Focus
- บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 12) ของนายปรีดี พนมยงค์ เสนอการวิเคราะห์เรื่องหลักการเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 3 ประการ และหลักการยึดอํานาจฯ 3 ประการ โดยนายปรีดีได้อธิบายข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และบันทึกสำคัญ อาทิ บันทึกของพระยาทรงสุรเดช นอกจากนี้ยังมีข้อแย้งหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ จากการค้นคว้าของนักศึกษาในยุคหลัง 14 ตุลา ประกอบคำประท้วงฯ ครั้งนี้ไว้ด้วย
11.4.
หลักการประการที่ 1 ของ พล.ท.ประยูร
หลักการประการแรกของ พล.ท.ประยูรฯ มีว่า “ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรากฐานประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยงดเว้นการมีสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด”
ข้าพเจ้าขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมวิเคราะห์วิจารณ์ ดังต่อไปนี้
(1)
หลักการประการแรกที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้นั้นเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบแห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญ) ซึ่งคณะราษฎรได้ตกลงกันแล้วในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เป็นประชาธิปไตย
จึงเป็นคนละเรื่องกับ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ซึ่งเป็นหลักค้ำจุนปวงชนชาวสยามซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามระบบประชาธิปไตย ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในข้อ 11.1.
(2)
ที่ประชุมคณะราษฎร ณ กรุงปารีสก็ดี และผู้ก่อการฯ ที่ร่วมงานต่อมาก็ดีนั้นมิได้กําหนดเอารูปแบบเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญอังกฤษ หากตกลงพิจารณาให้เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด
(3)
พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ใน “หลักการประการที่ 3” ของท่านนั้นเองมีความดังต่อไปนี้
- คณะผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้มีหลักการพิจารณาเรื่องลัทธิการเมืองประการใด
- มีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทางนั้นแสดงว่าคณะฯ มิได้กําหนดให้มีรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษที่มีสภาเจ้าศักดินา (House of Lords) หรือสภาขุนนาง
(4)
ข้าพเจ้าได้แสดงหลักฐานไว้ในข้อ 7.2 แล้วว่าการที่พล.ท.ประยูรฯ สักว่าพระยาทรงฯ กําชับให้ข้าพเจ้าร่างรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษนั้นเป็นการที่ พล.ท.ประยูร เขียนฝ่าฝืนความจริงเพราะตามหนังสือบันทึกพระยาทรงฯ ที่ข้าพเจ้าอ้างถึงแล้วนั้นหน้า 61-62 มีความดังต่อไปนี้
เป็นอันว่าการยึดอํานาจปกครองโดยคณะปฏิวัติได้สําเร็จโดยราบรื่นภายในเช้าวันที่ 24 มิถุนายนนั้นเอง ต่อไปนี้ก็รอคำตอบของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถ้ามิทรงตอบรับก็จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน แต่ก็เป็นโชคดีเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ผู้อํานวยการฝ่ายทหารได้สั่งพระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะกราบทูลทางด้วยดี ยินยอมประนีประนอมมิได้ปฏิเสธ นับว่าได้รับรัฐธรรมนูญโดยราบรื่นในวันที่ 27 มิถุนายน
นักศึกษาฯ ไม่พบข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาทรงฯ ก็พร้อมเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ ซึ่งรัฐสภาประกอบสภาศักดินา (House of lords) และสภาสามัญ (House of Common) นักศึกษาฯ เห็นว่าบันทึกของพระยาทรงฯ นั้นแสดงว่าท่านพอใจรัฐธรรมนูญที่ผู้แทนคณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานนั้น
(5)
ในข้อ 9.3. ข้าพเจ้าได้แสดงหลักฐาน คือ
คําแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ฉบับ 10 ธันวาคม 2475) ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2475 มีความตอนหนึ่ง ดังต่อไปนี้
อนึ่งข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่าในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทําติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมกันทําข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความกราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมากบัดนี้ข้าพเจ้าขอถือโอกาสกล่าวถึงข้อความในรัฐธรรมนูญนี้บ้างเพียงเป็นข้อความนําความคิดของท่านทั้งหลายที่จะไปพิจารณาและจะได้มาโต้เถียงกันในวันหน้า
ความเบื้องต้นอนุกรรมการได้ตรึกตรองอยู่หนักหนาคือรัฐธรรมนูญของเรานี้ควรจะบัญญัติให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาล่างกับสภาบนอีกสภาหนึ่ง หรือควรจะมีสภาเดียว เมื่อได้ตรึกตรองโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า เราจะตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ไม่มีประเพณีที่จะบังคับเรา การมีสภาเดียวนั้นกิจการดําเนินได้รวดเร็ว การมีสองสภานั้นอาจต่างกันชักช้าโตงเตง และกล่าวว่าที่ข้าพเจ้าได้สังเกตและได้พบได้ยินมาบางประเทศที่มี 2 สภา กิจการเดินช้านัก แต่ว่ามีบางประเทศที่ต้องมี 2 สภาเพราะเป็นประเพณีบังคับแต่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นสมัยเร็ว ๆ นี้มักจะมีแค่สภาเดียว
เมื่อตกลงใจดั่งนี้จึงได้ดําเนิรการในทางให้มีสภาเดียว อันเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว
ทั้งนี้แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้ทรงปรารถนารัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษที่รัฐสภาประกอบด้วยสภาเจ้าศักดินาและสภาสามัญ
แต่พล.ท.ประยูรขณะนั้นมียศเป็นรองอํามาตย์เอก มีตําแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการราษฎรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยนั้น ก็มิได้คัดค้านพระยามโนปกรณ์ฯ ในที่ประชุมรัฐบาล หรือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าคำแถลงของพระยามโนฯ นั้นขัดกับ “หลักการประการแรก” ของ ร.อ.อ.ประยูรฯ ที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษ หากความปรากฏว่า ร.อ.อ. ประยูรฯ ยกมือลงคะแนนเสียงให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับนั้น พร้อมด้วยความโสมนัส ยินดียิ่งกับแต่งตัวเครื่องเต็มยศไปในงานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
(6)
ฉะนั้น “หลักการประการแรก” หรือประการที่ 1 ของ พล.ท.ประยูรฯ นั้นจึงเป็นเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ เกิดความคิดขึ้นเมื่อภายหลัง อันเป็นความเห็นของพล.ท.ประยูรฯ ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอย่างอังกฤษนั้น สอดคล้องกับความดําริของจอมพลพิบูลฯ เมื่อพ.ศ. 2484 ซึ่งท่านผู้นี้ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทย โดยแต่งตั้งฐานันดรศักดินาขึ้นมาใหม่เป็น สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, ท่านพญา, ฯลฯ เทียบอย่างดยุค, มาควิส, เอิร์ล, ไวซ์เคาน์ต, บารอนนั้น แต่รัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกของคณะราษฎรส่วนข้างมากได้คัดค้านอย่างรุนแรง แผนการของจอมพลพิบูลฯ จึงตกไป พล.ท.ประยูรฯ ไม่ควรเอาความเห็นของท่านในตอนรัฐบาลจอมพลพิบูลฯ นั้นมา อันเป็นข้อตกลงของผู้ตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส
11.5.
หลักการประการที่สองของพล.ท.ประยูร
หลักการประการที่ 2 ของพล.ท.ประยูรฯ มีความว่า
ประการที่ 2 การยึดอํานาจรัฐด้วยการปฏิวัติ Coup d'Etat มิใช้การจลาจล งดเว้นการนองเลือด การทําทารุณกรรมใดและไม่ประหัตประหารกันเองอย่างกบฏในประเทศฝรั่งเศส ท่านผู้ที่ใจเป็นกรรมย่อมวินิจฉัยได้ว่าหลักประการที่สองของพล.ท. ประยูรฯ ดังกล่าวนั้นเป็น “วิธีการ” แห่งการยึดอำนาจรัฐ
11.6.
หลักการประการที่สามของพล.ท.ประยูรฯ
หลักการประการที่ 3 ของพล.ท.ประยูร มีความว่า ร่วมมือกันทําการปกครองบริหารประเทศชาติด้วยความสุจริตใจ งดเว้นการแสวงหา และการสร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นประโยชน์ส่วนตัว อนึ่งในการประชุมกันในครั้งนี้ คณะผู้ริเริ่มเปลี่ยนการปกครอง ไม่ได้มีหลักพิจารณากําหนดเรื่องลัทธิการเมืองประการใด มีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทาง ท่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมวินิจฉัยได้ว่า
(ก) ความตอนต้นแห่งหลักการประการที่ 3 นั้นเป็นเรื่องวินัยและธรรมจริยาของสมาชิกคณะราษฎร
(ข) ความตอนท้ายที่ว่า “มีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทาง” นั้น แสดงว่าคณะราษฎรมิได้กําหนดให้มีรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษที่สถาปนาสภาเจ้าศักดินาหรือสภาขุนนาง
11.7.
หลักการเพื่อดําเนินการยึดอํานาจประการที่ 1 ของพล.ท. ประยูรฯ
การหาความรู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศต่าง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ เพื่อความมุ่งหมาย แผนการดําเนินงาน ความสำเร็จ และเหตุการณ์แห่งความล้มเหลวและเหตุผล ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาในการดําเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป
ท่านที่มีใจเป็นธรรมก็วินิจฉัยได้ว่าที่พล.ท.ประยูรฯ เรียกว่าหลักการข้างบนนั้นเป็นเรื่องการแสวงหาความรู้ของสมาชิกคณะราษฎรที่จะเป็นแนวทางประกอบการสถาปนาระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด และเพื่อเป็นหลักนําภายหลังการสถาปนาระบบใหม่ขึ้นแล้ว “ในการดําเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป”
11.8.
หลักการเพื่อดําเนินการยึดอํานาจประการที่ 2 ของพล.ท.ประยูรฯ
หลักการเพื่อดําเนินการฝึกอํานาจประการที่ 2 ของพล.ท.ประยูรฯ มีว่า
กําหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาร่วมคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะต้องมีความรู้และวุฒิกว้างขวางมีรากฐานการศึกษาเพียงพอ
ท่านที่มีใจเป็นธรรมก็วินิจฉัยได้ว่าที่พล.ท.ประยูรฯ เรียกว่า “หลักการ” ข้างบนนั้นเป็นเรื่อง “คุณสมบัติ” ของสมาชิก
อนึ่ง ความจริงคณะผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสมิได้ตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติไว้เช่นนั้น เพราะถ้าตั้งเงื่อนไขเช่นนั้นแล้วผู้ก่อตั้งคณะราษฎรส่วนหนึ่งที่เพิ่งไปถึงฝรั่งเศสเพียง 2 ปีก่อนวันตั้งคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2469 นั้นก็เพียงเรียนภาษาฝรั่งเศสเบื้องต้นและเรียนวิชาเฉพาะปีต้น ๆ เท่านั้นจึงยังไม่มีวุฒิกว้างขวางเพียงพอ คณะผู้ก่อตั้งคณะราษฎรจึงตกลงกันพิจารณาถึงอุปนิสัยของบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกของคณะว่ามีความประพฤติที่จะเชื่อได้ว่าเป็นผู้พร้อมที่จะเสียสละชีวิตเพื่อชาติและมีความซื่อสัตย์สุจริตถ้าท่านผู้ปรารถนาสัจจะพิจารณาจากรายชื่อของสมาชิกคณะราษฎร ซึ่งเก็บไว้ที่สํานักงานเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภาได้รวบรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)” แล้วก็จะเห็นได้ว่าสมาชิกคณะราษฎรจํานวนมากมิได้มีการศึกษาถึงขนาดที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนเป็นเงื่อนไขไว้ แต่สมาชิกคณะราษฎรเหล่านั้นเป็นผู้พร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติและมีความซื่อสัตย์สุจริต
11.9.
หลักการยึดอํานาจประการที่ 3 ของพล.ท.ประยูรฯ
หลักการยึดอํานาจประการที่ 3 ของพล.ท.ประยูร มีว่า
จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติและสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวเป็นหลักฐานที่พึงไว้วางใจได้
ท่านที่มีใจเป็นธรรมก็วินิจฉัยได้ว่าที่ พล.ท.ประยูรฯ เรียกว่า “หลักการ” ข้างบนนั้นเป็นเรื่องธรรมจริยาและความประพฤติของสมาชิกในคณะ
อนึ่ง ความจริงคณะผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสมิได้กําหนดเงื่อนไขหลักฐานทางครอบครัวของบุคคลที่เป็นสมาชิก เพราะถ้ากําหนดเงื่อนไขเช่นนั้นแล้วก็จะต้องสํารวจว่าผู้ก่อตั้งคณะราษฎรทุกคนมีหนี้สินหรือไม่ คณะผู้ก่อตั้งฯ ถือว่ากรรมกรและชาวนาที่เป็นคนยากจนก็พร้อมที่จะเสียสละชีวิตเพื่อชาติ และมีความซื่อสัตย์สุจริตได้ไม่น้อยกว่า บุคคลร่ำรวย หรือดีกว่าบุคคลที่แสดงภายนอกว่าครอบครัวมีหลักฐานแต่ภายในแท้จริงก็มีหนี้สินรุงรัง
ถ้าท่านผู้ปรารถนาสัจจะพิจารณารายชื่อสมาชิกคณะราษฎรจากหนังสือที่อ้างถึงแล้วก็จะเห็นได้ว่าผู้ก่อการฯ จํานวนมากมาจากครอบครัวชาวนา, กรรมกร, ผู้มีทุนน้อย, ผู้การฯ เหล่านั้นเป็นผู้พร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติและมีความซื่อสัตย์สุจริต
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
- ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ภาคผนวก
คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี
บรรณานุกรม
หลักฐานชั้นต้น :
- ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 1)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 2)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 3)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 4)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 5)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 6)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 7)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 8)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 9)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 10)
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 11)