ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สมชาย นีละไพจิตร ผู้เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม

12
มีนาคม
2567

Focus

  • 12 มีนาคม 2547 คือ วันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้หายตัวไป ท่านผู้นี้เรียนรู้การทำคดีความโดยทำงานกับทนายทองใบ ทองเปาด์ ในคดี 14 ตุลา และอื่นๆ มาก่อน และต่อมาได้ตั้งชมรมนักกฎหมายมุสลิมเพื่อเป็นองค์กรในการทำงานให้แก่ส่วนรวม ในขณะที่ตนเองสุขภาพไม่ดี
  • สมาชิกของครอบครัวนีละไพจิตรมีส่วนสนับสนุนการทำงานของทนายสมชายเสมอ ไม่ว่าจะโดยบุตร หรือภรรยา (นางอังคณา นีละไพจิตร) ก็ตาม และแม้ว่าจะมีคดีได้ทำหลายคดี แต่ก็มีรายได้ที่ค่อนข้างน้อยให้แก่ครอบครัว เพราะมุ่งทำงานเพื่อสังคมมากกว่าเพื่อตนเองและครอบครัว
  • ในทุกวันนี้ การหายตัวไปของทนายสมชาย ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อยุติจากภาครัฐได้ แม้ว่าจะมีผู้เห็นตัวผู้อุ้มหายทนายสมชาย แต่ในเวลาต่อมาก็ไม่ยืนยันความจริง และไม่รับการติดต่อจากภรรยาของทนายสมชาย ผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือกลับเป็นคนที่ไม่รู้จักทนายสมชาย ในขณะที่เพื่อนๆที่รู้จักกลับหายตัวไปที่จะให้การช่วยเหลือ
  • อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกทำให้หายตัวไป  และอนุสัญญาว่าด้วยการทรมาน จะเป็นหลักประกันจากรัฐที่จะให้กับคนไทยทุกคนที่จะได้รับการคุ้มครอง มิให้ถูกทำให้สูญหายและได้รับการทรมาน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในการดำเนินคดีในศาล

 

“มันจะมีคดีที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ และมันจะไม่ค่อยมีใครลงไปทำอย่างจริงจัง แล้วที่แรก ทนายสมชายทำงานกับคุณทองใบ ทองเปาด์ ในคดี 14 ตุลา และคดีอื่นๆ ก็เป็นคดีการเมืองที่เริ่มกันมาก่อน ตอนหลังคุณทองใบบอกว่า คดีทางใต้ถ้าหากได้คนที่เป็นมุสลิม เข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ศาสนา ได้เข้าไปทำมันน่าจะดี คุณสมชายเลยเริ่มที่จะลงไปทำ

ในการทำงานในนามส่วนตัว บางครั้งมันไม่ค่อยดี เลยตั้งเป็นชมรมนักกฎหมายมุสลิม แล้วทำงานในนามของชมรมฯ ไม่งั้นก็จะกลายเป็นว่าอะไรๆ มากระทบอยู่คนเดียว ก็เริ่มจากคนที่เป็นนักกฎหมาย แต่จริงๆ แล้ว คนที่ทำจริงๆ ก็คือคุณสมชายเป็นหลัก เพราะคนจะมาทำตรงนี้มันก็ต้องเสียสละหลายๆ อย่าง ซึ่งก็ค่อนข้างยาก เพราะในทางปฏิบัติจริงๆ คุณสมชายก็เขียนฟ้องเอง ซักพยานเอง อุทธรณ์ ฎีกา ทุกอย่างคุณสมชายทำกับมือหมด เพราะค่อนข้างหาคนที่จะมาช่วยยาก แต่ก็จะทำในนามของชมรมฯ มาตลอด ไม่ได้ทำในนามส่วนตัว

ในส่วนคดีทางใต้ คุณสมชายจะทำในนามชมรมนักกฎหมายมุสลิม แต่คุณสมชายเป็นรองประธานกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ เป็นกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของสภาทนายความ คุณสมชายจะทำคดีช่วยเหลือของสภาทนายความ ทำคดีสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความด้วย ก็มีคดีสำคัญหลายๆ คดี ซึ่งคุณสมชายทำร่วมกับสภาทนายความ เช่น คดีขายไต คดีไก่ชน  คดีวิสามัญฆาตกรรมโจด่านช้าง ซึ่งก็ทำไประยะหนึ่ง ทางผู้เสียหายก็ถอนแจ้งความไป คดียัดยาบ้านิสิตจุฬาฯ ก็เป็นอีกคดีหนึ่ง

คุณสมชายมีรายได้ มีค่าใช้จ่ายที่ให้กับครอบครัวค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ก็จะต้องหาค่าเทอมก่อนเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่ลูกๆ เรียนหนังสือก็จะได้ทุนเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเหลือที่ต้องจ่ายจริงก็ไม่มากมาย เป็นค่าสมุด หนังสือ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และทุกคนก็ได้รับการสนับสนุนผลักดัน ให้ต้องทำงานช่วยตัวเองด้วยตั้งแต่เด็กๆ ทุกคนจะมีงานพิเศษทำ เข้ามหาวิทยาลัยก็จะเป็นผู้ช่วยอาจารย์ บางทีอาจารย์จะให้มาถอดเทป พี่ๆ ก็รับมาให้น้องๆ ช่วยถอดเทป ก็จะมีรายได้ เรียกได้ว่าทุกคนมีรายได้เป็นของตัวเอง ก็จะเป็นอย่างนี้มาแต่เด็ก เขาก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งซึ่งเขาหาได้เอง และเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ

พ่อเขาก็จะพูดอยู่ตลอดว่า ตอนพ่อเด็กๆ ที่บ้านต้องทำนา เสาร์ อาทิตย์ก็ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่เขาทำนา ไม่มีโอกาสจะได้มานั่งท่องหนังสือเหมือนที่ลูกๆ ได้มีโอกาสในวันนี้ เวลาว่างต้องช่วยทำงาน ลูกเขาก็จะรู้สึกว่าชีวิตเขาในวันนี้ ก็ดีกว่าพ่อสมัยเด็กๆ เพราะฉะนั้นเขาก็ทำด้วยความสบายใจ สนุกสนาน ไม่รู้สึกว่ากดดันคุณสมชายเป็นคนที่ทำอะไร งานต้องมาก่อน กลับมาบ้าน ทานข้าวเสร็จก็นั่งทำงาน เสร็จงานก็ขึ้นนอน คุณสมชายจะไม่มีเวลามารับรู้ว่า ลูกเรียนหนังสือถึงชั้นอะไร จะเรียนต่ออะไร ต้องเรียกได้เลยว่าคุณสมชายไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าลูกคนนี้ปีนี้จะจบอะไร วันหนึ่งลูกสาวคนโตใกล้จะจบ ต้องกลัวเหมือนกัน แต่ทำไมซาวบ้านไม่ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเองบ้าง เขาก็จะถกเถียงกันอยู่ตลอด

คุณสมชายชอบงานอิสระ เป็นคนชอบอิสระ ไม่ค่อยชอบรับราชการ ชอบงานอิสระ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็เลิก แต่ลูกๆ อาจรับการถ่ายทอดในเรื่องอุดมการณ์ ก็คือการทำงานเพื่อสังคม แต่วิธีการอาจจะต่างกัน อย่างคนที่สอง (ประทับจิต) คุณสมชายก็บอกว่าไปเรียนทำไมรัฐศาสตร์ ไม่เห็นจะได้เรื่อง เขาก็จะแย้งว่าการแก้ไขปัญหา พ่อจะใช้แต่หลักการอย่างเดียวไม่ได้ คุณพ่อก็ต้องยอมรับว่า กฎหมายมหาชนก็ต้องใช้ความรู้ทางรัฐศาสตร์ ต้องใช้ความเป็นจริงทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาเข้ามา เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะมาใช้หลักเกณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ ทุกอย่างก็ต้องมีพื้นฐานความเป็นจริงด้วย เขาก็จะถกเถียงกัน ซึ่งก็คงเป็นอิสระทางความคิด

คนโต (สุดปรารถนา) จะมีลักษณะคล้ายคุณพ่อ คือชอบทำงาน เป็นเนื้องานที่เห็นได้ แต่ไม่ค่อยพูด แต่จะเป็นคนที่ถนัดในงานด้านวิชาการ (เรียนจบนิติศาสตร์ ปัจจุบันรับราชการศาลปกครอง และเรียนปริญญาโทกฎหมายมหาชน กำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชน) ตอนเรียนจบมีคนเสนอให้ทำงานในบริษัทฝรั่ง เป็นที่ปรึกษากฎหมาย เขาก็ปฏิเสธแล้วมาถามว่า แม่จะว่าอะไรไหม ถ้าหากเขาอยากรับราชการเงินเดือนน้อยๆ ก็บอกเขาว่าไม่มีปัญหา ถ้าหากเขาพอใจ เขามีความสุขกับงานเขาก็เลือกแนวทางชีวิตของเขา

วันหนึ่งไม่นานมานี้ ลูกคนโตสองคนเขาก็ตั้งคำถามกันว่า ปัญหาบ้านเมืองมันน่าจะเริ่มมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีซุกหุ้น แล้วก็ทำให้หลักเกณฑ์อะไรต่อมิอะไรมันเปลี่ยนไปหมด คนที่สองก็แย้งว่า ไม่ได้ จะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ แต่กฎหมายมหาชนจะต้องพึ่งพิงองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ด้วย แต่คนโตก็จะแย้งว่าบางครั้งสายรัฐศาสตร์ ก็อาจมาทางสายผู้ว่าฯ ซึ่งเคยชินกับกระบวนการบางอย่าง แต่มิได้ยึดหลักการที่ถูกต้อง แล้วก็อาจทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป

ลูกชายคนเล็ก เขาเป็นคนที่สนิทกับคุณพ่อ เป็นคนที่ไปไหนกับพ่อตลอด เพราะพ่อไปไหนก็จะเอาไปเป็นเพื่อน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณสมชาย จะไม่เคยถามความรู้สึกเขาตรงๆ แต่จะคอยสังเกต เลียบๆ เคียงๆ เขาจะสงสารพ่อว่าทำไมพ่อถึงถูกทำอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมาพ่อก็ทำอะไรให้ใครต่อใคร โดยที่ไม่ได้รับอะไรเลย แล้วทำไมพ่อถึงต้องโดนกระทำแบบนี้

ถ้าถามว่าวันนี้มีใครมานั่งสาปแช่งคนที่ทำพ่อไหม ไม่มี แต่เขาจะมีความรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมนะ ทำไมระบบต่างๆ ทำไมสังคมจึงไม่มีบทบาทในการที่จะออกมาปกป้องคนที่ทำงานเพื่อสังคมได้ดีกว่านี้

คุณสมชายสุขภาพไม่ดี เป็นโรคตับอักเสบ เป็นพาหะ เมื่อร่างกายอ่อนแอ อาการก็จะกำเริบ แต่เวลาที่พักผ่อนเต็มที่ ร่างกายแข็งแรงดี ก็จะไม่เป็นไร เป็นมาสัก 20  กว่าปี แล้วเราก็จะชินกับการที่ประเดี๋ยวก็โทรมาบอก แล้วว่าเป็นลมอยู่ตรงโน้น เป็นลมอยู่ตรงนี้ ก็ต้องไปรับกลับมา ไม่สบายทีหนึ่งต้องขับรถให้ บางทีต้องขับให้เป็นเดือน บางครั้งสองเดือน เราไปไหนไปด้วยกัน ไปศาลด้วยกัน หิ้วกระเป๋าให้ เพราะคุณสมชายก็ไม่มีเงินมากพอจะจ้างเลขาฯ ส่วนตัว ก็ติงกันอยู่ตลอดว่ามันต้องน้อยลง มันต้องอยู่กับความเป็นจริงของตัวเรา ว่าสภาพเราเป็นอย่างนี้ เราไม่สามารถจะไปฝืนหรือทำอะไรที่มันเกินสภาพเราได้ จะติงคุณสมชายตลอดว่าเราต้องยอมรับความจริงว่าทำได้แค่นี้ แต่คุณสมชายก็บอก มันไม่รู้จะทำไง มันไม่มีใคร  บางทีก็จะมีเพื่อนฝูงโทรมาบอกว่า ต้องทำเลยนะสมชาย มันไม่มีใครเลยนะ คุณต้องทำ แต่คนเหล่านั้นหายไปไหน พอถึงวันที่คุณสมชายไม่อยู่ คนเหล่านั้นก็หายไปหมดเลย ไม่มีใครเข้ามาทำต่อ ไม่มีใครอยู่เลยเหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ทักท้วงคุณสมชายว่า ทำไมไม่ทำงานอะไรที่ได้เงิน ทำไมไม่ทำอะไรที่จะทำให้เรามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงนี้ไม่มีการพูดถึง ก็เพียงแต่ว่า ทำไมเราไม่ทำในสภาพที่เราอยู่ได้ ด้วยสภาพร่างกายซึ่งเราไหว ก็เคยถาม บางทีต้องเลือกว่าจะทำจนเราล้มลงไปเลย หรือจะทำไปเรื่อยๆ แต่ทำได้นาน

เวลาไม่สบายก็ต้องหยุดจริงๆ เวลาไม่สบายก็จะหงุดหงิด เพราะเป็นคนเคยทำงาน แล้วโรคตับ ก็ไม่มีบาดแผลให้เห็น ไม่มีอาการ ไม่มีผื่น ไม่มีไข้ แต่จะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ได้ บางทีจะลุกไปห้องน้ำข้างๆ ห้องนอน ก็จะเป็นลม เป็นปกติที่คนอื่นไม่รู้ แต่คนในบ้านจะรู้ ว่าเดี๋ยวจะโทรมาบอกว่าเป็นลมอยู่ตรงนั้น เป็นลมอยู่ตรงนี้ จะเป็นแบบนี้ เคยโทรมาบอกว่าเป็นลมอยู่สนามบินหาดใหญ่ ไปเป็นลมอยู่ที่เชียงราย เราก็ต้องไปรับกลับมา

เวลาอยู่บ้าน สามทุ่มก็จะเข้านอนแล้ว บางทีมีงานก็จะให้ช่วยพิมพ์ให้ แล้วแต่ใครว่างก็จะช่วยพิมพ์ บางทีลูกพิมพ์ไปร้องไห้ไป เพราะพรุ่งนี้จะสอบ รายงานยังไม่ได้ส่ง แม่ก็จะต้องมาช่วยพิมพ์ให้ ลูกไปดูหนังสือ ไม่พิมพ์ก็ไม่ได้ เพราะพ่อจะขาดอุทธรณ์แล้วนะพรุ่งนี้ แล้วถ้าพ่อไปให้ลูกน้องพิมพ์ ก็ต้องให้อีก 200 เพราะงั้นพิมพ์เองดีกว่า แล้วพ่อก็เข้านอน สามทุ่มก็นอน แล้วก็ตื่นแต่เช้า

เราไม่มีปัญหาในการจะไปช่วยคนอื่น แต่เราก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า แล้วเราแข็งแรงพอ สภาพเราเข้มแข็งพอที่จะทำแบบนี้หรือไม่ แต่คุณสมชายก็บอก มันไม่มีใคร ไม่มีใครจะลงไป หาคนที่จะเสียสละได้ยาก แล้วบางทีให้คนอื่นไปก็ต้องเสียค่ารถให้ เสียค่าเดินทางให้ สู้ไปคนเดียว กินข้าวจานละยี่สิบ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไปเครื่องบินกลับเครื่องบินก็ประหยัดค่าที่พัก แล้วถ้าไปรถทัวร์ ก็อดหลับอดนอนกลับมาไม่สบายก็ไม่คุ้มอีก ก็อย่างนี้ ค่าเดินทางก็ดึงมาจากในบ้าน ดึงกันไปดึงกันมา บางครั้งค่าเทอมตรงนี้ต๊ะไว้ก่อนนะ ก็จะเป็นลักษณะนี้

โดยส่วนตัว เมื่อก่อนที่บ้านจะมีบริษัทส่งออกเครื่องเงินไปต่างประเทศ แต่เลิกกิจการแล้ว หลังจากมีครอบครัว ยึดวิชาชีพพยาบาลที่ศิริราชมาระยะหนึ่ง แต่หลังจากมีลูกคนที่สอง ก็ไม่มีคนเลี้ยงลูก ถ้ามาจ่ายค่าคนเลี้ยงลูก ค่าเดินทาง เงินเดือนข้าราชการน้อย สมัยโน้น 2-3 พันกว่าบาท หักโน่นหักนี่ไม่เหลืออะไรเลย เลยคิดว่าเราต้องยอมถอย ก็คิดว่าเราจะทำงานบ้าน ดูแลลูก อย่างน้อยเราไม่มีรายได้แต่เราก็ไม่ต้องจ่าย

พอลูกโตขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวยังมีลูกค้าที่ติดต่อทำธุรกิจกันอยู่ ก็จะซื้อขายส่งของกันเป็นหีบห่อเล็กๆ ก็มีค่าใช้จ่ายในบ้านบ้าง ก็จะประคับประคองตรงนี้มาโดยตลอด ถ้าถามว่ามีเงินเก็บไหม โดยส่วนตัวก็ยังพอจะมี แต่ของคุณสมชายวันที่หายไป เงินในบัญชีธนาคารเหลือแค่ร้อยกว่าบาท ทรัพย์สินมีแค่รถยนต์คันเดียว นอกนั้นก็ไม่มี

พอมาถึงวันนี้ที่คุณสมชายหายตัวไป ก็ต้องย้อนกลับมาใหม่ว่า จะทำยังไงที่จะประคับประคองตรงนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าลูกๆ จะเรียนจบ ก็เลยเข้าหุ้นกับน้องๆ ตั้งบริษัทเพื่อส่งออกเครื่องประดับ เริ่มเล็กๆ เรามีลูกค้าเดิมอยู่ ตั้งเป็นบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีรายได้ส่วนหนึ่งจุนเจือ ตัดรายจ่ายส่วนหนึ่งออกไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีงานอะไรมากมาย เพราะส่วนหนึ่ง ทุกวันนี้ยังต้องออกมาเรียกร้องเรื่องทนายสมชาย ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ก็เป็นรายได้ประคับประคองครอบครัวได้

ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่มีความเป็นส่วนตัว ชอบอยู่บ้านนั่งอ่านหนังสือ วันนี้มันเปลี่ยนไป ไปไหนคนรู้จักหมด เป็นความไม่เป็นส่วนตัวประการหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเปลี่ยนไป แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้อยู่กับตรงนี้ได้ เพราะเราต้องทำงานต่อ

เหนื่อย...เหนื่อยกับการที่เราต้องปรับตัว แต่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ ทุกอย่างมันใหม่ไปหมด แต่มันสำคัญ แล้วเราต้องเรียนรู้ มีคนแปลกหน้าเข้ามาหลายแบบ ซึ่งเราต้องกลั่นกรอง ไม่รู้ว่ามีใครจริงใจหรือมีใครแอบแฝง

หลังทนายสมชายหายไป ใครต่อใครออกมาบอกว่าสนิทกับคุณสมชาย ทุกคนจะบอกว่าสนิทหมด แต่ถามว่าวันนี้ใครช่วยออกมาเรียกร้องให้ ไม่มีเลย บางครั้งเรารู้สึกว่าทำไมในสิ่งซึ่งบางคนควรจะพูด ก็ไม่พูด

ถามว่าตอนคุณสมชายถูกดึงขึ้นรถ มีคนเห็นไหม...มี บริเวณนั้น บางกะปิ หัวหมาก มีคนอยู่เยอะแยะ คนที่รู้จักคุณสมชายอยู่เยอะแยะ โทรศัพท์มาบอกว่าเห็น แต่วันนี้เราติดต่อกลับไปไม่มีใครรับสาย หลายคนที่เคยทำงานกับคุณสมชาย รักคุณสมชายมากเหลือเกิน ถามว่าวันนี้เข้ามาช่วยเหลือในการทวงถามความเป็นธรรมไหม ไม่มี

บางคนบอกว่าวันนี้เราต้องหยุดก่อน เราทำอะไรไม่ได้ บางคนบอกไม่เป็นไร อายุความตั้ง 20 ปี แล้วถามว่า อีก 10 ปี 20 ปี ระหว่างนี้จะมีคนหายอีกไหม ในเมื่อคดีนี้เราหยุดไว้ แล้วคนอื่นที่จะถูกกระทำต่อล่ะแล้วเราจะทำยังไงถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรบ้าง

มันพิสูจน์ความจริงใจว่าเราผูกพันกันจริงไหม รักใครกันจริงไหม เราพร้อมที่จะเจ็บแทนกันไหม มันพิสูจน์ให้เห็น ถ้าเทียบกับประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุ 20 กว่า แล้วเดินมาศาลคนเดียว เป็นคนที่โทรไปแจ้ง 191 เป็นคนที่เดินไปบอกตำรวจที่ไปแจกใบปลิวแถวนั้น ว่ามีใครเห็นเหตุการณ์ไหม เดินไปบอกว่าหนูเห็นเหตุการณ์ แล้วให้การเป็นพยาน 3 ครั้ง ตรงกัน ชี้จำเลยที่หนึ่ง พยานเป็นเด็กผู้หญิง เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วก็มีอีก 2-3 คนเป็นนักศึกษารามฯ ซึ่งถามว่ามีคนที่โทรมาบอกเยอะ ว่าเห็นเหตุการณ์ วันนี้โทรไปยังไม่รับสาย ไม่รู้จักกันไปแล้ว...ก็ไม่เป็นไร

มันทำให้เราเรียนรู้ว่า ในสถานการณ์คับขัน มีใครเป็นเพื่อนเราจริงๆ แล้ววันนี้มีใคร และหลายคนที่เราไม่รู้จัก คุณสมชายไม่เคยช่วยเหลือเลย คนเหล่านั้นกลับเข้ามาหยิบยื่นความเป็นเพื่อนให้ ซึ่งมีหลากหลาย พระภิกษุก็มี ส่วนใหญ่เป็นคนที่มิใช่มุสลิม คนที่คุณสมชายไม่เคยให้ความช่วยเหลือ ที่มาหยิบยื่นความเป็นเพื่อน แล้วก็เป็นแนวร่วม เป็นพันธมิตรที่ดีในการต่อสู้ ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่ามันเป็นน้ำใจไมตรีของสังคม เป็นสิ่งดีๆ ที่สังคมมอบให้กับครอบครัว

ตรงนี้ มาถึงวันนี้ เราก็รู้สึกว่า เราแข็งแรงขึ้น แล้วเราก็อยากจะไปดูแลคนอื่น ซึ่งเขายังไม่มีโอกาสจะลุกขึ้นมายืนด้วยขาของเขาเอง ให้เขามีโอกาสที่จะเข้ามาหาความเป็นธรรมเพื่อครอบครัวเขาด้วย

อย่างน้อยคดีนี้ทำให้สังคมรู้ความจริงว่ามันมีการอุ้ม มันมีการบังคับให้หายตัวไป แล้วหายไปแล้วหายไปไหน เพราะเมื่อก่อนนี้เป็นแค่ข่าวลือ

ยกเหตุการณ์เร็วๆ นี้ ประมาณเดือนพฤศจิกายน มีคดีหนึ่งที่นักศึกษา มอ.ปัตตานีถูกยิงตายหน้า มอ. คดีนั้นมีการจับนักศึกษา มอ. ปัตตานีประมาณ 3-4 คน ส่งฟ้องศาล มาฟ้องที่กรุงเทพฯ ในที่สุดแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้อง ปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มนั้น แต่นักศึกษากลุ่มนั้นหายไป จนวันนี้ยังไม่ได้กลับบ้าน แล้วพ่อแม่ก็ได้ไปแจ้งความ แล้วก็ได้รับคำตอบว่า “สงสัยหนีไป ไม่ได้หายไปไหนหรอก สงสัยหนีไป”

แล้วจริงๆ เราจะทำยังไงที่จะสืบค้นว่า เขาถูกกระทำอะไรบ้าง มันเป็นไปได้ยังไงที่เขาจะหนีไป โดยที่เขาไม่ได้บอกพ่อแม่เขา แล้วเขาเพิ่งถูกปล่อยตัวมาไม่กี่วัน นับจากเดือนพฤศจิกายนจนถึงวันนี้ พ่อแม่เขาก็นั่งร้องไห้อยู่ทุกวันว่าลูกเขาหายไปไหน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ไปไหนหรอก หนีไปเอง

เราจะสืบค้นยังไง รัฐต้องรับผิดชอบ ถ้าเขาหนีไปไหน เขาต้องบอกญาติพี่น้องเขาได้ว่าเขาหนีไปไหน แต่ญาติพี่น้องเขาเอง เขากลับพูดว่า เจ้าหน้าที่รัฐบอกเขาว่าคดีนี้หาหลักฐานไม่ได้หรอก มันเหมือนกับการมาเยาะเย้ย มาซ้ำเติมความรู้สึกของเขา ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่คุณสมชายคนเดียว มีอีกเยอะแยะ แล้วมันเกิดขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ในทางเหนือก็มีกลุ่มคนไร้สัญชาติ คนพวกนี้ยิ่งน่าสงสารใหญ่ เพราะสามารถหายไปได้ง่ายๆ โดยไม่มีหลักฐาน เขาเหมือนคนที่ไม่มีตัวตนที่อยู่ในแผ่นดิน เขาอาจจะถูกกระทำอะไรก็ได้

ก็ต้องถือว่า ถ้าถามว่าคดีคุณสมชายได้อะไร อย่างน้อยคดีคุณสมชายน่าที่จะเป็นสิ่งซึ่งจุดประกายให้สังคมได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วสังคมมันมีเรื่องราวแบบนี้ แล้วคนที่ถูกบังคับให้หายตัวไป ญาติพี่น้องก็สามารถเปิดเผยตัวได้ว่าเขาถูกกระทำแบบนี้จริง ไม่ใช่ว่าหายไป 5 ปี 10 ปี ก็ยังบอกว่าหนีไปอยู่นั่นแหละ แล้วตอบคำถามเขาไม่ได้

ในโอกาสที่ทางสหประชาชาติ ได้ออกกติกาสากลว่าด้วยการบังคับให้หายตัวไปเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว (อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกทำให้หายตัวไป International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, 23 กันยายน 2548) ก็อยากจะขอใช้โอกาสนี้ กระตุ้นให้รัฐบาลไทยลงนามในสนธิสัญญากติกาสากล ว่าด้วยการบังคับให้หายตัวไป เพื่อที่เป็นหลักประกันกับคนไทยว่าสิ่งนี้จะต้องได้รับการคุ้มครอง ทั้งจากกฎหมายบ้านเมืองเราเองและจากสหประชาชาติ และคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธที่จะไม่ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้

จริงๆ แล้ว มีอนุสัญญาว่าด้วยการทรมาน ซึ่งมีมานานหลายปีแล้วและรัฐบาลก็ยังไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าเพราะอะไร เพราะเรื่องการทรมานไม่ว่าจะเป็นการทรมานจากใครก็ตาม บุคคลต่อบุคคล หรือเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ซึ่งตรงนี้ การร่วมลงนามในสนธิสัญญา ก็จะทำให้เรามีสิทธินำเรื่องนี้ขึ้นไปสู่สากลได้ หรือเรื่องคนหาย ที่ผ่านมาเหมือนกับรัฐไม่เคยใส่ใจ และไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่ามีการหาย ตรงนี้สำคัญ แต่ถ้าหากว่ารัฐยืนยันว่ารัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป รัฐก็น่าที่จะแสดงความจริงใจนั้น ด้วยการยอมร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนั้น

อย่างน้อยที่สุดก็เป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ระดับหนึ่ง”

 

ที่มา : อังคณา นีละไพจิตร, “เขาชื่อสมชาย นีละไพจิตร,” ใน สมชาย นีละไพจิตร ผู้เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม. (กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นท์ติ้ง, 2549), น. 23 - 36.