ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เค้าโครงเศรษฐกิจ หมวด 4 : แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก

1
พฤษภาคม
2568

Focus

  • เนื่องในโอกาสวันแรงงาน ขอเชิญอ่านข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ใน เค้าโครงเศรษฐกิจ หมวด 4 : แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลกซึ่งเสนอให้จัดระเบียบแรงงานและการประกอบเศรษฐกิจของชาติควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ผ่านระบบสหกรณ์ การจัดหาเครื่องจักร การควบคุมแรงงาน และการจัดภาษี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

 

 

 

น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเราอันอุดมอยู่แล้วนี้ ยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะการประกอบเศรษฐกิจตามทำนองที่เอกชนต่างคนต่างทำดังที่เป็นมาแล้ว ทำให้แรงงานสูญสิ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง แรงงานต้องใช้เปลืองไปโดยใช่เหตุบ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลก (Social Parasite) บ้าง ดั่งจะได้พรรณนาต่อไปนี้

 

บทที่ ๑

แรงงานเสียไปโดยมิได้ใช้ให้เต็มที่

แรงงานสูญ ๔๐%

จะเห็นได้ว่าชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศสยาม ทำนาปีหนึ่งคนหนึ่งไม่เกิน ๖ เดือน (รวมทั้งไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก ๖ เดือน ซึ่งต้องสูญสิ้นไป ถ้าหากเวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้ราษฎรมีทางใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการประกอบเศรษฐกิจได้แล้ว ความสมบูรณ์ของราษฎรก็ย่อมเพิ่มขึ้นได้ ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้รับคำชี้แจงจากผู้สนใจในการเศรษฐกิจว่า การที่แก้ไขให้ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีอยู่ก็แต่รัฐบาลที่จะกำหนดวางแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติให้ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้เป็นประโยชน์

 

บทที่ ๒

แรงงานเสียไปเพราะจัดการเศรษฐกิจไม่เหมาะ

แรงงานเปลือง โดยแยกกันทำ

แม้แรงงานที่ใช้ในการประกอบเศรษฐกิจ ในระหว่าง ๖ เดือนก็ดี แรงงานเหล่านั้นยังเปลืองไปโดยใช่เหตุเพราะเอกชนต่างคนต่างทำ เช่น ชาวนาที่ต่างแยกกันทำเป็นราย ๆ ไปดั่งนี้ แรงงานย่อมเปลืองมากกว่าการรวมกันทำ ชาวนารายหนึ่งย่อมเลี้ยงกระบือของตนเอง ไถ หว่าน เกี่ยว ของตนเอง (ยกเว้นแต่มีการลงแขกเป็นบางครั้งคราว) ต้องหาอาหารเองแต่ถ้าหากชาวนารวมกันทำก็อาจประหยัดแรงงานลงได้ เช่น กระบือหนึ่งตัว ชาวนาที่แยกกันทำจะต้องเลี้ยงเอง ถ้ารวมกันหลาย ๆ ชาวนาก็มีกระบือหลาย ๆ ตัวแล้ว กระบือนั้นก็อาจรวมกันเลี้ยงและใช้คนเลี้ยงรวมกันได้ เป็นการประหยัดแรงงานได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นการบ้าน เช่น การหาอาหารก็จะรวมกันทำได้เหมือนดั่งเช่นสโมสรหรือร้านจำหน่ายอาหาร ที่วันหนึ่ง ๆ มีคนมารับประทานอาหารหลายสิบคน และอาจใช้คนปรุงอาหารเพียงคนเดียวหรือสองคนก็ได้ ดั่งนี้แรงงานในการทำอาหารในการเลี้ยงกระบือ ฯลฯ นั้น เมื่อชาวนารวมกันทำแล้ว ก็จะประหยัดได้อีกมากและแรงงานที่ยังเหลืออยู่ก็จะนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ใน การประกอบเศรษฐกิจที่เรายังขาดอยู่ ก็ถ้าหากปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำอยู่เช่นนี้ตลอดไปแล้ว การประหยัดแรงงานย่อมจะมีไม่ได้

 

บทที่ ๓

แรงงานที่เสียไปโดยไม่ใช้เครื่องจักรกล

แรงงานเสียโดยใช้วิธีป่าเถื่อน

เรื่องนี้ย่อมทราบกันอยู่ดีแล้วว่า การทำนาของเราได้ใช้วิธีไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ เหล่านี้ โดยแรงคนและสัตว์ พาหนะ จริงอยู่วิธีทำด้วยแรงคนและสัตว์พาหนะนี้ย่อมเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งในสมัย ป่าเถื่อน และในสมัยที่เครื่องจักรกล ยังมิได้คิดขึ้นในเวลานั้น แต่ถ้าหากให้ผู้ชำนาญการจักรกลปรับปรุงเครื่องจักรกลให้เหมาะสมแก่ ภูมิประเทศแล้ว (ซึ่งสามารถเป็นได้เพราะวิทยาศาสตร์ใด ๆ ในโลกที่จะไม่สามารถทำนั้นไม่มี เว้นแต่จะไม่ได้สนใจกันเท่านั้น) และเป็นธรรมดาของการเศรษฐกิจเมื่อมีเครื่องจักรกล แรงงานก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้มาก

ผลดีของเครื่องจักรกล

เช่นการไถที่ได้ทดลองทำกันในเวลานี้ก็ย่อมเห็นได้ชัดแล้วว่า เครื่องไถนาเครื่องหนึ่งซึ่งใช้คนสองคนอาจทำการไถได้ในฤดูกาลหนึ่งหลายพัน ไร่ คนไทยเป็นผู้ที่มีร่างกายเล็กและแข็งแรงน้อยกว่าคนจีนหรือฝรั่ง ทำการเศรษฐกิจใดถ้าอาศัยกำลังคนแล้ว เราจะสู้คนจีนหรือคนฝรั่งไม่ได้เราจะสู้เขาได้ก็ต่อเมื่อใช้เครื่องจักรกล การหาเครื่องจักรกลมาใช้นี้ชาวนาทุก ๆ คนสามารถมีเครื่องจักรกลได้หรือชาวนามีทุนพอที่จะซื้อหรือเป็นการจริงที่ เอกชนบางคนย่อมหามาได้ เพราะมีเงินทุนไม่จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาล แต่ให้พึงระวังว่าเครื่องจักรกลย่อมมีคุณอนันต์และโทษมหันต์เหมือนกัน การที่ในต่างประเทศมีคนไม่มีงานทำมากขึ้นทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเครื่องจักรกลที่มีขึ้นแทนแรงงานของคนหรือเครื่องจักรกลเมื่อมี มาก คนไม่มีงานทำย่อมมากขึ้น

ผลรับของเครื่องจักรกล

สมมติว่า โรงทอผ้าซึ่งแต่เดิมเป็นโรงที่ทำด้วยมือใช้คนงานพันคน เมื่อโรงทอผ้านั้นเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลต้องการคนงานเพียงร้อยคนเช่นนี้ แล้ว คนอีก ๙๐๐ คนก็จะต้องออกจากโรงงานนั้น กลายเป็นคนไม่มีงานทำ แต่ทั้งนี้จะโทษเครื่องจักรกลมิได้ เพราะเครื่องจักรกลเป็นสิ่งที่ช่วยมนุษย์มิให้ต้องทรมาน การที่มีคนไม่มีงานทำเพราะโรงงานได้เปลี่ยนใช้เครื่องจักรกลนั้น เป็นโดยเหตุที่เอกชนต่างคนต่างทำ และเป็นธรรมดาอยู่เอง ซึ่งเมื่อโรงงานต้องการคนงาน ๑๐๐ คน คนงานเหลืออีก ๙๐๐ คน เจ้าของโรงงานมีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องจ่ายเอาไว้ให้เปลืองเปล่า ๆ และคนอีก ๙๐๐ คนนี้จะไปหางานที่ไหนทำถ้าโรงงานต่าง ๆ หรือการกสิกรรมต่าง ๆ ได้ใช้เครื่องจักรกลไปทั้งนั้น คนที่ไม่มีงานทำจะมีจำนวนมาก ผลสุดท้ายความหายนะก็จะมาสู่ แต่ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองแล้ว ก็มีแต่ผลดีอย่างเดียวที่จะได้รับจากเครื่องจักรกล

รัฐบาลทำเองจะได้รับแต่ผลดีของเครื่องจักรกล

สมมุติว่าโรงงานทอผ้าตามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วซึ่งเปลี่ยนใช้เครื่องจักรกล มีคนงานที่ต้องออกจากโรงงานนั้น ๙๐๐ คน รัฐบาลอาจรับคนเหล่านี้ไปทำในโรงงานอื่นที่จะตั้งขึ้นใหม่ เช่น โรงงานทำไหม โรงทำน้ำตาล หรือสร้างถนนหนทางก่นสร้างป่าเพื่อทำการเพาะปลูก ฯลฯ และสมมุติว่าโรงงานและการประกอบเศรษฐกิจต่าง ๆ มีอยู่พร้อมบูรณ์เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องขยายต่อไปแล้ว ก็ลดเวลาทำงานของคนงานลง เช่นเดิมทำวันละ ๘ ชั่วโมง เมื่อเครื่องจักรกลมีมากขึ้นคนงานก็ลดชั่วโมงทำงานลง เช่นเหลือวันละ ๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ ชั่วโมง ดั่งนี้ โดยไม่ต้องลดเงินเดือนของคนงาน ด้วยวิธีนี้ก็จะได้รับผลดีจากเครื่องจักรกล คือลดความทรมานร่างกายของมนุษย์ได้มากขึ้น จริงอยู่การที่เอกชนเจ้าของโรงงาน เอกชนอาจลดเวลาทำงานได้ แต่การลดเวลาทำงานนั้นเอกชนย่อมลดค่าจ้างลงด้วย ยิ่งกว่านั้นถ้าจำนวนคนไม่มีงานทำมีมากกว่างานที่จะมีให้ทำแล้วค่าจ้างก็ลด ลงเป็นธรรมดา และเป็นกฎแห่งการเศรษฐกิจผลร้ายจะตกอยู่ที่ราษฎรและเครื่องจักรกลจะเป็นสิ่ง ประหัตประหารราษฎร เมื่อไม่ต้องการประหัตประหารก็ไม่ต้องใช้เครื่องจักรกล เมื่อไม่ใช้เครื่องจักรกลความล้าหลังก็มีอยู่ตลอดไป

การหาทุนสะดวกว่าเครื่องจักรกล

การที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบกิจเสียเอง โดยจัดให้มีสหกรณ์นั้น นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องแรงงานแล้ว การหาทุนยังสะดวกยิ่งกว่าเอกชน เพราะรัฐบาลอาจวางนโยบายการคลัง เช่น การเก็บภาษีทางอ้อม (Indirect tax) ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันหนึ่งเล็กน้อย ซึ่งราษฎรไม่รู้สึกเดือดร้อนนักเมื่อรวมเป็นปีก็ได้เงินจำนวนมาก

ภาษีทางอ้อม

เช่นถ้าหากจะมีภาษีทางอ้อมใด ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันละ ๑ สตางค์ ในปีหนึ่งพลเมือง ๑๑ ล้านคนก็คงได้ ๔๐ ล้านบาทเศษ นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจที่จะอาศัยชื่อเสียงและทรัพย์สินของรัฐบาลจัดการกู้ เงินอันเป็นประกันดีกว่าเอกชนหรือรัฐบาล อาจตกลงกับต่างประเทศชื้อเครื่องจักรกลมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ราคาถูกและผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ ดังที่บางประเทศเคยทำได้ผลดี

 

บทที่ ๔

แรงงานที่เสียไป เพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก

พวกหนักโลกทำให้ถ่วงความเจริญ

ในประเทศสยามนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือตนเป็นผู้ไม่ประกอบการเศรษฐกิจหรือการใดให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยอาหารเครื่องนุ่งห่มสถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลจำพวกนี้นอกจากจะหนักโลกแล้ว ยังเป็นเหตุที่ทำให้ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นได้ เช่นในประเทศหนึ่งมีคนทำงาน ๑๐๐ คน ทำข้าวได้คนหนึ่ง ๑ ตันได้ข้าว ๑๐๐ ตัน แต่มีคนอาศัยกินอยู่เปล่า ๕๐ ตัน ราคาก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้เพราะข้าวมีจำนวนมากขึ้น บุคคลจำพวกนี้ถ้าปล่อยให้คงอยู่ตามปัจจุบันนี้ก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไป การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และปล่อยให้มีคนเกียจคร้านคอยอาศัยกันเช่นนี้ ผลเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดลง ไม่มีวิธีใดดีกว่ารัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้

 

หมายเหตุ :

  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “หมวด 4 แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก” เป็น “เค้าโครงเศรษฐกิจ หมวด 4 : แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก”
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ

บรรณานุกรม :

  • ปรีดี พนมยงค์,  เค้าโครงการเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม,  (กรุงเทพฯ: สำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์, 2542) น. 10-15.

บทความที่เกี่ยวข้อง :