ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การทอดทิ้งประชาชน

28
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเนื่องในวาระ 102 ปีชาตกาลของนายเปลื้อง วรรณศรี ผู้มีคมปากกาเป็นอาวุธต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและไม่ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากการที่นายเปลื้องในช่วงที่เป็นผู้แทนราษฎร จ.สุรินทร์ มักจะตั้งกระทู้ถามเพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของชาวบ้านแล้วยังมักเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลเพื่อชี้ให้ตระหนักถึงประโยชน์บ้านเมืองและติเตียนรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมอยู่เป็นประจำ โดยในบทความนี้นายเปลื้องได้เสนอให้เห็นนโยบายประกันสังคมและสวัสดิการของประเทศรัสเซียและอังกฤษในทศวรรษ 2490 ที่มีระบบดูแลสวัสดิการของประชาชนดีเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลไทยสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รัฐบาลดูจะใส่ใจในพวกพ้องมากกว่าทุกข์-สุขของประชาชน

 


นายเปลื้อง วรรณศรี (28 ตุลาคม 2465-28 มิถุนายน 2539)

 

 


บทความการทอดทิ้งประชาชน โดย เปลื้อง วรรณศรี ในนิตยสารรัฐบุรุษ ฉะบับวันเกิดปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
ที่มา : หอสมุดปรีดี พนมยงค์

 

เมื่อพระสารีบุตร บวชแล้วได้กึ่งเดือน พระศาสดาเสด็จอยู่ที่ถ้ำสุกรชาตา เขาคิชฌกูฎ แขวงเมืองราชคฤห ปริพพาชกผู้หนึ่ง ชื่อทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตรเข้าไปเฝ้าพระศาสดากล่าวปราศัย และยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่งทูลแสดงทิฏฐิของตนว่า พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพไม่ชอบใจหมด พระศาสดาตรัสตอบว่า อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ตรัสตอบอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงสมณพรามณ์มีทิฏฐิ ๓ จําพวกว่า อัคคิเวสสนะ สมณพรามณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบ ชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ฯลฯ

เราทราบจากพุทธประวัติดังนี้ แสดงว่าทิฏฐิมานะนั้นได้มีมานานแล้ว และกําลังเจริญอยู่ในปัจจุบัน เจริญพอที่จะทําให้ผู้มีกําลังอํานาจซึ่งได้ครองเมือง กล้าพอที่จะแสดงความดื้อรั้นผิด ๆ ไม่ยอมรับผิดชอบในสวัสดิภาพของประชาชน การประกันความสุขสมบูรณ์ของส่วนรวมเสียโดยไม่มีการดูดายประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดิน จึงควรจะคิดขวนขวายหาวิธีทางช่วยเหลือตัวเอง ภาษีอากรที่เราได้ทุ่มเทเสียให้แก่รัฐ จึงจะได้ตกมาถึงมือของเรา และออกดอกผลอํานวยความสุขให้ กระจายไปทั่วแผ่นดิน แทนที่จะตกอยู่แก่คนกลุ่มเดียวคณะเดียว ปรนเปรอพวกเขาและลูกสมุนของเขาให้ได้กินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ผิดกับประชาชนซึ่งกินอย่างที่บรรพบุรุษ เคยกินอยู่โดดเดี่ยวไร้ การรับประกันอย่างบรรพบุรุษของเขาเคยอยู่มานับเปนศตวรรษ แต่ต้องทํางานอย่างที่ไพร่ทาษจะต้องทํา

ถ้าประชาชนได้ผู้ปกครองที่ถือทิฏฐิว่า ลาภ ยศ ตำแหน่ง และประโยชน์ทั้งปวงควรแก่เราและพรรคพวกของเรา เราชอบหมด ถ้าประชาชนมีรัฐบาลที่ถือทิฏฐิว่า การคัดค้าน การกล่าวตําหนิติเตียนรัฐบาลด้วยประการทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ไม่ชอบใจหมด ใครจะมาตั้งตัวเป็น มร.วินสตัน เชอร์ชิล เมืองไทยคัดค้านรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลมีเจ้าหน้าที่เปนเครื่องมือทั้งสองแสนคน ใครจะมารู้ดีกว่ารัฐบาลไม่ได้ แต่รัฐบาลชะนิดนี้ยิ่งรู้ดีเท่าไร ประชาชนก็ยิ่งลําบากยากเข็ญมากขึ้นเท่านั้น รัฐบาลซึ่งทิฏฐิมานะคลุมสมองอย่างนี้ ย่อมไม่เคยได้สนใจกับคําของมิราโบ (Mirabean) นักปฏิวัติคนสําคัญของฝรั่งเศสที่ว่า “พวกยากจนและความทุกข์ยากของเขา เปนสิ่งที่รัฐควรคํานึงอย่างยิ่ง”

รัฐบาลที่ฉกฉวยโอกาศ รัฐบาลที่ปราศจากโครงการเพื่อบูรณะประเทศ ฟื้นฟูการอาชีพ บํารุงความสุขของราษฎร ย่อมไม่ต้องการคิดต้องการทําอะไรประชาชนฉลาดขึ้นและมีความสุขขึ้น การเปนคนฉลาดทําให้เขาปกครองยาก การที่ยอมให้ประชาชนมีความสุขพอสมควรและโดยสม่ำเสมอ ทําให้ประชาชนมีเวลาพอที่จะมาคอยจับผิดและรู้เห็นไส้ตลอดจนวิธีการครองเมืองโดยเหยียบหัวประชาชนได้ พวกเขาถือเป็นความลับอย่างยิ่ง การปกครองจึงใช้วิธีการณ์เก่า ๆ ที่พวกจักรพรรดินิยมใช้กับเมืองขึ้น และพวกเผด็จการใช้กดขี่บังคับคนชาติเดียวกันอย่างได้ผลมาแล้ว คือใช้กําลังอำนาจขู่ขวัญไม่ให้ประชาชนดิ้นรน ใช้เงินของแผ่นดินบํารุงพรรคพวกและหว่านโปรยหากําลังเพิ่มเติม

และประการสุดท้ายใช้การละเลยและทอดทิ้งประชาชนให้อดโซ ทรมานจนไม่มีกําลังพอที่จะเป็นภัยแก่รัฐบาลชะนิดผูกขาดตัดตอนได้ ผลที่ได้รับคือรัฐบาลวิตถารและอํามะหิตชะนิดนี้จะดํารงอยู่ได้ตลอดกาลที่รัฐบาลดังกล่าวยังมีอํานาจเหนือประชาชนอยู่

ทําไมบางรัฐจึงมุ่งกดขี่และทอดทิ้งประชาชน ?

ทําไมบางรัฐจึงมุ่งบํารุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชนอย่างจริงจัง ?

รัฐบาลของบุคคลกลุ่มเดียวคณะเดียว ย่อมไม่เปนข้อสงสัยที่เราจะต้องกด และทอดทิ้งประชาชน ส่วนรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ย่อมจะแสวงหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทําให้ผู้เลือกตั้งเขาได้กินอิ่มนอนหลับ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะได้รับปัจจัย ๔ ประการคือ ที่อยู่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ดังที่ท่านเมธีนีโยมิยา (Sontoku Ninomiya) นักปฏิวัติสังคมและนักเศรษฐกิจเรื่องนามของญี่ปุ่นกล่าวไว้ เมื่อเกือบสองร้อยปีมาแล้วว่า เสื้อผ้า อาหาร และที่อยู่ก็ได้มาจาก ไร่นา ที่ดิน ป่า และภูเขา ไร่นา ป่า และภูเขาก็เป็นประโยชน์ด้วยการถากถาง และบํารุงอย่างไม่รู้จักเหน็จเหนื่อยของคน ตรงตามอุดมคติของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ที่ถือว่าการเศรษฐกิจเปนหัวใจเปนชีวิตของรัฐ

ศตวรรษแห่งประชาชนได้เริ่มแล้ว ประชาธิปไตยแผนใหม่ได้ฝังรากอย่างแน่นแฟ้นในสหภาพสาธารณรัฐโซชะลิสม์ โซเวียตรัสเซีย และแผ่กระจายไปยังอัลมาเนีย บัลกาเรีย เชโกสโลวาเกีย ฟินแลนด์ เยอรมนีตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ และรูมาเนีย และกําลังได้ชัยชะนะอย่างใหญ่หลวงในประเทศจีน โดยทำการขับไล่พวกกว่อมินตั๋งฝ่ายถอยหลังเข้าคลองจนเกือบจะหมดสิ้นจากอาณาจักรจีนแล้ว แม้สาธารณรัฐเวียตนามประเทศ เพื่อนบ้านของไทย ก็กำลังมีชัยต่อพวกจักรพรรดินิยมฝรั่งเศสและรัฐบาลหุ่นเบาได๋ การได้ชัยชะนะของรัฐบาลดังกล่าวมานี้ ก็เนื่องจากเปนรัฐบาลที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมมือปฏิวัติด้วยโดยใกล้ชิดและให้ความสนับสนุนทุกวิถีทาง ประชาชนได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเข้าทำการปฏิวัติกันทั้งชาติ บุคคลในคณะรัฐบาลก็จัดการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งได้ร่วมความเปนตายมาด้วยกันจึงมีความรักใคร่กันอย่างลึกซึ้ง

ความทุกข์ยากในการปฏิวัติ เราให้ทุกคนลืมกันไม่ได้ พวกชุบมือเปิบ นักการเมืองแสวงโชค จึงไม่มีโอกาสโผล่เข้ามายึดอํานาจ หรือกินแรงประชาชน เช่น ในเมืองเรา สวัสดิภาพของพลเมือง เขาจึงได้รับการเหลียวแล การประกันสังคมของเขาจึงได้ผลจริง ๆ ไม่ใช่พูดแต่ปากแล้วก็ทอดทิ้งประชาชนให้เป็นไปตามยถากรรม

ในรัสเซียกรรมกรผู้ได้รับเกียรติ ได้รับรางวัล ย่อมได้รับความนับถือจากชาวกรรมาชีพทุกคนไม่เลือกว่าหญิงหรือชาย ชีวะประวัติและวิธีการทํางานของเขาในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในนารวมจะได้นำลงพิมพ์อย่างละเอียด ในหนังสือพิมพ์ของท้องถิ่น รูปภาพของเขาถูกประดับไว้อย่างสง่าผ่าเผยตามสมาคมต่าง ๆ และทางการได้ให้เกียรติส่งรูปนั้นไปไว้ในวัฒนธรรมแห่งชาติด้วยการให้เหรียญ ก็ไม่ใช่ให้อย่างไม่มีความหมาย พลเมืองโซเวียตม ๑๙๓ ล้านคน แต่มีคนได้รับรางวัลสตาลิน ไพรซ์ซึ่งเปนรางวัลสูงสุดเพียง ๓,๑๒๑ คนเท่านั้นเอง บุคคลเหล่านี้มีทั้งกรรมกร, นายช่าง, ข้ารัฐการ, ชาวนารวม, นักวิทยาศาสตร์, หมอ, ครู และผู้ประกอบงานอย่างอื่นทั้งหญิงและชาย

ด้วยการที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดนี้เอง ผู้ได้รับเหรียญจึงประดับเหรียญนั้นทุกเวลา ทั้งเวลาทํางาน และการปรากฏในที่ต่าง ๆ...ในด้านการบำรุงสันติสุขของพลเมือง รัฐบาลโซเวียตใช้เงินในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ ถึง ๑๑๙,๐๐๐ ล้านรูเบิล หรือเกือบ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของรัฐทั้งหมดเพื่อการประกันสังคม ส่งเสริมวัฒนธรร การศึกษา การสาธารณสุข สงเคราะห์ผู้มีบุตรมากและหญิงหม้าย โรงพยาบาล บ้านพักกรรมกร โรงเรียนอนุบาล และสถานที่ตากอากาศของนักเรียนและคนงานในฤดูร้อน เปนต้น สิ่งเหล้านี้หาได้จัดสร้างฉะเพาะแต่ในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้นไม่ ได้สร้างทั่วไป ตามนิคมอุตสาหกรรม แหล่งผลิต และเหมืองแร่ทั่วไป...

เพียงตัวอย่างที่ยกมาเท่านี้และการประกันสังคมของรัฐบาลโซชะลิสตของ มร. เอตลี่ ในอังกฤษและมร. ซิฟลี่ในออสเตรเลีย ก็พอจะเปนตัวอย่างให้เห็นได้ว่า เมืองไทยและประชาชนไทยของเราควรจะรู้สึกอย่างไร สถานที่เที่ยวเตร่ของประชาชนไทยทั้งประเทศ มีแต่สวนลุมพินี เขาดินวนา และสนามหลวงเท่านั้น ?...

คนเจ็บป่วยทั้งหลายกว่าจะเดินทางมาจากยะลา นครพนมก่อนถึงโรงพยาบาลใหญ่ซึ่งมีเพียงสามแห่งคือ จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และวชิระพยาบาล

หอสมุดใหญ่มีแห่งเดียว คือหอสมุดแห่งชาติข้างวัดมหาธาตุ แต่ระบำจ้ำบ๊ะมีได้ทุกงาน ๆ ละหลายโรง

ท่านจะรู้สึกอย่างไร เมื่อผู้แทนส่วนมากของท่านได้ยอมขายตัวให้แก่ผู้มีอํานาจไปแล้ว สร้างบ้านให้อยู่หลังละแสนบาทในขณะที่ในตรอกถัดไปข้างหลัง ราษฎรมุดหัวอยู่ในเพิงหมาแหงน งบประมาณอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาลมี ๕ ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำเงินมาสร้างอะไรเลย!

ข้าพเจ้าไม่ได้คลั่งลัทธิ แต่ข้าพเจ้ารักรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โดยประชาชน เพื่อประชาชนจริง ๆ จนไม่อาจน้อมนิยมรัฐบาลของนักแสวงโชคลาภได้สนิทใจ

รัฐบาลผู้เคยเผด็จการย่อมจะต้องกลับไปใช้วิธีเผด็จการ และรัฐบาลของพวกจักรพรรดินิยมย่อมจะกลับไปใช้ลัทธิจารีตนิยมเก่า ๆ กดหัวราษฎรลงเปนไพร่ทาส ขูด รีด และบีบคั้นโดยไม่เอาใจใส่บํารุงสุขนอกจากจะก่อทุกข์ให้ประชาชนทุกวัน

ผู้ใดขลาดกลัวที่จะโต้แย้งเพื่อคนที่จะถูกเหยียบย่ำและคนอ่อนแอ ผู้นั้นคือ ทาส

ข้าพเจ้าขอฝากข้อคิดแก่ประชาชนผู้เป็นเพื่อนร่วมชาติว่า ให้รู้จักจดจําความจริงไว้บ้าง อย่าเปนคนลืมง่ายนัก ถ้าเราได้รับความเจ็บช้ำมาแล้วไม่จำ เราต้องได้รับความเจ็บช้ำอีก มากกว่าและเจ็บปวดยิ่งกว่าเก่า

รัฐบาลที่ดีย่อมทุ่มเท ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความสมบูรณ์พูลสุขของประชาชน

แต่รัฐบาลที่หันหลังให้ประชาชน ย่อมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่งบประมาณเพื่อรักษาเสถียรภาพของบุคคลในคณะรัฐบาล และพรรคพวกของเขาเพียงกลุ่มเดียวคณะเดียว เพื่อรักษาประโยชน์ของเขาไว้ตลอดกาล

ประชาชนต้องแสวงหาความเปนไทยลอดพ้นจากแอก จึงจะได้พบรัฐบาลชะนิดแรก แต่ถ้าต้องการรัฐบาลชะนิดหลัง ก็จงยอมเปนทาสตลอดไป!

๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓

 

ภาคผนวก

อัตชีวประวัติเขียนด้วยลายมือของเปลื้อง วรรณศรี

 

 

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ
  • คัดเลือกต้นฉบับโดยกองบรรณาธิการ

 

เอกสารอ้างอิง

  • นิตยสารรัฐบุรุษ ฉะบับวันเกิด ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2493