ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI TALKS #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อประชาชน

14
ธันวาคม
2566

“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ร่วมกับ “วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์” จัดเสวนา PRIDI TALKS #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อประชาชน หลังจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกปิดกั้นความพยายามอย่างต่อเนื่องกว่าหลายปี ซึ่งเป็นผลพวงจากการทิ้งมรดกต่างๆ ของการรัฐประหาร อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยเบ่งบานอีกครั้ง

การเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากรร่วมเสวนา อาทิ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ, รศ. ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก, ผศ. ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และ รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

 

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่มาจากการรัฐประหาร พ.ศ.2557 โดยประชาชนไม่สามารถแสดงเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ หากใครที่มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป อาจต้องได้รับบทลงโทษ

มีการอ้างถึงเหตุผลที่ต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือ 1) ความมั่นคงของประเทศ 2) การรักษาความสงบของชาติ

ถึงแม้ว่าจะมีการบรรยายข้อดีของรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้ มีความขัดแย้งตามหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขัดขวางกลุ่มกระบวนการประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 นั้น มีการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบไม่ตรงไปตรงมา ยังมีอำนาจแฝงที่จะมีการสกัดกั้น คุกคามกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน หรือคู่แข่งทางการเมือง อีกทั้งยังมีความซับซ้อน และล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย ส่งผลให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสและรัฐบาลลูกผสมที่ไม่ได้เกิดจากเจตนารมย์จากประชาชน

มีการกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ได้รับการกล่าวขาน “รัฐธรรมนูญปราบโกง” แต่การทุจริตในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ได้มีการลดลงแต่อย่างใด จากดัชนีภาพลักษณ์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย โดยในปี 2565 อยู่อันดับที่ 101 และการร่างรัฐธรรมนูญนี้ เกิดจากผู้ร่างต้องการทำการตลาดมากกว่าเนื้อหาสาระที่มีการเพิ่มเข้าไป

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง

 

 

1) การเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศ การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายรัฐธรรมนูญจากหลากหลายประเทศ อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ซึ่งนับว่ามีความแปลกใหม่อย่างมาก

และผลดีของการนำเอารัฐธรรมนูญจากประเทศดังกล่าวที่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบมาปรับใช้กับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ส่งผลให้กลายเป็นนวัตกรรมที่จะเกิดแรงบันดาลใจให้กับแถบประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เพื่อนำมาออกแบบและปรับใช้กับระบบ จนในที่สุดสามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ

2) มีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ มีไม่กี่ประเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญ โดยในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องแปลกที่มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีการทำรัฐธรรมนูญจำนวนมากฉบับ

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 พบว่ามีปัญหาอย่างร้ายแรง มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะเนื่องจากมีการผนวกกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และกว่าที่จะมีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ก็อยู่ในห้วงที่ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงตำแหน่างนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562

ทำให้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 กลายเป็นเครื่องมือที่เข้าไปแทรกแซง และส่งผลให้เกิดอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ขัดกับหลักประชาธิปไตย หลักรัฐธรรมนูญที่แท้จริง และในที่สุดก็มีการสืบทอดอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป หลังจากการก่อรัฐประหารในปี 2557

ปัญหาจากรัฐธรรมนูญในฉบับดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดความวุ่นวาย มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างเป็นวงกว้าง เนื่องจากการถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งยังมีการสกัดกั้นศัตรูทางการเมืองอีกด้วย และในที่สุดก็ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงบริบทของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนนั้น ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

 

 

1) จะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญนั้น มีผลบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ มีความรอบรู้ว่าประชาชนนั้น ต้องการสิ่งใด หรือมีการแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง

2) ปราศจากการครอบงำของประชาชน จากมือที่มองไม่เห็น ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญจากคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3) ประชาชนควรมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญได้มีการบังคับใช้กับคนทั้งประเทศและทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ดังนั้น ประชาชนควรที่จะมีส่วนร่วม เพื่อให้รัฐธรรมนูญนั้นออกมาดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

4) การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้น ควรมีระยะเวลาในการร่างและแก้ไข ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม

คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีความหลากหลายของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีผลบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในส่วนของช่วงอายุโดยปกติแล้ว คนที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้นั้น มักจะกำหนดอายุ 35 ปีขึ้น แต่เห็นว่า คนที่สามารถเลือกตั้งได้ ก็เท่ากับว่าสามารถเข้ามาเป็นหนึ่งใน สสร.ได้ คือ อายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ

และในช่วงสุดท้ายของอ.นันทนา ได้มีการกล่าวถึงจำนวนทั้งหมดของคนที่จะมาเป็นชุดคณะกรรมการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยมีจำนวนทั้งหมด 200 คน ซึ่งจำนวน 150 คน จะต้องมาจากการเลือกตั้งของจังหวัดต่างๆตามขนาดประชากร  อีกจำนวน 50 คน เป็นส่วนของภาคประชาชนที่นอกเหนือผู้แทนจากจังหวัด จะต้องมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดย สส. และมีคณะผู้เชี่ยวชาญยกร่างประมาณ 30 คน

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ได้กล่าวถึงในมุมของนักรัฐศาสตร์ เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญ กับ ระบบปฏิบัติการ (Operation System)  ที่ไม่ใช่เพียงแต่กฎหมายเท่านั้น แต่เป็นกลไกที่สำคัญ ซึ่งจะนำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่ดี มีโครงสร้างของชาติที่มั่นคง อีกทั้งรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีฉบับใดที่สมบูรณ์ได้ตลอด จะต้องมีการปรับแก้ตามสถานการณ์ของบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง

 

 

อีกทั้งยังมีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับบริบทของรัฐธรรมนูญว่า จะต้องมาจากประชาชน ยังได้มีการฟังเสียงจากประชาชน โดยส่วนใหญ่แล้วควรที่จะมีสสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

ในส่วนของการสรุปผลความเห็นจากประชาชนนั้น คณะกรรมการฯจะประชุมกันในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ และในวันที่ 25 ธันวาคม ก็จะเป็นการประชุมพิจารณาเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลาของกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะอยู่ที่ 3 ปี

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นที่นอกจากติดตามข้อสรุปของคณะกรรมการที่นายนิกรเป็นโฆษกในวันที่ 25 ธันวาคม แล้ว ยังกล่าวถึงการกรณีการไต่สวนคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลที่ถูกฟ้องครั้งแรก ซึ่งสะท้อนประเด็นปัญหาการเมืองร่วมสมัยไทย และชวนขบคิดถึง 2 ประเด็นสำคัญก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 

1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสำคัญมากในแง่ที่ว่า ควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างฉันทามติใหม่ในสังคมไทยให้ได้ เพราะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาของความขัดแย้งในสังคมไทย เราไม่สามารถข้อยุติร่วมกันได้ที่แม้จะมีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ข้อเสนอถึงการออกแบบระบบการเมืองที่เราจะเห็นร่วมกันได้ในความแตกต่าง และไม่ควรออกแบบโดยกีดกันคนบางกลุ่มให้เสียโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมกัน จุดนี้เป็นโจทย์สำคัญของการร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ทุกฝั่งได้มีพื้นที่ มีเสียงของตัวเอง และได้ข้อสรุปที่ทุกคนเห็นร่วมกัน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด

2) การกล่าวว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องของนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่า แล้วประชาชนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน ก่อนพิจารณาอีกมุมว่า รัฐธรรมนูญในมิติประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเกิดขึ้นมาของระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นนวัตกรรมทางการเมืองของมนุษย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่มนุษย์เขียนขึ้นในนามของประชาชนเพื่อแตกหักกับการเมืองแบบเก่า แบบจารีต และสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาที่ขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ หมายความว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าหรืออำนาจศักดิสิทธิ์ประทานมาให้พวกเรา แต่เป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์หรือประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการออกแบบการเมืองที่เราปรารถนาได้ คำถามที่ว่าใครเป็นผู้ทรงอำนาจในการออกแบบรัฐธรรมจึงเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย ดังนั้น ต้องทำให้ สสร. ยึดโยงอำนาจในการสถาปนาระบบการเมืองที่ประชาชนปรารถนา จึงอยากเห็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน พร้อมตอบคำถามเรื่องการออกแบบการเลือกตั้งเพื่อให้มีพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญใน สสร. ที่ยึดโยงกับประชาชน

 

 

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้ถามคำถามต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า จากการที่ออกแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ให้แก้ไขได้ยาก มีเงื่อนไขต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 ต้องมีเสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 ซึ่งฝ่ายค้านตอนนี้ก้าวไกลมีเสียงอยู่ 150 คน เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก้าวไกลมีสิทธิไม่โหวตให้แก้ไขได้ และพรรคจะแสดงจุดยืนว่าเป็นอย่างไรต่อการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

 

 

นายชัยธวัช ตุลาธน ยืนยันหลักการ 2 ข้อที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งกล่าวถึงเหตุที่พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ส่วนครั้งที่ 3 เมื่อผ่าน ส.ส.ร. แล้วก็ควรผ่านประชามติของประชาชนเช่นกัน ทั้งนี้ประชามติครั้งที่ 1 นั้น ยังคงเป็นข้อถกเถียงว่าต้องมีไหม ก้าวไกลยืนยันว่า เรามีอำนาจเต็มที่จะไม่ต้องทำ ต่อสู้และไม่เห็นด้วย หากจะต้องพึ่งพาการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความคลุมเครือ

ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจในระบอบรัฐธรรมนูญ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับอย่างที่สุด โดยพรรคจะเดินตามมติของประชาชน

 

 

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ทุกท่านอยากเห็นอะไร? เห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร? ตลอดการเสวนาที่ผ่านมา

 

 

นายนิกร จำนง กล่าวถึงหลักปรัชญาส่วนตัวที่ว่า “ม้าดีที่ตายแล้ว ไม่ใช่ม้าดี แต่เป็นม้าตาย” พร้อมกล่าวถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการคว่ำเสนอร่างรัฐธรรมนูญขึ้น จึงเสนอให้แก้ไขเฉพาะหมวดที่มีปัญหาทั้งหมด 16 หมวด ยกเว้นหมวดที่ 1 และ 2 ที่ไม่มีปัญหา เพื่อไม่ให้เสี่ยงถูกคว่ำในการเสนอและสร้างความขัดแย้งจากการพยายามแก้หมวดที่ 1 และ 2 ซึ่งก็จะไม่คุ้มกัน

 

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ฝากถึง คำถามพ่วงในการทำประชามติที่ต้องมีความตรงไปตรงมา ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอยคำ โดยหากจะมีคำถามพ่วงก็ควรให้หลายฝ่ายมาตกลงกันและอ่านคำถามพ่วงให้เข้าใจตรงกัน อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

พร้อมย้ำเรื่อง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจการออกแบบกฎหมาย ซึ่งเป็นลักษณะสายตาของผู้ปกครองที่มองประชาชนว่าไม่ฉลาด จึงให้เลือกตั้งไม่ได้ รศ.ดร.นันทนา จึงย้ำว่าตอนนี้ประชาชนฉลาดแล้วจึงต้องให้เขาเลือกตั้ง

 

 

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เสริมสิ่งที่กล่าวเมื่อตอนต้นของงานเสวนาเรื่องผลที่เลวร้ายที่สุดของรัฐธรรมนูญปี 60 ถึงความจำเป็นต้องตระหนักว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ทำให้เสียงของประชาชนกลายเป็นเรื่องที่ไร้ความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตย จึงจำเป็นต้องหาความชอบธรรม หาพลังที่จะสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญตระหนักและจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลไกทางกฎหมาย

พร้อมยืนยันหลักการของการไม่จำเป็นต้องทำประชามติในรอบแรกเช่นเดียวกับที่นายชัยธวัชเสนอไว้ แต่มีความจำเป็นต้องให้ประชาชนและพรรคทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

และควรหยุดการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญเทคนิคหรือพึ่งพิงนักกฎหมายสักที เพราะหายนะในประเทศชาติเกิดจากนักกฎหมายเสียเป็นหลัก

ทั้งย้ำว่า ระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยากเห็น ควรจะเรียบง่ายที่สุด คือ ยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและใช้อำนาจนี้ได้อย่างเต็มที่ผ่านการเลือกตั้ง

 

 

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย เสริมเล็กน้อยถึงประเด็นความขัดแย้ง แรกสุดสังคมไทยอยู่ภายใต้ความขัดแย้งจากผลของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหาร โดยเราไม่สามารถมองปัญหาจากแค่รัฐธรรมนูญปี 60 อย่างเดียว ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว

ดังนั้นในการออกแบบ สสร. อย่างที่ อ.นันทนา หรือ นายชัยธวัช กล่าวมา จำเป็นต้องคุมคนกลุ่มนี้ด้วย จำเป็นต้องตั้งโจทย์ให้ดีในการออกแบบ สสร. ในภาพรวม พร้อมตั้งคำถามสำคัญพื้นฐานว่า การออกแบบ สสร. นี้กำลังจะนำเสนอต่อใคร? ที่อาจยังความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในทางปฏิบัติอยู่ เพื่อป้องกันความผิดพลาดทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้น หากแต่เน้นย้ำว่าจำต้องมาจากการเลือกตั้งและต้องเกิดจากการคุยกันของทุกฝ่าย

นายนิกร จำนง ในฐานะผู้ปฏิบัติ จากที่ศึกษามาทุกหมวด เรามีความขัดแย้งอยู่ในประเด็นหมวดที่ 2 นายชัยธวัชได้กล่าวไว้ว่าการเว้นไว้จะเป็นการสร้างปัญหา ในขณะที่เรามองว่าถ้าไม่เว้นไว้มันจะมีปัญหา เป็นเสมือนเหรียญสองด้าน

เป้าหมายของผมคือ การทำประชามติให้สำเร็จ กลไกต่อจากนี้หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว เราจะมาสอบถามประชาชน โดยการทำประชามติให้สำเร็จจะเป็นการถอดสลัก ถอดกุญแจ เพื่อที่สังคมไทยจะได้ไปต่อ

นายชัยธวัช ตุลาธน ประเด็นที่อยากเน้นย้ำอีกเรื่องหนึ่ง ถึงโมเดลการออกแบบ สสร. ที่ไม่ว่าจะตอบโจทย์อะไร หรือมีความหลากหลายอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียวที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

ประเด็นต่อมาคือ การเว้นหมวดใดหมวดหนึ่ง เป้าหมายเพื่อให้เห็นอีกมุมหนึ่ง และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แม้ว่าสุดท้ายเสียงเหล่านั้นจะไม่ได้รับการตอบรับ โดยมองมันในฐานะความจริงทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง

อีกทั้งกล่าวถึงบทเรียนของผู้แทนราษฎรที่ต่อให้ไม่พร้อมจะผลัก ก็ไม่ควรนำประชาชนถอยหลัง จากการห้ามแก้ไขหมวดใดหมวดหนึ่ง ทั้งๆที่อยู่ในกรอบที่ทำได้เพราะเคยเกิดขึ้นมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาแล้ว

 

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ดิฉันเชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศอยากเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นของขวัญ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็อย่าทำให้มันกลายเป็นระเบิดเวลา

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo