ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม กับการทำสัญญะของระบอบการปกครองใหม่

26
มิถุนายน
2567

Focus

  • การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการอภิวัฒน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นหลัก หากการอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรก็มีความสำคัญและผสานหรือควบคู่กันไปกับด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะการสร้างชุดความคิดอุดมการณ์เรื่องรัฐธรรมนูญผ่านสัญญะและภาษาการเมือง การสร้างสถาปัตยกรรม-ศิลปะ และการสร้างวันสำคัญและงานรื่นเริง อาทิ วันชาติ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ
  • บทความนี้มีหัวข้อหลักที่สะท้อนการอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรม 3 ประการ ได้แก่ วันธรรมดาในชีวิตประจำวันของราษฎรในระบอบใหม่, วันชาติ-รัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ และราษฎร ตัวตนใหม่ภายใต้ระบบการปกครองแบบไม่สูงต่ำ โดยสัญญะทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นหลังระบอบใหม่มีพื้นฐานที่สร้างขึ้นมาจากการให้ความสำคัญแก่ ‘สามัญชน’

 

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เคยเป็นวันสำคัญอย่างเป็นทางการของประเทศไทย โดยเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ผลของการอภิวัฒน์ดังกล่าวไม่ได้มีเพียงความมุ่งหมายในการอภิวัฒน์การเมืองเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เกิดการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการพยายามวางเค้าโครงการเศรษฐกิจ และการอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรม

ดังจะเห็นได้จากภายหลังการอภิวัฒน์สยามเกิดขึ้น แม้ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านจะมีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้น อาทิ การเกิดขึ้นของกบฏบวรเดชและการปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หรือการปฏิเสธเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อการอภิวัฒน์ในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี มิติหนึ่งที่คณะราษฎรทำได้สำเร็จและเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงก็คือ มิติทางวัฒนธรรม ซึ่งดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งล่วงเข้ามาในช่วงหลังปี พ.ศ. 2490 และเสื่อมพลังมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองไทยภายใต้การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ความสำคัญของการอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมก็คือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในสังคม โดยทั่วไปเราอาจเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คนในสังคมประพฤติปฏิบัติกันโดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือสมควรจะกระทำ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมเป็นภาพสะท้อนและเครื่องมือทางสังคม เหมือนเวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมไทย อาจจะนึกถึงการไหว้หรือความอ่อนช้อยสวยงาม (แบบไทย?)

ทว่า บทบาทของวัฒนธรรมนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่คนในสังคมประพฤติปฏิบัติกันเท่านั้น แต่วัฒนธรรมยังมีส่วนสำคัญในฐานะโครงสร้างส่วนบน  (superstructure) ของสังคมที่บรรจุไปด้วยระบบโลกทัศน์ อุดมการณ์ อุดมคติ หลักปรัชญาของสังคม โครงสร้างทางการเมือง และกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดและการกระทำของสังคม[1] ซึ่งโครงสร้างส่วนบนนี้มีส่วนสำคัญต่อการผลิตซ้ำความคิดและความเชื่อ รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคม

ไม่เพียงเท่านั้นวัฒนธรรมยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะหล่อหลอมสังคมให้ดำรงอยู่ได้ภายใต้ระบอบการเมืองหนึ่งๆ และระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ และทำให้ระบอบการเมืองและระบบเศรษฐกิจสามารถดำรงต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่ปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายไว้ว่า ทรรศนะทางสังคมเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ ซึ่งทรรศนะทางสังคมนั้นอาจจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ แต่หากปราศจากทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็คงไม่เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์[2]

ด้วยเหตุนี้ในความใส่ใจของคณะราษฎรจึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาในสังคม โดยแนวคิดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคณะราษฎรคือ การลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ตามขนบแบบเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิที่เชื่อในเรื่องความสูงต่ำที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมบุญบารมีข้ามภพชาติ ซึ่งสะท้อนอยู่ในสถาปัตยกรรม พิธีกรรม และแบบแผนการดำรงชีวิตในสังคม

ปรีดี หงษ์สต้น[3]ได้อธิบายถึงขบวนการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของคณะราษฎรคือ การจัดวัตรปฏิบัติประจำวันของชีวิตมนุษย์ (routinization of life) หรือความเป็นสาธารณ์ (profane) ให้กลายเป็นสิ่งสำคัญเทียบเท่าความศักดิ์สิทธิ์โดยทำให้เรื่องในชีวิตประจำวันกลายมาเป็นพลังทางการเมืองใหม่ และทำให้เกิดความเป็นสาธารณะ (publicness) ขึ้นในสังคมไทย การสร้างภาพของวัฒนธรรมใหม่นี้จึงไปปรากฏในสถาปัตยกรรม พิธีกรรม และแบบแผนการดำรงชีวิตของราษฎรในชีวิตประจำวันโดยเป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางของความหมายจากความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นความธรรมดาที่มีราษฎรเป็นส่วนสำคัญ

 

วันธรรมดาในชีวิตประจำวันของราษฎรในระบอบใหม่

ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประการแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของราษฎรคือ งานด้านสถาปัตยกรรม เช่น อาคาร สถานที่ และตลอดจนถึงการตกแต่งภายในของอาคารต่างๆ เป็นต้น

งานสถาปัตยกรรมที่เราเห็นและใช้ประโยชน์นั้นไม่ได้มีการออกแบบเพียงเพื่อความสวยงาม ทว่า อาคาร สถานที่ และตลอดจนถึงการตกแต่งดังกล่าวนั้นเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเพื่อผลิตซ้ำความหมายต่างๆ ภายใต้อุดมการณ์และแนวคิดทางสังคม

ภายหลังการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการดำรงตำแหน่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นจะเห็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกที่เรียบเกลี้ยงเป็นเส้นตรงไปตรงมาแบบกล่องสี่เหลี่ยม ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ค่อยมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายใดๆ โดยเฉพาะการใช้ลวดลายไทย (อาคารสำคัญอาจจะมีการตกแต่งด้วยศิลปะแบบสัจนิยมแนวสังคม (social realism) ที่เน้นความสมจริงและสะท้อนความจริงในสังคม) และมีหลังคาเป็นทรงตัดหรือมีการก่อผนังขึ้นมาเป็นแผงคอนกรีตบังส่วนหลังคาเพื่อหลอกสายตาให้ดูเป็นหลังคาทรงตัด[4] งานสถาปัตยกรรมในลักษณะดังกล่าวถูกเรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย

สถาปัตยกรรมแบบทันสมัยนี้ไม่ได้เพิ่งได้รับความนิยมในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เริ่มถูกนำมาใช้ในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไรก็ดี ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ให้ความเห็นว่า สถาปัตยกรรมแบบทันสมัยในความหมายช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีลักษณะเป็นเพียงการทำตามสมัยนิยม (ตามแบบอย่างตะวันตก) ลักษณะของการสร้างสถาปัตยกรรมดังกล่าวจึงเป็นเพียงการนำรูปแบบของสถาปัตยกรรมมาใช้ แต่ไม่ได้เป็นการนำคุณค่าของสถาปัตยกรรมดังกล่าวมาใช้[5]

อย่างไรก็ดี ภายหลังการอภิวัฒน์สยามคณะราษฎรได้พยายามสร้างความหมายใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป้าหมายของสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้คือ การแสดงภาพตรงกันข้ามกับศิลปะตามจารีตหรือพระราชนิยมในอดีตที่มีการประดับตกแต่งโดยเน้นลักษณะสูงต่ำตามแนวคิดแบบจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ โดยลดทอนลักษณะฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมลง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมมีความสลับซับซ้อนมากเท่าใดก็ยิ่งกลายเป็นการแบ่งชนชั้นทางสังคมมากเท่านั้น[6]  กล่าวคือ ลักษณะของงานสถาปัตยกรรมบางอย่างถูกสงวนเอาไว้เฉพาะกับคนบางกลุ่ม แม้จะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ทางสังคมกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่ในทางวัฒนธรรมเป็นที่รับรู้กันว่า หากทำเช่นนี้จะทำตัวเทียมเจ้าเทียมนาย

สมมติฐานของ ชาตรี ประกิตนนทการ มีหลักฐานสนับสนุนคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับอาคารที่ออกมาในเวลานั้น มีการกำหนดรูปแบบลักษณะอาคารโดยอิงอยู๋กับแบบแผนของงานสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่

ความทันสมัยในนัยใหม่ของสถาปัตยกรรมที่คณะราษฎรมุ่งเน้นจึงเป็นการนำเสนอสัญลักษณ์ของ “ความเสมอภาค” และการให้ความสำคัญต่อ “สามัญชน” ในระบอบประชาธิปไตยผ่านการออกแบบศิลปะและสถาปัตยกรรม[7] ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้ เช่น สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย (พ.ศ. 2481) กลุ่มอาคารรอบถนนราชดำเนินกลาง 10 หลัง (พ.ศ. 2484) ที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข บางรัก (ไปรษณีย์กลางบางรัก) (พ.ศ. 2483) และโรงแรมรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2486) เป็นต้น

 


ภาพอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง
ที่มา: Google maps, street view (2567)

 


ภาพอาคารนิทรรศรัตนโกสินทร์ หนึ่งในอดีตกลุ่มอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง
ที่ได้รับการตกแต่งใหม่
ที่มา: Google maps, street view (2567)

 


ภาพอาคารไปรษณีย์กลาง
ที่มา: Supanut Arunoprayote (2566) บน Wikipedia

 


ภาพสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย
ที่มา: Supanut Arunoprayote (2566) บน Wikipedia

 

ไม่เพียงแต่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เน้นเรื่องความเสมอภาคหรือความสามัญชนเท่าที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ของคณะราษฎรยังไปปรากฏอยู่ในงานสถาปัตยกรรมเดิม ผ่านการประยุกต์และสร้างความหมายใหม่ให้ยึดโยงกับระบอบการปกครองใหม่ โดยพยายามลดทอนรายละเอียดตามจารีตแบบเดิมให้สอดประสานกับแนวคิดเรื่องความเสมอภาค ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้คือ เจดีย์ศรีมหาธาตุ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่ภายนอกมีรูปแบบการตกแต่งที่เรียบง่าย และมีลักษณะเป็นสามัญชนมากขึ้น

 


ภาพหน้าบันเจดีย์ศรีมหาธาตุ
ที่มา: Google maps, street view (2567)

 

ไม่เพียงแต่การลดทอนรายละเอียดตามจารีตเดิมลงแล้ว อีกสิ่งที่จะพบในงานสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้คือ การใส่สัญลักษณ์ “ลายอรุณเทพบุตร” เข้าไปในงานประติมากรรมต่างๆ ซึ่งในอดีตลายอรุณเทพบุตรนั้นไม่ถูกนำมาใช้ในงานเป็นประติมากรรมตกแต่งอาคารหรือสถานที่มาก่อน โดยเฉพาะสถานที่ราชการที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์หรือตราประจำพระองค์ต่างๆ หรือตราครุฑ แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลายอรุณเทพบุตรถูกนำมาใช้ประดับประดางานสถาปัตยกรรมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง อาทิ ภาพหน้าบันพระพระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งเป็นลายประดับเหนือบานประตูของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นัยสำคัญของการใช้ลายอรุณเทพบุตรมาตกแต่งอาคารและสถานที่นั้นมีนัยทางการเมืองที่สื่อถึง อรุณเทพบุตรที่เป็นสารถีประจำรถของพระสูรยะ การนำสัญลักษณ์ของอรุณเทพบุตรมาใช้ในที่นี้จึงเปรียบเสมือนกับการปรากฏตัวของแสงสว่างแรกที่ส่องสว่างก่อนเข้าสู่ยุคการเมืองใหม่ รวมถึงยังมีนัยสื่อถึงเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ประชาธิปไตยได้ถูกประดิษฐานไว้แล้ว[8]

 


ภาพหน้าบันพระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
ที่มา: Google maps, street view (2567)

 


ภาพหน้าบันพระพระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
ซึ่งเป็นลายประดับเหนือบานประตูของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่มา: คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (มปป.)

 

นอกจากนี้ สัญญะอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏเข้าไปในฐานะภาพสะท้อนของคติการปกครองใหม่ ในงานสถาปัตยกรรมแบบเดิม เช่น การใส่สัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญเข้าไปบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แบบหน้าบัน เพดาน ธรรมาสน์ และงานประดับตกแต่งอื่นๆ ในสถานที่สำคัญทางศาสนา[9] การนำสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญมาประดับไว้ในสถานที่สำคัญทางศาสนานี้ เจตนารมณ์ประการหนึ่งคือ ต้องการเสริมสร้างภาพของรัฐธรรมนูญในฐานะสัญลักษณ์ของการปกครองใหม่ให้มีความสำคัญและเสมือนเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

 


ภาพหน้าบันวัดตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ที่มา: ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล (2563)

 

ไม่เพียงแค่ศาสนสถานแบบวัดพุทธเท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลในลักษณะดังกล่าว แต่การนำรูปพานรัฐธรรมนูญไปใช้ในการตกแต่งประดับประดาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองใหม่ยังปรากฏในศาสนสถานหลายๆ รูปแบบ อาทิ อาคารโรงเจหลวงพ่อโสธร (กุศลสถานศาลเจ้า) (พ.ศ. 2519) ที่จะมีการตกแต่งกระเบื้องโมเสกเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยู่บริเวณจุดไหว้ที่ 7 และ 8

 


ภาพโมเสกประดับในอาคารโรงเจหลวงพ่อโสธร
ที่มา: เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (2562)

 

วันชาติ-รัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ

นอกจากงานสถาปัตยกรรมแล้ว การสร้างวัฒนธรรมใหม่อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญคือ การเปลี่ยนพื้นที่ของวันสำคัญและงานเฉลิมฉลอง

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 งานเฉลิมฉลองต่างๆ รวมถึงพระราชพิธีนั้นเป็นพื้นที่สงวนเอาไว้สำหรับชนชั้นนำ แม้ว่าจะมีความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของพระราชพิธีหรือพิธีกรรมต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ แต่นัยสำคัญของพิธีกรรมยังคงให้จุดเน้นย้ำอยู่กับองค์ประธานของพิธีกรรมคือ พระมหากษัตริย์ ดังเช่นในพระราชพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ แม้จะมีการเปิดให้ราษฎรเข้ามาร่วมพิธีกรรม โดยรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ใช้พื้นที่ของพระราชพิธีเพื่อสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี[10] แต่สาระสำคัญของพระราชพิธียังคงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่สาระสำคัญของการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของวันสำคัญและงานเฉลิมฉลอง

หนึ่งในงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ งานฉลองพระนครมีอายุครบรอบ 150 ปี ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ นัยของงานฉลองดังกล่าวมี 2 นัย โดยนัยแรกคือ การเฉลิมฉลองที่กรุงรัตนโกสินทร์ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน 150 ปี ซึ่งปรากฏตามพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี และอีกนัยหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ราชวงศ์จักรีปกครองประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง งานฉลองดังกล่าวมีกิจกรรมหลายประการ อาทิ การจัดพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าและการเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ และการเสด็จพระราชดำเนินเรียบพระนครทั้งทางสถลมารคและชลมารค

 


ภาพกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงประทับบนทรงพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง
ที่มา: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2564) บน Wikipedia

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองงานมหกรรมสาธารณะส่วนใหญ่จึงมุ่งตอบสนองต่อภาพของวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของชีวิตมนุษย์ทั่วไป โดยมีรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนี้กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงมีความพยายามเชื่อมโยงระหว่างการปกครองใหม่กับประชาชน ภาพสะท้อนของมหกรรมสาธารณะที่สำคัญนี้มีอย่างน้อย 2 ประการคือ วันชาติ และวันรัฐธรรมนูญ

งานวันชาติครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม 7 ปี โดยเริ่มต้นจัดงานวันชาติในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่ได้มีวันชาติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากชาติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ไม่ใช่ชาติในความหมายที่สัมพันธ์กับเชื้อชาติหรือชาติของสามัญชน[11]  ดังนั้น วันชาติโดยปริยายจึงเป็นวันจักรีหรือวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นวันที่เน้นให้ความสำคัญกับบูรพกษัตริยาธิราช[12]

ก่อนกำเนิดวันชาติในเดือนมิถุนายนนั้นมีวันสำคัญเดิมอยู่ 2 วันคือ วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน และวันรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน ที่คณะราษฎรประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยวันทั้งสองเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามเผยแพร่อุดมการณ์การรัฐธรรมนูญให้แก่พลเมืองเพื่อที่จะสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่สังคมไทย โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง เช่นเดียวกันกับวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร[13]

ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอยกเลิกวันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญและวันรัฐธรรมนูญชั่วคราว และกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติแทน[14]

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ (2567) อธิบายว่างานวันชาติครั้งแรกเริ่มต้นด้วยความคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้าในเวลา 5 นาฬิกา เมื่อมีการจัดงานตลาดนัดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งสะท้อนนัยความสำคัญของสะพานพระพุทธยอดฟ้าที่เคยมีเมื่อครั้งสมโภชน์พระนคร ในฐานะพื้นที่ทางเศรษฐกิจของประชาชนในระบอบใหม่ ตามมาด้วยการก่ออิฐพิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ สี่แยก ถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนดินสอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพิธีสำคัญในวันดังกล่าว[15]

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานฉลองวันชาติจึงเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะของความเป็นสาธารณะ กล่าวคือ แม้จะเป็นรัฐพิธีที่รัฐบาลเป็นผู้จัดพิธีการดังกล่าวก็ตาม แต่นัยพิธีการนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาชนทั่วไป อาทิ การก่ออิฐอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเปิดสภาผู้แทนราษฎร และการเจิมสนธิสัญญา[16]  ยังไม่นับรวมถึงการมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมแบบตลาดนัดที่เชื่อมโยงวิถีทางเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสำคัญจากแบบแผนและพิธีกรรมในอดีต

ส่วนวันรัฐธรรมนูญนั้นมีที่มาที่ยาวนานกว่าวันชาติ 24 มิถุนายนเล็กน้อย โดยวันรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 โดยถือว่าเป็นมหกรรมสาธารณะขนาดใหญ่งานแรกที่เกิดขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์สยาม การเกิดขึ้นของวันรัฐธรรมนูญก็เพื่อรับรองอุดมการณ์รัฐธรรมนูญให้อยู่ในความสำคัญของชีวิตประจำวัน โดยทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันหยุดราชการหรือวันสำคัญของชาติ[17] ซึ่งความพยายามดังกล่าวต้องการทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากับสถาบันการเมืองในระบอบเดิม เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงความคิดในเชิงทฤษฎีที่ไม่สัมพันธ์กับประชาชน[18]

 


ภาพประชาชนเข้าชมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475
ประดิษฐานอยู่ในกระโจมที่สนามหญ้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี

 

ดังนี้ เป้าหมายหลักของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เพื่อประชาชนรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญในฐานะกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ[19]

 

ราษฎร ตัวตนใหม่ภายใต้ระบบการปกครองแบบไม่สูงต่ำ

การเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 คือ การสร้างความหมายของความเป็นราษฎรขึ้นในสังคมไทย คำว่า “ราษฎร” หากพิจารณาตามเว็บไซต์สำนักราชบัณฑิตสภาได้ให้ความหมายของราษฎร หมายถึง ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน มีสิทธิตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน[20]

ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่า ราษฎร เป็นคำที่มีการใช้อย่างทั่วไป โดยอย่างช้าสุดคาดว่าคำดังกล่าวเริ่มต้นใช้มาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏในพระราชกำหนดกฎหมายใหม่ที่ในช่วงราวปี พ.ศ. 2347 ซึ่งแสดงพระราชปณิธานในการปกครองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกความว่า

ทุกวันนี้เอื้อเฟื้อด้วยพัสดุเงินทองไม่ รักพระศาสนอานาประชาราษฎร ยิ่งกว่าพัสดุ เงินทองร้อยเท่าพันทวีอีก ตั้งพระไททำนุกบำรุงวรพุทธศาสนา ไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เยนเปนศุกร...”[21] (คงตัวสะกดตามแบบแผนเดิม)

โดยในช่วงเวลานั้นคำว่า “ราษฎร” มักจะปรากฏอยู่คู่กับคำว่า “ประชา” โดยตามท้ายเป็นคำว่า “ประชาราษฎร” หรือ “ประชาราษฎร์” ซึ่งนัยในลักษณะเดียวกันกับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหรือไพร่บ้านพลเมือง หากพิจารณาทั่วไปแล้วย่อมหมายถึงประชาชนชาวสยามหรือชายไทย[22]

อย่างไรก็ดี ในช่วงปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย คำว่า “ราษฎร” ไม่ได้มีเพียงความหมายธรรมดา ทว่า คำดังกล่าวได้กลายเป็นภาษาทางการเมืองอย่างเข้มข้น โดยสอดแทรกความคิดและจิตสำนึกที่ก้าวหน้าของชาวบ้าน รวมถึงการแบ่งแยกราษฎรเป็นชนชั้นโดยไม่นับรวมกลุ่มเจ้านายเข้าไปด้วย หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นนัยความหมายของราษฎรตามนัยนี้ ปรากฏชัดเจนในคำประกาศของคณะราษฎร[23]

ดังนี้ นัยของคำว่า “ราษฎร” นั้นจึงมีความมุ่งหมายในลักษณะเดียวกันกับคำว่า “Citoyenne” (ซีตัวแยน) โดยในภาษาไทยนิยมแปลว่า “พลเมือง” ซึ่งปรากฏในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 (Déclaration des droits de l’homme et du citoyen) ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส[24] โดยนัยของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองดังกล่าว พยายามนำเสนอภาพของพลเมืองในฐานะผู้ทรงสิทธิทางการเมืองต่างๆ

เช่นเดียวกันกับคำว่า “ราษฎร” ในประกาศคณะราษฎรที่มีคำๆ นี้มากถึง 41 แห่ง ซึ่งทำให้คำว่าราษฎรนี้มีนัยที่พิเศษ ประกอบกับเมื่อพิจารณาเนื้อหาตามประกาศคณะราษฎรทั้งฉบับแล้วจะเห็นได้ว่า คำว่าราษฎรนั้นมาพร้อมๆ กับนัยของผู้มีสิทธิมากกว่าหน้าที่[25] ดังเช่นตามหลัก 6 ประการที่ระบุว่า

“3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น”[26]

ผลของการเปลี่ยนแปลงบทบาทของราษฎรในฐานะผู้มีสิทธิแล้วจะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหม่ๆ ของรัฐบาลคณะราษฎร ตัวอย่างที่สำคัญเช่น การปฏิรูประบบภาษีใหม่ โดยยกเลิกการเก็บเงินรัชชูการที่มีการเก็บมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2462 โดยเก็บจากค่าราชการจากชายฉกรรจ์ (อายุตั้งแต่ 18-60 ปี) ทุกคนซึ่งนัยของเงินดังกล่าวเป็นการเก็บจากการที่บุคคลมีสถานะเป็นผู้ใต้ปกครอง โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถของบุคคลในการจ่ายเงินดังกล่าวได้ และเมื่อไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้จะถูกนำไปบังคับใช้เกณฑ์แรงงาน[27] การยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่องสิทธิและความเสมอภาค

กล่าวโดยสรุป ภารกิจหนึ่งที่คณะราษฎรได้ริเริ่มสร้างคือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมโดยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพื้นที่ของราษฎร ทั้งในด้านของความเป็นสาธารณะ การสร้างอุดมการณ์ของสิทธิและเสรีภาพ และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ผ่านการปรากฏของวัฒนธรรมในหลายลักษณะเพื่อให้วัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย  อย่างไรก็ดี ภารกิจดังกล่าวนั้นค่อยๆ ถูกลบล้างลงในปัจจุบัน และเริ่มเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย สัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยู่ในวัฒนธรรมค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไป

 

หมายเหตุ:

  • รูปแบบการอ้างอิง การสะกด และอักขรคงไว้ตามต้นฉบับ

 


[1] ฆัสรา ขมะวรรณ, “แนวคิดของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ในวัฒนธรรมศึกษาและการวิเคราะห์วัฒนธรรมบริโภค,” (วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 13-14.

[2] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, 2552), 64-65.

[3] ปรีดี หงษ์สต้น, สยามมหกรรม: การเมืองวัฒธนรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), 10-12.

[4] ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรมสยามสมัยใหม่ ไทยประยุกต์ ชาตินิยม, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2566), 296-297; ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2563), 13.

[5] เพิ่งอ้าง, 18.

[6] ชาตรี ประกิตนนทการ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 319.

[7] ชาตรี ประกิตนนทการ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 19.

[8] ชาตรี ประกิตนนทการ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 208-210.

[9] ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล, “วัดธรรมนูญ พานรัฐธรรมนูญ พุทธศิลป์ไทยในยุคการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับวัด แหล่งกระจายความคิดที่กว้างขวางที่สุด,” [Online] The Cloud, 9 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://readthecloud.co/constitution-on-phan-waen-fah-in-thai-temple/.

[10] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “รัฐนาฏกรรมของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในความเปลี่ยนแปลงของสังคม,” [Online] สถาบันปรีดี พนมยงค์, 10 พฤษภาคม 2567, สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2024/05/1954.

[11] ชนาวุธ บริรักษ์, ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), 42-49.

[12] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “กำเนิด ‘วันจักรี’ หรือมี ‘วันชาติ’ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่?,” (2550) นิตยสารศิลปวัฒนธรรม 28(6), 94: 94-110.

[13] ชนาวุธ บริรักษ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 11, 54-55.

[14] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ, สืบค้นจาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1110471.pdf

[15] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “รัฐนาฏกรรมในงานวันชาติ พ.ศ. 2482-2484,” (2567) นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 45(8), 80: 89-90.

[16] เพิ่งอ้าง, 90.

[17] ชนาวุธ บริรักษ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 11, 60.

[18] ปรีดี หงษ์สต้น, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 85.

[19] ชาตรี ประกิตนนทการ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, 226.

[20] สำนักราชบัณฑิตยสภา, “ราษฎร,” [Online] สำนักราชบัณฑิตยสภา, 6 มกราคม 2557, สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ราษฎร-๖-มกราคม-๒๕๕๗.

[21] ดู พระราชกำหนดใหม่ มาตรา 9; ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 2 , (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550), 714.

[22] ศราวุฒิ วิสาพรม, “ฝูงชนในเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475,” (2557) นิตยสารศิลปวัฒนธรรม 35(8) 88: 93.

[23] เพิ่งอ้าง, 93-95.

[24] ดู คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ฉบับแปลภาษาไทย โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 (Déclaration des droits de l’homme et du citoyen),” [Online] มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.), 19 มีนาคม 2562, สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://thaivolunteer.org/คำประกาศว่าด้วยสิทธิ/.

[25] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 3, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560), 182 อ้างใน ศราวุฒิ วิสาพรม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 22, 96.

[26] สถาบันปรีดี พนมยงค์, “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1,” [Online] สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126.

[27] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “เงินรัชชูปการ ภาษีซึ่งเก็บจากความเป็นราษฎร,” [Online] สถาบันปรีดี พนมยงค์, 26 ตุลาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/10/470.