ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การคุกคามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง

11
ตุลาคม
2565

การปฏิวัติ 2475 ได้สร้างสังคมใหม่ที่อำนาจสูงสุดการปกครองเป็นของพลเมืองทุกคนซึ่งครั้งหนึ่ง พวกเขาเป็นเพียงผู้อาศัยได้กลายมาเป็นเจ้าของประเทศนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักการไปจากระบอบราชาธิปไตยหาได้รับการยอมรับจากกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง ผู้มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ สังคมไทยมีจารีตการปกครองโดยชนชั้นสูงมาตลอดประวัติศาสตร์ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงให้กลับตาลปัตร จึงนำไปสู่การต่อต้านการปฏิวัติ 2475 โดยกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง หรือ กบฏบวรเดช (2476)[1]

ไม่นานหลังการปฏิวัติ 2475 กลุ่มอภิชนคนชั้นสูง และขุนนางที่สูญเสียประโยชน์จากการปฏิวัติเปิดฉากต่อต้านระบอบประชาธิปไตยขึ้น เริ่มจากการปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินกว่ากลุ่มอภิชนคนชั้นสูงจะยอมรับได้ เมื่อการต่อต้านไม่สำเร็จ พวกได้นำกองทัพลงมาเพื่อหมุนการปกครองกลับสู่ระบอบราชาธิปไตยฯ ดังเดิม แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน[2]

การคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ทำให้พลเมืองจากหลากหลายอาชีพตื่นตัวและร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ ประจักษ์พยานร่วมสมัยได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดีหรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี…[3]

ความประทับใจในความตื่นตัวของพลเมืองในการต่อสู้กับกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ได้เขียนเรื่องสั้นที่สะท้อนสำนึกของพลเมืองใน ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476) ซึ่งเป็นเรื่องราวของความเสียสละของพลเมืองหนุ่มที่สละชีพในการพิทักษ์ประชาธิปไตยในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งตัวละครได้กล่าวในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรที่จะเหลือไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกของเรา ฉันมีแต่เกียรติคุณความดีที่ฉันได้ทำในครั้งนี้ทิ้งไว้เป็นมรดก”[4] ซึ่งคู่มือพลเมืองได้บันทึกถึงความยากลำบากในการสร้างประชาธิปไตยนั้นว่า ภายหลังการปฏิวัติ “มิวายที่จะมีผู้คิดทำลายรัฐธรรมนูญเพื่อผันแปรการปกครองให้เป็นอย่างอื่น”[5]

จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้ทำอิสริยาภรณ์พิเศษขึ้น คือ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) แจกจ่ายแก่พลเมือง ลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและพลเรือนเพื่อเป็นเกียรติแด่พลเมืองทุกคนที่ช่วยกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

การนำเสนอนโยบายการส่งเสริมให้พลเมืองมีความผูกพันและตระหนักในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเพื่อร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงนั้น รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์การเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 ขณะนั้นอยู่ในภาวะแกว่งไกว เนื่องจาก รัฐบาลประเมินการรับรู้ของผู้คนในปี 2477 ว่า คนที่ พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตย มีร้อยละ 25 คนที่ไม่พอใจร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย”

ดังนั้น “ฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะจัดการให้ประชาชาติอีก 60 ในร้อยนั้นได้รู้ว่า เขามีส่วนได้อะไรในระบอบการปกครองใหม่นี้บ้าง... เพราะหากไม่กระทำดั่งนั้นจะบังเกิดการต่อต้านระหว่างพวกที่นิยมกับไม่นิยมขึ้น แม้พวกที่นิยมจะมีมากกว่าพวกไม่นิยม อันหวังผลชะนะได้ก็จริง แต่ถ้าเราเป็นพวกที่มีกำลังน้อย เราจะต่อต้าน [พวกไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย] ไปตลอดได้หรือ เราย่อมหากำลังพรรคพวกให้มากขึ้น พวกนั้นจะได้มาจากไหน ก็ได้มาจากพวก 60 ในร้อยซึ่งยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อถูกปั่นไปทางไหน ใครมาพูดก่อนย่อมไปทางนั้นแน่ๆ ดังนั้นฝ่ายบริหารจะต้องพยายามหาโอกาสชี้แจงกับพวกเขาเสมอเนื่องๆ แล้ว พวกเขาย่อมคล้อยมาด้วยกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ต่อต้านเมื่อไม่สามารถหาพวกได้แล้ว ก็จำต้องระงับความคิดในการต่อต้านและนานๆ ไปอาจกลับใจหมดทิฏฐิมานะในการต่อต้านลงก็ได้”[6]

รัฐบาลในขณะนั้นให้เหตุผลที่ต้องสร้างความตระหนักในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแก่พลเมืองว่า “การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล... ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึ่งมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่า การใช้อำนาจบังคับใดคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน”[7]

จากนโยบายข้างต้นนำไปสู่การแจกจ่าย "คู่มือพลเมือง" ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเรียกร้องให้พลเมืองร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยจากการคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงว่า “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการปกครองของใหม่ ยังมีผู้ไม่นิยมทำการขัดขวางมิให้ดำเนินไปโดยสะดวกอยู่เสมอต่อเมื่อใดพลเมืองได้รับการอบรมจนเคยชินกับรูปการปกครองแล้ว เมื่อนั้น ศัตรูของรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถขัดขวางได้… ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน สนับสนุน ประคับประคองการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและยกฐานะของพวกเราให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนให้มั่นคงถาวรตลอดไป[8]

การพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย นั้น หาใช่แต่เพียงเป็นหน้าที่ของพลเมืองเท่านั้น แต่รัฐบาลย่อมมีหน้าที่พิทักษ์ระบอบฯ ด้วยเช่นกัน ดังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ... ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก”[9] และ “ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชะนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”[10]

หมายเหตุ : บางคำสะกดตามอักขรวิธีตามอย่างเอกสารชั้นต้น

ที่มา : ณัฐพล ใจจริง, “การคุกคามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง”, ใน ชีวประวัติของพลเมืองไทย กำเนิดพัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย (2475 - ปัจจุบัน), ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ปี พ.ศ. 2556, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2556), น.55-59
 


[1] ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, ฟ้าเดียวกัน ปี 6, ฉบับ 1 (ม.ค. - มี.ค. 2551), หน้า 104-146.

[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา, 2543.

[3] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526, หน้า 64.

[4] “ศรีบูรพา”, “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ”, เทอดรัฐธรรมนูญ, พระนคร : คณะกรรมการอำนวยการ หนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ, 2476.

[5] กรมโฆษณา, คู่มือพลเมือง (คณะรัฐมนตรีแจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส วันที่ 19 ตุลาคม 2479), พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูล, 2479, หน้า 36.

[6] พันตรี หลวงรณสิทธิพิชัย, กิจการของสำนักงานโฆษณาการ บรรยายทางวิทยุกระจายเสียง, พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2477, หน้า 5-7.

[7] พันตรี หลวงรณสิทธิพิชัย, อ้างแล้ว, หน้า 12.

[8] กรมโฆษณาการ, อ้างแล้ว, หน้า 37-97.

[9] “คำปราศัยของนายกรัฐมนตรีกล่าวแด่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงปรับความเข้าใจเกี่ยวแก่คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ 27 พฤศจิกายน 2482” ใน ประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์, พระนคร : กรมโฆษณาการ, 2483, หน้า 72.

[10] “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี กล่าวแด่มวลสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 15 สิงหาคม 2483” ใน ประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์, หน้า 153.