ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เเนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อสังคมไทย : บทสรุปในหนังสือวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองของ ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์

22
มีนาคม
2566

บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในฐานะสมาชิกคณะราษฎร นายปรีดีได้เข้าไปมีส่วนในการดำเนินการในรัฐบาลใหม่หลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของการตรากฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสังคมไทยเวลานั้น อีกเรื่องหนึ่งที่ปรีดี ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ การเข้าไปวางเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ในหนังสือ “รื้อถอนการพัฒนา ความยั่งยืนทางนิเวศและความยุติธรรมทางสังคม : บทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง” โดย ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ถึงขนาดกล่าวว่า “...สิ่งที่อาจารย์ (ปรีดี) เสนอนั้นไม่ใช่ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” อย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “วิชั่น” (vision; วิสัยทัศน์ เพิ่มเติมโดยผู้เขียนบทความ) ของสังคมไทยในอนาคตด้วย...

ด้วยความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจึงขอสรุปสาระสำคัญและเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจหาหนังสือฉบับเต็มของอาจารย์ปรีชามาอ่าน

หลักคิด 4 ประการของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบปรีดี

ในการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ กรอบสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักการในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานั้นประกอบไปด้วยหลักการ 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก การเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมซึ่งมีหลายมิติ ซึ่งในมุมของนายปรีดี ได้แบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 ส่วน คือ การเมืองเป็นโครงสร้างส่วนบน เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างส่วนล่าง และทรรศนะทางสังคมเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกันระหว่างโครงสร้างทั้งสองส่วนดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนต่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดเวลา 

ประการที่สอง เศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่ารูปแบบความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในสังคมมีหลายอย่าง แต่รูปแบบความสัมพันธ์ที่สำคัญคือ ความขัดแย้ง ซึ่งนายปรีดีเลือกศึกษาความขัดแย้งที่เกิดจากชนชั้นและอำนาจ

ประการที่สาม สังคมทุกสังคมมีความขัดแย้งภายในตนเอง ซึ่งนำไปสู่การปะทะสังสรรค์กันของความขัดแย้งที่ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในสังคม โดยประเด็นนี้นายปรีดีได้นำวิธีคิดมาจากกฎทางพระพุทธศาสนาในเรื่องความเป็นอนิจจัง ทำให้นายปรีดีเห็นว่าสังคมมีความเป็นอนิจจังที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป และ

ประการที่สี่ นายปรีดีมองว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องของการวิพากษ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิพากษ์ไปให้ถึงต้นตอของปัญหา

มองสังคมอย่างเป็นองค์รวม

การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองโดยอาศัยหลักการดังกล่าวของนายปรีดี ทำให้การมองสังคมอย่างเป็นองค์รวมมองเห็นสภาพปัญหาของสังคมไทยที่แท้จริงในช่วงเวลาก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมองว่าปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรที่ทุกข์ยากนั้น มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการเข้าไม่ถึงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น ในทรรศนะของนายปรีดี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีเป้าหมายเพื่อเป็นปฏิบัติการทางสังคมผ่านการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยนายปรีดีเห็นว่า หากเปลี่ยนแปลงการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมได้แล้ว เศรษฐกิจที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน

นายปรีดีเชื่อว่า เศรษฐกิจกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องคู่กัน ถ้าหากเป็นประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจจะตอบสนองต่อราษฎรมากกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขในการเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ หากมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ดีแล้ว ประชาชนจะมีประชาธิปไตยทางการเมืองที่มั่นคง และจะทำให้คนในสังคมมีทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางสังคมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประชาธิปไตย และมีสิทธิแห่งมนุษยชนสมบูรณ์

เศรษฐศาสตร์การเมืองของสิทธิแห่งมนุษยชนสมบูรณ์

นอกจากนี้ สิทธิแห่งมนุษยชนสมบูรณ์ที่เป็นคุณค่าของประชาธิปไตย 3 ประการ คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ จะไม่สามารถเกิดขึ้นในบริบทที่การผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้อำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น เค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดีได้เสนอขึ้นมา จึงไม่ใช่เพียงเค้าโครงของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นทรรศนะของนายปรีดีที่มองไปในอนาคตว่า สภาพเศรษฐกิจในอุดมคติของสังคมไทย ซึ่งในทรรศนะของนายปรีดีต้องการให้รัฐหรือรัฐบาลเป็นศูนย์รวมความภราดรภาพของราษฎรในสังคมไทย ผ่านการให้รัฐเข้าไปเป็นผู้จัดการระบบเศรษฐกิจ ดังนี้

ประการแรก รัฐเข้าไปดำเนินการประกอบการเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างชนชั้นที่มีอำนาจไม่เท่ากันในสังคม โดยเมื่อรัฐเป็นผู้เข้าไปดำเนินการก็เสมือนราษฎรทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน

ประการที่สอง การจัดให้มีประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตของราษฎรที่อาจจะมีความไม่มั่นคงให้เกิดความมั่นคงขึ้นมา โดยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ จะเป็นหลักประกันตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

ประการที่สาม การจัดระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ โดยให้ราษฎรเข้าไปทำงานในสหกรณ์ ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งและร่วมกันเป็นการเจ้าของหน่วยการผลิตร่วมกัน นอกจากนี้ สหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยการผลิตและจำหน่าย และ

ประการที่สี่ รัฐวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้สหกรณ์แต่ละหน่วยรับนโยบายไปดำเนินการ

ระบบเศรษฐกิจตามอุดมคติของนายปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจ จึงสะท้อนนัยสำคัญของนายปรีดีที่ต้องการให้ราษฎรไทยเวลานั้นมีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมหรือผูกขาดทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง มีความเสมอภาคโดยมีความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกันผ่านรัฐ และมีความเป็นภราดรภาพเสมือนพี่น้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนผ่านระบบประกันความสุขสมบูรณ์

กล่าวโดยสรุป แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของนายปรีดี จึงเป็นการตั้งหลักการในการวิพากษ์สังคมอย่างเป็นองค์รวม โดยมองให้เห็นรากฐานของปัญหาและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยปฏิบัติการทางสังคมผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม โดยมีแกนกลางอยู่ที่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เกื้อหนุนราษฎรในประเทศ

หมายเหตุ : ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญและเรียบเรียงประเด็นจาก ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, รื้อถอนการพัฒนา ความยั่งยืนทางนิเวศและความยุติธรรมทางสังคม : บทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง (กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา 2555).