ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า: จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน

28
เมษายน
2564

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำ ในเวลาที่เราคุยกันเรื่องสวัสดิการ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันคือเรื่องการเมือง มันคือการต่อสู้ มันคือการยืนยันว่าคนเท่ากัน”

ตามประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของความเท่าเทียมทั่วโลก การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกดเครื่องคิดเลข หรือ การมีห้องการทดลองต่างๆ แต่ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการนี้ เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้ เกิดขึ้นเพราะการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน การต่อสู้ของเยาวชน การต่อสู้ของผู้หญิง การต่อสู้ของ LGBT การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ จึงทำให้สังคมนี้เท่าเทียมกันขึ้นมาได้

คำว่า “รัฐสวัสดิการ” มันไม่ได้เป็นการบอกจำนวน แต่มันเป็นการบอกสัดส่วน เราจะเห็นได้ว่า การขยับขึ้นของเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องที่น่าสนใจในความสนใจของผู้คน คือ เมื่อมันขยับแล้วมันขยับต่อไป มันไม่เคยที่จะหันกลับมา หรือ หายไปจากความทรงจำ หรือความสนใจของผู้คน

ผมอยากทุกท่านพอจะเห็นภาพ ถ้าจะเทียบ ซีซั่น 1 ของการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการในประเทศไทย ก็คือ 2475 Ep 1 ของซีซั่น 1 ก็คือการรัฐประหารครั้งแรก การที่ปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัย เค้าโครงเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ปฐมบทแรกของการต่อสู้ของฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็คือการถกเถียงกันเรื่องรัฐสวัสดิการ

ซีซั่น 2 ก็คือระหว่างช่วงปี 16 ถึง 19 ผมไล่จากงานวิจัยครั้งก่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่เราเคยคุยกัน ปี 16-19 การเติบโตของค่าจ้าง ปรับตัวของค่าจ้าง อัตราค่าจ้าง ขั้นตอนการคุ้มครองแรงงานก้าวกระโดดอย่างมาก นั่นก็เช่นเดียวกัน เกิดการต่อสู้ของประชาชน

จากนั้น ซีซั่นที่ 3 ก็คือยุคสมัยของการต่อสู้เพื่อประกันสังคม พฤษภาทมิฬ มาจนกระทั่งถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีข้อน่าสนใจครับ มีคำพูดของ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าทำโพลในช่วงปี 43 - 44 ว่านโยบายใดคือเป็นนโยบายที่ประชาชนต้องการ ปรากฏว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุด

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก แต่เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ณ ช่วงเวลานั้นประชาชนผ่านการถูกกดทับภายใต้ระบอบเผด็จการ จารีตนิยม อนุรักษ์นิยมมาอย่างยาวนาน จนไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้สามารถเป็นสิทธิ์ได้ จนไม่สามารถคิดได้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถพึงได้ ดังนั้นเช่นเดียวกันครับ เวลาที่เราบอกถึงกระแสความเข้าใจ ความต้องการของรัฐสวัสดิการ มันจึงมีความเกี่ยวพันกับการนิยาม “ความเป็นคน” ในแต่ละยุคสมัยและตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ ซีซั่นที่ 4 ของการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ

วันนี้เราเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคนที่ถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง และแน่นอนที่สุดท้ายหลายคนต้องลี้ภัย เขาพูดกันเรื่องรัฐสวัสดิการ มันคือยุคสมัยที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่าถ้าชนชั้นนำปรับตัวได้ช้ากว่านี้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารัฐสวัสดิการจะเพียงพอต่อการลดความโกรธและความไม่พอใจคนไหม ปี 64 จะเป็นจังหวะสุดท้ายแล้วเหมือนกันสำหรับชนชั้นปกครอง ว่าถ้าอยากให้ความขัดแย้งในประเทศนี้มันคลี่คลาย ก็คือการปรับตัวและก็การปรับประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการ  เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการพูดคุย คนที่เสมอภาคกันมากขึ้น ไม่ใช่คนที่ถ่วงถ่วงขาด้วยโซ่ตรวนแล้วจะให้มาคุยกัน 

ข้อเสนอ 9 ด้าน จะเป็นเรื่องที่หลายท่านน่าจะคุ้นชินอยู่ แต่ว่าสิ่งที่ผมอยากย้ำก็คือเวลาพูดถึงคำว่า “รัฐสวัสดิการ” มันคือเรื่องสิทธิพื้นฐาน อย่างที่อาจารย์ปราชญ์เคยกล่าวไว้ว่า บางทีเรามักจะมองว่าเรื่องสวัสดิการคือเรื่องของ reward คือคนเก่งคนดีสมควรได้ หรือว่าเป็นคนที่น่าสงสารควรได้ แต่เวลาเรามองเรื่องฐานความคิดรัฐสวัสดิการ อย่างที่กลุ่ม wefair พยายามที่จะนำเสนอมาโดยตลอดคือรัฐสวัสดิการการบนฐานความคิดของ social democratic Model แบบแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือว่าอาจเรียก nickname กันว่าเป็น Nordic Model ที่ใช้เป็นระบบก้าวหน้าถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย กลุ่มประเทศนอร์ดิก

 

 

หัวใจที่ผมย้ำก็จะสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่ อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด ได้พูดถึง หัวใจของมันคือสิทธิพื้นฐานของประชาชน วางอยู่บนเงื่อนไขที่เป็นสิ่งที่แน่นอน และความแน่นอนจะทำให้คนสามารถวางแผนได้ มากกว่า multiplier effect หรือตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐศาสตร์มหภาคตามแนวทางเสรีนิยม ก็คือคำว่า “equality multiplier”

เมื่อสังคมมีความเสมอภาค มนุษย์จะสามารถคิดฝันถึงอนาคตและชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นตามที่ผมได้เรียนไปเบื้องต้น สังคมนี้ไม่เคยเสมอภาคด้วยการกดเครื่องคิดเลขและการกราบ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็นคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยนั้น เกิดจากการต่อสู้ ภาพที่เขาอาจจะตัดมาให้เราเห็นที่สภาแต่ละที่ ชนชั้นนำทั้งหลาย เห็นอกเห็นใจให้เกิดรัฐสวัสดิการเกิดขึ้น เห็นภาพของความสันติวิธี สภาฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายสามัคคีกัน ภาพนั้นเป็นภาพตัดต่อ ภาพก่อนหน้านั้นที่มีการนัดหยุดงาน

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขเสมอภาค ทุกวันนี้มีสถิติการนัดหยุดงานรวมกันแล้ว 700,000 วัน หมายความว่าคน 100,000 คน หยุดงาน 7 วัน แบบนี้ก็นับเป็น 700,000 วันนะครับ เพราะฉะนั้น เราเห็นได้ว่ามันมีการต่อสู้มาก่อน กว่าที่ชนชั้นนำเขาจะค้อมหัวลงมาฟังพวกเราได้

เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ปัจจัยที่ตามมาอีกด้านหนึ่งที่พยายามเน้นย้ำ ก็คือการลดความเป็นสินค้าภายใต้ระบบทุนนิยม สิ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็น ถ้าทุกท่านจำได้ในงานประกวดนางงาม Miss Grand International ที่ผ่านมา

นอกจากไฮไลต์กับผู้เข้าประกวดจากเมียนมาไปแล้ว มีคำถามตัดสินว่า “วัคซีนโดสสุดท้ายคุณจะให้ใคร ? เด็กหรือว่าคนแก่” ถ้าเราคิดตาม multiplier effect (ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ) ก็ควรจะให้เด็ก เพราะว่าเด็กจะอยู่ในโลกนี้นานไปกว่า แต่ก็มีผู้เข้าประกวดท่านหนึ่งเขาบอกว่าเขาจะให้แม่ของเขา ก็คือให้คนแก่ เพราะแม่คือคนที่สำคัญสำหรับเขามาก

คำถามสำคัญ คือ เราจะสามารถบอกได้อย่างไรว่า ใครสำคัญกว่าอีกคนหนึ่ง บทบาทตำแหน่งแห่งที่ของเขาในปริมณฑลเศรษฐกิจ หรือการที่เขาเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นหมอ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เขาสำคัญกว่า ควรที่จะมีชีวิตกว่าผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ หรือ คนแก่ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไรเลย เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจสำคัญ

การลดความเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม เราไม่สามารถวัดประเมินได้ว่า “ใครสำคัญมากกว่าใคร” โทรศัพท์เครื่องนี้ใครเป็นเจ้าของ ถ้าในระบบทุนนิยม ผมเป็นเจ้าของเพราะผมซื้อ แต่ว่าในโทรศัพท์เครื่องนี้มันก็มีเทคโนโลยี มีหยาดเหงื่อ มีข้าวที่ผู้ใช้แรงงานกิน ทุกอย่างก็ปะปนอยู่ แค่โทรศัพท์เครื่องนี้เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของ ตึกนี้เราจะบอกได้อย่างไรว่าใครเป็นเจ้าของมากกว่ากัน และเช่นเดียวกัน ประเทศนี้ทั้งประเทศ เราจะสามารถบอกได้ไหมว่าใครสำคัญและใครเป็นเจ้าของมากกว่าใคร

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำลายคือความเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมออกไป ถ้าเอาตัวนี้ออกไปปัญหา emotion worker ผู้ใช้แรงงานที่รองรับอารมณ์ของคนในบ้าน แม่ น้องสาว คนที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนเหล่านี้ก็มีส่วนในการที่พัฒนาสังคมเฉกเช่นเดียวกัน ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้

หัวใจอีกด้านหนึ่งของรัฐสวัสดิการก็คือ เราจำเป็นต้องทำลายอำนาจของเทคโนแครต จะต้องทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นน้ำ กลายเป็นอากาศ ที่ทุกคนสามารถพูดได้ ถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกผูกขาดเช่นเดียวกันกับเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเรื่องเหล่าไม่สามารถถูกกระจายให้คนทั่วไปสามารถรู้สึก สำนึกและต่อสู้เพื่อมันได้ รัฐสวัสดิการย่อมไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญสุดท้ายก็คือมันทำให้เราสามารถคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราได้

 

 

ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงในภาพกรณีการสื่อสารต่อไปว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กลไกนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่เพิ่มกลไกอำนาจของตลาด เพิ่มความเข้มข้นของคนในฐานะสินค้า ตั้งคำถามว่า เรียนอย่างไรที่จะตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคต เราจะเห็นคำเหล่านี้มากมายในมหาวิทยาลัย ว่า “คุณต้องสอนแบบนี้เด็กจะได้จบมีงานทำ สามารถตอบสนองต่อกลไกตลาด”

แต่เรื่องนี้น่าตลกมาก เพราะว่าคนรวยในประเทศนี้ ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในสังคมนิยม ยิ่งคุณรวยมาก คุณก็ยิ่งไม่ต้องตั้งคำถามว่าจบมาแล้วต้องทำอะไร คุณสามารถตามหาความหมายของชีวิต คุณสามารถตามหาความหมายของจักรวาลได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเกิดมาเป็นชนชั้นกลาง หรือ ชนชั้นกลางระดับล่าง หรือ ชนชั้นล่าง คุณมีคำถามมากมายในหัวว่า “จบมาจะต้องทำอะไร” จบไปคุณจะเรียนอะไรที่ตรงกับสายที่คุณสมควรที่จะมีประโยชน์ต่อประเทศนี้ แต่คนรวย ไม่ต้องตั้งคำถามกับแบบนี้

เฉกเช่นเดียวกันกับสวัสดิการที่เพิ่มการสงเคราะห์ เพราะความสงสาร หรือที่ผมเรียกว่า “ระบอบเวทนานิยม” ผมเคยฟังจากคุณชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ซึ่งเป็นคนที่ปฏิบัติงานกับทาง wefair เขาบอกว่าเขาทำงานร่วมกันกับกลุ่มคนพิการ มีบริษัทหนึ่งทำ CSR แล้วก็ถ่ายรูปกับคนพิกาiเอาวีลแชร์ไปแจก มีคำถามหนึ่งที่คุณชูเวชบอกว่าแทงใจเขามาตลอดมาก คือ เจ้าหน้าที่ CSR ถามว่า “ไม่มีคนพิการที่หน้าตาดูพิการกว่านี้เหรอ เขาจะได้ถ่ายรูปและนำไปลงในเพจ จะได้สามารถระดมทุนไปต่อจากนี้ได้ ถ้าคนพิการหน้าไม่พิการก็จะไม่สามารถระดมทุนต่อไปจากนี้ได้”

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบเวทนานิยมที่มักใช้กันเป็นปกติของประเทศนี้ หรือ แม้แต่คำถามถึงอาชีพที่ดีนำพาสู่ชีวิตที่ดี หรือ การนำพาสู่วิธีการคิด การรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

 

 

เรามีรายงานฉบับเต็มที่ผมอธิบายถึงเรื่อง IMPACT ถ้าเราเริ่มทำ มันจะนำพาสู่ชีวิตของเราอย่างไรบ้าง และ จะเกิดการสนับสนุนจากกลุ่มไหน ผมได้มีการอธิบายรายละเอียดโดยสังเขป หัวข้อหนึ่งประมาณ 3-4 หน้า ในด้านหนึ่งที่ผมอยากย้ำ ประเด็นแรก คือ “เรื่องงานและรายได้”

เราพยายามที่จะโฟกัสอายุที่ 3 ส่วน คือ การคุ้มครอง การรวมตัว และ ประเด็นที่สำคัญคือความสัมพันธ์กับภาครัฐ ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าคุณต้องเข้าสู่ระบบการจ้างงาน การคุ้มครองสวัสดิการต่างๆ กฎหมายแรงงาน การไม่เลือกปฏิบัติก็จำเป็นที่ต้องมีการขยายความในส่วนนี้ รวมถึงภาวะปัญหาการจ้างงานปัจจุบันซึ่งเป็นปัญหาอีกอย่างก็คือการเหมาค่าแรง

ระบบแรงงาน Outsource (การจ้างพนักงานแบบชั่วคราว) ณ ปัจจุบันมีแรงงานที่เรียกว่า แรงงานแพลตฟอร์ม คือ แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่างๆ (Platform labor/gig worker) ซึ่งสิ่งที่เราเห็นก็เป็นภาพที่น่าตกใจมากเหมือนกัน บริษัทหนึ่งอยู่ที่เยอรมัน การจ้างก็คือการจ้างคนงาน แต่พอย้ายไปอยู่ที่เมืองไทยเขาเรียกคนงานเขาว่า partner และเมื่อเรียก partner ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอะไรเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปของระบบค่าจ้าง ระบบค่าจ้าง การคุ้มครอง แรงงานสัมพันธ์

แรงงานสัมพันธ์ คือ การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ข้อเสนอที่เราเสนอเป็นภาพที่ใหญ่ที่สุด คือ เสรีภาพในการรวมตัวให้เกิดขึ้นได้โดยง่ายที่สุด ผู้ประกอบการทั้งหลายมักจะบอกว่าเรื่องเหล่านี้ยากและเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นเรื่องน่าตลกมาก เพราะว่าผู้ประกอบการทุกวันนี้ เขาก็มีการรวมตัวกัน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า เพราะเขาแชร์ข้อมูลกัน เหมือนแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ผู้ใช้แรงงานการจะรวมตัวแต่ละครั้ง มีเงื่อนไขที่ยากลำบากและพยายามกีดกันผู้ใช้แรงงานที่อยู่นอกระบบการจ้าง นี่คือเป็นข้อหนึ่งของข้อเสนอ 

 

 

ที่นี้เงื่อนไขในรูปธรรมนะครับ นั่นคือ “เงินเลี้ยงเด็กถ้วนหน้า” เครือข่าย wefair ของเราพยายามที่จะเสนอส่วนนี้ คือการพูดถึงการให้เงินเลี้ยงดูเด็ก 3,000 บาท ตั้งแต่ 0 - 18 ไม่ใช่เพียงแค่ 0-6 ตามสภาพปัจจุบัน

ปัจจุบันเราให้ 0-6 เฉพาะกลุ่มคนยากจน และให้เพียง 600 บาท เพราะคิดว่าเท่านั้นมันเพียงพอ ผมก็ไม่รู้ว่ามันเพียงพอต่ออะไร 600 บาท/เดือน แต่ส่วนนี้ก็คือเราให้ 3,000 บาท/เดือน และ สิ่งที่เราวางอยู่บนพื้นฐานก็คือ เราต้องพยาามเอาระบบที่ตอนนี้มีองค์กรของรัฐพยายามใช้ และ ผมคิดว่าเป็นระบบที่ discriminate และทำลายความเป็นมนุษย์อย่างมาก ก็คือระบบที่เราเรียกว่า proxy mean test ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าหากคุณเป็นนักกำหนดนโยบาย คุณอยู่บนยอดพีระมิด คุณชอบระบบ proxy mean test คือการพิสูจน์ซ้ำว่าคนนี้จนและมีศักยภาพ คุณไปดูว่าคนนี้มี connection เท่าไหร่ เด็กคนนี่้เป็นเด็กที่รักดีไหม พวกนี้เป็น data แต่หน้าตา หยาดเหงื่อ หยาดน้ำตาของผู้คนได้กลายเป็นตัวเลข ว่าคนนี้เป็นคนจนและมีศักยภาพ สมควรที่จะได้รับการสนับสนุน

หน่วยงานนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ด้วยหลักพันล้าน หลักหมื่นล้านต่อปี แต่คือการผลิตซ้ำการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอาระบบพวกนี้ออก แล้วก็ยืนพื้นคิดแบบที่ง่ายที่สุด อยากให้เด็กไม่ติดลบ ก็ให้เงินเด็กจากงานวิจัยและประสบการณ์ก็คือ ระบบที่จะจ่ายเงินโดยตรงให้แก่เด็กได้ดีที่สุดคือ การให้เงินแบบถ้วนหน้าและการให้ผ่านแม่

มีงานวิจัยยืนยันว่าเงินส่วนนี้จะส่งตรงไปถึงเด็กได้มากที่สุด และงานวิจัยส่วนมากก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า เมื่อมนุษย์มีความจำเป็นโดยพื้นฐาน แม้ว่าจะเป็นคนที่มีพฤติการณ์แบบซ้ำซ้อน แม้ว่าจะติดเหล้า หรือ มีโรคประจำตัว หรือ เรียนไม่จบ เมื่อคุณได้รับเงินในส่วนนี้ คุณจะนำไปใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของคุณก่อน

 

 

ประเด็นอีกด้านหนึ่งก็คือ “พหุสังคมและวัฒนธรรม” ส่วนนี้เรามีการพยายามเน้นย้ำ มีการ Research ข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมานิดหนึ่ง ก็คือมันมีรายละเอียดที่เราพูดถึงเรื่องของมิติด้านชาติพันธุ์ การที่เขาสามารถที่จะกำหนดโครงสร้างการศึกษาของเขาเองได้ การเข้าถึงทรัพยากร และประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความหลากหลายทางเพศ ประเด็นเรื่อง non binary ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามที่จะพูดถึง คือ การล้อกับ model ของกลุ่มประเทศนอร์ดิก คือสิทธิในการที่จะเปลี่ยนเพศสภาพของตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การแปลงเพศ” ให้สิทธิเหล่านี้ไปอยู่บนหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า

เดิมทีนั้นก่อนปี 2015 ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ถึงแม้จะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศฟรี แต่ต้องให้หมอนิยามว่ามีความปกติทางจิต แต่ว่าหลังจากปี 2015 มา ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีการนิยามว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะเข้าถึงการบริการด้านนี้ และผมเชื่อว่าประเทศไทยเราเองก็มีศักยภาพที่จะเอาเรื่องเหล่านี้มาอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกัน

อีกด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก คือ ค่าใช้จ่ายในการมีประจำเดือนของคนในวัยมีประจำเดือน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณขั้นต่ำ 100,000 บาท ทั้งชีวิต ซึ่งอาจจะสูงถึง 200,000 บาท มีข้อเสนอมากมายที่มีการทบทวน ไม่ว่าจะเป็นควบคุมราคา การไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดให้มีผ้าอนามัยที่จะสามารถไปรับได้ที่อนามัย ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่จากการทบทวนก็พบว่า ข้อเรียกร้องในลักษณะนี้มีข้อจำกัด

เนื่องจากความต้องการผ้าอนามัยของแต่ละท่านมีความแต่กต่างกันมาก การไปรับที่อนามัยก็ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน แม้กระทั่งการส่งไปที่บ้านก็จะมีค่าจัดการต่างๆ ที่สูง และความต้องการในการใช้ของแต่ละท่านก็แตกต่างกัน ดังนั้นข้อเสนอที่เราย้ำก็ล้อกับที่อาจารย์เดชรัตกล่าวถึง คือ UBI แต่ผมพูดในสเกลที่เล็กลงมาก็คือ UBI สำหรับผู้มีประจำเดือนอยู่ที่เดือนหนึ่งประมาณ 100 - 200 บาทต่อเดือน โดยที่โอนเงินตรง เป็นกระบวนการที่ง่ายที่สุดสำหรับสุภาพสตรีที่มีระจำเดือน ตั้งแต่อายุ 12-50 ปี คำนวณมาแล้วว่าใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาท/ปี เหมือนเยอะ แต่ว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของกลาโหม เพราะฉะนั้น เราก็ชั่งเอาว่านายพลกับผ้าอนามัยอะไรมีค่ากับประเทศนี้มากกว่ากัน

 

 

ส่วนเรื่องประเด็น “เรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน” เป็นประเด็นชุดแรกของ wefair เมื่อ 1 ปีที่แล้ว เราได้ย้ำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้เราเข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายมากขึ้น อย่างที่เราเคยได้เทียบกันว่า คนไทยผ่อนบ้าน 3 ล้าน ผ่อนจนหมด 30 ปี เท่ากับว่าผ่อน 7 ล้าน หมดไปกับดอกเบี้ยจำนวนมหาศาล

ข้อเสนอชุดแรกของเราก็คือ การพูดถึงการปรับอัตราดอกเบี้ย fixed ไว้เลยว่า 1-2 % ห้ามเกินนี้ สำหรับดอกเบี้ยบ้าน ทำให้ภาระการผ่อนลดลง ตอนนี้เราก็มีการบูรณาการเพิ่ม ก็คือสิ่งที่เราน่าจะมีเพิ่มคือการกำหนดค่าเช่า อยู่ในอัตราที่มันควรจะเป็น ถ้าเทียบกับรายได้ของคนไทยก็คือ 50 บาท / 1 ตารางเมตร มันต้องมีกลไก บางคนอาจจะเถียงว่าตรงนี้มันเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มันเป็น downtown แต่ว่าก็น่าคิดว่าทำไมในพื้นที่ downtown คนรวยเท่านั้นถึงมีสิทธิที่จะได้อยู่ แล้วคนธรรมดาไม่มีสิทธิได้อยู่เหรอ อันนี้ผมว่าน่าสนใจมาก

การปรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศอินเดีย สิ่งที่รัฐบาลอินเดียกำหนด คือ ถึงแม้คุณเป็นโรงพยาบาลเอกชนพรีเมียม คุณต้องรับผู้ป่วย 50 % ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันก็น่าคิดว่าเราสามารถกำหนดเพดานค่าเช่าแบบนี้ได้หรือไม่ ต่อให้คุณคิดจะอยู่ที่ทองหล่อ ปทุมวัน อะไรต่างๆ หน่วยของคุณจะต้องมีส่วนหนึ่ง 20 - 30 % ที่เก็บค่าเช่าในราคานี้ และ cash transfer หรือการโอนเงินก็สำคัญ

ถ้าผมคำนวนจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกมา 10 % ของรายได้เฉลี่ยของเราที่ควรเป็นคือ 2,600 บาท/เดือน สำหรับค่าเช่า ซึ่งเพดานก็มี ก็คือบางคนอาจไปเช่าบ้านราคาแพง ก็คือ 1 คน: 60 ตารางเมตร 2,600 บาท/เดือน ถ้าเกินกว่านั้นก็ไม่ได้ ถ้า 2 คน อยู่กัน 120 ตารางเมตร เท่ากับบ้าน 1 หลัง ก็เป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่ top-up ขึ้นมาที่คำนวณให้

 

 

ประเด็นถัดมา “เรื่องสวัสดิการด้านสาธารณสุข” ข้อเสนอหลักของเครือข่าย wefair ก็คือ เครือประชาชนที่น่าจะพูดกันมาประมาณเกือบ 20 ปีแล้วนั่นคือ “การรวมกองทุน” ซึ่งแน่นอน ทุกครั้งที่พูดก็มีคนต้านว่าจะรวมกันได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ให้ลองไปใช้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันแย่

แต่ส่วนมากคนที่พูดน่าจะเป็นคนที่ไม่เคยใช้ จริงๆ ข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขหรือ สส. ในสภา ผมคิดว่าน่าตลกมาก สส. ที่คอยโหวตค้านเขาไม่ได้ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐสภาซื้อประกันให้เขา ซึ่งบ้านผม แม่ และ ภรรยาใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันไม่ได้แย่สำหรับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หน่วยปฐมภูมิต่างๆ มันใช้ได้ ถือว่าโอเคเลย

แต่ว่ามันมีปัญหาเรื่องการกระจาย พอมันอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางมากขึ้น ความซับซ้อนต่างๆ ของคนที่มีความต้องการมากขึ้น เพราะฉะนั้น การรวมกองทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราพูดถึงเรื่องของ walfare ในเรื่องของงบประมาณ ถ้าเราขยับงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปที่ 7,000-8,000/หัว ณ ตอนนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีปัญหาในระบบ OPD หรือ ผู้ป่วยนอก แต่เมื่อแอดมิทเข้ามาแล้วเป็น IPD หรือ ผู้ป่วยใน ไม่ค่อยมีปัญหา

ขณะเดียวกันระบบข้าราชการตอนนี้เฟ้อที่ OPD มาก เช่นเดียวกันพอเป็น IPD ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเรา merge สองอันนี้เข้าหากันได้ ก็คือการปรับ OPD ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีมากขึ้น ให้ไปตามคลีนิกต่างๆ ที่มัน open มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับผู้คนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามปรับอยู่

ขณะเดียวกันก็ไปเชื่อม IPD ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ใกล้เคียงกับระบบราชการต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วจากสถิติ ใช้เงินน้อยมากในการยกระดับ เพิ่มอีกประมาณปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจากสถิติคนไทยเฉลี่ยหาหมอปีละ 4 ครั้ง และแอดมิทเข้าโรงพยาบาลปีละ 0.1 วัน 10 ปี 1 วัน ยิ่งระบบพวกนี้ดีมากขึ้นเท่าไหร่ จะทำให้คนวางแผนเกี่ยวกับสุขภาพได้ดีมากขึ้น นี่คือเรื่องที่เราพยายามย้ำให้รวมเป็นกองทุนเดียว มาตราฐานเดียวกันสำหรับทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินประเทศไทย

 

 

อีกด้านหนึ่งก็คือ “เรื่องเงินบำนาญ” อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ผมคิดว่าในนี้พวกเราก็มีกลุ่มเครือข่ายติดตามเรื่องบำนาญอยู่หลายท่าน ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้น ไม่ต้องเป็นประเทศในยุโรปหรอก ถ้าเกิดขึ้นในอเมริกา หรือ ละตินอเมริกา คือนายกรัฐมนตรีปัดตกพรบ.บำนาญ 4 ฉบับติดต่อกันในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งปี พรบ.บำนาญที่ถูกเสนอขึ้นมาโดย สส.และ ภาคประชาชน 4 ฉบับ ถูกปัดตกเรียงกันติดต่อกัน ผู้แทนพม. 5 ฉบับติดต่อกันในช่วงเวลาครึ่งปี ซึ่งแต่ละฉบับใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการระดม

ถ้าพวกเราไปอ่านคำอธิบายของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ มันจะยิ่งน่าเจ็บใจ คนนับล้านที่เสนอสิ่งนี้ไป แต่ว่ามันถูกปัดตกโดยข้าราชการที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ 10 คน สภาพัฒน์บ้าง พม.บ้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังบ้าง ผู้นำสภาพัฒน์ ผมชื่นชม นี่เป็นหลักฐานที่เปิดเผย พม.บอกว่า “เนื่องจากต่อไปประเทศนี้จะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ดังนั้นการมีพรบ.บำนาญแห่งชาติ จะสร้างภาระให้แก่ประเทศนี้” นี่คือคำอธิบายของพม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรง

สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องย้ำ ก็คือ mindset ของระบบราชการต่างๆ และ สิ่งเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ผมว่าเราก็ไม่ได้แก้กันหรอก ที่นายกต้องเซ็นอนุมัติร่างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ผมดูแล้วในประเทศนี้มันมีไม่กี่อย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน

คุณพูดถึงพ.ร.บ. เหล้าเสรี คุณเก็บภาษีได้น้อยลง มันก็เกี่ยวกับการเงิน ทุกอย่างเกี่ยวกับการเงินหมด แต่เกี่ยวกับการเซ็นแก๊กด้วยนายกรัฐมนตรี ทุกพ.ร.บ.มันจะมี นายกรัฐมนตรีมีบัญชามาไม่ให้รับ ผมก็ต้องยอมน้อมรับบัญชาเรื่องพวกนี้นะครับ แต่ว่าเรื่องสำคัญคือ บำนาญพื้นฐานคือปิ่นโตชั้นแรก ปิ่นโตชั้นสองที่เราได้จากอาชีพ ปิ่นโตชั้นสาม ได้จากการออม นี่คือหลักการที่กลุ่ม wefair พยายามที่จะผลักดัน ให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับว่าคุณออม คุณมีชีวิตที่ผ่านมาอย่างไร ให้คุณได้โดยพื้นฐาน ณ ตอนนี้คือ 3,000/ เดือน

 

 

สำหรับ “การศึกษา” ตรงนี้สิ่งที่ผมย้ำ เนื่องจากเวลาจำกัด ผมไม่สามารถลงดีเทลได้ เอาง่ายๆ ทำให้ฟรี ทุกวันนี้ผมลองเล่าเรื่องแบบสั้นๆ ช่วงวิกฤตโควิด มีลูกศิษย์ของผมเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 1 เขาเอาใบมาให้ผมดู คือ ใบขอทุน อีกใบคือ ใบลาออก เขาบอกว่า เขาต้องขอทุน ต้องขอผ่อนผันค่าเทอม แต่เขาคิดอยู่ เขาปรึกษาผมอยู่เหมือนกันว่า เขาทำยังไงกับชีวิต ฐานะบ้านที่เขามาจากเป็นฐานะค่อนไปทางยากจน

ถ้าตามที่อาจารย์เดชรัตเคยไล่สถิติขึ้นมา คนกลุ่มนี้ก็คือคนกลุ่มที่ดิ้นรน เป็น 4 % คือคนกลุ่มที่เกิดมายากจน และ ดิ้นรนจนเข้ามหาวิทยาลัยได้ จนเข้าธรรมศาสตร์ได้ คือดิ้นรนมาเป็น 4 % แต่เขาก็พูดมาประโยคหนึ่งซึ่งผมว่าน่าสะท้อนใจมาก ว่า อาจารย์คะ หรือว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของหนู ต่อให้หนูพยายามแค่ไหนก็ไม่ใช่ที่ของหนู หนูควรจะต้องไปทำงานหาเงินแล้วก็ค่อยกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยเปิด แต่มันน่าเศร้ามากที่คนพยายามมาถึงจุดนี้ แล้วยังไม่สามารถไปต่อได้

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำ เราคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกล แพง และ ฟุ่มเฟือยเกินไปสำหรับคนที่อยู่ในระบบนี้ เรามีคนที่อยู่ในระบบการศึกษาระดับสูง ก็คือรวม ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก ทั้งระบบ 2 ล้านคน คิดง่ายๆ ถ้าทำให้ทุกคนเรียนฟรี คิดให้เหมือนกยศ. ทำหน้าที่ให้เหมือนกับสปสช.

เราใช้งบประมาณปีละ 200,000 ล้านบาท ทำให้คนเรียนฟรี มีเงินเดือน กยศ.มีหมดแล้วครับ ค่ากลางของค่าเทอมว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ก่อนหน้านั้นคนก็ไม่คิดหรอกครับว่าจะสามารถกำหนดค่ากลางของการรักษาพยาบาลได้ และ ขยับไปเป็นการให้สิทธิทุกคนเรียนฟรีได้ แค่ 200,000 ล้านบาท เรียนฟรีทั้งระบบทั้งรัฐและเอกชนปัจจุบัน และมีเงินเดือนอีก เดือนละ 3,000 บาท เป็นไปได้ครับ และนี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมย้ำว่ามันเป็นไปได้ ใช้งบประมาณประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากันกับกระทรวงกลาโหม

อันนี้ก็เป็นส่วนที่ผมอยากย้ำให้เห็นว่า ตัวนี้มันน่าสนใจที่ว่า ในข้อเสนอเรามีพูดถึงเรื่องการศึกษาในมิติอื่นๆ อีก แต่อันนี้ที่ผมพูดคือที่เราเพิ่มขึ้นมา คือการศึกษาที่ฟรีในระดับมหาวิทยาลัย นี่ก็คือ safetyness ที่ทำให้คนคิดฝัน วิ่งตามความฝันได้ เรื่องพื้นฐานง่ายๆ อยากให้คนมีจินตนาการ ก็ให้เขาเรียนหนังสือฟรี ซึ่งหลายประเทศในยุโรปก็เป็นแบบนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลเกินฝันเกินจินตนาการของเราเลย

 

 

ประเด็นสุดท้าย ก็คือประเด็นเรื่อง “การปฏิรูปภาษี” ว่าเอาเงินมาจากไหน เอาเข้าจริงแล้วประเทศเรามีเงิน ยิ่งวิกฤตโควิดแล้ว เรายิ่งเห็นว่า UBI ที่อาจารย์ต้นนำเสนอเมื่อสักครู่นี้ ถ้าเทียบกับที่รัฐบาลนำมาให้ ถ้าเทียบกันแล้วก็เกือบจะเท่ากับ UBI แล้ว ประเทศเรามีเงิน ผมย้ำให้ทุกท่านเห็นภาพ แต่ว่าปัญหาสำคัญคือเวลาที่เราพูดถึงว่าใครควรจะได้เงิน มันมีชั้นกองจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง หรือที่เราเรียกว่า triggle down economy

1 พฤษภาคมปีที่แล้ว เราจำได้ใช่ไหมครับ ที่เราเห็นคนไปกรอกยาอยู่หน้ากระทรวงการคลัง ถึงการที่ทำไมเขาต้องพิสูจน์ซ้ำ เมื่อไหร่เขาจะได้สวัสดิการต่างๆ แต่พอเราพูดถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทำไมมันง่ายจังเลย บางทีกลุ่มทุนเขาไม่อยากได้ รัฐบาลพยายามที่จะวางเงื่อนไขให้มารับเถอะ

เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวข้องกับการมีเงิน หรือ ไม่มีเงิน มันเกี่ยวข้องกับว่าคุณมองว่าใครควรจะได้รับเงิน อันนี้ผมว่าเรื่องใหญ่และสำคัญ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ทางทีมงานของเราได้เคาะมาเพิ่มเติม

เรามี nickname ของภาษีตัวนี้ว่า “ภาษีชนชั้นปรสิต” Net Wealth Tax ตอนนี้อาร์เจนตินาเก็บเริ่มต้น 2-3% สำหรับคนที่มีทรัพย์สินเกิน 80 ล้านบาททั้งในและต่างประเทศ ผมไม่แน่ใจว่ามันคงมีความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์การคลังอะไรต่างๆ ว่าเดี๋ยวจะย้ายประเทศหนี ถึงเวลาก็เลี่ยงภาษี ผีที่ว่าด้วยการย้ายประเทศหนี เป็นผีที่หลอกหลอนเรามานาน และผมไม่คิดว่านายทุน top 10 ของประเทศนี้จะย้ายประเทศหนี คงไม่มีที่ที่เขาทำมาหากินได้ง่ายเท่ากับประเทศไทยแล้ว

Net Wealth Tax อันนี้คำนวณง่ายๆ ถ้าเราเริ่มเก็บภาษีจากคนที่มีทรัพย์สินเกิน 400 ล้านบาทในประเทศไทย ผมไม่เชื่อว่ามีใครในห้องนี้มี 400 ล้านบาท ปีละ 3 % คนที่รวยที่สุดในประเทศนี้มีทรัพย์สินอย่างน้อย 1,000,000 ล้านบาท เก็บปีละ 30,000 ล้าน ฟังดูเยอะ เคยมีคนค่อนขอดผมเหมือนกัน ว่าโจรปล้นบ้านยังไม่สามารถปล้นออกไปได้ 3 % เลย ผมออกภาษีนี่คือปล้นชัดๆ แต่คำถามคือ เราคิดกลับกันในประเทศที่มันเหลื่อมล้ำมหาศาลขนาดนี้ การที่เรามี 400 ล้านบาท มันเกิดจากความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดออม จริงมั้ย ? เพราะฉะนั้นนี่คือแนวทางสำคัญนะครับ 

อีกด้านหนึ่งทางเทคนิคก็คือ “เรื่องการลดหย่อนภาษี” อะไรต่างๆ ผมว่าควรจะเอาออก เพราะว่าเราไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ ลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร 30,000 ใช่ไหมครับ ถ้าฐานภาษี 10 % เราก็ลดหย่อนได้คืนกลับมา 3,000 บาท เอาตรงนี้ออกให้หมด แล้วเอามาเป็น 3,000 บาท/เดือน ดีกว่า และให้เก็บภาษีกันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วเดี๋ยวพอมี negatve income tax มี UBI อย่างที่อาจารย์เดชรัตว่า ผูกคนเข้ากับระบบภาษีหน่อย ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่หนักหนา

สุดท้ายแล้ว แพคเกจเพิ่มขึ้นนิดนึงนะครับ จากปีที่แล้วที่เราเคาะอยู่ 1.3 ล้านล้าน ปีนี้เราลองคิดดู top-up ระบบต่างๆ ก็  2.3 ล้านล้านบาท แต่ว่าอย่างที่ท่านได้ถามมาก็คือใช้ทุกคน ก็คือคนที่ทำงานและสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศนี้ นักวิทยาศาสตร์จะประดิษฐ์วัคซีนได้ไหม ถ้าไม่มีคนที่ทำความสะอาดห้องน้ำให้นักวิทยาศาสตร์ ใช่ ทุกอย่างมันสัมพันธ์กัน เราเห็นเพียงแค่ฉากหน้าของมูลค่าที่มันโผล่ออกมา เราเห็นแค่ฉากหน้าของเจ้าสัวที่มันประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เห็นมูลค่าของเราที่สร้างตึก สร้างอาคาร สร้างเทคโนโลยีอะไรต่างๆ มันก็มาจากพวกเราทั้งนั้นเอง 

 

ที่มา: Facebook We Fair

ถ่ายทอดสด เวทีวิชาการ การนำเสนองานวิจัยและบทความ “จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า” ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ประกอบด้วย (1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน (2) การศึกษา (3) สุขภาพ (4) ที่อยู่อาศัย/ที่ดิน (5) งาน/รายได้ (6) ประกันสังคม (7) บำนาญผู้สูงอายุ (8) สิทธิทางสังคม (9) ระบบภาษี 

โดย ‘รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564

รับชมคลิปเต็มได้ที่:  https://www.facebook.com/wefairwelfare/videos/202703217898430

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ