ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 10)

31
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 10 เสนอว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี ในประเด็นสำคัญ 5 ประการได้แก่  1. พระยาทรงฯ รักษามารยาทและวินัยทหารจึงไม่ข้ามหน้าพระยาฤทธิ์ฯ ไปถาม ร.ท.ประยูรฯ 2. สมมติว่าพล.ท.ประยูรฯ กราบทูลในหลวงว่าตนยังไม่ได้อ่านธรรมนูญจะทําให้ในหลวงมีรับสั่งอย่างใด 3. คนเฝ้าห่างที่ประทับพระปกเกล้าฯ ไม่อาจมองจากด้านนอกของฉลองพระเนตรฯ ให้ทะลุเข้าไปเห็นพระเนตรขุ่น 4. เหตุไฉนพระยาทรงและคุณประยูรฯ ไม่กราบทูลขอให้ทรงรอธรรมนูญที่ท่านทั้งสองจะร่างทูลเกล้าฯ ถวาย 5. พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงสําแดงฤทธิ์ในพระราชฐาน แต่จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่นายปรีดีนำมาเป็นหลักฐานฯ สามารถหักล้างการบิดเบือนดังกล่าวได้ทุกประการ
  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ผู้เขียนแต่อย่างใด

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ข้อ 9.5


9.5

พระยาทรงฯ รักษามารยาทและวินัยทหารจึงไม่ข้ามหน้าพระยาฤทธิ์ฯ ไปถาม ร.ท.ประยูรฯ

ต่อจากข้อเขียนซึ่งพล.ท.ประยูรฯ ได้แต่งขึ้นที่จัดเอกสารหลักฐานและเหตุผลทางตรรกวิทยา ดังกล่าวแล้วนั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้แต่งเรื่องคํากราบบังคมทูลของท่านภายหลังที่พระยาทรงฯ กราบบังคมทูลว่ายังมิได้อ่านธรรมนูญฯ นั้น ดังต่อไปนี้

  • แล้วหันมาถามข้าพเจ้าว่าคุณประยูรฯ ได้อ่านมาบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่ายังไม่ได้อ่านเพราะไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะ แต่ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชได้กําชับหลวงประดิษฐ์ฯ ไว้มั่นคง
  • แล้วว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

ข้าพเจ้าขอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดพิเคราะห์ดังต่อไปนี้

(1) โปรดสังเกตว่าการที่ผู้แทนคณะราษฎร เข้าเฝ้าในหลวงในวันนั้นมิใช่การที่บุคคลไปสนทนาที่บ้านเพื่อนส่วนตัวซึ่งจะนั่งที่ไหนยืนที่ไหนตามพอใจได้ หากเป็นการเข้าเฝ้าในหลวงทางราชการที่เพื่อขอพระราชทานนิรโทษกรรมและธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ผู้แทนคณะราษฎรเฝ้าห่างจากพระเก้าอี้ที่ประทับประมาณ 4 เมตร และผู้เข้าเฝ้าก็จะต้องเข้าแถวตามลําดับอาวุโส คือ (1) พระยาศรยุทธฯ (2) พระประศาสน์ฯ (3) หลวงวีระโยธา (4) หลวงประดิษฐ์ฯ (5) นายประยูรฯ (6) นายจรูญฯ (7) นายสงวนฯ

พล. ท.ประยูรฯได้เขียนเพิ่มเติมขึ้นเองว่า พระยาทรงได้ไปเฝ้าด้วย ถ้าหากจะสมมติแถวของผู้เข้าเฝ้าตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้แล้วนั้นก็จะมีลำดับอาวุโสคือ (1) พระยาศรยุทธฯ, (2) พระยาทรงฯ, (3) พระยาฤทธิ์ฯ, (4) พระประศาสน์ฯ, (5) หลวงวีระโยธา, (6) หลวงประดิษฐ์ฯ, (7) นายประยูรฯ, (8) นายจรูญ ณ บางช้าง, (9) นายสงวน ตุลารักษ์

ท่านที่ปรารถนาสัจจะก็จะวินิจฉัยได้โดยไม่ยากเลยว่า แม้สมมติว่าพระยาทรงฯ และพระยาฤทธิ์ฯ ไปเฝ้าในหลวงครั้งนั้นตามที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งเรื่องขึ้นก็ตาม แต่พระยาทรงฯ ที่เป็นนายทหารผู้ใหญ่ซึ่งต้องรักษาวินัยทหาร และมารยาทนั้นจะหันไปออกวาจาข้ามหน้าพระยาฤทธิ์ฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎร รองจากพระยาทรงฯ และข้ามหน้า ชพระประศาสน์กับหลวงวีระโยธาไปถามคุณประยูรฯ ประดุจพระยาทรงฯ ถือว่าพระยาฤทธิ์ฯ เป็นเพียงไม้กอเฝ้าอยู่เฉย ๆ โดยไม่มีความสําคัญเท่ากับคุณประยูรฯ หรือ ?

(2) ถ้าสมมติว่าคาว่า “แล้วหันมาถามข้าพเจ้า” นั้นเป็นพระราชกระแสถาม ร.อ.อ.ประยูรฯ โดยทรงเรียกผู้นี้ ว่า “คุณประยูรฯ” นั้นก็เป็นไปไม่ได้ที่ในหลวงสมัยนั้นจะเรียกคนชั้น ร.อ.อ.ว่า “คุณ” แม้แต่ทรงเรียกคนชั้น “พระยา” ก็มิได้ทรงเรียกว่า “คุณ” หรือ “เจ้าคุณ” หากทรงเรียกว่า “พระยา” ตามนามบรรดาศักดิ์

 

9.6

สมมติว่าพล.ท.ประยูรฯ กราบทูลในหลวงว่าตนยังไม่ได้อ่านธรรมนูญจะทําให้ในหลวงมีรับสั่งอย่างใด

การที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าท่านกราบบังคมทูลในหลวงว่ายังมิได้อ่านธรรมนูญฯ เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะของพล.ท.ประยูรฯ นั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพล.ท.ประยูรฯ ก็ย่อมรู้ว่าการไปเฝ้าในหลวงพระองค์นั้นในวันนั้นก็เพื่อขอพระราชทานนิรโทษกรรมและขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

ถ้าสมมติว่า ร.อ.อ. ประยูรฯ กราบบังคมทูลฯ เช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงรับสั่งได้ว่า พระยาทรงฯ ก็ปฏิเสธคนหนึ่งแล้วว่าไม่ได้อ่านธรรมนูญฯ นี้มาก่อน บัดนี้ร.อ.อ. ประยูรฯ ก็ปฏิเสธอีกคนหนึ่ง แสดงว่าคณะของ ร.อ.อ.ประยูรฯ ไม่เตรียมเรื่องมาให้พร้อม เป็นการรบกวนเวลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

9.7

คนเฝ้าห่างที่ประทับพระปกเกล้าฯ ไม่อาจมองจากด้านนอกของฉลองพระเนตรฯ ให้ทะลุเข้าไปเห็นพระเนตรขุ่น

พล.ท.ประยูรฯ ได้แต่งเรื่องของท่าน ต่อไปอีกว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง น้ำพระเนตรขุ่นรู้สึกอัดอั้นพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอเสนอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดวิเคราะห์วิจารณ์ดังต่อไปนี้

(1)

สําหรับคนธรรมดาสามัญที่ไปพบปะเจ้าของบ้านที่ห้องรับแขกก็สนทนากับเจ้าของบ้านที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ผู้สนทนาจึงสังเกตนัยน์ตาเจ้าของบ้านได้นับว่าโกรธหรือไม่พอใจขนาดหนักแล้วก็แสดงอาการนัยน์ตาขุ่น

แต่ผู้แทนคณะราษฎร เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในวันขอพระราชทานธรรมนูญนั้น หลักฐานปรากฏชัดว่าเข้าเฝ้าที่ “ท้องพระโรง” ซึ่งมิใช่ห้องรับแขกส่วนพระองค์ ผู้เข้าเฝ้าเฝ้าอยู่ห่างจากพระเก้าอี้ที่ประทับของในหลวงประมาณ 4 เมตร

 

(2)

ข้าราชการที่เคยเข้าใกล้ชิดในหลวงพระองค์นั้นก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระเนตรของพระองค์นั้นเสื่อมโทรมมากอยู่แล้ว แม้พระองค์เสด็จไปทรงรักษาในสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2474 แต่พระองค์ก็เคยรับสั่งแก่พระยามโนฯ, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเมื่อวัน 30 มิถุนายน (คือ 3 วันภายหลังพระราชทานธรรมนูญาฉบับ 27 มิถุนายน 2475) ตามที่เจ้าพระยามหิธร จดบันทึกไว้ว่า พระเนตรของพระองค์ไม่มีอาการดีขึ้น

 

(3)

ข้าราชการที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ที่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดในหลวงพระองค์นั้นคงจําได้ว่า ในหลวงพระองค์นั้นทรงใช้ฉลองพระเนตร (แว่นตา) กระจกหนามาก และถ้าทรงอ่านหนังสือก็ทรงใช้ “แว่นขยาย” ให้ตัวหนังสือใหญ่ขึ้น เพราะเพียงใช้ฉลองพระเนตร (แว่นตา) กระจกหนามากอยู่แล้วนั้นก็ยังพอที่จะทอดพระเนตร หนังสือได้ตลอด ฉนั้นคนใดที่เฝ้าอยู่ห่าง ๆ พระองค์ในวันนั้นสามารถมองจากด้านนอกของฉลองพระเนตรให้ทะลุเข้าไปสู่พระเนตรจนมองเห็นพระเนตรขุ่นจึงนับว่าผู้นั้นมีญาณวิถีทางจักษุวิเศษมาก

 

9.8

เหตุไฉนพระยาทรงฯ และคุณประยูรฯ ไม่กราบทูลขอให้ทรงรอธรรมนูญที่ท่านทั้งสองจะร่างทูลเกล้าฯ ถวาย

พล.ท.ประยูรฯ เขึยนต่อไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ถ้าพระยาทรงฯ รับรองว่าจะไปแก้กันใหม่ฉันก็ยอมเชื่อพระยาทรงฯ

ข้าพเจ้าขอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดสังเกตว่า

(1)

ถ้าสมมติว่าพระยาทรงฯ ได้ไปไปเฝ้าและกราบทูลฯ เช่นนั้นตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ แต่ความปรากฏตามเอกสารหลักฐานว่าเมื่อในหลวงรับสั่งว่าขอเวลาทอดพระเนตรร่างธรรมนูญนั้นแล้ว ให้พระยาอิศราธิราชเสวีรับพระกระแสมาแจ้งแก่ผู้แทนคณะราษฎรที่รอคอยพระราชกระแสที่ระเบียงพระตําหนักนั้นว่าจะพระราชทานตอบในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เวลา 17 น. นั้น เหตุไฉนพระยาทรงฯ  หรือคุณประยูรฯ จึงไม่กราบทูลว่าขอให้ทรงยกร่างธรรมนูญที่พระยาทรงฯ กับคุณประยูรจะจัดร่างขึ้นใหม่ เหตุใดพระบาทรงกลับนิ่งเฉยเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศธรรมนูญฉบับนั้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ครั้นแล้วพระยาทรงฯ และรองอํามาตย์เอกประยูรฯ ก็ยอมรับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นกรรมการราษฎรตามธรรมนูญปกครองแผ่นดินฉบับ 27 มิถุนายน 2475 พร้อมทั้งร่วมกับสมาชิกปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ตามธรรมนูญาและหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

(2)

ข้อความของ พล.ท.ประยูรฯ ดังอ้างไว้นั้นแสดงว่าในหลวงพระองค์นั้นทรงไว้วางพระราชหฤทัยในพระยาทรงฯ ยิ่งกว่าพระยาพหลฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, ฯลฯ แต่เหตุใดจึงปรากฏตามข่าวในพระราชสํานัก และตามบันทึกของเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ และแถลงการณ์ของพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานคณะกรรมการราษฎรฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2475 (3 วันหลังพระราชทานธรรมฉบับ 27 มิถุนายน) ว่า วันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้บุคคลต่อไปนี้เข้าเฝ้ารับพระราชทานพระราชกระแสที่ได้ทรงพระราชดําริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมาก่อนแล้วตามวิธีการต่าง ๆ ของพระองค์คือ (1) พระยามโนปกรณ์ฯ (2) พระยาปรีชาชลยุทธ (3) พระยาศรีวิสารวาจา (4) พระยาพหลฯ (5) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รวม 5 คนเท่านั้น โดยมิได้รับสั่งให้พระยาทรงฯ และคุณประยูรฯ เข้าเฝ้าด้วย

 

9.9

พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ สําแดงฤทธิ์ในพระราชฐาน

คําบอกเล่าของพล.ท.ประยูรฯ ตอนที่เขียนไว้อย่างสนุกมากสําหรับผู้ชอบนวนิยายคือ ตอนที่ว่า “พวกเราทุกคนต่างก็ตะลึงพรึงเพริดทะยอยกันออกไปขึ้นที่ลานพระราชวัง พระยาทรงฯ ชี้หน้าหลวงประดิษฐ์ฯว่า คุณหลวงทําป่นปี้ ไม่ทําตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทําอะไรนอกเรื่อง พระยาทรงฯ ชี้หน้าและทุกอย่างเคืองแค้น แล้วรีบเดินไปขึ้นรถ”

ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ ในตอนนั้นสังเกตว่า

(1)

พล.ท.ประยูรฯได้พรรณนาทํานองนวนิยายการแสดงโขนตอนที่เรียกว่า “ออกยักษ์ออกมาร” ซึ่งผู้ที่ชมโขนชอบกันว่าสนุกมากนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงหลักฐานและเหตุผลแล้วว่าพระยาทรงฯ มิได้ไปเข้าเฝ้าในหลวงตามที่คุณประยูรฯ อ้างไว้ ฉะนั้นคําบอกเล่าของพล.ท.ประยูรฯ เกี่ยวกับพระยาทรงฯ ที่วังสุโขทัยครั้งนั้นจึงไม่มีมูลความจริง แต่เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจในมารยาทและวิธีเข้าเฝ้าในหลวงที่วังหรือพระราชวังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงว่าเมื่อในหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าขอทอดพระเนตรธรรมนูญฉบับนั้นก่อน แล้วเสด็จขึ้นทรงดําเนินเข้าไปในพระตําหนักนั้น ผู้เข้าเฝ้าจะแสดงอาการตกตะลึงพรึงเพริด ทะยอยกันออกไปยืนที่ลานพระราชวังนั้นก็เป็นการเป็นมารยาทและธรรมเนียมเข้าเฝ้าในหลวง ความจริงในวันนั้นเมื่อในหลวงเสด็จขึ้นแล้ว พระยาอิศราธิราชเสวีได้เชิญผู้แทนคณะราษฎร ออกไปนั่งที่ระเบียงพระตําหนักเพื่อรอคอยพระกระแสรับสั่ง มิใช่ผู้เข้าเฝ้าทะยอยกันออกไปยืนลานพระราชวังแล้วก็แสดงอิทธิฤทธิ์รีบเดินไปขึ้นรถโดยไม่รอพระกระแสรับสั่ง ถ้ามีผู้ใดทําเช่นนั้นอย่างที่พล.ท.ประยูร อ้างไว้ ราชองครักษ์และตํารวจหลวงที่รักษาการอยู่ ณ ที่นั้นก็คงไม่ยอมให้บุคคลที่แสดงมารยาทเช่นนั้นสําแดงอิทธิฤทธิ์ของตนในพระราชฐานได้

(2)

ขอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะที่มิใช้ข้าทาสของพระยาทรงฯ โปรดคิดว่า ถ้าสมมติว่าท่านถูกพระยาทรงชี้หน้าประณามท่านอย่างที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ ทําแก่ข้าพเจ้าเช่นนั้นแล้ว ให้พระยาทรงฯ ทําแก่ท่านเช่นนั้นหรือไม่ หรือท่านจะป้องกันเกียรติของท่านโดยวิธีที่ไม่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ ขอให้พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ หรือพระยาอิศราธิราชเสวีนําความกราบบังคมทูลทันทีว่าพระยาทรงฯ ปฏิบัติการดังที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างนั้น เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าพระยาทรงแสดงอาการไม่เคารพพระราชฐาน หรือเมื่อผู้แทนคณะราษฎรกลับถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วก็ขอให้เรียกประชุมคณะราษฎรทันทีเพื่อพิจารณาการปฏิบัติที่แสดงอํานาจบาทใหญ่ของพระยาทรงฯ ถ้าคณะราษฎรไม่พิจารณา ท่านจะคงหน้าด้านร่วมทํางานเพื่อให้พระยาทรงฯ ทําแก่ท่านเหมือนข้าไพร่หรือไม่ ?

ส่วนข้าพเจ้ามิใช่ข้าทาสของพระยาทรงฯ ได้ร่วมทํางานกับพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, ต่อมานั้น เพราะพระยาทรงฯ มิได้ชี้หน้าหยามหยาบข้าพเจ้าดังที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งเรื่องขึ้นนั้น

 

หมายเหตุ

เมื่อเอกสารหลักฐานปรากฏชัดว่าพระยาทรงสุรเดชมิได้ไปเฝ้าในหลวงวันนั้น คําพูดและเหตุการณ์เกี่ยวกับพระยาทรงฯ ครั้งกระนั้นจึงไม่ได้เกิดขึ้นเลย

ฉะนั้นการที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนแต่งเรื่องขึ้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระกระแสรับสั่งก็ดี พระยาทรงฯ กราบทูลก็ดี และพระยาทรงฯ ชี้หน้าว่าข้าพเจ้าก็ดีนั้น จึงเป็นถ้อยคําของ พล.ท. ประยูรฯ เองที่หมิ่นประมาทข้าพเจ้า โดยพล.ท.ประยูรฯ ใช้วิธีอาศัยอ้างว่าในหลวงรับสั่งเช่นนี้ และพระยาทรงฯ พูดและกระทําเช่นนั้น ๆ พล.ท.ประยูรฯ กับผู้สมรู้จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :