ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

วิลาศ โอสถานนท์ ช่วงหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมโฆษณาการ

8
ธันวาคม
2566

Focus

  • อธิบดีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) เป็นตำแหน่งสำคัญที่ได้เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ เพื่อรายงานข่าวสารทั้งในประเทศและนอกประเทศให้คณะรัฐมนตรีทราบ เป็นโฆษกรัฐบาล และนำข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีมาแถลงให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ
  • เมื่อ 82 ปีที่แล้ว ในคราวที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกผืนแผ่นดินไทยเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ และได้รายงานสถานการณ์สงครามโลกต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเท่าทันเหตุการณ์จริง รวมทั้งรับฟังคำสั่งนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ในการประกาศข่าวให้ประชาชนทราบอย่างละเอียด
  • พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ นอกจากดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการที่จัดตั้งขึ้นโดยตนเองมีส่วนแล้ว (2 กุมภาพันธ์ 2481 - 15 ธันวาคม 2484) แล้ว ยังนำวิทยุกระจายเสียงมาใช้เป็นสื่อเพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร การตั้งวงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลของกรมที่มีชื่อเสียงจนกระทั่งทุกวันนี้

 

 

อธิบดีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) เป็นข้าราชการระดับ 10 คนเดียวที่ได้เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยทุกครั้ง หน้าที่นี้เริ่มมาตั้งแต่การตั้งกองการโฆษณาการขึ้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2476 จนถึงปัจจุบัน หน้าที่ของอธิบดีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) นอกจากรายงานข่าวสารทั้งในประเทศและนอกประเทศให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วยังทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาล นำข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีมาแถลงให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ

จากบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 และ 8 ธันวาคม 2484 ตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นนายวิลาศ โอสถานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการได้รายงานสถานการณ์โลกต่อที่ประชุมว่า

นายวิลาศ โอสถานนท์ : วิทยุสิงคโปร์ว่าทางการเมืองอังกฤษ ณ สิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์แจ้งว่าญี่ปุ่นได้พยายามส่งกำลังทหารขึ้นบกเมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ พร้อมด้วยโจมตีทิ้งระเบิดฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐมะลายู ทหารญี่ปุ่นหน่วยหนึ่งได้ขึ้นบกได้สำเร็จ ณ บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในสหรัฐมะลายูเมื่อเวลา 03.30 น. ทันใดหน่วยรักษาฝั่งของอังกฤษก็ได้ขัดขวาง และฝูงบินอังกฤษได้พยายามเข้าโจมตีซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนประเทศไทยไปทางใต้ประมาณ 18 ไมล์ ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษลำหนึ่งได้ถูกยิงห่างจากฝั่งประมาณ 1,300 ไมล์ ประมาณว่าเครื่องบินญี่ปุ่นได้เข้าครอบครองน่านน้ำเขตเช่านานาชาติไว้แล้ว เรือบินของญี่ปุ่นได้อับปางลงบ้างยังไม่ได้ข่าวอะไรทางด้านไทยและฮ่องกงอย่างใดเลย

นายกรัฐมนตรี : ให้เขาเปิดวิทยุกระจายเสียง

นายวิลาศ โอสถานนท์ : ผมได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว

นายกรัฐมนตรี : ขอให้เขาส่งข่าวต่างๆ เหล่านี้

นายวิลาศ โอสถานนท์ : เอาข่าวพวกนี้ออกไปก่อนหรือยังมีอีกมากที่ได้รับฟัง

นายกรัฐมนตรี : เอาข่าวนอกประเทศออกไปก่อน ข่าวในประเทศนั้นผมนึกว่าออกได้ ข่าวการรบต่างๆ ออกให้หมด

นายวิลาศ โอสถานนท์ : ขอให้ออกทั้ง 3 เครื่อง คือ มีคลื่นยาว คลื่นสั้น และภาษาอังกฤษด้วย

นายกรัฐมนตรี : ก็ออกไป ข่าวที่ได้รับจากภายนอกก็ออกไป สำหรับข่าวภายในบอกว่าสำหรับประเทศไทยเรากำลังเจรจากับทางสถานทูตญี่ปุ่นอยู่ เพราะไม่มีการประกาศสงครามอะไร ญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศสงคราม เรากำลังเจรจากันอยู่และขอให้เอาข่าวของเราออกเสียก่อนญี่ปุ่นเข้า เราต่อสู้ที่ไหนบอกให้ละเอียด[1]

พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2481 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2484 นับว่าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้เพียง 2 ปี 11 เดือน แต่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กรมโฆษณาการในขณะนั้นหลายประการ ที่สำคัญได้แก่การยกระดับหน่วยงานขึ้นเป็นกรมการนำวิทยุกระจายเสียงมาใช้เป็นสื่อเพื่อการเผยแพร่ข่าวสาร การรับฟังข่าวจากวิทยุคลื่นสั้นของต่างประเทศ การส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวไปยังต่างประเทศในขณะนั้นตลอดจนการตั้งวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลของกรมขึ้น จนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของคนไทยทั่วไปมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

 

นอกจากช่วยเขียนข่าวเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยแล้ว พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ ยังเขียนบทความด้วย บทความที่เขียนมีเรื่อง “การสำรวจตนเอง” ซึ่งเป็นบทความหลายตอน เป็นการจัดทำรายการตามนโยบายปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจของประชาชนและทำลายกำลังใจของฝ่ายศัตรู

หลังจากญี่ปุ่นเคลื่อนกองทัพเข้าประเทศไทยแล้วได้ตั้งข้อเรียกร้องหลายประการ ข้อแรกคือ ให้ พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ซึ่งนายไพโรจน์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการอีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “เข้าใจว่าญี่ปุ่นคงไม่ชอบที่คุณวิลาศเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษและให้คุณวิลาศไปเป็นผู้จัดการเดินเรือไทยทะเลแล้วให้หลวงวิจิตรวาทการมารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ”[2]

 

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์. ช่วงหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมโฆษณาการ. ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2540. [ม.ป.ท.] : งานโรงพิมพ์ ฝ่ายเผยแพร่ความรู้และบริการ กองวิชาการ กรมประชาสัมพันธ์; 2540.

อ้างอิง : อ.พิบูลสงคราม “จอมพล ป. พิบูลสงคราม”, เล่ม 4.


[1] หนังสือ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เล่ม 4 โดย อ.พิบูลสงคราม หน้า 438 - 439

[2] หนังสือ “กรมประชาสัมพันธ์ ครบ 55 ปี” 3 พฤษภาคม 2531 หน้า 6.