ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับ ป่าช้าสุเหร่าบางลาว

12
กุมภาพันธ์
2566

ละแวกย่านตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่โบราณ เหตุที่ได้ชื่อ “บางปลา” ก็เพราะมีปลาชุกชุม ทว่าหากย้อนเวลาไปก่อนหน้าทศวรรษ 2480 ถ้าใครมาเยี่ยมเยือนถิ่นนี้ย่อมจะพบการเรียกขานตำบลนี้ในนาม “บางลาว” เนื่องจาก “บางปลา” เป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ. 2483

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2470 เคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับตำบลบางลาวเช่นกัน ทั้งยังเป็นเรื่องสถานประกอบพิธีกรรมหลังความตายของมนุษย์

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ประกาศคำสั่งเรื่อง กำหนดที่ฝังศพเพิ่มเติมในท้องที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อ วันที่ 6 สิงหาคม

 

“ตามความในกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่าท้องที่ตำบลใดอำเภอใด สมควรจะมีป่าช้าที่ฝากศพ ฝังศพ และเผาศพกี่แห่ง เสนาบดีจะได้กำหนดและประกาศให้ทราบนั้น บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะมีป่าช้าเพิ่มขึ้นอีก ๑ แห่ง ในท้องที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสะดวกแก่การฝังศพ จึ่งขอประกาศกำหนดที่ป่าช้าดั่งนี้…”

ท้องที่อำเภอ : บางพลี
นามป่าช้า : ป่าช้าสุเหร่าตำบลบางลาว
ตั้งอยู่ในตำบล : บางลาว
อนุญาตให้ทำการ : ฝังศพ

 

พิจารณาคำสั่งข้างต้นแล้ว พบว่ายังต้องอาศัยกฎหมายเก่าจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้เพื่อจัดการกับร่างกายของผู้วายชนม์หรือที่เรียกว่า “ศพ” รวมถึงสถานที่สำหรับจัดการกับเรือนร่างนั้นหรือที่เรียกว่า “ป่าช้า” กฎหมายดังกล่าวคือ กฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า ซึ่งประกาศใช้เมื่อกลางปี พ.ศ. 2460 โดยระบุให้กระทรวงนครบาลมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับป่าช้าและสัปเหร่อ หรือ “นายป่าช้า” เสนาบดีเป็นผู้มีอำนาจที่จะกำหนดว่า ในแต่ละท้องที่จะมีอาณาบริเวณใดบ้างที่เป็นป่าช้าสำหรับฝากศพหรือฝังศพ ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลสมัยนั้นคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อย่างไรก็ดี ได้มีการรวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยเข้าเป็นกระทรวงเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2465

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานแผ่นดินหลายประการ แต่ในส่วนของการดูแลเกี่ยวกับป่าช้าและสัปเหร่อก็ยังคงอาศัยกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลเพื่อดำเนินงานให้ลุล่วง โดยผู้มีอำนาจกำหนดบริเวณที่เป็นป่าช้าสำหรับฝากศพหรือฝังศพในแต่ละท้องที่ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังปรากฏกรณีของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนี้ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ก็ยังต้องนำกฎหมายฉบับเก่ามาใช้ จนกระทั่งต่อมาจึงมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2481 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2481 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมีนาคม พ.ศ. 2482 แล้ว) สมัยที่ หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ที่เรียกขานกันว่าตำบลบางลาวนั้น ก็เพราะประชากรในพื้นที่เป็นคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แล้วตั้งรกรากโดยประกอบอาชีพเกษตรกร เลี้ยงปลาสลิดและทำปลาสลิดขาย ย่านนี้จึงมีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะแหล่งปลาสลิดรสเยี่ยม ต่อมาทางตำบลบางลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบางปลา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2483

กระนั้น เมื่อปรากฏการกำหนดให้มี “ป่าช้าสุเหร่าบางลาว” ก็ย่อมบ่งบอกว่าพื้นที่นี้มิได้เป็นเพียงชุมชนของชาวลาวเท่านั้น หากยังเป็นชุมชนของชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน เนื่องจากสุเหร่าเป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม เล่าขานกันว่า ชาวมุสลิมได้เริ่มอพยพจากละแวกย่านปากลัด (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) มาตั้งรกรากที่ตำบลบางลาวตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2450 แล้วชาวมุสลิมอีกหลายครอบครัวจากหลายแห่งหนก็ทยอยอพยพติดตามกันมาตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น

ต่อมาช่วงต้นทศวรรษ 2470 แกนนำชาวมุสลิมจึงปรึกษากันว่าควรจะสร้างสุเหร่าหรือมัสยิดขึ้นที่ตำบลบางลาวเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจ นั่นคือ มัสยิดดีนุ้ลอิสลาม (Masjid Deenul Islam) หรือชาวบ้านยุคนั้นเรียกกันติดปากว่า “สุเหร่าบางลาว” (ปัจจุบันเรียก “สุเหร่าบางปลา”)

 

มัสยิดดีนุ้ลอิสลาม (Masjid Deenul Islam) ที่มา : ศูนย์ข้อมูลกลางทางศาสนา
มัสยิดดีนุ้ลอิสลาม (Masjid Deenul Islam)
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลกลางทางศาสนา

 

นอกจากศาสนสถานแล้ว พอช่วงปลายทศวรรษ 2470 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวมุสลิมปรารถนาและเรียกร้องให้ที่ตำบลบางลาวมพื้นที่สำหรับจัดการพิธีศพของพวกเขาด้วย ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามจะใช้วิธีฝังศพในพื้นที่อยู่ติดกับสุเหร่าเรียกว่า “กุโบร์” หรือป่าช้านั่นเอง ในที่สุด เมื่อมีการยื่นเรื่องขอให้มีสถานที่สำหรับชาวมุสลิมตำบลบางลาวส่งไปถึงกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีนาม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พิจารณาแล้วก็ประกาศคำสั่งกำหนดให้มีป่าช้าสำหรับฝากศพหรือฝังศพขึ้นอีกแห่งหนึ่งในอำเภอบางพลี

“ป่าช้าสุเหร่าบางลาว” จึงนับเป็นอีกผลงานสำคัญอันสะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ต่อราษฎรทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติศาสนาของ นายปรีดี พนมยงค์ มิเว้นกระทั่งเรื่องสถานประกอบพิธีกรรมหลังความตาย!

 

เอกสารอ้างอิง

  • “กฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34, ตอน 0 ก (8 กรกฎาคม 2460). หน้า 306-311.
  • “กำหนดที่ฝังศพเพิ่มเติมในท้องที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51 (12 สิงหาคม 2477). หน้า 1389.
  • “พระราชบัญญัติควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2481.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 (20 มีนาคม 2481). หน้า 1037-1045.
  • ศูนย์ข้อมูลกลางทางศาสนา
  • เว็บไซต์โครงการฐานข้อมูลมัสยิดออนไลน์