พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พุทธศักราช ๒๔๗๕
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อ บ้านเมืองจะเจริญขึ้น และ
โดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตรา ต่อไปนี้
หมวด ๑
ข้อความทั่วไป
มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ
๑. กษัตริย์
๒. สภาผู้แทนราษฎร
๓. คณะกรรมการราษฎร
๔. ศาล
หมวด ๒
กษัตริย์
มาตรา ๓ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์
มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน
มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย
มาตรา ๗ การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
หมวด ๓
สภาผู้แทนราษฎร
ส่วนที่ ๑
อำนาจและหน้าที่
มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราช-บัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้
ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้นจากสภา โดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้
ส่วนที่ ๒
ผู้แทนราษฎร
มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดั่งนี้
สมัยที่ ๑
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒
ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อยสมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้แทนราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นาย ทุกๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑
ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ
สมัยที่ ๓
เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป
มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ
๑. สอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้
๒. มีอายุุ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๔. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก
๕. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
๖. เฉพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย
มาตรา ๑๒ การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทำดั่งนี้
๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล
๒. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
๓. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนินวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง
มาตรา ๑๓ ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้ว แม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง
ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่าง แต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้
มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ
๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๒. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๓. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง
๔. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑
มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใดๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่ ๒ มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้
มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวรจะต้องออกจากตำแหน่งให้นับว่าขาดจากตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาได้วินิจฉัยให้ออกในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา
มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อน ศาลจึ่งจะรับฟ้องได้
ส่วนที่ ๓
ระเบียบการประชุม
มาตรา ๑๘ ให้สมาชิกเลือกกันขึ้นเป็นประธานของสภา ๑ นาย มีหน้าที่ดำเนินการของสภา และมีรองประธาน ๑ นายเป็นผู้ทำการแทน เมื่อประธานมีเหตุขัดข้องชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ได้
มาตรา ๑๙ เมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถมาได้ ก็ให้รองประธานแทนเป็นผู้รักษาความเรียบร้อยในสภา และจัดการให้ได้ปรึกษาหารือกันตามระเบียบ
มาตรา ๒๐ ถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมทั้ง ๒ คน ก็ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานคนหนึ่งชั่วคราวประชุมนั้น
มาตรา ๒๑ การประชุมปกติให้เป็นหน้าที่ของสภาเป็นผู้กำหนด
การประชุมพิเศษจะมีได้ต่อเมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ คนได้ร้องขอ หรือคณะกรรมการราษฏรได้ร้องขอให้เรียกประชุม การนัดประชุมพิเศษประธานหรือผู้ทำการแทนประธานเป็นผู้สั่งนัด
มาตรา ๒๒ การประชุมทุกคราวต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึ่งจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้
มาตรา ๒๓ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๔ สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใดๆ ที่ได้กล่าวหรือแสดงเป็นความเห็น หรือในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ผู้หนึ่งผู้ใดจะว่ากล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่
มาตรา ๒๕ ในการประชุมทุกคราวประธานต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำในสภาจดรายงานรักษาไว้ และเสนอเพื่อให้สมาชิกได้ตรวจแก้ไขรับรอง แล้วให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมลงนามกำกับไว้
มาตรา ๒๖ สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้น เสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้นเมื่อสภาไม่ได้ตั้ง ก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้
อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใดๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความเห็นตามมาตรา ๒๔
ในการประชุมอนุกรรมการนั้นต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า ๓ นายจึ่งจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้ เว้นแต่อนุกรรมการนั้นจะมีจำนวนตั้งขึ้นเพียง ๓ คน เมื่อมาประชุมแต่ ๒ คน ก็ให้นับว่าเป็นองค์ประชุมได้
มาตรา ๒๗ สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ (ในชั้นแรกนี้ให้อนุโลมใช้ข้อบังคับสภากรรมการองคมนตรีเฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญนี้ไปพลางก่อน)
หมวดที่ ๔
คณะกรรมการราษฎร
ส่วนที่ ๑
อำนาจและหน้าที่
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภา
มาตรา ๒๙ ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจะเรียกประชุมสภาราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะแก่การฉุกเฉินนั้นๆ ก็ทำได้ แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง
มาตรา ๓๐ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจให้อภัยโทษ แต่ให้นำความขึ้นขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน
มาตรา ๓๑ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง
สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่ง หรือระเบียบการของคณะกรรมการราษฎรหรือกระทำไปโดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ
ส่วนที่ ๒
กรรมการราษฎรและเจ้าหน้าที่ประจำ
มาตรา ๓๒ คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร ๑๔ นาย. รวมเป็น ๑๕ นาย
มาตรา ๓๓ ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่ง ขึ้นเป็นประธานกรรมการและให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก ๑๔ นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้วให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกนั้นๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่ากรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประศาสโนบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น
มาตรา ๓๔ กรรมการคนใดมีเหตุอันกระทำให้กรรมการคนนั้นขาดคุณสมบัติอันกำหนดไว้สำหรับผู้แทนในมาตรา ๑๑ ก็ตาม หรือตายก็ตาม ให้สภาเลือกกรรมการแทนสำหรับตำแหน่งนั้นๆ
ในเมื่อสภาได้เลือกตั้งกรรมการแล้ว สภาชุดนั้นหมดกำหนดอายุ ตำแหน่งเมื่อใด ให้ถือว่ากรรมการชุดนั้นย่อมหมดกำหนดอายุตำแหน่งด้วย
มาตรา ๓๕ การตั้งการถอดตำแหน่งเสนาบดี ย่อมเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจนี้จะทรงใช้แต่โดยตามคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร
มาตรา ๓๖ การเจรจาการเมืองกับต่างประเทศเป็นหน้าที่ของกรรมการผู้แทนราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อการนี้ได้
การเจรจาได้ดำเนินไปประการใด ให้กรรมการรายงานกราบบังคมทูลกษัตริย์ทรงทราบ
การให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรีเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร
มาตรา ๓๗ การประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร
ส่วนที่ ๓
ระเบียบการประชุม
มาตรา ๓๘ ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการราษฎรให้อนุโลมตามที่บัญญัติในหมวดที่ ๓
หมวดที่ ๕
ศาล
มาตรา ๓๙ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานี้
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ และให้ใช้บังคับได้แต่บัดนี้เป็นต้นไป
(พระบรมนามาภิธัย) ประชาธิปก ป.ร.
(๔๙ ร.จ. ๑๖๖ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕)