ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐประหาร 2490 กับการล่มสลายของลัทธิธรรมนูญ

5
กุมภาพันธ์
2564

 

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ให้สัมภาษณ์ ณ กองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ให้สัมภาษณ์ ณ กองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม
(ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็คือ การนำมาซึ่งการสลายตัวของ “ลัทธิธรรมนูญ” ทั้งนี้ตั้งแต่หลังพ.ศ. 2475 เป็นต้นมานั้น สิ่งหนึ่งที่คณะราษฎรพยายามดำเนินการก็คือ การสถาปนาลัทธิธรรมนูญ โดยยกรัฐธรรมนูญขึ้นสูงเด่นเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ ในระยะพ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ส่งกลุ่มปาฐกถาเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญ และนำรูปภาพรัฐธรรมนูญไปแจกตามหมู่บ้านห่างไกล และเอาบทรัฐธรรมนูญแจกข้าราชการอำเภอ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (รัศมี ชาตะสิงห์ 2521: 384) จากนั้นก็ได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานใหญ่ที่สุดประจำปีในวันที่ 9-11 ธันวาคม และท้ายที่สุดก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ถนนราชดำเนิน และรัฐธรรมนูญก็ถูกยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์เทียบกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาพเช่นนี้อาจดำรงอยู่ได้ ถ้าหากว่ารัฐธรรมนูญมีความต่อเนื่อง เช่นในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2489 นั้น แม้จะดูเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็ยังเป็นส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2475 โดยไม่ได้มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมลง แต่การรัฐประหารพ.ศ. 2490 และใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ลัทธิรัฐธรรมนูญสลายตัว แนวคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญจะฉีกเล่นเมื่อใดก็ได้โดยฝ่ายรัฐบาลนั้นได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยนี้ ความจริงแล้ว นัยยะหนึ่งของคณะราษฎรที่นำเสนอรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินั้น ส่วนหนึ่งเป็นการลดความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์เก่าตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยเหตุนี้ การพังทลายของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินั้น ก็คือการรื้อฟื้นพระมหากษัตริย์ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญของชาติครั้งใหม่ ในขั้นนี้จึงเห็นได้ว่า ข้อวินิจฉัยของน.อ. กาจ เก่งระดมยิง ที่ว่า “รัฐธรรมนูญปี 2489 ไม่ดี ไม่ถูกต้อง” (จรูญ กุวานนท์ 2495 : 337) จึงมีผลกว้างไกลกว่าที่คิด

ปัญหาที่ว่าเหตุใดการขึ้นสู่อำนาจของคณะรัฐประหารจึงก่อให้เกิดผลในการทำลายประชาธิปไตย และล้มล้างลัทธิธรรมนูญเช่นนี้ คงจะต้องอธิบายจากมูลฐานภายในของคณะรัฐประหารเองที่ว่า คณะรัฐประหารมิได้มีความสำนึกและผูกพันกับประชาธิปไตย และ คณะรัฐประหารก้าวขึ้นมามีอำนาจด้วยการปลุกระดมของฝ่ายอนุรักษณ์นิยม จึงมีแนวโน้มความคิดในทางอนุรักษณ์นิยม และสวนทางกับประชาธิปไตยพลเรือนอย่างฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ดังนั้น การรัฐประหารครั้งนี้ จึงได้ความสัมฤทธิ์ผลมาสู่กลุ่มเจ้า-ขุนนางบางประการ นั่นคือ “การถวายอำนาจคืน” โดยคณะรัฐประหารเป็นผู้มอบให้ 

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม
(ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

 

สำหรับจอมพล แปลก พิบูลสงครามนั้น แม้ว่าจะเคยเป็นคู่ปฏิปักษ์กับฝ่ายเจ้า-ขุนนางมาก่อน แต่ก็ได้ฉวยสถานการณ์นี้มาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ดังคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า “รัฐประหารครั้งนี้ทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล และเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้มีโอกาสดูแลบ้านเมือง” (การเมืองรายสัปดาห์ 29 พฤศจิกายน 2490)

 


https://www.youtube.com/watch?v=mSUd0akmzto&t=478s
คลิปเหตุการณ์วันรัฐประหาร 2490 จากหอภาพยนตร์
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์โดย แท้ ประกาศวุฒิสาร

 

หมายเหตุ : คลิปเหตุการณ์วันรัฐประหาร 2490 จากหอภาพยนตร์ โดยบรรณาธิการ 

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์โดย แท้ ประกาศวุฒิสารผู้ซึ่งต่อมาถือเป็นคนทำหนังไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์ 16 มม. ไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อถ่ายเหตุการณ์สำคัญโดยรอบเอาไว้   ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพยนตร์นี้ได้รับการนำไปฉายเป็นหนังข่าวที่โรงหนังโอเดียน ก่อนที่แท้จะนำมาตัดต่อใหม่และลงเสียงบรรยายด้วยตนเอง เพื่อจัดทำรวมอยู่ในวีดิทัศน์ "หนังแท้" เมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นฉบับที่ได้รับการชมอย่างแพร่หลาย แต่ฉบับที่เผยแพร่ใหม่ทีท่านได้ชมนี้ หอภาพยนตร์ได้นำฟิล์มมาสแกนภาพใหม่มารวมกับเสียงบรรยายของ แท้ ประกาศวุฒิสารที่เคยบรรยายไว้ก่อนหน้า และพบว่าภาพบางส่วนคุณแท้ได้ตัดออกตอนทำวิดีทัศน์  ซึ่งส่วนนั้นจะไม่มีเสียงบรรยาย  จึงได้นำกลับมาใหม่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสมบูรณ์

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491-2500)”, (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2532, 77-78, สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564

 

บรรณานุกรม 

จรูญ กุวานนท์. "ชีวิตการต่อสู้ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม", (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุปราณี, 2495)

รัศมี ชาตะสิงห์. "บทบาทจอมพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในระยะ 6 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง", วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521