ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่อง ข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 6

4
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ในข้อ 7. ของบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ มีประเด็นที่นายปรีดี พนมยงค์ โต้แย้งข้อเท็จในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าฯ ใน 3 ประการ ได้แก่ ประเด็น 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานนั้นยังคงมี “เสนาบดี” หรือไม่? ประเด็น 2 พระยาทรงสุรเดชได้กำชับปรีดีให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษหรือไม่ ประเด็น 3 พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วยในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นฟังว่าเอาเป็นจริงได้หรือ
  • ประเด็นที่ 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานนั้นยังคงมี “เสนาบดี” หรือไม่ เมื่ออ่านเอกสารหลักฐานจึงพบข้อเท็จจริงหลักคือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรากฏชัดแจ้งแล้วว่า “เสนาบดี” ยังคงมีอยู่ มิใช่เปลี่ยนนามเสนาบดีว่า “กรรมการราษฎร” ดังปรากฏความตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นดังต่อไปนี้ มาตรา 31, มาตรา 32 และมาตรา 33
  • ประเด็นที่ 2 ในบันทึกพระยาทรงสุรเดชระบุว่า “เป็นอันว่าการยึดอำนาจปกครองโดยคณะปฏิวัติได้สำเร็จโดยราบรื่นภายในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน นั้นเอง ต่อไปนี้ก็รอคำตอบของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้ามิทรงตอบรับก็จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน แต่ก็เป็นโชคดี เมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งพระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะกราบทูลทางด้วยดี ยินยอมประนีประนอมมิได้ปฏิเสธ นับว่าได้รับรัฐธรรมนูญโดยราบรื่นในวันที่ 27 มิถุนายน” โดยไม่พบข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ ซักซ้อมเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ
  • ประเด็นที่ 3 นายปรีดี โต้แย้งว่ามีหลักฐานอีกหลายประการพิสูจน์ได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ได้รู้เห็นด้วยในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้แทนคณะราษฎร ได้ทูลเกล้าถวายเพื่อขอพระราชทานนั้น

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์

 

ข้อ 7.
พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าติดตามทดสอบกับหลวงประดิษฐ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในประโยค 2 แห่งวรรค 5 ของสรุปการปฏิวัติว่า

  • ไม่ได้รู้เห็นในเรื่องการขนานนามเสนาบดีผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎรแบบประเทศโซเวียตรัสเซีย

ครั้นแล้วในวรรคที่ 6 พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า

  • อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจำต้องสารภาพความผิดที่ไม่ได้ติดตามทดลองกับหลวงประดิษฐ์ฯ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวที่ พล.อ.พระยาทรงสุรเดชได้ซักซ้อมไว้แล้วว่าให้ยกร่างตามแบบประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเฉพาะอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้ว

ข้อสังเกต

ข้อความที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “ไม่ได้รู้เห็นในเรื่องในการขนานนามเสนาบดีผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎรตามแบบโซเวียตรัสเซีย” นั้นสมานกับการแต่งเรื่องของพล.ท.ประยูรฯ ในหนังสือ หน้า 173-176 ภายใต้หัวเรื่อง “การนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” และสมานกับการปฏิเสธหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ฯลฯ ซึ่งข้าพเจ้า(ปรีดี) จะเสนอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาเพิ่มเติมไว้ในข้อ 8, ข้อ 9, ข้อ 10, และข้ออื่น ๆ ต่อไป

โดยเฉพาะในข้อ 7 นี้ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมพิจารณาประเด็น 3 ประการ คือ

ประเด็น 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานนั้นยังคงมี “เสนาบดี” หรือไม่?

ประเด็น 2 พระยาทรงสุรเดชได้กำชับปรีดีให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษหรือไม่

ประเด็น 3 พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วยในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นฟังว่าเอาเป็นจริงได้หรือไม่

7.1

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อขอพระราชทานนั้นยังคงมีเสนาบดีหรือไม่?

นักศึกษาหลายคนที่เดิมยังคงหลงเชื่อหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ ว่าเป็นสารคดีนั้น แต่ต่อมาได้อ่านเอกสารหลักฐานจึงพบความจริงดังต่อไปนี้

(1) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรากฏชัดแจ้งแล้วว่า “เสนาบดี” ยังคงมีอยู่ มิใช่เปลี่ยนนามเสนาบดีว่า “กรรมการราษฎร” ดังปรากฏความตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นดังต่อไปนี้

มาตรา 31 ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบการ คณะกรรมการราษฎรหรือกระทำไปโดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 32 คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 15 นายรวมเป็น 16 นาย

มาตรา 33 การตั้งการถอดตำแหน่งเสนาบดีย่อมเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจนี้จะทรงใช้แต่โดยคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร

(2) นักศึกษาหลายคนเห็น-หลักฐานของทางราชการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ซึ่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมายได้นำไปเผยแพร่นั้นแล้ว ปรากฏความจริงดังต่อไปนี้

(ก)

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ตามธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 นั้น ครับ สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งพระมโนปกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และแต่งตั้งกรรมการราษฎรอีก 14 คนคือ

  1. พล.ร.ต. พระยาปรีชาชลยุทธ 
  2. มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีวิสารวาจา
  3. พระยาพหลพลพยุหเสนา                 
  4. พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
  5. พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์          
  6. อำมาตย์เอกพระยาประมวลวิชาพูล
  7. พ.ท. พระยาประศาสน์พิทยยุทธ 
  8. พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม
  9. น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย      
  10. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
  11. หลวงเดชสหกรณ์                 
  12. รองอำมาตย์เอกตั้ว ลพานุกรม
  13. รองอำมาตย์เอกประยูร ภมรมนตรี
  14. นายแนบ พหลโยธิน

(ข)

ในวันที่ 29 มิถุนายน 2475 คณะกรรมการราษฎรได้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งเสนาบดีตามธรรมนูญมาตรา 35 คือ

  1. พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  2. พระยาจ่าแสนยบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
  3. เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ
  4. พระยาเทพวิทุร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
  5. พระยาศรีวิสารวาจา เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
  6. พระยาประเสริฐสงคราม ปลัดทูลฉลองรักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
  7. พระยาประมวญวิชาพูล ปลัดทูลฉลองรักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ต่อมาได้ทรงพระกรุณาแต่งตั้ง พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

(3) นักศึกษาได้อ่านหนังสือสัมภาษณ์พระยาฤทธิ์ฯ เล่มที่อ้างแล้วนั้นพบว่าพระยาฤทธิ์ฯ ได้อธิบายหน้าที่ของคณะกรรมการราษฎรกับเสนาบดีไว้ดังต่อไปนี้

ดูเหมือนคณะกรรมการราษฎรนี้จะมิได้บริหารราชการโดยตรง นอกจากคอยควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาเท่านั้น เพราะมีเสนาบดีว่าการกระทรวงประจำอยู่แล้ว และในการนี้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง เสนาบดีจะทำการสิ่งใด ฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบของคณะกรรมการราษฎรไม่ได้ ถือว่าเป็นโมฆะ

(4) นักศึกษาเห็นว่าหลายท่านที่เป็นกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ และผู้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ เล่มนั้น ก็เป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหลายท่านดังกล่าวจึงทราบอยู่แล้วว่าจากรูปภาพเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งประดิษฐานอยู่ที่กระทรวงนั้นว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงการครั้งแรกสมบูรณาฯ และครั้งที่ 2 ตามระบบที่สถาปนาขึ้นโดยธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับ 27 มิถุนายน 2475

7.2

พระยาทรงสุรเดชได้กำชับปรีดีให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษหรือมิใช่?

(1) นักศึกษาได้อ่านหนังสือบันทึกพระยาทรงฯ เล่มที่อ้างถึงแล้ว เพื่อทดสอบข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ที่ว่า “แนวทางที่ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชได้ซักซ้อมไว้แล้วว่าให้ยกร่างตามแบบประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ซึ่งเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้ว” นั้นว่าคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริงหรือไม่

นักศึกษาพบว่าพระยาทรงฯ ได้บันทึกไว้ที่โรงพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างถึงแล้วหน้า 61-62 มีความดังต่อไปนี้

เป็นอันว่าการยึดอำนาจปกครองโดยคณะปฏิวัติได้สำเร็จโดยราบรื่นภายในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน นั้นเอง ต่อไปนี้ก็รอคำตอบของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้ามิทรงตอบรับก็จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน แต่ก็เป็นโชคดี เมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายทหารได้สั่งพระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะกราบทูลทางด้วยดี ยินยอมประนีประนอมมิได้ปฏิเสธ นับว่าได้รับรัฐธรรมนูญโดยราบรื่นในวันที่ 27 มิถุนายน

นักศึกษาไม่พบข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ ซักซ้อมเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษซึ่งรัฐสภาประกอบด้วยสภาเจ้าศักดินา (House of Lords) และสภาสามัญ (House of Common) นักศึกษาเพียงว่าบันทึกของพระยาทรงฯ นั้น แสดงว่าท่านพอใจร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้แทนคณะราษฎรทูลเกล้าถวายฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน

(2) นักศึกษาเห็นว่าพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ส่วนพระยาทรงฯเป็นเพียงหัวหน้ารองจากพระยาพหลฯ อนึ่ง ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็เป็นคณะประกอบด้วยพระยาพหลฯ, พระยาทรง, พระยาฤทธิ์ฯ, ฉนั้นพระยาทรงฯ คนเดียวไม่มีอำนาจเป็น “ผู้กำชับ” ปรีดีการที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งตั้งให้พระยาทรงฯเป็นผู้กำชับปรีดีนั้นจึงเท่ากับ พล.ท.ประยูรเจาะจงให้ปรีดีเป็นข้ารับใช้พระยาทรงฯ จึงไม่สมเหตุสมผลในสารคดี      

อนึ่ง ตามบันทึกของพระยาทรงฯ ที่อ้างแล้วใน (1) นั้นแสดงว่าพระยาทรงฯ ได้พอใจธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งผู้แทนคณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานนั้น

หมายเหตุ

ข้าพเจ้า(ปรีดี) จะพิสูจน์ไว้ในข้อ 8, ข้อ 9, ข้อ 10, ข้อ 11, ว่ารัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษที่มีสภาเจ้าศักดินา(Lords) นั้นเป็นความคิดเห็นของพล.ท.ประยูรฯ เองที่มีขึ้นภายหลัง พ.ศ. 2475

7.3

พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วยในการร่างธรรมนูญนั้น จะฟังเอาเป็นจริงได้หรือไม่?

(1) นักศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ว่า ตามธรรมดาของคนที่จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหรือขอพระราชทานธรรมนูญนั้นก็จะต้องได้อ่านรัฐธรรมนูญนั้นมาก่อนเข้าเฝ้า ฉนั้นการที่ ร.อ.อ.ประยูรฯ ได้ร่วมกับคณะฯ ไปเข้าเฝ้าขอพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน เพราะร.อ.อ.ประยูรฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง(ตามข้อเขียนของพล.ท. ประยูรดังกล่าวในข้อสรุปการปฏิวัติของท่าน)

(2) หลักฐานอีกหลายประการพิสูจน์ได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ได้รู้เห็นด้วยในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้แทนคณะราษฎร ได้ทูลเกล้าถวายเพื่อขอพระราชทานนั้น ซึ่งข้าพเจ้า(ปรีดี)จะได้กล่าวไว้ในข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามหลักฐานชั้นต้น

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :