ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ข้อเสนอของก้าวไกลกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน

23
ธันวาคม
2566

Focus

  • การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นโอกาสของการสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรอบเกือบ20 ปีที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงการมีระบบการเมือง (แบบไหน) ที่ประชาชนอยู่ด้วยกันได้ แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน
  • รัฐธรรมนูญใหม่ควรผ่านกระบวนการที่จะได้ข้อตกลงร่วมกันที่ไม่มีใครได้ทั้งหมดและไม่มีใครเสียทั้งหมด ไม่ห้ามที่จะแก้หมวดใดๆ แต่ก็ไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐ (รัฐเดี่ยว) และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ตามข้อห้ามที่มีอยู่)
  • ถึงกระนั้นก็ตาม มนุษย์สามารถเขียนรัฐธรรมนูญที่จะแตกหักกับระบอบการเมืองแบบเก่าแบบจารีต และสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยยึดโยงกับประชาชนหรือชาติในแง่ของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นการทำประชามติและการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

พรรคก้าวไกลได้รับเชิญให้เข้าร่วมกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ แต่ไม่ได้เข้าร่วม โดยได้นำเสนอจุดยืนและแนวทางของพรรคต่อกรรมการฯ ชุดนี้แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง มีจุดไหนเหมือน จุดไหนแตกต่าง หรือควรจะเดินหน้าไปอย่างไรครับ

 

ชัยธวัช ตุลาธน

ก่อนอื่นพูดถึงวันคริสต์มาส นอกจากจะมีข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ของคุณนิกรแล้ว ยังอยากจะชวนให้ติดตามอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีล้มล้างการปกครองที่พรรคก้าวไกลถูกร้อง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตรง แต่มันก็จะสะท้อนปัญหาของการเมืองร่วมสมัยอย่างมีนัยสำคัญ กลัวว่าจะไปฉลองคริสต์มาสกันหมด เป็นการไต่สวนแต่ยังไม่ตัดสินและเป็นการไต่สวนครั้งแรก

 

 

คำถามว่าพรรคก้าวไกลเสนออะไรไปกับคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาบ้าง ก่อนที่จะไปพูดตรงนั้น ผมอยากจะชวนกลับไปที่ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่าอยากชวนคิดก่อนที่เราจะไปลงในรายละเอียด มีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก เมื่อมองจากปัญหาบริบททางการเมืองในประเทศไทย หรือมองจากเนื้อดินของเรา การพูดถึงเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างไร สำหรับผมและพรรคก้าวไกล คิดว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราพยายามจะผลักดันมีความสำคัญมากในแง่ที่ควรจะใช้โอกาสนี้ในการพยายามที่จะนำไปสู่การสร้างฉันทมติใหม่ให้กับสังคมไทยให้ได้

เพราะก็ต้องยอมรับว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าในแง่หนึ่งความขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมืองที่ดำเนินสืบเนื่องมา สะท้อนสิ่งหนึ่งว่า พวกเราไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหน เราไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ว่า เราแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่เรามีระบบการเมืองแบบไหนที่เราเห็นร่วมกันว่าเราอยู่ด้วยกันได้ โดยยังมีความแตกต่างอยู่ ดังนั้น อันนี้เป็นโจทย์สำคัญที่จะเชื่อมโยง ผมอยากให้การออกแบบกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คำนึงถึงโจทย์นี้ด้วย

ทำไมถึงต้องพูดเรื่องนี้ เพราะว่า ถ้าเราไปออกแบบกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งแล้วทำให้คนบางกลุ่มบางฝ่ายเขารู้สึกว่าเขาถูกกีดกันออกจากกระบวนการนี้ไปตั้งแต่แรก สิ่งนี้จะทำให้เราเสียโอกาสที่จะสร้างฉันทมติใหม่ให้กับสังคมไทย

 

 

ผมพูดแบบนี้หมายความว่าเราทราบดีและผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ 100% เพียงแต่ว่าผมอยากให้ช่วยกันออกแบบให้ทุกฝั่งทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ ได้มีเสียงของเขา แล้วสุดท้ายก็คงจะได้กระบวนการ ได้ข้อสรุปที่เห็นร่วมกัน มี Common Ground (ข้อตกลงร่วมกัน) ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้ประเด็นนี้สำคัญ

ดังนั้นที่ผมท้วงติง ยกตัวอย่างเช่น ที่พรรคก้าวไกลท้วงติง ทำไมเราถึงไม่ควรจะไปตั้งคำถามประชามติหรือกรอบว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะห้ามแตะหมวดนั้นหมวดนี้ ทั้งๆ ที่เรามีกรอบอยู่แล้วว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ช่องทางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะไปจัดแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มันไปกระทบกับรูปแบบของรัฐ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อยู่แล้ว อันนี้ยกตัวอย่างมา

คือคิดจากไอเดียนี้ว่าถ้าเราไปทำแบบนี้ อาจทำให้บางฝั่งบางฝ่ายที่เขารู้สึก เขามีความเห็นทางการเมืองของเขา ซึ่งความเห็นทางการเมืองของเขาอาจไม่ได้รับการตอบรับจากคนส่วนใหญ่ก็ได้ แต่เขาควรจะมีเสียงอย่าเพิ่งไปออกแบบกระบวนการอะไรที่กีดกันเขาออกไป แน่นอนมองในมุมอีกมุมหนึ่งก็รู้สึกว่าในความเป็นจริงทางการเมืองมันไปยาก แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็จะทำให้เราเสียโอกาสที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่ลากยาวมาประมาณ 18 ปีแล้ว

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ดังนั้นถ้ามองไปในรูปธรรมตั้งแต่ประชามติเลย คำถามก็ต้องมีความละเอียดอ่อนในการออกแบบ ผมเห็นด้วยว่าคำถามควรจะมีหลายคำถาม และคำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่รวบรวมความเห็นร่วมได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้คนที่อาจเห็นด้วยกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ 60 แต่เขาอาจไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขรายละเอียดที่ถูกใส่เข้ามาในคำถาม แล้วเอาเสียงของเขาไปรวมกับคนที่ต้องการที่จะอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นอย่าไปออกแบบคำถามที่ลงรายละเอียดเยอะจนเกินไป

 

 

และจะดีมากถ้าเราสามารถออกแบบคำถามพ่วงหรือคำถามที่ 2 ที่ 3 แล้วเอาความเห็นที่แตกต่างไปถามเลยก็ได้เพื่อสามารถที่จะได้มีข้อยุติร่วมกันเบื้องต้น เช่น ทั้งฉบับหรือจะเว้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ หรือจะถามว่า สสร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดไหม อย่างนี้เป็นต้น ก็ไปไว้ในคำถามพ่วงก็ได้เพื่อให้เราได้ข้อยุติร่วมกันโดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแบบนี้ผมคิดว่าอย่างน้อยทุกฝักทุกฝ่ายเขาได้มีพื้นที่

แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นว่าอย่างไร และตรงนี้จะเป็นข้อดีด้วยที่ทำให้ฝ่ายสภาเมื่อมีประชามติออกมาแล้ว มีข้อยุติในประเด็นใหญ่และประเด็นปลีกย่อยก็สามารถที่จะไปจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามผลของประชามติได้เป็นข้อดีของมัน

ประเด็นที่ 2 ผมคิดว่าเวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ แน่นอนเราก็มักพูดว่าเป็นกฎหมายสูงสุด พูดถึงรัฐธรรมนูญในแง่ทางกฎหมายทำให้บางทีเรื่องรัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องของนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญ นักรัฐศาสตร์ นักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพ และรู้สึกว่าเราอยู่ตรงไหน ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน ผมเลยอยากชวนมองอีกมุมหนึ่ง

ผมคิดว่าถ้ามองรัฐธรรมนูญในมิติของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ ผมคิดว่าสิ่งที่มันน่าสนใจหรือเป็นนัยสำคัญมากก็คือว่าก่อนหน้าที่จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ระบบระเบียบการเมืองของเราบางที่ก็เกิดจากการอ้างอิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ อำนาจทางศาสนา หรือบุญบารมีและก็ใช้กำลังทางทหารกองทัพในการควบคุม แต่มนุษย์ก็มีสิ่งที่เรียกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และถ้าเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่เรียกว่า เกิดนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ขึ้นมาซึ่งมหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ในแง่ที่ว่าให้เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่มนุษย์เขียนขึ้นในนามของประชาชนในนามของชาติ เขียนขึ้นมาเพื่อที่จะแตกหักกับระบอบการเมืองแบบเก่าแบบจารีต และสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ขึ้นมาโดยยึดโยงกับประชาชนหรือชาติในแง่ของคนส่วนใหญ่

ในแง่นี้หมายความว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือชนชั้นปกครองอภิสิทธิ์ชนประทานมาให้พวกเรา แต่รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์หรือประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ทรงอำนาจในการที่ออกแบบ สถาปนา ก่อตั้ง รูปแบบทางการเมืองที่เราปรารถนาได้ ผมอยากจะให้เรามองรัฐธรรมนูญในแง่ตอนเริ่มต้น ในแง่ประวัติศาสตร์สังคมของเรา อยู่ดีๆ มีเอกสารขึ้นมาที่เราเขียน เราอยากได้แบบนี้ อยากอยู่แบบนี้ โดยไม่ต้องอ้างอิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เราอยากที่จะอยู่แบบนี้ร่วมกันและเป็นอำนาจของเราที่เราจะไปกำหนด

 

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่อยากจะพูดถึงดังนั้นมองในแง่นี้ ความสำคัญเวลาเราพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ มันคือการต่อสู้กันด้วยว่าใครเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นสำคัญมากๆ และเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยด้วยจนถึงทุกวันนี้ว่า ตกลงประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า ดังนั้นถ้าคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ การออกแบบ สสร.ผมคิดว่าเราต้องพยายามทำให้ สสร.ยึดโยงหรือแสดงออกซึ่งอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่มีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในการกำหนดระบบการเมืองที่เราปรารถนา

ด้วยวิธีคิดแบบนี้พรรคก้าวไกลถึงเสนอว่า เราอยากเห็นไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าสามารถออกแบบให้มาจัดการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดได้ยิ่งดี แต่มันอาจจะมีคำถาม เช่น ถ้าเกิดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้วผู้เชี่ยวชาญจะไปอยู่ตรงไหน กังวลว่าประชาชนทั่วไปจะเขียนรัฐธรรมนูญไม่เป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน หรือความหลากหลายกลัวว่าถ้าเราเลือกตั้ง สสร.โดยตรงอาจมีกลุ่มที่ถูกผลักออกมาเป็นชายขอบ จะประกันความหลากหลายได้ไหม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่ออกแบบได้ เช่น ตอนนี้กรรมาธิการพัฒนาการเมืองของ สส. ซึ่งคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นประธาน กำลังศึกษาตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาโมเดล สสร.เพื่อมานำเสนอเหมือนกัน เพื่อที่จะพยายามออกแบบตัวเลือกว่าควรจะมี สสร.แบบใดได้บ้างที่ยึดโยงกับประชาชนได้มากที่สุด

หรือถ้าเกิดเราคิดว่า เราไม่อยากได้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบรายพื้นที่ทั้งหมด เราอยากให้มีพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ อยากให้มีพื้นที่ของตัวแทนความหลากหลาย มันก็สามารถออกแบบได้ เช่น เลือกตั้งโดยตรงเหมือนกันแต่เลือกเหมือนเป็นบัญชีรายชื่อให้คนมาสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญไหม ตัวแทนความหลากหลายไหม หรือให้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงไปเลือกบรรดาตัวแทนความหลากหลายหรือผู้เชี่ยวชาญที่มาสมัคร ให้ สสร.ไปเลือกทางอ้อม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นรายละเอียดแต่ผมคิดว่าอยากให้ชวนมองประเด็น 2 ประเด็นสำคัญที่ผมชวนคิด ไม่งั้นจะกลายเป็นไปถกเถียงกันเรื่องเทคนิคมากจนเกินไป

และในประเด็นที่ 2 มีหลายเรื่อง เช่น อาจต้องระวังผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการร่างฯ นี่แหละตัวดี คือเวลาผมพูดถึงประเด็นที่ 2 ต้องให้สะท้อนจริงๆ ว่าประชาชนเข้ามาเป็นผู้ร่างจริงๆ ดังนั้นอาจมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยโดยตรง แต่ถ้าเราออกแบบไอ้กลไกเขียน เช่น กรรมการหรือกรรมาธิการร่างฯ แล้วไม่ระวังผู้เชี่ยวชาญที่มาร่างระวังจะถูก High Jack (ปล้น, หักหลัง) เหมือนกันซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องไปว่ากัน

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่ผมอยากย้ำคือ 2 ประเด็นนี้

  1. ต้องอย่าทำให้เราเสียโอกาสในการทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นกระบวนการในการสร้างฉันทมติใหม่ให้กับสังคมไทยให้ได้ ซึ่งเราหาไม่ได้มา 18 ปีแล้ว ถ้าทำแล้วไม่ตอบโจทย์นี้น่าเสียดาย
  2. การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องพยายามเข้าไปยึดโยงและยอมรับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมคิดว่าอยากให้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ที่ชวนคิด

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ขอบคุณคุณชัยธวัช ผมอยากถามต่ออีกสักนิดนึง ขอให้ข้อมูลอีกคือรัฐธรรมนูญช่วงหลังมาเวลาออกแบบเขาจะเขียนเพื่อป้องกันอะไรบางอย่าง อย่างเช่น ตอนที่เขาออกแบบระบบเลือกตั้งปี 62 เขาก็ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยใหญ่เกินไปก็ไปตัดทอนทำให้พรรคกลางๆ รุ่ง พรรคอนาคตใหม่ก็เลยเกิดขึ้นมา แต่พอออกแบบระบบเลือกตั้งปี 66 เขาคิดแล้วว่าพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐจะใหญ่ก็จะไปออกแบบระบบเลือกตั้งที่โปรพรรคใหญ่ ปรากฏว่าก้าวไกลใหญ่สุด ก็กลายเป็น 2 ครั้ง พยายามจะทำการกันบางคนออก แต่สุดท้ายออกแบบเกมแล้วไปตกในมือพรรคส้ม

พอเขาออกแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ให้มันแก้ไขยาก เขาก็ไปใส่เงื่อนไขเอาไว้ว่า ต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 และต้องมีเสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 ตกมืออีกแล้ว คือตอนนี้ฝ่ายค้านมีก้าวไกลประมาณ 150 ประชาธิปัตย์ประมาณ 24 ไทยสร้ายไทย 6 เพราะฉะนั้นขออภัยจำไม่ได้ ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ให้ผ่าน เหมือนกับตอนนี้มีอำนาจอยู่ในมือว่า ถ้าจะไม่โหวตให้บางอย่างจะแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่แน่ใจว่า ทางพรรคมีจุดยืนอะไรที่เข้มแข็งชัดเจนไหม ว่าถ้ารัฐบาลเสนอมาอย่างนี้จะโหวตและถ้าเสนออีกอย่างหนึ่งจะไม่มีทางโหวตให้แล้วไปไม่ได้

 

 

ชัยธวัช ตุลาธน

ถ้าจะมีก็มาจากหลักคิด 2 ข้อใหญ่ แต่ว่าเป็นเหตุผลด้วยที่ทำไมพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 คือทำอะไร ครั้งที่ 2 แน่นอนต้องทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และถ้าเราไปแก้รัฐธรรมนูในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี สสร. รัฐธรรมนูญบังคับให้ทำประชามติ และครั้งที่ 3 ก็ควรจะต้องทำเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญ เมื่อ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญออกมาก็ควรจะผ่านประชามติของประชาชน

โดยครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันว่าจำเป็นต้องทำไหม หลายคนก็บอกว่าโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ทำ แต่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ดูคลุมเครือเหมือนจะต้องทำ ก้าวไกลยืนยันว่าถ้าอ่านรัฐธรรมนูญจริงๆ เรามีอำนาจเต็มที่ที่ไม่ต้องทำ สู้และคัดค้านไม่เห็นด้วยมาโดยตลอดเวลาเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วมีใครไปยื่นให้ศาลต้องตีความ เรายืนยันเต็มที่ว่านี้เป็นอำนาจของสภาไม่จำเป็นต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ

ต้องยอมรับว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ไม่กล้ายืนยันเรื่องนี้เวลามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาในลักษณะคลุมเครือ ควรจะต้องอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่กล้าฝืนซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก สมัยสภาครั้งที่แล้วเป็นไปครั้งหนึ่ง ถ้าจำได้สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ผมวันนั้นในฐานะกองเชียร์ ก็บอกว่าทำไมไม่ลุย ในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่บอกว่าต้องทำแต่คนไม่กล้าไง

ดังนั้น เราควรทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อนเลย ทำเสร็จแล้วเราจะได้มีความชอบธรรมทางการเมือง หลังพิงประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะได้ไปเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภาโดยสบายใจ และเหตุผลที่ 2 แน่นอนพรรคก้าวไกลจุดยืนเราเห็นว่าประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ควรจะแก้ได้ทั้งฉบับภายใต้ข้อจำกัดที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล็อคไว้อยู่แล้ว ว่าแก้ได้ทั้งฉบับ แก้อย่างไรก็ได้แต่ห้ามไปละเมิด 2 อย่าง คือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไม่ได้และกระทบกับระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ เราไม่เห็นด้วยว่าในการล็อคอะไรไป

แต่ถ้าในการทำประชามติครั้งแรก ถามให้ชัดไปเลยอยู่ในคำถามพ่วงก็ได้ แล้วประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าเห็นด้วยกับการล็อค ผมคิดว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลจะเดินตามประชามตินี้ ผมตอบไม่ตรงคำถามซะทีเดียว แต่ผมบอกว่าข้อดีของการทำประชามติตั้งแต่แรกและการมีคำถามพ่วงจะสามารถยุติความเห็นต่างโดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยได้ และจะเป็นข้อดีในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยราบรื่น ดังนั้นถ้ามีทำแบบนี้แต่ไม่ตรงกับความคิดเราผมคิดก้าวไกลยินดีเดินตามเสียงส่วนใหญ่

 

 

รับชมวีดิทัศน์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo

 

ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.