ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ระเบียงมนุษยธรรม” บันไดขั้นแรกของสันติภาพ

25
สิงหาคม
2566

Focus

  • สนับสนุนเรื่อง แนวทางที่ครอบคลุมทุกมิติ (Comprehensive Approach) โดย บทบาทของรัฐบาลไทยควรเน้นเรื่อง “มนุษยธรรม” ด้วยเหตุที่มีผู้พลัดถิ่น ภายในประเทศประมาณ 1 ล้านกว่าคน อยู่ตรงบริเวณตรงระเบียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมากว่า 300,000 คน และข้ามเขตแดนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9,000 กว่าคน
  • ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการทูตแบบอนุรักษนิยมที่มุ่งเน้นเฉพาะทวิภาคีที่มุ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์รัฐต่อรัฐ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหารเป็นหลัก ในขณะที่มีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Corridors) บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดติดกับเมียนมา ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยไม่มีปฏิบัติการทางทหาร กระบวนทัศน์ใหม่ที่เหมทาะสมกว่า จึงควรเน้นกรอบการฑูตแบบพหุภาคี
  • รัฐบาลชุดใหม่สมควรทำในเรื่องต่อไปนี้ เช่น ส่งเสริมอาเซียนในเรื่อง ฉันทามติ 5 ข้อ (Five-point Consensus) โดยให้ความสำคัญกับรากเหง้าแห่งปัญหา คือการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เชิญประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา คือ บังกลาเทศ อินเดีย จีน ลาว และไทย เพื่อทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนไทยสงบ รวมทั้งทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำงานแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

 

 

จากบทบาทที่ผ่านมาทั้งบทบาท UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) และปัจจุบันที่เข้าไปเป็นมีบทบาทในรัฐสภาในฐานะสมาชิกผู้แทนราษฎร บทบาทของรัฐบาลไทยต่อการเตรียมการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะขณะที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยจากรัฐคะเรนนีเกือบหนึ่งหมื่นคน อพยพเข้ามาในไทย ซึ่งยังไม่รวมจาก 2 ปี ภายหลังรัฐประหาร ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและผู้ลี้ภัยผ่านมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คุณกัณวีร์มีแนวทางหรือนโยบายที่จะทำงานตรงนี้ หรือคิดว่าบทบาทของรัฐบาลไทยต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาจะเป็นอย่างไร

 

กัณวีร์ สืบแสง :

สำหรับผมในเรื่องบทบาทของรัฐบาลไทย ณ ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ในฐานะที่เคยเป็น International Practitioner (ผู้ปฏิบัติการระหว่างประเทศ) ที่เคยไปอยู่ในประเทศเมียนมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์รัฐประหาร ระหว่างรัฐประหารและภายหลังรัฐประหารเกิดขึ้น ว่าในมุมมองของผม มองอย่างไรในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในเมียนมา และในฐานะนักการเมือง ณ ปัจจุบันที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะพูดในมุมมองของสองมุมมองนี้

 

 

จริงๆ แล้วท่านอาจารย์อนุสรณ์ ได้พูดไว้ในเรื่อง Comprehensive Approach ( แนวทางที่ครอบคลุมทุกมิติ) เรียบร้อยว่า บทบาทของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาควรเป็นอย่างไรทั้งเรื่องการเมือง ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องมนุษยธรรม และเรื่องเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือต่างๆ นานา และเรื่องความมั่นคง เพราะฉะนั้นจึงเป็น Comprehensive Approach แต่เวลาผมมอง จะมองว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ปัจจุบัน บทบาทของรัฐบาลไทยควรจะทำอะไรบ้าง

เรื่อง “มนุษยธรรม” ทราบกันดีว่า หลังจากรัฐประหารเกิดขึ้น ทหารเมียนมาได้เข้าไปยึดอำนาจ ดึงอำนาจจากประชาชนกลับมาใส่มือตัวเอง และมีการเรียกร้องต่างๆ ทางด้านเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเป็นเชิงอหิงสาที่ประชาชนทุกคนออกมาเรียกร้องเอาอำนาจคืน และมีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดปัญหาหลักๆ ในประเทศเมียนมา และทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ

เมื่อปลายปี 2021 เริ่มมีผู้พลัดถิ่น เข้าถึงภายในประเทศประมาณ 1 ล้านกว่าคนเรียบร้อยแล้ว 3 แสนกว่าคนอยู่ติดกับชายแดนไทย ผมอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ดูตั้งแต่ทางตะวันออกของรัฐฉานไปจนถึงคะยา คะยีน มอญ รวมไปถึง ตะนีนตายี ลงมาเรื่อยๆ ตามตะเข็บชายแดนไทยทั้งหมด และได้เห็นว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่มาอยู่บริเวณตรง Southeast Corridor (ระเบียงทางตะวันออกเฉียงใต้) ของเมียนมากว่า 300,000 คน

ณ ปัจจุบัน 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่านี้ และเราเห็นว่าตอนนี้มีผู้ลี้ภัยที่ข้ามเขตแดนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9,000 กว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จริงๆ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการมันมากกว่านั้นอีกมากมาย ผมว่าทุกท่านคงทราบว่ามีจำนวนประมาณเป็นหลักหมื่นแน่นอน แต่ว่าเราก็ไม่แน่ใจไม่แน่ชัดว่าจำนวนที่ชัดเจนเท่าไร

เพราะฉะนั้น ประเทศไทยตอนนี้ บทบาทของประเทศไทยที่จำเป็นต้องดูแลในเรื่องนี้มันชัดเจนตรงที่ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จุดยืนทางด้านการทูตของไทยเสียก่อน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ผมเสนอไปจะไม่สามารถทำได้เลย เพราะว่าบทบาททางการทูตและจุดยืนของไทย ณ ปัจจุบันนี้ยังย่ำอยู่ในสมัยสงครามเย็น

ถ้าประเทศไทยยังใช้จุดยืนทางการทูตเหมือนเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ณ วินาทีนี้ที่เรายังพูดกันอยู่ว่าในเรื่องเกี่ยวกับการทูตแบบอนุรักษนิยม การทูตที่มุ่งเน้นเฉพาะทวิภาคี จุดนี้เองที่จะทำให้ไทยไม่สามารถพ้นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ก้าวข้ามกระบวนทัศน์ทางด้านความคิด กรอบกระบวนทัศน์ ท่าทางความคิด ว่าเราจำเป็นให้ความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องมนุษยธรรม เพราะว่าจุดยืนทางด้านการทูตแบบอนุรักษนิยมมุ่งเน้นเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์รัฐต่อรัฐ

เราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะช่วง คสช. จนถึงปัจจุบันนี้ยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหารเป็นหลัก เรามีความสัมพันธ์ในกลไกต่างๆ บริเวณชายแดนไทยกับเมียนมาตั้งแต่ TBC (Township Border Committee-Thailand–Myanmar หรือ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา), RBC (Regional Border Committee หรือ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-เมียนมา) และรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government) เรียบร้อยแล้ว แต่ทำไมเราถึงไม่ยอมข้ามกระบวนทัศน์ตรงนี้ไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์ว่าไว้ ถ้าการเมืองไทยยังย่ำอยู่กับที่ ถ้าการเมืองไทยยังไม่มีประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ เราจะไม่สามารถหลุดพ้นตรงนี้ออกไปได้เลย กรอบความคิดทางด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจะไม่สามารถทำงานได้

 

 

บทบาทแรกที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ พอเราเห็นว่ามีผู้พลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศกว่า 300,000 คน รอคอยที่จะลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย ทำไมเราถึงไม่สามารถพิจารณาในการเปิด “ระเบียงมนุษยธรรม” หรือที่พยายามเรียกกันหลายๆ ครั้งว่า Humanitarian Corridors เราจำเป็นต้องพิจารณาการเปิด Humanitarian Corridors บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดติดกับเมียนมา ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี และรวมไปถึงระนอง

Humanitarian Corridors นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน แต่เป็นการเปิดประตูเพื่อให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมาเข้ามาอยู่บริเวณตรงนี้

ผมได้เสนอไปว่ารัฐบาลไทยควรจะใช้กลไกทุกกลไกกับทหารเมียนมาที่จะต้องพูดคุยว่าทหารเมียนมากับทหารไทยว่าเรามีทั้ง  TBC, RBC และ G2G (รัฐต่อรัฐ) บอกว่าถ้าเราจะเปิด Humanitarian Corridors ตรงนี้จากเขตแดนของประเทศไทยข้ามเข้าไปในประเทศเมียนมาสัก 5 กม. ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่มีปฏิบัติการทางทหาร อย่างที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์บอกว่ามีการปฏิบัติการทั้งทางอากาศ

การปฏิบัติการภาคพื้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พลเรือนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้พี่น้องประชาชนประเทศเมียนมาได้รับผลกระทบ และรวมถึงชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนไทยด้วย เพราะฉะนั้นการเปิด Humanitarian Corridors จำเป็นต้องมีการพูดคุยระหว่างทหารไทยกับทหารเมียนมา หรือรัฐบาลไทยกับทหารเมียนมาที่ตอนนี้เป็น De-facto Authorities (ผู้มีอำนาจโดยพฤตินัย) อยู่ที่เมียนมา ต้องบอกว่าคุณจำเป็นจะต้องให้เกิดประตู ระเบียงสูงมนุษยธรรม

เมื่อตรงนี้เสร็จสิ้น เราจะสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านวัฒนธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศเมียนมาได้ ตอนที่ผมอยู่ใน UNHCR ผมพยายามผลักดันตลอดเวลาว่าการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม จำเป็นจะต้องผ่านจากประเทศไทย เนื่องจากมันมีความสลับซับซ้อนในประเทศเมียนมาในการด้วยความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

รัฐบาลทหารเมียนมาโดยเฉพาะทหารเมียนมาจำเป็นจะต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมทุกวินาทีว่าคุณจะให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มใด กับใคร เป็นพิเศษ เราจำเป็นต้องให้ข้อมูล ทางกลุ่มพี่น้อง กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ก็จำเป็นต้องบอกว่าหากเราไปพูดคุยกับ De-facto authorities หรือทหารเมียนมาแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องเอาความช่วยเหลือมนุษยธรรมมาช่วยเหลือพวกเราเลย แสดงว่าคุณมีดีลกับทหารเมียนมา

 

 

เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ผมทำอยู่ก็คือการผลักดันที่จะให้มี Humanitarian Corridors ที่มีการช่วยเหลือสนับสนุนมนุษยธรรมจากฝั่งไทยข้ามมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบตรงนั้นแต่เป็นไปไม่ได้ ทางองค์การสหประชาชาติยังไม่สามารถทำได้ ยังมีระบบราชการค่อนข้างจะสูง ถ้าเราจะทำเรื่อง Cross-Border Intervention (การเข้าร่วมประชุมอภิปรายข้ามพรมแดน) จำเป็นจะต้องไปผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในระดับนิวยอร์ก หลายครั้งที่ผมในตอนนั้นเป็นผู้ประสานงานของ Myanmar South-East Working Group (คณะทำงานตะวันออกเฉียงใต้เมียนมาประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR) ก็พยายามจะเสนอเรื่องนี้แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ อันนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยจะมีบทบาทสำคัญในการไปคุยกับทหารเมียนมา โดยใช้กรอบความร่วมมือทวิภาคี เรามีความสัมพันธ์อยู่แล้วในระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ทำไมไม่ใช้ตรงนี้ ทำไมปิดกั้นประตูตรงนี้ตอนที่มีปัญหาเกิดขึ้น

 

 

เรื่องที่สอง บทบาทของประเทศไทยสามารถใช้กรอบพหุภาคีด้วยได้ เราไม่สามารถเพียงพอกับการพูดคุยกับทางทหารเมียนมาอย่างเดียว เราต้องใช้กรอบพหุภาคี ขอกล่าวถึงอาจารย์อนุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง เรื่องอาเซียน ฉันทามติ 5 ข้อนี้ (Five-point Consensus) ซึ่งหลายๆ คนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฉันทามติ 5 ข้อนี้ไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องเกี่ยวกับรากเหง้าแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาก็คือการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ในประเทศเมียนมาในฐานะ International Practitioner ผมทราบดีว่ามีความพยายามของทุกองค์กร ทุกระดับ ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่สถานเอกอัครราชทูต รัฐบาลต่อรัฐบาล ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมาแต่ไม่มีผล

อาเซียนมีฉันทามติ 5 ข้อ ถ้ามองดีๆ สิ่งสำคัญสูงสุดของฉันทามติ 5 ข้อนี้ก็คือการสร้างพื้นที่ในการหารือ การสร้างพื้นที่ให้มีการเข้าไปพูดคุยในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นจุดแรก จริงๆ ก็คือไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องรากเหง้าแห่งปัญหาแต่คุณต้องเปิดประตูนี้ก่อน ประเทศไทยควรใช้เวลานี้โอกาสนี้จังหวะนี้ พูดคุยกับ Special Envoy (ผู้แทนพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายในกรณีต่างๆ ) ซึ่งมาจากประเทศอินโดนีเซีย บอกเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Humanitarian Corridors บอกว่านี่คือหนึ่งในความสำคัญ (priority) คือจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนว่าเราจำเป็นจะต้องมี Humanitarian Corridors เพื่อที่จะไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม บทบาทอันนี้เป็นบทบาทสำคัญทวิภาคีและพหุภาคีจะเป็นบทบาททางด้านการต่างประเทศ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนทางด้านการต่างประเทศโดยเร็ว

บทบาทที่ 3 ที่ไทยสามารถทำได้คือ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ หากเราสามารถเปิดประตูหรือระเบียงด้านมนุษยธรรมนี้แล้ว ศักยภาพของประเทศไทย ทรัพยากรของประเทศไทยยังมีจำกัด ยังไม่สามารถด้วยความช่วยเหลือตรงนี้ได้

เพราะฉะนั้น ไทยควรใช้จังหวะนี้เชิญประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของเราสามารถที่จะเชิญประชุมหน่วยงาน องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องสามารถเชิญประชุมสถานเอกอัครราชทูตสถานทูตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและให้ความสนใจกับการสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมา รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาพูดคุยกันว่าจัดทำ 5Ws ว่าคุณมีทรัพยากรอะไรบ้าง คุณจะใช้แผนอะไรบ้างในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตรงนี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามา 3 แสนกว่าคนในประเทศไทย เราต้องเตรียมความพร้อมก่อน ไม่เช่นนั้น ถ้าเกิดการทะลักเข้ามาซึ่งเกิดได้ทุกวินาที การใช้การโจมตีทางอากาศนี้สามารถทำให้คนพลัดถิ่น คนลี้ภัยเข้ามาได้ทันที เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตรงนี้ จำต้องช่วงชิงจังหวะนี้ เป็นผู้นำในการประสานงาน สำหรับทุกองคาพยพที่มีทรัพยากรเต็มที่ วางแผน หากเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมโดยใช้ระเบียงทางด้านมนุษยธรรมตรงนี้ เป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม

สุดท้าย บทบาทของประเทศไทยด้านความมั่นคง ถ้ามองดีๆ ยังไม่มีสมมติฐานที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางออกนอกประเทศเมียนมา เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านทุกๆ ประเทศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบังกลาเทศ อินเดีย จีน ลาว และประเทศไทย มีผู้ลี้ภัยของประเทศเมียนมาลี้ภัยออกไปค่อนข้างเยอะ เราต้องกระโดดเข้าไปในรองเท้าบูตของทหารเมียนมา ต้องเข้าใจมโนภาพ (Conception)  ทัศนคติของเขาว่าเขาคิดอย่างไรกับความบริบทของพื้นที่ชายแดนของประเทศตัวเอง

ทหารเมียนมาจะไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ตามบริเวณชายแดน พยายามจะทำให้สถานการณ์ชายแดนเงียบที่สุดเท่าที่เงียบได้แต่ไม่เคยเงียบ ซึ่งนี่เป็นความพยายามของทหารเมียนมา เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยทราบดี สามารถใช้บทบาทตรงนี้สร้างการพูดคุย สร้างโต๊ะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านของประเทศเมียนมาทั้ง 5 นี้ โดยไทยเป็นผู้นำ ใช้กรอบอะไรก็ได้ จะใช้กรอบอาเซียนก็ได้ ในการที่บอกว่าไทยอยากจะเป็นผู้นำในการพูดคุย ใช้ตรงนี้พูดคุยกับประเทศบังกลาเทศ ประเทศอินเดีย ประเทศจีนประเทศลาว ประเทศไทยว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์บริเวณชายแดนไทยสงบเป็นแค่เป็นมาตราการป้องกัน (Preventive) เท่านั้น

ไทยสามารถทำได้ เราต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสมการใหม่ๆ ที่จะยับยั้ง (Contain) สถานการณ์ให้ได้ในบริเวณชายแดนของประเทศเมียนมา นี่คือบทบาทของไทยอย่างเร่งด่วน จำเป็นต้องทำเรื่องมนุษยธรรมและเรื่องความมั่นคง ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนผมก็เห็นว่าเป็นบทบาทเร่งด่วนเหมือนกัน เพราะว่าเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาของสถานการณ์ในเมียนมา

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ในวันก่อนคุณกัณวีร์ ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าน่าจะเสนอไปถึงว่าที่รัฐบาลใหม่ และก็รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่เลยไหม

 

กัณวีร์ สืบแสง :

เสนอแน่นอน ณ ตอนนั้นเป็นเสนอโดยการหารือ เป็นวาระหารือกับทางประธานสภา วาระการหารือได้มีหนังสือไปสู่ท่านนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องหนึ่งคือ ที่เราเสนอท่านนายกรัฐมนตรีเข้าไปเป็นในฐานะที่ท่านเป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกๆ กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และรวมถึงท่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่จำเป็นจะต้องมีการจัดทำตัวนโยบายและการดำเนินงานผ่านทางคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการบริเวณชายแดนทั้งหมดแบบบูรณาการ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินแล้ว ส่งหนังสือเข้าไป ซึ่งจะรอดูและตามดูโดยใช้กลไกของสภา ในการตามว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นรักษาการมีการตอบสนองอย่างไรบ้างและรัฐบาลชุดใหม่ถ้าคุณจะจัดตั้งขึ้นมาคุณจำเป็นให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยและรวมถึงมนุษยชาติที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ :

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.