวโจกย้ายไปคุมขังยังจังหวัดภาคใต้ จนกระทั่งชาวเวียดนามที่ส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือของประเทศ เรียกร้องขออพยพกลับภูมิลำเนา
สภากาชาดไทยและเวียดนามจึงมีการประชุมตกลงกันที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า กำหนดให้ชาวเวียดนามผู้สมัครใจกลับประเทศโดยทางเรือ ฝ่ายไทยมีพระตีรณสารวิศวกรรมเป็นหัวหน้าคณะ แต่ปรากฏว่าเรือพาหนะที่นำชาวเวียดนามกลับประเทศขนคนได้เพียงสามเที่ยวก็เกิดการปะทะกันระหว่างอเมริกา-เวียดนามเหนือที่อ่าวตังเกี๋ย และอเมริกาถือโอกาสส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดที่กรุงฮานอยและเมืองในเวียดนามเหนือ จึงทำให้การขนย้ายต้องหยุดชะงักลง ชาวเวียดนามที่ตกค้างยังต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป แต่พวกเขาก็อยู่อย่างสงบ มีการประท้วงฝ่ายบ้านเมืองเพื่อความเป็นธรรมของพวกเขาก็กระทำอย่างสงบ
สรุปได้ว่านับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1946 - ค.ศ. 1947 นั้น ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาต่างได้รับการดูแลจากประชาชนไทยและรัฐบาลในขณะนั้น ที่ให้การสนับสนุนภารกิจกอบกู้อิสรภาพของชาวเวียดนามทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ ทำให้ฝรั่งเศสไม่ชอบใจนัก อดีตอาจารย์กฎหมายชาวฝรั่งเศสผู้คุ้นเคยกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้หนึ่ง ถึงกับพูดกับนายปรีดีว่า “เมอร์ซิเออร์ปรีดี ปัจจุบันนี้ท่านไม่เหมือนแต่ก่อน” เพราะแต่เดิมฝรั่งเศสภาคภูมิว่านายปรีดี เป็นผลิตผลจากฝรั่งเศส ผู้ก่อร่างสร้างประชาธิปไตยไทย แต่เมื่อนายปรีดีสนับสนุนเวียดนามฝรั่งเศสย่อมไม่พอใจ
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 จนกระทั่ง ค.ศ. 1974 รวม 27 ปีที่ชาวเวียดนามในไทยต้องผ่านความทุกข์ทรมานในรูปแบบต่างๆ และก็เป็นที่น่ายินดีว่าเหตุการณ์จากนั้นเป็นต้นมากว่า 30 ปี ทุกอย่างค่อยๆ ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลูกหลานชาวเวียดนามผู้ต้องการได้สัญชาติไทย ก็มีสิทธิตามที่รัฐบาลไทยมีการตกลงกับชาวเวียดนาม รุ่นปู่ย่าตายายที่อพยพเข้ามาก็ได้สถานะเป็นชาวต่างชาติพำนักอยู่ในไทย
พวกเขาก็เช่นเดียวกับชาวเวียดนามในประเทศเวียดนามที่เคารพรักระลึกถึงโฮจิมินห์ของพวกเขา และปฏิบัติตามคำสอนของท่านที่ว่า ให้สร้างสามัคคีอย่างเต็มที่กับชาวไทย ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดผลดีขึ้นอย่างไร
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, ไทยสมัยสงครามกู้ชาติเวียดนาม, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 119 - 135.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - “ลุงโฮ”
- ตอนที่ 2 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 3 - เหวียนอ๋ายก๊วก (NGUYEN AI QUOC)
- ตอนที่ 4 - สหภาพโซเวียต
- ตอนที่ 5 - การเคลื่อนไหวในสยาม
- ตอนที่ 6 - ในดินแดงฮ่องกง
- ตอนที่ 7 - เตรียมการ
- ตอนที่ 8 - กลับสู่ปิตุภูมิ
- ตอนที่ 9 - ก่อนรุ่งอรุณ
- ตอนที่ 10 - อภิวัฒน์สิงหาคม 1945
- ตอนที่ 11 - รัฐนาวาฝ่ามรสุม
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- สงครามกู้ชาติเวียดนาม
- โฮจิมินห์
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ปรีดี พนมยงค์
- ก๊กมินตั๋ง
- ท้าวอุ่น ชนะนิกร
- เตียง ศิริขันธ์
- ผุย ชนะนิกร
- หวูหิวบิ่นห์
- สุบิน ภักดีไทย
- ตรั่นวันเหย่า
- เหวียนดึ๊กกุ่ย
- จิม ทอมป์สัน
- พีระ ศิริขันธ์
- ควง อภัยวงศ์
- พรรคประชาธิปัตย์
- พระพิเศษพานิช
- เลขา อภัยวงศ์
- พงษ์เลิศ ศรีสุขนันท์
- หลวงสังวรณ์ ยุทธกิจ
- ฟามง็อกถัค
- เกาหงหลั่นท์
- ฮวงวันฮวาน
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- เลียง ไชยกาล
- เสนีย์ ปราโมช
- คึกฤทธิ์ ปราโมช
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- พระพินิจชนคดี
- หลวงโหมรอนราญ
- กบฏบวรเดช
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- พระตีรณสารวิศวกรรม
- ปรีดีฆ่าในหลวง