Focus
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเต็มพระทัยพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ดังที่ได้ทรงบัญชาการการซ้อมพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญก่อนถึงวันงาน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยพระองค์เอง และในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็มีเจ้าประเทศราชซึ่งเป็นประมุขของคนไทยแห่งนครและรัฐต่างๆ เข้าร่วม
- สภาผู้แทนราษฎร (ชุดแรก) ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎร เพื่อเป็น “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” จำนวน 70 คน นั้น ประกอบไปด้วยผู้มีฐานันดรศักดิ์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 39 คน ซึ่งมากกว่าสมาชิกคณะราษฎรที่มี 31 คน
- ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 (ที่สภาผู้แทนราษฎรจัดทำขึ้นตามพระประสงค์นั้น) มีข้อความตอนหนึ่งของพระราชปรารภความว่า “จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
ค. มีบางคนโฆษณาหลอกลวงให้ชนรุ่นใหม่หลงเข้าใจผิดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำใจต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ประดุจเป็นพระลัญจกรประดับบนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่คณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย
ผมขอชี้แจงความจริงว่านอกจากทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชกระแส และทรงยกร่างพระราชปรารภประกอบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. แล้ว ยังมีการปฏิบัติที่แสดงว่าพระองค์เต็มพระทัย ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะมีอายุมากแล้วซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก และนายทหารรักษาวังสมัยนั้น คงจำกันได้ว่า ก่อนถึงวันพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น พระองค์ได้เสด็จไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อทรงบัญชาการด้วยพระองค์เองว่าพิธีนั้นควรจัดอย่างไร ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาพหลฯ และผมไปเฝ้าด้วย แล้วได้ทรงบัญชาการซ้อมพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยให้นายทหารรักษาวังจำนวนหนึ่งยืนทางฝ่ายซ้าย สมมติว่าเป็นที่ประทับของเจ้านายที่จะมาเฝ้าในราชพิธี ทางฝ่ายขวาของราชบัลลังก์ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาพหลฯ และผมกับสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งยืนเข้าแถวสมมติว่าเป็นที่ซึ่งคณะกรรมการราษฎรและเสนาบดีและข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่จะยืนเฝ้าในวันราชพิธี ส่วนเบื้องหน้าพระราชบัลลังก์นั้น กำหนดให้เป็นที่ยืนเฝ้าของเจ้าประเทศราชและขุนนางผู้ใหญ่อื่นๆ นี่ก็แสดงชัดแจ้งว่า มิใช่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยถูกบังคับหรือโดยเสียมิได้ก็จำต้องพระราชทาน
เมื่อได้กล่าวมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ควรกล่าวเพื่อประวัติศาสตร์ไว้ด้วยว่าในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เจ้าประเทศราชซึ่งเป็นประมุขของคนไทยแห่งนครและรัฐต่างๆ ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ก็ได้เต็มใจมาเฝ้า เห็นพ้องต้องกันสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ อาทิ เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่, เจ้าจักรคำจร ผู้ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน, พระยาพิพิธเสนามาตย์ซึ่งเป็นราชาแห่งยะหริ่ง (อำเภอยามู),พระยาภูผาฯ ซึ่งเป็นราชาแห่งระแงะ
นอกจากนี้ หลายท่านที่เป็นเชื้อสายของราชา หรือ สุลต่านในบางจังหวัดภาคใต้ ก็ได้มาร่วมแสดงความยินดีที่ราชอาณาจักรสยามมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยถือเอาตัวบทถาวรเป็นสัญลักษณ์ ส่วนบทเฉพาะกาลนั้นก็เป็นเรื่องชั่วคราวซึ่งหมดกำหนดเฉพาะกาลแล้วก็มีบทถาวรตามมาตรา ๑๖ ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้ “เลือกตั้งขึ้น””
ง. บางคนไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” จำนวน ๗๐ คน ซึ่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎรตั้งขึ้นตามฉบับ ๒๗ มิถุนายนนั้นคือใครบ้าง โดยผู้ไม่รอบคอบนั้นอ่านแต่ตัวหนังสือเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องอย่างจอมพลสฤษดิ์ หรือ จอมพลถนอมแต่งตั้งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม
ผมจึงขอให้นิสิตนักศึกษานักเรียน และมวลราษฎรที่สนใจโปรดอ่านราชกิจจานุเบกษาว่า ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎร มิได้แต่งตั้งพวกของตัวเท่านั้น หากตั้งท่านผู้มีฐานันดรศักดิ์จากระบอบสมบูรณาฯ เป็นส่วนมากกว่าสมาชิกคณะราษฎรเอง คือ เจ้าพระยา ๓ ท่าน คือ (๑) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ผู้ซึ่งเป็นพระอัยยกาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน (๒) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ (๓) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
รองลงไปมีนายพลตรี มหาเสวกตรี มหาอำมาตย์ตรีและโท ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา ๑๕ คน รองต่อไปมีนายพันเอก นายนาวาเอก นายพันตำรวจเอก อำมาตย์เอก ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา ๖ คน ที่มีบรรดาศักดิ์พระ ๓ คน ที่มีบรรดาศักดิ์หลวง ๖๐ คน นอกนั้นไม่มีบรรดาศักดิ์ ในจำนวนนั้นมีเชื้อราชตระกูลหลายท่าน คือ ท่านเจ้าพระยาวงศาฯ แห่งราชตระกูล “สนิทวงศ์ฯ” ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ แห่งราชตระกูล “เทพหัสดินฯ” ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ แห่งราชนิกุล “บุนนาค” พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ แห่งราชตระกูล “อิศรศักดิ์ฯ” หลวงเดชาติวงศ์ฯ แห่งราชตระกูล “เดชาติวงศ์ ฯ” หลวงสุนทรเทพหัสดิน แห่งราชตระกูล “เทพหัสดิน ฯ” หลวงดำริอิศรานุวรรตแห่งราชตระกูล “อิศรางกูร” หลวงเดชสหกรณ์ และหม่อมหลวงอุดมฯ แห่งราชตระกูล “สนิทวงศ์ฯ” ซึ่งทั้ง ๒ ท่านหลังนี้เป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน
ในจำนวนผู้แทนราษฎรชั่วคราว ๗๐ คนนั้น มีสมาชิกคณะราษฎรเพียง ๓๑ คนเท่านั้น เมื่อนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรทราบรายชื่อ “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” ตามฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ก่อนเสนอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้วท่านผู้สนใจที่มีใจเป็นธรรมก็ย่อมเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ นั้น ท่านที่เป็นราชตระกูลกับราชนิกุล รวมทั้งผู้มิได้มีฐานะดังกล่าวแล้ว คือ สืบมาจากสกุลราษฎรธรรมดาสามัญ ได้ร่วมมือกันเป็นเอกฉันท์ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. เสร็จแล้วลง มติเห็นชอบพ้องกันให้นำเสนอพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะลงพระปรมาภิไธยในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และท่านทั้งหลายก็คงจะเห็นได้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ไม่เคารพพระมหากษัตริย์แล้วท่านที่มีฐานันดรศักดิ์ทั้งหลายนั้นจะยอมลงคะแนนให้ง่ายๆ หรือ ซึ่งต่างกับจำพวกที่เรียกกันว่า “ฝักถั่ว” ในการพิจารณาลงมติให้แก่รัฐธรรมนูญบางฉบับ
พระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ศุกมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๗๕ พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม ปละวังคสมพัตสร มฤคศิรมาส ศุกลปักษ์ เตรส์ดิถี สุริยคติกาล ธันวาคมมาส ทศมสุรทิน สนิวาร โดยกาลบริจเฉท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตษรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสำศุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฏาภินิร์หาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษมงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสดรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจรบรมเชษฐโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ วิศิษฏศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุนยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมราชวงศานุวงศ์ และทูตานุทูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศความพระราชปรารภว่า ข้าราชการทหารพลเรือน และอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน
ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนิรพระราโชบายปกครองราชอาณาจักร ด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชภายในทศพิธราชธรรมจรรยา ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรื่องไพบูลย์สืบมาครบ ๑๕๐ ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า
จึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราวพอให้สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร ได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่ ครั้นแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างพระราชกำหนดบทรัฐธรรมนูญ อันจะพึงตรึงเป็นหลักถาวรแห่งประศาสนวิธีต่อไป ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบการร่างรัฐธรรมนูญนั้น
บัดนี้ อนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้วจึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษาแนะนำด้วยความยินยอม พร้อมที่จะตราเป็นรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินได้เมื่อและทรงพระราชวิจารณ์ ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติ
จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเรานี้ จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบุลราศีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลิประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารพลเรือนทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสานสมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ
เอกสารอ้างอิง :
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย”, ใน แนวความคิดประชาธิปไตย ของ ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 101-103.