Focus
- รัฐธรรมนูญเป็นระบบปฏิบัติการ (Operation System) ที่มากกว่ากฎหมาย เพราะกำหนดโครงสร้างของประเทศและกำหนดกลไกต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร และรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ไม่มี จะต้องแก้ได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น
- การทำรัฐธรรมนูญ 2540 นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา ไม่มีธง แต่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการส่วนหนึ่ง และนายอุทัย พิมพ์ใจชน จนสามารถทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด
- ประชาชนส่วนใหญ่ในขณะนี้ (จากการไปรับฟังความคิดเห็น) เห็นด้วยกับการให้มีสมาชิกสภาร่างรัธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องใช้เสียง “วุฒิสมาชิก” 1 ใน 3 สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 256 ก่อน เพื่อตั้ง สสร. ทั้งยังต้องมีการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กี่ครั้ง) แต่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯที่รัฐบาลแต่งตั้งยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ทุกท่านครับเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ปีนี้เป็นวันแรกที่เปิดประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) ชุดปัจจุบัน ตามที่ประกาศไว้ก็คือว่าวันนั้น ครม.จะต้องประกาศให้มีการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กัน แต่คงมีข้อถกเถียงอะไรบางอย่างในห้อง ครม. เราก็ไม่ได้เข้าไป เราก็ไม่รู้ แต่เขาถกเถียงกันก็จินตนาการภาพ
ในครม.ก็จะมีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ คือพูดตรงๆ ก็ไม่รู้คุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร เขาคงถกเถียงอะไรกันบางอย่างก็เลยได้มติออกมาว่า “ไม่รู้เอาอย่างไรดี ยังคิดไม่ออก ขอไปตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษา” ชื่อยาวมาก ผมขออภัย ผมจำไม่ได้ เรียกสั้นๆ ว่า กรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ มีคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกเป็นประธานและมีท่านหนึ่งที่รับหน้าที่อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาเป็นโฆษก คือท่านนิกร ต้องออกมาพูดกับพวกเราตลอดเวลาว่า แล้วจะเอาอย่างไร แล้วจะไปถึงทางไหนบ้าง
คณะกรรมการชุดนี้ก็จะทำหน้าที่ตามสัญญาคือ 3 เดือนพอดีกำลังจะครบแล้ว ที่จะคิดว่าเราจะเริ่มการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยการทำประชามติไหม จะต้องทำเมื่อไร ทำกี่ครั้ง ทำด้วยคำถามแบบไหน ทำอย่างไรให้เดินหน้าแล้วจะไม่ล่ม ไม่ล่มทั้งประชาชนไม่โหวตคว่ำและไม่ล่มทั้งไม่มีอำนาจโน้น อำนาจนี้ อำนาจที่เล่ากันมาขัดขวางทำให้ทำไม่ได้ และที่ผ่านมากรรมการชุดนี้ก็ทำงานมาจนใกล้ปลายทางแล้ว ก็มาถึง 10 ธันวาคม เลยขอรบกวนท่านนิกร อัพเดตหน่อยว่า กรรมการชุดนี้ทำงานมาเป็นอย่างไร เราจะต้องทำประชามติไหม เราจะรู้ Roadmap รัฐธรรมนูญประชาชนอย่างไร เมื่อไร รวมถึง สสร.จะเอาแบบอาจารย์นันทนา เสนอไหม หรือจะเป็นแบบไหน
นิกร จำนง :
ในวันสำคัญวันนี้ ที่มาของกรรมการฯ (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ) ที่จริงก็ต้องถามว่าที่มาของผมด้วย หลุดเข้าไปอยู่ในกรรมการได้อย่างไร ผมไม่ได้เกี่ยวกับครม. สักหน่อย จริงๆ แล้วผมปวารณาตัวไปว่าผมจะไปช่วยดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญทางฝ่ายรัฐบาล เขาก็ตั้งจริงๆ ผมก็ถามท่านภูมิธรรมว่า ทำไมตั้งผมเป็นโฆษก เขาบอกคุณมาอยู่กับรัฐธรรมนูญมานานจะได้พาไปถูกทิศถูกทาง
ตอนดำรงตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการรับฟังฯ (อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) ถามว่าทำไมถึงตั้งผม บอกคุณคุยกับเขาได้หมดซึ่งก็เป็นเรื่องจริง
ผมจะบอกว่า แล้วตัวตนผมกับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร กรอบที่จะพูดท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อท่านจะได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นผมก็เป็นคนที่มาพูดอยู่คนหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเองเป็นนักรัฐศาสตร์ สำหรับผม “รัฐธรรมนูญ” ผมเห็นว่าสำคัญมาก ผมพูดกับยิ่งชีพเป็น OS หรือ Operating System มันมากกว่ากฎหมาย เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของประเทศ กำหนดกลไกต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญ แต่สำหรับผมมีประเด็นเดียวก็คือว่า “รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ไม่มี สำหรับผมก็คือว่าจะต้องแก้ได้เรื่อยๆ ” เพราะฉะนั้นไม่มีวันจบสิ้น เพราะว่าโลกมันหมุนแล้วเดี๋ยวนี้หมุนเร็วด้วยมันต้องแก้ได้
ที่มาของรัฐธรรมนูญ ควรจะมาจากประชาชน ผมอยู่กับรัฐธรรมนูญตอนปี 2540 เป็นที่ปรึกษาท่านบรรหาร ศิลปอาชา ตอนทำรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่ทำขึ้นมาผมเรียนเลยว่า สาเหตุที่สำเร็จเพราะว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีธง ไม่มีสักมาตราว่าจะทำอย่างไร แค่อยากจะได้มาจากประชาชนก็คือเอาตามหมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ที่ว่า มาตรา 211 ตอนนั้น ของเรา 256 แล้วก็ตั้งขึ้นมาแล้วก็มีการดำเนินการ แล้วก็ฟังความเห็นประชาชนไปตอนนั้นมีจำนวนกว่า 100 คน สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ชุดนั้นมี 100 คน แล้วก็มีนักวิชาการเข้ามาส่วนหนึ่งแล้วก็ทำกันมา ท่านอุทัย (อุทัย พิมพ์ใจชน) ก็อยู่ในนี้ด้วย ก็สำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ตอนนั้นมีคำอยู่คำหนึ่งท่านบรรหาร บอกว่า “เอาแค่นี้นะ ได้แค่นี้ แล้วค่อยไปแก้กัน”
ปรากฏว่าเราไม่แก้ พอไม่แก้ก็เลยกลายเป็นว่า อำนาจที่เราให้ฝ่ายการเมืองมากเกินเหตุ และท้ายที่สุดก็ถูกยึดอำนาจไป แสดงว่ามันต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ที่นี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560) ผมมีความผูกพันอย่างไร ผมไม่เห็นด้วย ผมโหวตไม่เอา ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยผมไม่รับ แต่พอออกมาใช้แบบนี้แล้วเสียงข้างมากของประชาชนจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ เห็นด้วยว่าเป็นการปิดไม่ให้แสดงความเห็น แต่ว่าในเมื่อเป็นแบบนี้เราก็ต้องเคารพ แต่วันแรกที่มีการประกาศใช้ในใจก็เลยคิดไว้ว่าต้องแก้ รัฐบาลที่แล้วก็มี ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นนโยบายใช่ไหมแล้วก็มี
ผมก็ไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็คือ ไปเป็นกรรมาธิการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถแก้ไขได้ 2 มาตรา ไม่ใช่มาตราเดียว แต่ว่าเราได้แก้แล้ว พอมาถึงฉบับนี้หลักการที่สำคัญตอนนี้ ในความรู้สึกของผมก็หมายถึงว่า Mindset (แนวคิด) ของผมก็คือว่า “แก้ให้มาจากประชาชน” นี่คือสารัตถะสำคัญ แก้ให้มาจากประชาชน ฉบับนี้มาจากการยึดอำนาจรับไม่ได้และจะมีปัญหาในตัวมันเอง ความขัดแย้งแต่ต้นทางมันไม่มีวันหายไปหรอก เพราะเราต้องกลับไปเป็นไว้ให้เป็นของประชาชน พอของประชาชนแล้วมาจากวิธีการก็คือ สสร. เท่านั้นเอง
อีกอันก็คือว่าหลักการที่ 2 ก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บททั่วไปแก้ไม่ได้ คือการที่ให้วุฒิสมาชิก 1 ใน 3 รวมทั้งเป็นบทถาวรด้วยไม่ใช่บทเฉพาะกาลด้วยต้องเป็น 1 ใน 3 มันล็อค ทีนี้ตัวแทนประชาชนที่มาจาก สส. รวมเท่าไรก็แก้ไม่ได้ แล้วติดอยู่กับตรงนี้ยาวนานมากรวมทั้งฉบับที่เราจะแก้ด้วย คือเราข้ามตรงนี้ไม่ได้ เราทำลืมเป็นไม่ได้เพราะมันยังอยู่ เพราะฉะนั้นการดำเนินการต้องผ่านตรงนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นการดำเนินการมีลักษณะกลไก รัฐบาลนี้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลักการที่ทำไม่ใช่ 3 เดือน แค่ 2 เดือน คือก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พอเราทำเข้าไปจริงๆ คนก็หาว่าเป็นการถ่วงเวลาที่จริงแล้วเป็นการดำเนินการที่ซับซ้อนมาก มีปัญหามาก คือถ้าถลำไปก็ร่วงแน่ๆ เราไปศึกษาดูจะรู้ว่ามีกลไกล็อคไว้หลายชั้นมาก จากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญหมายถึงคำวินิจฉัย ตรงนี้เป็นกับดักอยู่ตลอดทาง
ผมจะเรียนให้ฟังว่าในทางการเมืองของรัฐบาล รัฐบาลไปพูดไว้เป็นนโยบายสำคัญว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่สรุปว่ามาจากประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเขียนไว้ด้วยว่าโดยไม่มีการไปแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พูดไว้ชัดเรื่องนโยบาย พอตั้งขึ้นมาแล้วขณะนี้กลไกที่มีการกำหนดก็คือใช้เวลากำหนดไว้ถึงสิ้นปี ก็คือเดือนนี้ (ธันวาคม) เดือนสุดท้าย แตกออกเป็น 2 คณะเป็นคณะที่หนึ่ง ก็คือผมออกไปรับฟังความเห็น คณะที่สองไปเคาะเรื่องการทำประชามติ ว่ากี่ครั้งกันแน่ จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่ากี่ครั้งกันแน่ เพราะเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายด้วยและการเมืองด้วย
เรื่องการรับฟังความเห็นตอนนี้ผมเรียนว่ารับฟังไปหมดแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ไปที่สงขลาที่บ้านท่านหัวหน้าพรรค (ชัยธวัช ตุลาธน) และบ้านผมด้วยไปฟังแล้ว ภาคเหนือไปแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว ภาคกลางไปแล้ว ภาคใต้ไปแล้วครบ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ฟังแล้ว เชิญเข้าไปที่ทำเนียบ กลุ่มประชาชนต่างๆ 15 กลุ่มเชิญไปที่ตึกสันติไมตรีคุยกันแล้วได้ข้อสรุปแล้ว พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยคือพรรคก้าวไกล ผมก็ไปหา ไปเยี่ยมท่านที่พรรคแล้ว ไปรับฟังความเห็นมาแล้ว
กลุ่มที่สำคัญตอนนี้ที่ยังไม่ได้คำตอบก็คือ กลุ่มสมาชิกรัฐสภา วันนี้ผมเจอกับท่านพรเพชรก็ย้ำกับท่านว่าผมมีจดหมายและแบบสอบถามไปแล้ว และกำลังรออยู่ วันที่ 18-19 เดือนนี้ ให้วุฒิสมาชิกทั้ง 200 คน ติ๊ก หมายถึงว่าให้ความเห็นมาเป็น Questionnaire ลงไปแล้ว
เมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว โทรคุยกับท่านอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา) ว่าจดหมายตั้งแท่นรออยู่แล้ว ขอให้ท่านเห็นชอบลงมา จะได้ให้ สส. ทั้ง 500 คน ตอบแบบสอบถาม เราจะเก็บของวุฒิฯ ของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 12 ถึง 15 ธันวาคม และของวุฒิสภา 18 ถึง 20 ธันวาคม เก็บแล้วก็เอามารวมสรุป ผมสั่งให้ทำรายงานแล้ว วันที่ 22 จะประชุมกรรมการทั้งหมด งานของผมที่ผมรับฟังเท่ากันรับฟังมาครบแล้ว
ประเด็นที่ได้มาของประชาชนทั่วไปผมยืนยันเลยว่า หนึ่ง คำตอบทั้งหลายเราไปสอบถามดูแล้วโดยใช้เป็น Focus Group (สนทนากลุ่ม) เห็นว่า ควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เห็นด้วยมีไม่กี่คน หมายถึงโดยทั่วไป เราไม่ได้ถามประชาชนทั่วไปแต่เราถามว่าเป็นกลุ่มๆ เป็น Focus Group
เรื่องที่สอง สสร. ที่เราพูดถึง เห็นด้วยที่มีสสร. 80-90% คำถามต่อไปที่เราเป็นห่วงก็คือว่า เรื่องปัญหาของประชาชน เขา Reflex (สะท้อน) มาเยอะในที่ต่างๆ ภาคใต้ก็เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ทางอีสานก็เป็นเรื่องเหมืองโพแทชบ้าง ทางเหนือเป็นเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ว่าเราไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันต้องไปอยู่ที่ สสร. ถามประชาชนมาเสร็จแล้ว
คำถามที่เราเป็นกังวล คุณยิ่งชีพกังวล ผมก็ยังกังวลอยู่ คือ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิไหม ออกเสียงประชามติไหม เพราะถ้าไม่ มันจะไปขัดกับกฎหมายประชามติ พรุ่งนี้อาจารย์พรสันต์กับผมก็จะไปที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ เราจะไปคุยกันเรื่องการทำประชามติจะได้ทราบอีกมิติ ประเด็นก็คือว่าจากที่เราไปสอบถามว่า คุณจะออกมาออกเสียงประชามติไหม ปรากฏว่า เกือบจะทั้งหมดออก หมายความว่าถ้าหากว่ารัฐไปคุยให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญมันใกล้กับเขาและเป็นตัวสำคัญทีเดียว เขาจะออกมาใช้สิทธิ์ โดยเฉพาะทำให้เขาเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นของคุณ เชื่อว่าเขาจะออกมา แต่ตรงนี้ต้องทำประชาสัมพันธ์เยอะ
ประเด็นที่ยังมีปัญหาอยู่มากก็คือว่า “สมาชิกรัฐสภา” เพราะสมาชิกรัฐสภาที่เราถาม เขาไม่ใช่ตอบในฐานะประชาชน เขาตอบในฐานะผู้ที่ยกมือก็คือว่าลงมติว่าให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าอย่างไร เราต้องเอาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คือใช้มาตรา 256 ก็คือว่าต้องไปแก้มาตรา 256 ก่อน มาตรา 256 แก้เพื่อให้มี สสร. นี่จะที่ต่างไป หนึ่งก็คือว่าให้จัดทำใหม่ทั้งฉบับ และโดยมี สสร. เป็น 2 มิติ ตรงนี้ผมจะได้คำตอบว่าจะเป็นอย่างไร และสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมีความเห็นกันอย่างไร
ที่สำคัญก็คือ “วุฒิสมาชิก” เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องใช้ 1 ใน 3 ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็จบที่เราคิดกันที่ไปถามมาเดินทางทั่วประเทศมันจะสูญเสียไปหมดคือไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เราต้องคิดถึงเขาด้วยว่าเขาจะมีความเห็นอย่างไร มีสองประเด็น
ประเด็นที่หนึ่งก็คือว่าเรื่อง สสร. ความเห็นผมตอนนี้ คำถามที่ผมจะเสนอก็คือ ผมจะไม่พูดว่า สสร.จะเอาแบบอาจารย์นันทนาไหม บอกแต่ว่ามี สสร. เพราะว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ต้องมี สสร. ก็ได้ เราอยากมี สสร. เพราะตรงนี้ สสร. เป็นการบอกว่ามาจากประชาชนที่เราพูดถึงกันนี้แหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรเราจะไปลงรายละเอียดเรื่องรายมาตรา เพราะถ้าเราจะตั้ง สสร.แล้วเราอย่าไปทำรู้มากกว่า สสร. ในเมื่อเราถามประชาชน ถ้าอย่างนั้นเราจะมี สสร. ทำไม ต้องฟังความเห็น แล้วฟังกันยาวๆ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ ฟังกันเป็นปี ในความเห็นและในมุมต่างๆ
คำถามอีกอย่างที่เป็นประเด็นปัญหามากที่เราเป็นกังวลอยู่มากก็คือว่า ต้องทำก่อนที่จะมีการดำเนินการใดหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการร้อง ผมได้อยู่ในคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งแล้วปี 2563 ทำแบบนี้เลย มีแก้มาตรา 256 มี สสร. แล้วก็ยื่นไป
ผมเชื่อว่าตอนเราเสนอประชาชนจะรู้แล้วว่าเราจะทำทั้งฉบับ ปรากฏว่ามีคนไปยื่นแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าจะแก้ลักษณะนั้นคือแก้ทั้งฉบับ โดยเราเว้นหมวด 1 หมวด 2 แล้ว ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำประชามติจะมีรายละเอียดยังไงก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องไปทำประชามติก่อนที่จะเริ่มประเด็นปัญหาตรงนี้ในคณะกรรมการฯ ผมก็ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ว่าก่อนที่จะเริ่มดำเนินการต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้มันจะเป็น 3 ครั้ง เพราะครั้งที่ 2 พอแก้ 256 มันเป็นสภาพบังคับที่ต้องทำ แล้วพอเสร็จก็ต้องทำอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดตรงนี้ ผมก็มีคำถามไปสอบถามท่านวุฒิสมาชิกด้วยว่า ท่านมีความเห็นว่าควรจะทำก่อนดำเนินการใดๆ ไหม มีอยู่ข้อหนึ่ง แล้วผมจะรอข้อนี้จะดูว่าท่านให้ความเห็นว่าอย่างไรใน 200 คน เพราะว่าถ้าเห็นแย้งหมดก็แสดงว่าถ้าเราเสนอเข้าไป ท่านไม่ผ่านให้ก็ไปไม่ได้อยู่ดี
เราพูดกันไม่ใช่ว่าพูดเอาตามใจ พูดตามความฝันของเรา แต่พูดที่สามารถทำได้จริง แบบนั้นก็เหมือนที่คุณยิ่งชีพพูดว่า ก็รอให้วุฒิสภาชุดนี้หรือ สว.ชุดนี้ เขาจะหมดเวลาวันที่ 11 เดือนพฤษภา อีกไม่กี่วัน แต่เรามีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน พอเรื่องของทุกคนแล้ว เราจะต้องฟังความเห็นเค้าด้วย ถ้าหากว่าเราดึงให้ท่านเห็นด้วย เพราะฉะนั้นการเขียนตรงนี้ผมเรียนว่าคณะกรรมการฯ ที่ตั้งมาไม่ได้ตั้งเพื่อมาดึงเวลาหรืออะไรทั้งสิ้น ทำงานกันเอาจริงเอาจัง อาจารย์พรสันต์ก็อยู่ ก็ทราบว่าเป็นพยายามตั้งใจจะทำและจุดตรงนี้เราจะได้คลี่คลายปัญหาเสีย
เพราะฉะนั้น วันที่ 25 ธันวาคม ท่านภูมิธรรมเมื่อวานคุยกันว่าของผมจะเสร็จ 22 ธันวาคม และในวันที่ 25 ธันวาคม จะมีการประชุมใหญ่ จะสรุปว่าจะเอาอย่างไร จะเดินหน้ากันต่อไป ก็โดยสรุปแล้วที่ว่าจะใช้เวลากันอะไรตั้งนาน ผมจะเรียนอย่างนี้ว่าทำประชามติครั้งหนึ่งใช้เวลา 90 วัน ก็ประมาณ 100 วัน ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งก็ 300 วัน ก็ปีหนึ่งแล้ว ทีนี้พอไปตรงนั้นพอมี สสร. จะต้องมีเวลาในการเลือกตั้ง สสร. อีกหลายเดือน พอมี สสร.ไม่ใช่ว่าจะตั้งขึ้นมาแล้วก็จะดำเนินการได้ ก็ต้องไปฟังความเห็นประชาชนเป็นปีถึงจะฟังได้ ดังนั้น จุดที่ว่าผมประเมินว่าประมาณสัก 3 ปีกว่าๆ และกฎหมายลูกอีก 11 ฉบับ อาจจะต้องเป็น 11 ฉบับ หรือ 12 ฉบับ ต้องทำให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นก็เลือกตั้งไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน
ผมพูดในฐานะโฆษก ทุกอย่างดำเนินการไปด้วยดีและวันนี้เป็นวันพิเศษถ้าท่านเห็นว่า ในเฟซบุ๊กของท่านนายกฯ ท่านก็พูดถึงรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งเพิ่งพูดเมื่อตอนสายวันนี้เอง เพราะฉะนั้นในฝ่ายการเมืองก็ยืนยัน รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ในนโยบายของรัฐบาลก็เขียนไว้ชัดว่าจะต้องทำเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ทำ แต่ผมเรียนว่าพรรคการเมืองทุกพรรคยืนอยู่ตรงนี้แล้ว ดังนั้นเราจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จก็คือว่า มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะถ้าไม่มีก็ไม่ต้องถามทำประชามติ หมายถึงว่าถ้าทำแก้รายมาตราก็ไม่ต้อง และให้มาจากประชาชนและการได้มาจากประชาชนนั้นคือมาจาก สสร. นั่นเองครับ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ท่านนิกรบอกว่า 22 ธันวาคม จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเสร็จ 25 ธันวาคม จะประชุมชุดใหญ่และเราอาจได้เห็นอะไรในวันคริสต์มาส อาจมีของขวัญหรืออาจมีอะไรไม่รู้และติดตามกันวันคริสต์มาส อย่าเพิ่งฉลองอย่างเดียว รอดูว่าคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ จะสรุปอะไรออกมาให้เราในวันคริสต์มาส แต่คุณนิกรเชื่อว่าในรัฐบาลชุดนี้ได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ ถามนิดหนึ่งครับ ท่านไปรับฟังมา ประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเห็นด้วยว่าต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีคนเห็นต่างบ้างไม่เป็นไรเป็นธรรมชาติ แล้วส่วนใหญ่ไหมที่เห็นว่าต้องทำใหม่ทั้งฉบับหรือบางคนจะเห็นว่าต้องยกเว้น หมวด 1 หมวด 2 ไม่แตะเรื่องนั้นเรื่องนี้
นิกร จำนง
ที่ผมถาม ผมถามตามรัฐบาลคือเว้นหมวด 1 หมวด 2 แล้ว หมายความว่าผมมีสิทธิจะ Quote (อ้างอิง) ตามรัฐบาลได้ เพราะเป็นนโยบายที่เขียนเอาไว้ก็คือเขียนคำถามไปแบบนี้ แต่ที่ถามวุฒิสมาชิกกับสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเราไม่ถามแบบนี้ และที่ถามประชาชนถามอีกแบบ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าคืออะไร ดังนั้นในความเห็นผมในการจะทำให้สำเร็จ เพราะเราก็ไม่รู้คนจะออกมาเท่าไร ไม่ควรถามในรายละเอียดมากเกินไป เพราะมันจะมีคำถามเดียว และเรื่อง สสร.ควรจะเป็นคำถามพ่วง “มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นด้วยหรือไม่?” และ “โดยมี สสร.” แล้ว สสร.จะไปลงรายละเอียดแบบอาจารย์นันทนาที่ว่าจะมีนู่นมีนี่มันจะเบลอไปหมด ก็คือเอา สสร. เพราะว่า สสร. กรรมการฯ ชุดนี้ไม่มีประเด็นที่จะแก้ไขแต่ไปอยู่ในกรรมาธิการ คือกรรมาธิการของสภาจะเป็นคนกำหนดเรื่อง สสร.ไปสู้กันอีกยกหนึ่ง ขอบคุณครับ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
กรรมการฯ ชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจว่า สสร.จะมีไหมและจะมีระบบการเลือกตั้งอย่างไร แต่ว่าก็อาจเสนอได้นิดหน่อยและสุดท้ายถ้าเราจะมีสสร.ก็ไปว่ากันชั้นหน้า แต่ขอให้กรรมการชุดนี้ผ่านก่อน ที่สำคัญก็คือหลังคริสต์มาสเราจะรู้ว่าอย่างน้อยเราจะทำประชามติไหม จะทำเมื่อไร และถ้าไม่ทำก็ไม่เป็นไรก็คือมาเริ่มกระบวนการรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้เริ่มจากประชามติ แต่เริ่มจากการเสนอเข้าสภาเลย ในปีหน้าและปีถัดๆ ไป มีทั้งการทำประชามติ การเสนอรัฐธรรมนูญ การตั้ง สสร. มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นให้เราติดตามและมีส่วนร่วมกันสูงมาก
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo
ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.