ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ กับ การฉลอง 100 ปี เเห่งชาตกาล

22
มีนาคม
2565
ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ
ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ

 

ณ ที่ทำการใหญ่ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยูเนสโก” ตั้งอยู่ที่จัตุรัสฟองเตอหัว (Place de Fontenoy) ใกล้กับแม่น้ำแซนและหอไอเฟล ใจกลางกรุงปารีส นครหลวงของประเทศฝรั่งเศส

คนไทยสองท่านซึ่งหากยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 100 ปี ในคริสต์ศักราช 2000 (พ.ศ. 2543) ได้รับเกียรติอันสูงจากองค์การยูเนสโกโดยข้อมติที่ 58 ของการประชุมใหญ่เรื่องการฉลองวันครบรอบ (Celebration of Anniversaries) ของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลก โดยมีชื่อปรากฏร่วมกับบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 44 ท่าน และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีก 15 เหตุการณ์ ที่การประชุมใหญ่ของยูเนสโกได้ประกาศยกย่องด้วยการเสนอของคณะกรรมการบริหารเพื่อให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองด้วย ซึ่งจะรวมทั้งการฉลอง 100 ปี แห่งชาตกาลของบุคคลสำคัญทั้งสองของไทยในปี พ.ศ. 2543 นี้

คนไทยจะไม่ประหลาดใจเลยเมื่อได้ทราบว่าบุคคลสำคัญของไทยสองท่านนั้นคือท่านผู้ใด เพราะคุณงามความดีของท่านทั้งสองที่มีต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนคนไทยนั้น มีเป็นอเนกอนันต์ เกียรติคุณของท่านจึงได้แผ่กระจายไปทั่ว มิได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศเท่านั้น คนไทยสองท่านที่ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลโลกแล้วนี้ ได้แก่

ท่านแรก คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งงานฉลองวันพระราชสมภพครบรอบ 100 พรรษาของพระองค์ท่านก็คือในปี พ.ศ. 2543 นี้

ท่านที่ 2 คือ นายปรีดี พนมยงค์ สามัญชนผู้เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมาย ผู้ซึ่งได้รับการอ้างถึงโดยองค์การยูเนสโกว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งระบอบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็จะมีงานฉลอง 100 ปี แห่งชาตกาลในปี พ.ศ. 2543 นี้เช่นกัน

“องค์การยูเนสโก” ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1946 มีชื่อเต็มว่า “องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) นับเป็นทบวงชำนาญพิเศษ หรือ หน่วยงานแห่งหนึ่งในเครือของสหประชาชาติ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมและดำเนินการระหว่างประเทศในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม และยังรวมถึงการสื่อสารและการอนุรักษ์ต่างๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและที่ถือว่าเป็นมรดกโลก

“องค์การยูเนสโก” ปัจจุบันนี้มีสมาชิกถึง 186 ประเทศ มีผู้อำนวยการใหญ่ (Director General) ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์การ ส่วนคณะกรรมการบริหารนั้นประกอบด้วยประเทศสมาชิก 58 ประเทศ ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการดำเนินนโยบายและอนุมัติงบประมาณ

ปกติทุกรอบสองปี องค์การยูเนสโกจะมีหนังสือไปยังประเทศสมาชิก เชื้อเชิญให้เสนอการฉลองวันครบรอบชาตกาล หรือ การมรณะของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นในระดับชาติในประเทศนั้นๆ ที่เป็นการครบรอบ อาทิ 100 ปี 200 ปี 500 ปี 1,000 ปี หรือมากกว่านั้น ที่ประสงค์จะขอให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองด้วยในรอบสองปีต่อไปข้างหน้า โดยบทบาท อุดมการณ์ หรือผลงานของบุคคลก็ดี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก็ดี จะต้องเกี่ยวข้องหรืออยู่ในกรอบอุดมการณ์และภาระหน้าที่ของยูเนสโก โดยจะต้องเสนอตามเงื่อนไข วิธีการและภายในเวลาที่กำหนดขึ้นสำหรับแต่ละครั้ง

‘นายปรีดี พนมยงค์’ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งปัจจุบันนี้คือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นที่รู้จักกันในราชทินนามเดิมว่า ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ และในแวดวงการศึกษาว่า ‘ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์’ เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 ในทางการเมืองท่านได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี และได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2490 ท่านจำต้องเดินทางไปอยู่ในต่างประเทศ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2526 ขณะมีอายุได้ 83 ปี ดังนั้น ในวันที่ 11 พฤษภาคมของแต่ละปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งญาติมิตรและผู้ที่เคารพนับถือได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาในการบำเพ็ญกุศลที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ท่านได้บำเพ็ญต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยโดยตลอดอายุขัย ทั้งในยามที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในประเทศไทย และในยามที่ต้องพลัดพรากไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน

เมื่อศิษยานุศิษย์ของท่านผู้ประศาสน์การและรวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักว่า ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) จะเป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมี คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย จึงได้มีการพิจารณาและมีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2538 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2538 ให้จัดงานฉลองในวาระดังกล่าว และมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมงานเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลขึ้นโดยคำสั่ง มธ. ที่ 25/2539 ลงวันที่ 11 มกราคม 2539

ต่อมาคณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต่อยูเนสโก ได้เสนอต่อคณะกรรมการเตรียมงานฯ ให้ดำเนินการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ และทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเสนอชื่อนายปรีดีในฐานะบุคคลสำคัญไปให้ยูเนสโกพิจารณาเพื่อให้ได้รับการยกย่องเชิดชูและเข้าร่วมด้วยในการฉลองวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล

ในระหว่างนี้เอง ได้มีประชาชนและกลุ่มองค์กรเอกชนรวมทั้งสื่อมวลชนแสดงการสนับสนุนอย่างแข็งขัน รวมทั้ง นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้มีหนังสือสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย

คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ให้ความเห็นชอบในการเสนอชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไปยังองค์การยูเนสโกเพื่อขอให้องค์การยูเนสโกบรรจุชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินการฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (Calendar of Anniversaries of Great Per-sonalities and Historic Events) เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาล และให้ความเห็นชอบโครงการฉลอง 100 ปีรัฐบุรุษอาวุโสนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติของไทย (นายชิงชัย มงคลธรรม) ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2540 เสนอชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไปยังองค์การยูเนสโกอย่างเป็นทางการ และองค์การยูเนสโกได้มีหนังสือตอบรับการเสนอชื่อดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) ในการประชุมครั้งที่ 156 ต่อไป

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกได้มีหนังสือแจ้งมายังประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ว่า คณะกรรมการบริหารได้ให้ความเห็นชอบกับกฎเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ ให้มีการเข้มงวดในการคัดเลือกการฉลองที่เสนอมายังองค์การว่าจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะต้องมีการเกี่ยวข้องกับองค์การอย่างไร เน้นว่าจะต้องอยู่ในกรอบอุดมการณ์และภารกิจของยูเนสโกในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ หรือการสื่อสาร และจะต้องมีส่วนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ของปวงชนและสันติภาพ และความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน

ยูเนสโกจะไม่พิจารณายอมรับการฉลองที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดหรือการก่อตั้งสถาบันแห่งรัฐ การฉลองเอกราช อาณาจักร หรือ ราชวงศ์ใดๆ ทั้งสิ้น หรือการฉลองเกี่ยวกับการทหารหรือการรบหรือสงครามใดๆ อีกทั้งการฉลองนั้นจะต้องสะท้อนถึงอุดมการณ์ คุณค่าและวัฒนธรรมต่างๆ และความเป็นสากลขององค์การที่มีลักษณะเป็นการทั่วไป หรืออย่างน้อยก็สำหรับภูมิภาค

ในด้านวิธีการนั้น ก็ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง (Intersectoral Committee) ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่บริหารระดับอาวุโสขององค์การ คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศเป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกจากจำนวนที่เสนอมาทั้งหมด

ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้ขอให้คณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติของประเทศสมาชิกมีหนังสือแจ้งไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 15 มีนาคม 2542 ถึงการฉลองวันครบรอบของบุคคลสำคัญ หรือ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ประสงค์จะให้องค์การเข้าร่วมในการฉลองด้วย หากเคยมีไปแล้วก็จะต้องเสนอเข้าไปใหม่ เพื่อให้

คณะกรรมการกลั่นกรองที่ได้ตั้งขึ้นได้พิจารณาตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติของไทย (นายปัญจะ เกษรทอง) จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2542 ไปถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกเป็นการตอบหนังสือองค์การที่อ้างถึงข้างต้น ว่ารัฐบาลไทยโดยการเสนอผ่านทางคณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติ ขอเสนอพระนามและชื่อของบุคคลที่รัฐบาลไทยขอให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองชาตกาล สำหรับปี ค.ศ. 2000-2001 เรียงโดยลำดับดังนี้

  1. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  2. ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณารายชื่อบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ประเทศสมาชิกต่างๆ เสนอมา รวมทั้งสิ้น 107 ราย เมื่อเรื่องเสนอไปถึงคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) ในชั้นแรกนั้น ปรากฏว่ามีเพียง 51 รายเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอผ่านผู้อำนวยการใหญ่ (Director General) มาให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา และปรากฏว่าไม่มีชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ คงมีแต่พระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเท่านั้น

ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ต่อองค์การยูเนสโก ได้รับความกรุณาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ให้นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อฯ และเลขานุการคณะอนุกรรมการ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้กรุณามอบสาสน์ของท่านถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ให้แก่ประธานอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อฯ ถือไป เพื่อขอให้เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้แทนถาวรประจำองค์การยูเนสโก ดำเนินการมอบให้แก่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกต่อไป

สาสน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ถึงมือผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกในวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ในสาสน์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้อ้างและยืนยันถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยในการให้ความสำคัญต่อการเสนอชื่อบุคคลสำคัญทั้งสองของไทยให้ปรากฏอยู่ในรายการฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ขอให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองด้วยสำหรับปี ค.ศ. 2000-2001 และยืนยันว่าจะมีการฉลองในระดับชาติสำหรับบุคคลสำคัญทั้งสองจึงขอให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกให้การสนับสนุนต่อการเสนอของรัฐบาลไทยและช่วยดำเนินการให้คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาอย่างเป็นธรรมด้วย

 

สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
๔ ตุลาคม ๒๕๔๒

เรียน ท่านผู้อำนวยการใหญ่

ข้าพเจ้าขอเรียนให้ท่านทราบว่า รัฐบาลไทยโดยผ่านทางคณะกรรมการแห่งชาติสำหรับยูเนสโก ได้เสนอบุคคลสำคัญของไทยสองท่านผ่านองค์การยูเนสโกเพื่อให้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายการฉลองวันครบรอบของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑ ดังนี้

๑. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
๒. ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์

การฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลของทั้งสองท่านนี้ ได้มีการเตรียมการในระดับชาติแล้วซึ่งมีขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ และประเทศไทยใคร่ขอให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมด้วยในกรอบการพิจารณาสำหรับสองปี คือ ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำขอนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองร่วมกับคำขอต่างๆ ของรัฐสมาชิกอื่นๆ ขององค์การยูเนสโก ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาจากท่านผู้อำนวยการใหญ่ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อวินิจฉัย

ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียนว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลของบุคคลสำคัญทั้งสองของไทย ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมและผลงานของท่านทั้งสองนั้นได้เสนอไปยังองค์การยูเนสโกแล้วรัฐบาลไทยจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้การฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านทั้งสองเป็นงานฉลองของชาติ

ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาและให้การสนับสนุนการร้องขอนี้ และจะเป็นพระคุณยิ่งหากท่านจะกรุณาเข้าแทรกแซงในเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้บุคคลสำคัญทั้งสองท่านของไทยจะได้รับการพิจารณาด้วยดีจากคณะกรรมการกลั่นกรองและคณะกรรมการบริหาร

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายชวน หลีกภัย)
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย

 

ในการนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการเสนอของคณะกรรมการดำเนินงาน และด้วยความเห็นชอบของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้ประธานอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อฯ และเลขานุการคณะอนุกรรมการเดินทางไปติดตามการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) โดยได้ประสานงานและได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส และผู้แทนของไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก

ดังนั้น เมื่อประธานและเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อฯ ไปปรากฏตัวที่ห้องประชุม คณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ณ ที่ทำการใหญ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 11 ตุลาคม 2542 จึงได้รับความสะดวกและได้รับอนุญาตให้เข้าไปติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด ผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารฯ ได้ขออนุญาตประธานที่ประชุมซึ่งได้อนุญาตให้ประธานอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อฯ กล่าวแถลงชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อถึงวาระการพิจารณาเรื่องข้อเสนอของประเทศสมาชิก เกี่ยวกับการฉลองบุคคลหรือเหตุการณ์ที่องค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมด้วยในปี ค.ศ. 2000-2001

ไทยได้แถลงชี้แจงเป็นประเทศแรกต่อที่ประชุม โดยได้กล่าวขอบคุณประธานที่อนุญาตให้มาแถลงชี้แจง และขอบคุณคณะกรรมการกลั่นกรองที่ได้พิจารณารับข้อเสนอของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีซึ่งเป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างสูงในประเทศไทย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจที่ข้อเสนอของไทยสำหรับอีกท่านหนึ่งไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และว่าการที่ได้มีกฎเกณฑ์ และวิธีการใหม่ในการเสนอและการพิจารณาโดยคณะกรรมการกลั่นกรองนั้น ยังไม่ได้ชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจอย่างเพียงพอ จึงได้ขอเสนอชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวกับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่ามีคุณสมบัติ อุดมการณ์ และผลงานโดยสรุปเป็นประการใด และอยู่ในกรอบอุดมการณ์และภารกิจของยูเนสโกอย่างไรบ้าง และขอให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อทบทวนมติและขอให้เพิ่มชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในบัญชีรายการที่ได้รับการคัดเลือกด้วย

ประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารได้ขอให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศได้กล่าวชี้แจง ซึ่งประธานคณะกรรมการกลั่นกรองได้กล่าวยอมรับในข้อบกพร่องที่มีอยู่ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้ใช้บังคับกฎเกณฑ์และวิธีการใหม่ในการคัดเลือก

ในส่วนข้อเสนอของไทยนั้น ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังได้กล่าวว่า เอกชนในประเทศไทยได้มีหนังสือทักท้วงในกรณีของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงความไม่เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณายกย่องจากองค์การยูเนสโก เนื่องจากเป็นนักการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน หลังจากนั้น ประธานคณะกรรมการบริหารได้ขอมติที่ประชุมให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อทบทวนมติ โดยให้นำข้อทักท้วง ข้อวิจารณ์ และคำชี้แจงที่ได้อภิปรายในที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรายการที่ได้รับการคัดเลือกเสนอคณะกรรมการบริหารอีกครั้งหนึ่งภายในสองวัน

ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโกได้เข้าพบและยืนยันต่อผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองว่า ข้อความในสาสน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่มีถึงผู้อำนวยการใหญ่นั้น มีข้อความที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเจตจำนงของรัฐบาลไทย ที่ได้กำหนดการฉลองชาตกาลของบุคคลสำคัญทั้งสองของไทย และขอเสนอให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองนั้นๆ ด้วย

หนังสือทักท้วงจากเอกชนใดๆ ย่อมไม่มีความสำคัญเท่ากับการร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองได้ให้คำตอบว่า คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาทบทวนแล้ว มีมติให้ชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ รวมอยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลั่นกรอง เสนอไปยังคณะกรรมการบริหารต่อไป

การประชุมคณะกรรมการบริหารในวันที่ 14 ตุลาคม 2542 ที่ประชุมได้พิจารณารายงานเพิ่มเติมของผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งนำเสนอโดยผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอผลการพิจารณาทบทวนมติเกี่ยวกับการคัดเลือกข้อเสนอของประเทศสมาชิกที่เป็นบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่องค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมในการฉลองเพิ่มเติมจากที่ได้เสนอไว้เดิมอีกเจ็ดราย เป็นบุคคลสำคัญห้าราย รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์

หลังจากการเสนอผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารได้กล่าวขอบคุณในนามของประเทศไทยสำหรับการที่คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาทบทวน เป็นผลให้ข้อเสนอของไทยสำหรับบุคคลสำคัญสองท่านได้รับการคัดเลือกเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ผู้แทนหลายประเทศได้กล่าวสนับสนุนไม่มีผู้ใดคัดค้าน คณะกรรมการบริหารจึงมีมติให้รายการข้อเสนอของประเทศสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกแล้วโดยคณะกรรมการกลั่นกรองรวมทั้งพระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นมติของคณะกรรมการบริหารที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สมัยที่ 30 ต่อไป

ข้อเสนอเพิ่มเติมเอกสารเลขที่ 157EX/34 เกี่ยวกับการฉลองวันครบรอบที่องค์การยูเนสโกน่าจะเข้าร่วมด้วยในปี ค.ศ. 2000-2001 ซึ่งเสนอโดยผู้อำนวยการใหญ่ต่อคณะกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1999 มีข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ ดังนี้

 

“๕๕. การฉลอง ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์

๑๗๒. ในหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ นายปัญจะ เกษรทอง ประธานคณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติของไทย ได้ร้องขอให้องค์การเข้าร่วมด้วยในการฉลอง ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๐

๑๗๓. ผู้อำนวยการใหญ่ได้รับฟังข้อโต้แย้งและข้อวิจารณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเกี่ยวกับการฉลอง ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พยมยงค์ รัฐบุรุษผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

๑๗๔. โดยที่ได้รับฟังคำอภิปรายเกี่ยวกับการตีความหลักเกณฑ์และวิธีการใหม่สำหรับการพิจารณาข้อเสนอของรัฐสมาชิกตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยมติของคณะกรรมการบริหารในการประชุม ครั้งที่ ๑๕๔ (154EX/มติที่ ๗.๗) และการฉลองระบอบการปกครองของรัฐ และข้อ ค (C) เกี่ยวกับความสำคัญที่เป็นสากลของบุคคล ผู้อำนวยการใหญ่จึงขอเสนอให้คณะกรรมการบริหารวินิจฉัยให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองวันครบรอบรายนี้”

 

เมื่อได้มีการบรรจุเรื่อง “ข้อเสนอของประเทศสมาชิกในการฉลองวันสำคัญในสหัสวรรษ 2000-2001” เข้าสู่ระเบียบวาระในการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งได้กำหนดให้เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการที่ 1 (Commission 1)

ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2542 คณะกรรมการที่ 2 จึงได้พิจารณารับรองการเสนอพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญที่ยูเนสโกยกย่องพร้อมกับบุคคลอื่นๆ ที่ประเทศสมาชิกได้เสนอมารวมทั้งสิ้น 44 ท่านด้วยกัน และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีก 15 เหตุการณ์ ที่องค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมในการฉลองด้วย

ในการพิจารณาของคณะกรรมการที่ 1 นั้น ได้มีผู้แทนของหลายประเทศกล่าวสนับสนุนข้อเสนอของประเทศต่างๆ ที่คณะกรรมการบริหารได้เห็นชอบแล้ว และเน้นให้องค์การยูเนสโกเข้าร่วมในการฉลองด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมเผยแพร่ความหลากหลายของวัฒนธรรมต่างๆ หลายประเทศได้เสนอขอให้มีการเสนอบัญชีรายการข้อเสนอต่างๆ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นและให้มีข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเข้าไปด้วย หลายประเทศเสนอให้จัดทำบัญชีรายการข้อเสนอเป็นรูปแบบปฏิทิน แล้วจัดส่งไปให้คณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติและสโมสรยูเนสโก (UNESCO Clubs) ในประเทศต่างๆ

หลายประเทศยังได้กล่าวตำหนิที่ไม่มีการให้คำอธิบายสำหรับข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธ และมีการเรียกร้องให้มีการกำหนดแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยที่เหมาะสมยิ่งขึ้น สำหรับการฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

หลังจากอภิปราย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองก็ได้ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงระบบข้อมูลข่าวสารที่ให้แก่ประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลและเหตุการณ์ให้ดียิ่งขึ้น คณะกรรมการที่ 1 ได้เสนอรายงานและร่างข้อมติที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อรับเป็นข้อมติที่สมบูรณ์ต่อไป

ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก นายเฟเดริโก มายอร์ (Federico Mayor) ได้มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ตอบสาสน์ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ดังนี้ :

 

“ที่ DG./16.14/422/338

ผู้อำนวยการใหญ่

๘ พ.ย. ๑๙๙๙

เรียน ฯพณฯ

ขอขอบคุณสำหรับจดหมายของท่านลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๑๙๙๙ ที่ท่านส่งผ่านมาทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ในจดหมายฉบับนั้น ท่านได้แจ้งความจำนงของรัฐบาลไทยที่จะให้องค์การยูเนสโกได้มีส่วนร่วมในช่วงสองปี ๒๐๐๐-๒๐๐๑ ในอันที่จะรำลึกถึง/เฉลิมฉลองวาระครบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของบุคคลสำคัญของไทยสองท่าน กล่าวคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะเรียนให้ทราบว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ ๑๕๗ ได้มีมติให้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมใหญ่ขององค์การฯ ครั้งที่ ๓๐

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
เฟเดริโก มายอร์”

 

ต่อมาที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณารับรองรายงานของคณะกรรมการที่ 1 เมื่อประธานที่ประชุมใหญ่ได้สอบถามผู้เข้าร่วมประชุมว่า จะมีผู้ใดต้องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมติที่เสนอมาอย่างใดหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดแสดงความจำนง ที่ประชุมใหญ่จึงได้รับรองข้อมติดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ เป็นข้อมติที่ 58

เกี่ยวกับการฉลองวันครบรอบวันสำคัญ (Celebration of Anniversaries) ว่าที่ประชุมใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบและรับรองรายงานของคณะกรรมการที่ 1 ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 (24th Plenary Meeting) มีข้อความสำคัญดังนี้ :

 

“ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาเอกสารเลขที่ 30c/18

๑) มีมติว่าในปี ๒๐๐๐-๒๐๐๑ องค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมในการฉลองตามที่กล่าวไว้ในวรรค 3 (a) ของเอกสารเลขที่ 157 EX/Decision 9.6

๒) มีมติต่อไปว่า

(ก) การมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายโดยองค์การสำหรับการฉลองเหล่านี้จะเป็นเงินเข้าร่วมภายใต้โครงการเข้าร่วม ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นสำหรับโครงการนั้น

(ข) รายการวันครบรอบวันสำคัญที่องค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมในการฉลองสำหรับปี ๒๐๐๐-๒๐๐๑ ถือว่าเป็นที่ยุติเท่าที่มีปรากฎต่อไปนี้ :

(๑) วันครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของ โรแบรโต อัลท์

………………………………………………………………………………………………………

(๑๙) วันครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

(๒๐) วันครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์

………………………………………………………………………………………………………

(๕๙) วันครบรอบ ๗๕ ปีแห่งการประกาศการค้นพบ Taung Skull เป็นการค้นพบกระดูกมนุษย์โบราณแห่งแรกของทวีปแอฟริกา

๓) ขอเชื้อเชิญให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาทบทวนรูปแบบและวิธีการที่จะใช้ปฏิบัติต่อไปสำหรับการจัดทำรายงานวันครบรอบวันสำคัญ”

 

อนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือ ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 แจ้งให้ทราบว่า องค์การยูเนสโกประกาศให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก มีข้อความดังนี้

 

ที่ กต ๐๘๐๔/๓๓๖๗

กระทรวงการต่างประเทศ
ถนนศรีอยุธยา กทม. ๑๐๔๐๐

๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

เรื่อง องค์การยูเนสโกประกาศให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

เรียน ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต่อองค์การยูเนสโก (ดร. วิเชียร วัฒนคุณ)

อ้างถึง หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ทม ๐๗๐๑/๔๓๙๒ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๒

ตามหนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อ้างถึงแจ้งมติของคณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต่อองค์การยูเนสโก มอบหมายให้ ดร. วิเชียร วัฒนคุณ ประธานอนุกรรมการฯ และ ดร. ประณีต ภูมิถาวร อนุกรรมการและเลขานุการ เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์และติดตามการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ ๑๕๗ ขององค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ ๕-๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒ ความแจ้งอยู่แล้ว นั้น

กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสว่า เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมคณะกรรมการที่ ๑ (Commission 1) ของการประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ขององค์การยูเนสโก ได้พิจารณารับรองการเสนอให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามการเสนอของคณะกรรมการบริหาร (Executive Board) และเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ในที่ประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ครั้งที่ ๓๐ ขององค์การยูเนสโก ได้มีมติประกาศให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เป็นบุคคลสำคัญของโลกอย่างเป็นทางการแล้ว และจะมีการจัดพิมพ์การเฉลิมฉลองบุคคลและเหตุการณ์สำคัญเป็นรูปเล่มเพื่อแจกจ่ายประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกต่อไป โดยองค์การยูเนสโกจะเข้าร่วมเฉลิมฉลองด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ
(นายชูชัย เกษมศานติ)
รองปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติราชการแทน
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

 

ภายหลังการประชุมใหญ่ประจำรอบสองปี คือสำหรับปี ค.ศ. 2000-2001 ขององค์การยูเนสโกได้สิ้นสุดลง นายเฟเดริโก มายอร์ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งหลายสมัยติดต่อกันมา และนายโกจิชิโร มัตสุอูร่า อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศฝรั่งเศส ได้รับเลือกโดยคณะกรรมการบริหารให้ดำรงตำแหน่งสืบแทน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้มีโอกาสพบปะต้อนรับผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ขององค์การยูเนสโกในโอกาสการประชุมเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วยการศึกษาที่กรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม ๒๕๔๓ ภายหลังการประชุม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ถึงนายโกจิชิโร มัตสุอร่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก มีข้อความดังนี้

 

สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

เรียน ท่านผู้อำนวยการใหญ่

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่มีโอกาสได้พบท่านเมื่อเดือนที่แล้ว และรู้สึกยินดีเมื่อได้ทราบว่า การประชุมเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยการศึกษาสำหรับทุกคนเพื่อการประเมินของปี ๒๐๐๐ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ร่วมจัดให้มีขึ้นและท่านได้กล่าวคำแถลงเปิดประชุมนั้น ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้อ้างถึงการประกาศขององค์การยูเนสโกให้บุคคลสำคัญสองท่านจากประเทศไทย กล่าวคือ พระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และชื่อของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้บรรจุไว้ในปฏิทินขององค์การยูเนสโกสำหรับการฉลองวันครบรอบของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑ ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณต่อเกียรติที่ได้รับนี้ พวกเราคนไทยมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในกิจกรรมของท่านทั้งสอง และมีความยินดีเป็นที่สุดที่องค์การยูเนสโกได้รับรู้ และรับรองในผลงานอันสูงส่งของท่านทั้งสองด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าขอยืนยันต่อท่านผู้อำนวยการใหญ่ว่า รัฐบาลของข้าพเจ้าจะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับท่านและคณะผู้ร่วมงานของท่านในความพยายามที่องค์การได้มุ่งมั่นที่จะส่งเสริม ไม่เฉพาะแต่การพัฒนาทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจที่ดีของวัฒนธรรมที่หลากหลายต่าง ๆ ของโลกเราด้วย

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายชวน หลีกภัย)
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย

 

ภาคผนวก

คำแถลงของไทยโดย ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2552

11 October 1999
Thailand (Wichian Watanakun)
ltem 9.6

Mr. Chairman, Distinguished Members of the Executive Board, I would like first of all to thank you, Sir, in giving me the floor to address this august body.

In fact, Thailand has proposed to UNESCO the nomination of the two eminent personages to the list of Anniversaries of Great Personalities and Historic Events 2000-2001. The first name is the most revered Somdet Phra Srinagarindhra the Princess Mother, the second is Professor Dr. Pridi Banomyong, the educator and humanist.

We are gratified to note that our first proposal, the hundredth anniversary of the birth of Somdet Phra Srinagarindhra was included in the list of requests considered admissible by the Director General as appeared in Document 157 EX/34. However, it is at the same time deplorable that our second proposal i.e. the nomination for Professor Dr. Pridi Banomyong was not included in the list.

It is understandable that it is the first time new criteria and procedure initiated by the Executive Board has been put into effect. Our people at home could hardly follow and realize how important is the new submission form to be filled by the National Commission for UNESCO.

The criteria for the selection of anniversaries and the procedure by which the role of the Intersectoral Committee is so dominant have not been given proper attention. Moreover, the procedure was not totally followed as the document containing the list of requests which has been judged by the Director General to meet the criteria was not sent to Member States and to the Members of the Executive Board in good time before the opening of the session of the Executive Board as laid down in the procedure.

You might notice also that document 157 EX/34 was dated 4 October 1999, one day only before the opening of this session. Therefore, Thailand would like to request the Secretariat to prepare a list of requests by the Member States whose requests have not been included in the list with the reasons there of, in time for distribution to the Member States at the General Conference. With your permission, Mr. Chairman, may I present to this Board our appeal that the name of Professor Dr. Pridi Banomyong should be added to the list.

First, I would like to present Pridi Banomyong as an able and farsighted educator. He founded in Bangkok in 1934 the University of Moral and Political Sciences as an Open University giving higher education to the large part of population both in the cities and upcountry and consequently became its first rector.

The University later changed its name to Thammasat University and has been a leading institution in helping to promote and protect democracy, social justice, and human rights in Thailand. There have been exchanges of professors and students with foreign universities. Students from neighboring countries also attend courses at Thammasat which has become one of the two most prestigious universities in the country. I might add however that the Thai representative in this competent body, Professor Dr. Adual Wichiencharoen was a former student and a graduate from this University, he later became Professor and one of the top administrators of the University. In presenting an appeal to this Board on the case of the founder and former rector of this University, Professor Wichiencharoen for this reason chose to leave it to his alternate instead.

Secondly, as a humanist, Pridi Banomyong advocated peace and non-violence. At the same time, he did not succumb to power from outside. He led national resistance and rallied the nation to oppose invasion and occupation during World War II. That is why he was respected internationally and was the first Thai to be honored by the Smithsonian Institution by naming a species of bird found in Thailand in 1954 after him as a symbol for peace.

The combination of Pridi's relentless efforts to strive for social justice and to establish a meaningful democracy in Thailand was reflected in the constitution he was the architect. Universal suffrage to both men and women was thereby guaranteed as well as human rights were firmly recognised and upheld.

The third and final point I would like to mention is Pridi Banomyong was a man whose ideals were well taken and appreciated throughout the region. He furthermore supported self-determination and independence for all people. He even contemplated creating a South East Asian league among neighboring nations. But a military coup forced Pridi to go into exile in 1947. His vision of a league of Southeast Asian nations lives on and has become a reality in what is now ASEAN. Pridi spent his later years in Paris and died here at 83. He would be 100 years old in the year 2000. His centenary celebration, already prepared on the national level, will take place next year.

Mr. Chairman, Distinguished Members of the Executive Board, The ideals and achievements of Pridi Banomyong could largely be linked to UNESCO's ideals and missions in the field of education, social and human sciences. It would be regrettable that a centenary celebration of a personage so eminent as Pridi Banomyong is to be ignored by UNESCO. In the light of what I have just said, the Intersectoral Committee might see that it is appropriate to reconvene and reconsider its decision.

May I humbly submit to the Executive Board that the hundredth anniversary of the birth of Pridi Banomyong be added to the list of celebrations of anniversaries as proposed to the Executive Board in Document 157 EX/34.

 

ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ
ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.วิเชียร วัฒนคุณ

 

คำแปลภาษาไทย

คำแถลงของไทยในการประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2542 (ค.ศ. 1999)[1]

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติของคณะกรรมการบริหาร ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านประธานที่ได้กรุณาให้ข้าพเจ้าได้กล่าวแถลงต่อที่ประชุมที่สำคัญยิ่งนี้

ความจริงมีว่า ประเทศไทยได้เสนอชื่อบุคคลสำคัญสองท่านมายังองค์การยูเนสโกเพื่อขอให้บรรจุไว้ในบัญชีรายการฉลองวันครบรอบของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับปี ค.ศ. 2000-2001[2]  ในลำดับแรกคือ พระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงเป็นที่เคารพอย่างสูงยิ่ง ในลำดับที่ ๒ คือ ชื่อของ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทการศึกษาและผู้อุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์

เรามีความยินดียิ่งที่ได้รับทราบว่า ข้อเสนอในลำดับแรกของเรา คือ การฉลองวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้นได้ปรากฏรวมอยู่ในบัญชีรายการคำขอที่ผู้อำนวยการใหญ่ได้พิจารณารับไว้แล้ว ดังปรากฏในเอกสารเลขที่ 157 EX/34

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียใจที่ข้อเสนอในลำดับที่ 2 ของเรา คือ การเสนอชื่อศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มิได้ปรากฏรวมอยู่ในบัญชีรายการดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้ริเริ่มและกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหาร มาใช้บังคับปฏิบัติ ผู้คนในประเทศของเราย่อมยากที่จะเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของแบบคำเสนอในรูปใหม่ที่กำหนดให้กรอกข้อความโดยคณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติ หลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการเลือกสรรวันฉลองต่างๆ และวิธีการที่กำหนดขึ้นใหม่ที่ได้ส่งผลให้ความสำคัญไปอยู่กับบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรอง[3]  ที่มีขึ้นใหม่ ก็มิได้มีการชี้แจงให้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

อนึ่ง วิธีการที่ได้วางไว้ใหม่นี้ก็มิได้ถือปฏิบัติโดยครบถ้วน ดังเช่น ในกรณีของเอกสารแสดงรายการคำขอที่ผู้อำนวยการใหญ่ได้วินิจฉัยแล้วว่าเข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็มิได้จัดส่งไปให้รัฐสมาชิกและสมาชิกในคณะกรรมการบริหารได้ทันก่อนวันเปิดสมัยประชุมของคณะกรรมการบริหารดังที่ได้กำหนดเขียนเอาไว้ในเรื่องวิธีการ ท่านคงจะสังเกตเห็นได้ว่า เอกสารเลขที่ 157 EX/34 นั้น ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2542 (ค.ศ. 1999) คือหนึ่งวันเท่านั้นก่อนวันเปิดสมัยประชุมนี้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงใคร่ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ขององค์การได้โปรดรวบรวมรายการคำขอของรัฐสมาชิกที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้รวมอยู่ในบัญชีรายการที่เสนอพร้อมทั้งขอทราบเหตุผลที่มิได้รับการพิจารณาและขอให้เสร็จทันแจกจ่ายให้แก่รัฐสมาชิกในโอกาสการประชุมใหญ่ต่อไปด้วย

ข้าพเจ้าขอประทานอนุญาตจากท่านประธานที่จะเสนอคำอุทธรณ์ต่อที่ประชุมนี้ เพื่อขอให้เพิ่มเติมชื่อของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าในบัญชีรายการที่เสนอ

ในประการแรก ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทการศึกษาที่สามารถและเห็นการณ์ไกล ท่านได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1935) โดยได้ทำเป็มหาวิทยาลัยเปิดเพื่อให้การศึกษาขั้นอุดมศึกษาแก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งผู้ที่อยู่ในเมืองและผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกลออกไป

ท่านได้เป็นผู้ประศาสน์การ หรือ อธิการบดีคนแรก ต่อมามหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องระบอบประชาธิปไตย ความยุติธรรมในสังคม และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้มีการแลกเปลี่ยนครูบาอาจารย์และนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ได้มาศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสองมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเกียรติภูมิเป็นเลิศของประเทศไทย

ข้าพเจ้าอาจเรียนเพิ่มเติมก็ได้ว่า ท่านผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงแห่งนี้ คือ ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ก็คือศิษย์เก่าคนหนึ่งและเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ ซึ่งต่อมาได้มาเป็นอาจารย์และเป็นผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

ดังนั้น ในการเสนอคำอุทธรณ์กรณีของท่านผู้ประศาสน์การซึ่งเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้คำนึงถึงความเกี่ยวพันข้อนี้ จึงได้เลือกที่จะมอบให้ผู้ทำการแทนตัวท่าน เป็นผู้ดำเนินการแถลงแทน

ในประการที่ ๒ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้อุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ ได้มีความมุ่งมั่นในสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็จะไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจใดๆ จากภายนอก ท่านได้เป็นผู้นำขบวนการกู้ชาติและเป็นผู้รวมพลังในชาติเพื่อต่อต้านการรุกราน และการยึดครองประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือในประเทศต่างๆ และนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันสมิธโซเนียนในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) โดยการนำชื่อของท่านมาตั้งให้เป็นชื่อนกพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบในประเทศไทยเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ขอสันติภาพ[4]

ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ท่านเป็นผู้สรรค์สร้างนั้น จะเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นของท่านที่จะให้มีความยุติธรรมในสังคม และที่จะสถาปนาประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทยโดยให้มีการรับรู้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคสำหรับชายและหญิง และมีการรับรองสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้งไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

ในประการที่ ๓ ซึ่งเป็นประการสุดท้าย ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์อันเป็นที่รับรู้และชื่นชมทั่วไปในภูมิภาค อีกทั้งท่านยังเป็นผู้สนับสนุนหลักการกำหนดอนาคตตนเองและเอกราชสำหรับประชาชาติทั้งหลาย ท่านยังได้เคยพยายามจัดตั้งสันนิบาตแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นในหมู่ประชาชาติเพื่อนบ้าน

หากแต่ว่าการรัฐประหารได้บีบบังคับให้ท่านต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) แม้กระนั้นก็ตามวิสัยทัศน์ของท่านเกี่ยวกับสันนิบาตแห่งประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังดำรงอยู่สืบมา และได้กลายเป็นจริงขึ้นแล้วในรูปของอาเซียนในปัจจุบัน นายปรีดีได้ใช้ชีวิตบั้นปลายของท่านในกรุงปารีสนี้ และได้ถึงแก่กรรมที่นี่เองเมื่อท่านมีอายุได้ 83 ปี ท่านจะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2000 นี้ (พ.ศ. 2543) การฉลอง 100 ปีแห่ง ชาตกาลของท่านซึ่งได้มีการตระเตรียมแล้วในระดับชาติ จะมีขึ้นในศกหน้านี้

ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติของคณะกรรมการบริหาร อุดมการณ์และผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ ย่อมประสานเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับอุดมการณ์และภารกิจขององค์การยูเนสโกในด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จะเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าหากว่าองค์การยูเนสโกจะไม่สนใจหรือไม่ยอมรับรู้การฉลอง 100 ปีแห่งชาตกาลของปูชนียบุคคลเฉกเช่น ‘นายปรีดี พนมยงค์’

ด้วยเหตุผลดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงชี้แจงแล้วนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองน่าจะพิจารณาเห็นเป็นการสมควรที่จะเรียกประชุมและพิจารณาทบทวนมติในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนด้วยความเคารพมายังคณะกรรมการบริหาร ได้โปรดพิจารณาเพิ่มเติมกรณีฉลอง 100 ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ เข้าไว้ในบัญชีรายการฉลองวันครบรอบฯ ที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารในเอกสารเลขที่ 157 EX/34

 

ที่มา : วิเชียร วัฒนคุณ. ปรีดี พนมยงค์ กับการฉลอง 100 ปี แห่งชาตกาล, ใน, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543, น. 254-265)

 


[1] แถลงโดยประธานอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการเสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (นายวิเชียร วัฒนคุณ)

[2] List of Anniversaries of Great Personalities and Historic Events 2000-2001

[3] คณะกรรมการกลั่นกรอง (Intersectoral Committee)

[4] พบโดย Hugh M. Smith บนภูเขาทางภาคเหนือของไทย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1982 สถาบันสมิธโซเนียนได้จดทะเบียนพันธุ์นกนี้ว่า "USNM 311538" และต่อมาได้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ผู้นำเสรีไทยว่า Chloropsis aurifrons pridii