ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ตำนาน.........รัฐธรรมนูญ

28
ตุลาคม
2566

 

เพราะ : 
                   อันหลักหกประการที่ขานไข (1)
                   อีกรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นปฐม (2)
                   เป็นปทัฏฐานการเมืองเนื่องนิยม
                   ปวงประชาได้ชมสมเสรี (3)

                   บทเฉพาะกาล (4) บานเลี่ยงแล้วเบี่ยงเบน
                   กำหนดเกณฑ์เล่นแง่แก้เสียนี่
                   บางฉบับร่างขมิบนับสิบปี
                   บางฉบับก็ซี้ซั้วมั่วมาใช้

                   ที่ดีดีมีชีวิตติดจะสั้น
                   ที่แย่นั้นปั้นมาปราบกำราบใส่
                   เป็น “วงจรอุบาทว์” (5) ธาตุจัญไร
                   “ปากบ่ได้ ไอบ่ดัง” ตั้งเวียนวน.

จึง :

                   ในน้ำไร้ปลา ในนาไร้ข้าว ในเขาไร้ไม้
                   คอนโดฯ ป่องแต่ท้องไส้ไทยสับสน
                   สนามก๊อล์ฟเย้ยกระต๊อบของคนจน
                   นาไร่ป่นเป็นรีสอร์ทยอดพัฒนา

                   ขายชีวีมีค่าให้ซาอุฯ
                   สมองไหลไปจากกรุเพราะอย่างว่า
                   ประชาชนทนพะงาบอาบน้ำตา
                   วัฏจักรยักท่าพาเลี้ยวลด.

ต้อง :

                   อำนาจอธิปไตยของใครก็ใครใช้
                   รัฐธรรมนูญของใครใครกำหนด
                   ผลประโยชน์ของใคร (ส่วนใหญ่) ให้ใคร (ส่วนน้อย) ซด
                   ใคร (ส่วนใหญ่) ก็อด, ใคร (ส่วนน้อย) ก็อิ่ม ยิ้มเท่านั้น (6)

เปลื้อง วรรณศรี
ตมธก. รุ่น 5
6 เมษายน 2534

 

เปลื้อง วรรณศรี ถ่าย ณ สวนต้ากวน เมื่อปี 2525 ที่มาภาพ : The 101 .World
เปลื้อง วรรณศรี ถ่าย ณ สวนต้ากวน เมื่อปี 2525
ที่มาภาพ : The 101 .World

 

(1) หลัก 6 ประการที่ “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) สายทหารบก นายนาวาตรีหลวงสิทธุสงครามชัย ร.น. (สิน กมลนาวิน) สายทหารเรือ และหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สายพลเรือน เสนอขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ 1. เอกราช 2. หลักความสงบภายใน 3. หลักเศรษฐกิจ 4. หลักเสรีภาพ 5. หลักสมภาค 6. หลักการศึกษา

(2) หมายถึง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งทรงพระราชทานและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

(3) ทางการได้จัดให้แต่งเพลงสดุดีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ชื่อ “เพลง ๒๔ มิถุนา” มีข้อความว่า :

 

ยี่สิบสี่มิถุนา-                    ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ-              ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา-          รยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย                  ได้สิทธิเสรี
สำราญสําเริง                   บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี               เอกราชสมบูรณ์
                 (สร้อย) ไทยจะคงเป็นไทย
                   ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

ชาติประเทศเหมือนชีวา   ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลาย           ร่างกายก็เป็นปฏิกูล
พวกเราต้องร่วมรัก           พิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญ                 คู่ประเทศของไทย
เสียกายเสียชนม์              ยอมทนเสียได้
เสียชาติประเทศไทย        อย่ายอมให้เสียเลย.
                 (สร้อย)............................

 

ตอนนั้นผมเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุรินทร์ ทางโรงเรียนได้จัดให้นักเรียนถือโคม (ทำกันขึ้นเอง) ปักเทียนจุดกันสว่างไสว เดินขบวน-ร้องเพลงนี้ไปตามถนนต่างๆ ทุกค่ำวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี ก่อนออกเดินเมื่อตั้งแถวเรียบร้อยแล้ว ครูจะกล่าวปลุกใจให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เพลงบทนี้เนื้อร้องนั้นไพเราะ มีความหมายกินใจลึกซึ้งนัก ทำนองหรือก็คึกคักมีชีวิตชีวา พวกเราชอบกันมากคำว่า “ขอรัฐธรรมนูญ” หมายถึง ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (ผมต้องขออภัยด้วย ถ้าหากเนื้อร้องเพลงนี้ขาดตกบกพร่อง เพราะเขียนขึ้นจากความจำไม่มีที่ให้สอบทาน).

(4) วันที่ 1 ตุลาคม 2483 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยืดบทเฉพาะกาลจาก 10 ปี เป็น 20 ปี และวันที่ 3 ธันวาคม 2485 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง คือให้ขยายกำหนดเวลาการอยู่ในตำแหน่งของ สส. จากวาระคราวละ 4 ปี ออกไปได้คราวละไม่เกิน 2 ปี ทำให้ สส. ในสมัยนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 8 ปี คือจาก 2481-2488

(5) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.บางกอกโพสต์ วันที่ 28 มีนาคม 2534 ว่า We are still in this vicious circle (เรายังคงวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์นี้)

(6) โปรดอ่านเรื่องสั้นสองเรื่อง ชื่อ “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” กับ “DUM SPIRO, SPERO” (สุภาษิตละติน ตรงกับสุภาษิตอังกฤษว่า Where there is life, there's hope) ของ “อิศรา อมันตกุล” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งต้องไปถูกจำขังอยู่ในแดนการเมือง เรือนจำลาดยาวกว่า 5 ปี

 

ที่มา : เปลื้อง วรรณศรี. ตำนาน.........รัฐธรรมนูญ, ใน, วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2534. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2534. น. 67-70.