ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“โดม” คือ ท่านปรีดี พนมยงค์

28
ตุลาคม
2565

ฯลฯ ถ้าขาดโดม.....เจ้าพระยา.....ท่าพระจันทร์.....ก็ขาดสัญญลักษณ์[1]พิทักษ์ธรรม

(บทกลอนของ เปลื้อง วรรณศรี สนับสนุนนักศึกษา มธก. คัดค้านอำนาจเผด็จการ หลัง 8 พ.ย. 2490)

“โดม” คือท่านปรีดี พนมยงค์
สูงส่ง, ฉลาด, ชาญ, หาญกล้า
ท่านอุทิศทุกอย่างตลอดมา
เพื่อชาติเพื่อประชาชาวไทย.

ลูก (คุณปาล) เมีย (ท่านผู้หญิงพูนศุข) ติดคุกติดตะราง
ท่านต้องนิราศร้างภัยใหญ่
สามสิบกว่าปีที่จากไป
ดวงใจท่านมิได้เปลี่ยนแปลง

หานักสู้แต่ปากไม่ยากหา
แต่นักสู้ที่ศรัทธากล้าแกร่ง
ยากหา ยากเห็น ยากแสดง
ท่านเลิศเจิดแจรงแพง[2] อนันต์

เกียรติ์ประวัติ สัจจา ค่า และคุณ
เด่นอดุลย์คู่ไทยใหญ่มหันต์
ปรีดี พนมยงค์ คงนิรันดร์
กี่วันกี่เดือนกี่ปี.....ไม่มีจาง!

“เจ้าพระยา” คือไทยอันไพศาล
แต่โบราณร่วมใจไทยสร้าง
สืบทอดธรณีที่ถางทาง
อธิปไตยไม่รู้ร้างรู้โรยรา

เลือดหลั่งโลมชีพโถมเข้าทุ่มทับ
แสนศพคณนานับทวยไทยกล้า
ทวยไทกลั่นมั่นมนัสสูงศรัทธา
ให้ไทยรุ่นต่อมาได้เป็น “ไท”

พ่อขุนรามฯ นารายณ์ นเรศวร
ตากสิน ฯลฯ แต่ละล้วนยศยิ่งใหญ่
อีกปรีดี “รู้ธ” ผู้กู้ไผท
ท่านนำ “เสรีไทย” กู้แผ่นดิน.

อันผู้นำเมื่อต่างยุคสมัย
ประวัติศาสตร์ย่อมกำหนดให้ต่างกันสิ้น
แต่ทุกท่านคือธงชัยต้านไพริน
กอบกู้ธรณินทร์ให้ดำรู.

“ท่าพระจันทร์” คือนักศึกษา
วันนั้น วันต่อมาได้ต่อสู้
วันนี้ - สับสนจนประตู
วันหน้า - คงรู้ทิศทางเดิน

ปัญญาชนมิใช่ปัญญาโฉด
ต้องมี “พระ” มาโปรดจึงเหาะเหิน
เรื่องจะหยุดยุติมิมอง เมิน -
“ชาติ” “ประชา” ยับเยินไม่ยอยก

ปัญญาชนมิใช่ปัญญาชั่ว
ขายตัวขายวิชาเงินตราปก
ปัญญาชนเลิศค่าเทิดสาธก
คือเพชรอุปถัมภกเพื่อยก “ไท”.

ถ้าชาติขาดผู้นำ = “โดม” ที่เด่นค่า
ถ้า “เจ้าพระยา” จับเจ่าไม่เอาไหน
ถ้าปัญญาชนคือ “สมอง” เป็นหนองใน[3]
ชาติไทยก็ย่อยยับอัปรา.

ขอ ท่านปรีดี พนมยงค์
จงเป็นแบบอย่างทางคุณค่า
แก่ลูกหลานไทยทั่วชั่วกัลปา
เป็นมาตรวัดราคาค่าของคน

“.....เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต
แดงของเราคือโลหิต.....” อันเข้มข้น
ไทยเอ๋ย.....ไทย! ถ้า ประชาชน -
เหมือนท่านปรีดีหลายๆ คน ไทยไม่พัง!

 

 

ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ปรีดี พนมยงค์

 

‘เปลื้อง วรรณศรี’ กวีและนักเขียนก้าวหน้าคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในทศวรรษที่ 2490 เปลื้อง วรรณศรีเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2486 โดยเริ่มเข้ามาศึกษาในชั้นเตรียมปริญญาในรุ่นที่ 5 หลังจากนั้นก็ขยับขึ้นไปศึกษาในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ผลงานของเขาเริ่มทะยอยตีพิมพ์ออกมาให้เป็นที่รู้จักกันในช่วงทศวรรษที่ 2490 โดยส่วนใหญ่จะตีพิมพ์อยู่ตามหนังสือพิมพ์รายวันผลงานของเปลื้องที่รู้จักกันดีสำหรับชาวธรรมศาสตร์ ก็คือบทกวีที่ว่า “ถ้าขาดโดม...เจ้าพระยา...ท่าพระจันทร์ ก็ขาดสัญญลักษณ์พิทักษ์ธรรม” อันเป็นมรดกที่ชาวธรรมศาสตร์จดจำกันเสมอมา

 

ที่มา : เปลื้อง วรรณศรี, “โดม” คือ ท่านปรีดี พนมยงค์, ใน กึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527), หน้า 55-58.

 

[1] คงอักขระวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

[2] แพง (อีสาน) = สูงค่า, ถนอมรัก, หวงแหน

[3] ความคิดหรือสมองพิการในหลายๆ ด้าน ไม่คิดต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง