Focus
- วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาสิทธิมนุษยชนในเรื่องบุคคลถูกอุ้มหายหรือถูกบังคับให้หายสาบสูญมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ให้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ที่จะช่วยให้ปัญหานี้ลดลง
- การจัดเสวนาหัวข้อ “เมื่อแตกสลาย...จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หรือ?” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ณ คินใจ คอนเทม โพรารี (Kinjai Contemporary) โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นต้น ประกอบการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของผู้สูญหายผ่านอาหารจานโปรด (การจัดแสดงโต๊ะอาหารจำลอง) และที่ผู้คนในครอบครัวรอคอยที่จะรับประทานร่วมกัน เป็นการเคลื่อนไหวสำคัญหนึ่งเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลและกระตุ้นการตื่นตัวของสังคม
- การนำเสนอของผู้ร่วมเสวนาที่มาจากนักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนญาติผู้สูญหายหลายคน เน้นถึงอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ การเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ การเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐ การขอให้รัฐบาลใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ การเยียวยาจิตใจที่แตกสลายของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ การเยียวยาทางการเงินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการลดความเดือดร้อนของครอบครัวผู้สูญหายในด้านต่างๆ เป็นต้น
“เมื่อแตกสลาย… จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หรือ?”
ชื่องานเป็นการตั้งคำถามที่สะเทือนไปถึงจิตวิญญาณของความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกัน การมีบุคคลสูญหายด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน สะเทือนขวัญคนไทยมานานกว่าศตวรรษแล้ว นับจากคดีแรก เตียง ศิริขันธ์ สส. จังหวัดสกลนครที่ราษฎรรู้จักกันดีในนามของ “ขุนพลภูพาน” ผู้ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายจากความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2490 และแม้รัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แต่ก็ยังไม่มีการให้สัตยาบันจริงแต่อย่างใด จึงยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับการสูญหายของบุคคลตามอนุสัญญาดังกล่าว การเกิดขึ้นรายแล้วรายเล่าในเวลาต่อมาๆ จึงยังคงมีอยู่รวม 82 คดี และยังไม่มีใครรับรองได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก และแม้ปัจจุบันเรามีสื่ออาสาจับตาสังคมจากทุกฝ่ายคอยรายงานดูแลความปลอดภัยใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน แต่บางกรณีก็กลายเป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายคือถูกทำให้ตายไปอย่างคนที่ไม่มีสิทธิ์จะปกป้องตัวเองได้เลยตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นไม่ทราบเรื่องจะโดนปราบ แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังเป็นคณาธิปไตย พวกเขาต้องยอมเสียสละที่จะเสี่ยง เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ความตายก็คือโล่เกียรติยศที่ได้รับ ทั้งญาติและคนรักทำได้เพียงอยู่กินกับความหวังประทังชีวิต แม้ความจริงย้ำให้คิดและปล่อยวาง แต่ในทางกฎหมายเมื่อมีคนตายต้องซักฟอก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้ร่วมกับ กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหาย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation - CrCF) และ องค์กร Hear & Found (ผู้สนับสนุนการกำกับเสียง) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เมื่อแตกสลาย...จะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หรือ?” เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐ หวังให้เกิดการรับรู้ และดำเนินการเพื่อความยุติธรรม และรำลึกถึงการสูญสลายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ “อุ้มหาย” ผ่านนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน...กลับมากินข้าวด้วยกันนะ”[1] ในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 วาระสำคัญ “วันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล” (30 สิงหาคม ของทุกปี) ณ KINJAI CONTEMPORARY (Community of the contemporary arts movement) บางพลัด กรุงเทพฯ นับเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวในแบบอหิงสาที่ล้ำลึกและตกผลึกทางความคิด ด้วยจิตวิทยาสังคมซึ่งอุดมไปด้วยวิธีคิดที่ละเมียดละเอียดอ่อนต่อการรับรู้และสัมผัสได้ …
บรรยากาศนิทรรศการถูกออกแบบผ่านโต๊ะทานข้าว เริ่มตั้งแต่ชั้นแรกตรงข้ามจุดลงทะเบียน มุมห้องโถงด้านหน้า มีโต๊ะอาหารหนึ่งชุดจัดวางไว้ใกล้ประตู ดูดีทันสมัยในมุมข้างหน้าต่างสว่างไสวสดใสสวยงาม บอกความเป็นบ้านหรือร้านทั่วไปที่เราคุ้นเคย และทุกคนต้องคอยพึ่งพาหาไว้ฝากท้อง แต่ในชั้นสองต่างออกไป มีนัยน่าค้นหามากกว่าสำรับกับข้าวที่มองเห็น …
ในสายใยผูกพันทางสายเลือดของมนุษย์ มีที่สุดของสิ่งเชื่อมโยงเยื่อใยคือความใส่ใจต่อการกินอยู่ โดยเฉพาะการได้กินพร้อมกันกับทุกคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าคือช่วงเวลาสำคัญมีความหมาย เป็นเครื่องหมายบอกว่าชีวิตเป็นอยู่อย่างปกติพร้อมแชร์ทุกข์สุข กับข้าวทุกคำที่แม่ทำให้คือเลือดเนื้อและลมหายใจ นัยของอาหารจึงไม่ใช่แค่การอิ่มท้องประทังชีวิต …
อาหารจานโปรดของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย กับความหมายที่ยังอยู่
- เมนูโปรดของ สุรชัย แซ่ด่าน : แกงเลียงกุ้ง
- เมนูโปรดของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ : แกงส้มใต้
- เมนูโปรดของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : ป่นมะเขือ
- เมนูโปรดของ สยาม ธีรวุฒิ คือ : ผัดพริกถั่ว
- เมนูโปรดของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) : แกงหน่อไม้ใส่ปลาแห้ง
- เมนูโปรดของ จะหวะ จะโล,จะฟะ จะแฮ : ไข่ต้ม ข้าวหลาม เกลือ (ข้าวเดินป่าลาหู่)
- เมนูโปรดของ แวอับดุลวาเหะ บาเน็ง : ผัดเผ็ดปลาดุก (แบบใต้)
เราต้องเดินฝ่าความมืดที่จงใจให้มิดจนเกือบมองไม่เห็นทาง ระหว่างชั้นลอยกับชั้นสองบริเวณใต้บันไดถูกจัดไว้ฉายวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์เรื่องราวการต่อสู้ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและ 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 ฉายไฟฝ่าความมืดขึ้นไปชั้นสองเพ่งมองนิทรรศการเล่าขานตำนานของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย 3 บ้าน ผ่านอาหารจานโปรด บนโต๊ะอาหารแบบบ้านๆ ถ้วยจานใส่กับและข้าววางไว้ไม่ซ้ำ 3 ชุด จุดดวงไฟใส่แสง cool white ห้อยไว้จากเพดานเหมือนตั้งใจอธิษฐานเชิญดวงวิญญาณมาร่วมสำรับกับข้าวของโปรด
เช่นเดียวกับชั้นสาม งามนิทรรศการกับอาหารอีก 4 สำรับ ของ 4 คน วนไปอีกด้านดูการฉายตัวอักษรเล่นแสงแฝงผนัง ข้อความแม่กับลูกคุยกันก่อนจาก ทั้งต่อรองเรื่องการเรียน เรื่องอาหาร น้ำตาพาลจะไหลนึกถึงใจคนในครอบครัวเขา
เดินต่อไปชั้นสี่บรรยากาศเหมือนมีงานบุญ โต๊ะไม้ยาววางอาหารฝีมือแม่หม้อใหญ่เหมือนไปงานวัด จัดให้ทุกคนได้รับประทานกันถ้วนหน้าในเมนูเดียวกับชั้นสอง จะนั่งยองๆ นั่งกับพื้นหรืออยากยืนกินก็ตามอัธยาศัย เพราะไม่มีโต๊ะเก้าอี้ เชิญน้องพี่ล้อมวงตามสบาย บางคนรู้สึกเหงาที่งานชวนให้หวนถวิลถึงคาวหวานอาหารพิเศษจากฝีมือแม่ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้บอกเราแค่วัฒนธรรมการกิน …
บริเวณภายนอกชั้น 4 เหมือนเรือนชาน คือลานกิจกรรมโปร่งโล่งเป็นโถงกลางแจ้ง พื้นที่แห่งการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน แชร์ทุกข์สุข เชิญจับจองที่นั่งกันตามสบาย ช่วยผ่อนคลายด้วยเครื่องดื่มพิเศษไว้บริการทีมงานและสหาย บรรยากาศคล้ายจะรื่นรมย์ชมจันทร์ แม้เนื้อหาของการเสวนาคืนนั้นสาระสำคัญจะไม่ห่างกันกับทุกปีที่ผ่านมา ต่างตรงที่ว่าจะเข้มขลังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากญาติผู้สูญหายและเครือข่ายช่วยขยายประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ครั้งนี้มี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย[2] ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters เธอทำหน้าที่ดำเนินรายการร่วมเป็นกระบอกเสียงสำคัญอีกครั้ง เพิ่มพลังให้กับกิจกรรมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่พิธีกรรมรำลึกผู้สูญหายเท่านั้น สาระสำคัญคือการเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่อารยประเทศควรจะกระทำต่อพลเมืองที่มีสิทธิเท่าเทียมทุกคน
18:30 น. แดดร่มลมรื่น ผู้ดำเนินรายการกล่าวนำเข้างานเสวนา
“การได้กินอาหารร่วมกันกับทุกคนในครอบครัว คือความหวังและรอคอยของญาติทุกคนที่มาในงานวันนี้ ผู้จัดงานได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทรมานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการบังคับให้สูญหาย เป็นการสะท้อนปัญหาที่มีอยู่ โดยเฉพาะในประเทศของเรา มีครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายจากการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงเกิดการเรียกร้องของผู้เป็นญาติและเหยื่อทั่วโลกที่ตกเป็นผู้กระทำจากการบังคับให้สูญหายโดยผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดวันสำคัญนี้ขึ้นมา
และที่สำคัญเพื่อเป็นการเน้นย้ำต่อการครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสะท้อนปัญหาท้าทายที่ขัดขวางกระบวนการคืนสู่สภาพเดิม ที่ครอบครัวของเหยื่อกำลังเผชิญ เป็นการรณรงค์เรียกร้องและให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เป็นความต้องการจากครอบครัวของเหยื่อ ที่เป็นข้อเสนอจากภาคประชาสังคม ย้ำเตือนไปถึงรัฐไทย ให้รับรองสัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองคนทุกคนที่เกิดจากการสูญหาย เสียงของครอบครัวเหยื่อผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายเหล่านี้ จะส่งเสียงดังไปถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่ กราบเรียนเชิญทุกท่านค่ะ”
ญาติผู้สูญหายและตัวแทนที่เข้าร่วมการเสวนา
- อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน ผู้รับรางวัล Magsaysay 2019 ตัวแทนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร[3]
- สีละ จะแฮ ตัวแทนญาติผู้สูญหายชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่
- กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของผู้สูญหาย สยาม ธีรวุฒิ (กลุ่มประกายไฟ)[4]
- ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี ภรรยาผู้สูญหาย ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ)
- ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน (สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์)[5]
“ทุกครั้งที่เราต้องมาพูดคุยถึงเรื่องราวของคนที่เรารัก เรื่องราวของคนในครอบครัวที่สูญหายไปโดยที่เราไม่รู้ชะตากรรม หรือไม่มีคำตอบใดๆ กลับมาเลย การพูดคุยเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ มันคือความเจ็บปวด แยมเองไปทำข่าวกับพี่อังมาตลอดระยะเวลา 20 ปี และทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ ทุกครั้งเราไม่อยากที่จะตั้งคำถามซ้ำๆ ให้ทุกคนพูดถึงความเจ็บปวด แต่เรื่องราวของทุกคน แม้มันจะเป็นความเจ็บปวดที่แตกสลาย แต่ว่าทุกคนก็ยังมีความเข้มแข็ง และจำเป็นที่ต้องออกมาพูดเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำๆ เพราะว่ายังมีคนที่เผชิญชะตากรรม ยังมีผู้สูญหาย ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม เช่นเดียวกับครอบครัวทั้ง 5 ท่านนั่งอยู่ตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้คนเหล่านี้ค่ะ”: ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : พี่อังคณาเป็นญาติของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายเหมือนกัน (ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน สูญหายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547) แต่วันนี้มาในฐานะตัวแทนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย เล่าที่มาของการรวมกลุ่มญาติผู้สูญหาย ต้องการรำลึกถึงอะไร รวมถึงผู้สูญหายอีก 3 คน
อังคณา นีละไพจิตร : ตอนที่เราต้องทำงานกับญาติเนื่องจากว่า 20 กว่าปีแล้วที่ทนายสมชายสูญหาย ตอนที่หายไปเราไม่รู้จะทำไงดี เพราะญาติพี่น้องก็หนีหายไปหมดเลย ทุกคนก็กลัวเพื่อนทนายบางคนก็ไปต่างประเทศ กลายเป็นเราอยู่คนเดียว เราไม่มีตัวอย่างของคนถูกอุ้มสมัยพรรคคอมมิวนิสต์หรือสมัยไหนเลย แต่เราโชคดีที่มีเพื่อนๆ อย่างพี่ศักดิ์ กอแสงเรือง, พี่นิรันดร์ เป็น สว., พี่โต้ง (ไกรศักดิ์ ชุณวรรณ) พยายามเอาเรื่องนี้ไปพูดในสภา จนกระทั่งรัฐบาลคุณทักษิณต้องออกมากระตือรือร้นในการที่จะหาตัว แล้วหลังจากนั้นก็นำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งถือเป็นคดีแรกเลยที่มีการร้องเรียน เราต้องมาดูว่าประสบการณ์ในต่างประเทศญาติเขาทำอะไรได้บ้าง ทางอีสาน เหนือ ใต้ก็หายกันเยอะแยะเลย เป็นช่วงเดียวกันระหว่างสงครามยาเสพติดกับนโยบายปราบปรามก่อการร้ายทุกคนก็กลัว พี่อยู่กับการคุกคามนี่ทรมานนะคะ เมื่อต้นปีมีคนเดินจากเฉลิมไทยมาที่บ้านเราไกลเป็นสิบกิโลเพื่อเอากรรไกมาปาบ้านแล้วกลับ สุดท้ายตำรวจจับได้บอกว่าเป็นคนติดยา มันเกิดอะไรขึ้น? ทุกวันนี้เราไม่รู้สึกปลอดภัยในชีวิต แต่ก็ยังอยากจะพูดแทนคนอื่นที่เขาไม่อยู่ในศักยภาพที่จะพูดด้วยค่ะ
“วันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล” ทางสหประชาชาติให้ความหมายของคำว่า “เหยื่อ” นี่รวมถึงญาติด้วยนะคะ ที่มาคือปี 1980 มีกลุ่มแม่ๆ ไปรวมตัวกันที่เจนีวา (สวิตเซอร์แลนด์) เพื่อพบนักการทูตทั้งหลาย แล้วถามถึงสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้มีคนที่ถูกอุ้มหายจำนวนมาก โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาช่วงนั้น จนกระทั่งสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนั้น ลงมติให้มีอาณัติที่จะทำงานด้านการบังคับสูญหายด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีการร่างปฏิญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายออกมาปี 1992 หลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะทำงานร่างอนุสัญญาขึ้นมา ใช้เวลาร่าง 10 กว่าปี ใช้เวลานานที่สุดในบรรดาอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ร่างเสร็จในปี 2006 แต่เป็นอนุสัญญาที่ประเทศสมาชิกให้การรับรองเร็วที่สุด พอเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มีการรับรอง หลังรับรองก็มีผลในทางปฏิบัติในปี 2010 ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้สัตยาบันไปแล้ว 99 ประเทศ
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 สาธารณรัฐมัลดีฟส์ เป็นหนึ่งในเอเชียที่เพิ่งให้สัตยาบัน แต่ไทยยังไม่ยอมให้ ทางกระทรวงต่างประเทศบอกว่ากำลังศึกษาน่าจะมีข้อสงวน ตั้งข้อสงวนเยอะเลย เพราะเป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิ์ นอกจากนั้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีมติให้อนุสัญญามีผลบังคับ และมีมติให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหายสากล ทุกประเทศทางญาติ ครอบครัว ได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงคนที่สูญหายค่ะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : จากข้อมูลที่พี่อังเคยให้ไว้ตั้งแต่ปี 2523 มีแค่ 112 ประเทศ แต่ว่ามีผู้ถูกบังคับสูญหายมากกว่า 59,600 คน ตัวเลขหกหมื่นนี่เฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันเท่านั้นรึเปล่าคะ
อังคณา นีละไพจิตร : ไม่ค่ะ ตอนนี้พี่ก็เป็นสมาชิกคณะทำงานด้วย เป็นที่น่ายินดีว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกเป็นผู้หญิงหมดเลย 5 คน ตอนตั้งใหม่ๆ มีแต่ผู้ชาย แล้วได้รับความไว้วางใจให้ทำงานในอาณัติที่ยากๆ จะมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว อย่างกัมพูชาหลังเหตุการณ์เขมรแดง สหประชาชาติก็เข้าไปช่วยในเรื่องของการปฏิรูป แล้วก็มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ กรณีอุ้มหายที่เกิดขึ้นหลังจากที่ให้สัตยาบัน จะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตามอนุสัญญา แต่ผู้ที่ถูกบังคับสูญหายก่อนหน้านั้น จะอยู่ในการติดตามตรวจสอบอาณัติด้านมนุษยธรรม คือการพยายามที่จะหาว่าผู้ถูกบังคับสูญหายอยู่ที่ไหน ให้ทราบที่อยู่และชะตากรรม เพราะฉะนั้นตัวเลขที่อยู่กับคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายจึงมีมาก ปีที่ผ่านมาเราทบทวนหมื่นกว่ากรณี มีผู้หญิงกับเด็กด้วย
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : แต่ว่ามีกรณีที่คลี่คลายได้จริงๆ แค่ 104 คดี เท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจนี่คือระดับโลกนะยังคลี่คลายได้แค่นี้ อย่าหวังว่าในประเทศไทย…
อังคณา นีละไพจิตร : ใช่ค่ะ พูดตรงๆ เลยว่าส่วนใหญ่คนที่หายไปจะไม่กลับมา แล้ว 104 กรณี นี่น้อยมากๆ ที่คลี่คลายได้ก็จะเป็นบางคนพบตัวอยู่ในคุกลับ บางคนรัฐให้ข้อมูลว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ประมาณนี้เป็นต้นค่ะ คณะทำงานจะทำด้านมนุษยธรรมพยายามสื่อสารกับรัฐเพื่อที่จะให้ทราบที่อยู่และชะตากรรม พยายามเน้นย้ำให้รัฐเยียวยาต่อเหยื่อ พบปัญหาหนึ่งซึ่งคณะทำงานให้ความสำคัญแล้วมีความกังวลมากก็คือ หลายประเทศมีความพยายามที่จะให้เหยื่อถอนเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงานค่ะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วเหมือนกันนะคะ นี่คือสถานการณ์ของผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย พี่อังคณาจากกรณีทนาย สมชาย นีละไพจิตร ที่สูญหายไป เกิดในรัฐบาลของ ทักษิณ ชิณวัตร ปีนี้เป็นปีที่หลายอย่างน่าจะวนกลับมา การได้กลับประเทศไทยของคุณทักษิณน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราอาจจะต้องพูดเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ทุกท่านที่นั่งอยู่ในนี้ก็เรียกว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลของคุณทักษิณเช่นเดียวกัน เรื่องราวในวันนี้เป็นเหตุการณ์สะท้อนความร่วมสมัย ที่เราต้องมาเตือนความจำ ตอนนี้คุณทักษิณอยู่ในประเทศไทยแล้วย้อนรำลึกเหตุการณ์ไปด้วยกันนะคะ
ในปี 2546 ดิฉันทำข่าวแล้วนะคะ มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดในยุคคุณทักษิณ พี่น้องชาวเขาเมื่อก่อนเราเรียก “ชาวเขา” เป็นคำที่เหยียดมากนะ ปัจจุบันเราให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่เขามากขึ้นเรียก “พี่น้องชาติพันธุ์” ยุคนั้นมักถูกมองว่าเกี่ยวข้องค้ายา นั่นคือสิ่งที่เขาได้รับความไม่เป็นธรรมจากนโยบายนี้ ถูกดำเนินคดีต่างๆ มากมาย คุณสีละ จะแฮ ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในยุคคุณทักษิณเช่นกัน เป็นตัวแทนพี่น้องชาวลาหู่ และพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบ อยากให้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องค่ะ
สีละ จะแฮ : ผมชื่อ สีละ จะแฮ เป็นนายกสมาคมลาหู่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีวันนี้ได้ก็เพราะมีอดีตใช่ไหมครับ อดีตที่แสนโหดร้ายแล้วก็ทุกข์ทรมานมาก มีปัจจุบันเพื่อแก้ไขอนาคตนะครับ เรื่องราวเหตุการณ์ในอดีตสงครามปราบปรามยาเสพติด ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้มีการปราบปรามนะครับ แต่อยากให้รัฐบาลใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม นิติรัฐ เรายอมรับได้กับการดำเนินการตามกฎหมายของบ้านเมืองนะครับ แต่ในเวลานั้นเขาใช้ปฏิบัติการจู่โจมที่เรียกว่า “ประกาศกฎอัยการศึก” แล้วจับคนไปโดยไม่ใช้กฎหมาย อย่างกรณีสามีของคุณอังคณากับครูบิลลี่หายตัวไปเป็นกระแสข่าว ผมถือว่าเป็นโชคดีของพวกเราด้วย เหตุการณ์ของพวกเราถ้าจะตามหาหลักฐานบุคคลมีอยู่ชัดเจนมาก เพราะว่าเขาจับไปต่อหน้าต่อตาชาวบ้าน สมาชิกในครอบครัว แต่ทำไมคนตั้งสิบกว่าคนเหล่านั้นไม่รู้ไปไหน เมื่อก่อนผมก็ไม่รู้ ผมไม่เคยทำงานในเรื่องของการพัฒนาชุมชน นึกว่าประเทศไทยมีกฎหมายแบบนี้พวกเราก็ไม่สนใจนะครับ
อยู่มาวันหนึ่งได้รู้จักกับคุณอังคณากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เขาบอกว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายแบบนี้ ผมก็ติดตามมาแล้วร่วมประสานกับหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน ได้รู้ว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำไปไม่มีในกฎหมาย ที่บัญญัติไว้ให้จับคนชาวเขาหรือว่าผู้กระทำความผิดได้ตามอำเภอใจ เพราะคุณอยากจับใครก็จับไป อยากได้ทรัพย์สินใครก็เอาไป วันนี้จับไปสองสามคน มะรืนนี้มีข่าวได้ยินมาว่าบ้านนั้นก็ถูกจับไปสองสามคนอีก บางคนถูกจับไปแล้วยังไม่กลับมาเรายังไม่ว่า แต่คนที่ถูกจับไปแล้วขังในหลุมดินแล้วทรมานให้เขา กินข้าว ปัสสาวะ อุจจาระ ก็ในนั้น ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เจอมากับตัวเอง บางคนที่ไม่ยอมรับสารภาพเพราะเขาไม่ได้ทำผิดก็หายตัวไป หายตัวไปไม่ใช่แค่ครั้งละคนสองคนนะครับ บางทีถูกจับไปสามสี่คนพร้อมกัน จนทุกวันนี้ก็ไม่เห็นกลับมาเลย พ่อแม่ญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลังไม่กล้าติดตาม เพราะเขามีอำนาจอยู่ในมือ มีปืน มีคนมาข่มขู่ว่าถ้าคุณไปตามคนที่เขามีความผิดคุณก็จะผิดไปด้วย พาให้ความถูกต้องสูญหายเจือจางไป
ไม่ใช่ว่าญาติ หรือพวกผมไม่ติดตามข้อเท็จจริงนะครับ ทุกวันนี้ที่ผมอยากขับเคลื่อนทำงานเพื่อพี่น้องชาวลาหู่เพราะ หลายอย่างข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ทำความจริงให้ประจักษ์ แล้วก็เป็นที่ยอมรับได้ของพี่น้องประชาชนกับคนที่ใช้กฎหมายนะครับ แต่ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐปิดบังซ่อนเร้น อำพรางทุกอย่าง ท่านที่อยู่ในเมืองถูกกระทำก็ยังไม่กล้านำความจริงสู่สาธารณะ ประสาอะไรกับพวกผมพี่น้องบนดอย เขากลัวมากกว่าท่านเป็นร้อยเท่า แต่ด้วยความจำเป็นที่เราต้องพูดเพราะว่า อยากจะให้มีการซักฟอก ซักฟอกในที่นี้ก็คือทำอะไรที่ควรทำให้มันเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับ ให้ครอบครัวญาติพี่น้องรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ไม่ดีก็มีเยอะ ขณะเดียวกันประเทศไทยเราก็ยังมีหน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่ยังดูแลมองเห็นพวกเราอยู่นะครับ
คนที่จับพี่น้องชนเผ่าพวกเราไปตอนนี้ก็อาจเป็นนายพลแล้วก็ได้ เพราะตอนที่เขามาอยู่ที่แม่อายมียศ พันโท นพรัตน์ ธีรพงศ์ กับ พันเอก สุทัศน์ จารุมณี ตอนนี้อาจจะเสียชีวิตแล้วก็ได้เพราะหลายปีแล้ว เพราะผมเห็นการกระทำของเขาทำกับพวกเราเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เวลาเอาไปสอบสวนใช้วิธีไฟฟ้าช็อต ฟื้นขึ้นมาก็สอบสวนต่อ ทุกวันนี้ก็เริ่มกลับมามีอีกครั้ง เพราะว่าเขาไม่ใช้ตามอำเภอใจเหมือนเมื่อก่อน เมื่อสองเดือนก่อนมีเหตุการณ์ชาวบ้านมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ จับอีกคนหนึ่งไม่ได้ก็ไปจับพ่อแม่เขามาดำเนินคดี เพื่อที่จะปิดคดี ภายในสองสามเดือนมีสองสามรายแบบนี้ครับ บางทีมีปัญหากับตำรวจ ตำรวจออกหมายเรียกบางครั้งก็ไม่ไปถึงคนที่ถูกหมายเรียกเพราะว่าบ้านอยู่ไกล บางคนไม่รู้ภาษาไม่รู้หนังสือเขาก็ไม่กล้าไป หมายออกมาแล้วก็เลยกลายเป็นคนผิดไป ผมอยากรู้ว่าทำไมการปิดคดีมีผลกระทบกับคนที่ไม่ผิดด้วย มันหนักหนาสาหัสมากนะครับ ก่อนผมมาสองสามวัน เขาตามจับลูกชายไม่ได้สองสามเดือนแล้ว ก็เลยจับพ่อไปก็ต้องให้เขาอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีใครไปชี้นำเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น เพราะหลายอย่างคนในเมืองก็ยังโดน ในชนบทก็โดนมากกว่า แล้วเราก็ไม่รู้ขั้นตอนวิธีการด้วยครับ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : สมัยนั้นอาจได้ยินว่า ฆ่าตัดตอน หรือบางทีก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม เราจะใช้คำนั้นค่ะ มีกี่คนที่เจอการสังหารนอกระบบ
สีละ จะแฮ : ถูกจับตัวไปต่อหน้าต่อตาที่หนองไผ่นี่ 4 คน ครั้งเดียว, ที่ห้อยมะยม 3 คนพร้อมกัน, ที่โป่งไฮบ้านผมอีก 1 คน, ห้วยเดื่ออีก 1 คน, ไชยปราการอีก 1 คน, รวมสิบกว่าคนแล้วที่จับไปต่อหน้าต่อตาชาวบ้าน 20 กว่าปี เป็นผู้สูญหายทุกวันนี้ก็ตามหาไม่เจอครับ ช่วงเหตุการณ์ใหม่ๆ เราก็ไปติดตามที่สถานีตำรวจ แหล่งท่องเที่ยว หรือตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ไม่เจอ แต่ก็รู้อยู่ว่าเจ้าหน้าที่จับไปเพราะว่าเขาจับไปต่อหน้าสาธารณะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : มีข้อมูลเพิ่มเติม ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง ธันวาคม ปี 2546 มีรายงานว่า (อ่านรายงาน) “ในค่ายทหารทางภาคเหนือ ได้เกิดเหตุการณ์ควบคุมตัวโดยพลการ และการทรมานบุคคล โดยเฉพาะที่กระทำต่อชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ และยังส่งผลให้เกิดการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ด้วยบางส่วน ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพราน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายและพยานหลายคนชี้ตัวว่ามีจ่าสิบโทคนหนึ่ง เป็นคนที่ละเมิดสิทธิ์ มีรายงานว่าเขาอยู่ใต้บังคับบัญชาของ นายพลโทและพันเอกคนหนึ่ง และมีรายงานว่า จ่าสิบโทคนดังกล่าว เข้าไปในพื้นที่ไม่นานหลังการเกิดละเมิดขึ้นมา เชื่อกันว่าในช่วงเวลานั้นมีการขนยาเสพติดข้ามพรมแดนไทยพม่า จากบริเวณที่เป็นรัฐว้าอย่างไม่เป็นทางการในพม่าด้วย” เพิ่มเติมจากที่พี่สีละบอกว่า นายทหารผู้กระทำผิด ผ่านมา 20 ปี บางคนอาจจะยศใหญ่โตขึ้น แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ถูกดำเนินคดีเลยเหรอคะ
สีละ จะแฮ : ไม่เคยครับ ถ้าเขาอยู่ที่ไหนก็ฝากบอกให้เขามาหาผม ผมอยากจะคุยเรื่องนี้กับเขาอีกครั้งหนึ่งครับ เรื่องนี้ผ่านไปสักสองสามปีทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนลงมาพื้นที่ เขาก็รู้แล้วมีหนังสือถึงรัฐสภาไทย มีหนังสือถึงกองทัพบก เป็นขั้นเป็นตอน แล้วบอกว่าให้ชดเชยเยียวยาดูแลครอบครัวด้วย แต่ถึงทุกวันนี้ครอบครัวเหยื่อทุกคน ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ผมเคยเอาข้อมูลคนที่สูญหายจำนวนหลายคนส่งให้หน่วยงานทหารครับ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : 20 ปีผ่านไป ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกทำให้สูญหายและครอบครัว ขอให้กำลังใจพี่สีละและครอบครัวของทุกคนด้วยนะคะ เราคงต้องคุยเรื่องนี้กันต่ออีกนะคะ พี่อัง 20 ปีที่แล้วแทบจะไม่เป็นข่าวเลยนะคะ เราอาจพบเจอเรื่องนี้ระยะหลังจากเกิดเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยมคุ้นเคยเหมือนกันเวลาไปทำข่าว 3 จังหวัด พี่น้องถูกเชิญตัวมาในค่ายทหารแล้วถูกจับ ถูกวิสามัญต่างๆ โดย พ.ร.ก.[6] (พระราชกำหนด : เป็นอำนาจเฉพาะของรัฐบาลในยามฉุกเฉิน เป็นกฎหมายรูปแบบหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นด้วยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้) แต่ในภาคเหนือเรื่องราวเหล่านี้จะปรากฏขึ้นน้อยมาก นี่คือเรื่องราวเมื่อ 20 ปีก่อนของคนที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ควรต้องมีการเรียกร้องอย่างน้อยในเรื่องคดีความไม่แน่ใจว่า 20 ปี แล้วยัง..
สีละ จะแฮ : ไม่มีคดีความเพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเจอแบบนี้ต้องไปแจ้งความ ไม่รู้ว่าเรื่องหายไปหมดแล้วหรือเปล่า เพราะว่ารัฐบาลไทยนี่จะ… ชุดนี้ทำไว้อีกชุดไม่สานต่อก็เลยเป็นแบบนี้
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ชาวบ้านก็ไม่รู้ ไม่มีสัญชาติด้วย เป็นการละเมิดสิทธิ์ที่ซ้ำซ้อนจริงๆ ไม่มีแม้กระทั่งช่องทางและกระบวนการทางกฎหมายที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญหาย วันนี้ถ้าจะมีความหวังคือขอให้เยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ มีการยื่นไปถึงรัฐสภากับกองทัพบก รัฐบาลชุดใหม่นี่ก็เป็นเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีนายกเมื่อ 20 ปีก่อนกลับมา เผื่อเขาจำความได้ก็อาจจะช่วยผลักดันไหมคะ เราต้องเตือนความทรงจำเยอะๆ นะคะ
อังคณา นีละไพจิตร : ในกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ เนื่องจากว่าบางคนไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีธนาคารไม่ได้ เวลาขายปศุสัตว์ ผลผลิตได้จะเก็บเงินไว้ที่บ้าน บางทีเจ้าหน้าที่ไปค้นบ้านมักจะคิดว่าเป็นเงินที่ได้จากการค้ายาก็ริบไปหมดเลย
กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ[7] (นักเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟ ในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิและสามารถต่อรองกับทางนายจ้าง รวมไปถึงเรื่องการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ)
กัญญา ธีรวุฒิ : สวัสดีค่ะ กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ ผู้สูญหาย แม่ผู้สูญเสียลูกชายนะคะ จาก 2557 ถึงปีนี้ 2566 ค่ะ 9 ปีแล้ว ยังไม่มีความเคลื่อนไหวของรัฐบาล อยากวิงวอนขอร้องรัฐบาลใหม่ว่า คุณจงให้ความยุติธรรมแก่มนุษย์ประชาชนชาวไทย สืบหาว่าลูกหายไปไหน สยาม ธีรวุฒิ เล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” โดนคดี 112 โทษสูงถึง 15 ปี มันโหดร้ายสำหรับแม่ แต่มีความสุขสำหรับใครแม่ไม่ทราบค่ะ อยากขอร้องให้รัฐบาลใหม่ดูแลช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของ สยาม ธีรวุฒิ ที่ได้สูญเสียลูกชายไป ให้ใส่ใจตามหา เพื่อครอบครัวเขาจะได้ไม่โดนความทุกข์เบียดเบียน จนบางครั้งน้ำตาไหล สยามเป็นเด็กดีพูดจาเรียบร้อยรักพ่อแม่ ไม่มีอคติกับใคร แม้เขามาทำให้ตัวเองเจ็บก็ยังขอโทษเขา การกินอยู่ก็ง่ายๆ
‘แม่วันนี้ผัดพริกถั่วอีกไหม’
‘โอ๊ยเมื่อวานก็กินไปแล้วนะลูก ไม่เบื่อเหรอ’
‘ไม่เบื่อครับ ผมชอบผัดพริกถั่วใส่หมู กินได้ทุกวันแหละครับฝีมือแม่’
คิดถึงมากค่ะ ลูกใครใครก็รัก ไม่น่าจะมาสูญเสียหรือจากกันด้วยวิธีการแบบนี้ ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยคิดอะไรอยู่ ทำมาหากินหรือว่าคอยไล่ฆ่า ไล่จับคนไปเพราะเขาคิดไม่ตรงกับตัวเอง
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ในวันนี้เมนูของสยามแม่ก็ทำผัดพริกถั่ว (พริกแกง) เมนูตามสั่งมาให้ หลังจากสยามต้องลี้ภัยครอบครัวเป็นยังไงบ้างคะ ที่ต้องเข้มแข็งกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ด้วยความที่เขาตัดสินใจจากอุดมการณ์ ถึงอย่างไรครอบครัวก็ยังอยู่เคียงข้างเขา เราไม่อยากยอมรับว่าลูกเราหายไป แต่รัฐยังคงกระทำซ้ำเติมอีก
กัญญา ธีรวุฒิ : เขาเหมือนกับเป็นหัวหน้างานแทนพ่อได้แล้ว แต่ก็ต้องมาบอกพ่อว่า ‘พ่อผมอยู่ไม่ได้แล้วนะ โดนหมายจับคดี 112’ เมื่อปี 2556 เขาไปเมื่อปลายปี 2557 แม่ก็เลยขาดคนทำงาน เราไม่คิดว่าเขาจะไปจากเรา ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา สยามบอกให้แม่ถอนประกันชีวิตเขา แล้วเอาเงินไปดาวน์รถเอาไว้ใช้เราจะช่วยกันส่ง มันทำให้เราเจ็บปวดกับการขวนขวายหาเงินมา เศรษฐกิจรัดตัวจนเราดีดไม่ออก กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เข้าข้างลูก จะผิดจะถูกก็ลูกเรา แต่ไม่ควรฆ่าหรืออุ้มไปซ่อน หาเจอแทนแม่ก็กรุณาเถอะค่ะ กราบขอร้องละค่ะคืนลูกให้แม่เถอะ ทุกวันนี้เสียใจขับรถไปก็ร้องไห้ หรือพูดกับใครก็จะร้องไห้จิตตกไปเอาไม่อยู่แล้ว แม่ยอมรับเลยว่าเสียใจมาก ถ้าไม่เจอกับครอบครัวใครก็ไม่รู้สึก
คราวนี้แม่จะไม่ร้องไห้แล้ว จะเข้มแข็งที่สุด เพื่อรอคอยให้สยามกลับมา วอนรัฐหรือทางการช่วยเรา อย่าให้สังคมตราหน้าว่าประเทศไทยขาดเมตตาต่อคนด้วยกันแล้วเหรอ เขาไม่ให้แม่ไปแจ้งความ บอกว่ากรณีของคุณไม่เข้าข่าย ไปขอเยียวยาก็ไม่เข้าข่าย ไม่มีให้ยื่นอุทธรณ์ใหม่ ไม่ช่วยไม่ทำอะไรแต่มาสอดส่องมองเราถามว่า ‘สยามอยู่บ้านไหมครับ’ เหมือนว่าลูกแม่ไม่หายจริง แล้วแม่มาพูดว่าหายจริง คุณรู้ไหมเราเสียใจ แม่ไปแจ้งความเขาก็ไม่ให้แจ้ง จนมูลนิธิกระจกเงา บอกว่าให้แม่แจ้งความเถอะ ตำรวจก็ไม่ยอมถามคุณจะแจ้งกรณีไหน มูลนิธิก็ตอบว่า แม่หาลูกเขามาจะ 4 ปีแล้ว คุณไม่ให้แจ้งความผมก็เอาใบแจ้งความไปช่วยร้องขอตามหาลูกเขาไม่ได้
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : มีกระบวนการต่อสู้ที่ครอบครัวคนอยู่ข้างหลังต้องทำหลายช่องทาง ในช่วง 10 ปี ที่คุณแม่ทำเพื่อสยาม ในรอบที่ 2 เราจะมาต่อข้อเสนอแนะนะคะ ไปต่อที่คุณชาลิสา สุขประเสริฐภักดี เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง
ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี : ภรรยา ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ)[8] กรณีของพี่เกือบจะสูญหาย เมื่อปลายปี 2561 ที่มีข่าวทุกช่องว่าพบศพคนลอยแม่น้ำโขงมา ปกติคุณภูชนะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตามถ้าวันเกิดแกวันที่ 23 ธันวาคม สัญญากับลูกๆ กับครอบครัวจะต้องโทรมาคุย ไลน์มา แต่นี่ไม่มี เราก็รอจนลูกชายคนโตไปเจอข่าวเข้า แต่ตามข่าวบอกว่าเป็นศพคนเล่นการพนัน หรือคนมีคดีทั่วไปอย่างอื่น ลูกติดต่อกับเพื่อน กลุ่มไฟเย็น ที่พอจะติดตามเพราะตอนนั้นเขาอยู่ประเทศลาว แจ้งไปที่ สภอ.(สถานีตำรวจภูธรอำเภอ) ท่าพนม ว่าน่าจะเป็นพ่อผมนะเพราะหายไป เขาก็เรียกลูกขึ้นไปปลายปีก่อนปีใหม่ ตรวจดีเอ็นเอเรียบร้อยแต่เรื่องยังเงียบๆ อยู่
คุณภูชนะเป็นเสื้อแดงเข้มแข็ง ตำรวจที่นครพนมก็เป็นพวกเสื้อแดง เขาส่งข่าวตอบมาน่าจะเป็นพ่อน้องจริงๆ แต่เราต้องเงียบไว้ก่อน ตำรวจท่าพนมบอกมีคำสั่งให้หยุด ถ้าเขาไม่ใหญ่จริงก็คงสั่งให้ตำรวจหยุดไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะทำยังไงค่ะ
ความจริงเสียชีวิตตอนที่เขาหนีไปอยู่ลาววันที่ 12 ธันวา 2561 ทำเรื่องเป็นผู้ลี้ภัยถูกต้องหมด จนทุกวันนี้แม้ไม่ได้หายแต่ก็เหมือนหายไปเลย กว่าจะฝ่าฟันกันมาว่าเป็นศพพ่อคุณนะ ลูกก็ต้องสู้หนักหนาค่ะ ให้แม่ไปตรวจดีเอ็นเอ แล้วลูกก็ต้องตรวจใหม่ เรารู้สึกมันไม่ใช่แล้ว ทำไมต้องตรวจใหม่ มีข่าวว่าเขาอาจจะเปลี่ยนคนตายก็ได้ หรือว่าทำให้มันไม่ตรง พี่ยกมือคัดค้านเพราะลูกตรวจไปแล้ว จะไม่มีการตรวจซ้ำ กว่าจะพิสูจน์ศพ กว่าจะผ่านได้ก็ในปี 2562 ถึงยืนยันได้ว่าเป็นคุณภูชนะ ให้ศพมาเอาไปจัดการเผา เจ้าอาวาสวัดศรีวารีน้อย อนุญาตแล้วให้เผาที่วัดได้ พอเผาเสร็จมีทหารไปข่มขู่เจ้าอาวาสเป็นเรื่องกัน
คุณภูชนะเป็นคนอีสานที่มุกดาหารค่ะ ช่วงหน้าฝนหน่อไม้จะเยอะ ที่บ้านเวลาทำแกงหน่อไม้ใครไปมาก็เรียกกันกินเป็นความสุข แต่วันนี้ลูกเขาอยากให้แม่มาที่นี่บอกว่าแม่ไปทำแกงหน่อไม้เถอะ ทำอย่างที่พ่อชอบให้เข้ากับงาน มีที่ห้องข้างในลองกันได้นะคะเป็นอาหารอีสานรสชาติอร่อยค่ะ คุณภูชนะจะชอบมากเรากินกันได้ทั้งครอบครัว ที่มาวันนี้ก็สงสารคนที่สูญหายแย่กว่าเรา ต้องรอไม่มีที่สิ้นสุด เรายังเจอแล้วเผาไปแล้ว เรามาร่วมกันรำลึกเพราะไม่รู้จะให้ใครมารำลึก ทางราชการไม่มีพูดถึงอยู่แล้ว หลายปีแล้วก็มีแต่จะเงียบหายไป ฝากบอกหน่วยงานทางรัฐบาลด้วย ดีว่าแม่มีลูกไม่เยอะแค่สองคน คนเล็กก็จบแล้ว ไม่ต้องใช้เงินมากมาย เพิ่งมาช่วงหลัง 4-5 ปีรัฐบาลประยุทธ์เศรษฐกิจแย่จนถึง 8 ปี กว่าจะฝ่าฟันกันมาได้ทุกคนก็ทุกข์ใจ คงไม่มีอะไรดีกว่าต้องสู้ค่ะ เพราะเราไม่รู้จุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหนค่ะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : เป็นความหวังที่ไม่อาจคาดหวังได้จริงๆ แต่ครอบครัวก็ยังอยากรู้ตัวของผู้กระทำผิด อยากให้เขาได้ถูกลงโทษดำเนินคดีใช่ไหมคะ … ต่อไปเชิญป้าน้อยค่ะ
ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน (สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) :
กรณีของคุณสุรชัย แซ่ด่าน เขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารนะคะ เวลาวิพากษ์วิจารณ์แล้วจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ หัวรุนแรง แต่ประวัติที่ผ่านมาคุณสุรชัยเป็นฝ่ายประสานประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เดือดร้อน จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชนมากกว่า เน้นชี้แจงว่าทำไมชาวบ้านถึงมาร้องทุกข์ บางครั้งชาวบ้านก็ไปร้องทุกข์กับผู้มีอำนาจรัฐในท้องถิ่นหรือจังหวัด แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือก็เลยมาขอความช่วยเหลือคุณสุรชัย ทั้งที่เวลาสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คุณสุรชัยก็เต็มใจที่จะช่วยส่วนรวม ช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่หนุ่มๆ นะคะ ด้วยประสบการณ์ที่ตัวเองก็ได้รับผลกระทบ
หลังสุดมีคดีที่ไปปราศรัยต่อต้านเผด็จการ ติดคุกครั้งหลังสุดปี 2554 - 2556 พอใกล้จะได้ออกก็มีหมายจับ กรณีปราศรัยที่แม่ริมเชียงใหม่ เพราะคุณสุรชัยคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะว่าเวลาตัดสินคดีมาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลมักจะใช้คำพูดว่า ศาลมีความเห็นว่าพูดอย่างนี้อย่างนั้นหมายถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แกก็ต้องยอมรับเพราะคดี 112 นี่ เป็นคดีที่ไม่ให้ประกันตัวกลัวหลบหนี มีความผิดโทษสูง 3-15 ปี ร้ายแรงทั้งที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ได้เป็นฆาตกรนะคะ เป็นแค่ความผิดทางมโนธรรม คุณสุรชัยช่วงนั้นอายุมากแล้วก็ป่วยด้วย รัฐประหารที่ผ่านมาเดือนพฤษภาคมปี 2557 ก็เลยลี้ภัยค่ะ เพราะว่ามีคดีเก่าที่เขาจะให้เซ็นรับทราบ ในช่วงที่ก่อนได้อภัยโทษปลายปี 2556 ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการอยู่ ก็เลยมีการตามล่า ช่วงนั้นลี้ภัยอยู่กับคุณกาสะลองและคุณภูชนะที่ สปป.ลาว ได้ติดต่อกับครอบครัวปลายปี 2558 ปีกว่าตั้งแต่ยึดอำนาจ ครอบครัวถึงจะได้รับการติดต่อกลับ
กลางคืนของวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก็ติดต่อไม่ได้ แล้วก็มาพบศพขึ้นที่ฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม 3 ท่า ท่าละ 1 ศพ คนละอำเภอ ลักษณะศพไม่เหมือนกันเลย สองศพพิสูจน์ทราบเป็นคุณภูชนะและคุณกาสะลอง ที่พบเมื่อ 25-26 ธันวาคม 2561 คาดว่าน่าจะเป็นศพคุณสุรชัย เพราะว่าได้หายไปในวันรุ่งขึ้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ให้สัมภาษณ์ข่าวสด ไทยรัฐ แล้วก็หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า มีศพขึ้นไปแจ้งความแล้วตำรวจบอกติดธุระ พอรุ่งขึ้นศพหายก็ให้การคลาดเคลื่อนจากที่พูดครั้งแรกสองสามครั้ง พอเราไปร้องกับ UN กรรมการสิทธิ กรมคุ้มครองสิทธิ์ DSI สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังแจ้งความแล้ว หน่วยงานก็ต้องตามเรื่องตามที่เราไปร้องทุกข์ ประมาณเดือน กรกฎาคม 2562 ทาง สภอ. ท่าจำปา ก็ออกสำนวนปิดคดี พยานที่เคยบอกว่ามีศพขึ้นก็เปลี่ยนเป็น ‘ไม่คิดว่าเป็นศพ คิดว่าเป็นกระสอบขยะ’ เพราะว่าศพแต่ละศพ 3 ศพมีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างคือ คลุมด้วยกระสอบป่านสองสามชั้น มัดเป็นท่อนๆ คงเคยเห็นในข่าวนะคะ เขาก็เปลี่ยนคำให้การกลายเป็นว่าไม่มีเป็นศพขึ้นก็กลายเป็นว่าไม่มีการแจ้งความ ไม่มีการฆาตกรรม
ช่วงนั้นป้าก็ไปตามสองรอบ สถานที่แต่ละท่าห่างกันเกือบ 50 กิโลเมตรค่ะ การที่จะบอกว่าศพหนึ่งไหลไปตามกระแสน้ำ ไปขึ้นท่าเป็นอีกศพหนึ่งนั่นน่ะมันยากนะคะ ตามที่นักข่าวท้องถิ่นกับชาวบ้านแถวนั้นให้ความเห็นว่า ช่วงนั้นมีกระแสอากาศเย็นจะตีเข้าฝั่งตลอด ศพไม่น่าที่จะไหลไปได้สะดวก มีท่าทรายมีกระชังปลากีดขวาง ไม่ใช่ไหลนิ่งเหมือนกระแสน้ำทั่วไป ยากที่จะไหลข้ามไป 50-70 กิโลเมตร ไปตามเรื่องที่ไหนก็เงียบไม่เห็นศพ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาปฏิเสธเรื่องที่ไปแจ้งความ บอกว่าไม่ใช่ศพ สุรชัย แซ่ด่าน ยังมีชีวิตอยู่ ยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ครอบครัวและเพื่อนสนิทมิตรสหายไม่เคยได้รับการติดต่อเลย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราสามารถพูดคุยผ่าน Line ไม่ได้รับข่าวสาร พร้อมกัน 3 คนเลยค่ะ คนที่ลี้ภัยไป สปป.ลาว ก็ได้ถ่ายรูปบ้านพัก มีรูปลงสื่อโซเชียลอยู่หลายรูปที่เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้กระจุยกระจาย มีทั้งเครื่องตรวจวัดความดัน เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด
ตั้งแต่คืนวันที่ 12 ต่อวันที่ 13 (ธันวาคม 2561) ป้าก็ไปเรียกร้องทุกที่แล้วก็ยังเงียบหาย คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ขอให้มีความจริงใจ มีความกระตือรือร้นที่จะสืบสาวราวเรื่อง รื้อฟื้นคดีให้ความยุติธรรมกับญาติผู้ได้รับความเสียหายและผลกระทบ ไม่ใช่แต่พวกเรานะคะ ที่เล่ามาก็หลายพันคนรวมทั้งที่พิการบาดเจ็บสูญหาย ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งแต่ละคนก็เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นกำลังหลักของครอบครัวทั้งนั้นนะคะ พวกเขาได้รับผลกระทบเดือดร้อน อย่างคุณสุรชัยยังมีคดีที่เคยขึ้นไปปราศรัยที่โรงแรมรอยัลคลิฟ ประมาณปี 2553 ที่มีการประชุมอาเซียนที่พัทยา ไม่ได้ขึ้นไปบนโรงแรมปราศรัยอย่างที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีนะคะ
ศาลเรียกตัวไปหลังลี้ภัย(ต้นปี 2561) พอมาไม่ได้ก็สั่งปรับนายประกัน 500,000 บาท นายประกันก็เดือดร้อน ส่วนคุณสุรชัยยังมาไม่ได้ ก็ให้ครอบครัวรับผิดชอบ ขอความเห็นใจจากศาลว่าจะปรับทีเดียวสี่แสนห้า (ตำแหน่งผู้ประกัน) เงินสดของญาติอีกห้าหมื่น เกินกำลัง ก็เลยขอให้ศาลช่วยปรับให้น้อยหน่อย เพราะคุณสุรชัยคาดว่า ถ้าการเมืองนิ่งได้รับการนิรโทษกรรม เพราะเป็นคดีการเมืองที่เห็นต่างทางความคิด น่าจะมีนิรโทษกรรมเหมือนครั้งก่อนๆ ก็คิดว่าจะกลับมาฟ้องกลับ เพราะมีหลักฐานอยู่ว่าตัวเองไม่ได้ขึ้นเวที ตำรวจคุมฝูงชนที่คุมแกอยู่ชายหาดไกลๆ พอแกหายไปป้าน้อยก็บอกกับทนายความว่า ขอยุติค่าปรับได้ไหม ลดการปรับได้ไหม ขอฟ้องร้องกลับแทนได้ไหม ก็ไม่ได้สักที่ค่ะ ศาลพัทยาก็บอกว่าถ้าจะไม่ให้ปรับต้องนำตัวนายสุรชัยมาขึ้นศาล ถ้าเสียชีวิตแล้วก็หาหลักฐานมา ส่วนที่จะฟ้องกลับก็เหมือนกัน ภรรยาแม้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแต่คดีอย่างนี้ฟ้องไม่ได้ จะฟ้องได้กรณีที่นายสุรชัยถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส หรือว่าเสียชีวิตไปแล้ว ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายถึงจะแจ้งความแทนได้ ถูกปรับไม่มาขึ้นศาลเรื่องที่เราถูกแจ้งความเท็จก็ฟ้องกลับไม่ได้
ธันวาคมนี้ (2566) จะครบ 5 ปี แล้วนะคะ มีกรณีเดียวก็คือ ญาติต้องไปร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ สุรชัย แซ่ด่าน เป็นบุคคลที่สาบสูญ เพื่อที่จะได้ยุติการจ่ายค่าปรับที่ไม่มาขึ้นศาล ค่าปรับนะคะไม่ใช่เงินประกัน จ่ายแล้วจ่ายเลยไม่มีการเรียกคืน ที่ว่าตำแหน่งนายประกันได้สี่แสนห้า ศาลเมตตาลดให้ต่ำสุดตอนนี้จ่ายไปได้ 66 เดือน เดือนละ 3,000 บาท เงินสดอีก 50,000 จากครั้งแรกที่เราเอาไปโปะ ถึงสิ้นปีก็เสียค่าปรับไปแล้วสองแสนบาท จากห้าแสนที่ศาลสั่งปรับเพราะไม่มาขึ้นศาล เราลำบากค่ะไม่มีรายได้ ปกติเราขายหนังสือ ขายหมวก ขายเสื้อ ที่คุณสุรชัยไปเป็นวิทยากรมั่ง ไปขึ้นเวทีปราศรัย ช่วงที่ไม่มีการยึดอำนาจก็มีการเลือกตั้ง แกก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ด้านต่างๆ แล้วแต่เพื่อนฝูงคนรู้จักที่เขาสมัครการเมืองท้องถิ่นจะวานไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับชาวบ้าน กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครให้เข้าใจเรื่องการเมือง
คุณสุรชัยสามารถอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ เพราะแกจะพูดจาเข้าใจง่ายในภาษาชาวบ้าน เรื่องที่เข้าใจยากๆ คนก็จะชอบฟัง เพราะแกพูดแล้วคนฟังสนุกไม่เครียด ขายของได้เป็นค่าเดินทาง เพราะเราไม่ได้รับค่าจ้าง แล้วแต่เจ้าภาพ มีก็ช่วยค่าน้ำมันไม่มีก็แล้วไป ชาวบ้านเดือดร้อนก็ไปด้วยความสมัครใจ เขาไม่ได้ขอเราไปเองก็ได้ เช่น ที่เรือนจำทุ่งสง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรือนจำเขาก็ประท้วง คุณสุรชัยก็อาสาไปเจรจาระหว่างนักโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐก็จบลงด้วยดี มีการปรับปรุงแก้ไขสวัสดิการในเรือนจำ หรือที่นครศรีธรรมราชมีการจับหมวกกันน็อคช่วงแรก มีการไปล้อมเผาโรงพัก ทำลายตู้โทรศัพท์สาธารณะ คุณสุรชัยมีประสบการณ์มาก่อนที่ว่าโดนคดีเผาจวน แกก็พยายามไปช่วยลูกหลานบอกว่าอย่าไปทำอย่างนั้น ขนาดลุงอยู่ไกลจากจวนตั้ง 7 กิโลเมตร เขาก็ยังใส่คดีให้ลุงไปเผาจวน ลูกหลานยิ่งไปปาไปขว้างระเบิดขวดอย่างนั้น มันจะโดนหนักยิ่งกว่าลุงนะ ไปให้ข้อคิด แต่ทางการเขาคิดว่าคุณสุรชัยชวนคนให้ไปประท้วง (ปลุกม็อบ)
ที่จริงแกชวนคนให้มาแสดงความคิดเห็นอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อระบายความอัดอั้นว่า ตำรวจทำไมรับสินบนแบบเกินเลย ไปแอบจับในซอกในซอย คนที่ไปตลาดตอนเช้ามืดก็ถูกตำรวจจับ เพื่อที่จะได้เงินส่วนแบ่งการปรับ ตั้งหลายสิบเปอร์เซ็นต์นะคะ ประชาชนก็เกิดความอัดอั้น คุณสุรชัยเป็นคนที่ประนีประนอมค่ะ ไม่ได้เป็นคนหัวรุนแรงก้าวร้าวเหมือนที่รัฐใส่ร้าย อยากขอความเป็นธรรม บางคนก็เชื่อตั้งแต่สมัยแรกๆ แล้วว่าสุรชัยเป็นผู้ร้ายเผาจวน เป็นโจรปล้นรถไฟ ฆ่าเจ้าหน้าที่ คนไม่รู้ความจริงก็จะฝังใจมาเป็นเวลาสิบๆ ปี
คุณสุรชัยเป็นคนนครศรีธรรมราช ชอบอาหารปักษ์ใต้ที่มักจะมีรสเผ็ดหน่อยนะคะ พวกน้ำพริกแมงดา แกงไตปลา แกงส้ม ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ แกงเลียง มีกับข้าวหลายอย่างที่แกชอบ คล้ายบิลลี่ที่ชอบแกงส้ม เลยเปลี่ยนเป็นทำแกงเลียง ให้มีของจืดๆ ไว้กินล้างพิษความร้อน เชิญชวนทุกคนให้ทานแกงเลียง แกงส้ม แม้จะไม่เหมือนกับที่แกชอบทำเวลาว่าง ส่วนป้าน้อยจะกินผักเป็นหลัก ถึงกินไม่เหมือนกันแต่ก็อยู่ด้วยกันได้ค่ะ (เช่นเดียวกับความคิดต่างทางการเมือง แม้คิดไม่เหมือนกันแต่เราก็ควรจะอยู่ร่วมกันได้)
เวลาเห็นกับข้าวที่แกชอบก็จะสะท้อนใจ นึกถึงแกแล้วรู้สึกหดหู่ ว่าเขาแค่เห็นต่างทางการเมือง ทำไมถึงต้องจองล้างจองผลาญ ต้องทำลายล้างเอาให้ตาย เป็นความลำบากใจเป็นความเศร้า เป็นหนี้ศาลทั้งที่เราไม่ได้ทำความผิด ถูกใส่ร้ายป้ายสี ขอความเห็นใจความจริงใจจากรัฐบาลใหม่ อย่าเพิกเฉยไม่ใช่แค่กรณีของเรานะคะ กรณีของทุกคนที่โดนซ้ำเติม ไม่ว่าเศรษฐกิจ พิษภัยจากสถานการณ์ ความอดอยากแห้งแล้งที่จะตามมา บางคนหนี้สินล้นพ้น อยากให้ได้รับการเยียวยาเบื้องต้น จะอ้างกฎหมายตลอดว่าให้ไม่ได้ เพราะไม่เข้าข่ายมาตรา 3 ว่านายสุรชัย นายสยาม อีกสารพัดที่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ แสดงว่าคณะกรรมการเหล่านี้ก็ยึดกฎหมายเป็นหลัก… ส่วนญาติก็มีความยากลำบากอยู่แล้วในการดำรงชีวิต จะไปหาหลักฐานการเสียชีวิตของเขามาจากไหน ติดต่อก็ไม่ได้ อยากให้มีการแก้กฎหมายให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะคะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : คุณแม่ชาลิสาคะ กอดป้าน้อยแทนพวกเราทุกคนได้ไหมคะ เชื่อว่าพวกเราอยากจะให้กำลังใจป้าน้อยมากๆ ตลอดช่วงเวลาที่ฟังป้าน้อย แยมเชื่อว่าหลายคนมีน้ำตา แม้กระทั่งเราฟังอยู่ก็รู้สึกเจ็บแปลบไปที่หัวใจค่ะป้าน้อย เพราะความไม่ยุติธรรมมันไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่สูญหายเท่านั้น ตลอดสิบปีที่ผ่านมาป้าน้อยต้องต่อสู้ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับอาจารย์สุรชัยที่สูญหายไป ศพที่หายไปก็ทำให้เป็นอุปสรรคหนึ่งในการหาความยุติธรรม แม้กระทั่งชื่อเพื่อมายืนยันว่าเขาคือคนที่สูญหาย การที่ต้องต่อสู้กับค่าปรับที่แบกรับอยู่ หลายอย่างสะท้อนถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวจริงๆ ขอให้กำลังใจป้าน้อยมากๆ เลย นะคะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ในจำนวนคนที่นั่งอยู่ถ้านับแค่ช่วงเวลา สำหรับพี่อังคณาปีหน้าก็จะ 20 ปี ที่พี่แบกรับความรู้สึก เป็นระยะเวลายาวนาน ทรมานเท่ากับทุกคนไม่แตกต่างกัน แต่ว่าพี่อังก็น่าจะแบกรับความรู้สึกแตกสลายนี้ยาวนานที่สุด ได้ฟังเรื่องราวของทุกคนแล้ว พี่อังคงสะท้อนใจถึงคุณสมชาย ตลอดเวลาที่ผ่านมาพี่มีวิธีการที่จะจัดการกับเรื่องราวต่างๆ อย่างไรคะ
อังคณา นีละไพจิตร : ครอบครัวคนหายทุกคนต้องเผชิญเหมือนๆ กันคือ เวลาที่คนคนหนึ่งหายไปจะมีภาระความรับผิดชอบเยอะแยะมาตกกับคนที่ยังอยู่ หนี้สินที่ทุกคนต้องมีเหมือนกันหมดมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้กระทั่งตัวเองเป็นเมียที่จดทะเบียน เราจะขายที่ผืนเล็กๆ ซักแปลงเพื่อจะมาเลี้ยงลูกยังทำไม่ได้เลย เพราะตามกฎหมายต้องมีสามีมาเซ็นอนุญาต ชีวิตเราต้องหยุดอยู่กับที่ไป 5 ปี จนกว่าที่เราจะร้องขอเป็นบุคคลสาบสูญแล้วถึงจะมาจัดการอะไรได้ ทำให้ทรัพย์สินบางอย่างถูกคนอื่นเอาไป ในฐานะผู้หญิงเราไม่มีมีกำลังไปดิ้นรน มีลูก 5 คน ในช่วงสถานการณ์ที่เราถูกเรียกว่า ‘ครอบครัวทนายโจร’ ทำยังไงที่เราจะข้ามตรงนั้นไปได้ สิ่งหนึ่งที่พยายามจะทำมาโดยตลอดก็คือ เราต้องมีชีวิตที่ดีเพื่อจะได้ทำให้คนที่จะทำผิดเห็นว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่สีละเอ่ยชื่อใครต่อใครมาที่เป็นอดีตจำเลยในคดี ล้วนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานกันเป็นแถว ถามว่าเราสะท้อนใจไหม มากๆ ค่ะ คงไม่มีใครจะสามารถพูดได้ว่าเป็นยังไง เรารู้สึกเหมือนกับว่าการที่คนคนหนึ่งหายไป แต่คนที่ได้ชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกลับกลายเป็นเจริญเติบโต เหมือนเป็นการกระทำที่เราถูกเยาะเย้ย ถูกทำให้อับอาย ‘แล้วจะยังไง?’ อะไรแบบนี้ เหมือนชีวิตคนคนหนึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย
ถ้าถามว่าแตกสลายแล้วทำไง ความจริงแล้วเป็นความทุกข์ทรมาน มีกรณีของเพื่อนบ้านอย่างอ้ายสมบัติที่เขาไม่สามารถเรียกร้อง หรือทำกิจกรรมที่บ้านเขาได้ต้องมาทำที่เมืองไทย เราเจอเมียอ้ายตั้งแต่วันที่สามีเขาหายไป สิ่งที่เราทำได้คือนั่งนับปี
จัดงานมา 10 ปีแล้ว ของเรา 20 ปี เหมือนกับเรานับไปเรื่อยๆ (รอคอยอย่างไร้จุดหมาย) เราถูกคุกคามถึงชีวิตเวลาออกมาพูดก็จะเจอตลอด เป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งที่กระทำผิดแล้วกลัวการที่จะต้องรับโทษก็พยายามที่จะปิดปากเหยื่อโดยใช้วิธีการคุกคาม ใครโดนสักคนโดนอุ้มไปทั้งชุมชนจะกลัวไปหมดเลย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ทุกคนปิดปากเงียบไปหมด สุดท้ายจะเหลือแต่คนในครอบครัว
กรณีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ปี 2510 ชาวบ้านบอกว่าคนหายไปตั้ง 3,000 คน สิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือการเตือนใจตัวเอง ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์เมื่อมีการเอาคนไปเผา เลยมีอนุสาวรีย์ถังแดงให้เห็น ถามว่าทำอะไรได้มากกว่านั้นไหม ชาวบ้านเองก็อ่อนล้าเกินกว่าที่จะเรียกร้องความยุติธรรม เพราะตัวเองก็ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นประจำ กรณีชาติพันธุ์ลาหู่ (มูเซอดำ) รัฐไทยมองว่าคนพวกนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นอคติที่ฝังใจมาตลอด เจอที่ไหนก็คิดแบบนี้ เขาไม่มีบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีธนาคารฝากเงินไม่ได้ ทรัพย์สินต้องเก็บไว้ที่บ้านพอไปค้นบ้านเจอเงินก็ยึดไปแล้วอ้างว่าเป็นของที่ได้มาจากยาเสพติด แทนที่เราจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม เลยทำให้เรากลายเป็นคนที่ถูกกล่าวหา เป็นคนที่ถูกเย้ยหยัน ถูกลดทอน อยู่ในสภาพติดลบ พูดอะไรออกมาก็กลายเป็นโกหก
ประสบการณ์ที่ทำกับแม่ๆ หลายคน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เราจะเห็นเลยว่าแม่หลายคนก็เสียชีวิตไปพร้อมกับความโกหกหลอกลวง แล้วก็ไม่รู้ความจริงว่าสุดท้ายคนในครอบครัวที่หายไป หายไปไหน ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานมาก หลายคนอาจบอกว่า เราทำอะไรได้เยอะยังดีกว่าคนอื่น จริงๆ เราก็แตกสลายไม่ต่างจากคนอื่น แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเยียวยาจิตใจได้คือการที่เราทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในระดับไหนก็ได้ที่เราจะทำงานได้มากขึ้น เราดีใจว่าทำงานได้มากขึ้นในระดับชาติในระดับระหว่างประเทศได้ เราอาจจะตายไปพร้อมกับการไม่รู้ความจริงว่าสุดท้ายทนายสมชายอยู่ที่ไหน อย่างน้อยที่สุดเราได้ช่วยคนอื่น ช่วยให้เขาได้เปิดปาก ส่งเสียงเพื่อที่จะขอความเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้มีค่ามากเลยนะคะ เราเองก็ต้องเยียวยาจิตใจตัวเองตลอด ไม่ใช่คนเข้มแข็งมากมายที่จะบอกว่า ฉันผ่านมาแล้ว ไม่มีใครก้าวผ่านนะคะถ้าเราไม่รู้ชะตากรรม เพราะเราไม่รู้อยู่ๆ คนหายไปได้ไง ตายก็ไม่ตาย อยู่ก็ไม่อยู่ ชีวิตเราอยู่กับความกำกวม
ช่วงแรกหรือแม้ทุกวันนี้เวลาพบกับคนที่นานๆ เจอที เราต้องถูกถามว่า ‘ตกลงเป็นยังไง ตกลงเจอไหม’ ก็ต้องเล่าในสิ่งที่ไม่ได้อยากเล่า คือเราไม่รู้ว่าจะตอบยังไงมากกว่า เหมือนย้ำเตือนให้แผลที่จะแห้งไปหน่อยถูกสะกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก จริงๆ แล้วรัฐควรจะต้องบอกเราว่าพลเมืองของรัฐหายไปได้ยังไง คนคนหนึ่งจะหายไปโดยที่ไม่เหลืออะไรเลยได้ยังไงกัน ครอบครัวคนหายเรื่องการเงินมีความสำคัญมาก เพราะคนที่หายไปถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีภาระเยอะที่ผู้หญิงต้องแบกรับ รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน นอกจากนั้นเรื่องการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องของความยุติธรรม ก็มีความสำคัญมากเลยนะคะ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนมันก็จะใช้วิธีอุ้มหายนี่แหละ เพราะคิดว่าไม่ต้องรับผิดรับโทษ หายไปแล้วจะยังไง ในช่วง 10 ปีแรก เราก็ไปพบคนขอความช่วยเหลือตลอด ไปดักทางเข้าประตูบ้าง ทางเข้าห้องน้ำบ้าง เพื่อจะทวงถามจนเขาไม่อยากพบแล้ว นี่คือสิ่งที่ทุกคนพยายามทำมาตลอด สุดท้ายรัฐก็เลือกที่จะเงียบ
วันนี้เราก็ดีใจที่เสียงของครอบครัวดังขึ้น เพื่อที่จะบอกรัฐว่า ถึงแม้รัฐอายเกินกว่าที่จะยอมรับผิด แต่ว่าคนหายก็มีหน้าตาอยู่ว่าเขาคือใคร มีลูกมีหลานมีครอบครัว ไม่ว่าจะยังไงคุณก็ปิดบังไม่ได้ ใน พ.ร.บ. มาตรา 10 ที่ประกาศใช้แล้วจะเขียนว่า รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ดังนั้นจึงหวังว่าผู้เสียหายจะไม่ต้องไปยื่นขอร้องอ้อนวอนใครอีก ในรัฐธรรมนูญที่ว่าแปลกพิสดารอะไรก็แล้วแต่ เขียนไว้ว่ารัฐมีหน้าที่ต้องทำอะไร ยึดตัวกฎหมายเป็นหลัก เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องติดตาม ต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบ อย่าให้พวกแม่ๆ ต้องไปวิ่งไล่ตามร้องขอความเป็นธรรม
อยากบอกรัฐบาลไทย เราติดตามคดีบิลลี่ การหาตัวคนหายนี่ไม่ได้มาตรฐานนะคะ ทางคณะติดตามคนหายของสหประชาชาติเคยจัดการอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยมาแล้ว ว่าการหาตัวควรต้องทำยังไง มีแนวทางปฏิบัติในการหาตัวผู้สูญหายด้วย การหาตัวคนหายคือการหาตัวของเขา มีคนเอาตัวเขาขึ้นรถไปหลังจากนั้นเขาไม่กลับบ้าน คุณต้องหาตัวเขาว่าหลังจากนั้นเขาไปที่ไหน มีคนเอาตัวเขาไปไหน เพราะการหาตัวจะทำให้เรารู้เรื่องราวว่ามันเริ่มต้นตรงไหน และจุดสิ้นสุดมันอยู่ที่ไหน แต่ถ้าคุณมัวไปหากระดูกอย่างคดีบิลลี่ ก็หามาได้แต่กระดูก ถามว่าใครเป็นคนทำผิดคุณก็ตอบไม่ได้ (หรือไม่ต้องการจะตอบ?) สุดท้ายญาติก็จะไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วคนในครอบครัวเขาหายไปไหน ยังอยู่ไหม หรือตายไป บางวันมีคนบอกว่าน่าจะยังอยู่ที่ประเทศโน้นนี้ บางวันบอกว่าตายไปแล้ว ภาวะกำกวมกับอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ มันทำให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากกว่าที่เราจะรู้เลยว่า จริงๆ แล้วเขาเสียชีวิตหรือว่ายังอยู่
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : การที่เรามาพูดถึงเรื่องราวของคนที่สูญหายไป อาจจะเป็นความเจ็บปวด บาดแผล แต่พี่อังบอกว่านั่นอาจจะเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง หมายถึงการที่เราได้ทำเพื่อคนอื่น 20 ปีที่ผ่านมา พี่อังก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดูแลครอบครัวในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ในหน้าที่สิ่งที่พี่อังทำ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วนะคะว่า การไปทำหน้าที่ของพี่อังในทุกๆ เรื่อง นอกจากจะเรียกร้องความยุติธรรมให้คุณสมชายแล้ว ยังทำเพื่อครอบครัวคนสูญหายคนอื่นๆ ด้วย พี่อังได้ทำหน้าที่คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง ได้ทำหน้าที่กรรมการที่แท้จริง ที่เราได้เห็นบทบาทกันมาแล้ว ปัจจุบันการทำงานในสหประชาชาติ จนถึงรางวัลแมกไซไซที่พี่อังได้รับ (ปี 2019 พ.ศ 2562) นั่นคือกำลังใจที่พี่อังได้รับค่ะ (Ramon Magsaysay Award เปรียบเสมือนเป็นรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชีย[9])
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : เรื่องราวของพี่น้องลาหู่เป็นกรณีที่เราแทบจะไม่ค่อยได้ยินชะตากรรมของพวกเขาเลย หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ฟังเรื่องราวพี่น้องลาหู่จากพี่สีละในวันนี้ 20 ปี ที่ผ่านมาครอบครัวของผู้ที่สูญหายเป็นยังไงบ้างคะพี่สีละ ต้องสู้กันลำบากไหม พี่มีส่วนร่วมในการทวงถามความยุติธรรมให้กับพวกเขายังไงได้บ้างคะ
สีละ จะแฮ : ที่ผ่านมาผมก็เป็นตัวแทนผู้สูญหายของพี่น้องชาวลาหู่ เข้าร่วมงานกับองค์กรอื่นๆ อย่างนี้เป็นประจำต่อเนื่องนะครับ ‘สีละไปประชุมกับองค์กรอื่นมาแล้ว ได้เรื่องว่าเป็นยังไง’, ‘ความคืบหน้าไปถึงไหน’, ‘ที่ครอบครัวคนสูญหายทางหน่วยงานหรือองค์กรจะดูแลยังไง’ ฯลฯ อะไรแบบนี้ เป็นคำถามที่พวกเขาจะถามผม สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากถึงรัฐบาลตอนนี้ก็คือว่า อยากให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากับครอบครัวเหยื่อผู้สูญหาย 10 กว่ารายที่ผมพูดไปแล้วนะครับ เพราะลูกหลาน ภรรยาเขายังมีชีวิตอยู่ เขาต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่นะครับ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จับตัวเขาไป แต่การจะยังมีชีวิตหรือไม่มีแล้วก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องทำงานสืบหาต่อไป แต่อยากให้หน่วยงานมาติดต่อสมาคมลาหู่หรือว่าญาติพี่น้องโดยตรงก็ได้ ผมพร้อมที่จะร่วมมือ และร่วมทำงานกับหน่วยงานทุกๆ องค์กรนะครับ
ฝากถึงรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคม อยากให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ให้มาก ทุกวันนี้ พ.ร.บ ซ้อมทรมาน อุ้มหาย ก็ออกมาแล้ว อยากให้รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์ให้เข้าไปถึงหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ในพื้นที่อย่างบ้านผมไม่ว่าจะเป็นตำรวจทหาร อส. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน พวกนี้มีผลกระทบกับพวกเราทั้งนั้นเลย เพราะว่าเขาอยู่กับพวกเรา มีปัญหากระทบกระทั่งมากมาย อยากให้คำนึงถึงหลักปฏิบัติงานในด้านสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้ เพราะชาวบ้านเกิดมามีความเป็นมนุษย์เหมือนกันกฎหมายคุ้มครองก็น่าจะเท่าเทียมกัน อยากให้บังคับใช้กฎหมายมองความเป็นมนุษย์มากกว่า เพราะพื้นที่ติดชายแดน ป่าเขตอุทยาน ป่าสงวน การไปหากินในป่าก็ลำบากอู่แล้ว ถ้าถูกกระทำละเมิดสิทธิ์ซ้ำจะทุกข์ทวีคูณขึ้นไปอีกนะครับ
ทุกวันนี้สมาคมลาหู่ผมยืนหยัดคงสถานะองค์กรไว้ โดยที่ไม่มีหน่วยงานให้การสนับสนุนเลย เรายืนหยัดได้เพราะพี่น้องลาหู่เห็นว่าให้สมาคมเป็นตัวเชื่อมระหว่าง รัฐ เอกชน ชาวบ้าน เพราะเราไม่รู้จักวิธีการเขียนโครงการของบประมาณไม่ได้ ฝากถึงทุกองค์กรทุกหน่วยงานในที่อยู่ ณ ที่นี้ ถ้ามีอะไรแบ่งปันได้ก็น่าจะแบ่งปันมาถึงสมาคมบ้างนะครับ ขอบคุณครับผม
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : พี่สีละเห็นว่าทุกวันนี้มี พ.ร.บ. ทรมานและอุ้มหายแล้ว คาดหวังว่ารัฐจะมาให้ความรู้เจ้าหน้าที่ สถานการณ์ยาเสพติดเริ่มกลับมาเห็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายคุกคามต่างๆ ในพื้นที่ แนวโน้มสถานการณ์น่าจะรุนแรงขึ้น ตรงนี้เราก็ห่วงด้วย สมัยก่อนเราคุ้นเคยกับคำว่า ‘รัฐทหาร’ ปี 2543-2547 มี ‘รัฐตำรวจ’ ที่กำลังจะกลับมานะคะ หวั่นเกรงเป็นห่วงเรื่องนี้ไหมคะ
สีละ จะแฮ : พูดถึงเรื่องยาเสพติด น้ำท่วม ไฟไหม้ป่าก็หนีไม่พ้นโทษพวกเรา อะไรก็มาลงพวกเราหมด ผมอยากเรียนว่า คนมีทั้งดีไม่ดีใช่ไหมครับ แต่ผมอยู่ในพื้นที่รู้หมดว่าอะไรเป็นอะไร คนที่เอายามาถึงกรุงเทพได้นี่เขาขนไปแล้วหลายรอบ รอบสุดท้ายถึงโดนจับ พวกนี้หน่วยงานราชการกินด้วยกันหมดละครับ เอาเงินไปล่อชาวบ้านเหยื่อที่ไม่มีอะไร พอติดคุกแล้วลูกหลานก็เป็นเด็กกำพร้าเต็มไปหมด ไอ้ตัวที่เขาจับไปเป็นตัวน้อยๆ หมดเลย ตัวใหญ่เขาสนิทกันเขากินด้วยกันแล้วเขาไม่จับ สมมุติรอบนี้เอาไปกรุงเทพสองสามล้านเม็ด สองสามรอบผ่านไปได้ ปล่อยไป รอบสุดท้ายไปจับคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ‘เอาเงินมาให้ผม ผมก็จะซื้อให้เอาไหม?’ ทุกคนเป็นปุถุชน ต้องหาเช้ากินค่ำ ต่างคนต่างต้องการปัจจัยสี่ บางครั้งก็มี โลภ โกรธ หลง มีอยากได้
ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐไม่ควรเอาเงิน ผมอยากจะฝากถึงหน่วยงาน ป.ป.ส. ว่า หน่วยงานต่างประเทศที่มาช่วย ป.ป.ส. เอาเงินมาล่อไปนำจับแล้วกินหัวคิว จับได้ 100 เม็ด เขาได้เงินแล้ว 3,000,000 - 5,000,000 บาท ถึงแม้บางครั้งเอาเงินไปหมุนสองสามรอบได้กำไรเยอะแล้ว รอบสุดท้ายจับเอาผลงาน ไม่อยากจะให้มีขบวนการเอาเงินไปล่อซื้อจริงๆ เลย เอาเหยื่อไปล่อปลาก็กินเพราะปลาไม่ฉลาด แต่ปลาที่ฉลาดก็ล่อไปได้เยอะแยะ คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรให้เงินไปสิบล้านถือของมา สองสามรอบรอด รอบสุดท้ายโดนจับ ได้ยาไปขายด้วยได้เงินจาก ป.ป.ส. ด้วย ยาเสพติดถึงได้เต็มบ้านเต็มเมือง
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : แม่กัญญาคะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เหมือนวันที่สยามยังอยู่ แม่อยากเห็นอะไรบ้างที่อยากให้กลับมาเหมือนเดิม ถ้าเขาไม่ต้องลี้ภัยไปเจอเหตุการณ์ต่างๆ เรียนจบได้ทำงาน คิดว่าตอนนี้เขาน่าจะทำอะไรอยู่คะ
กัญญา ธีรวุฒิ : แม่ต้องการให้เหมือนเดิมทุกอย่าง กลับมากินผัดพริกถั่วเหมือนเดิม ก็เป็นความฝันของเรานั่นแหละ ความเป็นจริงก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่สี่ปีกว่า คงหมดโอกาสที่จะคิดแบบนี้แล้วแม่ว่านะ ถ้ายังอยู่จะช่วยพ่อทำงาน เคยคิดจะว่าไปสอบเป็นข้าราชการ เรียนรัฐศาสตร์มาคงไปสายกฎหมาย ‘เป็นไปได้เหรอลูกโอกาสเราดูริบหรี่เหลือเกิน ไม่น่าจะเป็นไปได้…’ ครอบครัวเดือดร้อนเรื่องเงินมากต้องผ่อนรถผ่อนบ้าน เพราะคนทำงานที่ช่วยเป็นหลักเขาเอาไปเก็บที่ไหน ใครเห็นใครทราบช่วยบอกแม่กัญญาหน่อยนะคะ ขอร้องละค่ะ นี่เข้าเดือนที่สามแล้วแม่ต้องไปกู้เงินเขาร้อยละ 10 มาผ่อนรถเพื่อไม่ให้เขามายึดรถไป ต้องทำใจหาตรงนี้โปะต้องโน้นใครจะช่วยเราได้ล่ะ บางครั้งนอน ‘สยามเอ๊ย…แม่เดือดร้อนใจกายหน้าที่การงานเพราะขาดหนูไป แม่ไม่คิดว่าหนูเล่นละครแล้วจะสูญเสียยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เลี้ยงหนูมาตั้งแต่ในครรภ์จนเติบใหญ่ จบปริญญาตรีหวังว่าจะช่วยทำงานครอบครัวจะได้สุขสบาย แต่มันเกิดความทุกข์มากมายเกินจะรับไหว’ ที่เราตามหากันนี่ทางการก็ไม่เหลียวแลเลยนะ คุณมีความสุขมากเลยนะที่ลูกเราสูญหาย หรือตายไปแล้ว คุณเข้าใจไหมเราทุกข์ เราคิดถึงลูกเรามาก ความเจ็บปวดนี้แบกอยู่คนเดียว อยากตะโกนให้ดังๆ เลยว่า คุณไม่มีลูกกันหรือไง คุณไม่รักลูกคุณเลยเหรอ?
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : นี่คือสิ่งที่ครอบครัวต้องแบกรับนะคะ กฎหมายใหม่ได้รับคำแนะนำปรึกษาแล้วคิดว่าจะช่วยแม่ได้บ้างไหมคะ และกรณีเรื่องของคดีการติดตามตัวผู้กระทำผิด แม่คิดว่าเรายังมีช่องทางไหนที่จะแสวงหาความยุติธรรมได้บ้างคะ ทางกฎหมายก่อนจะเยียวยาได้ต้องยอมรับก่อนว่า เขาสูญหายหรือเสียชีวิต ซึ่งพวกเราไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงคำเหล่านั้นเลย (ไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยาใดๆ เพราะไม่มีบทสรุปจากรัฐ)
กัญญา ธีรวุฒิ : จะเป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ต้องหวัง รัฐบาลชุดใหม่จะเหลียวมามองกระดาษแผ่นน้อยสักนิดหนึ่งไหม เพื่อหันมาเยียวยาครอบครัวเขา ที่เดือดร้อนจริงๆ คุณเห็นใจเขาไหมอย่าเห็นใจแต่ตัวเอง เรื่องติดตามตัวผู้กระทำผิดมองไปทางไหนก็มีแต่ทางตัน เป็นไปไม่ได้ กฎหมายนี้รุนแรงยิ่งใหญ่ถึงกับเอาชีวิตกันเลย ใจร้ายนะ ถ้าเป็นลูกเราเรียกมาอบรมก่อนดีไหม ตักเตือนรอบแรกกันก่อนไหม ไม่ใช่ความผิดเพียงแค่นี้เอาถึงชีวิตมันก็แรงไปนะ ทำยังไงถึงจะได้รับความยุติธรรมจากรัฐคะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : แม่ชาลิสาคะ แม้ว่าเรารับรู้แล้วว่าคุณภูชนะคงจะไม่อยู่แล้วจริงๆ แต่ว่า ณ วันนี้ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นความรู้สึกของคนในครอบครัว ถ้าคุณภูชนะยังอยู่มีอะไรบ้างที่แม่อยากจะขอให้เหมือนเดิมคะ (ช่วยกันปลอบโยนเพื่อเยียวยาใจ)
ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี : ขอความเป็นปกติของครอบครัวภูชนะค่ะ ตอนนี้ไม่มีพ่อลูกต้องดูจากใคร ความรู้สึกของแม่ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้ลูก การจะกลับมาเหมือนเดิม บางทีคิดได้แต่เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะตายไปแล้ว ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะมีเขาเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าพอเห็นคนอื่นเขาหนักมากมายหลายเท่ากว่าที่เราโดน ก็คิดว่าสักวันฟ้ามีตาหมายถึงว่าจับคนผิด หรือว่ามีอะไรสืบเนื่องมาให้ดีกว่านี้ ไม่งั้นมันมืดมาก ทั้งที่ตอนยังอยู่แกเป็นคนดี แต่ว่าเป็นเสื้อแดง ปี 2553 ก็นำทีมที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ลงมาแล้วโดนล้อมปราบ สุดท้ายคนรู้ว่ามีศพถูกเกณฑ์ไปอยู่ที่จังหวัดระยอง แกก็ดิ้นรนจะหาคนมาแทน ต้องไปเฝ้าศพเสื้อแดงที่ระยองเพราะมีหมามาคาบกระดูก เมื่อก่อนแม่ฟังก็รู้สึกมันเกินไปหรือเปล่า ตอนหลังถึงได้รู้ว่าเป็นเรื่องจริง ตอนนั้นไม่มีการสืบสวน แกไม่ยอมถอยถลำลึกลงเรื่อยๆ จนมีปฏิวัติต้องหนีข้ามฝั่ง เพราะจะโดนหมายเรียกไปปรับทัศนคติ ก็ไม่เข้า จนไปอยู่ลาวแล้วลูกถามจะกลับบ้านไหม เพราะอาจติดคุกไม่นานนะมีญาติอาจช่วยได้ แกก็ไม่ยอมเพราะไม่ได้ทำผิดต้องไม่ติดคุก
ก่อนที่แกจะเข้าการเมืองเต็มตัวมีรุ่นพี่ที่เป็น สส.ชื่อ ฉลอง บุตรกานต์ สมัครเข้าพรรคเพื่อไทย ทางพรรคโอเคได้เป็น สส. ลงมุกดาหารแน่ พิมพ์เสื้อเพื่อไทยรอใส่ทำงาน ไม้สุดท้ายเขาส่งคุณอนุรักษ์ลง ก็เลยเป็นความชอกช้ำ แต่แกก็ยังไม่เลิกการเมืองบางทีมีมารวมกลุ่มที่บ้าน มีเรื่องอะไรก็กลับมาเล่าไม่ว่าจะเป็นตอนหนีข้ามชายแดนลาวแล้วเพื่อนโดนยิง แต่แกใช้ไหวพริบวิ่งเข้าหาตำตรวจเลย ‘พี่ผมหนีข้ามมา’ ก็เลยรอดแต่ต้องไปโดนขังคุกที่ลาว ถ้าตอนนี้แกยังอยู่คงมีเรื่องเล่าเยอะ คนในครอบครัวก็รอฟังเรื่องเล่า ไม่คิดว่าไม่ทันได้เล่าก็หายไปก่อน ถ้าเราพูดไปคนจะนึกว่าพูดเองรึเปล่า มีข้อมูลเยอะแยะเพราะแกรู้ลึกรู้จริงเรื่องการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เสียดายที่ไม่ได้จดบันทึกไว้ ….
พอทักษิณกลับบ้าน (22 สิงหาคม 2566) ก็สะท้อนใจเพราะแกเป็นคนที่ชื่นชอบทักษิณมากๆ ถ้ายังอยู่แกต้องไปรับแน่ค่ะ ทักษิณเป็นนายกเราทำมาค้าขายดี ตอนยังไม่กลับก็รอเมื่อไรจะกลับ ตอนนี้คนที่จะไปรับตายหมดแล้ว ฝากถึงคุณทักษิณ ที่บ้านจะเป็นเสื้อแดงเต็มร้อย แต่พอสามีเราเป็นแบบนี้ไม่ได้รับการเหลียวแลเลย ก็เสียใจแทนเขานะ พูดไปก็เท่านั้นนะเราเป็นแค่คนเล็กๆ นะคะ เขายังมีปัญหาที่ต้องเจออีกเยอะ แต่เราก็ทำดีที่สุดแล้วค่ะ จะเป็นเสื้อแดงหรืออะไรก็ให้พอเหมาะพอควร แต่ของคุณภูชนะแกจะทุ่มสุดๆ เลย พอลูกพี่ไม่ได้เป็น สส. ก็เลยสู้กันมาตั้งแต่ปี 2553 สู้จนสุดชีวิต ตอนตาย สส.พรรคเพื่อไทยนัดจะมางานตอนบ่ายก็หายไป วันนี้เราต้องกินข้าวกับ… ไม่มีตัวตน รู้สึกเศร้าเพื่อนพี่น้องมาตามคนที่สูญหายก็ลำบากใจไม่สบายใจ วันนี้เป็นการมากินข้าวด้วยกันนะคะ ก่อนกลับอย่าลืมทานแกงหน่อไม้ภูชนะกันหน่อยค่ะ
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ป้าน้อยปีนี้อายุเท่าไหร่คะ ยังขายของในเฟซบุ๊กอยู่นะคะ?
ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ป้าน้อยเกิด 2500 อายุ 66 แล้วยังต้องหาเงินไปใช้หนี้ค่าปรับนายประกันศาลพัทยาอยู่ค่ะ ปรึกษาทนายอานนท์ นำภา ไว้เมื่อสองสามปีก่อน ถ้าครบ 5 ปีแล้วยังใช้หนี้ไม่หมดป้าสามารถหยุดจ่ายได้ไหม ทนายอานนท์บอกได้ ศาลมีกฎว่าถ้าไม่จ่ายภายในวันที่ 28 ของทุกเดือน (ยึดเดือนกุมภาพันธ์เป็นหลัก) ศาลจะต้องมีบทลงโทษตามที่ทำสัญญาไว้ว่า ต้องจ่ายเดือนละ 3000 บาทจนกว่าจะครบ ไม่งั้นจะมีความผิด ฐานที่มาขอความเมตตาต่อศาล ศาลก็ให้แล้ว บางคนเข้าใจว่าคำสั่งศาลศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ‘ป้าน้อย อาจารย์สุรชัยไม่ได้ทำผิดแล้วก็ตายไปแล้ว ไปจ่ายให้เขาทำไม’ ไม่สามารถหยุดจ่ายได้ค่ะ ไม่รู้ว่าโทษเท่าไรนะคะ ถ้าหยุดจ่ายนายประกันเดือดร้อนเขาไม่ได้ทำความผิดอะไร ไม่คิดว่าคุณสุรชัยจะต้องหลบหนี ไปขอใช้ตำแหน่งประกันตัวเพราะคุณสุรชัยยังติดคดี 112 อยู่ที่เรือนจำกรุงเทพ ไม่มีทางที่จะหลบหนีไปได้ แต่เมื่อมีการอภัยโทษพิเศษได้พ้นโทษออกมา แล้วเกิดการรัฐประหาร คุณสุรชัยคิดว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจต้องตายในคุกแกไม่อยากตายเหมือนอากง อยู่ข้างนอกยังหาทางรักษาได้ อยู่ในเรือนจำหาทางรักษาโรคลำบากมาก
คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็เคยเล่านะคะ เรื่องนักโทษคดีการเมืองคนอื่นก็เคยเล่าตอนที่พ้นโทษออกมาแล้วว่ายากลำบากมาก แม้แต่ยาพาราเขาก็ถือว่าเป็นยาอันตรายมีสารเสพติด ให้ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 1 เม็ด กว่าจะได้บางทีหลายวันนะคะ ไม่ง่ายถ้าป่วยปุ๊บแล้วจะได้รับการรักษา เป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก คุณสุรชัยเกิด 24 ตุลาคม (วันสหประชาชาติ) ปี 2485 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะอายุ 81 ปี ก่อนหายไปได้ฟังแกพูดผ่านคลิปบอกว่า ความหวังบั้นปลายชีวิตก็อยากทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ให้ชาวบ้าน ให้ท้องถิ่น ถ้าได้กลับบ้านก็จะอยู่อย่างสงบ อยากเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ของแก อยากให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย อยากช่วยบ้านเกิดที่นครศรีธรรมราช พืชผลการเกษตรถูกกดราคาก็อยากช่วยไม่ให้ถูกกดขี่ กดราคาจากพ่อค้าคนกลาง อยากประสานทุกภาคส่วน ผลไม้แต่ละภาคไม่เหมือนกัน น่าจะมีการแลกเปลี่ยน มีองค์การบริหารส่วนตำบลประสานงานเพื่อขนส่งสินค้าไปขายให้ได้ราคาดีไม่ตกต่ำ ป้าน้อยคิดว่าความหวังริบหรี่แต่ก็ยังหวังอยู่
อยากขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล ได้เลือกตั้งออกมาเป็นระบอบประชาธิปไตย จะครึ่งใบหรือไม่กี่ส่วนของใบก็แล้วแต่ ก็อยากให้ปรับปรุงให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมมีความเสมอภาคพอสมควร อย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อนจนไม่มีงานทำ ไม่มีจะกิน กดขี่ขูดรีด ค่าน้ำค่าไฟก็ไม่มีจะจ่าย โรงงานถอนออกไปประเทศอื่น ลูกหลานจบออกมาตกงานกันเยอะ ไม่มีโอกาสได้ทำงานในประเทศ จนสื่อต่างประเทศเขามีการวิเคราะห์ว่า เราอาจต้องไปรับจ้างประเทศที่เคยเป็นแรงงานของเรา ที่การเมืองบ้านเขามั่นคงกว่าเรา ลาวเงินกีบลดค่าจนไม่มีการรับรองแล้วค่ะ เป็นประเทศที่สามไม่มีความหมาย เขาเตือนว่านักธุรกิจไทยที่ยังไปลงทุนอยู่ก็อาจมีการล้มละลายได้ ป้าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ฟังข่าวแล้วก็เป็นห่วงประเทศของเรา ว่าจะวิกฤติไปถึงขั้นนั้นรึเปล่า อยากให้รัฐบาลใหม่ทำจริงอย่างที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ใช่พูดเพราะเป็นวิธีหาเสียงเท่านั้นให้ความฝันลมๆ แล้งๆ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข : อดีตคอลัมนิสต์เว็บไซด์ประชาไท, ประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย, แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, ผู้ได้สมญานักโทษทางความคิด[10] ร่วมให้ข้อมูลเบาะแสการตายของสุรชัย แซ่ด่าน
ผมจะไม่ขอพูดให้กำลังใจนะเพราะว่าใกล้ชิดกันอยู่แล้วก็ให้กำลังใจ กำลังทรัพย์ กำลังกาย ตลอด 3-4 ปี ที่ผ่านมา อยากเพิ่มข้อมูลผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้งหมด 9 คน เป็นผู้ประกาศเป้าหมายและอุดมการณ์ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น สาธารณรัฐ (Republic) ทั้งคุณสุรชัย, ลุงสนามหลวง (ชูชีพ ชีวะสุทธิ์), Young Blood, ข้าวเหนียวมะม่วง, สยาม ฯลฯ ที่ถูกอุ้มไปก็อยู่ในทีมงานที่ประกาศเปลี่ยนแปลงประเทศไทย มันเป็นจุดหนึ่งของการอุ้มฆ่าทางการเมืองนะครับ ซึ่งปกติการอุ้มฆ่าระหว่างประเทศทำยากมากนะ เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเป็นเอกชนหรือโจรธรรมดาจะอุ้มข้ามประเทศได้ เพราะฉะนั้นมันต้องใช้ความเป็นรัฐเข้าไปอุ้ม ที่ผมพูดนี่ไม่เกินเลยนะที่จะพูดถึงประวิตรกับประยุทธ์ สองท่านนี้พยายามจะขอผู้ลี้ภัยจากลาวกลับประเทศไทยหลายครั้งในปี 2561 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการที่ลาวจะส่งตัวคนเหล่านี้เข้ามา ผมพูดไว้เพื่อจะยืนยันอีกครั้งนะครับว่า วันที่ 13 ธันวาคม 2561 คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ที่เวียงจันทน์ กลับประเทศไทยวันที่ 14 ธันวาคม 2561
ภาพสุดท้ายของสามคนที่ถูกอุ้มหายกลายเป็นศพ 3 ศพ เกิดขึ้นในวันที่ 12 แน่นอน เวลาหกโมงเย็นยังมีชีวิตอยู่ ภาพสุดท้ายที่ปรากฏคือเผาข้าวหลาม มีหลักฐานยืนยันว่าสัญญาณโทรศัพท์ LINE สิ้นสุดประมาณตีสอง ตกเป็นสัญญาณสิ้นสุดวันที่ 13 ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร แต่ทางฝั่งไทยที่ส่งข้อความไปทักตอนตีสองมีคำว่า ‘อ่านแล้ว’ อุ้มแล้วศพอยู่ฝั่งไทยแน่ๆ เขาบอกว่าก่อนหน้านั้นตายที่ลาว ไม่เกี่ยว ประเทศไทยรัฐบาลไม่ทำอะไรแต่พอศพมาโผล่ที่นครพนม น่าสนใจก็ตรงที่สถาบันนิติเวชบอกว่าตายแล้ว 12 วัน ศพของคุณสุรชัยพบเมื่อ 26 ธันวาคม 2561 ถ้า 12 วัน ลบออกไปก็เป็นวันที่ 14 ธันวา แต่ถ้าสถาบันนิติเวชผิดก็ไม่เป็นไรนะคือว่าเขาคำนวณจากลักษณะศพ ก็น่าจะตายวันที่ 14 ธันวา
ความเป็นไปได้ก็คือว่าอุ้มจากฝั่งลาวเข้ามาฝั่งไทย เป็นข้อสันนิษฐาน การที่อุ้มข้ามมาได้ก็เพราะคุณประยุทธ์อยู่ที่ลาว ไม่ยืนยันไม่ปรากฏหลักฐานนะครับ แต่ถ้ารัฐบาลใหม่หรือใครที่เกี่ยวข้อง อสม. ต่างๆ ไปดูข้อมูลได้ ประยุทธ์เอาเงิน 80 ล้านไปมอบให้รัฐบาลลาววันที่ 13 ธันวาคม 2561 เวลา 17.30 น. อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอุ้มหายก็ได้ แต่มันน่าสงสัยเท่านั้นเองว่า ทำไมถึงปล่อยให้เกิดการอุ้มหาย นี่ 3 ศพ เท่านั้นนะครับที่เกิดขึ้นที่เวียงจันทน์ 12-13 ยังมีชีวิตอยู่ 14 ก็อาจจะเป็นวันสิ้นสุด 14 ธันวาคมนี่สำคัญนะครับ ที่สำคัญมากๆ คือช่วงที่สองสามคนที่ถูกอุ้มหาย คือ ลุงสนามหลวง (ชูชีพ ชีวะสุทธิ์), สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย ปรากฏเป็นครั้งแรกตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เหตุไฉนมาตรงกับวันนี้ ไปค้นหาดูว่าตรงกับวันอะไรมาเกี่ยวข้องยังไงนะครับ[11]
อย่าหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรให้ไหม ผมบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลเดิมก็ยังอยู่ แล้วรัฐบาลเดิมไม่ทำอะไรเลยอย่างที่เราพูดกันนี่นะ แม้งานศพยังไประรานถึงวัดวารีน้อยเลย มันคือหลักฐานยืนยันว่ารัฐนั่นแหละเป็นคนอุ้ม เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม หรือคืนความเป็นธรรมให้ไม่มี แม้กระทั่งปัจจุบันมี พ.ร.บ. อุ้มหายแล้วก็ตาม คือหลักฐานยืนยันว่าฝีมือของรัฐล้วนๆ เรียนให้ทราบเพื่อความเป็นธรรมหลายๆ อย่าง กรณีคุณสุรชัยผมไปยื่นหนังสือ 201 ให้ก้าวไกลครั้งแรกเลยนะครับ ก้าวไกลไม่รับหนังสือปฏิเสธเมินหน้าไม่สนใจ คำตอบคือยังไม่ยุ่งกับเรื่องนี้
เรื่องนี้เป็นความแปลก แปลกที่สุดในคดีฆาตกรรมทั้งหลายทั้งปวงจนมาถึงเรื่องวันเฉลิมทุกฝ่ายถึงเอาด้วย แต่ก็เอาด้วยแบบฉาบฉวยไม่ได้เต็มที่เข้าไปสืบสวนสอบสวน เพราะกรณีวันเฉลิมดังกว่าเรื่องอื่นๆ ครับ
คุณแหวน ผู้ร่วมงาน ถาม : ในกรณีที่มีญาติผู้สูญหายมาปรากฏตัวในงานวันนี้ ทำให้เราสะท้อนไปถึงญาติผู้เสียหายที่ญาติไม่มาอย่างเช่นลูกศิษย์เรา ดีเจซุนโฮ หรือ น้องเบียร์ ทำให้เราสงสัยว่าญาติเขาถูกข่มขู่คุกคามด้วยหรือไม่ หรือเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวญาติของผู้ที่ไม่มาเลย
สมยศ พฤกษาเกษมสุข : อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) จังหวัดตาคลี เป็นคนแก่แล้วไม่มีพ่อแม่อยู่กับยาย ผมติดต่อครั้งสุดท้ายยายแกเล่าว่า ซุนโฮมาเข้าฝัน ผมไม่เชื่อแต่น่าสนใจมาก บอกว่าซุนโฮตายที่ลาวบอกพิกัดถูกด้วย ผมให้พวกที่ลาวไปดูพิกัดที่แกว่า เจอศาลาเพียงตาอยู่ที่นั่น แต่ก็ไม่มีใครไปขุดดูว่ามีศพหรือไม่ แกบอกว่ามีการคุกคามจริงมีทหารไปติดต่อที่บ้าน แต่ด้วยความเป็นคนแก่บ้านนอกก็เกิดความหวาดกลัว แม้กระทั่งผมเองก็ไม่ยอมให้ไปพบนะ ได้คุยทางโทรศัพท์แล้วแกก็ส่งรูปมาให้ (ศาลเพียงตา) เพราะฉะนั้นครอบครัวนี่สำคัญนะครับ NGO แบบ AI แบบ Cross Culture นี่ก็สำคัญนะ ถ้าไม่มีครอบครัวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมก็จะเป็นแบบดีเจซุนโฮ แต่ก็ยังก้าวหน้ากว่าหลายเคส เพราะมีเพื่อนดูแลไว้ก็เลยปรากฏหลักฐานเยอะ แต่ว่าไม่มีตัวแทนความเป็นผู้เสียหายเหมือนกับครอบครัว เราจึงดำเนินการไม่ได้ เพราะว่าซุนโฮมีคนที่เกี่ยวข้องแล้วเรารู้ด้วยว่าเป็นใคร ปรากฏภาพหลักฐานชัดเจน รวมถึงบทสนทนาใน LINE รับงานมาสามแสนบาท แต่เราทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ใช่ญาติ นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งของกฎหมายด้วย
ถ้าไม่มีตัวแทนที่กระตือรือร้นไฟท์แบบคุณกัญญาแบบป้าน้อยก็จะหายไป กรณีลุงสนามหลวงก็ระกำที่สุด เพราะครอบครัวถูกคุกคามแบบแย่มากๆ จนเขาไม่สามารถที่จะมาเสนอตัวเองได้ เพราะกลุ่มนี้ถูกปราบปรามอย่างหนัก คนที่ไปนิยมชมชอบแนวคิดแบบสาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ โดนดำเนินคดีหมดเลย ตอนหลังยกฟ้อง ทั้งหมดคือเครื่องยืนยันว่ารัฐไทยคือฆาตกรตัวจริง : สมยศ ยืนยัน
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ผู้ถูกกระทำให้สูญหาย เขาจะยิ่งสูญหายไปถ้าไม่ได้รับการพูดถึง นี่คือคำตอบนะคะ พี่อังคะหลังจากนี้แล้ว ต่อให้หลายคนไม่มีช่องทาง ไม่ได้รับความยุติธรรม ดูแล้วไม่มีความหวังแต่ว่ากระบวนการทางกฎหมายยังพอทำให้ญาติของผู้สูญหายทุกคนสามารถที่จะมีความหวังกับความยุติธรรมต่างๆ ต่อไปได้ยังบ้างคะ
อังคณา นีละไพจิตร : วันนี้เรามีกฎหมายแล้วนะคะ อุปสรรคสำคัญของครอบครัวคือความกลัว เราบอกไม่ได้เลยว่าความกลัวหนักแค่ไหน คนที่ไม่เคยเผชิญกับความกลัวจะไม่รู้หรอกนะคะ บางทีการที่ใครคนหนึ่งจะพูดอะไรออกมา มันไม่ใช่เพียงแค่เขาออกมาเรียกร้อง แต่หมายถึงคนในชุมชนต้องสนับสนุนเขา ช่วยกันปกป้องเขา ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ระแวดระวัง ไม่อย่างนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าสมมุติเราออกมาพูดกันเป็นขณะเดียวกับที่ญาติออกมาบอกว่า ‘จะไปมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่เหรอ’ ถ้าคุณออกมาพูดแล้วลูกไปโรงเรียนไม่ได้ หรือว่าทำมาค้าขายไม่ได้ ถามว่าคุณออกมาพูดแล้วได้อะไร เคยคุยกับญาติหลายคนญาติบางคนบอกว่า ‘เราเสียคนในครอบครัวไปแล้วคนหนึ่ง อย่าให้เราต้องเสียคนในครอบครัวเราไปอีก’ เพราะการพูดความจริงไม่ได้แปลว่าคุณจะปลอดภัยนะคะ
เรามีกฎหมายนะคะ คนที่ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ เป็นคนรู้จักเป็นคนอื่นก็สามารถที่จะร้องเรียนได้นะคะ ทนายความก็ร้องเรียนแทนญาติได้ เนื่องจากว่ามีบางกรณีที่มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปแล้ว แต่ในขณะที่อยู่ในบ้านเขาถูกคุกคามแทบทนไม่ได้ สุดท้ายเขาไม่สามารถที่จะทนอยู่ได้อีก ใน พ.ร.บ. ที่เพิ่งประกาศใช้คนอื่นก็ร้องเรียนแทนได้ ขอแค่ว่าได้รับความยินยอมจากญาติ เพราะฉะนั้นการร้องเรียนเป็นเรื่องง่าย ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่คณะทำงานสหประชาชาติได้ ส่งอีเมลไปแป๊บเดียวแบบฟอร์มดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ ให้ใครช่วยแปลก็ได้ ในขณะเดียวกันชุมชนสังคมช่วยเขาได้ ออกมาอยู่กับเขาเป็นเพื่อนเขา สนับสนุนให้เขาขอความเป็นธรรมได้
การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมโดยรัฐถือว่าเป็น State Prime (อาชญากรรมรัฐ) เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ถ้าการบังคับสูญหายเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบก็จะเข้าข่ายธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ[12] (International Criminal Court – ICC) พ.ร.บ. ร่างแรก ในด้านของ สส. ระบุไว้ว่า การบังคับสูญหายเป็นความผิดซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่ สว. เอาไปตัดออก ก็ไม่เป็นไร เพราะฐานความผิดนี้ตามกฎหมายสากลก็ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้อยู่ดี
ความยากลำบากของเหยื่อที่สูญหายในระหว่างข้ามพรมแดน ถ้าเรามองดูในอาเซียนหรือในภูมิภาคแม่น้ำโขง จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศจะไม่ร่วมมือกัน กรณีของสหายภูชนะแท่งคอนกรีตที่อยู่ในท้องเขา พิสูจน์แล้วว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้มีการตามต่อว่าแล้วมันมาจากประเทศไหน มาได้ยังไงกรณีที่จะตามหาคนหายหรือคนที่เสียชีวิตต้องตามสืบตั้งแต่ต้นว่า หลักฐานที่เรามีมันเชื่อมโยงถึงใครต้องขายผล น่าเสียดายที่ตอนนี้ตำรวจยุติคดีไปแล้ว เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด อย่าลืมว่าคดีการเสียชีวิต การฆาตกรรม เป็นความผิดอาญาแผ่นดินอายุความ 20 ปีระหว่างนี้รัฐจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้น ในเรื่องความร่วมมือต่อความร่วมมือระดับภูมิภาค นอกจากรัฐกับรัฐยังไม่ได้ร่วมมือกันแล้ว แม้แต่สถาบันสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ซึ่งควรจะร่วมมือกันในการตรวจสอบเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ก็ยังไม่ได้ตรวจสอบ
ถ้าลองสังเกตกรรมการสิทธิ์ชุดที่สองสาม เราเคยตรวจสอบข้ามพรมแดนเรื่องของธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสมัยหมอนิรันดร์ก็จะไปประจำในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจะตรวจสอบว่า นักลงทุนไทยไปทำให้เกิดความเสียหายให้ประเทศเพื่อนบ้านยังไง แต่ว่ากรรมการสิทธิ์ชุดนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีความพยายามที่จะตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ในเอเชียเรามีสถาบันสิทธิมนุษยชนเอเชีย (CNF) ซึ่งสถาบันสิทธิมนุษยชนในเอเชียควรร่วมมือกันในการที่จะตรวจสอบก็เป็นอีกเรื่องที่อยากจะฝากไว้
การบังคับสูญหายเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง หมายความว่าคนที่หายไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ววันนี้เขายังหายอยู่ ดังนั้นจะไปเข้าตามมาตรา 10 รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และเยียวยาความเสียหายดังนั้นญาติใครที่หายก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้จะประกาศใช้ก็สามารถที่จะไปแจ้งความต่อหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อัยการ, DSI ฯลฯ เพื่อที่จะให้มีการตรวจสอบได้ คดีบังคับสูญหายจะไม่มีอายุความ อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อเราทราบที่อยู่และชะตากรรม เป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์
สุดท้ายก็อยากขอบคุณครอบครัวที่มา เราเจอกันหน้าซ้ำๆ การไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจากการออกมาพูดทำให้สังคมรู้ว่าเราไม่ลืมคนหาย แม้ว่าเราจะต้องพยายามก้าวข้ามความกลัว แต่เราก็ยังพยายามจะทำให้เรื่องราวของเขา ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ตรงนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นเตือนสังคมว่า สังคมโดยเฉพาะรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อพลเมืองของรัฐ สิ่งหนึ่งซึ่งอยากจะแลกเปลี่ยนคือ กรณีของคุณสมชายตำรวจที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลกันไปหมดแล้ว ในขณะที่เรายังอยู่ที่เดิม เราไม่เคยอายในการที่เราถูกคุกคาม เรายังใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง เรายังคงมีชีวิตอยู่อย่างถ่อมตัว แล้วใช้ชีวิตอย่างไม่กลัว เพราะเรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำผิด ไม่ว่าใครจะมีความผิดแค่ไหนเขาควรจะถูกนำเข้ากระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ถูกทำให้หายไปเฉยๆ โดยที่ไม่มีความพยายามในการค้นหา
ความทุกข์ทรมานจากการไม่รู้ชะตากรรม มันทรมานยิ่งกว่าการสูญเสียอย่างอื่น เราไม่สามารถตอบเด็กๆ ลูกหลานเราได้ว่าคนในครอบครัว พ่อเขาไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือตาย ทุกครั้งที่เด็กต้องกรอกใบสมัครต่างๆ ว่าพ่อมีชีวิตอยู่หรือไม่อยู่ มันย้ำเตือนเป็นบาดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า หวังว่ารัฐบาลหลังจากที่ผ่านกฎหมายและมีผลในทางปฏิบัติแล้วจะรีบเร่งในการดำเนินการ จะไม่ปล่อยให้เป็นภาระของครอบครัว ที่ต้องมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่รัฐต้องตอบเราว่าเรื่องราวแต่ละคดีสรุปแล้วคนที่ถูกทำให้หายไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนรับผิดและชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
“การสูญหาย” ตามอนุสัญญาหมายถึง การจับกุม การคุมขัง ลักพาตัว ลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มบุคคล หรือบุคคล ซึ่งกระทำการโดยได้รับอนุญาต หรือสนับสนุน หรือการยินยอมโดยปริยายของรัฐ ฯลฯ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้
ผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่เราได้รับรู้จากสื่อ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่น้อยนิด ทุกสถานะหายไปเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างอำนาจกฎหมาย และหยิบยื่นความตายแทนคำตอบตลอดมา นับตั้งแต่ ปี 2490 เตียง ศิริขันธ์, ปี 2492 สส.อีสานถูกอุ้มหาย, ปี 2510 (ถังแดงอัดปูนปิดศพ), 2534 ทนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มหายในตำแหน่งวุฒิสภาและประธานสหภาพแรงงาน, ปี 2535 พฤษภาทมิฬ หายไปทั้งกลุ่ม, ปี 2547 สมชาย นีละไพจิตร ทนายความ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ปี 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักสิทธิมนุษยชน และ สยาม ธีรวุฒิ นักเคลื่อนไหวละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า”, 2564 วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ชวนให้ตั้งคำถาม เราทำอะไรได้ไหมนอกจากรับฟัง เราทำอะไรได้บ้างนอกจากสงสารเห็นใจ แล้วได้รับข่าวคนหายรายต่อไปเพิ่มขึ้นทุกปี … หวังว่านิทรรศการและงานเสวนาร่วมรับรู้ความทุกข์ ปลอบโยนผู้อยู่ข้างหลัง จะเป็นอีกหน่วยที่ช่วยรวมพลังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ในแนวทางแก้ปัญหาของสามัญชนซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ต่อไป โดยมีรัฐบาลใหม่เป็นความหวังตั้งต้น จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจให้ความยุติธรรม ไม่ใช่แค่คำหาเสียงเพียงเพื่อประชานิยมเท่านั้น.
หมายเหตุสำคัญ ขอบคุณภาพ และวีดิทัศน์
- Cr. photo & video : facebook : KINJAI CONTEMPORARY
- Cr. photo & video : facebook : Amnesty International Thailand
- Cr. photo & video : facebook : Cross Cultural Foundation (CrCF)
- Cr. photo : facebook : Nuntawat Jarusruangnil : Eyedropper Fill
ข้อมูลเพิ่มเติม :
สื่อออนไลน์
- Amnesty International Thailand, (5 กรกฎาคม 2566). “สมยศ พฤกษาเกษมสุข ‘อดีตนักโทษทางความคิด' ที่เชื่อว่า ‘ราษฎร’ มีพลังเสรีภาพ จาก…จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ,” สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566.
- BBC NEWS ไทย. (11 มีนาคม 2019). “จาก ทักษิณ สู่ ประยุทธ์ การสูญหายของ สมชาย นีละไพจิตร กับ ไฟใต้ ที่ยังไร้คำตอบ,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
- ICRC blog Thailand. (22 กันยายน 2022). “ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL),” สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566.
- ilaw. (18 ตุลาคม 2562). “พระราชกำหนด 101: ทำความรู้จักกฎหมายในมือรัฐบาล,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
- The Modernist. (8 กันยายน 2566). “มากกว่าโต๊ะอาหารที่ว่างเปล่า คือเรื่องราวของ "ผู้ถูกบังคับสูญหาย,” สืนค้นเมื่อ 9 กันยายน 2566.
- Prachatai. (8 กันยายน 2022). “การหายไปของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (และผองเพื่อน) | อ่านให้ฟัง,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
- ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. The Standard. (02 สิงหาคม 2019). “อังคณา นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนของไทย คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2019,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
- ประชาชาติธุรกิจ. (12 มิถุนายน 2566). “เปิดประวัติ “แยม ฐปณีย์” นักข่าวภาคสนามสายลุย,” สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566.
- ประชาไท Prachatai.com. (31 สิงหาคม 2021). “รู้จัก ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ผู้ลี้ภัยการเมือง จากเวียดนามสู่หนไหน (ยัง)ไม่มีใครรู้,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
- ประชาไท. (09 พฤษภาคม 2019). “ภาคีไทยเพื่อสิทธิฯ' แถลง 'ลุงสนามหลวง' กับพวกอีก 2 คน ถูกส่งตัวกลับไทย จี้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน,” สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566.
- วจนา วรรลยางกูร, The101, (1 กรกฎาคม 2020), “พ่อของเขา ความทรงจำของเรา และความตายที่ไม่มีวันจบ,” สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566.
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (17 ตุลาคม 2562), “สยาม ธีรวุฒิ: จากลูกชายของแม่ สู่ “ศัตรูของชาติ” และการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรม”,” สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[1] The Modernist. (8 กันยายน 2566). “มากกว่าโต๊ะอาหารที่ว่างเปล่า คือเรื่องราวของ "ผู้ถูกบังคับสูญหาย,” [Video], สืนค้นเมื่อ 9 กันยายน 2566.
[2] ประชาชาติธุรกิจ, (12 มิถุนายน 2566), “เปิดประวัติ “แยม ฐปณีย์” นักข่าวภาคสนามสายลุย,” [online] สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566
[3] BBC NEWS ไทย, (11 มีนาคม 2019), “จาก ทักษิณ สู่ ประยุทธ์ การสูญหายของ สมชาย นีละไพจิตร กับ ไฟใต้ ที่ยังไร้คำตอบ,”[online], สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[4] ประชาไท Prachatai.com, (31 สิงหาคม 2021), “รู้จัก ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ผู้ลี้ภัยการเมือง จากเวียดนามสู่หนไหน(ยัง)ไม่มีใครรู้,” [Video], สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[5] Prachatai, (8 กันยายน 2022), “การหายไปของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (และผองเพื่อน) | อ่านให้ฟัง, [Video], สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[6] ilaw, (18 ตุลาคม 2562), “พระราชกำหนด 101: ทำความรู้จักกฎหมายในมือรัฐบาล,” [online] สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[7] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, (17 ตุลาคม 2562), “สยาม ธีรวุฒิ: จากลูกชายของแม่ สู่ “ศัตรูของชาติ” และการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรม”,” [online] สืบค้น 28 สิงหาคม 2566.
[8] วจนา วรรลยางกูร, The101, (1 กรกฎาคม 2020), “พ่อของเขา ความทรงจำของเรา และความตายที่ไม่มีวันจบ,” [online], สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566.
[9] ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ, The Standard, (02 สิงหาคม 2019), “อังคณา นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนของไทย คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2019,” [online], สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2566.
[10] Amnesty International Thailand, (5 กรกฎาคม 2566), “สมยศ พฤกษาเกษมสุข ‘อดีตนักโทษทางความคิด' ที่เชื่อว่า ‘ราษฎร’ มีพลังเสรีภาพ จาก…จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ,” [online], สืบค้น 30 สิงหาคม 2566.
[11] ประชาไท, (09 พฤษภาคม 2019), “ภาคีไทยเพื่อสิทธิฯ' แถลง 'ลุงสนามหลวง' กับพวกอีก 2 คน ถูกส่งตัวกลับไทย จี้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน,” สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566.
[12] ICRC blog Thailand, (22 กันยายน 2022), “ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร? เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL),” [online], สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2566.
- วันผู้สูญหายสากล
- กวินพร เจริญศรี
- บังคับสูญหาย
- International Day of the Disappeared
- เตียง ศิริขันธ์
- สุรชัย แซ่ด่าน
- พอละจี รักจงเจริญ
- วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
- สยาม ธีรวุฒิ
- ชัชชาญ บุปผาวัลย์
- จะหวะ จะโล
- จะฟะ จะแฮ
- แวอับดุลวาเหะ บาเน็ง
- ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
- ศักดิ์ กอแสงเรือง
- นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
- ไกรศักดิ์ ชุณวรรณ
- อังคณา นีละไพจิตร
- สีละ จะแฮ
- กัญญา ธีรวุฒิ
- ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี
- ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์
- ทนง โพธิ์อ่าน