Focus
- การรัฐประหารไม่จำเป็นต้องใช้กำลังอาวุธ แต่สามารถกระทำได้ผ่านเทคนิคและตัวบทของรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการผนวกรวบข้อความของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ใส่เข้าไปให้สอดคล้องกับเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
- การใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยเหลือในการทำรัฐประหารให้มีความสำเร็จและอยู่ต่อเนื่อง เป็นการสร้างอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ขัดกับหลักการในทางรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย ในระบบกฎหมายอย่างเป็นทางการ
- การรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้เกิด (1) การลดทอนความเป็นประชาธิปไตย (2) การควบคุมกำกับและครอบงำการเมือง (3) การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง และ (4) การคงสถานะของตัวอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับมาชอบด้วยกฎหมายให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้
- การรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดผลกระทบ อาทิ (1) ผลกระทบต่อระบบการเมืองที่ทำให้เกิดการลดน้อยถอยลงของระบอบประชาธิปไตย (2) ผลกระทบในทางระบบกฎหมายที่เป็นหลักนิติธรรมในประเทศ และ (3) ผลกระทบในสังคม คือสังคมมีความแตกแยกและขัดแย้งกันสูง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
อาจารย์พรสันต์ จะพูดถึงประเด็นการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารไม่ได้แปลว่าต้องเอารถถัง เอาปืน เอาลูกกระสุนมาจี้หัวอย่างเดียว แต่สามารถทำได้ผ่านรัฐธรรมนูญได้ด้วย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย :
สวัสดีท่านวิทยากร ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้ ขอบคุณทางสถาบันปรีดี ที่ให้เกียรติเชิญให้ผมมาเป็นหนึ่งในวิทยากรในวันรัฐธรรมนูญ วันนี้ประเด็นที่ผมจะหยิบยกขึ้นมาชวนแลกเปลี่ยนพูดคุย มีบางประเด็นที่สอดคล้องกับที่อาจารย์มุนินทร์พูดไปแล้ว
ผมพยายามเสริมด้วย ส่วนตัวจากทางสถาบันเรียนเชิญมาครั้งแรก บอกว่าอยากให้ผมพูดเรื่องประเด็น การทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วเป็นประเด็นที่ผมเคยเปิดเอาไว้ ช่วงวันครบรอบ 91 ปีอภิวัฒน์สยาม ในการจัดของสถาบันปรีดี เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ผมเห็นว่าประเด็นนี้จริงๆ แล้ว เป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่เช่นเดียวกัน ตรงกับสิ่งที่ผมอยากจะพูดด้วย ผมขออนุญาตที่จะเริ่มตั้งต้นประเด็นแบบนี้ก่อน เนื่องจากว่าผมเห็นหัวข้อที่ตั้งขึ้นมา คือ ‘การ รื้อ ร่าง สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ผมคิดว่า ณ ที่นี้ทั้งตัววิทยากร หลายคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองหรือว่าติดตามในเรื่องของตัวบทกฎหมายจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างสร้างปัญหาอยู่พอสมควร จริงๆ ไม่ใช่พอสมควรแต่ค่อนข้างเยอะเลย
รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ Function หรือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเอง โดยนับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในความเห็นส่วนตัว รัฐธรรมนูญปี 60 มีการยกร่างโดยมีการใช้เทคนิคในการร่างรัฐธรรมนูญที่มีความซับซ้อนพอสมควร ที่ผมบอกว่าซับซ้อน เนื่องจากว่ามีการผนวกรวบความรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาใส่สอดคล้องด้วยผ่านบทเฉพาะกาล ผมจะอธิบายอีกทีว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การฟังก์ชัน (การนำมาปฏิบัติ) ของรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหาอย่างยิ่ง
และกว่าที่ตัวรัฐธรรมนูญปี 60 จะฟังก์ชัน (มีประสิทธิภาพ) จริงๆ คือ ช่วงที่คุณประยุทธ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2562 เราจะไปดูเพียงแค่ว่า รัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้ในเดือนเมษายน 60 แล้วฟังก์ชันเลยคงไม่ใช่ อันนี้คือผมอธิบายในเชิงหลักวิชา ผมกำลังจะชวนทุกท่านแบบนี้ ต่อให้เราเห็นพ้องเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อให้เกิดปัญหาเยอะแยะมากมาย
แต่ผมคิดว่าในทางวิชาการ ในการที่เราเข้าไปทำความเข้าใจหรือว่าดูถึงปัญหาของระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่า ‘ระบอบรัฐธรรมนูญ’ ในที่นี้คือ เป็นกลไก เป็นองค์กรที่ถูกก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญปี 60 ว่ามีปัญหาอะไรอย่างไร
ผมคิดว่านอกจากจะทำให้เราเห็นเป้าหมายอย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหาแล้ว ผมคิดว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจจะต้องตั้งเป็นข้อสังเกตุบางประการในการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ผมตั้งประเด็นแบบนี้ก่อน เรื่องการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วผมใช้คำว่า Constitutional Coup D’état แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘การทำรัฐประหารซ้อน 2 ชั้น’ หมายถึงการที่ทหารจะทำการรัฐประหาร ในสมัยก่อนจะมีการลากปืน ลากรถถังออกมา มีการยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไป
แต่นับตั้งแต่การใช้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลังช่วงศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยเหลือในการทำรัฐประหารให้มีความสำเร็จและอยู่ต่อเนื่อง ต่อไป อย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ นั่นหมายถึงว่า กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 60 เป็นเครื่องมือในการเข้าไปสร้างอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ขัดกับหลักการในทางรัฐธรรมนูญ ขัดกับหลักประชาธิปไตย ให้ปรากฏขึ้นในระบบกฎหมายอย่างเป็นทางการ
และมีการต่อขยายอำนาจนั้นต่อไปเรื่อยๆ สิ่งนี้คือประเด็นที่ผมหยิบยกขึ้นมา โดยรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ผมบอกว่า มีการใช้ตัวรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการที่จะต่อขยายอำนาจหลังจากที่มีการทำรัฐประหารเสร็จขึ้นแล้ว สร้างความยุ่งยากลำบากกับการเข้าไปแก้ไขปัญหาสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะว่ามีการใช้กลไกในทางประชาธิปไตยบางประการที่ทำให้บางครั้งเรามีอิหลักอิเหลื่อในการพูดว่า สรุปสุดท้ายแล้วสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร การทำ Constitutional Coup D’état หรือการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ วัตถุประสงค์มีอยู่ 4 ประการ
ประการแรก เข้าไปลดทอนความเป็นประชาธิปไตยให้ลดน้อยถอยลง คือ วัตถุประสงค์แรกในการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ
ประการที่สอง การพยายามเข้าไปควบคุม กำกับ ครอบงำการเมืองผ่านตัวรัฐธรรมนูญ
ประการที่สาม การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง
ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญนี้ถูกใช้ในการคงสถานะของตัวอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับมาชอบด้วยกฎหมาย และมีการต่อขยายอำนาจไปให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้
เหล่านี้คือหลักการที่เขาต้องการทำผ่านตัวรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญ 60 เข้าไปทำให้วัตถุประสงค์ 4 ประการในการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญบรรลุผล
ถามว่า ทำผ่านบทบัญญัติอะไร? ยกตัวอย่าง เช่น การเข้าไปปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง การเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากเดิมมาเป็นระบบการจัดสรรเป็นส่วนผสม โดยระบบการจัดสรรปันส่วนผสมมีการเปลี่ยน Political Landscape (ภูมิทัศน์ทางการเมือง) ใช้สูตรคำนวณ หากตอนนั้นทุกท่านจำได้ตอนนั้น กกต. (คณะกรรมการเลือกตั้ง) ยังคิดคำนวนสูตรไม่ได้ว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปทำการวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องของการคิดคำนวนสูตร สิ่งนี้คือ การใช้กลไกส่วนหนึ่งที่พยายามเข้า shuffle หรือเข้าไปล้างไพ่ ระบบการเมืองให้ปรับเปลี่ยนเข้ากับสถานการณ์ที่เขากำลังเข้ามา นี่คือบทบัญญัติอย่างแรกที่เราจะเห็นได้
อย่างที่สอง ถ้าลองไปสำรวจตรวจสอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กับปี 50 ปี 40 หรือฉบับอื่นๆ พบว่า บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การกระทำต้องห้ามต่างๆ ยาวขึ้นเรื่อยๆ และผมคิดว่า กรณีตรงนี้เวลาที่จะมีการเข้าไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องเข้ามานั่งดูด้วยว่าอะไรคือคุณสมบัติ และอะไรคือการกระทำต้องห้าม เพราะในทางรัฐธรรมนูญนั้นไม่เหมือนกัน
เท่าที่ผมเคยติดตาม พบว่าคนยกร่างเอาสองเรื่องนี้เอามาปะปนกัน ส่งผลให้เป็นการเข้าไปควบคุมการดำเนินกิจกรรม หรือการควบคุมฝ่ายนักการเมือง เข้ามาอยู่ในตัวภูมิทัศน์ในทางการเมืองได้ลดน้อยถอยลง รวมถึงถ้าพูดถึงเรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามแล้ว จะเห็นว่ามีเรื่องของมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง นี่คือครั้งแรกที่มีการปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 60
และดึงให้ศาลฎีกาเข้ามาทำการวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องของมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งตรงนี้ ถ้าถามผม ผมอาจเคยได้ยินอาจารย์มุนินทร์พูดมา หรือว่านักวิชาการในทางกฎหมายพูดมาค่อนข้างเยอะ เกี่ยวกับเรื่องของความน่าเคลือบแคลงสงสัย ความไม่ชัดเจนในมาตรฐานจริยธรรม
แต่ปัญหาที่ใหญ่มากกว่านั้นคือ คุณกำลังดึงเอาองค์กรตุลาการเข้ามาเป็นผู้ขัดแย้งในทางการเมือง เพราะศาลฎีกาปกติท่านจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในทางการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้คุณดึงเอาศาลฎีกาเข้ามาทำการวินิจฉัยเรื่องของมาตรฐานจริยธรรม และมีผลเกี่ยวกับเรื่องของการเชื่อมโยงกับเรื่องของการตัดสิทธิ์ในทางการเมืองตลอดชีวิต แม้กระทั่งเรื่องของมาตรการในการยุบพรรคอะไรต่างๆ นานา นี่คือประเด็นปัญหา
เมื่อสักครู่ที่อาจารย์มุนินทร์พูดมา ผมเห็นสอดคล้องต้องกันคือ ครั้งนี้ปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งเราคงเห็นภาพที่ค่อนข้างประจักษ์ชัดอยู่แล้ว คือ 250 สว. ที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองค่อนข้างมาก มีอำนาจในการเลือกตั้งนายก แม้กระทั่งอำนาจ สว. มีมากกว่านั้น คือเรื่องของการเห็นชอบกับผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้กระทั่งการ Design (ออกแบบ) ให้สว. 250 คน เข้าไปดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิรูปประเทศ การดูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติฉะนั้นอำนาจหน้าที่ค่อนข้างกว้างพอสมควร ยังไม่รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ
ฉะนั้นอีก 2 ประเด็นที่ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นภาพว่ามันเป็นกลไกที่ใช้ในการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน คือ การเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ เรื่องของการทำประชามติ เป็นกลไกที่ผมคิดว่า เป็นลักษณะของการเข้าไปล็อคแล้วไปตึงให้ประเทศอยู่กับที่ ผ่านมาประมาณ 8 ถึง 9 ปี ขยับเขยื้อนไม่ได้เพราะส่วนนี้ด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่ามาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ 60 แทบจะแก้ไขไม่ได้เลย เป็นการล็อคตาย ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ เป็นการฝืนธรรมชาติของรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้สอดคล้องสภาวการณ์ในทางการเมือง ในทางกฎหมาย ในทางสังคม อันนี้คืออีกปัญหาหนึ่ง
สุดท้าย คือเรื่องของการทำประชามติ เมื่อสักครู่อาจารย์มุนินทร์ได้พูดไว้แล้วในครั้งนี้มีปัญหาอย่างมาก ผมจะเชื่อมโยงกับเรื่องของกระบวนการในการจัดทำแต่ว่าในประชามติ เป็นกลไกทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในทางหลักวิชาการขาดความชอบธรรมเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าฝ่ายที่ทำประชามติจะบอกว่าผ่านโดยเสียงข้างมาก ผมเห็นสอดคล้องกับอาจารย์มุนินทร์ แท้จริงแล้วการทำประชามติที่ผ่านมา มีข้อจำกัดในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น การให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือการให้ข้อมูลด้านเดียว ดังนั้น เมื่อมีการทำประชามติตามหลักการรัฐธรรมนูญนี่คือเป็นการทำประชามติที่ไม่ชอบ
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาแล้ว ศาลที่สวิตเซอร์เเลนด์ บอกว่า การทำประชามติทำนองนี้ ถือว่าไม่ชอบธรรม เพราะประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ มีหลักการเรื่อง Principle of Sufficient Information คือหลักการที่ว่า ประชาชนที่จะออกไปทำประชามติ จะต้องได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ เพราะถ้าผู้ที่ออกไปโหวตลงประชามติได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ คำถามก็คือ เมื่อมีการโหวตไปแล้วนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เจตจำนงที่แท้จริง นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Supreme Court (ศาลสูงสุด) ของสวิตเซอร์แลนด์จึงบอกว่าการทำ Referendum (ประชามติ) ที่เกิดขึ้นในปี 2016 เกี่ยวกับเรื่องของการเก็บภาษี ไม่ชอบ (ธรรม) จุดนี้คือประเด็นปัญหาที่ผมตั้งไว้
ภาพรวม รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในการเข้าไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ฉะนั้น ก่อนหน้านี้เราจะเห็นภาพ การทำนิติสงคราม มาจากคำว่า Lawfare โดยส่วนตัวผมอาจไม่ได้เห็นว่าเป็นเพียงแค่ Lawfare เพราะในทางหลักวิชา ในทางรัฐธรรมนูญมีอะไรที่มากกว่า Lawfare เขาเรียกว่า Constitutional Lawfare คือ ไม่ใช่นิติสงครามปกติ แต่เป็นลักษณะของการทำนิติสงครามโดยใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมากระทำซึ่งมีผลกระทบมากกว่า Lawfare ทั่วไป
Lawfare ทั่วไปไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ถ้าเปรียบเทียบเคียงกับการทำ Constitutional Lawfare คือ การทำนิติของการผ่านรัฐธรรมนูญ เพราะเอาองค์กรต่างๆ ในทั้งรัฐธรรมนูญ ไปใช้โดยไม่สอดคล้องกับคุณค่าในทางรัฐธรรมนูญ คุณกำลังปรับใช้ตัวบทของรัฐธรรมนูญ โดยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และสุดท้ายผลกระทบของมันคือ ประชาชนหรือคนที่ได้รับการปฏิบัติจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญตรงนั้น เขาจะมองว่า รัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบธรรม เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรมแน่นอนว่าเป็นการบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไม่มี คำถามของผมคือ ทุกท่านกำลังคิดแบบนั้นกับรัฐธรรมนูญ 60 หรือเปล่า? ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถตอบได้ในทางหลักวิชาทั้งนั้น
ประเด็นที่ผมจะพูดต่อไปคือ เวลาเราพูดถึงเรื่องของการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ คำถามคือว่า เรื่องพวกนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอะไร นี่คือประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะหยิบยก เวลาเราพูดถึงเรื่องของผลกระทบของการทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ ผมมองว่า รัฐธรรมนูญโดยตัวมันก่อให้เกิดผลกระทบอยู่อย่างน้อย 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ การกระทบกับระบบการเมือง แน่นอนว่าทำให้ระบอบประชาธิปไตย เกิดการลดน้อยถอยลง อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ทำให้ระบบการเมืองมีปัญหา ความไม่เป็นประชาธิปไตย และในทางปฏิบัติถามว่าทำไมไม่เป็นประชาธิปไตย คุณก็รู้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 เขาไปนำรัฐธรรมนูญปี 21 บวกกับปี 34 มาใช้เป็นตัวยกร่างขึ้นมา ดังนั้นเรารู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 21 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญนี้เองมีความเป็นตัวบ่อนทำลาย ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยลดน้อยถอยลง นี่คือผลกระทบอย่างแรก
ผลกระทบอย่างที่สอง คือ ผลกระทบในทางระบบกฎหมาย เมื่อกรณีที่ความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง ย่อมเข้าไปกระทบกับเรื่องของหลักนิติธรรมในประเทศ ต้องไม่ลืมว่าในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญมีเจตจำนงในการที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเป็นเสรีประชาธิปไตย เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของระบอบประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรมต้องมาคู่กัน เมื่อประชาธิปไตยเรามีปัญหา หลักนิติธรรมเราก็มีปัญหาแน่นอน และเราได้สะท้อนให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบไปเยอะแยะมากมาย
ถ้าเราลองไปดูจากตัวข้อมูลที่ผมพอจะสืบค้นได้อยู่บ้าง ข้อมูลจากงานวิจัยของ World Justice Project ได้มีการจัดลำดับเกี่ยวกับเรื่องของนิติธรรมในประเทศไทย มีการสำรวจตรวจสอบทั้งหมด 142 ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 82 ได้ 49 คะแนนเต็มร้อย เท่ากับว่า ‘สอบตก’ เราจะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นสอดคล้องกับคำอธิบายในเชิงหลักวิชาว่า เมื่อปัญหา ผลกระทบ ที่ก่อให้เกิดประธิปไตยที่ลดน้อยถอยลง ก็ก่อให้เกิดปัญหากับเรื่องของระบบกฎหมายเช่นกัน
ต้องไม่ลืมว่า เวลาเราพูดถึงระบบกฎหมาย มีหลักการมากมาย หลายคนคงรับรู้เรื่องเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ การเลือกไม่เลือกปฏิบัติ การใช้อำนาจโดยถูกต้องตามครรลองกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าหลักการเหล่านี้ไม่ได้ถูกเคารพนี่คือผลกระทบในทางกฎหมาย
อีกประเด็นที่ผมอยากจะหยิบยก ให้ทุกท่านได้เห็นภาพ ว่าประเด็นนี้ไม่ค่อยพูดถึงกัน ผลกระทบสุดท้าย คือ ผลกระทบในทางสังคม ในช่วงหลังมานี้ ถ้าใครที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะพบว่าในต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การดูรัฐธรรมนูญใน School (สำนัก) ดั้งเดิม จะมองว่า รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดสรรอำนาจทางการเมือง ในเชิงกฎหมาย แต่ว่าในยุคหลังเขามองค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญไปเกี่ยวพันกับการจัดวางโครงสร้างในทางสังคมด้วย แล้วผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ที่เป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหารส่งผลกระทบในทางสังคม
จากข้อมูล ที่จริงแล้วผมเคยพูดถึงข้อมูลนี้กับสาธารณชนกับการให้สัมภาษณ์บ้าง คือถ้าเราไปดูข้อมูลจาก fragile state index โดยเป็นเรื่องการเข้าไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับรัฐที่อ่อนแอ ซึ่ง รัฐอ่อนแอในที่นี้คืออะไร? ถ้าพูดในภาษาที่เราเข้าใจกันง่ายๆ คือ รัฐล้มเหลว รัฐอ่อนแอ ที่เป็นผลมาจากสังคมที่มีความขัดแย้ง
สำหรับประเทศไทย คะแนนเต็ม 10 หมายถึงว่า ถ้าคะแนนเต็ม 10 คือสังคมนั้นมีความขัดแย้งสูงสุด ในปี 2549 เราได้คะแนนอยู่ที่ 7.2, ปี 2550 เราได้ 8, ปี 2551 เราได้ 7.7, ปี 2552 - 53 เราได้ 8, ปี 2554 เราได้ 8.5, ปี 2555 และ ปี 2556 เราได้ 8.8, ปี 2557 เราได้ 9.5, ปี 2558 เราได้ 10, ปี 2559 เราได้ 9.7, ปี 2560 ถึง 2562 เราได้ 9.4, ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเราได้ 9.7
คำถามคือ ข้อมูลที่ผมหยิบยกมานำเสนอทุกท่านให้เห็นภาพคืออะไร? มันสะท้อนให้เห็นว่า ช่วงระหว่างประมาณ 18 ปีย้อนหลัง ผมไล่ไปตั้งแต่ปี 49 จนกระทั่งปัจจุบัน ถ้าเราเอารัฐธรรมนูญไปทาบไว้เราจะเห็นได้ว่า ลักษณะของคะแนน ดีกรีของความขัดแย้ง เกิดขึ้นภายใต้ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 50 และปี 60 ในปี 50 ทำให้ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้น สูงขึ้นเปรียบเทียบกับการใช้รัฐธรรมนูญ 40 แต่มาพีคสูงสุดคือปี 58 ผมบอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 60 กับปี 57 เชื่อมกันอยู่ หมายความว่าเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่บอกว่า รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ในทางทฤษฎีรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่าเป็น Conflict Constitutional เป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก ผมคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญทำให้มันเองขาดคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่
เพราะรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ นอกจากจะเข้าจัดวางโครงสร้างอำนาจ เข้าไปคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน รัฐธรรมนูญเองต้องเป็นกลไกที่แก้ไขความขัดแย้งในสังคม แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้แก้แล้วยังสร้างความแตกแยก ขยายความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือประเด็นที่ผมอยากจะตั้งไว้ และในรอบ 2 จะพยายามเชื่อมโยงตรงนี้ให้เห็นภาพในอนาคตว่า ถ้าเราพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรต้องมีข้อคำนึง ข้อสังเกตอะไรบ้าง?
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นที่มาของความขัดแย้ง เราจะมองในทางวิชาการออกไปได้เหมือนกัน น่าจะเป็นที่ชัดเจนอยู่ ถ้าตามที่อาจารย์พรสันต์กล่าว รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งของการทำรัฐประหาร ทำให้เรายังต้องอยู่กับการรัฐประหารต่อมาเรื่อยๆ
ดังนั้น การต่อสู้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการผลักดันเพื่อจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะต้องทำเพื่อการต่อต้านการรัฐประหาร เป็นการเดินทางของเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อแก้บ้าง เพื่อขอเขียนใหม่บ้าง คือ การจะไม่เอารัฐประหารแล้ว ถ้าเราสถาปนารัฐธรรมนูญประชาชนได้จริงๆ เรามีความหวังว่า อำนาจรัฐประหารจะไม่ต้องมีอีก
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo
ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.
- PRIDI Talks 23
- PRIDI Talks
- วันรัฐธรรมนูญ
- รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อประชาชน
- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
- รัฐประหาร
- Constitutional Coup D’état
- รัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ
- รัฐประหารซ้อน 2 ชั้น
- รัฐธรรมนูญปี 60
- นิติสงคราม
- Conflict Constitutional
- รัฐธรรมนูญปี 57