ต้นทศวรรษ 2470 ได้ปรากฏการฟ้องร้องคดีขึ้นกรณีหนึ่ง โดยเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็นหรือที่เรียกขานว่า “แขกเจ้าเซ็น” และบริเวณที่ดินของ “กระฎี” ท้ายที่สุด ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่อสู้กันถึงชั้นศาลฎีกาต้องพิจารณาตัดสินชี้ขาด จนประกาศเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931 พ.ศ. 2473
“ลัทธิเจ้าเซ็น” หมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และมักสืบเชื้อสายมาจากทางเปอร์เซีย เหตุที่คนไทยเรียกขานกันว่า “แขกเจ้าเซ็น” ก็เพราะในเดือนมุฮัรร็อมตามปฏิทินอิสลามหรือฝีปากชาวสยามเรียกเพี้ยนเป็น “เดือนมะหะหร่ำ” (ประมาณเดือนสิงหาคม) ของทุกปีนั้น ชาวมุสลิมกลุ่มนี้จะจัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ที่อิหม่ามฮูเซน หลานชายของท่านนบีมุฮัมมัดที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเรียกว่า “พิธีแห่เจ้าเซ็น” หรือ “พิธีเต้นเจ้าเซ็น”
ตามประวัติของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เล่าว่า ภายหลังนบีมุฮัมมัดเสียชีวิต ผู้ที่ควรจะได้รับสืบทอดอำนาจเป็นเคาะลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ทันทีเลยคือ อะลี ลูกเขยของท่านแต่สหายของนบีมุฮัมมัดกลับได้ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ติดต่อกันถึงสามคน อะลีจึงจะได้เป็นเคาะลีฟะฮ์คนที่ 4 หากต่อมาไม่นานอะลีก็ถูกสังหาร อิหม่ามฮะซันบุตรชายคนโตของอะลีได้รับการสนับสนุนให้ทวงคืนอำนาจ แต่เขาปฏิเสธ อิหม่ามฮูเซนจึงได้รับการสนับสนุนแทน อิหม่ามฮูเซนยืนหยัดต่อสู้กับกลุ่มของผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบเคาะลีฟะฮ์แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ ทั้งยังประพฤติขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และต่อมาอิหม่ามฮูเซนพร้อมกองคาราวานก็ถูกสังหารโดยกองทหารของกษัตริย์
เรื่องราวของ “แขกเจ้าเซ็น” และพิธีกรรมต่างๆ ดูเหมือนจะได้รับความสนใจแพร่หลายช่วงต้นทศวรรษ 2470 ปรากฏการนำเสนอผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายฉบับ เฉกเช่น เสฐียรโกเศศ (นามปากกาของ พระยาอนุมานราชธน) เอ่ยถึงการเต้นเจ้าเซ็นและเล่าประวัติความมาของลัทธินี้ลงพิมพ์เผยแพร่ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เล่ม 11 ตอนที่ 11 ประจำเดือนพฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2470 เป็นต้น
ส่วน “กระฎี” เป็นคำที่ใช้ดั้งเดิมในสังคมสยาม อันหมายถึงที่อยู่ของนักบวช ถ้าเป็นในพุทธศาสนาก็คือพระภิกษุสงฆ์ แต่การเรียก “กระฎีเจ้าเซ็น” น่าจะเพี้ยนมาจาก “กะดีร์” หรือ “เฆาะดีร์” อันหมายถึงศาสนสถานของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อธิบายว่า คงกร่อนมาจาก “กะดีร์คุม” (Gadr Khumm) ในภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย อันเป็นชื่อตำบลที่ตั้งอยู่ระหว่างนครเมกกะห์และนครมะดีนะฮ์ ในซาอุดิอาระเบีย
เรื่องราวของคดีความดังกล่าวเริ่มต้นจาก หลวงราชเศรษฐี เป็นหัวหน้าศาสนาของ “กระฎีเจ้าเซ็น” อีกทั้งเป็นผู้ปกครองดูแลทรัพย์สมบัติของกระฎีแห่งนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วน นางสาย, นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็น ทั้งหมดพำนักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินของ “กระฎีเจ้าเซ็น”
ต่อมา นางสาย, นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง มักประพฤติตนฝ่าฝืน “ลัทธินิยม” (หลักการและกฎระเบียบ) หลายครั้ง และไม่กระทำตนตามแบบแผนของพิธีทำบุญหลายหน จนหมู่ผู้นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็นด้วยกันล้วนแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งยังก่อให้เกิดความลำบากแตกร้าวกันในหมู่คณะ
หลวงราชเศรษฐี เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ปัญหาดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ คงไม่เหมาะสมและย่อมไม่เป็นผลดีแน่ จึงตัดสินใจเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่พวกจำเลย อันได้แก่ นางสาย, นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง ให้ย้ายออกไปจากบริเวณที่ดินของ “กระฎีเจ้าเซ็น”
ผู้พิพากษาประจำ ศาลโปรีสภาที่ 3 ตัดสินคดีดังกล่าวว่า ให้ขับไล่จำเลย
หลวงราชเศรษฐี นอกเหนือจากจะมีหน้าที่เป็นหัวหน้าศาสนาของลัทธิเจ้าเซ็นแล้ว ยังเป็นชื่อตำแหน่งของผู้รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วย
ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ที่เกิดคดีความขึ้นนั้น ผู้ครองบรรดาศักดิ์ หลวงราชเศรษฐี น่าจะหมายถึง สอน อหะหมัดจุฬา ซึ่งในปี พ.ศ. 2473 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระจุฬาราชมนตรี” และถือเป็นคนสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ศาลโปรีสภา คือ ศาลชั้นล่างที่พิจารณาคดีเล็กน้อยประจำกรุงเทพพระมหานคร ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบันก็คือศาลแขวง จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลโปรีสภา เมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก 111 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2435) ในกรุงเทพมหานคร ครั้นล่วงปีรัตนโกสินทร์ศก 113 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2437) ได้มีการตั้งศาลโปรีสภาเพิ่มอีก 3 ศาล รวมเป็น 4 ศาล ได้แก่
ศาลโปรีสภาที่ 1 เขตอำนาจศาลคือท้องที่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก นับแต่ปากคลองโอ่งอ่างพระนครไปตลอดคลองแสนแสบจรดเขตอำเภอมีนบุรี เขตฉะเชิงเทรา รวมถึงตลอดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากพระนครล่องลงไปจรดเขตพระประแดง (สมุทรปราการ)
ศาลโปรีสภาที่ 2 เขตอำนาจศาลนับแต่ปากคลองโอ่งอ่างพระนครไปทางคลองแสนแสบจรดเขตอำเภอมีนบุรีและเขตฉะเชิงเทราอีกฟากหนึ่ง รวมถึงตลอดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาล่องขึ้นไปจรดแนวเขตแดนนนทบุรีและปทุมธานี ส่วนทางตะวันออกตลอดไปจนถึงปราจีนบุรี
ศาลโปรีสภาที่ 3 เขตอำนาจศาลคือท้องที่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก เขตธนบุรี รวมถึงเขตแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสายที่อยู่ในเขตธนบุรี
ศาลโปรีสภาที่ 4 เขตอำนาจศาลคือบริเวณกรุงธนบุรีเดิม และคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้
ทว่าพอเดือนสิงหาคม ปีรัตนโกสินทร์ศก 114 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2438) ได้ยุบศาลโปรีสภาที่ 4 มารวมเข้ากับศาลโปรีสภาที่ 3
นั่นหมายความว่า คดีความระหว่าง หลวงราชเศรษฐี หัวหน้าศาสนาของ “กระฎีเจ้าเซ็น” กับพวกผู้นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็นที่ฝ่าฝืน “ลัทธินิยม” เกิดเหตุขึ้นทางฝั่งธนบุรี เพราะพอฟ้องร้องแล้ว ผู้พิจารณาตัดสินคดีคือ ศาลโปรีสภาที่ 3
สอดคล้องกับการที่ใกล้ๆ วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ ก็มีกระฎีของมุสลิมนิกายชีอะห์ตั้งอยู่ ปัจจุบันเรียกว่า “กระฎีกลาง” หรือ “กระฎีเจริญพาศน์”
เวลาต่อมา คณะผู้พิพากษาประจำ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนในคดีที่ หลวงราชเศรษฐี ฟ้องร้องให้เป็นไปตามศาลโปรีสภาคือ ให้ขับไล่จำเลยเช่นกัน
นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง ยกเว้นแต่ นางสาย ทั้งหมดได้ร่วมกันยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลว่า
- ศาลโปรีสภาไม่มีอำนาจพิพากษาคดี
- โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
- เหตุผลที่ศาลล่างตัดสินมานั้น ยังไม่เพียงพอจะขับไล่พวกจำเลย ทั้งยังอ้างถึงลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยสิทธิ์ขาดให้บรรดาผู้นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็นอาศัยอยู่บริเวณที่ดินของกระฎีเจ้าเซ็นได้ โจทก์ไม่สิทธิ์ฟ้องร้องขับไล่จำเลย และฝ่ายอำนาจศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับจำเลย
กรณีพิพาทระหว่าง หลวงราชเศรษฐี ฝ่ายโจทก์ กับพวกของ นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง ฝ่ายจำเลย ได้รับการตรวจปรึกษาสำนวนโดยกรรมการศาลฎีกาพบว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีตามที่ศาลล่างทั้งสอง คือ ศาลโปรีสภาที่ 3 และ ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยสอดคล้องกัน จึงพิจารณาตัดสินคดีเช่นเดียวกัน โดยให้ขับไล่จำเลยออกจากบริเวณที่ดิน เพราะพวกเขาไม่ปฏิบัติตนตามแนวทางข้อตกลงร่วมกันของลัทธิศาสนาที่ตนนับถือ ซึ่งหัวหน้าศาสนามีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลพื้นที่นั้น
ข้อคัดค้านที่ 1 ของฝ่ายจำเลยที่ว่า ศาลโปรีสภาไม่มีอำนาจพิพากษาคดีนั้น
กรรมการศาลฎีกาลงความเห็นว่า จำเลยควรจะโต้แย้งมาในคำให้การแก้คดีเสียตั้งแต่ตอนต้น จะมายกขึ้นโต้แย้งครั้งแรกในชั้นศาลฎีกาไม่ได้
ส่วนข้อคัดค้านที่ 2 ของฝ่ายจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น
กรรมการศาลฎีกาลงความเห็นว่า โจทก์เป็นหัวหน้าศาสนา จึงสามารถปกครองดูแลทรัพย์สมบัติของลัทธิศาสนาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ขณะข้อคัดค้านที่ 3 ของฝ่ายจำเลยที่ว่า เหตุผลของศาลล่างไม่เพียงพอจะบังคับขับไล่พวกจำเลย ซึ่งพวกเขาได้แนบสำเนาลายพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 มาอ้างเป็นหลักฐานนั้น
กรรมการศาลฎีกาตรวจดูสำเนาลายพระราชหัตถเลขาแล้วลงความเห็นว่า ไม่ใช่พระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดิน เป็นเพียงการกล่าวความและทรงอธิบายถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญว่า ผู้ที่จะอาศัยอยู่ในที่ดินนี้ ต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ประพฤติตนให้ถูกต้องตามลัทธินิยมและเชื่อฟังถ้อยคำของหัวหน้าศาสนา แต่ศาลล่างพิจารณาได้ความตามข้อเท็จจริงว่า พวกจำเลยจงใจประพฤติฝ่าฝืนลัทธินิยมอยู่เป็นเนืองนิจ
ฉะนั้น กรรมการศาลฎีกาอันมีคณะผู้พิพากษาประกอบด้วย พระยามนูศรีธรรมประสาท (ม.ซีเนียล), พระยาพรหมทัตศรีพิลาศ (แฉล้ม มิตรานนท์), พระยาวิกรมรัตนสุภาษ (ชม ศุขะวณิช) และ ม.บัสซาด จึงพร้อมกันพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองศาลบังคับให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินบริเวณกระฎีเจ้าเซ็นชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว ให้ยกฎีกาจำเลยและบังคับคดีตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ กับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นศาลนี้ 50 บาทแทนโจทก์ด้วย
คดีความระหว่าง หลวงราชเศรษฐี กับพวกของ นายเรือง, นายดุ๊ด, นายพลบ และ นายแจ้ง ก็เป็นอันยุติ แต่กลายเป็นอุทาหรณ์ให้กับนักกฎหมายช่วงต้นทศวรรษ 2470 ได้ใคร่ครวญขบคิด
อันที่จริง ปัญหาการฟ้องร้องคดีระหว่างหัวหน้าศาสนาที่ดูแล “กระฎีเจ้าเซ็น” กับผู้นับถือศาสนาอิสลามคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณกระฎีเคยเกิดขึ้นมาหลายหน ย้อนไปในต้นทศวรรษ 2440 ปรากฏกรณีเช่นนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและมีลายพระราชหัตถเลขาถึง พระเจ้าลูกเธอฯ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โดยให้คำแนะนำว่า ลักษณะการปกครองในบริเวณ “กระฎีเจ้าเซ็น” ก็คล้ายกันกับวัด ถือเป็นพื้นที่ของกลาง แม้จะมีหัวหน้าศาสนาเป็นใหญ่ หากก็ไม่ได้มีสิทธิ์ในพื้นที่แต่ผู้เดียว คดีความเช่นนี้ จึงควรพิจารณาบังคับตัดสินให้เป็นที่สะดวกดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งขณะนั้นรั้งตำแหน่งเลขาธิการสภาของเนติบัณฑิตยสภา และเป็นบรรณาธิการของหนังสือ บทบัณฑิตย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่จับตามองคดีความระหว่าง หลวงราชเศรษฐี กับจำเลยทั้งห้า จึงใช้นามแฝงเป็นตัวย่อ “ป.ม.” เขียนแสดงข้อคิดเห็นต่อคำพิพากษาฎีกาว่า
“การคัดค้านว่าศาลไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีได้นั้น ต้องโต้แย้งมาในคําให้การแก้คดีเสียแต่ต้น จะมายกขึ้นว่าในชั้นศาลสูงไม่ได้
การสละสิทธิเคยมีในเรื่องคนในบังคับต่างประเทศที่มีเอกสิทธิพิเศษในทางศาล เมื่อไม่อ้างเอกสิทธิเช่นนี้ ศาลพิจารณาเหมือนคนในบังคับสยาม
ในกรณีย์อันควร ศาลฎีกาอาจหยิบยกข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นวินิจฉัยได้ไม่จํากัดว่าต้องมีมาฉะเพาะหน้า ทั้งนี้มุ่งเพื่อประโยชน์แห่งความยุตติธรรม...”
นั่นย่อมสะท้อนถึงความเป็นนักกฎหมายหนุ่มและอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมที่คอยติดตามรายละเอียดของคดีต่างๆ อันเป็นปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องการจะคัดค้านอำนาจพิจารณาคดีของศาล ก็ให้ถือเป็นบทเรียนบ่งชี้ว่าจะต้องกระทำอย่างแม่นยำรัดกุม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นช่องโหว่จนพ่ายแพ้คดี อีกทั้งยังวิเคราะห์โยงเข้าเรื่องของคนในบังคับต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นพิเศษที่นายปรีดีเชี่ยวชาญ
การแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีความ “กระฎีเจ้าเซ็น” อันเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2473 นับเป็นอีกบทบาทน่าสนใจของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น “ผู้อภิวัฒน์” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เอกสารอ้างอิง
- จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ขุนนางกรมท่าขวา : การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2153-2435. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
- ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธํารงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.
- ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี เนติบัณฑิตยสภา และกองคดีศาลแขวง กรมตำรวจ วันพุธ ที่ 23 พฤศจิกายน 2509. พระนคร: โรงพิมพ์ศาสนา, 2509.
- บทบัณฑิตย์. เล่ม 6 ตอนที่ 7 (พฤศจิกายน 2474).
- เสฐียรโกเศศ. “เจ้าเซ็น.” เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เล่ม 11 ตอนที่ 11 (พฤศจิกายน 2470).
- ศาสนาอิสลาม
- ศาสนาอิสลามลัทธิเจ้าเซ็น
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- แขกเจ้าเซ็น
- ลัทธิเจ้าเซ็น
- กระฎี
- นิกายชีอะห์
- พิธีเต้นเจ้าเซ็น
- พิธีแห่เจ้าเซ็น
- เคาะลีฟะฮ์
- อะลี
- มุฮัมหมัด
- อิหม่ามฮูเซน
- เสฐียรโกเศศ
- พระยาอนุมานราชธน
- เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์
- จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
- กะดีร์คุม
- Gadr Khumm
- นครเมกกะห์
- นครมะดีนะฮ์
- หลวงราชเศรษฐี
- สาย
- เรือง
- ดุ๊ด
- พลบ
- แจ้ง
- ลัทธินิยม
- ศาลโปรีสภา
- สอน อหะหมัดจุฬา
- พระจุฬาราชมนตรี
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลโปรีสภา
- พระยามนูศรีธรรมประสาท
- พระยาพรหมทัตศรีพิลาศ
- แฉล้ม มิตรานนท์
- พระยาวิกรมรัตนสุภาษ
- ชม ศุขะวณิช
- รัชกาลที่ 5
- ป.ม.
- ปรีดี พนมยงค์
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ