Focus
- แม้ว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างกลุ่มที่ปรารถนารักษาสภาพสังคมแบบเดิมกับกลุ่มที่ต้องการสภาพสังคมแบบใหม่จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ฝั่งก้าวหน้าที่ปรับตัวเรียกร้องสังคมในอุดมคติก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจโลกอุดมคติที่ปรับเปลี่ยนไปของฝั่งอนุรักษนิยมด้วยเช่นกัน
- ข้อสมควรพิจารณาคือ (1) ความคิดอนุรักษนิยมเกิดขึ้นทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว (2) ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ต้องการควบคุมกลไกตลาดและการบริโภค และต้องการกลุ่มอนุรักษนิยมในการควบคุมสังคม (3) ฝั่งอนุรักษนิยมต้องการเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมได้เพื่อคงสถานะของกลุ่มอนุรักษนิยม และ (4) กลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ไม่ใคร่ปรารถนาในการธำรงรักษาคุณค่าต่างๆ ในสังคม แต่เน้นคุณค่าที่รับใช้ระบบทุนนิยมให้เติบโต
- สังคมในอุดมคติของกลุ่มอนุรักษนิยมไม่ได้ตายตัว แต่มีการปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เป็นโลกอุดมคติที่ปราศจากประชาชน และเป็นไปได้ที่มีพันธมิตรใหม่ที่เป็นกลุ่มทุนการเงิน กลุ่มทุนเทคโนโลยี หรือกลุ่มทุนที่ถือครองนวัตกรรม ในการควบคุมสังคมรูปแบบใหม่ๆ
“เดือนตุลา” เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นเดือนแห่งความหวัง เป็นเดือนแห่งการสูญเสียในประวัติศาสตร์ไทย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือสังคมโลกในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ปรารถนารักษาสภาพสังคมแบบเดิมไว้กับกลุ่มที่ต้องการสภาพสังคมแบบใหม่ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่มีทางคลี่คลาย ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมอำนาจนิยม ประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม ก็จะมีคู่ขัดแย้งในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ และเป็นสภาพปกติธรรมดาที่ความเห็นต่อเรื่องนี้ในสังคมมักจะไม่ชี้ขาดระหว่างกลุ่มที่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง และกลุ่มที่ต้องการคงสภาพเดิมไว้ หากเทียบเป็นตัวเลขความเห็นในสังคมก็จะอยู่ในลักษณะ 60 : 40 หรือ 55 : 45 ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ตาม
ดังนั้น การทำความเข้าใจฝั่งอนุรักษนิยมจึงไม่สามารถทำความเข้าใจผ่านเงื่อนไขที่ตายตัวได้ หากฝั่งก้าวหน้ามีการปรับข้อเรียกร้องและสังคมในอุดมคติตลอดเวลา เราเองจำเป็นต้องทำความเข้าใจโลกอุดมคติที่ปรับเปลี่ยนไปของฝ่ายขวา อนุรักษนิยมด้วย
ประการแรก ความคิดอนุรักษนิยมไม่ได้ปรากฏในสังคมที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำ มีความเหลื่อมล้ำสูง หรือมีผู้คนผูกขาดอำนาจเท่านั้น เราจะเห็นได้ว่าแม้ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีความคิดอนุรักษนิยมเกิดขึ้น หรือแม้แต่ประเทศรัฐสวัสดิการอย่างนอร์เวย์ สวีเดน ก็มีช่วงเวลาที่ฝั่งอนุรักษนิยมมีอำนาจในรัฐบาล
แน่นอนว่าขีดขั้นต่ำ-ขั้นสูงของความเป็นอนุรักษนิยมของแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกัน บางพื้นที่อาจอนุญาตให้ฝั่งอนุรักษนิยมแสดงความสุดโต่งเต็มที่ บางพื้นที่ฝั่งอนุรักษนิยมอาจต้องเซนเซอร์ตัวเองไม่ให้ล้ำเส้นข้อตกลงของสังคม แต่ก็จะเห็นว่าฝั่งอนุรักษนิยมสามารถมีบทบาทได้ในทุกพื้นที่
ประการที่สอง ฝั่งอนุรักษนิยมมีการปรับตัวตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ดังเช่นที่เดวิด ฮาร์วีย์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้พัฒนามากขึ้น การเพิ่มการแข่งขันแปรทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า อันในที่สุด ส่งผลให้กลุ่มทุนทั้ง ทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงิน ทุนเทคโนโลยี มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ตรรกะทางเศรษฐกิจและการควบคุมกลไกตลาดและการบริโภค แต่พวกเขาต้องการ “กลุ่มอนุรักษนิยม” ในการควบคุมสังคม การปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ตั้งคำถาม การทำงานหนัก อดออม รับผิดชอบตัวเอง ลักษณะเช่นนี้ทำให้การตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมน้อยลง กลุ่มขวาทางเศรษฐกิจกับกลุ่มขวาทางสังคมจึงทำงานร่วมกันภายใต้เงื่อนไขนี้
ประการที่สาม ฝั่งอนุรักษนิยมไม่ได้ปฏิเสธ เทคโนโลยีหรือความก้าวหน้า แต่พวกเขาต้องการเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมได้ ป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีท้าทายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกใจพวกเขาอย่างมาก เมื่อลักษณะการพัฒนาของกลุ่มทุนเทคโนโลยีในปัจจุบัน เอื้อต่อการคงสถานะของกลุ่มอนุรักษนิยม เผด็จการของการควบคุมข้อมูลข่าวสาร มาพร้อมกับการซื้อขายข้อมูลของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทำให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายใต้การควบคุมของกลุ่มทุนเทคโนโลยีปัจจุบันตรงกับความปรารถนาของกลุ่มอนุรักษนิยม เพราะมันทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ ควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้มีอำนาจ
ประการสุดท้าย แม้กลุ่มอนุรักษนิยมในยุคสมัยดั้งเดิมจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “คุณค่า” และอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมทำให้คุณค่าต่างๆ ที่สังคมยึดถือไว้สูญหายไป แต่กลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ทำงานร่วมกันกับระบบทุนนิยมอย่างใกล้ชิด พวกเขาไม่ใคร่ปรารถนาในการธำรงรักษาคุณค่าต่างๆ ในสังคม เพราะคุณค่าเป็นดาบสองคม คุณค่าหลายอย่างแม้จะเข้าข้างผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น คุณธรรม ความดี ความคู่ควร แต่มันก็มีความเปราะบางอย่างมากที่เอื้อต่อการตีความและท้าทาย
ดังนั้น คุณค่าของอนุรักษนิยมใหม่จึงถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคุณค่าของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่เหลือเพียงการทำงานหนัก รับผิดชอบตัวเอง ไม่ตั้งคำถามท้าทายต่อโชคชะตาหรือการเปลี่ยนแปลงอำนาจ คุณค่าในลักษณะนี้กล่าวโดยสั้นคือ คุณค่าที่รับใช้ระบบทุนนิยมให้เติบโตและดำเนินต่อไปโดยปราศจากการตั้งคำถาม
เมื่อพิจารณาลักษณะสี่ประการข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ลักษณะสำคัญของแนวคิดอนุรักษนิยมในปัจจุบันได้สร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาชุดหนึ่ง สังคมตามอุดมคติของกลุ่มอนุรักษนิยมไม่ได้นิ่งสถิตตายตัวแต่มีการปรับตัวไปตามยุคสมัย หัวใจสำคัญคือ มันเป็นโลกอุดมคติที่ปราศจากประชาชนในสมการ มีคุณค่าที่กลวงเปล่าสำหรับชนชั้นสูงเพื่อรักษาสภาพสังคมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างจริงจังมากขึ้นคือ พันธมิตรของกลุ่มอนุรักษนิยมมีความไหลลื่น เดิมทีพวกเขาอาจทำงานใกล้ชิดกับศาสนาและกองทัพ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นหากพวกเขาจะมีพันธมิตรใหม่เป็นกลุ่มทุนการเงิน กลุ่มทุนเทคโนโลยี หรือกลุ่มทุนที่ถือครองนวัตกรรมในการควบคุมสังคมรูปแบบใหม่ๆ พวกเขาแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และอาจมีความใฝ่ฝันในการรักษาโครงสร้างสังคมแบบเดียวกันต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
- David Harvey. The Enigma of Capital and the Crises of Capitalism. Oxford University Press. Oxford and New York. 2010.