Focus
- นายระวิ ฤกษ์จำนง เป็นอดีตนักเรียน ต.ม.ธ.ก. (โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) รุ่น 8 (รุ่นสุดท้าย) และอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย ผู้มีความศรัทธาเป็นอย่างยิ่งต่อนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งยังเป็นนักการทูต นักพูดฝีปากคม นักเขียน นักประพันธ์ และกวี
- ผลงานเขียนชิ้นสำคัญชวนอ่านของนายระวิ ฤกษ์จำนง ชายชาวปักษ์ใต้ จากหมู่บ้านพุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี คือ บทความชื่อ “50 ปี ชีวิตที่ร่อนเร่พเนจร” บอกเล่าเรื่องราวในทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต
- คำไว้อาลัยจากบุคคลสำคัญในหนังสืองานศพ แสดงให้เห็นว่านายระวิ ฤกษ์จำนง เป็นแบบอย่างของนักต่อสู้ชีวิต ผู้ทุ่มเทงานให้ส่วนรวม ผู้มีบทบาททางการทูต นักประพันธ์ฝีมือดี ผู้ทุ่มเทงานเพื่อส่วนรวม (อาทิ สโมสรวังสราญรมย์ ชมรม ต.ม.ธ.ก. และ สถาบันปรีดี พนมยงค์) ผู้มีความถ่อมตน และเป็นผู้มีอุดมคติต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
“ข้าพเจ้ามีความเสียใจและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง ระวิ ฤกษ์จํานง จากไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่มีผู้ใดพ้นไปได้
ระวิ เป็นนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นเดียวกับปาล ลูกชายข้าพเจ้า และสอบเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศพร้อมกัน…เมื่อครั้งที่นายปรีดีกับข้าพเจ้าพํานักในประเทศฝรั่งเศส ระวิก็ได้มาเยี่ยมคารวะ สานต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์….ระวิยังรับผิดชอบในตําแหน่งกรรมการและเลขานุการของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระวิได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ สติปัญญา กําลัง กาย เวลา และอื่นๆ ให้กับงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ อย่างเต็มที่…”
คำไว้อาลัยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ต่อคุณระวิ ฤกษ์จำนง
คุณระวิ ฤกษ์จำนง คือคุณพ่อ สามี พี่วิ พี่ชายที่แสนดี เพื่อนรักของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ผู้ศรัทธางานของเสรีไทย นักการทูต นักพูดฝีปากคม นักเขียน นักประพันธ์ กวี และช่วงหลังเกษียณอายุแล้วระวิยังเป็นกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กรรมการบริหารและเลขานุการคณะกรรมการฯ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ฯลฯ แต่นิยามที่บ่งบอกบุคลิกของคุณระวิได้ตรงที่สุดคือ สุภาพบุรุษตลอดกาล เนื่องในวาระอาลัยครบรอบ 23 ปี ที่คุณระวิเดินทางไกล แต่ในทางตัวอักษร บทประพันธ์ บทกวี และบทไว้อาลัยยังคงซุกซ่อนอยู่ในหนังสือที่ระลึกอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพที่น้อยคนนักจะเคยได้อ่าน บทความนี้ขอคัดสรรงานชิ้นสำคัญเพื่อรำลึกถึงประวัติชีวิต ประสบการณ์ และฝีไม้ลายมือการประพันธ์ของคุณระวิ ฤกษ์จำนง ที่ทรงคุณค่าโดยเฉพาะต่อผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยและร่วมรุ่นในโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ประวัติชีวิตของระวิ ฤกษ์จํานง
ระวิ ฤกษ์จำนง เป็นบุตรนายเพิ่ม-นางผ้วน ฤกษ์จำนง เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ ตำบลพุนพิน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน 5 คน ได้แก่ นางวนิดา ปิ่นเพชน นายระวิ ฤกษ์จำนง นางชุลี วัชชวัลคุ นายสุบรรณ ฤกษ์จำนง และเด็กหญิงภานี ฤกษ์จำนงที่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย ขณะที่ชีวิตส่วนตัวระวิ สมรสกับสมพันธุ์ บุญยสุรักษ์ และมีบุตร-ธิดา จำนวน 5 คน ได้แก่
- นางสาวพันธุ์ระพี ฤกษ์จำนง
- นายกฤษฎา ฤกษ์จำนง
- นายภราดร ฤกษ์จำนง
- เรืออากาศเอกพรฤกษ์ ฤกษ์จำนง
- นายเกริกพันธุ์ ฤกษ์จำนง
ระวิจบการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนประชาบาลพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเข้ามากรุงเทพมหานครและศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส โดยใน พ.ศ. 2491 สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 และ พ.ศ. 2507 จบการศึกษาประกาศนียบัตรทางการทูตที่โรงเรียนการทูต กระทรวงการต่างประเทศสเปน
การทำงานของระวิเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ในกรมการเศรษฐกิจจนกระทั่ง พ.ศ. 2503 ได้เข้าสู่แวดวงการทูตด้วยตำแหน่งนายเวรสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด แล้วเลื่อนขั้นตามลำดับจากเลขานุการตรี-เอก ในสถานเอกอัครทูตประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเยอรมนี และประเทศอิตาลีในช่วงบั้นปลายชีวิต
หากชีวิตเพื่ออุทิศต่อสังคมกลับเริ่มต้นในวัย 60 ภายหลังเกษียณอายุราชการ ระวิได้ทำงานทั้งกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กรรมการบริหาร และเลขานุการคณะกรรมการฯ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และคณะกรรมการบริหาร ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 เป็นต้น กระทั่งป่วยด้วยโรคมะเร็งในกระดูกเชิงกรานระยะที่ 3 และถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 รวมอายุได้ 72 ปี 8 เดือน
50 ปี ชีวิตที่ร่อนเร่พเนจร
ระวิยังได้เขียนอัตชีวประวัติเล่าชีวิตตนเองนับตั้งแต่จำความได้จนถึงวัย 50 ปีไว้ในบทความชื่อ 50 ปี ชีวิตที่ร่อนเร่พเนจรด้วยสำนวนภาษาของประพันธกรที่เก็บซับรายละเอียดทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต
บ้านเกิดที่หมู่บ้านพุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี
“ตั้งแต่จำความได้ บ้านหลังนั้นเป็นบ้านใหญ่และภูมิฐานที่สุดของหมู่บ้าน เพราะเป็นบ้าน 2 ชั้นหลังเดียวในย่านนี้ ที่ตั้งอยู่ริมถนน…ที่ว่าโอ่อ่าภูมิฐานอีกประการหนึ่ง นอกจากเขากวาง 4 หัวที่กล่าวมาแล้ว บ้านนี้เป็นบ้านไม้ทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้องอย่างดี…ผมเกิดที่บ้านนี้ เหมือนกับพี่ๆ และน้องๆ ทุกคน”
ระวิเล่าถึงอาชีพของครอบครัวที่สะท้อนวิถีขีวิตและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจใน จ. สุราษฎร์ธานียุคนั้นไว้ว่า
“พ่อเป็นคนมีฐานะดี ปู่เป็นคนบางเดือน ย่าเป็นคนดอนรี หัวเตย พ่อมาตั้งรกรากที่พุนพินเพราะเป็นเจ้าของเรือค้าขายระหว่างสุราษฎร์ฯ ไปกรุงเทพฯ แล้วนำสินค้าจากที่นั่นกลับมาสุราษฎร์ฯ เช่น หอม กระเทียม เป็นต้น…พ่อแต่งงานกับยายสุ่น (แม่เรียกว่าน้าสุ่น) มีบุตรชายคนโตถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังแบเบาะ…พ่อแต่งงานกับแม่หลังจากยายสุ่นถึงแก่กรรมแล้ว แม่ทำหน้าที่เลี้ยงลูกทั้งสามอย่างดียิ่ง…”
ระวิเกิดก่อนการอภิวัฒน์ราว 4 ปี และเล่าความหลังถึงสาเหตุที่ตนตาพร่ามัวข้างหนึ่งมาตั้งแต่วัยเยาว์
“ผมเกิดเมื่อเช้ามืดค่อนรุ่นของวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2471 แม่และญาติผู้ใหญ่หลายคนบอกผมในภายหลังว่า ร่างกายผมตอนเกิดใหม่ๆ นั้น ไม่เหมือนคนอื่นเขา…อีกประการหนึ่ง มาทราบภายหลังว่าเป็นริดสีดวงตาจำไม่ได้ว่าตั้งแต่อายุเท่าไหร่แน่ แต่ตอนนั้นตาข้างซ้ายบวมเป่ง ตาปิด รักษากันอย่างไรไม่แน่ใจ แต่ตาข้างนั้นมีลักษณะตามัวเรื่อยมาจนกระทั่งเวลานี้…”
ระวิเรียนที่บ้านเกิดจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 1 จึงได้เข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส โดยมีทะเบียนเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม เจ้าอาวาส แต่อยู่ในความปกครองของท่าพระครูธรรมธร คณะใต้ วัดราชาธิวาสและอาศัยอยู่ที่นี่จนเรียนจบมัธยมปีที่ 6 แล้วได้เกิดเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น
วัยหนุ่มของระวิในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจบมัธยมปีที่ 6 ระวิในวัยย่าง 17 ปีที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยหนุ่มก็ได้กลับมายังพุนพินและทำงานขุดดินทำถนนของญี่ปุ่นที่ทุ่งโพธิ์เป็นกุลีรายวันและได้ผจญภัยใต้เสียงหวอของสงครามขณะที่กำลังนำหนังสือไปคืนคนรถไฟที่โรงดำขณะที่กำลังจะไปสะพานข้ามแม่น้ำที่ท่าข้ามนั้นเอง
“เสียงเครื่องบินกระหึ่มมาตามทางรถไฟด้านหลัง เพียงเหลียวหลังไปดูนิดเดียวก็รู้ว่าเป็นเครื่องบินขับไล่นำทางเครื่องบินทิ้งระเบิด…ไปถึงสะพานรถไฟขณะที่ได้เห็นทหารญี่ปุ่นหลายคนจากค่ายทหารเชิงสะพานอยู่บนสะพาน บางคนคาดกระบี่ทำให้ต้องคว่ำลงเพราะกระบี่ขัดจังหวะการวิ่ง ขณะเดียวกับที่เครื่องบินทิ้งระเบิดมาถึง ผมกระโดดไปหากอไม้ใหญ่ใกล้วัดดอนกระถิน ทันทีที่ลูกระเบิดทำลายหลายลูกหล่นลงกลางสะพานพอดี เครื่องบินผ่านพ้นไป ผมโงหัวขึ้น วิ่งเข้าหมู่ไม้ มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่หมู่บ้านพุนพิน”
ระวิได้เก็บซับประสบการณ์ระหว่างสงครามในบ้านเกิดอยู่ราว 1 ปี จึงได้กลับมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ด้วยการนั่งรถไฟและกลับมาพักที่วัดราขาธิวาสอีกครั้งเพื่อสอบเข้าเรียนต่อหลายแห่ง
“...ผมสอบที่วังบูรพาเพื่อเข้าพาณิชยการ สอบที่กรมกสิกรรมเพื่อไปเรียนต่อที่แม่โจ้ สอบเข้า ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ที่ธรรมศาสตร์”
และระวิได้เลือกเรียนที่ ต.ม.ธ.ก. กระทั่งสิ้นปีการศึกษา 2490 ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศผลสอบนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั่วประเทศ และมีรายชื่ออยู่ในนักเรียนที่สอบไล่ได้จนเข้ารับการอบรมหลักสูตรพิเศษของเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอีก 3 เดือน โดยสอบได้หลักสูตรเตรียมปริญญาฯ ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายเพราะ ต.ม.ธ.ก. ได้ปิดตัวลงในปีนี้เอง
การงานแห่งชีวิต
แรกเริ่มระวิทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกรมบัญชีกลาง กองงบประมาณและได้รับเงินเดือน 22 บาท พร้อมกับเรียนมหาวิทยาลัยไปด้วย กระทั่งจุดพลิกของชีวิตการทำงานมาถึงใน พ.ศ. 2493 ระวิได้สมัครสอบเป็นข้าราชการสามัญตำแหน่งเสมียนพนักงาน กระทรวงการต่างประเทศ แล้วได้รับการบรรจุเป็นเสมียนพนักงานที่กรมเศรษฐกิจ จนก้าวหน้าขึ้นตามลำดับและหลังจากระวิรับราชการมาได้ 10 ปี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ก็ได้รับหน้าที่ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เป็นครั้งแรกในตำแหน่งนายเวรแต่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งท้องถิ่นเป็นเลขานุการตรี (ข้าราชการชั้นโท)
ชีวิตก้าวหน้าในการงานของระวิอยู่ในระหว่างรักเมื่อได้สมรสกับสมพันธุ์ บุณยสุรักษ์ และก่อนจะไปรับหน้าที่ยังประเทศสเปนได้ไม่กี่วันภรรยาของระวิได้คลอดบุตรชายคนสุดท้อง นอกจากบทบาททางการทูตแล้วระวิยังเป็นนักประพันธ์แบบไม่ทราบที่มาแต่มาเริ่มเขียนงานและแสดงฝีมือที่ถือว่ามีพรสวรรค์มาตั้งแต่ตอนที่เรียน ต.ม.ธ.ก. เพราะต้องการรายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงครอบครัว
“...ปี 2497 เขียนเรื่องสั้นได้รับการตีพิมพ์หน้ากลาง “สยามสมัย” เป็นสัญญาณว่าทำท่าจะเป็นนักเขียนได้บ้างแล้วก็บังเอิญ…ไปอย่างไรมาอย่างไรไม่ทราบได้ ทำให้ใกล้ชิดนักเขียนที่ “ดัง” อยู่ในวงการเขียนและละคร…นักเขียน “อุมาพร” หรือ “รพีพร” ในตอนหลัง ไปมาหาสู่ที่บ้านซอบสุเหร่าแยกในตอนค่ำบ่อยๆ ชักชวนให้ไปร่วมทำงานที่สถานีวิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ รายได้เดือนละประมาณ 1,000 บาท (ตอนนั้นข้าราชการชั้นตรีขั้นต้น 750 บาท) แต่ต้องทำงานทุกคืน มีรถรับส่งด้วย”
เรียกได้ว่าเวลานั้นชีวิตการงานของระวิเป็นนักประพันธ์ก็รุ่งและหน้าที่ข้าราชการก็ก้าวหน้าด้วยเป็นหน้าห้องของหม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล ปลัดกระทรวงฯ ก่อนจะได้ทำงานทางการทูตตราบจนเกษียณอายุ
อาลัยรัก : คำไว้อาลัยจากบุคคลสำคัญในชีวิตของระวิ ฤกษ์จำนง
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ระลึกถึงระวิ ฤกษ์จํานง
ข้าพเจ้ามีความเสียใจและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง ระวิ ฤกษ์จํานง จากไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่มีผู้ใดพ้นไปได้
ระวิ เป็นนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่นเดียวกับปาล ลูกชายข้าพเจ้า และสอบเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกัน ระวิได้รับราชการทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลําดับ จนเกษียณอายุราชการ
เมื่อครั้งที่นายปรีดีกับข้าพเจ้าพํานักในประเทศฝรั่งเศส ระวิก็ได้มาเยี่ยมคารวะ สานต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์
เมื่อข้าพเจ้ากลับมาพํานักเมืองไทยเป็นการถาวร ก็เป็นช่วงเดียวกับระวิเกษียณอายุราชการ งานวันปรีดีและกิจกรรมเกี่ยวกับผู้ประศาสน์การ จะเห็นระวิอยู่ในหมู่ศิษย์เก่า ต.ม.ธ.ก. และธรรมศาสตร์บัณฑิตทุกครั้ง ทุกปี มิได้ขาด ระวิยังรับผิดชอบในตําแหน่งกรรมการและเลขานุการของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระวิได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ สติปัญญา กําลัง กาย เวลา และอื่นๆ ให้กับงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ อย่างเต็มที่ มุ่งมั่นที่จะสืบทอดเจตนารมณ์รักชาติ รักราษฎร รักประชาธิปไตยของผู้เป็นอาจารย์ และถ่ายทอดเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลัง ผ่าน “ปรีดีสาร” วารสารของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งระวิเป็นผู้หนึ่งในกองบรรณาธิการ แม้ในยามที่ระวิป่วยหนัก รับการรักษาพยาบาลที่ ร.พ.รามาธิบดี ก็มิวาย แสดงความเป็นห่วงงานของ “ปรีดีสาร”
ระวิเป็นคนสุภาพอ่อนน้อมและมีน้ำใจ แสดงความห่วงใยในสุขภาพของข้าพเจ้าผู้ซึ่งระวิเรียกด้วยความเคารพว่า “คุณแม่” อยู่เสมอ
ข้าพเจ้าขอให้กุศลกรรมที่ระวิได้เพียรกระทําเพื่อความดีงามในสังคมไทย จงดลบันดาลให้ระวิ ฤกษ์จํานง ไปสู่สัมปรายภพและอยู่ในความทรงจําของญาติสนิทมิตรสหายตลอดไป
(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)
ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
ผมและคุณระวิ ฤกษ์จํานง เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยที่เรายังเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน ในเวลานั้น เราได้ทํางานด้านกิจกรรมนักศึกษาร่วมกัน จึงชอบพอกัน
เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว เราก็พบปะกันเป็นครั้งคราว มีอยู่ระยะหนึ่งที่เราไม่ได้พบกันเลย เนื่องจาก ผมได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนคุณระวิ ซึ่งรับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ
เมื่อปี ๒๕๒๙ ผมได้ร่วมอยู่ในคณะนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ ๒๘ ที่เดินทางไปดูงานในประเทศยุโรปตะวันออก คือประเทศยูโกสลาเวีย โรมาเนีย โปแลนด์ และออสเตรีย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว คณะของเราได้เดินทางไปแวะที่ กรุงบอนน์ สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อพักผ่อนก่อนเดินทางกลับประเทศไทย คุณระวิซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ได้ร่วมให้การต้อนรับคณะของเรา ที่ทําเนียบเอกอัครราชทูต เราต่างดีใจที่ได้พบกันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้พบกันมานาน คืนวันนั้น หลังจากร่วมงานเลี้ยงรับรองที่ทําเนียบเอกอัครราชทูตแล้ว คุณระวีได้ขับรถพาผมไปค้างคืนที่บ้าน ผมยังทราบซึ้งน้ําใจของคุณระวิอยู่เสมอ
ในปี ๒๕๒๔ ผมได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบัน ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีท่านศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร วัฒนคุณ เป็นประธานกรรมการและคุณระวิ ฤกษ์จํานง เป็นเลขานุการ ผมจึงได้ร่วมงานกับคุณระวิอีกครั้งหนึ่ง
ในระหว่างที่ทํางานร่วมกันที่สถาบันฯ ผมสังเกตเห็นว่าคุณระวิยังแข็งแรงอยู่ มีสุขภาพดีและยังหางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะล่วงเข้าวัยชราแล้ว จึงไม่คาดคิดเลยว่า คุณระวิจะจากพวกเราไปอย่างรวดเร็ว
ขอให้บุญกุศลและคุณงามความดีที่คุณระวิ ฤกษ์จํานง ได้บําเพ็ญไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของคุณระวิ ไปสู่สุขคติในสัมปรายภพ
(ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
วิเชียร วัฒนคุณ
ระลึกถึง ระวิ ฤกษ์จํานง
ระวิจากพวกเราไปท่ามกลางความอาลัยและรําลึกถึง เราได้สูญเสียเพื่อนที่แสนดีไปอย่างรวดเร็วและอย่างคาดไม่ถึง ระวิเป็นคนรักเพื่อนและเพื่อนทุกคนก็รัก ระวิเป็นจุดรวมของเพื่อนๆ ทั้งที่ร่วมรุ่นและต่างรุ่น ทั้งที่ร่วมสถาบัน และต่างสถาบัน เมื่อไม่มีระวิ เราก็ขาดจุดรวมที่เชื่อมประสาน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของระวิจากโรงเรียนมัธยม ต.ม.ธ.ก. ธรรมศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนที่สเปญ ฟิลิปปินส์ เยอรมัน ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๘ สมาคมธรรมศาสตร์ ก.ต. รุ่นปี ๙๓ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ระวิได้เป็นศูนย์กลางของการติดต่อ บอกกล่าวข่าวสารโดย ประสานสัมพันธ์กันทุกๆ คน อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและไม่เคยเบื่อหน่าย
แม้ว่าผมจะมิได้เป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่นกับระวิมาแต่เดิม แต่ก็ได้คุ้นเคยสนิทสนมกันมา ร่วมห้าสิบปี นอกจากเป็นศิษย์ ต.ม.ธ.ก. และธรรมศาสตร์รุ่นใกล้เคียงกันแล้ว ยังได้เข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศในเวลาใกล้ๆ กัน เราอยู่คนละกรมกองและสวนทางกันบ่อยๆ ระหว่างกระทรวงกับสถานทูตในต่างประเทศ จนกระทั่งเมื่อระวิกลับจากสเปญ และผมกลับจากฝรั่งเศส จึงได้มาอยู่กรมสารนิเทศด้วยกัน ระวิเป็นเลขานุการกรมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อผมกลับเข้ามาเป็นอธิบดี ระวิจึงมีส่วนช่วยผมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเราต่างคนต่างก็โยกย้ายไม่ได้ร่วมงานในที่เดียวกันอีก จนต่างคนต่างเกษียณอายุราชการและมาพบกันที่ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระวิเป็นกําลังสําคัญในคณะกรรมการบริหารของชมรมฯ และคณะกรรมการบริหารของสถาบันปรีดี พนมยงค์ มาโดยตลอด เมื่อครั้งที่สมาชิกชมรมฯ มอบให้ผมทําหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหาร ระวิได้ขอร้องให้ผมรับและได้ยืนยันกับผมว่า ระวิจะรับเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบริหารชุดนั้น ซึ่งเป็นข้อสําคัญที่ทําให้ผมยอมรับทําหน้าที่ประธานในคราวนั้น ครั้นต่อ มาเมื่อมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มอบหมายให้รับช่วงหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระวิ ยินดีรับหน้าที่กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบริหาร ระวิกับผมจึงมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันประดุจญาติและเพื่อนสนิท
การจากไปของระวินอกจากจะนําความเศร้าสลดและอาลัยมาสู่ครอบครัวของระวิแล้ว เพื่อนของระวิทุกคน รวมทั้งผมด้วย ต่างก็มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งในความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ การมีส่วนร่วมของระวิในทุกๆ แห่ง ได้เคยสร้างความมีชีวิตชีวา ความเข้มแข็ง และความสําเร็จในกิจกรรมต่างๆ ณ ที่นั้นๆ เมื่อไม่มีระวิเราต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่าการขาดระวิไปนั้นเป็นการสูญเสียที่หนักหน่วงของทุกๆ แห่ง ที่เคยมีระวิร่วมอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นที่บ้านสําหรับครอบครัวคือภริยาและบุตรธิดา ไม่ว่าจะเป็นที่ชมรม สถาบัน สมาคม แวดวงของศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในหมู่ข้าราชการบํานาญของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
ทุกคนที่ได้รู้จักและคุ้นเคยกับระวิยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ระวิเป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นคู่สมรสที่ดีของภริยา และเป็นมิตรที่ประเสริฐของเพื่อนทุกคน ระวิจากไปเพราะร่างกายของระวิไม่อาจทนต่อการคุกคามของโรคภัยที่ระวิได้ ต่อสู้ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว คงเหลือไว้ในความทรงจําของทุกคนถึงความดีและความมีน้ําใจที่งดงามของระวิที่เคยมีอยู่เป็นปกติวิสัยและอย่างสม่ําเสมอจวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ในการพระราชทานเพลิงศพ ระวิ ฤกษ์จํานง ณ โอกาสนี้ ผมขอน้อมคารวะเพื่อนที่แสนดีและขอตั้งจิตต์อธิษฐาน ให้ดวงวิญญาณของระวิได้ประสพแต่ความสุขอันเป็นนิจนิรันดร์ในสัมปรายภพทุกประการ
วิเชียร วัฒนคุณ
ศักดิ์ชัย บํารุงพงศ์
ระวิ ฤกษ์จํานง นักทําหนังสือ นักประพันธ์ และกวี
กระทรวงการต่างประเทศเมื่อกึ่งศตวรรษที่แล้วมา บรรจุตัวอยู่ในกรอบของกําแพงวังสราญรมย์ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อวังสราญรมย์ได้รับพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้ที่เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศในระยะเวลาแห่งยุคนั้น จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก เพราะ รวมอยู่ในจุดเดียวกันทั้งหมด แม้ว่าจะมีส่วนราชการแบ่งเป็นกรมกองต่างๆ อย่างกระทรวงทบวงกรมอื่นของระบบราชการไทย
อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานั้นก็เป็นที่รู้สึกกันว่า อาณาบริเวณภายในรอบรั้วสราญรมย์ออกจะคับแคบไปแล้ว เพราะ แม้แต่สถานที่รับประทานอาหารของข้าราชการ ก็มีเพียงช่องว่างเล็กๆ ระหว่างตัวตึกกับกําแพงที่กั้นเขตกับกรมแผนที่ทหารบก
ความจําเป็นของกาลเวลาที่จะต้องขยายงานราชการเพื่อรองรับกับภารกิจใหม่ที่มีเพิ่มขึ้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และพัฒนาการที่เกิดขึ้นภายหลัง ทําให้ต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้น แต่การขยายตัวในระยะเริ่มแรกนี้ก็จํากัด อยู่เพียงในขอบเขตของรั้ววังเท่านั้น โดยรื้อตึกเก่าชั้นเดียวแล้วสร้างเป็นอาคารใหม่สองชั้นขึ้น และตรงช่องว่างที่มีอยู่ ได้สร้างเรือนไม้ชั้นเดียวเป็นที่รับประทานอาหารของข้าราชการและจัดตั้งเป็นสโมสรของข้าราชการเรียกว่า “สโมสรสราญรมย์” เป็นที่พักผ่อนและพบปะสังสรรค์ของข้าราชการอีกด้วย
พร้อมกับการเปิดสโมสรสราญรมย์นี้ ได้มีหนังสือเล่มหนึ่งอุบัติขึ้นชื่อ “สราญรมย์” เป็นหนังสือของสโมสรสราญรมย์ของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ออกติดต่อกันมาทุกปี ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ อันเป็นวันเกิดของสโมสร จนกระทั่งบัดนี้ผมคิดว่าหนังสือสราญรมย์เล่มที่ออกเมื่อ ๒๐ ปีแรก ได้กลายเป็นหนังสือมีค่าที่หายากไปแล้ว
ผมรู้จักคุณระวิ ฤกษ์จํานง ในบรรยากาศเก่าๆ ในกําแพงแก้วของวังสราญรมย์ในยุคนั้น ความคุ้นเคยสนิทสนม เกิดขึ้นเองโดยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม ทั้งๆ ที่ไม่เคยทํางานร่วมในกรมกองเดียวกันหรือโดยออกไปอยู่ร่วมที่สถานทูต ในต่างประเทศแห่งเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน และคุณระวิ ไม่ใช่เป็นบุคคลที่ชอบนั่งในสโมสร ไม่เล่นบริดจ์ เทเบิลเทนนิส หรือบิลเลียดเมื่อภายหลังมีโต๊ะบิลเลียดเพิ่มขึ้น
สโมสรสราญรมย์ดําเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งสมาชิกเป็นผู้เลือกตั้ง ตําแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการนั้นคือ ตําแหน่งบรรณกร มีหน้าที่จัดทําหนังสือสราญรมย์ ออกในวันงานของสโมสรสราญรมย์ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ซึ่งในระยะหลังปรากฏว่ามีการเลื่อนไปเป็นวันอื่นบ้างเพราะความจําเป็น เนื่องจากผู้ใหญ่ติดภารกิจสําคัญในวันนั้น
ข้าราชการกระทรวงมีหลายคนที่มีความถนัดและสันทัดในการทําหนังสือและรักการทําหนังสือมีชื่อมาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยก่อนเข้ามารับราชการ มักจะได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่บรรณกร หรืออยู่ในคณะบรรณกร ตั้งขึ้นเพื่อช่วยในการจัดทําหนังสือดังกล่าว
คุณระวิ เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในคณะทํางานนี้ และเป็นอยู่หลายสมัย เว้นเฉพาะเวลาที่ออกไปรับราชการในต่างประเทศ แต่เมื่อกลับเข้ากระทรวงก็มักจะได้รับมอบหน้าที่อันนี้อีกแล้ว คุณระวิก็ยังมีคนจําได้ว่ามีฝีมือในการทําหนังสือ คุณระวิจึงได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้จัดทําหนังสือในโอกาสต่างๆ ผมและคุณระวิได้ร่วมกันทําหนังสือสราญรมย์ด้วยกันหลายปีจนรู้มือกันดี แม้กระทั่งหลังจากออกรับบํานาญอีกหลายครั้ง ทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคุณระวิจะรับทําด้วยความเต็มใจ
ด้วยความใกล้ชิดกันในการทําหนังสือ ผมจึงรู้ว่าคุณระวิเป็นนักประพันธ์และกวีอีกด้วย คุณจะเขียนเรื่องสั้นลงในนิตยสารต่างๆ หลายฉบับ โดยใช้นามปากการะพี อภิฤกษ์ และบทกวีอีกมากที่กระจายอยู่ในหนังสือต่างๆ โดย ใช้นามปากกาหลายนาม งานเขียนเรื่องสั้นและบทกวีของคุณระวิ มีเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ จะขาดคราวไปบ้าง เมื่อเวลาออกไปรับราชการในต่างประเทศ และในระยะปลายของชีวิตดูเหมือนคุณระวิจะหยุดงานการประพันธ์ไปให้ความสําคัญกับงานทําหนังสือแต่อย่างเดียว จนวาระสุดท้ายของชีวิต
งานประพันธ์เรื่องสั้นและบทกวีของคุณระวิ เป็นงานที่มีคุณค่าและเป็นผลิตผลที่บังเกิดขึ้นในห้วงกาลเวลาหนึ่งที่สังคมไทยอยู่ในกระแสของการต่อสู้ทางความคิดที่คุณระวิให้สะท้อนออกมาในงานเขียนของตน
แต่เป็นเพราะอุปนิสัยเป็นคนพูดน้อย ไม่ชอบแสดงตน ถ่อมตัวและไม่เรียกร้อง งานประพันธ์ทั้งเรื่องสั้นและบทกวี จึงนอนนิ่งเงียบไร้ปากไร้เสียงกระจัดกระจายอยู่ในหนังสือต่างๆ โดยไม่ได้มีการรวบรวมขึ้นมาตีพิมพ์เป็นเล่ม จนกระทั่งบัดนี้
และอาจจะไม่มีการพิมพ์รวมเล่มขึ้นเลยก็ได้
(ศักดิ์ชัย บํารุงพงศ์)
สุวัฒน์ วรดิลก
ระวิ ฤกษ์จํานง สุภาพบุรุษตลอดกาล
เขาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขขนานแท้ของ “แม่โดม เจ้าพระยาท่าพระจันทร์” เหมือนพวกเราทุกคนแห่ง “ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ หรือศิษย์ ร.ร. เตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ซึ่งมีด้วยกันเพียง ๘ รุ่น เขาเป็นน้องสุดท้อง รุ่นสุดท้ายปลายโต่งขณะที่ผู้เขียนรุ่น ๓ ห่างกันไกล แต่เพราะนอกจากสายเลือด “แม่โดม” เดียวกันแล้ว ความคิดและจิตสํานึก ทั้งสอดคล้องกันจนเสมือนญาติสนิทและมิตรแท้ต่อกันและกัน
พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐ ผู้เขียน จากการสนับสนุนของ นาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ทิฆัมพร ผอ. กองสวัสดิการ ทอ และอํานวย กลัสนิมิ (ผู้กํากับการแสดงละครและภาพยนตร์ในนาม “เนรมิต”) ได้เข้ารับตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ สถานีวิทยุทหารอากาศ ซึ่งเปิดดําเนินกิจการเป็นครั้งแรกโดย พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการกองทัพอากาศขณะนั้น เป็นผู้อํานวยการสถานีฯ ทําการกระจายเสียงทั้งภาคภาษาไทยและภาษาจีน
ระยะแรกดําเนินการ กองทัพอากาศยังไม่มีงบประมาณเพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง แต่ก็จัดให้มีการเลี้ยง อาหารเย็นแก่บุคลากรทั้งฝ่ายรายการและฝ่ายช่าง เนื่องด้วยสถานีตั้งอยู่ทุ่งมหาเมฆ ใช้อาคารที่เคยถ่ายทําภาพยนตร์ไทยของบริษัทไทยฟิล์มฯ ของพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งดําเนินงานก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้น ภาพยนตร์ไทยก็เลิกกิจการเนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการสร้าง โรงถ่ายของบริษัทไทยฟิล์มฯ จึงตกเป็นของกองทัพอากาศ ตั้งแต่มีถ่ายทําภาพยนตร์ “บ้านไร่ นาเรา” ของรัฐบาลสมัยนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)
กว่าสถานีวิทยุทหารอากาศยุคนั้นจะมีรายได้ ก็ใช้เวลากว่า ๑ ปี แต่เราก็ทํากันสําเร็จ ฝ่ายผู้เขียนและ “เนรมิต” ร่วมกันระดมศิลปินนักร้องและภาพยนตร์ไทยมาช่วยเสนอรายการแสดงทางสถานี
ระวิ ฤกษ์จํานง ขณะนั้นรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เป็น ๑ ในทีมงานของเรา ในหน้าที่โฆษก อ่านข่าวประจําวัน และสารคดีประจําสถานี จําได้ว่า เมื่อสถานีฯ มีรายได้ ระวิ ได้รับเงินค่าตอบแทนในลักษณะเบี้ยเลี้ยง วันละ ๕๐ บาท ทั้งๆ ที่เขาต้องเดินทางจากวังสราญรมย์ (กระทรวงการต่างประเทศ) หลังราชการประจําวันมาทํางาน ต่อที่ทุ่งมหาเมฆ (สถานีวิทยุ ทอ.) แล้วกลับบ้านเมื่อหมดหน้าที่แล้ว ณ ฝั่งธนบุรี นับว่ามีน้ําใจที่เสียสละ เพราะระวิเดินทางด้วยรถประจําทางตลอด
ระวิ มีพรสวรรค์ในงานโฆษก ซึ่งต่อมาเรียกพิธีกรและเรียก ดี.เจ. ในปัจจุบัน เพราะนอกจากมีแก้วเสียงเสนาะ ลึกทุ่มแล้ว ยังมีพื้นฐานความรู้ระดับปริญญาตรี (ธรรมศาสตร์บัณฑิต) เขาช่วยงานของวิทยุทหารอากาศถึง ๒ ปี เมื่อสถานีอยู่ในฐานะมั่นคงแล้ว คณะทํางานชุดบุกเบิกก็พ้นหน้าที่ ผู้เขียนรับภาระพาคณะศิลปินไทย (๔๘ คน) เดินทาง (หลบ หนี) เข้าไปแสดงในแผ่นดินใหญ่ประเทศจีน ตามคําเชิญของรัฐบาล นายกฯ โจว เอิน ไหล เป็นเวลา ๓ เดือน ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เดือนพฤษภาคม ระวิย้ายไปรับราชการสถานทูตต่างประเทศตามเส้นทางหรือสายงานของกระทรวงการต่างประเทศ (ดูเหมือนประเทศสเปญ)
เขาย้ายไปรับราชการสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ๓-๔ ประเทศ เราไม่ได้พบกันอีกเลย ได้พบบางครั้งที่ กรุงเทพฯ เมื่อระวิกลับมาเมืองไทยเท่านั้น หลังที่เขาเกษียณอายุราชการในตําแหน่ง (ดูเหมือน ที่ปรึกษาสถานทูตไทยประจําประเทศเยอรมัน) เราจึงมีโอกาสพบปะกันบ่อยครั้งและร่วมกันทํางานใน “ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์” อยู่หลายปี
สัมพันธภาพระหว่างเรา ระวิกับผู้เขียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ มาจนถึงวาระที่เขาต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ นับได้กว่า ๔ ทศวรรษ ระวิในวันเหล่านั้นกับระวิก่อนจากพวกเราไป โดยเฉพาะกับผู้เขียนและเพื่อนๆ ร่วมรุ่น ร่วมสังคมไม่เคยเปลี่ยนแปลง พูดเพราะด้วยน้ําเสียงเสนาะลึกทุ้ม สุภาพทั้งกายและใจ ตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่คบกันมา ผู้เขียนไม่เคยได้พบ ระวิว่าร้ายนินทาใคร ไม่เคยเห็นเขาเสียอารมณ์โกรธเคืองด่าว่าใคร เขาคงเป็นสุภาพบุรุษเสมอต้นและปลาย ไม่ว่าในสังคมเก่าหรือสังคมใหม่ (โลกาภิวัตน์)
ชีวิตคนเราขึ้นอยู่ที่ “ให้” และ “รับ” กิเลสมักทําให้ฝ่าย “ให้” รู้สึกว่าให้มาก ฝ่าย “รับ” รู้สึกรับน้อย อันเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งและสามัคคีเภท แต่ระหว่างเรา ผู้เขียนรู้สึกฝังใจไม่รู้ลืมเลือนว่า เรา “ให้” ระวิน้อยเหลือเกิน เขาสิให้เรามากกว่า เขาเสียสละให้เพื่อนรุ่นพี่คนนี้มากเกินไปและไม่เคยปริปาก แม้ในช่วงปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ผู้เขียนล้มป่วย ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ ระวิจะไปเยี่ยมถึงบ้านแหลมฉบังที่ห่างไกลกันกว่า ๑๐๐ กม.
เขาจากเรา (ผู้เขียนและภรรยา) รวดเร็วเกินไปและโดยเฉพาะผู้เขียนยังนอนรักษาตัวด้วยโรคหัวใจกําเริบอยู่ใน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เราจนปัญญาแม้แต่เดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพของเขายังทําไม่ได้ ก็ได้แต่มุ่งมั่นว่าจะสละสังขารติดตามไปพบเขาในปรโลกในไม่ช้า เพื่อพบกับเขาและออกปากบอกเขาว่า
“ระวิ...พี่ “ให้” คุณน้อยกว่าที่พี่ได้ “รับ” จากคุณ...พี่เอาเปรียบคุณ...”
ขอวิญญาณของสุภาพบุรุษตลอดกาล ระวิ ฤกษ์จํานง จงสู่สุคติภพโดยเร็วพลันเถิด
สุวัฒน์ วรดิลก (ร.๓)
๑๕ มกราคม ๒๕๔๔
ผลงานสะท้อนอุดมคติแห่งชีวิตของระวิ ฤกษ์จำนง
จากคำไว้อาลัยของสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ได้เล่าไว้ชัดว่าระวิมีอุดมคติต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาตั้งแต่ในสมัยเรียนที่ ต.ม.ธ.ก. ทั้งกรณีคัดค้านกฎ ก.พ. ที่ริดรอนสิทธิของนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปจนถึงการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากรัฐบาลในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2494 และกรณีกบฏสันติภาพ
และในหนังสืออนุสรณ์งานศพของระวิ ฤกษ์จำนง ยังพบว่าบทกวีคือ ผลงานการประพันธ์อันโดดเด่นและสะท้อนความรักของระวิต่อบทกวีโดยเฉพาะบทกวีชื่อ ห้าสิบปี ศักดิ์ศรี เสรีไทย ที่มีวรรคทองแสดงถึงความศรัทธาต่ออุดมคติเพื่อชาติและราษฎรของเสรีไทยซึ่งร้อยเรียงถ้อยคำไว้อย่างหนักแน่นและงดงาม
“ก่อนการปฏิบัติ เลือกคัดตัวคน
คําถามคําต้น คือปฏิญญาณ
พร้อมสละชีวิต ไม่คิดเสิบสาน
ขอได้ทํางาน ให้ไทยเสรี
เมื่องานเสร็จสิ้น ชีวินยังอยู่
ดิ้นรนต่อสู้ แต่เพียงศักดิ์ศรี
ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่ติดความดี
บุญคุณไม่มี ทุกสิ่งเลิกรา
บ้านไทยเมืองทอง ผุดผ่องผองภัย
อันตรายใดใด ไม่มีนําพา
ไม่แพ้สงคราม ลงนามไชยา
แม้นั่งเจรจา ยังเสร็จสมหวัง
อาญาสงคราม มองตามต่างเทศ
ก็ยังแก้เหตุ จนพ้นคุมขัง
ไม่มีความผิด หรือคิดคลุ้มคลั่ง
แม้จนภายหลัง ยิ่งใหญ่จําเริญ
ผู้ก่อการกิจ สัมฤทธิ์เพื่อชาติ
กลับต้องนิราศ ปราศคําสรรเสริญ
กลับบ้านยังยาก มีขวากทางเดิน
ครอบครัวขาดเกิน ทนทุกข์ทรมาณ
ตราบจนชนม์วาย เพราะหน่ายสังขาร
คงเหลือวิญญาณ ท่านผู้หาญกล้า
สถิตย์สูงสุด จุติสัญญา
เหนือทวยเทวา ที่พรหมประทาน เทอญฯ
อาทิตย์ ธรรมรังสรรค์ (นามปากกาของระวิ ฤกษ์จำนง)
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๘”
เมื่อระวิรักในบทกวีบทความชิ้นนี้จึงขอปิดท้ายด้วยบทกวีของทวีปวร นามปากกาของทวีป วรดิลก นักคิดนักเขียนและนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในทศวรรษ 2490 ที่สะท้อนทุกแง่มุมชีวิตของระวิไว้ได้อย่างลึกซึ้ง ตราตรึง และแสดงให้เห็นถึงชีวิตในช่วงกบฏสันติภาพที่ระวิถูกสอบสวนจนนำมาสู่การรังเกียจเผด็จการและก้าวเข้ามาสู่การทำงานเพื่ออุดมคติประชาธิปไตยในบั้นปลาย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
“แด่... ระวิ ฤกษ์จํานง
เธอคือกวีศรีพุนพิน แดนทักษิณถิ่นพุทธธรรมล้ําเลิศหล้า
รังสรรค์ศรีกวิพากษ์ฝากนามมา ความเป็นธรรมเทิดพราชดขึ้นโด
“ระวิ ฤกษ์จํานง” ธํารงสถิตย์กวีอิสรธรรมล้ําสมัย
ลูกโดมหลากมากมิตรสนิทใจ กวีวรรณฝันใฝ่อุดมการณ์
เทิดในสิทธิ์เสรีศรีแผ่นดิน เธอชิงชังท็อบบู๊ตทมิฬมุ่งต่อต้าน
๑๐ พ.ย. ๙๕ ไม่ล่านาน ถูกสอบสวนโทษฐานคิดเสรี
เธอรังเกียจเผด็จการหาญทายท้า มั่นประชาธิปไตยสดใสศรี
จากแดนโดมเด่นฟ้าปราศราคี สราญรมย์ร่มฤดีชาญปรีชา
เมื่อมีเหตุปัญหามาประจัญ เธอมุ่งมั่นต่อต้านโดยหาญกล้า
ครั้งเลขา ม.ธ.ก. ก่อเหตุมา มีบัญชาเพลงชัยไม่ให้ร้อง
ด้วยเพลงมาร์ช ม.ธ.ก. เธอต่อสู้ ยืนหยัดอยู่พิทักษ์สิทธิ์มิตรทั้งผอง
ลามาร์ซายส์สากลมวลชนพร้อง เพลงแห่งภพเกริกก้องทั่วธรณี
เธอมีมนุษย์สัมพันธ์บรรเจิดจิต ประทับใจมวลมิตรทั้งน้องพี่ ชมรม
ชมรม ต.ม.ธ.ก. สามัคคี สถาบันปรีดียิ่งยงมา
เป็นแกนนําสนิทใจในหมู่มิตร เพื่อส่วนรวมเทิดอุทิศโดยแกร่งกล้าสมัครมานสมานฉันท์มั่นคงมา ล้ำเลิศค่าผ่องใสด้วยไมตรี
เธอคือกวีศรีพุนพิน นามระบิลเจิดจ้าสง่าศรี
“ภาสกร มหุติฤกษ์” เบิกเสรี “พันธุ์ระพี” กวีศิลป์รินจากใจ จารึกนามจิรนันท์ฉันท์ชื่นชม สราญรมย์ร่มฤดีชาญปรีชา
เตรียมรุ่นแปดประดับอยู่คู่ดวงใจ จารึกไว้ฤทัยถวิลตราบดินฟ้า
“ทวีปวร”
๑๕ มกราคม ๒๕๔๔”
ภาคผนวก
รายนามคณะบุคคลและบุคคลที่เข้าร่วมบำเพ็ญกุศลนายระวิ ฤกษ์จำนง ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร
ภาพประกอบ: ขอขอบคุณห้องหนังสือหายาก หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
บรรณานุกรม
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายระวิ ฤกษ์จำนง ท.ช.,ท.ม. ณ ฌาปนสถานวัดตรีทศเทพวรวิหาร วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2544.
หนังสือภาษาไทย:
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527).
- ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516).
- ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522).
- ปรีดี พนมยงค์, จดหมายเหตุจากหัวหน้าเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: วารสารหมอความยุติธรรม, 2531).
- ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558).
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546).
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546).
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- ระวิ ฤกษ์จำนง, (22 พฤศจิกายน 2565), “ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8 ในกอบัวแก้ว,” สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566.
- สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ และ ระวิ ฤกษ์จำนง, (27 สิงหาคม 2564), “สนทนากับ ร้อยตรี แปลง คำเมือง เสรีไทยจากสกลนคร,” สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566.
- คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง 100 ปีรัฐบุรุษอาวุโสนายปรีดี พนมยงค์, “คือจิตวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์,” สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566.