ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คอร์รัปชันกับประชาธิปไตย : ข้อสังเกตบางประการจากการศึกษาเชิงประจักษ์

2
มิถุนายน
2566

Focus

  • แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของความพยายามในการลดการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา แต่การต่อต้านคอร์รัปชันส่วนใหญ่ ก็ยังขาดประสิทธิภาพโดยประเทศที่สามารถบริหารจัดการให้คอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำยังมีจำนวนไม่มาก
  • ประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชันอาจมีสมมติฐานความสัมพันธ์กันได้ในสองแบบ คือ ความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรง และความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นเส้นตรง ในแบบแรก ประชาธิปไตยจะมีผลลบต่อการคอร์รัปชัน โดยประชาธิปไตยช่วยรักษาผลประโยชน์สาธารณะทำให้ไม่เกิดการคอร์รัปชัน แต่ในแบบหลังพบความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชันเป็นลักษณะตัวอักษรยูกลับหัว (inverted U relationship)โดยในช่วงต้นที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น ระดับของการคอร์รัปชันก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่จะถึงจุดเปลี่ยน (turning point) ที่การคอร์รัปชันจะดำเนินไปในทิศทางที่ลดลง
  • ผลการพิสูจน์โดยงานวิจัยตามบทความนี้ เก็บสถิติระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง 2003 จากประเทศจำนวนมาก พบว่าความสัมพันธ์ของคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยอยู่ในลักษณะของตัวอักษรยูกลับหัว โดยระบอบประชาธิปไตย (ที่มีความเป็นสถาบัน) การยึดมั่นในนิติรัฐ และความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลจะลดการคอร์รัปชัน และประเทศที่มีรายได้ในระดับต่ำสามารถลดระดับของการคอร์รัปชันในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ โดยขึ้นอยู่กับการสร้างองค์กร (ของรัฐ) ที่มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และการตรวจสอบการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ

 

ประชาธิปไตยมีผลต่อการคอร์รัปชันอย่างไร?

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับการการคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในวาระการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในโลก ผลกระทบด้านลบที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นความสูญเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและต่อสวัสดิการทางสังคม ปรากฏให้เห็นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การเพิ่มขึ้นของความพยายามและการใช้ทรัพยากรเพื่อลดการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชันส่วนใหญ่ยังขาดประสิทธิภาพ และในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลการดำเนินการของประเทศต่างๆ ในการควบคุมการคอร์รัปชัน แสดงให้เห็นว่ามีประเทศจำนวนน้อยมากที่สามารถดำเนินการปรับปรุงที่ได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ และตัวชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (corruption perception indicators) แสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีการบริหารจัดการให้คอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำยังมีจำนวนไม่มากนัก

มีงานวิจัยที่ได้ศึกษาในเรื่องคอร์รัปชันในหลายแนวทาง ในกระแสงานวิจัยเหล่านี้ให้ความสำคัญอย่างเด่นชัดกับเงื่อนไขของการพัฒนาประชาธิปไตย (democratization) ทั้งในทางทฤษฎีและในการศึกษาเชิงประจักษ์ ในฐานะปัจจัยหลักที่สัมพันธ์กับระดับการคอร์รัปชันของประเทศ และสัมพันธ์กับแบบแผนของการคอร์รัปชันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

งานวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน พบความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างระดับประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมั่นคง (consolidated democracy) กับระดับการคอร์รัปชันที่ลดลง ส่วนงานศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์เชิงสถาบันทางการเมืองและสังคมก็ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่จุดที่ทำให้การคอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำลง โดยความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นส่วนของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ถูกกำหนดไว้เบื้องต้นจากบรรทัดฐานทางจริยธรรมอย่างเป็นสากล ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะจินตนาการถึงรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลโดยปราศจากกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย

 

ทฤษฎีและข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากการทบทวนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในงานวิจัยว่าด้วยประชาธิปไตยและการคอร์รัปชัน งานจำนวนมากได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า ประชาธิปไตยมีผลต่อการคอร์รัปชัน ในส่วนนี้เป็นการสรุปวรรณกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเชิงทฤษฎีและการศึกษาเชิงประจักษ์จากการตั้งสมมติฐานที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันและประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมว่าอะไรเป็นสิ่งที่เรามีความรู้อยู่ในปัจจุบันและอะไรยังเป็นสิ่งที่เรายังไม่มีความชัดเจนบนพื้นฐานของการวิจัยที่มีอยู่ โดยแบ่งออกเป็นงานวิจัยที่ตั้งสมมติฐานว่าประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชันมีความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรง (linear effect hypothesis) กับการตั้งสมมติฐานว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear effect hypothesis)

 

สมมติฐานความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรง (linear effect hypothesis)

สมมติฐานที่ถกเถียงในงานวิจัยต่างๆ คือสมมติฐานความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรง (linear effect hypothesis) กล่าวคือกระบวนการสร้างประชาธิปไตยควรนำไปสู่ระดับการคอร์รัปชันที่ต่ำลง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตยมีผลด้านลบ (หรือตรงกันข้าม) ในลักษณะความสัมพันธ์แบบเส้นตรงต่อการคอร์รัปชัน ความคาดหวังดังกล่าวสร้างขึ้นมาจากอุดมคติเชิงปรัชญาและอุดมคติที่เป็นบรรทัดฐานของประชาธิปไตยบนหลักการพื้นฐานสำคัญต่างๆ อันได้แก่ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเป็นพลเมือง การเปิดกว้าง (openness) และความรับผิดชอบ (accountability) (Morris, 2009) สิ่งนี้สามารถพิจารณาย้อนกลับไปถึงทฤษฎีของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนในฐานะของระบบหนึ่งที่ผู้ปกครองถูกบังคับให้ต้องกระทำการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน (Przeworski et al., 1999)

ในขณะเดียวกัน การคอร์รัปชัน (โดยทุกนิยาม) หมายถึงการกระทำที่ให้ประโยชน์เกิดแก่บุคคล/เอกชน (private interest) บนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมดังนั้นการพิจารณาเบื้องต้นในทางทฤษฎีนั้น ตัวแทนที่แท้จริงจะเป็นผู้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องการกระทำที่เป็นการคอร์รัปชันทางใดทางหนึ่ง หรือประชาธิปไตยจะทำให้ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งคำนึงถึงผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งมีอิทธิพลต่อการถอดถอนนักการเมืองจากตำแหน่งบริหาร จึงน่าจะทำให้พวกเขาไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายผลประโยชน์สาธารณะ (Przeworski et al, 1999) สมมติฐานนี้ยังเชื่อมโยงกับงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ (public choice) ที่ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งและการแข่งขันของนักการเมืองเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจของนักการเมืองได้

นอกจากนี้ เสรีภาพด้านประชาธิปไตย (democratic freedom) และความโปร่งใสก็จะมีผลทำให้ลดข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกับนักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่ง รวมทั้งมีผลต่อความคาดหวังให้เกิดเงื่อนไขให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสามารถติดตามการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งในท้ายที่สุด การพัฒนากลไกของการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) จะทำให้เกิดการจำกัดโอกาส/ความสามารถของนักการเมืองซึ่งเป็นรัฐบาลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

ผลกระทบของกระบวนการประชาธิปไตยต่อการคอร์รัปชัน ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ระยะเวลาของระบอบประชาธิปไตยจะมีผลในทางตรงกันข้าม (ในทิศทางที่เป็นลบ) ต่อระดับการคอร์รัปชัน ประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงข้อเสนอที่ว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยหมายถึง การสร้างบรรทัดฐานทางประชาธิปไตยให้มั่นคงในระยะยาวและการวางเงื่อนไขให้เกิดการปฏิเสธต่อการคอร์รัปชัน และโดยการสร้างความเป็นพลเมือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนามาอย่างยาวนานจะทำให้เกิดกลไกที่มีความเป็นสถาบัน และมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบเพื่อกีดกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น

 

สมมติฐานความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear effect hypothesis)

อย่างไรก็ตาม ได้มีงานวิจัยที่เสนอว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะทำให้เกิดผลในลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear effect) ต่อการคอร์รัปชัน คืองานชื่อ Corruption and Democracy โดย Michael T. Rock (2007) โดยเขาอธิบายว่า โมเดลการศึกษาส่วนใหญ่ได้ตั้งสมมติฐานว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงลบ (negative relationship) งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ โดยใช้ชุดข้อมูลของแต่ละประเทศประกอบกับช่วงระยะเวลา (panel data set) ซึ่งครอบคลุมประเทศจำนวนมากตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2003

ข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากงานวิจัยนี้สนับสนุนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชันอยู่ในลักษณะตัวอักษรยูกลับหัว (inverted U relationship) กล่าวคือในช่วงต้นที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น ระดับของการคอร์รัปชันก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน (turning point) การคอร์รัปชันจะดำเนินไปในทิศทางที่ลดลง งานวิจัยยังพบว่าจุดเปลี่ยนดังกล่าวของประเทศที่เริ่มการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย การคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่จะเกิดในช่วงระยะเวลาอันสั้น จากนั้นระดับของการคอร์รัปชันก็จะลดลง แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) ของประเทศเหล่านั้นยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

การตั้งสมมติฐาน

ภาพที่ 1 งานวิจัยชิ้นนี้นำข้อมูล 2 ชุดของสองประเทศมากระจายเพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยของสองประเทศ (อินโดนีเซียและไทย) ซึ่งพบว่ามีสหสัมพันธ์ (correlation) ของคอร์รัปชันกับประชาธิปไตย ในลักษณะตัวอักษรยูกลับหัว (inverted U shape) ซึ่งจากภาพที่ 1 งานวิจัยชิ้นนี้นำมาเป็นสมมติฐาน เพื่อสร้างสมการ และทดสอบความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ (Econometrics) ว่ายืนยันความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลจำนวนประเทศที่มากขึ้นประกอบกับช่วงระยะเวลาที่มากขึ้น (panel data)

 

ภาพที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยในลักษณะตัวอักษรยูกลับหัว ที่มา : Rock (2007)
ภาพที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยในลักษณะตัวอักษรยูกลับหัว
ที่มา : Rock (2007)

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

จากการทบทวนงานวิจัยที่ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติที่มีอยู่ ผลของการศึกษามีส่วนที่ได้ข้อสรุปคล้ายกัน เช่น Goel และ Nelson (2005) พบว่า คอร์รัปชันลดลง เมื่อระดับของเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับระดับของความเป็นประชาธิปไตย Chowdhury (2004) พบว่า คอร์รัปชันลดลงตามดัชนีประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ส่วน Triesman (2000) พบว่า ระยะเวลาของการมีประชาธิปไตย (นิยามจากจำนวนปีที่ไม่ถูกรบกวนหรือแทรกแซงในการมีความเป็นประชาธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง) ลดการคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนมีผลการศึกษาที่แตกต่างไปในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Ades และ Di Tella (1998) และ Fisman และ Gatti (2002) ไม่พบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสิทธิการการเมือง/สิทธิพลเมืองกับประชาธิปไตยและการคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเชิงทฤษฎีและกรณีศึกษารายประเทศเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับระดับของการคอร์รัปชัน ในการศึกษาเชิงทฤษฎี Mohtadi and Roe (2003) สร้างคำอธิบายว่าการคอร์รัปชันอยู่ในฐานะของพฤติกรรมการแข่งขันของตัวแทนภาพเอกชนที่มีลักษณะของการผูกขาด (monopolistic) ซึ่งมีความสามารถดำเนินการในกิจกรรมการผลิตหรือในการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจภายใต้โมเดลนี้ ประเทศประชาธิปไตยใหม่ (young democracies) ระดับของการคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรก เนื่องจากการขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การตรวจสอบและถ่วงดุล ตลอดจนความโปร่งใส ซึ่งทำให้เกิดเงื่อนไขที่ผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeker) สามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐและเปิดโอกาสกว้างมากขึ้นให้ได้รับประโยชน์จากค่าเช่าทางเศรษฐกิจในส่วนภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนไปถึงจุดหนึ่ง การแข่งขันกันเข้าไปหาประโยชน์ดังกล่าวได้ลดผลตอบแทนต่อผู้แสวงหาประโยชน์ เมื่อถึงจุดดังกล่าว องค์กรและสถาบันต่างๆ ที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในประเทศประชาธิปไตยใหม่จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาจนวุฒิภาวะของประชาธิปไตยสูงขึ้น การคอร์รัปชันก็จะลดลง โดยระดับของผลประโยชน์ (ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ) ต่อผู้แสวงหาผลประโยชน์ที่ลดลง และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย (เช่น โอกาสที่จะถูกจับกุมและถูกลงโทษตามกฎหมายมีมากขึ้น) ทั้งกับตัวผู้แสวงหาผลประโยชน์และเจ้าหน้าที่รัฐที่ยอมรับสินบน

เมื่อนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาประกอบกัน ก็สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในลักษณะของรูปตัวอักษรยูกลับหัว ระหว่างการคอร์รัปชันกับประชาธิปไตย ทั้งนี้ประชาธิปไตยนิยามในแง่ของระยะเวลาของการเป็นประเทศประชาธิปไตย หรือระดับวุฒิภาวะของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่

ข้อถกเถียงที่เป็นหัวใจของงานวิจัยนี้นำมาจากการทบทวนวรรณกรรมเชิงทฤษฎี และกรณีศึกษาผลของประชาธิปไตยต่อการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลประเทศประชาธิปไตยใหม่จะสามารถสร้างองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และการตรวจสอบในการจัดการกับกิจกรรมการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking activities) ของตัวการในภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับสินบนจากในจุดนี้เอง ต้นทุนของกิจกรรมการคอร์รัปชันก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งกับผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ และในระยะเวลาไม่นานก็จะไปถึงจุดเปลี่ยน (turning point) ซึ่งทำให้ทิศทางความสัมพันธ์ของการคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวก็ยังคงมีข้อจำกัดด้านข้อมูลอยู่บ้าง เนื่องจากยังขาดการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศต่างๆ ที่จะนำมาเปรียบเทียบกันในลักษณะที่มีความสม่ำเสมอในการวัดระดับของประเทศประชาธิปไตยใหม่หรือประเทศประชาธิปไตยเก่า และข้อมูลด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบขององค์กร/สถาบันต่างๆ ในการควบคุมการคอร์รัปชัน โดยข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการวัดระดับหรือคุณภาพของรัฐบาลประชาธิปไตยและรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดยองค์กรหลักๆ อาทิ Freedom House (2007) ซึ่งได้จัดทำการจัดอันดับประจำปีของประเทศทั่วโลก (ใช้สเกล 1 ถึง 7) ในการวัดระดับสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) โดยดัชนีแต่ละประเภทจะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในมุมมองที่แตกต่างกัน

งานวิจัยจำนวนหนึ่ง (ยกตัวอย่างเช่น Ades and Di Tella (1999) Fisman and Gatti (2002) Goel and Nelson (2005) ใช้ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวเพื่อทดสอบสมมติฐานว่า ประเทศที่มีระดับของประชาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้นจะมีผลทำให้ระดับการคอร์รัปชันก็จะลดลงหรือไม่

Diamond (1996) ชี้ว่า การทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงนั้น กลุ่มคนระดับนำในสังคมต้องเกิดความเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของรัฐบาล และต้องมีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าวด้วยการหลีกเลี่ยงความรุนแรง เคารพกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการแสดงออกซึ่งคำพูดเพื่อชักจูงในผู้อื่นโดยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ในส่วนนี้ องค์กรในภาคประชาสังคม จำเป็นที่จะต้องปกป้องความเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ในกฎหมาย และในประเด็นสำคัญ ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องมีความเชื่อที่คงเส้นคงวาว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง การหลอกลวง (fraud) หรือวิธีการใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย

Linz และ Stephan (1996) ชี้ว่า ประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องมีปัจจัย 5 ประการที่มีปฏิสัมพันธ์กัน อันประกอบด้วย (1) ประชาสังคมที่มีชีวิตและมีเสรีภาพ (2) สังคมการเมืองที่มีความเป็นอิสระและมีคุณค่าโดยเปรียบเทียบ (3) นิติธรรม (4) ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ และ (5) สังคมในเชิงเศรษฐกิจที่มีความเป็นสถาบัน การได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น Diamond (1996) Linz และ Stephan (1996) ระบุว่า ต้องมาจากการปฏิบัติจริงและประสบการณ์จริงในเรื่องประชาธิปไตยของคนในสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความมั่นคงของประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบรรทัดฐาน ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมของกลุ่มคนระดับนำ องค์กรต่างๆ ในประชาสังคมและประชาชนวงกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ในขณะที่มุมมองด้านกระบวนการของประชาธิปไตยในเชิงการเลือกตั้ง (electoral democracy) ก็มีความสำคัญเช่นกัน หากประชาธิปไตยจะถูกทำให้มั่นคง กลุ่มคนระดับนำ องค์กรในภาคประชาสังคมและประชาชนวงกว้าง จะต้องได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้านบวกของตนกับประชาธิปไตยและความไว้ใจวางใจ (trust) ต่อระบอบประชาธิปไตย Linz และ Stephan (1996) ซึ่งนำมาพิจารณากำหนดตัวแปรระยะเวลาในโมเดลโดยนิยามจำนวนปีของการดำรงอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตย

ระยะเวลาการเป็นประชาธิปไตยยังสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความโปร่งใสของรัฐบาล ความซื่อสัตย์สุจริต การทำให้ประชาชนไว้วางใจ ความเป็นรัฐบาลที่ดี โดยแบบจำลองของการศึกษานี้จึงนำประเด็นข้างต้นมาพิจารณาเพื่อชี้วัดระดับของความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลซึ่งเป็นอีกตัวแปรหนึ่งในแบบจำลอง นอกจากนี้หลักนิติธรรมก็เป็นแกนกลางของประชาธิปไตยที่มั่นคง ซึ่งผู้วิจัยได้นำมาเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในแบบจำลองของการศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลหลายประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (panel data) เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับการคอร์รัปชันกับความเป็นประชาธิปไตย โดยพยายามควบคุมตัวแปรหรือปัจจัยอื่นที่อาจมีผลต่อการคอร์รัปชันให้ได้ผลการศึกษาที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

 

การทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis test)

ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลทางสถิติทั้งจากประเทศจำนวนมากและในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (panel data) ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อทดสอบแบบจำลอง โดยมีจำนวนประเทศระหว่าง 75 ถึง 104 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว และครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2003 โดยนิยามตัวแปรที่นำมาจากดัชนีชี้วัดจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อทดสอบว่าตัวแปรใดมีจะผลต่อการคอร์รัปชันและมีผลมากน้อยเพียงใด โดยกำหนดให้คอร์รัปชันเป็นตัวแปรตาม (Dependent Variable) ซึ่งนำมาจากดัชนีวัดระดับของการใช้อำนาจรัฐเพื่อให้เอกชนได้ผลประโยชน์ ส่วนประชาธิปไตยเป็นตัวแปรอิสระ (Independent Variable) ซึ่งถือเป็นตัวแปรหลักในการทดสอบสมมติฐานว่าประชาธิปไตยมีผลต่อการคอร์รัปชันหรือไม่ ทั้งนี้ ตัวแปรประชาธิปไตยได้ถูกนิยามออกเป็น

1) ประชาธิปไตยที่มีความเป็นสถาบัน เป็นดัชนีชี้วัดที่จัดทำมาจากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การที่ฝ่ายบริหารได้มาจากการเลือกตั้งที่มีการแข่งขัน ระดับของการใช้อำนาจที่จำกัดของฝ่ายบริหาร ความพึงพอใจของประชาชนในนโยบายรัฐบาล และความเป็นผู้นำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานการแข่งขันของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในระดับประเทศ

2) ระบบการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Institutionalized autocracy) โดยชี้วัดจากระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองว่าถูกจำกัดอย่างมากหรือไม่ และหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มาจากผู้นำทางการเมืองใช้อำนาจโดยมีข้อจำกัดจากองค์กรต่างๆ ในระดับใด

3) ระยะเวลาของการมีประชาธิปไตย โดยนิยามจากระยะเวลาในช่วงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (ดัชนี -10 ถึง 10 ซึ่งจะชี้วัดความไม่เป็นประชาธิปไตย/ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น)[1]

หลังจากที่ได้ทบทวนวรรณกรรมและกำหนดตัวแปรที่เกี่ยวข้องที่มีสมมติฐานว่ามีผลต่อระดับการคอร์รัปชัน งานวิจัยชิ้นนี้สร้างสมการโดยใช้ตัวแปรเหล่านั้นเพื่อสอบโดยการใช้วิธีการสมการถดถอย (regression) ซึ่งผลที่ได้คือ ตัวแปรประชาธิปไตย มีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งตัวแปรอื่นที่อยู่ในการทดสอบในแบบจำลอง และผลขั้นสุดท้ายที่ได้คือ ตัวแปรหลักที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลและนิติรัฐ มีผลต่อระดับของการคอร์รัปชันอย่างชัดเจน โดยมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีเครื่องหมายตามทิศทางที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีน้ำหนักว่า ความสัมพันธ์ของคอร์รัปชันกับประชาธิปไตยอยู่ในลักษณะของตัวอักษรยูกลับหัว จึงกล่าวได้ว่า โดยระบอบประชาธิปไตย การยึดมั่นในนิติรัฐ และความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล จะลดการคอร์รัปชัน

 

สรุป

นักวิจัยจำนวนมากถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันกับระบอบประชาธิปไตย ทั้งศึกษาโดยภายในประเทศเดียวและหลายประเทศพร้อมกัน โดยพิจารณาความสัมพันธ์ในลักษณะของตัวอักษรยูกลับหัว (inverted U relationship) กล่าวคือการคอร์รัปชันจะเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับระดับของประชาธิปไตยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งระดับของการคอร์รัปชันก็จะลดลง แต่ยังไม่มีการทดสอบโดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ (Econometrics) งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ที่พบข้อสนับสนุนอย่างหนักแน่นว่าประชาธิปไตยมีผลต่อระดับการคอร์รัปชันในลักษณะของความสัมพันธ์ข้างต้น โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในการทดสอบสมมติฐานทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของระดับการคอร์รัปชันกับระยะเวลาของการมีประชาธิปไตยว่าเมื่อพัฒนาประชาธิปไตยไปถึงจุดหนึ่ง ระดับของการคอร์รัปชันจะลดลง โดยระยะเวลาเริ่มต้นการสร้างประชาธิปไตยจะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 15 ปี และยังมีข้อสังเกตว่าประเทศที่มีรายได้ในระดับต่ำ ก็สามารถลดระดับของการคอร์รัปชันในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ โดยขึ้นอยู่กับการสร้างองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และการตรวจสอบการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ :

  • เรียบเรียงและสรุปความจากงานวิจัย 2 ชิ้น ได้แก่ Rock, M. T. (2007). Corruption and Democracy. United Nations DESA Working paper No. 55 และ Mondo, Bianca Vaz. (2014). Democratization and corruption: the state of the art. Hertie School of Governance Friedrichstraẞe 180 10117 Berlin, Germany
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

ที่มา : วรดุลย์ ตุลารักษ์ เรียบเรียง, ““คอรัปชั่นน้อย ประชาธิปไตยจึงดีหรือประชาธิปไตยดี จึงมีคอรัปชั่นน้อย” : ข้อสังเกตบางประการจากการศึกษาเชิงประจักษ์,” ใน ประชาธิปไตย ทำอย่างไรจะประสบความสำเร็จ (ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, 2558), น. 37-47.


[1] นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่งานวิจัยนี้ทำการทดสอบอัน ได้แก่ ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลนิติรัฐ และตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น รายได้ประชาชาติ การใช้จ่ายภาครัฐ เสถียรภาพของรัฐบาล สัดส่วนการส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ระดับการเปิดประเทศด้านการค้าระหว่างประเทศ ลักษณะโครงสร้างทางการเมือง ระบบกฎหมาย ความหลากหลายของประชากรกลุ่มต่างๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นการทดสอบถึงผลของปัจจัยด้านประชาธิปไตยที่มีต่อระดับการคอร์รัปชัน