ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ เข้าร่วมรับฟังแนวทางการส่งเสริมหลักนิติธรรมในเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม

7
มกราคม
2567
 

5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์  เข้าร่วมรับฟังแนวทางการส่งเสริมหลักนิติธรรมในเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม ณ ห้องคอนเฟอเรนซ์ ฮอลล์ ชั้น 2 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และสำนักข่าว THE STANDARD จัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law Forum) เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารประเด็นเรื่องหลักนิติธรรมสู่สาธารณะ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

 

 

ภายในงาน เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดย คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและบรรณาธิการบริหารสำนักข่าว THE STANDARD เริ่มต้นตั้งคำถามว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทย ทำไมเราจึงไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap” คำถามนี้เมื่อลองมองเข้าไปให้ถึงรากของปัญหาที่แท้จริง แล้วเราจะพบว่าสาเหตุสำคัญที่เป็น weakest link หรือว่าเป็นจุดอ่อนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ และถือได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของภาคธุรกิจมาโดยตลอด นั่นก็คือปัญหาเรื่องของนิติธรรม

เมื่อเรามองเห็นความสำคัญของหลักนิติธรรมที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าเรื่องของหลักยุติธรรมนั้นก็ไม่ใช่ความท้าทายของประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นวาระสำคัญที่ท้าทายในระดับสากลเช่นเดียวกัน

 

 

ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ United Nations ได้ประกาศให้ “หลักนิติธรรม” เป็นเป้าหมายที่ 16 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ประกอบไปด้วย PEACE, JUSTICE และ STRONG INSTITUTIONS

สุดท้ายคุณนครินทร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเป้าหมายนี้ ที่เป็นเป้าหมายในตัวเอง เป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการทำให้เป้าหมายอื่นๆ อีก 16 เป้าหมายบรรลุผลสำเร็จ “เราไม่มีทางตั้งเป้าเรื่อง Gender Equality, Equality Education, Good Health and Wellbeing และ Climate Action จะสำเร็จได้เลยถ้าไม่มี Governance ที่ดี”

 

 

ลำดับถัดมา Ms. Elizabeth Andersen, Executive Director The World Justice Project (WJP) อ่านสารจาก WJP โดยมีใจความสำคัญอยู่สามประการ คือ หนึ่งวิธีการในการวัดผล Rule of Law Index หรือดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมนั้น เป็นวิธีการที่สะท้อนจากมุมมองความรับรู้และประสบการณ์ของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

สองดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมนั้น ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มว่า ประเทศหรือสังคมใดๆ ที่มีระดับการพัฒนาด้านหลักนิติธรรมที่ดี มักจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจ หรือว่าสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้น สุขภาวะของประชากรที่ดีขึ้น ระดับการศึกษาของเยาวชนในประเทศนั้น รวมไปถึงระดับความสงบเรียบร้อยในประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องของดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมจึงมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ

และสุดท้าย ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการผลักดันเรื่องหลักนิติธรรม หรือ Key Success Factors จำเป็นต้องอาศัย หนึ่งความเป็นผู้นำของผู้บริหารในทุกระดับชั้นของประเทศ สองการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างมีเอกภาพ สามมีตัวชี้วัดและกลไกการติดตามและการตรวจสอบที่เหมาะสม สี่การสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงเป็นโครงการร่วมของทุกคนในสังคม

 

 

หลักจากนั้น ได้ฉายสารจาก คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหัวข้อ “การฟื้นฟูหลักนิติธรรม วาระแห่งชาติของไทย”

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชน การขจัดคอร์รัปชั่น และเสริมความโปร่งใส เช่นการทำ Open Government มาเสริมความโปร่งใสให้กับส่วนราชการ การเปิดชุดข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ทำให้เข้าถึงได้แบบ Open Data ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง วิเคราะห์ และสะท้อนเสียงกลับ มาเปรียบเสมือนการเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการพัฒนา ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และแนวทางในการฟื้นฟูหลักนิติธรรม โดยร่วมมือกับองค์กรนานาชาติและภาคส่วนต่างๆ อาทิเช่น สหประชาชาติ หรือ The World Justice Project หรือ WJP ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานในวันนี้เพื่อกำหนดประเด็นที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ เช่น การสำรวจดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law Index เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนและองค์กรชั้นนำ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปิดท้ายด้วยการขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักนิติธรรมของประเทศไทย

 

 

ต่อมา คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ: ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม” โดยได้กล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย คือ กฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม

กฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม จะก่อให้เกิดต้นทุนแฝงให้กับภาคธุรกิจ ทั้งในด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสทางธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ คุณเกรียงไกร ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมายของเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 4.4% และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

คุณเกรียงไกร ทิ้งท้ายไว้ว่า “หลักนิติธรรมที่ดีและทันสมัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยหลักนิติธรรมที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ความโปร่งใส และความเป็นธรรม”

 

 

ลำดับถัดไป คุณพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน: ภาคสังคม”

คุณพรประไพ เริ่มต้นอธิบายถึงหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก หลักนิติธรรมเป็นหลักการที่รัฐต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับมาโดยกำเนิด หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักของความเสมอภาคและความยุติธรรม

ต่อมายังกล่าวอีกว่า หลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ช่วยให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรม หลักนิติธรรมจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก็ต่อเมื่ออยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน หากหลักนิติธรรมถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงในสังคม ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มากมาย ทั้งในด้านความยุติธรรม สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การชุมนุมทางการเมือง และการข้ามแดน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประเทศอื่นๆ การที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คุณพรประไพ ได้สรุปไว้ว่า “หลักนิติธรรมกับเรื่องของสิทธิมุนยชนมันไปด้วยกัน ถ้าสิทธิมนุษย์ชนไม่รับการดูแลที่ดีแล้ว หลักนิติธรรมก็อาจจะขับเคลื่อนไปไม่ได้ เมื่อขับเคลื่อนไปไม่ได้แล้วการที่จะหวังให้ประเทศต่างๆ สนใจประเทศไทยอย่างแท้จริง อยากมีคนสนใจมาลงทุน อยากจะไปค้าขายด้วยก็อาจจะทำได้ไม่ครบถ้วน”

 

ลำดับถัดมา คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในหัวข้อ “การสร้างเสริมหลักนิติธรรมเพื่อธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง”

คุณวิเชียร ได้นำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรมและปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งกล่าวถึงหลักนิติธรรม ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่การปกครองโดยกฎหมาย และความเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า หลักนิติธรรมและปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนั้นมีความสัมพันธ์กันโดยตรง โดยหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจะช่วยลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในทางกลับกัน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะบ่อนทำลายหลักนิติธรรม ทำให้สังคมเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ขาดความยุติธรรม และปกครองโดยอำนาจ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทำให้ทรัพยากรของประเทศถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ส่งผลเสียต่อการลงทุน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ

 

คุณวิเชียรยังได้เสนอข้อเสนอแนะ 3 ประการ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนได้ อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชน และนำไปสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนที่มีความสำคัญ คือภาครัฐและภาคเอกชนต้องส่งเสริมบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวและมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ คุณวิเชียรยังได้เสนอว่า ควรจัดตั้ง “War Room” เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

ต่อมา ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในหัวข้อ “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนหลักนิติธรรม”

ดร.พิเศษ กล่าวถึงเรื่องของ Rule of Law ว่าเป็นประเด็นที่มีความหมายหลากลาย แต่ความหมายแบบที่ TIJ มองว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้ก็คือ “ทุกคนนั้นต้องยอมรับและปฏิบัติทางกฎหมาย กฎหมายต้องมีที่มาที่ชอบธรรมและเข้าใจได้ และสำคัญที่สุดต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

 

TIJ จึงได้เสนอแนวคิด Accountability หรือแนวคืดที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้แล้วก็มาช่วยกันร่วมกันแก้ไขปัญหา ทำหน้าที่เป็นกาวใจระหว่างกลไกภาครัฐกับกลไกภาคสังคมที่ต้องทำงานร่วมกัน

 

ดร.พิเศษ ระบุว่านี่คือวิธีการแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งหนึ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องของกลไกภาครัฐ จะเห็นได้ว่าค่าคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา อาจจะไม่ค่อยดีนักและก็มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมถือว่าเป็นภารกิจสำคัญมากที่ TIJ ให้ความสำคัญสูงสุด กับนโยบายนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนเพื่อจะสร้างหลักยึดที่มั่นคงและพึ่งพาได้ให้กับประชาชนรวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมต่อคนในสังคม

 

ลำดับถัดมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กับหัวข้อ “ในประเด็น บทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมในประเทศไทย”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เริ่มต้นกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม

“หลักนิติธรรม” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างสังคมไทยให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพ โดยแนวทางการส่งเสริมหลักนิติธรรมของกระทรวงยุติธรรม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ที่เน้นการแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น และการค้ามนุษย์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเน้นความโปร่งใส รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสุดท้าย คือ สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม โดยเน้นการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นการส่งเสริมหลักนิติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม เช่น การออกกฎกระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังคดีระหว่างการพิจารณา เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมหลักนิติธรรมของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการต่อไป เช่น การแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม การปรับปรุงระบบงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมหลักนิติธรรม

 

ช่วงสุดท้ายท่านได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การส่งเสริมหลักนิติธรรมเป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงควรเร่งดำเนินการตามกลไกต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและนำไปสู่การเป็นสังคมที่สงบและสันติสุข”

 

ช่วงสุดท้ายของเวทีได้จัดให้มีการสนทนาระหว่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)  และ คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์  ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ถึงมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรม และความเป็นไปได้ในการปฏิรูปหลักนิติธรรมในประเทศไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ มองว่าหลักนิติธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยให้สังคมมีความเป็นธรรมและประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยหลักนิติธรรมประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การจำกัดอำนาจรัฐ 2.ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และ 3.สิทธิและความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

ส่วนการปฏิรูปหลักนิติธรรมในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยต้องมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การลดการทุจริตและคอรัปชัน และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดบยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและกลไกต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การลดการทุจริตและคอรัปชัน จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบราชการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อหลักนิติธรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงท้ายว่า “การปฏิรูปหลักนิติธรรมในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะต้องใช้ความพยายามและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง”

 

ก่อนปิดงานเสวนา คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ได้สรุปประเด็นวันนี้เรื่องของ Rule of Law Forum ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ

  1. ความสำคัญของหลักนิติธรรมนั้นมีความสำคัญมากในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของความคิดและสังคม การที่สังคมใดสังคมหนึ่งขาดหลักนิติธรรมมันจะส่งผลเชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามรถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ นอกจากนี้เรายังได้เห็นเรื่องความสำคัญของ3เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ได้แก่ หลักนิติธรรม หลกธรรมาภิบาล และหลักประชาธิปไตย
  2. Key Takeaway คือการปฏิรูปหลักนิติธรรมนั้นเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งกลไกจากภาครัฐและกลไกภาคประชาสังคม สองกลไกนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนหลักนิติธรรมให้ดีขึ้นในบทบาทที่เกื้อกูลกัน
  3. เรื่องของการปฏิรูปหลักนิติธรรมหรือฟื้นฟูหลักนิติธรรมนั้นไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน ถึงแม้ว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องยากและซับซ้อนแต่จำเป็นและสำคัญมาก แน่นอนว่าการสร้างและทำให้เข้มแข็งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่อย่างน้อยวันนี้เราเปิดปี 2024 มาด้วยเวทีนี้ นับเป็นจุดหนึ่งในการกลัดกระดุมเม็ดแรกอย่างเป็นทางการของการเดินทาง

“ดัชนีชี้วัดด้านหลักนิติธรรมของ The World Justic Project ที่เปรียบเหมือนเป็นคำแนะนำในการเดินทาง ต่อจากนี้ยังมีงานอีกมากให้ทำ ทั้งการลงมือทำรวมถึงการติดตามการทำงาน โดยที่หัวใจสำคัญคือพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เชื่อว่าน่าจะต้องเกิดพื้นที่แบบนี้อีกมากมายเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจสร้างประเทศไทยที่มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้จริง ดังคำกล่าวที่บอกเอาไว้ว่า justice delayed is justice denied ถ้าเกิดว่าความยุติธรรมนั้นล่าช้า นั่นคือความไร้ซึ่งความยุติธรรมนั่นเอง”

ในการนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังแนวทางการส่งเสริมหลักนิติธรรมฯ โดยมีคุณกล้า สมุทวณิช กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้แทนการเข้าร่วม