ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก

3
ธันวาคม
2566

Focus

  • อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สละเวลาและความสุขส่วนตัว ละเว้นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่สุจริต อุทิศตนให้แก่อุดมการณ์รับใช้ชาติ แต่ทำให้ท่านต้องอพยพหลบภัยทางการเมืองจากการถูกใส่ร้ายป้ายสีจนจบชีวิต ณ ประเทศฝรั่งเศส
  • ขณะรับใช้ชาติ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สร้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทย (รู้ธ)
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ด้วยสอดคล้องกับดำริและความนิยมของพระองค์เช่นกัน

 

 

 

บุคคลที่เป็นมันสมองที่สำคัญอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 บุคคลผู้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้แก่ประเทศชาติราชบัลลังก์ และมวลชนด้วยความซื่อสัตย์ บุคคลผู้จงรักภักดีต่อชาติตลอดมา โดยมิได้ปล่อยให้เวลาสะดุดหยุดลงจวบจนกระทั่งถึงอสัญกรรม ซึ่งยากที่จะหานักการเมืองคนใดเสมอเหมือนได้ ท่านผู้นั้นคือ “อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐบุรุษอาวุโส”

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในชีวิตของท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ ท่านได้สละเวลา สละความสุขส่วนตัว ละเว้นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่สุจริต อุทิศให้แก่อุดมการณ์ รับใช้ชาติเพียงประการเดียวเท่านั้น เพราะอุดมการณ์ที่ท่านตั้งใจรับใช้ชาติแต่ประการเดียวนี้เอง ทำให้ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องอพยพหลบภัยทางการเมืองที่ให้ร้ายป้ายสีและกดขี่ประชาชน หนีจากดินแดนมาตุภูมิอันเป็นที่รักยิ่งไปอยู่ต่างแดน จวบจนอวสานแห่งชีวิต ณ แขวงอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 82 ปี 11 เดือนกับ 22 วัน

นับแต่ที่ท่านได้ถือกำเนิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 จวบจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2543) รวมเวลาชาตกาลครบรอบ 100 ปี คุณความดีของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีมากมายเป็นที่ปรากฏชัด ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการยกย่องไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินตลอดจนหาชีวิตไม่ เป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาอังดรัว (แผนกคนฝรั่งเศส) และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงสุดทางเศรษฐศาสตร์ จากประเทศฝรั่งเศส ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก และได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ท่านเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เคยเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตลอดจนเป็นหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทย (รู้ธ) อีกด้วย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบทบาทที่สำคัญของท่านเมื่อครั้งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแรก

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในนาม “คณะราษฎร” จำนวน 99 คน ได้ร่วมกันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาขึ้นเป็นผลสำเร็จ โดยที่คณะราษฎรนั้นประกอบด้วย 3 สายใหญ่ๆ คือสายทหารบก มีพันเอก พระยาพหล พลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าสายและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรอีกด้วย สายทหารเรือ มีนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้าสาย และสายพลเรือน มีอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้าสาย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนคณะราษฎร จำนวน 7 คน หนึ่งในจำนวนนั้น คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รวมอยู่ด้วย เข้าเฝ้าฯ ณ วังสุโขทัย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวและพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้ทรงพิจารณาและทรงลง พระปรมาภิไธย ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 เวลา 10.45 นาฬิกา ในการนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถวายความเห็นในประเด็นต่างๆ ของกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงข้องพระทัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในวันนั้น พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีคำปรารภอันเป็นสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

“....การที่คณะราษฎรคณะหนึ่งซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป และจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้รุ่งเรืองวัฒนาการมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินขึ้นเป็นข้อใหญ่แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะได้เป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดใจสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็เพิ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีพระธรรมนูญการปกครองนี้เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จะหาการกระทำหรือแค่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้

เหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดนี้ไว้ดังต่อไปนี้......”

 

 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวขึ้น และคณะราษฎรได้แต่งตั้ง “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” ขึ้นจำนวน 70 คน ซึ่งรวมทั้งอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นสมาชิกลำดับที่ 36 ในวันเดียวกันนั้น เวลา 14.00 นาฬิกา สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ห้องโถงชั้นบน โดยจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้อ่านประกาศรายนามที่คณะผู้รักษาพระนคร ได้ตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 70 คน และได้นำสมาชิกถวายสัตย์ปฏิญาณตนว่าจะซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎรและจะช่วยรักษา หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ให้มั่นคงคือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก ๆคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

 

ต่อจากนั้นพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุระธาธร (ปัจจุบันได้ยุบไปแล้ว) ได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมว่า “วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่ช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกายกำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”

จากนั้นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ทำการมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่สภาผู้แทนราษฎรและหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้แนะนำให้สภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการประชุมตามวิถีทางระบบรัฐสภาต่อไป เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ โดยใช้ระเบียบข้อบังคับการประชุมของสภาองคมนตรีไปพลางก่อน ต่อจากนั้นประธานสภาฯ แถลงว่า “...ข้าพเจ้าเห็นหลวงประดิษฐ์มนูธรม ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มประชุม ถ้าท่านทั้งหลายไม่ขัดข้องข้าพเจ้าขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเป็นเลขาธิการต่อไป” ขณะนั้น มีพระยาศรีวิสารวาจาได้คัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการประจำสภาเพราะเห็นว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังมีงานอื่นที่จะต้องทำสำคัญกว่านี้ ถ้าเป็นเลขาธิการชั่วคราวแล้วก็ไม่ขัดข้องเป็นอันว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวตามที่พระยาศรีวิสารวาจาเสนอ โดยดำรงตำแหน่ง อยู่เพียงวันที่ 28 มิถุนายน วันเดียวเท่านั้นจึงนับได้ว่า ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และต่อมาได้ดำเนินการประชุมซาวเสียงเพื่อหาตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรและ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ต่อจากนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้แถลงต่อสภาว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราวเพราะว่าเราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุก กะทันหันอาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึงควรที่จะได้ผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ ให้เรียบร้อยบริบูรณ์” ซึ่งในที่สุดสภาฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง จำนวน 7 คน และเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 9 คน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในสมัยประชุมครั้งที่ 1/2475 หนึ่งในจำนวนอนุกรรมการฯ ชุดนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นอกนั้นเป็นข้าราชการชั้นสูงของระบอบเก่า

 

 

การร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ได้เริ่มต้นเป็นขั้นตอนตั้งแต่สภาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการยกร่าง จนกระทั่งยกร่างเสร็จแล้วเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับไปจนกระทั่งได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุด โดยพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลอดระยะเวลาแห่งการยกร่าง คณะอนุกรรมการยกร่างกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ดังมีปรากฏในคำแถลงประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามซึ่งได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (วิสามัญ) เมื่อวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2475 แล้วนั้น และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยมากกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระองค์ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ควรมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยามและได้กำหนดวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

ในที่สุดวันสำคัญของชาติก็มาถึงคือวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เวลา 10.00 นาฬิกา และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฯ แก่สภาผู้แทนราษฎรท่ามกลางอุดมสันนิบาต ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะทูตานุทูต ผู้แทนจากนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเสนาอำมาตย์ราชบริพารเข้าเฝ้าฯ อยู่เบื้องพระยุคลบาทพรั่งพร้อมกัน และอาลักษณ์ได้อ่านพระราชปรารภในการพระราชทานรัฐธรรมนูญท่ามกลางมหาสมาคมนั้น ปวงประชาต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ นับแต่นั้นมาประเทศไทยของเราจึงมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศสืบมา

ดังนั้น จากผลคุณความดีที่ได้สร้างให้กับประเทศชาติดังกล่าวแล้วท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นับเป็นบุคคลสำคัญ ที่ประชาชนคนไทยและชาวต่างประเทศได้ให้การยกย่องสรรเสริญและรู้สึกซาบซึ้งในคุณความดีที่ท่านได้กระทำให้แก่ประเทศชาติตลอดมา เนื่องในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องท่านให้เป็นปูชนียบุคคลของโลกในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของท่าน ผมขอโอกาสยกคำปราศรัยของท่านเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 ที่น่าประทับใจความตอนหนึ่งว่า “....เราทั้งหลายได้ถือหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่าเรามุ่งทำหน้าที่ในฐานะที่เราได้เกิดเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลในการตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลใด หรือหมู่คณะใดแต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล....”

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกและยกย่องเชิดชูเกียรติท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและปูชนียบุคคลของโลกผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์มากมายให้แก่ประเทศชาติและประชาชนและดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งอนุชนรุ่นหลังควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการรับใช้และสนองบุญคุณของชาติสืบต่อไป

 

 

ที่มา : วันมูหะหมัดนอร์ มะทา. ปรีดี พนมยงค์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก ใน 100 ปี ชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ : ปูชนียบุคคลของโลก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา . หน้า 22-25.