ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทำไมจึงต้อง รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน?

24
ธันวาคม
2566

Focus

  • คำถาม : (1) 25 ธันวาคม 2566 การแถลงจากคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ถึงแนวทาง กระบวนการ และจำนวนครั้งของการทำประชามติ (2) โมเดลของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) (นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์)
  • เป้าหมายคือ ทำให้สำเร็จโดยอาศัยสสร.ที่มาจากประชาชน และมีเสียงในรัฐสภาเพียงพอให้แก้ไข แต่รัฐบาลไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 (เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์) หากแก้สองหมวดนี้อาจจะไม่คุ้ม (ไม่ผ่านที่ประชุมรัฐสภา) และเรื่อง สสร. จะตัดสินโดยกรรมาธิการรัฐสภา (นายนิกร จำนง)
  • การมีคำถามพ่วงในการทำประชามติที่ตรงไปตรงมาเพื่อให้ได้ผลประชามติที่ชัดเจน และเสนอจำนวนสมาชิกสสร. 150 คน เลือกตรง และอีก 50 คน ให้ สส.เป็นคนเลือก รวมเป็น 200 คน คือ Super-Board (คณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุด) เพื่อแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งฉบับ ไม่ใช่ทีละมาตรา (รศ. ดร.นันทนา นันทวโรภาส)
  • รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ผลที่เลวร้าย และแปลกประหลาด เช่น การตีความการนับอายุวาระของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ การทำให้เสียงประชาชนไร้ค่า ไร้ความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตย ราวกับว่าประชาชนเป็นเพียงผู้เยาว์ที่ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาล (คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ) และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรที่เรียบง่ายคือ ระบบที่ยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่ผ่านการเลือกตั้ง (รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน)
  • การยกร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขปัญหาได้จริง โดยสัมพันธ์กับการออกแบบสสร. ที่ ไม่ทับซ้อนกับ สส. และอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญในทางรัฐธรรมนูญอย่างมีสัดส่วน (อย่างไร) โดยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่โดยยึด (อะไรบางอย่างที่เป็น) คุณค่าร่วมกัน (ผศ. ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย)
  • การจะออกแบบ สสร. ที่หลากหลาย โดยไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หรืออาศัยการได้มาในแบบทั้งสองทาง และไม่จำกัดการตัดสินใจของประชาชนที่จะยกเว้นไม่แก้ไขหมวดใดๆของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งควรมองโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่จะทำให้หาฉันทามติร่วมกันได้ และเราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร ที่ลงตัวและยั่งยืนในอนาคต โดยสอดคล้องกับยุคสมัย (นายชัยธวัช ตุลาธน)

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

เรียนเชิญทุกท่าน เราเห็นด้วย เห็นต่าง เห็นอะไรร่วมกันได้ แต่ผมว่าปัญหาสำคัญตอนนี้ที่อยากถามทุกท่าน 25 ธันวาคม (คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติแถลงแนวทางประชามติสู่รธน.ใหม่) ในวันคริสต์มาสนี้เราอยากเห็นอะไร โมเดลอาจารย์นันทนา สสร.เห็นด้วยไหม เห็นต่างหรือเห็นด้วยกับท่านนิกร และเรามีกระบวนการแบบไหน ต้องทำทำประชามติกี่รอบเพื่อไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ก็เหลือเวลาไม่ได้มากนักแต่ว่าอยากจะให้ทุกท่านมีโอกาสในการ Reflex (สะท้อน) มุมไหนก็ได้ หลังจากฟังมาครับผมเชิญท่านนิกรครับ

 

 

นิกร จำนง

ผมมีประเด็นเดียว คือ ผมมีหน้าที่จัดทำและทำให้สำเร็จ เป้าหมายคือให้มาจากประชาชน อย่างที่ 2 ต้องให้แก้ได้ ปัจจุบันนี้แก้ไม่ได้ที่เคยยกร่างไว้แล้วที่ไม่ผ่านก่อนหน้านั้นคือให้ใช้เสียง 5 ต่อ 3 หมายถึงว่า 3 ใน 5 ของรัฐสภา ซึ่งทำท่าจะได้แล้วตอนนั้นครั้งนี้เป็น 2 ใน 3 ก็ได้ ให้มากขึ้นไปอีก แต่ว่าล็อคไว้เฉพาะแบบสภาหนึ่งไปล็อคสภาที่มาจากประชาชนอย่างนี้ไม่ได้ คือถ้าแก้แบบนี้ได้แล้วหลักการคือมาจากประชาชน สามารถแก้ไขได้ในอนาคตก็จะสบายใจ ส่วนรายละเอียดผมเคยศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญมา ทีนี้มีประเด็นอย่างนี้ที่จะแย้งตรงนี้ว่า ผมมีปรัชญาอยู่ว่า “ม้าดีที่ตายแล้ว มันไม่ใช่ม้าดี มันเป็นม้าตาย” เพราะฉะนั้นการกระทำตรงนี้อะไรที่มันสุ่มเสี่ยงแล้วจะทำให้คว่ำผมไม่เสี่ยงแบบนั้น

 

 

คือเราเอารัฐธรรมนูญทั้งหมดมี 16 หมวด ในขณะนี้ที่รัฐบาลนี้เว้นเอาไว้หมวด 1 หมวด 2 อีก 14 หมวดแก้หมด แล้วผมเคยศึกษาและมีปัญหาทุกหมวด เราไปแลกกับหมวด 1 หมวด 2 มันจะคุ้มหรือ อีกอย่างเรื่องที่บอกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาความขัดแย้ง ที่รัฐบาลกลัวก็คือกลัวถ้าไปเว้นหมายถึงว่าไม่เว้น มันจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง กลับมุมกันแล้วจะไม่ได้กันทั้งหมดก็ตรงนี้ก็อยากจะฝากประเด็นนี้ไว้ ส่วนเรื่อง สสร. อย่างที่บอกแล้วรอให้ความเห็นกันไปได้ แต่ว่ามันอยู่ในมือของกรรมาธิการรัฐสภา

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ขอบคุณครับ หมวด 1 หมวด 2 ถ้าไม่แก้อาจจะสร้างความขัดแย้ง หรือถ้าแก้อาจจะสร้างความขัดแย้ง เห็นต่างกันได้ครับ เชิญอาจารย์ทุกท่าน ใครพร้อมประเด็นไหน เชิญเลยครับ

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

ก็คือว่า พอได้ยินคำว่า คำถามพ่วง ทำให้รู้สึกหลอนไหม พวกเรารู้สึกหลอนไหมกับคำถามพ่วงรอบที่แล้วที่แบบ “เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงใช้องค์ประชุมของรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี” ที่เห็นด้วยไปในยังไม่รู้เลยว่า คือให้ สว.มาโหวตเลือกนายก เพราะฉะนั้นก็ฝากไว้ว่าถ้าจะมีคำถามพ่วงให้มันตรงไปตรงมาหน่อย ดิฉันอ้างอิงจากของ iLaw เขาเขียนไว้ของประเทศโคลัมเบียที่เขาตั้งเป็นคำถามให้กับประชาชน ว่าต้องการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และให้สภาร่างรัฐธรรมนูญร่างฉบับใหม่หรือไม่ เอาชัดๆ ไปเลยได้ไหมว่าแบบไม่เอาฉบับนี้ แบบจะให้ สสร. ร่างใหม่ และผลก็ออกมาประชาชน 88% เขาเอาตามนี้ ให้อะไรชัดๆ ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำจนกระทั่งอ่านแล้ว ปริญญาเอกยังไม่รู้เลยว่าตกลงจะให้ทำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคำถามอะไรมันก็ควรจะให้หลายฝ่ายมาตกลงกันว่าอันนี้มันอ่านแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า ของอังกฤษเขาไปถามนักจิตวิทยาว่าออกมาแบบนี้แล้วได้เปรียบเสียเปรียบอะไรอย่างไร อันนี้สำคัญมากถ้าเผื่อว่าจะมีทำประชามติ ก็ถามให้ชัดเจนคำถามพ่วงก็ไม่ต้องหมกเม็ดซ่อนอะไรประมาณนี้

 

 

และที่เน้นย้ำเมื่อสักครู่นี้เรื่อง สสร.ดิฉันก็พยายามที่จะออกแบบมาก็ตรง คล้ายๆ กับคุณชัยธวัช ที่ สสร.จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และไม่ต้องกลัวว่าประชาชนเขาจะไม่รู้ เขาจะไม่เข้าใจ ผู้ปกครองมักจะมีสายตามองประชาชนว่า ประชาชนยังไม่ฉลาด และให้เขาเลือกทางตรงไม่ได้ เราจะต้องมาอ้อมๆ เขาฉลาดแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาปีนี้ยืนยันแล้วว่าเขาฉลาดแล้ว เพราะฉะนั้นให้เขาเลือกไป เลือกคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ที่ดิฉันเสนอก็คือว่า 150 คน คือเลือกตรง และอีก 50 คน ให้ สส.เป็นคนเลือก เพื่อที่จะให้กลุ่มความหลากหลายวิชาชีพต่างๆ ได้เข้ามาใน 50 คนนี้

แล้วก็ที่ดิฉันมองว่าต้องมี คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเพราะว่า ถ้าตามโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาก็จะไปจัด 5 กลุ่ม แล้วก็มีกลุ่มหนึ่งใน สสร.ที่ไปทำหน้าที่ยกร่างอยู่ดี แต่ว่าดิฉันมองว่า ถ้าเรามีคณะยกร่างที่แยกจาก 200 คนนี้ออกไป แล้วเขายกร่างขึ้นมา แต่ 200 คนที่เป็น Super-Board (คณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุด) สามารถที่จะขอแก้ไขในทุกประเด็น ไม่มีข้อจำกัด ต้องใหญ่กว่า Superboard คือ ดูแล้วชอบไม่ชอบแก้ไขได้หมด แก้ได้หมด แล้วไม่มีล็อคประเด็น ประเด็นว่าอันนี้แก้ไม่ได้ อันนี้สงวนเอาไว้อันนั้น ไม่ สามารถจะแก้ได้หมด เพราะฉะนั้นมันจะทะลุปรุโปร่งแล้วมันมีประสิทธิภาพตรงที่ว่ามันจะเร็ว ตรงนี้ก็เลยมองว่าเราสามารถที่จะใช้ สสร. ในการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นี้ท่านผู้ฟังที่อยู่ทางบ้านอาจจะแบบ สสร. จากอะไร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนะคะ ไม่ใช่แบบสร้างและทำโดนแบบสุ่มๆ สมาชิกสภาล่างรัฐธรรมนูญ ก็คือว่ามันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งฉบับ ไม่ได้แก้ไปทีละมาตรา แล้วไม่ได้กระดุ๊กกระดิกไปทีละเล็กๆ น้อยๆ เพราะฉะนั้นก็ตรงนี้คือสิ่งที่ดิฉันอยากจะฝากเอาไว้

อีกอันนึงที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือว่าถ้า ใครจะเป็น สสร. แล้วจะไปหาเสียงนะคะ เสนอเลยค่ะว่า เรามีนโยบายที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้น้อยมาตรา อาจารย์พรสันต์คงจะทราบว่า ประเทศชาติอื่นๆ ไม่มีใครที่แบบขนาดเรา 200-300 ร้อยมาตรา ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้เลยว่ามันบังคับเรา จริงๆ ควรจะมีบทบัญญัติแค่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เอากฎหมายต่างๆ มากดทับประชาชน เพราะฉะนั้นให้มันน้อยๆ หน่อยก็ดี นะถ้าเผื่อว่า สสร. ที่จะขึ้นมา น้อยมันดีกว่าเยอะๆ แล้วมันก็สุดท้ายแล้วจะไปไขว้กันมา ขัดกันไปแย้งกันมา ประชาชนไม่ได้ประโยชน์นะคะฝากไว้ค่ะ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ครับผมขอบพระคุณครับอาจารย์นันทนา เชิญท่านอาจารย์มุนินทร์ อาจารย์พรสันต์ครับ เชิญทุกท่านได้ครับใครมีประเด็นอะไร Pop Up ได้เลยครับผม

 

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

ในช่วงท้ายก็ขออนุญาตเสริมนิดเดียว ในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าจากสิ่งที่เราคุยกันเมื่อตอนต้นว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เห็นเรียกว่า ผลที่เลวร้ายขั้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 60 คือตอนที่เราเริ่มมีรัฐธรรมนูญปี 60 เราก็ค่อยๆ เห็นผลอันแปลกประหลาด ผลอันเลวร้ายของรัฐธรรมนูญปี 60 มาเรื่อยๆ เราเห็นการตีความ การนับอายุวาระของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ แต่ว่าสิ่งที่ผมคิดว่าประชาชนต้องตระหนัก แล้วทุกคนก็น่าจะตระหนักดีด้วยสายตาตัวเองก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เสียงประชาชนไร้ค่า เรากลายเป็นคนที่ไร้ความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตย โดยการที่แม้กระทั่งมีการเลือกตั้งแล้วก็ถูกโดนตบกลางสภา ซึ่งเป็นภาพที่น่าเจ็บปวดมาก คิดว่าอาจจะเรียกได้ว่าเจ็บปวดกว่าการที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วมันเป็นความเจ็บปวดที่คนทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ดูอย่างเดียวสิ่งที่เกิดขึ้นนะครับในสภา หรือว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ถ้าไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารผมเชื่อว่าประชาชนอาจจะเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนคน สามารถลุกขึ้นไปต่อสู้ได้

 

 

แต่ว่าเมื่อกลไกลของผู้พิทักษ์ที่ทำให้ประชาชนเป็นเหมือนคนที่ไร้ความสามารถเป็นเพียงผู้เยาว์ ทำงานฟังก์ชันตามที่ถูกวางไว้รัฐธรรมนูญ เราได้แต่ยอมรับคำพิพากษาของศาล คือคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดก็คือ การที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะไม่สามารถที่จะใช้อำนาจที่เข้าใจได้อย่างที่ตัวเองมี เพราะมีอุปสรรคเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระ องค์กรตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผมยังมองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุด แล้วก็ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในการรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหาใหญ่

ผมไม่เชื่อว่าเราไปตีความเรื่องของการลงประชามติจะกี่ครั้ง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกแบบนั้นแบบนี้อีก บอกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แก้ไม่ได้ มีปัญหา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในทางหนึ่งก็ต้องหาความชอบธรรม หาพลังที่จะสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญตระหนักว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพราะเรื่องของกลไกทางกฎหมาย ซึ่งกฎแห่งกฎหมาย ก็ถูกกดทับด้วยกลไกลทางกฎหมายที่สูงกว่า คืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วถึงแม้ว่าเราจะสู้ เราจะยืนยันบนหลักการ ของการที่ไม่ต้องประชามติในรอบแรก แต่ว่าความจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชน เห็นร่วมกันพรรคการเมืองทุกพรรคและประชาชนเห็นร่วมกันว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักว่า เป็นความต้องการของประชาชน คุณจะใช้อำนาจแบบเดิมไม่ได้ เรื่องนี้สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

ผมยังมองว่าเรื่องกระบวนการเรื่องของการสรรหา สสร.กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่คงจะมีการพูดคุยกันจนได้ข้อสรุป ผมก็เชื่อว่ารัฐบาล ยังมีความเชื่อใจในคณะกรรมการฯ และรัฐบาลว่า คงยังอยากจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ถึงจุดนั้น ก็คงจะเจอปัญหาอุปสรรคอะไรมากมาย อย่างไรก็ตามเมื่อไปถึงจุดที่ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่ผมอยากเห็นที่สุดก็คงจะคล้ายๆ กับสิ่งที่คุณชัยธวัช หรือว่าอาจารย์นันทนา ได้พูดไว้ว่า เราควรจะหยุดการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญเทคนิคและก็เรียกว่าพึ่งพิงนักกฎหมายเสียที ผมคิดว่าที่ผ่านมาหายนะที่เกิดขึ้นในประเทศชาติ เกิดจากนักกฎหมายเป็นหลัก คนที่สร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาคนที่คิดกลไกทั้งหมดคือนักกฎหมายทั้งหมด ผมคิดว่าระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะเป็นระบบที่มัน Simple (เรียบง่าย) ที่สุด ที่มันเรียบง่ายที่สุด คือระบบที่ยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่ผ่านการเลือกตั้ง

แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้ง คือการแก้ปัญหาทางการเมือง เป็นการแก้ปัญหาทางกฎหมายที่ดีที่สุด ต้องทำให้กลไกที่ด้อยค่าเสียงประชาชนและด้อยค่าความสามารถประชาชนในการใช้อำนาจให้ประชาธิปไตยต้องลดบทบาทลง ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบองค์กรอิสระทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราต้องมาจัดระเบียบเขตอำนาจ บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่งให้มีหน้าที่ที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ว่าไม่มีอำนาจในการไปด้อยค่าเสียงประชาชนและไปลดทอนความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านทางผู้แทน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าทุกวันนี้เป็นเรื่องที่เราเห็นสิ่งมหัศจรรย์

สิ่งที่น่าตกใจ สิ่งที่ประหลาดที่สุดในแวดวงวิชานิติศาสตร์เกิดขึ้นอยู่เรื่อยที่ศาลรัฐธรรมนูญ และจะมีคนไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยเรื่องที่เหลือเชื่อ เรื่องที่คุณชัยธวัช บอกเรื่องที่จะไต่สวนวันที่ 25 เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดที่สุดที่ผมจะได้ยินมาว่าการที่ สส. ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนเสนอแก้กฎหมาย กลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราไม่เคยยินมาก่อน เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก เพราะฉะนั้นตราบใดที่องค์กรยังปฏิบัติแบบนี้ก็จะมีคนที่คอยสกัดกั้นไปยื่นศาลนู่นนี่นั่นอยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องจะยุบพรรค ตัดสิทธิ์คนอย่างเดียว

การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเสนอออกกฎหมายดิจิทัล เหรียญดิจิทัลต่างๆ ผมไม่ได้สนใจเป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล ของพรรคการเมือง คุณจะทำนโยบาย ถามว่าเรื่องพวกนี้ศาลหรือองค์กรอิสระ ควรมีอำนาจเข้ามาตัดสินใจแทนหรือไม่ เราต้องกลับมาถามกันอีกทีหนึ่ง แต่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า เรื่องในทางการเมือง นโยบายของรัฐบาลไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ มันควรจะเป็นการตัดสินใจในทางการเมือง ในทางนโยบาย และเป็นความรับผิดชอบในทางการเมือง และต่อประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนลงโทษคุณเองหรือแน่นอนว่าคนทุจริตอะไรต่างๆ ก็ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ก็มีฟังก์ชันของมันอยู่ในการดำเนินการเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่คือ การมีรัฐธรรมนูญที่ Simple (เรียบง่าย) ที่สุด และเป็นรัฐธรรมนูญที่ผมคิดว่าถ้าให้ประชาชนเขาเข้ามาส่วนร่วมให้มากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญทุกๆ สาขา ผมอาจจะเห็นต่างกับอาจารย์นันทนานิดหน่อยว่า เราไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเยอะขนาดนั้น อาจจะมีให้น้อยที่สุด มีตัวแทนประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา อะไรก็แล้วแต่เข้ามาเป็นตัวแทน และตัวแทนจากทุกภาคส่วนจะมีความสำคัญมากกว่า และหวังว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นผู้บรรลุนิติภาวะในการใช้อำนาจอธิปไตยเสียที ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ขอบพระคุณครับ หวังว่าจะได้เห็นในรัฐบาลนี้ เริ่มต้นวันคริสต์มาสเป็นต้นไป อาจารย์พรสันต์ คุณชัยธวัช ท่านไหนมีอะไร ท่านนิกรเชิญเลยครับ เชิญเลยครับ จริงๆ อาจารย์พรสันต์ เป็นกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วย เผื่อมีอะไรเพิ่มเติมได้ แต่ว่าวันนี้อาจารย์ พูดในนามอาจารย์

 

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

จริงๆ ประเด็นผมอาจจะเสริมเล็กน้อยเท่านั้น มาจากประเด็นที่ผมพยายามหยิบยกขึ้นมา และสะท้อนชัดจากกรณีที่เมื่อสักครู่คุณชัยธวัช สะท้อนเรื่องประเด็นความขัดแย้งอยู่พอสมควร คือผมพยายามที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่า อย่างแรกก่อนเลย ตอนนี้ต้องตระหนักและเข้าใจว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะของสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือบางอย่างในการทำรัฐประหาร

และสิ่งที่พยายามจะชวนให้เห็น ไม่ใช่เฉพาะแค่รัฐธรรมนูญ 60 อยู่ด้วยซ้ำ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะมองปัญหาเพียงแค่รัฐธรรมนูญ 60 อย่างเดียว สุดท้ายการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาจริงๆ เพราะจากในทางทฤษฎีและในทางข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์ สะท้อนชัดว่าปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ฉะนั้นแสดงว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ผิดฝาผิดตัว ไม่สอดคล้องกับหลักการในทางรัฐธรรมนูญ คุณค่าทางรัฐธรรมนูญ คุณค่าประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 50

หมายความว่า ถ้าเราเห็นภาพแบบนี้เวลาที่เราจะออกแบบ เรื่องของ สสร.ไม่ว่าจะจากที่ทางคุณชัยธวัช พูดมาก็ดี อาจารย์นันทนาพูดมาก็ดี ต้องคลุมคนต่างๆ เหล่านี้ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะวนกันอยู่แบบนี้ กลายเป็นว่าคุณสนใจแค่ตัวรัฐธรรมนูญปี 60 แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มบางก้อนที่เขาก็ได้รับความเดือดร้อนจากก่อนหน้านี้ และมันหลุดพ้นออกไป แล้วเขาไม่ได้รับการฟังเสียงของเขาด้วย ฉะนั้นถึงพยายามที่จะเน้นย้ำตรงนี้ว่า เราต้องตั้งโจทย์ตรงนี้ให้ชัดเจนเสียก่อนเพื่อนำไปสู่การออกแบบตัวโมเดลของการทำ สสร.

 

 

ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์นันทนา พูดมา โดยภาพรวม ผมพูดจริงๆ ว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องการออกแบบ สสร. ผมยังคิดไม่ออก ผมว่าเป็นเรื่องยากมาก อันนี้พูดจริงๆ ต่อให้ไปศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ผมว่ามันยากมาก เพราะว่า การตั้ง สสร.อย่างแรกที่ผมอยากจะตั้งคำถามเป็นคำถามพื้นฐาน แต่ผมคิดว่ามันตอบยากมาก คือ สสร.ที่เราออกแบบมา เรากำลังให้เขา Represent (เป็นผู้แทน) ใคร ผมว่าคำถามพื้นฐานนี้ตอบยากมาก คุณกำลังให้ Represent ใคร ดูทั้งจากความขัดแย้ง ดูทั้งจากในแง่พื้นที่ในทางกายภาพ หรือต่างๆ นานาก็แล้วแต่ คือถ้าคุณออกแบบแล้วทับซ้อนกับ สส.จะออกแบบไว้ทำไม คือเรื่องพวกนี้ต้องเข้ามานั่งขบคิดและมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างลึกซึ้งผมคิดว่าไม่ได้เรื่องง่ายเลย

แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นันทนาและไม่ได้เป็นการแย้งกับที่อาจารย์มุนินทร์พูด ผมเข้าใจสิ่งที่อาจารย์มุนินทร์พูด คือไปกำหนดโควตาคนยกร่างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญขนาดไหน ในทางกฎหมายอย่างไรคือเรื่องหนึ่ง แต่ว่าผมคิดว่าสุดท้ายแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญในทางรัฐธรรมนูญอยู่ แต่จะกำหนดสัดส่วนอย่างไรคืออีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่า เวลาลงมือปฏิบัติจริงๆ ในการในการเขียน ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อบทกฎหมายหรือว่าเทคนิคในการเขียนที่เขียนแล้วมันพลิกจากซ้ายไปขวาหรือการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญ

ผมยกตัวอย่างเช่นว่า อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาตรา 25 คือหลายคนอ่านแล้วมีความรู้สึกเหมือนก้าวหน้ามากกับเรื่องการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มาตรา 25 เขาบอกว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิ์และเสรีภาพ คือฟังดูเหมือนกับว่าต่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนแต่เราก็มีสิทธิและเสรีภาพ แต่ดูดีๆ การที่เขาไปเติมประโยคที่บอกว่า นอกจากที่มีการบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ นี่คือการเขียนเพื่อเปิดให้มีการจำกัด ซึ่งแตกต่างจากการยกร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ เวลาที่เขาจะเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิ์ที่ต่อให้ไม่ได้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็ได้รับการรับรองเขาไม่ได้เขียนแบบนี้ เขาเขียนตรงข้ามกับประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผมคิดว่าอาจต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญทางนี้ ผมไม่อยากให้เรากลัวกับผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือผมต้องบอกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ คนยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้ เช่น หนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นกลุ่ม Voting Member (สมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง) กับ สอง อีกกลุ่มหนึ่งเขาเรียกว่า Non-Voting Member (สมาชิกที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง) Voting Member อาจเป็นแบบที่อาจารย์นันทนาพูดมาหรือที่คุณชัยวัฒน์พูดมาก็ได้ คือคุณเอาคนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนที่เลือกโดยตรงมากลุ่มพวกนี้ควรเป็น Voting Member เป็นคนตัดสินใจว่า จะเอาร่างนี้หรือไม่เอาร่างนี้ แต่คนยกร่างควรจะเป็น Non-Voting Member คือคุณไม่มีอำนาจในการไปโหวตว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่อาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของเขาบางส่วนบางด้าน

ผมคิดว่า เรื่องตรงนี้อาจต้องเห็นภาพ คือไม่อยากให้ไปมองแบบในเชิง Extreme (สุดโต่ง) ซ้ายขวา เพราะในทางแล้วรัฐธรรมนูญ การยกร่างมี Concept (แนวคิด) แบบนี้อยู่เหมือนกัน ผมคิดว่าถ้าเห็นภาพตรงนี้ ว่าอาจมี Voting Member ก็ได้ Non-Voting Member ก็ได้ ก็จะมีการปลดล็อคความคิดบางอย่างและเปิดพูดคุยกันได้มากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่ง ย้อนกลับไปในส่วนที่เป็นเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นผลมาจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 50 กับปี 60 จากที่ผมพยายามศึกษาเปรียบเทียบกับกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้กับต่างประเทศ สุดท้ายหนีไม่พ้นที่ต้องคุยกัน คือไม่คุยกันไม่ได้อยู่แล้ว ต้องหาอะไรบางอย่างที่เป็นคุณค่าร่วมกันและไปกันให้ได้เพราะไม่อย่างนั้นคุณก็จะติดล็อคอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 60 ไปต่อไม่ได้ อย่างไรก็ต้องคุยกันและหาอะไรบางอย่างที่สอดคล้องต้องกันไปแล้วค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง มันก็สะท้อนสิ่งที่ผมอธิบายขึ้นมา เมื่อสักครู่อาจารย์มุนินทร์พูดมาตรงกับสิ่งที่ผมพูดว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ทำลายความน่าเชื่อถือและไว้ใจของรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันเราบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด นั่นคือรัฐธรรมนูญปี 40 คือผมจะพูดอย่างนี้ รัฐธรรมนูญปี 60 โครงสร้างหรือตัวองค์กรในทางรัฐธรรมนูญแทบไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 แต่คำถามคือ ทำไมตอนนี้เรามีปฏิกิริยาบอกว่า “เราไม่เอาองค์กรนู้น เราไม่เอาองค์กรนี้ เราไม่เอาองค์กรนั้น” เพราะปัญหาของประเทศไทยคือการที่มีการทำรัฐประหารแล้วใช้ตัวรัฐธรรมนูญนี้เป็นเครื่องมือโดยเอาโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 มาแล้วมาใช้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญและทำให้ประชาชนหรือใครต่างๆ นานาได้รับผลกระทบแบบนี้ คือคนเห็นภาพว่า รัฐธรรมนูญ ไม่โอเคผ่านองค์กรต่างๆ

รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบดีไซน์มาผมไม่กล่าวว่าทุกอย่างของรัฐธรรมนูญปี 40 ดี แต่ผมพยายามบอกว่าถ้าคุณจะเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาตอนนี้เพื่อมาตั้งเป็นตัวโมเดลต้องถกเถียงกันอีกเยอะเพราะในรัฐธรรมนูญปี 40 ผมเห็นว่า หลายตัวมัน Outdate (ล้าสมัย) ด้วยและบางส่วนก็ไม่ดี ส่วนนี้อาจต้องถกเถียงหรือแม้กระทั่งที่อาจารย์มุนินทร์พูดไว้เรื่ององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่างๆ นานานี้ มันเป็นโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งนั้น เขตอำนาจอาจมีการขยายไป

ผมพยายามยกประเด็นว่า สุดท้ายแล้วมันต้องมานั่งถกเถียงกันอย่างตกผลึกมากๆ ว่าคุณจะเอาอย่างไรกันแน่เพราะโครงสร้างเรื่องพวกนี้เป็นโครงสร้างที่เราอยู่ของมันมานาน ประมาณ 20 กว่าปีแล้วก็ต้องมีการมาพูดคุยตรงนี้ให้ชัด

ผมทิ้งประเด็นว่า เรื่องการทำประชามติที่ผมบอกคือ เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ได้แล้ว รัฐธรรมนูญปี 50 กับปี 60 ที่ผมบอกว่าเป็น Conflict Constitution คือเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาเพราะมันเป็น Conflict Constitutional Making คือคุณสร้างรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คือลองไปดูรัฐธรรมนูญปี 50 กับปี 60 มีลักษณะของการทำรัฐธรรมนูญที่คล้ายกัน

คล้ายกันตรงที่ว่า องค์กรที่ยกร่างไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตอนรัฐธรรมนูญปี 50 ถ้าผมจำไม่ผิดองค์กรที่มาจากองค์กรที่มายกร่างมาจาก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เป็นคนตั้งมา เป็นคนสรุปเป็นคนสุดท้าย รัฐธรรมนูญปี 60 ก็เช่นเดียวกันก็ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในระหว่างการยกร่างเปิดรับฟังบ้าง ไม่รับฟังบ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง และสุดท้ายก็คิดว่าจะเอาประชามตินี้เป็นเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่กระบวนการที่ผ่านมาไม่โอเค ไม่ได้สอดคล้องกับหลักวิชา แต่ว่าเอาประชามตินี้มาเพื่อสร้างความชอบธรรม ประชามติทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 กับปี 60 ก็มีปัญหาขัดแย้งกับหลักการ อย่างที่ผมบอกตอนปี 50 ถ้าทุกคนจำได้มีการประกาศกฎอัยการการศึกในหลายพื้นที่ ประเด็นก็คล้ายๆ กับกรณีการทำประชามติปี 60 นี่แหละ ผมบอกว่าสุดท้ายแล้วเรื่องกระบวนการพวกนี้มันไม่แปลกหรอกที่จะกระบวนการที่เป็น Conflict (ขัดแย้ง) ของมันอยู่แล้ว ผลผลิตออกมาก็สร้าง Conflict (ขัดแย้ง) อยู่ในตัว ฉะนั้นประเด็นตรงนี้ผมอยากฝากไว้ ส่วนรายละเอียดอะไรอย่างไรผมคิดว่าอาจจะต้องมานั่งคุยถกเถียงกันให้ตกผลึกมากขึ้น ขอบคุณครับ

 

นิกร จำนง

ผมมีหน้าที่ปฏิบัติก็เลยพูดไม่เยอะ เรื่องรัฐธรรมนูญปี 60 นี้ผมไม่พูดถึงแล้ว ไม่มีอยู่ในตัวผมแล้ว เพราะว่าเรากำลังจะไปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าจะไปพูดตรงนั้นคือ แก้เป็นรายมาตรา ซึ่งผมศึกษามาหมดแล้วทุกหมวดอย่างที่เรียนแล้ว หมวด 2 ที่อยู่ตรงนี้ที่ๆ มันค้างอยู่และเป็นนโยบายรัฐบาล มีความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ ดังนั้นตรงนี้อย่างที่คุณชัยธวัช บอกว่าการเว้นเอาไว้จะสร้างปัญหา เรากลับด้านนี้มองว่า ถ้าไม่เว้นไว้เดี๋ยวจะมีปัญหา มันคนละด้านของเหรียญแล้วแต่การตัดสินใจของรัฐบาลก็ประกาศนโยบายไปว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นของประชาชนแต่จะไม่มีการดำเนินการแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เพื่อจะป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ท่าน (ชัยธวัช) มองว่ามันจะมีความขัดแย้งตรงนี้ก็แล้วแต่จะมอง

 

 

ผมมีเป้าหมายอย่างเดียวก็คือว่า ทำให้สำเร็จ เพราะขณะนี้การทำประชามติกลไกต่อจากนี้พอสรุปแล้ว เราจะมาตัดสินว่าจะถามประชาชนอย่างไร เรื่องคำถามพ่วงที่อาจารย์นันทนา พูดถึงและกลัวคำถามพ่วง โดยคำถามพ่วงจะเกี่ยวกับเรื่อง สสร.เข้าไปด้วยเพราะคำถามเดียวก็คือว่า จัดทำใหม่ไหม และถามพ่วงเพื่อจะเอา สสร.พอจะมีตรงนี้แล้วเวลากรรมาธิการมา แม้ว่าไม่มีผลบังคับเขาก็จะได้ตั้งสสร. และคำถามพ่วงตรงนี้เวลาจะเริ่มเข้าไป พรรคการเมืองจะต้องแก้มาตรา 256 เลย

สมมุติทำประชามติแล้ว มาตรา 256 สสร. จะไปคุยตรงนั้นแหละ ในร่างที่จะเข้าตรงนี้ ซึ่งถ้าวุฒิสภาไม่เอา 84 เสียงก็ไม่ได้ผ่านอีก ดังนั้นจุดตรงนี้ผมเรียนเลยว่า รัฐธรรมนูญที่เราว่าดีปี 2540 สสร.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม มา 10 คนและเลือกเอา 1 ต่อจากนี้มาถึงยุคนี้แล้วเอาแบบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องเลือกโดยตรงแล้ว ทีนี้ประเด็นต่อมาคือตรงนั้น 76 คนบวกกับ 23 คน เป็น 100 คน จำนวน 23 คนเป็นนักวิชาการ ตอนนี้ที่เราไปฟังความเห็นประชาชน คนพิการก็อยากจะมีตัวแทนเข้ามาบ้าง คนหนุ่มสาวที่อยู่ให้เขาไปลงเขาก็สู้ไม่ได้ แต่เราควรเอาคนหนุ่มสาวเข้ามาบ้าง เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจต้องมีการดีไซน์ ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ชัดเจนว่าโดยตรงแบบดิบๆ ไม่เอาโดยอ้อมแล้ว แบบแบบรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งปี 40 ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรแต่ก็ไม่เอา มันเลยมาแล้ว

ดังนั้น จุดตรงนี้ที่จะเป็นประเด็นจะทำให้สำเร็จก็คือว่า เรื่องการทำประชามติเพราะว่าตรงนี้ไม่ใช่เราอยากทำหรือไม่อยากทำ แต่เป็นการถอดสลัก ถ้ามันมีสลัก เป็นการถอดกุญแจเพื่อจะได้ไปต่อ แต่หลังจากนั้นมาตรา 256 ไม่ว่ายังไงก็ต้องทำแล้วหลังจากนั้นพอเสร็จแล้ว ก็ต้องทำอีกครั้งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหน้าที่ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดที่พวกผมอยู่ และจะเรียนด้วยว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อจะได้ไปต่อ

 

ชัยธวัช ตุลาธน

ต่อเนื่องจากท่านนิกร คือเรื่องโมเดล สสร. ผมเข้าใจโดยเฉพาะประเด็นที่อาจารย์พรสันต์ ยกไว้ คือเราจะออกแบบ สสร.อย่างไร สะท้อนอะไร เป็นเรื่องสำคัญและประเด็นที่ผมอยากจะเน้นย้ำอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่ว่าจะตอบโจทย์อะไร อยากจะให้มีความหลากหลายอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียวว่าต้องมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือจะออกแบบให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมก็ได้ เพียงแต่ผมอยากจะบอกว่า การประกันความหลากหลายหรือสะท้อนตัวแทนอะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นทางอ้อมอย่างเดียว

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจบอกว่าให้ผู้พิการ พี่น้องชาติพันธ์ุ กลุ่มอะไรก็แล้วแต่ที่อยากให้อยู่ใน สสร.เขาอาจสมัครกันเข้ามาแล้วเลือกตั้งกันทางอ้อม สมมติสมัครมา 1,000 คน เลือกตั้งกันทางอ้อมจนเหลือรายชื่อจำนวนหนึ่ง แล้วให้ประชาชนไปเลือกตั้งโดยตรงก็ได้เหมือนบัญชีรายชื่อกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ พร้อมๆ กับเลือกตัวแทนในพื้นที่ก็ได้เป็นอีกแบบหนึ่ง เราแค่ไม่อยากจะให้ไปปนกันว่า การประกันความหลากหลายจะเท่ากับว่า ไม่เท่ากับเลือกตั้งทางตรง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเลือกตั้งทางอ้อมก็ได้ ผมก็ได้ทั้งหมด เพียงแต่ไม่อยากจำกัดจินตนาการไว้แค่นั้น

 

 

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอยากจะใช้เวลาในช่วงท้ายเดียว คือประเด็นเรื่อง เว้นหมวดใดหมวดหนึ่ง ผมคิดว่าเราท้วงติงเพื่อให้เห็นอีกมุมหนึ่ง โดยเป้าหมายคือเราอยากจะให้ผันกัน ในวันที่คุณนิกรไปที่พรรคก้าวไกลผมก็พยายามจะบอกว่า ผมไม่อยากให้เสียงของคนที่จริงๆ เขาอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่เขาไปติดเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้และเอาเสียงเข้าไปป่นกับคนที่ไม่อยากจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วอยากจะให้เขารู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้ด้วยแม้เสียงของเขาสุดท้ายจะไม่ได้รับการตอบรับจากคนส่วนใหญ่

ผมคิดว่าอันนี้ผมพูดโดยหลักการ และแน่นอนข้อเสนอแบบก้าวไกล ผมก็ไม่อยากให้ไปคิดว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่อยู่กับความเป็นจริงทางการเมือง ผมแค่พยายามชวนว่า ให้มองความเป็นจริงทางการเมืองอีกด้านหนึ่งด้วย แต่ยอมรับว่าเป็นปัญหาแล้วตอนนี้ เรื่องหมวดหนึ่งหมวดสอง อันนี้เป็นบทเรียน ผมคิดว่าเป็นบทเรียนของผู้แทนราษฎรที่ต่อให้เรายังไม่พร้อมที่จะผลักดันไปข้างหน้าได้เต็มร้อย แต่คุณไม่ควรชวนประชาชนถอยหลัง ผมพูดเรื่องนี้เพราะผมทวนให้เห็นความเป็นจริงเลย

พรรคก้าวไกลเราก็ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรภายในข้ามคืน แต่เราต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว คุณไป 10 ไม่ได้ คุณไป 6 คุณไป 5 แต่ไม่ใช่วันนี้อยู่ 5 คุณชวนประชาชนถอยหลังไป 3 เรื่องนี้เป็นสปิริตบางอย่างและสะท้อนอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องการห้ามหมวดนั้นหมวดนี้ ทั้งๆ ที่มีกรอบของมันอยู่แล้ว เพราะอะไรต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แก่นแกนหนึ่งเลยที่สู้กันก็คือว่า อำนาจประชาชนอยู่ตรงไหน ตกลงอำนาจประชาชนเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศนี้หรือเราจะออกแบบระบบการเมืองที่อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง แต่อำนาจจากการเลือกตั้งต้องยอมอยู่ภายใต้สถาบันอำนาจอื่นๆ ที่มาจากการแต่งตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้เป็นสปิริตสำคัญ แน่นอนเราไปสู่อุดมคติภายในค่ำคืนไม่ได้ แต่เราไม่ควรชวนประชาชนถอยหลัง อันนี้ตัวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรจะเป็นปัญหา

เรื่องนี้ไม่เคยเป็นปัญหา ผมอยากทวนว่าเรามีการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง ไม่เคยมีปรากฏการณ์การห้ามแก้อะไรเลย ยกเว้นห้ามไว้เชิงหลักการว่า ห้ามเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ห้ามเปลี่ยนระบอบพูดง่ายๆ แล้วก็แก้มาทุกครั้ง หมวดหนึ่งหมวดสองแก้มาทุกครั้ง แล้วอยู่ดีๆ ถึงเป็นปัญหาทางการเมืองได้อย่างไร เรื่องนี้มันเกิดขึ้นสมัยสภาสมัยที่แล้วซึ่งมีเพื่อนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราคุยกันว่าจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร.แล้วมีไอเดียนี้เสนอขึ้นมาว่าให้เว้นไว้ ผมเคยเตือนไว้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่เคยเป็นมาตรฐานทางการเมืองมาก่อน เมื่อไรที่จะเสนออันนี้ออกไป มันจะเป็นมาตรฐานทางการเมืองที่เป็นปัญหาในอนาคตแน่นอนเพราะคุณกำลังเสนอเพดานทางการเมืองที่ต่ำลงมาและไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนและจะไม่มีใครกล้าข้ามเส้นทางการเมืองทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผล ผมไม่ถกเถียงกันแล้วว่าจะเอาอย่างไร แต่ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียน เราก้าวไปถึงข้างหน้าไม่ได้สุด แต่เราไม่ควรที่จะดึงสังคมถอยหลังโดยไม่จำเป็นอันนี้ก็เป็นบทเรียนสำคัญ

แต่มันเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว ผมก็ยอมรับก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ผมคิดว่าเห็นด้วยที่เมื่อสักครู่ที่อาจารย์พรสันต์บอกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราไม่ควรจะไปมองแค่ปัญหารัฐธรรมนูญปี 60 จะสอดคล้องกับประเด็นแรกที่ผมพูดว่า เราควรมองโจทย์ใหญ่เลยว่าอะไร โจทย์ของสังคมไทยที่ทำให้เราหาฉันทามติร่วมกันไม่ได้สักที มันมีทั้งโจทย์เก่าและก็ที่ยังแก้ไม่ได้ โจทย์เกิดขึ้นใหม่ๆ ในหลายสิบกว่าปีนี้เต็มไปหมด โจทย์เก่า 10 กว่าปีนี้เต็มไปหมด

ถ้าเราเอาหมุดหมายรัฐธรรมนูญปี 40 การปฏิรูปการเมืองฉบับธงเขียวเป็นไปหมุดหมายสำคัญ ตอนนั้นดูเหมือนว่าเรามี Consensus (ฉันทามติ) กันใหม่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 35 บอกว่า เราไม่เห็นด้วยและสุดท้ายยังไงเราก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่มีผลดี เราต้องยอมรับอยู่ในระบบรัฐสภามีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยไว้วางใจประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ถ้ากล่าวกันตรงๆ ไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่ไว้ใจพรรคการเมืองที่มีอยู่ ตอนนั้นก็คิดเป็นประชาธิปไตยด้วย ไม่ไว้วางใจด้วย แล้วรู้สึกว่าระบบรัฐสภา รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรตอนนั้นก็ถ้าเป็นคำขวัญหลักก็คือ ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ พยายามออกแบบให้รัฐสภา รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และก็เข้มแข็งขึ้น นายกฯ เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะออกแบบกลไกในการตรวจสอบสมดุลกันไปหมดด้วยองค์กรอิสระนานาชนิด นานาชาติเลย

ที่นี้ใช้ไปครับปรากฏว่าใช้ไปใช้มา รู้สึกว่าการออกแบบของเราเมื่อมีรัฐบาลเข้มแข็งเราก็รู้สึกคุมไม่ได้ เกิดการใช้อำนาจที่รู้สึกว่ามากเกินไปและอำนาจมารวมศูนย์อยู่ที่ผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเยอะจนเกิดความตึงเครียดในระบบการเมืองนี่ก็เป็นโจทย์ใหม่ๆ และระบบที่เราออกแบบหวังว่าจะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของคนอื่นดันคอร์รัปชันเสียเอง ดันใช้อำนาจฉ้อฉลเสียเอง ดังนั้นเราเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ต้องนับปัญหาหลังๆ ที่กลับไปยึดโยงกับปัญหาในอดีตก็คือ เราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร ที่ลงตัวและยั่งยืนในอนาคต ระบอบราชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยมันจะผสมกันอย่างไรในบริบทสังคมไทยที่สอดคล้องกับยุคสมัยก็เป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เห็นด้วยว่าอย่ามองเห็นหน้าแค่ ประยุทธ์ คสช. รัฐธรรมนูญปี 60 ในการที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

“ดิฉันเชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศอยากเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของขวัญ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็อยากทำให้มันกลายเป็นระเบิดเวลา”

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ขอบคุณครับอาจารย์ครับขอบคุณครับ พวกเราอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ไหม พวกเราอยากทำประชามติไหม นี่เป็นโจทย์ใหญ่ว่า ตกลงทำประชามติจะต้องทำ 3 ครั้งหรือทำ 2 ครั้ง แต่เอาเป็นว่าถ้าทำประชามติ ไปไหม ถ้ามีประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ เราไปออกเสียงกันไหม อันนี้เป็นความกังวลของรัฐบาลนี้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า เขากลัวว่าคนจะไปออกเสียงน้อยแล้วจะไม่ผ่าน ผมก็กลัวเหมือนกัน แต่ผมยังเชื่อมั่นอยู่ว่าพลังของพวกเรา ปรากฏการณ์ที่เราผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่าปรากฏการณ์ที่เราร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำถามประชาติในเดือนสิงหาคม มันได้ตอกย้ำว่า วันนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชนนั่นแหละที่พร้อม ส่วนฝ่ายการเมืองพร้อมหรือไม่พร้อมไม่เป็นไร

แต่ผมวิงวอนทุกท่าน ถ้าท่านพร้อม ถ้าท่านอยาก ถ้าท่านจะเดินไป ท่านต้องช่วยกันส่งเสียง ต้องช่วยกันสนับสนุน ไม่เลิก ถ้าท่านดูไลฟ์อยู่ที่บ้าน ท่านช่วยแชร์ไลฟ์ก็ยังดีท่านช่วยกดไลค์ก็ยังดีถ้าช่วยโพสต์ถึงก็ยังดี ว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ แล้วเราจะรอดูวันที่ 25 ธันวาคม

 

 

รับชมวิดีโอฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo

 

ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.