ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #22: “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา”

18
สิงหาคม
2566

 

“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”  ร่วมจัดงานเสวนา PRIDI Talks #22 “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” ในวาระ 78 ปี วันสันติภาพไทย วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อตอบคำถามและไขข้อสงสัยถึงสภาวะสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องและโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ นี้ ไทยและอาเซียนจะมีส่วนต่อการคลี่คลายความรุนแรงและนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพอันยากเย็นครั้งนี้ไปได้หรือไม่ 

ผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ คือ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย และอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติและกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ดำเนินการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

 

 

บทบาทไทยต่อการส่งเสริมสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียน

 

 

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของวันสันติภาพไทย โดยได้มีการสะท้อนความเห็นต่อจุดยืนของประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิก ที่ยึดถือในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน รวมถึงการละเลยต่อแนวทางการทูตแบบพัวพันอย่างยืดหยุ่น อันมีผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาปัจจุบัน

ประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการทหารเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่เคยผ่านสงครามกลางเมืองเป็นประเทศสันติไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องเริ่มที่การหยุดยิงและเจรจา ไทยมีบทบาทสำคัญที่เคยหยุดยิงในสงครามกลางเมืองในกัมพูชา การให้ความช่วยเหลือเสริมสร้างสมรรถนะต้องมีเรื่องหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม การพัฒนาต้องพร้อมกับการเมืองเปิดกว้างและใจมีมนุษยธรรม ไทยต้องสร้างแบบอย่างให้คนอื่นเห็นดังนี้

  1. ต้องมีการแก้ไขกติกาสูงสุด ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธมนุษยชน 
  2. ไทยต้องมีบทบาทนำในการเรียกร้องให้พม่าปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ 
  3. ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้กับพม่าและหลายประเทศ 
  4. ร่วมกับอาเซียนช่วยการปล่่อยนักโทษการเมืองในพม่า 
  5. เพิ่มแรงกดดันทางการทูตใน UNSC และ UNGA 
  6. เรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดโจมตีพลเรือน 
  7. รัฐบาลใหม่ต้องกวดขันชายแดนไม่ให้ช่วยเหลือกองทัพพม่าในการใช้อาวุธละเมิดประชาชน 
  8. ต้องรักษาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยในประเทศต่างๆของอาเซียน สร้างเครือข่ายรวมกัน เป็นภูมิภาคที่เคารพสิทธิมนุษยชน มีเสถียรภาพมั่นคง เบ่งบาน เป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชนและเพื่อประชาชน

 

“ระเบียงมนุษยธรรม” บันไดขั้นแรกของสันติภาพ

 

กัณวีร์ สืบแสง กล่าวถึงกรณีการทำรัฐประหารในเมียนมา ที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยราวหนึ่งล้านกว่าคน โดยมีการเสนอว่า บทบาทของรัฐบาล ในด้านมนุษยธรรม ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านจุดยืนทางการทูต เนื่องจากในขณะนี้ยังคงเป็นการใช้จุดยืนยุคสงครามเย็น หรือด้านอนุรักษนิยม อันเป็นการมุ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐอยู่

ทั้งยังมีการเสนอให้มีการเปิดระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ให้มีความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน โดยหากมีการเปิดเขตแดน ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่จะช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างทหารไทยและเมียนมา

ส่วนบทบาทด้านความมั่นคง ควรจะสร้างการพูดคุย สร้างโต๊ะเจรจา โดยอาจนำกรอบของอาเซียนมาใช้ เพื่อที่จะมาช่วยทำให้สถานการณ์แถบชายแดนนั้นสงบลง

 

ศึกสามก๊กในพม่า : เมื่อสันติภาพยังมองคนละด้าน

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวถึงโครงสร้างการเมืองของพม่า ว่าพม่านั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างที่จะมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ทั้งนี้ หากได้ลองย้อนกลับไป 12 ปี พม่าได้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ โดยได้เคยมีการสร้างกระบวนการสันติภาพ มีความพยายามทำ Road map ตั้งคณะเจรจา มีการจัดให้องค์กรภายนอกเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการสร้างสันติภาพ และกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังได้มีการร่วมกลุ่มกันอีกด้วย จึงมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความก้าวหน้า หากกล่าวถึงทฤษฎีการบริหารจัดการความขัดแย้ง

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปัจจุบัน สถานการณ์กลับตาละปัด คู่ขัดแย้งมีด้วยกัน 3 ฝ่าย นั่นคือรัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย กลุ่ม NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ National Unity Government) และกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือ ทั้งสามกลุ่มนั้นตีความคำว่าสันติภาพไม่เท่ากัน รวมถึงมีแนวคิดที่แตกต่างกันด้วย กล่าวคือ รัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย มีความพยายามที่จะกีดกันกลุ่ม NUG โดยต้องการให้เกิดแนวคิดเอกรัฐรวมศูนย์ และความสามารถในการรอมชอมพูดคุยกันได้กับกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม NUG ที่มองถึงการปฏิวัติ ต้องการล้างผลาญเผด็จการพม่า เพื่อให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง และต้องการสร้าง Power Sharing ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มชนที่มีเสียงแตกไปในแต่ละฝ่าย แต่มีความต้องการที่จะเข้าร่วม Peace Process 

 

สันติภาพพม่า สันติภาพของใคร?

 

รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ยังสงสัยในวันสันติภาพ คือ ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามกันว่าสันติภาพคืออะไร แม้แต่คำถามที่ว่า สันติภาพของใครกัน ของรัฐ ของชาติพันธุ์ หรือของใคร แต่ละยุคสมัยสันติภาพมองไม่เหมือนกัน

คำว่าสันติภาพจริงๆ แล้วควรหมายถึงอะไร สันติภาพในปัจจุบันควรเป็นสิทธิของทุกคนที่ควรได้รับ สันติภาพไม่ควรดำรงแค่สถานะปราศจากสงครามและความขัดแย้งหรือบูรณภาพดินแดนแบบยุคสงครามโลก กระบวนทัศน์สันติภาพไม่ใช่เรื่องรัฐชาติอีกต่อไป เรื่องพม่าในท้ายที่สุด อุปสรรคคือ เราคิดว่าเรื่องสันติภาพไม่ใช่สิ่งที่พม่าควรได้รับ แต่คิดถึงความเสี่ยงของสิทธิและศักดิ์ศรีในสันติภาพ

อาเซียนกับพม่าเป็นคู่วิวาทกันมาตั้งแต่ปี 1997 แล้วก็มักจบลงที่หลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน หากมองภาพรวมแล้วไม่เห็นความคืบหน้า แต่มองลึกลงไป การเปลี่ยนแปลงในพม่าส่งผลต่ออาเซียนพอสมควร จะเห็นว่ามีการปรับแนวทาง ย้อนกลับไป รัฐบาลไทยก็มีส่วนผลักดันให้อาเซียนเปลี่ยนข้อเสนอตัวเอง

อย่าง flexible engagement ที่สมาชิกอาเซียนมีสิทธิจะ แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นข้ามพรมแดน ว่าได้รับผลกระทบอะไร ดังนั้นไม่ควรใช้หลักไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นอุปสรรค ควรสามารถแสดงความคิดเห็นและยอมรับ สิ่งที่จะนำเสนอคือ แง่มุมสันติภาพในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความเป็นสถาบันมาก แต่อาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญ และตกเป็นทาสกับผลประโยชน์แห่งชาติและหลักไม่แทรกแซง

ปัญหาพม่าไม่ใช่แค่พม่าและอาเซียนเท่านั้น หากแต่ยังมองในบริบทการเมืองระหว่างประเทศได้ กล่าวคือ อิทธิพลของจีนที่มีต่อพม่า การเปลี่ยนแปลงในพม่า ทำให้จีนมีท่าทีอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งที่จีนต้องการมากที่สุดคือเสถียรภาพ ไม่ว่าพม่าปกครองแบบไหนก็ตาม

อีกประเด็นคือ ภูมิรัฐศาสตร์ในแง่ธุรกิจข้ามพรมแดน ซึ่งเกิดขึ้นหลังโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน พม่าจูงใจให้ภาคเอกชนมีความสัมพันธ์เชิงบวก เสนอด้วยผลประโยชน์ ดังนั้น ถึงที่สุดแล้ว คำว่าสันติภาพในพม่าควรเป็นของใครกัน

 

“บทบาทของผู้หญิงและสันติภาพของเมียนมาผ่านมุมมองมิติสิทธิมนุษยชน”

 

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงกับการสร้างสันติภาพในเมียนมาว่า ที่ผ่านมามีบทบาทมากแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง บทบาทผู้หญิงในช่วงหลังรัฐประหารเมียนมา มีจำนวนไม่น้อยที่ผู้หญิงเรียกร้องประชาธิปไตย และผู้หญิงอายุน้อยเป็นคนแรกๆ ที่ถูกยิงเสียชีวิต พวกเธอยืนหยัดสู้เพื่อประชาธิปไตย

ขอยกเรื่องที่ผ่านมาของผู้หญิงอย่าง โนลีน เฮย์เซอร์ ทูตชาวสิงคโปร์ ที่มีประสบการณ์สร้างสันติภาพ พยายามหารือกับทุกประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับฉันทามติ 5 ข้อ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ เมื่อคราวที่เฮย์เซอร์ได้เข้าพบมิน อ่อง หล่าย มีภาพความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าเมียนมาไม่เห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าวเลย

ต่อมาคือ ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน ชาวเกาหลีใต้ เคยเขียนบทความแสดงความกังวลต่อเรื่องที่กองทัพเมียนมาละเมิดน่านฟ้าไทย และการโจมตีทางอากาศในรัฐคะฉิ่น ที่คร่าชีวิตเด็กและประชาชนหลายคน ซึ่งเธอเคยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศและดูถูก เหยียดหยาม

นอกจากนี้ ขอกล่าวถึงผู้หญิงที่ยังอาศัยในเมียนมาและเรียกร้องประชาธิปไตย เวลาที่ผู้หญิงเรียกร้องประชาธิปไตย มักจะมีการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศด้วย เวลาเห็นการประท้วงมักแขวนผ้าโสร่งผู้หญิง เสมือนสัญลักษณ์ที่สะท้อนการลดทอนความเป็นผู้หญิง ตอนนี้มีผู้หญิงหลายคนจับอาวุธสู้กับกองทัพเมียนมา ดูเป็นสถานการณ์สิ้นหวังมาก ถ้าอยู่ในเมียนมา หน้าเรือนจำจะมีเหล่าแม่ๆ ขอเข้าเยี่ยมลูกที่ถูกคุมตัว หรือใครถูกประหารชีวิต แม่จะขอนำศพไปประกอบพิธีศาสนา สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลในความขัดแย้งคือ การใช้เพศลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในความขัดแย้งหลายครั้งมักเห็นการคุกคามทางเพศ

จะเห็นได้ว่า ในเรื่องการสร้างสันติภาพ หัวใจสำคัญ คือทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในแผ่นดินได้รับเคารพในคุณค่า มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่สันติภาพด้วยความสงบราบคาบ

 

ตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ 

 

สุณัย ผาสุข กล่าวว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นลักษณะปลายเปิด ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ ตอนนี้พอเป็นรัฐล้มเหลว ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐก็กระทำเลวร้ายไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ การกระทำของรัฐนั้นเป็นอาชญากรรมสงครามชัดเจน การโจมตีโรงเรียน โรงพยาบาล โจมตีไม่แยกแยะกลุ่มคน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหารพม่าแข่งกับรัสเซียในการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สถานการณ์ร้ายแรงมาก จะให้ยุติคงเป็นไปได้ยาก ระบบยุติธรรมระหว่างประเทศที่ทำได้คือ ICJ และ ICC ทั้งระดับประเทศและตัวบุคคล อย่างในเรื่องโรฮิงญา ที่ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง แม้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ตาม กล่าวคือกระบวนการที่จะเอาคนที่ละเมิดร้ายแรง ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแต่คืบหน้าน้อยมาก

มองว่าอาเซียนไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดฉันทามติ 5 ข้อ  

ทั้งนี้ ในกรณีของกัมพูชา อาเซียนและไทยเคยจัดการได้ แต่สิ่งที่เป็นแต้มต่อในตอนนั้นคือกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน รอบนี้อาเซียนจะยกสิ่งใดมาเป็นแต้มต่อ ตัวอย่างเช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็ยภัยคุกคามต่อเสถียรภาพอาเซียนหรือไม่ เข้าเกณฑ์ที่อาเซียนจะยกมาต่อรองไหม อาเซียนจะต้องคิดนอกกรอบ จะต้องมีวิธีการจัดการที่สร้างสรรค์ 

 

ช่วงตอบคำถาม

 

ถาม : บทบาทของรัฐบาลไทยชุดใหม่จะเป็นอย่างไร และถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่อาเซียนจะต้องแสดงมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อเมียนมา

สุณัย : เรื่องพม่า รัฐบาลใหม่ต้องจับมือหลายฝ่าย แล้วก็ต้องจับตาดูว่า รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่จะมองพม่าอย่างไร จะดำเนินนโยบายอย่างไร

ถึงเวลาไหมที่อาเซียนควรจะมีท่าทางชัดขึ้นอีก ก็อยากเห็นอาเซียนที่มีกระดูกสันหลังและกล้าสวนพม่า เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่ประเด็นเรื่องโรฮิงญา จนถึงปราบฝ่ายต่อต้านคือ พม่าทำผิดมากขึ้น อาเซียนสามารถใช้ประเด็นสมาชิกภาพต่อรองได้ อาจใช้วิธีกึ่งทางการก่อน ทั้งในระดับอาเซียน ทวิภาคีและระดับภูมิภาคโยงกับ UNSC อาเซียนอย่ายอม ต้องกล้าสวน แม้ล่าสุดพม่าปฏิเสธตำแหน่งประธานอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงรัฐบาลทหารอยู่ยาวและเลวร้ายอีกแน่

 

 

ถาม : ถึงเวลาที่อาเซียนต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแล้วหรือไม่

รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ : เป็นเรื่องยาก เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาเซียนลองทุกทางแล้ว ยกเว้นการคว่ำบาตร ทั้งนี้ เราทราบเพียงแต่ว่ามีการกำหนดฉันทามติ 5 ข้อ  แต่กลับไม่มีลำดับขั้นในการดำเนินนโยบายชัดเจน 

ถาม : รัฐบาลใหม่ของไทยควรทำอย่างไรอย่างเร่งด่วน เพื่อเมียนมา รวมถึงอาเซียน

รศ.ดร.ดุลยภาค : ปัญหาความรุนแรงในพม่า เกิดจากระบบคิดและความชินชาของกองทัพพม่า กองทัพพม่าเป็นตัวแสดงที่ดื้อมาก ต้องใช้ศิลปะการทูตมาก กลัวการแทรกแซงหรือกองทัพต่างชาติบุก เห็นชัดตั้งแต่ ตาน ฉ่วย ที่สหรัฐประณามว่าเป็นทรราชย์ รัฐบาลทหารพม่าจึงย้ายเมืองหลวงไปเนปิดอว์ ส่งทหารไปเรียนเรื่องนิวเคลียร์ที่รัสเซีย แต่กองทัพพม่าก็หลังชนฝามากขึ้น เพราะประชาชนพม่าก็ไม่เอาเผด็จการทหารพม่า ทางแก้จึงง่ายแต่น่ากลัว คือสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซียเกี่ยวดองกับรัสเซีย เมื่อใดมีแรงกดดันจากสหรัฐฯ หรืออาเซียน ก็หันซบรัสเซีย จีนและอินเดีย

จะทำอย่างไรกับผู้นำทหารที่กลัวต่างชาติ ต้องมีการยืดหยุ่นเพราะสภาพพม่าตอนนี้คือรัฐล้มเหลว โครงสร้างพื้นฐานพัง รัฐเป็นศัตรูกับประชาชน อาเซียนและไทยจะทำอย่างไร

ขอเสนอว่า สำหรับบางประเด็น สามารถที่จะจัดการได้เลย เช่น การทำเขตเศรษฐกิจชายแดน แบบมาตรการเชิงสร้างสรรค์ กล่าวคือ ชาวพม่าที่ลี้ภัยเป็นชนชั้นกลาง มีองค์ความรู้ ก็อาจจะดึงเขาเข้ามาร่วมงานด้วย สร้างบรรยากาศพันธมิตร จากนั้นจึงค่อยต่อยอดยกระดับต่อไป 

 

 

ถาม : หากได้เป็นรัฐบาลใหม่ จะทำนโยบายอะไรเป็นอันดับแรก สำหรับการแก้ปัญหาในเมียนมา

กัณวีร์ : ใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ อย่างกรณีที่จีนมีอิทธิพลกับเมียนมา  ไทยอาจใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมาคุยเรื่องเมียนมา ทั้งในเรื่องมนุษยธรรม หรือดึงอินเดีย ใช้อาเซียน อย่างไรก็ตาม ความเร่งด่วนคือจำเป็นต้องสร้างระเบียงมนุษยธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

นโยบายของพรรคเป็นธรรมคือระเบียงเศรษฐกิจที่เราผลักดันให้จังหวัดติดชายแดนของไทยทำเป็นเมืองคู่แฝด แลกเปลี่ยนข้ามพรมแดน ระเบียงมนุษยธรรมและระเบียงเศรษฐกิจจึงต้องทำควบคู่กัน

 

ท่านแรก สุรัช คีรี นักเคลื่อนไหวชาวพม่า ตั้งคำถามว่า เราได้รับผลกระทบทั้งจากรัฐบาลทหารพม่า มิน อ่อง หล่าย และประยุทธ์ พาสปอร์ตสีแดงและบัตรสีชมพู ต้องเสียเงินมากและผ่านวงจรอุบาทว์ นายหน้าหลายคนเป็นขี้ข้าของรัฐบาลเผด็จการ มีกรณีคนงานถูกเลิกจ้าง ที่มีการไปเรียกร้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าเลย และอีกกรณีคือ นายหน้าข่มขืนผู้หญิง คดีนี้ก็ไม่คืบหน้าเลย จะเห็นได้ว่า ความยุติธรรมที่มีต่อชาวพม่านั้นแทบไม่มีเลย สำหรับรัฐบาลไทยชุดใหม่นี้ จะมีความหวังไหม  

 

ท่านที่สอง คนไร้สัญชาติท่านหนึ่ง กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ดูเรื่องกฎหมายและช่วยเหลือคนไร้สัญชาติให้รวดเร็ว

อังคณา : สหประชาชาติเห็นความสำคัญของคนข้ามชาติ ซื้อประกันสุขภาพ กรณีมีปัญหาสุขภาพ ซึ่ง ครม. มีมติแล้ว กต. สามารถตัดสินใจได้เลย ในเรื่องของบัตร ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ สมช. และมหาดไทยค่อนข้างเข้มงวด พอมี MOU กับ 3 ประเทศลุ่มน้ำโขง อย่างเมียนมาก็สามารถออกบัตรได้ แต่ไม่ใช่กับโรฮิงญา

จะเห็นได้ว่า ไทยไม่ค่อยกระตือรือร้นในการจัดการ ทั้งนี้ กรณีการ Sanction รัฐบาลเมียนมาก็ไม่ค่อยใส่ใจ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพลเรือน

รัฐบาลไทยควรมีความกล้าหาญในการปกป้องประชาชน ในกฎบัตรอาเซียนมีการกำหนดเรื่องสิทธิในสันติภาพให้ประชาชนอยู่อย่างสันติ นอกจากนี้ UN ยังขอให้เมียนมาทบทวนเรื่องความรับผิดชอบในการปกป้อง (Responsibility to Protect) การแทรกแซงต้องถูกตีความจำกัด รัฐบาลไทย ในฐานะที่ชายแดนติดกัน ไม่ควรละเลยเรื่องสิทธิมนุษยธรรม

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ED7Hq9kTokY