ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ข้อเสนอสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

21
ธันวาคม
2566

 

Focus

  • ประเทศไทยผลิตรัฐธรรมนูญใช้จำนวนมากถึง20 ฉบับ และทำได้ง่ายเพราะผ่านการรัฐประหารโดยส่วนใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญของประชาชนทำได้ยากในครั้งนี้ การทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
  • หลักการสำคัญของสสร. คือ (1) ต้องยึดโยงกับประชาชน (2) ต้องมีความเป็นอิสระ (3) ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมอย่างมาก (4) การร่างควรจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • คุณลักษณะของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสสร. คือ (1) ควรจะมีความหลากหลาย (2) เปิดโอกาสให้คนอายุ 18 ปี ขึ้นไปเป็นสมาชิก สสร.ได้ และควรสกัดหน้าเก่าที่เคยเป็นสสร. สส. และสว. มาแล้ว
  • จำนวนสมาชิกสสร. ควรมี ประมาณ 150-200 คน หากมี 200 คน กลุ่มแรกควรมาจากการเลือกตั้งทางตรงตามเขตจังหวัด 150 คน และกลุ่มที่สองเป็นสายวิชาการ NGO และวิชาชีพต่างๆ อีก 50 คน นอกจากนี้ ควรมีคณะยกร่างที่จะเป็นอาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ อีก 30 คน ที่ไม่รวมอยู่ใน 200 คนนั้น

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ หลังได้รัฐบาลใหม่ ประชาชนได้ช่วยกันลงชื่อภายในเวลา 3 วัน ได้ 211,904 รายชื่อ เพื่อเสนอให้ทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและเลือกตั้ง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) 100 %

 

 

เราเดินทางมาถึงในวันที่ประชาชนพร้อมลุกขึ้นมา เราจะต่อต้านประหารด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ช่องทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ทำได้ด้วยการออกไปประท้วงเท่านั้น แต่ขั้นตอนทางกฎหมายมันมีอยู่ คือเราสามารถเข้าลงชื่อกันเพื่อเสนอได้และเราทำไปแล้ว เราเดินทางมาประกาศจุดยืนกันแล้วว่า เราต้องการเขียนใหม่ทั้งฉบับ และ สสร.เลือกตั้ง 100 % เราเสนอแค่นี้เบาๆ เป็นพื้นฐานที่น่าเข้าใจไม่ยาก

แต่รายละเอียดขอฟังอาจารย์นันทนา การเลือกตั้ง สสร.เป็นไปได้ไหม จริงๆ ประเทศเราไม่เคยมีการเลือกตั้ง สสร.มาก่อน เรากำลังเสนอสิ่งที่จริงๆ เป็นพื้นฐานมาก แต่ประเทศเราไม่เคยมี เลยดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และถ้าเราจะเลือกตั้ง สสร.จะเลือกตั้งกันอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไรดีครับ

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส :

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องที่มาของ สสร. ดิฉันได้ฟังอาจารย์อนุสรณ์ ปาฐกถานำ ดิฉันคิดว่าอาจารย์ได้ทำการบ้านมาดีครอบคลุมทุกประเด็น อธิบายหมดว่าทำไมเราต้องรื้อ เราต้องร่าง เราต้องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ฟังอาจารย์อนุสรณ์จบคือยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ได้เลย อาจารย์พูดแทนเราได้ทั้งหมด เป็นการอธิบายภูมิหลังทั้งหมดจนกระทั่งมาถึงวันนี้

 

 

พอมาฟังอาจารย์มุนินทร์ พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ซึ่งแทนที่จะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญที่สกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดิฉันนึกง่ายๆ ถ้าเผื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นคน ฟังดูจากโทษฐานตรงนี้ต้องประหารชีวิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็คือการยกเลิก

มาถึงอาจารย์พรสันต์ ตั้งประเด็นน่าสนใจมากก็คือว่า มันเป็น Double Coup D’état โดยใช้รัฐธรรมนูญ คือซับซ้อนจากการที่เอาอำนาจเราไปแล้วยังมากระทำย่ำยีต่อเนื่องด้วยกฎหมายสูงสุด

ก็เช่นเดียวกัน ดิฉันก็ไม่เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เราคงจะต้องยกเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้ออกไปแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่เลย ก็คือจะต้องรื้อทิ้งและร่างใหม่ ซึ่งไม่ทราบว่าคุณนิกร จะเห็นด้วยหรือเปล่าในฐานะกรรมาธิการที่จะมาดูเรื่องของประชามติตรงนี้

“รัฐธรรมนูญ” เราเคยสังเกตไหมว่า ถ้าเผื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยก็จะอยู่ได้นาน อันนี้ก็แปลกดี เป็นอาถรรพ์หรืออย่างไรไม่ทราบ รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ค่อยดีจะอยู่นาน แต่รัฐธรรมนูญที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะอยู่สักแป๊บๆ และมีคนเอาไป ซึ่งเป็นอาถรรพ์หรืออะไรไม่ทราบ

91 ปีที่ผ่านมา จาก 2475 จนถึงปัจจุบัน เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เป็นประเทศที่ผลิตรัฐธรรมนูญได้เยี่ยม เร็วมาก 4 ปีครึ่งออกมาฉบับ ปั๊มออกมา และเวลาที่จะยกเลิก ถ้าเป็นทหารฉีกแป๊บออกไปเลย แต่ถ้าเป็นประชาชนแล้วมีความรู้สึกอยากจะแก้อันนี้ก็ลำบากยากเย็นเข็ญใจเหลือเกิน แล้วพอมาถึงฉบับนี้ ซึ่งอาจารย์อนุสรณ์ก็ได้บอกไปตั้งแต่ตอนต้นแล้ว บอกว่าประชาชนเขาก็มีฉันทามติ เขาเลือกซีกข้างที่จะมาเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยไปประมาณ 70% แปลว่าเขาไม่ได้อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่หลังการเลือกตั้งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากการที่มองรัฐธรรมนูญด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดี กลายเป็นว่าเราก็ไม่อยากจะยกร่าง เราก็อยากจะแก้ไขมัน หมวดนี้เราก็จะคงไว้ ในเชิงของการสื่อสารนี้ ดิฉันอยากจะตั้งฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นฉบับตุ๊กแก มันเปลี่ยนสี เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปจนเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สุดทางของเรา จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร เพราะจากตอนแรกที่ก่อนเลือกตั้งที่แบบหาเสียงกันเราจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ อะไรต่ออะไร แล้วทำไมหลังเลือกตั้งกลายเป็นอย่างนี้ แค่ตั้งคณะกรรมการทำประชามตินี้กี่เดือนแล้วคุณนิกร หลายเดือนไปแล้วยังเงียบๆ อยู่เลย 3 เดือนแล้ว คือก็เลยมีความรู้สึกว่า เอาล่ะ วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญเราก็มาพูดกันเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไป เราจะอดทนพูดกัน จนกว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรได้

 

 

ดิฉันเองเสนอกับทางผู้จัดว่า ดิฉันอยากจะพูดเรื่องของคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า สสร. คือสารตั้งต้นหรือเป็นอย่างที่ iLaw ใช้คำว่ากระดุมเม็ดแรกก็ถูกต้อง มีความสำคัญมากๆ เพราะว่าคนที่จะมาร่างนี้จะบ่งบอกทิศทางของรัฐธรรมนูญ ถ้าเช่นนั้นดิฉันจะเอ่ยชื่อของนักกฎหมายที่เราลองจินตนาการว่า ถ้าได้ชื่อคนเหล่านี้มาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เช่น มีชัย ฤชุพันธุ์, พรเพชร วิชิตชลชัย, วิษณุ เครืองาม หรือบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พอพูดชื่อชุดนี้เรานึกออกใช่ไหมว่ารัฐธรรมนูญ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเฉพาะ Thailand Only แล้วถ้าเราพูดถึงแบบ อุทัย พิมพ์ใจชน หรือ ธงทอง จันทรางศุ แล้วจะนึกถึงอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นตรงนี้สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ ถึงจะต้องมาพูดกันตรงนี้

ดิฉันอยากจะเริ่มจากหลักการสำคัญของ สสร. ก่อน หลักที่ควรจะยึดเอาไว้ตั้งแต่ต้นเลย ถ้าเราจะไปสรรหาเลือกตั้งอะไรมา

ประการที่ 1 คือต้องยึดโยงกับประชาชน อันนี้สำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เราก็จะพบว่าก็มาจากผู้มีอำนาจสั่งให้เกิดขึ้น ผลิตออกมา ปั๊มออกมาตามใบสั่ง ประชาชนต้องการอะไร ดูเหมือนว่าสิ่งที่ร่างอยู่มันจะเป็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นถ้าหลักการที่ถูกต้องแล้วคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดที่จะมาบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศก็จำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ และ สสร.ก็ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของเขาที่จะไปบอกว่าประชาชนต้องการอะไร

ประการที่ 2 ต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจ จะเป็นมือที่มองไม่เห็น หรือใดๆ ทั้งสิ้นทั้งปวงก็ตาม ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อที่จะไม่ให้รัฐธรรมนูญนั้นถูกร่างขึ้นมาตามใบสั่งของผู้มีอำนาจกลุ่มใดหรือคนใดคนหนึ่ง

 

 

และประการที่ 3 ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมอย่างมาก เราก็ได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เราเชื่อกันว่าจนถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ดีที่สุดก็คือฉบับปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการทำ Public Clearing หรือทำประชาวิจารณ์เยอะมากในหลายๆ เรื่อง แล้วก็ออกมาในสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งตรงนี้ถ้าประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมยิ่งมากยิ่งดี ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปิดที่งุบงิบร่างกันหรือฉบับที่เขาเรียกว่าฉบับใต้ตุ่ม พวกเราเคยได้ยินรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาก่อนการรัฐประหารปี 2490 คือเตรียมไว้แล้วว่าจะรัฐประหารและเตรียมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉีกปั๊บล้วงออกมาจากใต้ตุ่มใช้ได้เลย เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรต่ออะไร ซึ่งน่าจะไม่มีแล้วในยุคนี้ การร่างรัฐธรรมนูญ สสร.จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด

ประการที่ 4 คือ การร่างควรจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีแต่เราจะร่างกัน 4 ปีเป็นอย่างน้อย หรือใกล้ 4 ปีหรือจะเกิน 4 ปี เหมือนอย่างรอบที่แล้วที่ขึงขังกันมากเข้ามาจะต้องแก้รัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้งปี 62 แก้ได้มาตราเดียว และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเลยคือ แก้วิธีการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ อะไรแบบนี้ ทำให้มีความรู้สึกว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ตั้งคณะมาอย่างดีแต่ว่าไม่มีกรอบเวลา และยืดเยื้อยาวนานสกัดกันไปสกัดกันมา สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าประชาชนจะรอไหวไหม ดิฉันเริ่มรู้สึกแบบวังเวงและหมดหวังว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะร่างใหม่เสร็จทันในช่วงชีวิตดิฉันหรือเปล่า เริ่มรู้สึกว่า แค่ตั้งคณะกรรมการประชามตินี้ไปก็ 3 เดือนแล้ว แล้วหลังจากนั้นจะยืดเยื้อไปขนาดไหน

เราดูถึงหลักการสำคัญไปแล้ว ดิฉันก็อยากจะมาเสนอถึงคุณลักษณะของคนที่จะมาเป็น สสร. ว่าควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร

อย่างแรก ควรจะมีความหลากหลายให้มากที่สุดเพราะอย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่บังคับใช้กับทุกคน การกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มาร่าง ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็จะร่างให้กับผลประโยชน์กับชนชั้นนั้นอะไรประมาณนี้ เราก็ควรจะให้เกิดความหลากหลายให้มากที่สุด เรื่องวิธีการหลากหลายเดียวเรามาว่ากัน

 

 

และอย่างที่สอง อายุก็มีการพูดกันไปถึงว่า เดิม สสร.จะ 35 (ปี) ขึ้นไปใช่ไหม ดิฉันคิดว่าถ้าเขามีสิทธิเลือกตั้งได้เขาก็มาเป็น สสร.ได้ 18 ปี ดิฉันว่าได้ละ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสูงสุดคือไม่เกินเท่าไรอย่างนี้ใช่ไหม เพราะว่าบางทีก็อายุเยอะไปหน่อย แล้วเข้ามาเป็น สสร.ไม่นานก็ต้องเลือกตั้งซ่อมอีกอะไรประมาณนี้ ให้มีเพดานสัก 18 ถึง 80 ก็ให้สูงพอสมควร เพราะส่วนใหญ่พวกที่อายุเยอะส่วนใหญ่มาร่างแล้วมันจะแสบๆ ทั้งนั้นเลยต้องใช้เพดานกำหนด 

ดิฉันอยากใช้คำว่า เป็น สสร. หรือคุณลักษณะของ สสร.ที่สกัดหน้าเก่า คือว่าถ้าคนที่เคยเป็นมาแล้ว เคยเป็น สสร.มาแล้วหรือว่าเคยเป็น สส. เคยเป็น สว. มาแล้ว ดิฉันว่า ไม่เอาดีกว่า เราอยากได้อะไรใหม่ๆ ที่ไปข้างหน้า และอยากได้คนที่เขามีความคิดที่จะมาสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นกฎหมายสูงสุดตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ตรงนี้ถกเถียงกันได้ แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่าคนที่เคยเป็นมาแล้ว ถ้าให้คนใหม่ขึ้นมาจะมีสิ่งที่เป็นอะไรที่ไม่ใช่เป็นปมที่เขาเคยรู้สึกว่าเขาจะต้องมาทำตรงนี้ เพื่อใคร มีการตอบแทนบุญคุณ มีระบบอุปถัมภ์ค้ำชูอะไรประมาณนี้ ก็คิดว่าควรจะมีคุณลักษณะแบบนี้ก็คือ ไม่เอาคนเก่า ซึ่งบรรดาคนที่เคยเป็นมาแล้ว ถ้าว่าด้วยวัยก็เยอะด้วยประกอบกัน

ทีนี้มาดูถึงเรื่องจำนวน ดิฉันคิดว่าน่าจะอยู่สักประมาณ 150 ถึง 200 คน คือคิดว่าเป็นการเลือกตั้งทางตรง 150 คน โดยเอาเขตจังหวัด หาสัดส่วนกันบางจังหวัดคือทุกจังหวัดจะต้องมี 1 คนแต่จังหวัดที่มาก เอาส่วนเกินจาก 76 จังหวัด เอามาเฉลี่ยและให้เฉลี่ยกันไป และมีเลือกตั้งในลักษณะที่เป็นทางอ้อมนี้จะเป็นพวกสายวิชาการ NGO วิชาชีพอะไรต่างๆ อีกสัก 50 คน โดย 50 นี้ให้ตัวแทนของประชาชนคือ สส. เลือก คือ 50 กว่าคนนี้ให้สภาวิชาชีพอะไรต่างๆ ให้เขาเสนอเข้ามาแล้วให้ สส. เป็นคนเลือก ไม่เอา สว.เลือก ยังสยองอยู่

 

 

ดิฉันเสนอว่า คณะยกร่างซึ่งทำหน้าที่โดยเฉพาะยกร่าง ตรงนี้จะเป็นอาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ โดยตรง 30 คน ไม่รวมอยู่ใน 200 โดย 30 คนนี้มายกร่าง ทำหน้าที่ในการยกร่างและอยู่ในคณะนี้เป็นพี่เลี้ยง ถ้าจะแก้จะอะไร 30 คนนี้จะคอยเรียบเรียงสรุปถ้อยคำอะไรต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นในคณะชุดนี้จะมีประมาณ 230 คน โดย 200 คนนี้มาจากการเลือกตั้งส่วน 30 คนนี้ ให้ สสร.เป็นคนลงมติเลือก 30 คนนี้เป็นคณะยกร่าง

ดิฉันใช้คำเรียก กลุ่มคน 200 คนนี้ว่า Super board (กลุ่มคณะกรรมการเพื่อมากำกับดูแลเรื่องสำคัญ) จะเป็นคนดูการร่างของ 30 คนนี้ และคอยให้คำแนะนำถ้าจะมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากชุดที่ยกร่างขึ้นมา

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo

 

ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์