วันที่ 30-31 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกถือเป็น วันแห่งการรำลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหายสากล (International Day of Enforced or Involuntary Disappearances)
วันที่ 30-31 สิงหาคม จึงเป็นวันที่คนทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงบุคคลจำนวนมากที่สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งจากภาวะสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง การปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ หรือผู้ที่ถูกบังคับสูญหายจากความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการถูกบังคับให้สูญหายระหว่างการย้ายถิ่น และการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ลับ
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ในแต่ละปีมีจำนวนผู้หายสาบสูญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีผู้ใดทราบที่อยู่และชะตากรรมที่แท้จริงของพวกเขา ส่วนใหญ่ผู้สูญหายจะไม่มีโอกาสได้กลับมาอีก หรือการกลับมาของผู้สูญหายบางคนอาจกลับมาในสภาพไร้ชีวิต องค์การสหประชาชาติจึงถือว่าการบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง (Serious Crime) และหากเป็นการบังคับสูญหายอย่างเป็นระบบ จะถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC)
ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ “เหยื่อ” มิได้หมายถึงเฉพาะตัวผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย หากยังหมายรวมถึงญาติ หรือครอบครัวของพวกเขาด้วย
ในปี ค.ศ. 1980 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือโดยไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances - WGEID) เพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากนานาประเทศต่อปรากฏการณ์บังคับสูญหายที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกในขณะนั้น โดยผู้แทนส่วนต่างๆ รวมถึงครอบครัวได้มารวมตัวกันที่นครเจนีวา ซึ่งพวกเขาล้วนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับชะตากรรม และที่อยู่ของบุคคลหลายพันคนในส่วนต่างๆ ของโลก ที่ถูกทำให้หายไป
“การบังคับให้หายสาบสูญ” จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน นับจากนั้นเป็นต้นมา การทำงานของคณะทำงานฯ ได้เตือนบรรดาผู้กดขี่ และผู้ปกครองที่เผด็จการว่าพวกเขาไม่สามารถปัดความรับผิดชอบในการกักขัง การทรมาน และการสังหารผู้คนเพียงแค่ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น หรือไม่ได้กระทำการลิดรอนเสรีภาพ รวมถึงไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ
ต้องขอบคุณการรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพและไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของครอบครัวและภาคประชาสังคม ทำให้ในปี ค.ศ. 1992 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีข้อมติที่ 47/133 รับรองปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Declaration on the Protection of all Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งปูทางไปสู่การรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) ในปี ค.ศ. 2006 และมีผลบังคับใช้ในปี 2010
คณะทำงานฯ ได้ปฏิบัติตามอาณัติของปฏิญญา โดยสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการตามปฏิญญาปี ค.ศ. 1992 ซึ่งระบุถึงพันธกรณีระหว่างประเทศในการยุติ และป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อปกป้องสิทธิในการทราบความจริงของครอบครัว ลงโทษผู้กระทำความผิด และเพื่อประกันสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย แม้ไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อาณัติของปฏิญญา ค.ศ. 1992
ปฏิญญาฯ และอนุสัญญาฯ ระบุว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการทำลายคุณค่า และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงต่อพวกเขาและครอบครัว ดังนั้นไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ก็จะไม่สามารถอ้างเป็นเหตุผลในการบังคับให้บุคคลสูญหายได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การขัดแย้งกันทางอาวุธ หรือเหตุฉุกเฉินสาธารณะอื่นๆ ที่สำคัญ ปฏิญญาฯ และอนุสัญญาฯ กำหนดให้การบังคับให้หายสาบสูญเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ตราบใดที่ชะตากรรมและที่อยู่ยังไม่กระจ่าง และไม่ควรมีอายุความ แต่หากจะมีอายุความก็ควรให้นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้คณะทำงานพิจารณาข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้หายสาบสูญโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่เกิดขึ้น
ในเอเชียแปซิฟิก คณะทำงานฯ ทบทวนกรณีคนหาย 36,397 กรณี ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 3,057 ราย สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีกรณีผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่คณะทำงานได้ตรวจสอบและสื่อสารมายังประเทศไทยทั้งสิ้น 75 กรณี ที่ยังไม่ทราบที่อยู่และชะตากรรมของพวกเขา อย่างไรก็ดี คณะทำงานฯ เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีความพยายามกดดัน การคุกคามหรือการข่มขู่ต่อครอบครัว หรือต่อองค์กรที่ทำงานในนามของพวกเขา หรือพยายามให้พวกเขารวมถึงญาติถอนเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้หายสาบสูญ คณะทำงานฯ เห็นว่างานขององค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรที่ก่อตั้งโดยครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของอาชญากรรมการบังคับสูญหาย คณะทำงานฯ เรียกร้องสิทธิในการทราบความจริงของครอบครัว ตลอดจนความรับผิดชอบของผู้กระทำความผิด
เมื่อปีที่แล้ว คณะทำงานฯ ยังได้นำเสนอรายงานประจำปีต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 48 ซึ่งรวมถึงหัวข้อเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในบริบทของการข้ามชาติ รายงานให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นการข้ามชาติที่นำไปสู่การบังคับให้สูญหาย ซึ่งมักอยู่ภายใต้หน้าฉากของการต่อต้านการก่อการร้าย บ่อยครั้ง บุคคลที่ถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับให้สูญหายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนอกอาณาเขตที่แอบแฝงโดยรัฐ สถานการณ์ที่คณะทำงานจัดทำเอกสารส่วนใหญ่ของกรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่รัฐจำนวนหนึ่งในภูมิภาคนี้ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีเพื่อให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศต้นทางที่ต้องการตัวพวกเขา
ดิฉันเน้นขอเน้นย้ำว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกประเทศจะต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญา คณะทำงานฯ ได้ยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับการงดเว้นโทษ และได้กระตุ้นเตือนให้รัฐต่างๆ วางกรอบเชิงบรรทัดฐานที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณี แม้ว่าความก้าวหน้าในภูมิภาคนี้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่คณะทำงานฯ จะยังคงดำเนินการตามอาณัติ และให้ความช่วยเหลือเหยื่อ และครอบครัวในการเข้าถึงสิทธิในความจริง การยุติความทุกข์ทรมาน และส่งมอบความยุติธรรมให้ญาติและครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน
คณะทำงานฯ ได้รับรายงานต่อเนื่องในเรื่องการตอบโต้ครอบครัวของเหยื่อ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และองค์กรที่สนับสนุนพวกเรา ซึ่งเราถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คณะทำงานฯ ระลึกเสมอว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ไม่อาจอ้างเป็นเหตุผลในการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญได้ เราเรียกร้องให้รัฐดำเนินมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันการข่มขู่และการตอบโต้ ปกป้องผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการบังคับให้หายสาบสูญ และลงโทษผู้กระทำความผิด
ส่วนตัว ในฐานะครอบครัว ดิฉันอยากส่งกำลังใจให้ญาติและครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน ทุกครั้งที่พูดในนามของครอบครัว ดิฉันจะรู้สึกถ่อมตัว และรู้สึกว่าตัวเองเล็กลงอย่างมาก ดิฉันอยากบอกว่าในฐานะครอบครัว เราเป็นคนเล็กๆ ที่มักถูกกันออกไปจากกระบวนการต่างๆ แต่ดิฉันอยากจะบอกกับทุกท่านว่า การบังคับสูญหายเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเราจะไม่มีวันตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนกว่าเราจะถูกพรากคุณค่าสำคัญบางอย่างในชีวิตไป
สำหรับครอบครัว การถูกอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ความจริง” แม่ๆ หลายคนพูดว่า “เขาเอาลูกเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้ลูกคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี”
คำว่า “หาย” มีต้นกำเนิดคำมาจากภาษาสเปน คือ “เดสแอปาเรซิโด” (Desaparecido) ซึ่งหมายถึงใครบางคนที่ “หายไปตลอดกาล” ผู้ซึ่ง “จุดหมายปลายทาง” เป็น “ปลาสนาการ” หรือพูดอย่างเป็นทางการ คือ ไม่เป็น ทั้งการมีชีวิตอยู่ หรือตาย ไม่อยู่ทั้งที่นี้ ... หรือที่ไหนๆ สิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญอยู่ในทุกลมหายใจ คือ ความคลุมเครือ การไม่รู้ความจริง และความเจ็บช้ำจากการลอยนวลพ้นผิด สำหรับครอบครัวคนหายแล้ว พวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต
การเดินทางของกฎหมายทรมานสูญหาย
การเดินทางของกฎหมายทรมานสูญหาย ถือว่ามาถึงเกือบสุดทางแล้วในวันนี้ อย่างที่ดิฉันได้แสดงความเห็นไว้แต่แรกว่า ร่างกฎหมายที่แก้ไขโดย ส.ว. ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการอนุญาตให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด (Impunity) รวมถึงเรื่องอายุความ ซึ่งอนุสัญญาของสหประชาชาติ กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีอายุความ หรือหากจะกำหนดอายุความ ควรกำหนดอายุความให้นานเท่าที่จะทำได้ (article 8, 1(a)-ICPPRD) รวมถึงเรื่องการห้ามการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน (ตัดมาตรา 30 ออก) ซึ่งถือเป็นหลักสากลทั้งตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
เรื่องนี้ได้มีการอภิปรายในสภาฯ ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับร่างเป็นเอกฉันท์ในวันนี้ (24 ส.ค. 2565) โดยการอภิปรายของ ส.ส. เห็นว่าควรรับร่างไปก่อน โดยให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายในหลักการสำคัญในภายหลัง ซึ่งถือเป็นคำมั่น (Commitment) ที่ได้ให้ไว้กับประชาชน แม้ส่วนตัวจะเห็นว่ากฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้ว การแก้ไขเป็นเรื่องยากมากก็ตาม
ต่อจากนี้ ขอให้รัฐบาลได้ทำตามมติ ครม. 24 พฤษภาคม 2559 และปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้โดยสมัครใจต่อองค์การสหประชาชาติ โดยการรีบเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ (ICPPED) โดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการสหประชาชาติสามารถตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทยได้
ต้องติดตามต่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ทันที หรือรัฐบาลจะอ้างเหตุเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ออกไป (Pending) โดยข้ออ้างความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เหมือนกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางฉบับที่ผ่านมา
อีกมาตราหนึ่งที่น่ากังวล คือ มาตรา 7 วรรคสอง ที่ระบุว่า “การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น” และมาตรา ๑๐ ที่ระบุว่า “ในความผิดตามมาตรา 7 ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และทราบรายละเอียดของการกระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด”
สองมาตรานี้ มีนัยซ่อนเร้นที่สำคัญ แต่ยังไม่มีใครพูดถึง คือ คำว่า “การสืบสวน” ตามนัยทางกฎหมายไทย คือ การสืบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรม (อยู่หรือตาย) ตามสิทธิที่จะทราบความจริงของเหยื่อ แต่นัยทางกฎหมายตามมาตรา ๑๐ ไม่ได้เป็นการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ นี่จึงเป็นการเปิดช่องให้มีการลอยนวลพ้นผิด ทั้งหมดนี้จึงเป็นความเสียหายอย่างยิ่งต่อหลักของความยุติธรรม และการชดใช้เยียวยาทางกฎหมายแก่ญาติและครอบครัว
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 : 4 ให้นายกรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ถ้าไม่มีกรณีตามมาตรา 148 (ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ) ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ เรื่องนี้คงต้องให้นักกฎหมายมาตอบว่ากรณีนายกรัฐมนตรีรักษาการจะสามารถดำเนินการขั้นตอนนี้ได้หรือไม่
สุดท้ายนี้ ขอใช้พื้นที่นี้เพื่อรำลึกถึงเหยื่อการทรมานและการบังคับสูญหายทุกคน ที่เสียสละชีวิตและร่างกายของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดอนุวัติการกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายในประเทศไทย การต่อสู้ของญาติ และครอบครัวที่ไม่เห็นแก่ความยากลำบากในการรณรงค์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในท่ามกลางการถูกข่มขู่คุกคาม และความไม่ปลอดภัยถือเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ และสมควรได้รับการยกย่อง
การต่อสู้ของครอบครัวโดยเฉพาะผู้หญิง แม้จะพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผย ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อนตัว และความยุติธรรมจะกลับคืนมา และสำหรับครอบครัว แม้เราต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคาม ความหวาดกลัว แต่ชีวิตก็สามารถเยียวยา ซ่อมแซม แก้ไขเพื่อให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งด้วยตัวของเราเอง และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจะยังคงถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น “จนกว่าผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ”
อังคณา นีละไพจิตร
คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ
ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
ที่มา : อังคณา นีละไพจิตร. บางส่วนจาก “ปาฐกถา วันที่ระลึกถึงผู้สูญหายสากล” วันที่ 27 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา