ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“หลานม่า” How to Make Millions Before Grandma Dies

28
เมษายน
2567

 

Focus

  • “หลานม่า” How to Make Millions Before Grandma Dies โดยกวินพร เจริญศรี ผู้เขียนมองว่าเป็นก้าวสำคัญของ GDH ผู้เปิดตำนานคนทำหนังรุ่นใหม่และเป็นความหวังอุตสาหกรรมหนังไทยยุคใหม่ราว 22 ปีก่อน ผู้เขียนวิเคราะห์การทำภาพยนตร์ของ GTH สู่ GDH ออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ‘ยุคแรก บุกเบิก’ ‘ยุคสอง-แสวงหาและทดลอง’ และ ‘ยุคสาม-พยายามเติบโตและตกผลึก’ และสรุปว่าแม้ทุกองค์ประกอบในความเป็น “หลานม่า” จะไม่ใช่สิ่งใหม่หมาดในตลาดหนังโลก แต่ทิศทางการสร้างและการยอมรับหนังแนวนี้ของตลาดหนังไทยในวงกว้างยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากหากเทียบกับ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น
  • ภาพยนตร์ล่าสุดของ GDH คือ “หลานม่า” มีความเป็นสากลโดยผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเป็นแนวมนุษยนิยม’  และมีแนวโน้มว่าจะสามารถหวังรางวัลในเทศกาลสำคัญของเอเชียได้รวมทั้งมองว่า “หลานม่า” คือภาษาสื่อสารสากล เป็นเหมือน ‘ทูตทางวัฒนธรรม’ เพราะนำประสบการณ์ของคนทุกเชื้อชาติมาบรรจบยัง ‘จุดเชื่อมใจ’ (Relate) เดียวกันที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนเท่านั้นแต่ “หลานม่า” เหมือนเป็นตัวแทนสำคัญของทุกครอบครัวที่มีวัฒนธรรมร่วมกันในเอเชีย
  • “หลานม่า” มีประเด็นของภาพยนตร์ที่เป็นสากล อาทิ บท (Script) ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นมากกว่า ‘บทภาพยนตร์’ มีความละเอียดอ่อนที่ทำให้หนังเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีหลายด้าน มีงานออกแบบ Prouduction Design มีความเป็น cinematic แบบหนังคลาสสิค มีการคัดเลือกผู้แสดงสดใหม่ให้ภาพที่ไม่ผูกติดกับตัวตน และครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในขณะเดียวกันก็เป็น coming of age “หลานม่า” ยังรวมตัวแทนของ 4 Generation และสะท้อนปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่ได้จากภาพยนตร์ “หลานม่า” ที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ การเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัยซึ่งสอดรับกับงานสรุปสถานการณ์ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย

 

สุนทรียศาสตร์ทุกแขนงมีพัฒนาการที่ต้องการเวลาประคับประคอง ทั้งคนและผลงาน กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่มนุษยชาติในทุกยุคก็เช่นกัน ใช้เวลาอยู่ไม่น้อยเลยกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจ แม้ในหลักสูตรมีหลายศาสตร์พาดเกี่ยวกันอยู่ แต่ผู้เรียนจะรู้และตกผลึกได้ก็จาก ‘ปัญญาปฏิบัติ’ ด้วยตัวเองเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทักษะ” ที่แต่ละคนมีต่างกัน ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัยที่ไม่ใช่เพียงในตำรา แต่ทว่ารวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิดอกออกผลของ “ต้นปัญญา” ด้วย เกาหลีเรียนรู้การทำตลาดหนังคลาสสิคจากครูคืออเมริกา-ยุโรป และจีน-ญี่ปุ่น ฯลฯ ทุกรุ่นใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี รัฐบาลจึงฉลาดถือเป็นยุทธศาสตร์ผงาดเศรษฐกิจ คิดได้ให้ความสำคัญ ทุ่มทุนสนับสนุนอย่างจริงจังก่อนจะมานั่งแถวหน้าของโลกได้อย่างทุกวันนี้ ล้วนเรียนรู้จากครูดีมีประสบการณ์ และทุนมหาศาลจากรัฐอย่างเป็นระบบ

ไทยเราก็เรียนรู้แบบครูพักลักจำจาก เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันตก มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี เช่นกัน นับจากแผนหนึ่ง การเดินทางมาถึงของแม่นาง “แดจังกึม” ตำนานของต้นเครื่องคนเก่งในราชสำนักเกาหลีเมื่อปี 2548 ส่งโสมประโลมใจไทยทั้งประเทศด้วยซีรีย์ที่สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่แนวชิงรักหักสวาทตามสูตรสำเร็จทางการตลาดเป็นการชิมลาง ก่อนก้าวย่างอย่างสง่างามตามแผน ‘มีเดียมหาอำนาจ’ ตบเท้าเรียงทัพมาจับให้มั่นด้วยละครทีวีกับหนังแนวพิศวาสดารดาษเต็มประเทศ เรียกเรตกระฉูดจนติดกันงอมแงม แถมให้บทเรียนกับเซียนผู้สร้างละครไทยและดาราว่า การแสดงที่มีความเป็นมนุษย์แบบธรรมดาสุด คือจุดแข็งรองลงมาจาก ‘เรื่องราว’ (Story) ที่ต้อง ‘มีพลังของความสมจริง’ โดยไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ก่อนส่งกองหนุนด้วย ‘ของจริง’ ที่ซุ่มนิ่งมานานนับตั้งแต่งานสาย dark ของ Kim Ki-duk ฯลฯ ปลุกกระแส กระชากจิตวิญญาณ ก่อน balance การตลาดกับ art ให้ลงตัวในรุ่นใหม่ตามมา ประกาศศักดาของ Soft Power เสน่ห์ทางวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจด้วย “ปรสิต” (PARASITE) สุดยอดหนังยิ่งใหญ่ของเอเซีย กวาดรางวัลใหญ่อย่างสมศักดิ์ศรีในเวทีออสการ์ เป็นตัวอย่างหนังสร้างปรากฏการณ์อีกระดับของเกาหลีที่ไม่น้อยหน้าจีน จนโลกจับตายกย่องให้เป็น ‘หนังครูยุคใหม่’ อย่างพร้อมเพรียงกัน

 

 

ไทยเราก็มีปรากฏการณ์ที่ยืนยันภาพรวมการเรียนรู้อย่างผู้ที่มีทักษะ (แม้จะอนาถาและใช้เวลาไม่ต่างกัน) ด้วย “สัปเหร่อ” หนังเลือดเนื้อเชื้ออีสานแดนกันดารคือสินทรัพย์ ไม่เพียงก่อให้เกิดกระแส ‘ท้องถิ่นนิยม’ ที่น่าชื่นชมน่าทึ่งจนต้องถอดบทเรียนกันทั้งภาคธุรกิจบันเทิง และสายวิชาการด้านภาพยนตร์ หนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้หนังเรื่องนี้พลิกประวัติศาสตร์หนังไทย คือ ‘ความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์’ ของผู้แสดงที่ไม่ผ่านการเรียน Acting แต่สมจริงทุกคน รวมถึงบทและงานการกำกับที่ละเอียดลออต่อ ‘สาร’ และสัญลักษณ์ ในภาษาภาพยนตร์ที่ผู้กำกับรุ่นใหม่ ต้องเต เขียนเอง แม้ใช้เวลาเพียง 1 เดือน แล้วลุยแบบด้นสดหน้างานได้ แต่เขาใช้เวลาสั่งสมบ่มประสบการณ์นานหลายปี กว่าจะตกผลึกเป็นทักษะพิเศษจึงไม่ใช่เรื่อง ‘ฟลุค’ หรือมีเพียงพรสวรรค์ชั้นไหนเลย…

ความสำเร็จในวันนี้ของหนังไทยแห่งยุค “หลานม่า” ลงทุน 48 ล้านบาท เข้าฉายเพียง 2 สัปดาห์กวาดรายได้ไปกว่า 200 ล้านบาท ตามคาดหมาย ก็ไม่ใช่เรื่อง ‘ฟลุค’ เช่นกัน ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ใช้เวลาพัฒนาบทร่วมกับทีมงานและโปรดิวเซอร์อยู่ 3 ปี ก่อนถ่ายเพียง 3 เดือน นับเป็นก้าวสำคัญของ GDH ผู้สร้างเบอร์หนึ่งแถวหน้าของหนังไทยในเวลานี้ ที่มีประวัติชัดเจนต่อการเดินทางอย่างน่าศึกษามาตั้งแต่เริ่มรวมตัวเป็น GTH โดย 3 ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการบันเทิงไทย GMM Grammy - สายเพลง / Tai Entertainment - สายโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์ไทย / Hub Ho Hin Bangkok - สายโฆษณา เปิดตำนานคนทำหนังรุ่นใหม่ใฝ่ก้าวหน้าท้าความหวังอุตสาหกรรมหนังไทยยุคใหม่เมื่อกว่า 22 ปีก่อน

 

 

‘ยุคแรก บุกเบิก’ ด้วยรักและศรัทธาหนังไทยของจิระ มะลิกุล Hub Ho Hin Bangkok ประเดิมด้วยหนังดีมีคำถาม (ปี 2545) เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ได้ 55 ล้านบาท ขาดทุนจนต้องจัดทัพใหม่ด้วย GDH ดัน Dream Team ผู้กำกับใหม่ 6 คน กู้ชาติด้วย “แฟนฉัน” (ปี 2546) ได้ 137.7 ล้านบาท / “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (ปี 2547) ได้ 107.1 ล้านบาท / “สายล่อฟ้า” ได้ 75 ล้านบาท และ “แจ๋ว” (ปี 2547) ได้ 60 ล้านบาท / ปิดท้ายด้วยหนัง Coming of Age (Realistic) ยอดเยี่ยมแห่งยุค “มหา’ลัยเหมืองแร่” ปี 2548 ทำรายได้ 30 ล้านบาท แต่ติดลบจนต้องจบบทบาทผู้กำกับ ของ จิระ มะลิกุล 4 ปี เป็นบทเรียนล้ำค่าให้ต้องแสวงหาต่อไป นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกทางเมื่อวางตำแหน่ง ‘แม่ทัพ’ ใหม่ ให้ผู้บริหารหัวก้าวหน้า จิระ มะลิกุล โดยมีจินา โอสถศิลป์ , วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ฯลฯ เป็นทัพหลังอันทรงพลัง

เข้าสู่ ‘ยุคสอง - แสวงหาและทดลอง’ เริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วย “เพื่อนสนิท” ปลายปี 2548 ได้ 80 ล้านบาท / “ห้าแพร่ง” ปี 2552 ได้ 114 ล้าน และ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ได้ 117 ล้าน ในปีเดียวกัน / ทำสถิติหนังไทย 1,000 ล้าน เรื่องแรกด้วย “พี่มาก…พระโขนง” ปี 2556 และโดดเด่นด้วย “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย…ห้ามพัก… ห้ามรักหมอ” ในปี 2558 ได้กว่า 70 ล้าน จนสิ้นสุดปี 2559 ด้วยเรื่อง “เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ” ได้ 74.12 ล้านบาท ฯลฯ รวม 11 ปี 44 เรื่อง ปิดตำนานค่ายหนังพันล้าน ก่อนจะแยกย้ายเพราะนโยบายที่ต่างกัน ยังคงเหลือเพียง  GMM Grammy และ Hub Ho Hin Bangkok ในนาม “GDH 559” (ความหมายบอกนโยบาย Gross Domestic Happiness) เดินหน้าท้าฝันในวันที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ดูหนังไทย ด้วยใจรักของนักสู้กู้อุดมการณ์

‘ยุคสาม - พยายามเติบโตและตกผลึก’ 8 ปี ผ่านไปกับการทุ่มเททำงานหนัก GDH เติบโตเป็นพี่ใหญ่ของวงการหนังไทย เป็นความหวังใหม่ (อีกครั้ง หลังยุคแสวงหาและทดลองผ่านไป) เปิดด้วย “ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์” ปี 2559 แต่นักโฆษณายังคงรอบคอบกอบการตลาดที่ขายขาดให้กับกลุ่มวัยรุ่นคนทำงานตอนต้นบน Comfort Zone ที่ มีคาถา Mass เป็นมหายันต์ดันพัฒนาการในแนวดิ่ง ให้ศิลป์กับพาณิชย์ช่วยกันพิชิตเป้าหมาย จนหลายเรื่องแตะหลัก 100 ล้าน “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” ปี 2559 ได้ 110.91 ล้านบาท , “ฉลาดเกมส์โกง” ปี 2560 ทำรายได้ในประเทศ 186 ล้านบาท สร้างสถิติใหม่เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ทั่วโลกสูงสุด โดยเฉพาะแถบเอเชีย ที่จีนได้ 1.5 พันล้านบาท และกวาดหลายรางวัลในเทศกาลหนังทั่วโลก ฯลฯ

 

 

ปัจจุบันยืนยันวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของ GDH อย่างเต็มตัวด้วย “เธอกับฉันกับฉัน” ปี 2566 และล่าสุด “หลานม่า” ความสำเร็จของบริษัทที่พัฒนาต่อเนื่องมาด้วยกันจนมีวันนี้ เป็นผลงานที่คนไทยภูมิใจ มีคิวเดินสายฉายทั่วโลกไม่ใช่เพราะมีคนจีนกระจายอยู่ทั่วทุกประเทศ แม้ไม่ใช่ของใหม่ในตลาดโลก แต่เพราะหนังมีความเป็นสากลใน ‘แนวมนุษยนิยม’  และมีแนวโน้มว่าจะสามารถหวังรางวัลในเทศกาลสำคัญของเอเชียได้ ปรากฏการณ์ “หลานม่า” คือภาษาสื่อสารสากล ที่กลายเป็น ‘ทูตทางวัฒนธรรม’ เพราะนำประสบการณ์ของคนทุกเชื้อชาติมาบรรจบยัง ‘จุดเชื่อมใจ’ (Relate) เดียวกัน ที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่เสมือนตัวแทนสำคัญของทุกครอบครัวในนาม ‘ความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ’ หนังทำงานกับคนทั้งโลกด้วยประสบการณ์ร่วม ดึงกระแส Nostalgia ด้วย mood & tone ที่ sentimental ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์สุดโหยหา แม้ว่าไม่ได้เป็นหนังย้อนยุคย้ำเตือน จึงเป็นสิ่งสะเทือนอย่างทั่วถึงทุกเจน จับใจ

 

 

“หลานม่า” เรื่องของคนสองเจ็นที่โคจรมามาเจอกัน ความสัมพันธ์เก่าบนโลกใหม่ เอ็ม เป็นวัยรุ่นที่หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมส์ และมีความหวังจะเป็นมืออาชีพถีบตัวรวยช่วยแม่ขยับฐานะ โชคชะตาส่งเขาไปเรียนรู้คุณค่าชีวิต เมื่อกลับจากเช็งเม้งแม่บอกข่าวการป่วยของอาม่าว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย จากที่ไม่สนใจใครจะตายก็ไปได้ไอเดียจากญาติสาว มุ่ย เป็นพยาบาลดูแลอากงติดเตียง มีเสียงใหม่แว่วในหัวให้เขาเร่งตั้งตัวทางลัด ด้วยการจัดตัวเองไปดูแลม่าก่อนมะเร็งคร่าชีวิต พร้อมดีดลูกคิดรางแก้ว แล้ววัยรุ่นก็ได้รู้ว่าไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนอย่างสมน้ำสมเนื้อ เมื่อเอ็มต้องพบคู่แข่งที่คอยแย่งตำแหน่ง ‘ที่หนึ่ง’ ก่อนดึงมรดกได้ และไม่ง่ายกับการแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ชีวิตใครเมื่อคุณทิ้งเขามานาน ต้องสานสัมพันธ์อีกครั้ง

ม่าเป็นหญิงแกร่งจนดูกร้าวเมื่อเอ็มแรกก้าวเข้าไปหา แม้รู้ว่าความตายรออยู่ไม่ไกลแต่ใจสู้ อนุญาตให้หลานมาดูแลจนแพ้ใจในความพยายาม ขณะกำลังทำคะแนนนำ เคี๊ยง ลูกคนโตผู้มีฐานะดีที่สุดของม่าก็ทำท่าตีกันเพราะมั่นใจว่า บ้าน สมบัติชิ้นเดียวและชิ้นสุดท้ายของม่าควรจะเป็นสิทธิ์ของเขา ในขณะที่ โส่ย ลูกคนเล็กของม่าก็มักแวะเวียนมาในเวลาที่เขาขัดสน ใช้ลูกอ้อนปล้นกระปุกแม่ไปให้รู้ว่าเดือดร้อนมาก จนเอ็มทนไม่ไหวต้องไปอบรมแล้วหาทางช่วยเหลือ ด้วยเข็มขัดเงินแท้มรดกชิ้นสุดท้ายที่ได้จากอากง แต่มุ่ยผู้ดูแลจนวันตายได้รับบ้านสิบล้านเป็นรางวัล ทำให้เอ็มขยันเพิ่มคะแนน สิ่งตอบแทนคือความเข้าใจในรายละเอียด เมื่อแม่ต้องเจียดเวลาพักมาพาม่าไปรับคีโม เขาอาสาทำแทนบอกความแน่นแฟ้นของสายใย…

เมื่อม่าต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาการหนัก เป็นขณะเดียวกับที่ โส่ย ลูกคนเล็กดิ้นรนปลดหนี้หลักล้าน เขาได้รับบ้านเป็นมรดกฉกไปจากทุกคน เอ็มทนไม่ได้ต่อว่าม่าโง่ด้วยความโกรธว่าควรจะให้กับคนที่เหมาะสม เคี๊ยง ก็ผิดหวังมากเช่นกัน แต่คนที่ไม่เดือดร้อนคือ จิว แม่ของเอ็ม “การเป็นผู้ให้สบายใจกว่ากันเยอะ” บอกคุณสมบัติของลูกผู้หญิงชาวจีน ที่ไม่เคยคิดจะปีนหนีจากธรรมเนียมปฏิบัติ จนกลายเป็นเนื้อแท้ที่ต้องเสียสละอย่างเต็มใจ เอ็มเองก็เรียนรู้การเป็นผู้ให้จากแม่จิตใจดี ก่อนที่จะอภัยแล้วไปรับม่ากลับมาจากบ้านพักคนชราที่โส่ยพาแม่ไปอยู่หลังขายบ้านใช้หนี้พนัน ในวาระสุดท้ายของม่า เอ็มเติบโตเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของบ้านใหญ่ เมื่อเคี้ยงยังทำใจไม่ไหวจนเอ็มต้องให้โอวาทบทพระคุณแม่จนคนแก่ต้องสำนึก

หลังม่าเสียชีวิตเอ็มได้รับโทรศัพท์จากธนาคารรายงานว่า มีเงินที่ม่าเก็บไว้ให้ในธนาคารประมาณสี่หมื่นกว่า เหมือนสวรรค์ประธานมาในเวลาที่ต้องการ เอ็มนำเงินก้อนนี้ไปซื้อบ้านหลังสุดท้ายให้ม่าตามที่เคยปรารถนาก่อนตาย อยากได้ฮวงซุ้ยสวยหรูดูดีจะได้เป็นที่รวมญาติให้ลูกหลานไม่อายใคร เอ็มได้คำตอบโดยไม่ต้องถามว่า ทำไมม่าต้องตากหน้าไปหาพี่ชายคนโตเพื่อขอเงินล้าน แล้วต้องเจ็บประจานจนต้องตัดขาดกันในวันนั้น แม้ไม่ได้รางวัลจากที่ม่าหวัง แค่ความตั้งใจเก็บเงินให้จนวันตายเอ็มก็ได้คำตอบแล้ว …  เอ็มเป็นที่หนึ่งในใจม่า และม่าก็เป็นที่หนึ่งในใจเอ็ม

 

Production Notes “หลานม่า”

  • กำกับการแสดง : พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
  • เขียนบท : ทศพล ทิพย์ทินกร และ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
  • อำนวยการสร้าง : วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และ จิระ มะลิกุล
  • กำกับภาพ : บุณยนุช ไกรทอง
  • ตัดต่อ : ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค
  • ดนตรีประกอบ : ใจเทพ ร่าเริงใจ
  • บริษัทผู้สร้าง : จอกว้างฟิล์ม

ครอบครัวอาม่า : นักแสดงนำ

  • พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล รับบท เอ็ม
  • อุษา เสมคำ รับบท อาม่าเหม่งจู
  • สฤญรัตน์ โทมัส รับบท ซิว (แม่ของเอ็ม)
  • สัญญา คุณากร รับบท กู๋เคี้ยง (ลุงของเอ็ม)
  • พงศธร จงวิลาส รับบท กู๋โส่ย (น้าของเอ็ม)
  • ต้นตะวัน ตันติเวชกุล รับบท มุ่ย (ลูกพี่ลูกน้องของเอ็ม)
  • ดวงพร โออภิรัตน์ รับบท ปิ่น (ภรรยาของกู๋เคี้ยง)
  • ฮิมาวาริ ทาจิริ รับบท เรนโบว์ (ลูกสาวของกู๋เคี้ยง)

 

 

“หลานม่า” วันเวลา กับชีวาของชีวิต

ความสำเร็จของหนังนอกจากงานสร้างที่ประณีตในทุกด้าน โดยเฉพาะงานเขียนบทแล้ว เพราะหนังมี ‘ประเด็นที่เป็นสากล’ หลายเรื่อง จึงก่อให้เกิดภาวะถวิลหาอดีต และ ‘สร้างกระแสสำนึกรักบรรพบุรุษ’ คือที่สุดของหนังแนว Realistic ซึ่ง Sentimental ที่บทถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเอียดและสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของทุกคน ที่เป็นตัวแทนครบจบทุกเจน (Generation) ในหนังเรื่องนี้จาก B ถึง Z  ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของ “หลานม่า” หลัง GDH แสวงหาและทดลองมานานกว่า 20 ปี นี่คือต้นแบบของการเรียนรู้ที่กลายเป็นครูให้ผู้สนใจใฝ่ศึกษาได้ค้นหาเบื้องหลัง ‘ปัญญาปฏิบัติ’ ซึ่งให้ผลชัดเป็นรางวัลจากการทำงานหนัก กลายเป็น ‘ความรัก’ ที่แบ่งปันคนทั้งโลก เพราะการรู้จริงได้ด้วยตัวเองไม่มีทางลัด

  1. การทำงานที่เป็นระบบอย่างเปี่ยมศักยภาพของทีมงานทุกฝ่าย ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเสนอเรื่องจากฝ่ายเขียนบท ใจเทพ ร่าเริงใจ ผู้ต้องการรางวัลที่หมายถึงความก้าวหน้าจากการทำงานหนักมา 10 ปี ด้วยการได้ทำบทให้ดีขึ้น และได้ทำเรื่องที่มีความหมายพิเศษสำหรับตัวเอง “หลานม่า” จึงเริ่มเดินทางโดยมีสองโปรดิวเซอร์นำทัพคัดเลือกผู้กำกับให้เหมาะกับเรื่องและแนวหนัง แล้วเริ่มพัฒนาบทหัวใจสำคัญที่สุดของหนัง ก่อนออกแบบงานสร้างและนำมาซึ่งผู้กำกับภาพที่คนเก่งคู่ใจผู้กำกับ และทีมงานทุกฝ่าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็น จิระ มะลิกุล มีอิทธิพลต่อ direction ของเรื่องนี้สูงมาก โดยเฉพาะการใส่อารมณ์ขันอบอุ่นน่ารักอย่างเป็นธรรมชาติทำให้หนังมีเสน่ห์ ความรักในงานการทำหนังของพี่เก้งกับทีมผู้บริหารและทีมงาน คือจุดแข็งที่ทำให้หนัง Craft ในแบบของคนรุ่นใหม่ กับคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่มารวมกัน

 

 

  1. ลดภาพตัวละครที่ Dark เป็นเอกลักษณ์ของ GDH เพราะบท “หลานม่า” ได้รับการพัฒนาให้เป็นมากกว่า ‘บทภาพยนตร์’ มีความละเอียดอ่อนที่ทำให้หนังเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีหลายด้าน และสัจธรรมของสถาบันครอบครัวที่เป็นแบบจำลองของสังคมใหญ่ในประเทศ เส้นเรื่องและรายละเอียดของบทคือตัวอย่างที่ดีต่อวิธีศึกษา ‘ศาสตร์การเขียนบทภาพยนตร์แนว Realistic’ (บนศาสตร์ของการเขียนเรื่องสั้นขนาดยาว)

“หลานม่า” ถูกเขียนเค้าโครงขึ้นจากชีวิตจริงของผู้เขียนบท ทศพล ทิพย์ทินกร เป็นงานชิ้นแรกที่เขียนจากโจทย์ของใจ อยากให้ประวัติของเขากับอาม่าในวัยเด็กถูกสร้างเป็นหนังบ้าง เพราะการทำงานเขียนบท 10 ปี ที่ผ่านมาเขาล้วนรับโจทย์บัญชาจากคนอื่น เมื่อได้รับโอกาสจาก วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการสร้าง  เรื่องราวของเขากับม่าเพียงสี่ห้าหน้ากระดาษก็ได้รับอนุญาตให้ผ่านสู่ขั้นตอนของการสรรหาผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ คือผู้ที่ผ่านการพิจารณาว่าเหมาะสม การพัฒนางานจากเค้าโครงเรื่องสั้นให้เป็นบทภาพยนตร์จึงหลอมประสบการณ์ของสองคนเข้าด้วยกัน เส้นเรื่องและรายละเอียดของ “หลานม่า” จึงมีแนวทางการสร้างบนศาสตร์เหมือนเรื่องสั้น ที่ตัวละครน้อยมีโฟกัสที่ชัดเจนเฉพาะตัวนำเท่านั้น ม่ากับเอ็มจึงมีสถานะเป็นตัวละครหลัก อะไรที่ไม่เกี่ยวกับสองคนนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ให้รุงรัง เพราะจะทำให้หนังยาวเกิน ‘แกน’ ที่เป็น ‘แก่น’ ของเรื่อง

การจัดเรียงลำดับเหตุการณ์เพิ่มความผูกพันที่เริ่มก่อตัวใหม่ในหลาน เห็นพัฒนาการจากชีวิตประจำวันของคนต่างเจน จากม่าที่รู้สึกเหมือนถูกหลานบุกรุก จนรู้สึกสนุกไปด้วยกัน ปล่อยภาพอดีตในวัยเด็กมาไม่มากแต่กระชากใจ ในจังหวะลำดับไว้ท้ายเรื่อง หลังเอ็มได้รับรู้ว่าม่าฝากเงินไว้ให้จนวันตายตามตามสัญญา นับตั้งแต่สอบได้ที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน สองคนย่าหลานเดินขนานกับทางรถไฟ รถวิ่งเข้ามาในช่วงเวลาภาพปัจจุบัน และวิ่งออกไปในช่วงเวลาภาพในอดีต (เวลาไปลับไม่หวนกลับเหมือนรถไฟ) หนังมีเส้นกราฟที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จในรูประฆัง แต่เป็นเส้นที่ดิ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุด เล่นระดับกับความรู้สึก จากจุดต่ำสุดที่แค่หวังผลไปสู่ความเป็นคนที่มีหัวใจ

หนังบอกคนทุกวัยให้สำนึกแบบเจ็บลึกแสบ(ซึ้ง)นานตลอดเรื่อง เรียกให้สำเหนียกกับการมีลมหายใจในวันนี้ และต้องวางแผนล่วงหน้าไปถึงวาระสุดท้ายทุกด้าน โดยเฉพาะแผนการเก็บออมสินทรัพย์ส่วนบุคคล และให้มุมมองกับ ‘คนนอก’ เพื่อมองคนอื่นที่เขาคิดต่างทำต่างอย่างมีเมตตา อย่าด่วนตัดสินใครเพียงเพราะผิดถูกดีเลวด้วยประเด็นเดียวที่รู้เห็น เช่น มุ่ยกับทัศนะในการใช้ชีวิตด้วยวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ มีอาชีพหาเงินใน OnlyFans เป็น Sex Creater แต่แสนงามกับงานพยาบาล เราทุกคนต่างมีหลายด้านในคนเดียว เพราะจุดหมายของคนแต่ละเจน และความเป็น ‘ปัจเจก’ นั้นแตกต่างกัน

แต่สิ่งที่บททำเป็นเบลอคืองานดูแลคนป่วยติดเตียงไม่ใช่ “งานง่าย รายได้ดี” อย่างที่มุ่ยบอกเอ็ม แต่ตรงข้าม เป็นงานที่ท้าทายน้ำอดน้ำทนต่อการเป็นกระโถนท้องพระโรงรองรับอารมณ์คนป่วย สภาพที่ถูกโถมทับด้วยทุกข์เพราะเจ็บปวดทรมาน แล้วไหนจะญาติผู้ป่วยที่เรียกร้องสูงมาก แค่เข้าใจก็ไม่พอ…

การกำหนดให้แต่ละซีนอยู่ใน Theme อย่างมั่นคง ไม่หลง ไม่หลุด ไปตามแรงเร้าของ ‘ตลาด’ คือความสัมพันธ์ของเอ็มกับมุ่ย สายตาที่เอ็มมองมุ่ยในวันไปปรึกษาครั้งแรก มุมกล้องแทนสายตาให้มองเสื้อเอวลอยขณะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ก๋ง และอีกวันหลังก๋งเสียชีวิตเอ็มเอาของไปคืนยังโรงแรมหรูที่มุ่ยเช่าอยู่แทนบ้าน เป็นซีนที่ลุ้นด้วยความหวาดเสียว กลัวเส้นเรื่องเซไปหาอดีตในวัยเด็ก ที่ลอยมากับสายลมแห่งการค้นหาและปริศนาของความสำเร็จ บทไม่ออกนอกลู่นอกทางจาก Theme ที่วางไว้ให้หนังเสียหลัก แต่เพิ่มมิติเชิงลึกให้มุ่ยตัวแทนของเจน มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น เพราะมีทั้งขาว-เทา-ดำ

 

 

  1. งานออกแบบ Production Design การแสดง การถ่ายถาพ การตัดต่อ มีความเป็น cinematic แบบหนังคลาสสิค ไม่เน้นความเป็น modern film maker ที่ใช้เทคนิคแบบหนังโฆษณามานำเรื่องให้ดูประดิษฐ์เกินจริตของเรื่อง แต่เขื่องจนข่มหลายส่วนที่ควรเด่นเป็นโฟกัส การวาง blocking framing และการคุมจังหวะทำได้ดีไม่ over dramatic บทพูดมีเท่าที่จำเป็นปล่อยให้ตัวละครทำงานร่วมกับผู้ชมโดยให้เสรีที่จะ ‘ออกแบบความคิด’ ร่วมกัน

การคุม Mood & Tone  acting ถูกบทออกแบบให้จริงจนจี๊ดใจ ไม่เล่นใหญ่ใส่มุข มีอารมณ์ขันที่ทำให้เหมือนไม่จงใจ แต่เกิดจากสายตาของคนมีความรัก มักอารมณ์ดี มีวิธีมองโลกเข้าใจคนบนแง่งามของความมีเมตตา ฮาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่สาดมุขใส่อย่างไร้เหตุผล เป็นตัวอย่างหนังชีวิตธรรมดา แต่ทำให้ทรงคุณค่าด้วย ‘ความเป็นสามัญ’ เส้นเรื่องนำคนดูดิ่งเข้าสู่โลกภายใน และคุยกับความลับในใจของแต่ละคน ทั้งการแสดง และบทพูด ดาราจะเล่นได้ ‘ถึง’ จึงต้องมี mindset ที่เชื่อว่า ‘จริง’ จากภายใน (แบบ in to out) และผู้กำกับพัฒน์ถ่ายทอดบทอย่างมีทักษะพิเศษ โดยใช้จิตวิทยาที่ละเอียดอ่อนทำงานกับความเป็นปัจเจกของนักแสดงแต่ละคน มาอธิบายขยายความคิดให้เข้าใจก่อนแสดงตามโจทย์ที่ต้องการในแต่ละฉาก

  1. สูตรสำเร็จทางการตลาด ใช้ดาราเป็นแม่เหล็ก แต่ถอดร่างได้กลายเป็นตัวละครที่มีชีวิตจริง และไม่ทิ้งมุขตลกบอกความเป็นวัยรุ่นอารมณ์ดีที่ไม่ไกลจากตัวจริงมากนัก แต่งานออกแบบบุคลิกตัวละครและการถ่ายทอดอารมณ์โดย พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล รับบท เอ็ม สามารถให้ชีวิตและเห็นพัฒนาการที่เติบโตจากภายในได้ในเวลาเดียวกัน การแสดงความรู้สึกจากภายในให้ทรงพลังโดยไม่มีทั้ง movement และบทพูดมาก เป็นความยากที่ไม่ธรรมดา “เอ็งมาอยู่ด้วยก็ดีนะ สนุกดี” ม่าสารภาพ เอ็มกำซาบอาบใจแต่เก็บความรู้สึกไว้ในสีหน้าเรียบ รับรู้และรับรักด้วยแววตาติดรอยยิ้ม ทั้งลึกและซึ้งเข้าถึงบท

โดยเฉพาะฉากที่ถูกอาม่าถามแทงใจว่า “มึงก็คนหนึ่งใช่ไหมที่หว่านพืชหวังผล” อาการหน้าเจื่อนเฉือนหัวใจแจ่มจริง แล้วสงบนิ่งยิ่งทรงพลังหลายฉาก เช่น ไปหาม่าที่บ้านพักคนชรา เปิดกระดุมเสื้อเม็ดสุดท้ายให้ “กลับบ้านเรานะ เอ็มจะต้มโจ๊กให้ม่ากินเอง” อ่อนโยนจนใจละลาย เหมือนฉากลมหายใจสุดท้ายของม่าขณะเอ็มร้องเพลงกล่อมเด็กกอดม่า ผู้ชมอยากกอดเอ็มในตอนจบที่บอกว่า “ม่าเป็นที่หนึ่งของเอ็มนะ” peak สุด ใจหลุดลอยเกินกลั้นกันทั้งโรง เอ็มชนะเลิศเป็นที่หนึ่งในใจผู้ชม

 

 

  1. การคัดเลือกผู้แสดงสดใหม่ให้ภาพที่ไม่ผูกติดกับตัวตน โดยเฉพาะยายแต๋ว อุษา เสมคำ ที่รับบท อาม่าเหม่งจู ความที่ไม่เคยมีภาพจำใดๆ ทำให้งานออกแบบการแสดงเป็นธรรมชาติกลายเป็นภาพจำที่เหมือนจริง จากคนที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังเมื่อมีใครเริ่มล้ำเข้ามาก้าวก่าย ยายป้องกันตัวด้วยการขับไล่ไม่ให้ข้ามเส้น ยายเล่นได้ดุดันแม้ในความขันของบท แล้วค่อยๆ ลดระดับลงเมื่อเข้าใจว่าถึงเวลาที่ต้องพึ่งใครสักคน แม้ระแวงในความใส่ใจ แต่ก็เก็บความรักไว้ในเวลาเดียวกัน มันไม่ง่ายสำหรับมือใหม่แต่ยายใช้หัวใจแสดง

แม้ในบทที่ต้องเรียกอารมณ์อย่างมืออาชีพ ยายก็ใช้ความรู้สึกจริงช่วยให้นิ่งและมีพลัง โดยเฉพาะฉากก่อนออกจากโรงพยาบาล ร้องไห้ปวดใจเมื่อเอ็มต่อว่าหลังม่ายกบ้านให้กู๋โส่ย “เอ็มดูแลม่าไม่ดีเหรอ แล้วเอ็มเป็นที่เท่าไหร่ของม่า” หลานโกรธแล้วปล่อยรถเข็นทิ้งขว้างไว้ที่ทางเดิน กว่าครึ่งโรง ทุกรอบ ที่คนดูใจสลายต้องเสียน้ำตาปลอบม่า ด้วยความสงสารเห็นใจ หรือในอีกหลายซีนที่เรารู้สึกเหมือนกำลังมองกระจกสะท้อนให้ย้อนคิด ทั้งก้อนอิฐและดอกไม้…

 “จริงๆ แล้ว ผมเป็นคนที่ร้องไห้ยาก ลักษณะหนังดรามาถ้าดูแล้วร้องไห้ก็น่าจะมีคนร้องไห้เหมือนกัน อาจเป็นเพราะผมต้องคิดหลายอย่างไปพร้อมกันมั้ง มันต้องโดนจริงๆ รู้สึกจริงๆ ถึงจะร้องไห้ ในกองถ่ายจำได้ว่าอยู่ข้างมอร์นิเตอร์ เบื้องหลังเขาถ่ายหน้าผมตอนร้องไห้ก็ไม่แคร์แล้ว เป็นซีนที่เอ็มเล่นกับม่า ผมเสียน้ำตายากนะแต่หลายคนก็เสียน้ำตาเหมือนกัน คือยายแต๋วเป็นคนที่มีความเมจิก เป็นคนที่ความคาดเดาไม่ได้ แล้วมันเลยทำให้แต่ละเทคที่เราได้จากยายแต๋วเขาเล่นแล้วเรารู้สึกว่าเขา ‘จริง’ จริงมาก ๆ กับสิ่งนี้”   ผู้กำกับพัฒน์กล่าว

สฤญรัตน์ โทมัส นักจิตวิทยาที่ใช้การแสดงละครบำบัด Drama Therapy เป็นนักแสดงฝีมือระดับครูที่ร่วมงานกับนาดาว ไม่มากนัก การมาแต่ละครั้งของเธอสร้างภาพจำให้ประทับใจไม่สิ้น ล่าสุดในบท ซิว (แม่ของเอ็ม) ก็เช่นกัน ซิวทำงานร้านที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง สารรูปเหนื่อยล้าตลอดเหมือนต้องทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวันไม่มีเวลาพัก เธอถูกออกแบบให้โทรมเป็นอาซิ่มขัดส้วมยังไม่เสร็จทุกซีน (ไม่รู้รอดสายตาฝ่ายบุคคลได้ไง) แม้กระนั้นยังเห็นเนื้อแท้ในความเป็นคนที่คงเคยมีฐานการทำงานที่ดี ไม่กุลี กรรมกร ก่อนไร้สามีเหลือเพียงลูกคนเดียว (ไม่ทิ้งเค้าความจริงเพราะเป็นคนบุคลิกดีมีน้ำเสียงที่นุ่มนวล โดยไม่ต้องโปรเจ็ค) ให้ภาพตัวแทนลูกสาว-ลูกสะใภ้คนจีนที่ต้องทำงานหนักรับใช้ครอบครัว แต่เป็นคนจิตใจดีที่พร้อมช่วยเหลือและเสียสละ

 

 

  1. ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในขณะเดียวกันก็เป็น coming of age ที่ดีงามไม่แพ้ “มหาลัยเหมืองแร่” แม้โปรดักชั่นเล็กกว่า เอ็มเติบโตเพราะได้เรียนรู้ความเป็นครอบครัวจากชีวิตจริงนอกคอมฯ จากหนังวัยรุ่นยัปปี้เพื่อเซฟตี้มาตลอดยุคสองของ GDH มาเรื่องนี้ขยายกลุ่มให้กว้างอย่างครอบคลุม ลุ่มลึกในความเป็นคน ประชาชน และมนุษยชาติ บทฉลาดจะยืนยันว่าความจริงมีพลังเสมอ แม้เผลอทำให้เกิดช่องว่างสร้างจุดด่างบนพื้นดำก็ทำให้เข้าใจได้ ไม่วายมีข้อบกพร่องเป็นธรรมดาของการทำงานบนโจทย์ หว่านแห และส่งผลถึงการจัดจำหน่ายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย
  2. การออกแบบ วางแผน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ อย่างแยบยลบนจังหวะของการ ‘ปล่อยของ’ ทุกขั้นตอนผ่านการควบคุมแคมเปญโดยเอเจนซี่โฆษณาแถวหน้า (Inhouse) ผ่านวิจารณญาณของผู้บริหาร  จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GTH  นับตั้งแต่การเปิดรอบสื่อมวลชนที่ขนกันไปดูหลายรอบเพื่อทดสอบให้มั่นใจ ก่อนให้ผู้ชมดูฟรีเพื่อที่จะวัดใจ ก่อนร่วมฉลองเทศกาลใหญ่ ไหว้บรรพบุรุษจีน (เช็งเม้ง) และ วันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ที่มีวาระสำคัญ วันปีใหม่ไทย วันครอบครัว  และวันผู้สูงอายุ (ต่อให้ไม่ใจดีเปิดฟรีสำหรับคนอายุ 60 ปี ขึ้น ก็คงขนกันไปทั้งครอบครัวอยู่แล้ว) , กิจกรรมรอบเปิดตัว , รอบพิเศษสำหรับคนตาบอดดูผ่านแอ็พ, การเดินสายออกสื่อ ,  ไปจนถึงรายละเอียดในการปล่อย Press Release ขยายถ่ายความรู้คู่กับขายของให้ผู้ชมร่วมเข้าใจในสารที่ต้องการสื่ออย่างลึกซึ้งมากขึ้นในแต่ละช่วงอย่างชาญฉลาด และคาดการณ์ได้ว่าเพียงสองสัปดาห์ทะลุกว่าสองร้อยล้านทะยานสู่เป้าที่หวัง และยังมีแนวโน้มจะทำลายสถิติหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์แน่นอน (“พี่มาก…พระโขนง” หนังรุ่นพี่ในค่ายเดียวกัน ได้พันล้านเรื่องแรกของไทยในปี 2556)

 

 

  1. Theme หนังที่ให้บทสรุปชัดเจนผ่านตัวละครว่า แท้จริงแล้วเราต่างมี ‘เบ้าหลอม’ จากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันในคนแต่ละรุ่น ซึ่งเป็นสิ่งสร้างให้เรามีวิธีคิดและจัดการชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่ได้มีอำนาจเหนือ ‘เนื้อแท้’ ของแต่ละคนได้ การเติบโตของ เอ็ม (M = money) จากคนเจน Z วัยรุ่นที่เป็นผลผลิตของสังคม มีวิธีคิดแบบฉาบฉวยต้องการรวยทางลัด และคิดว่าแผนการคงง่ายควบคุมได้เหมือนเล่นเกม  สู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ ประสบการณ์สอนให้ ‘รู้จักโลกเข้าใจชีวิต’ ได้คิดว่าคุณค่าแท้จริงของชีวิตไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่า “เงินคืออำนาจ” สำคัญเหนือความเป็นมนุษย์ที่มีสามัญสำนึกและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

บทหนังแข็งแรงสามารถช่วยให้เอ็มหลุดจากลักษณะด้อยของ generation Z ได้อย่างไร้ข้อโต้แย้งจากผู้ชม ยืนยันว่าสิ่งแวดล้อมก็ ‘หลอม’ คนเราไม่ได้ถ้าไม่ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามกระแสของยุคสมัย ปล่อยให้อำนาจมืดมีอิทธิพลจนสูญเสียความเป็นคนดี ในขณะที่บางคนอาจไม่มีสติรู้ตัวปล่อยกายใจให้ ‘ติดกับ’ สิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นมา ‘ดัก’ จนทำให้ ‘หลง’แล้ว ‘ไหล’ ไปกับมันเหมือน อาโส่ย เพราะต้นทุนชีวิตคือปัญญา ที่สร้างคนมาแตกต่างกัน จะเป็นฐานมั่นให้ยืน จะฝืนกระแสได้แค่ไหนอยู่ที่การฝึกใจของแต่ละคน คนอย่างอาโส่ยอาจเติบโตไม่ได้ถ้าไม่สำนึกตนจนวันตาย

 

  1. ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เติบโตมาใต้ร่มของ GDH ได้ช่องทางดี มีบริษัทสนับสนุน ทุนถึง ตั้งแต่ก้าวแรกที่ให้โอกาสเป็นตากล้องเบื้องหลังงานถ่ายทำ มุมมองในการถ่ายภาพดีมีประเด็น เด่นในวิธีเล่า ทำให้เขาถูกเลือกให้เป็นผู้กำกับ “ฉลาดเกมโกง เดอะซีรีส์” และหนังใหญ่เรื่องแรก “หลานม่า” ที่ต้องการผู้กำกับละเมียดอ่อนโยน เหมือนคนโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวดีมีฐานะ พร้อมจะลงทุนปูทางช่วยสร้างงานให้ ในขณะที่ผู้คนมากมายไม่ได้ทั้งโอกาสและทุน แม้มีฝีมือและพรสวรรค์มาแต่เกิด พรแสวงก็ช่วยไม่ได้ ความกล้าทุ่มหลังจากมั่นใจแล้วว่าหนังน่าจะไปได้ดีคือ ‘ทุน’ ที่คนรักหนังทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังใฝ่ฝัน การทำงานกับบริษัทที่มีพันธมิตรครบวงจรในกระบวนการผลิตเหมือนเนรมิตรได้ คือความสมบูรณ์ของการสร้างงานบันดาลฝัน ที่หลายคนพยายามเพราะทะยานอยาก แต่มากไปด้วยอุปสรรคหมักหมม เพราะระบบทับถมผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ให้มีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยามานานเท่ากับอายุขัยหนังไทย 101 ปี
  2. “หลานม่า” มาในจังหวะที่ภาพรวมของหนังไทยถูกขยายกลุ่มแล้วจากความสำเร็จของ “สัปเหร่อ” ที่เติบโตด้วยวิถีธรรมชาติ ปราศจากการสนับสนุนของรัฐและนายทุนใหญ่ในระบบ แต่พบกระแสป่าล้อมเมือง (เข้าฉายในเมืองก่อนไม่ได้เพราะทุนไม่ถึง) ความสำเร็จกว่า 700 ล้านบาท เกินคาดหมาย เกิดปรากฏการณ์ขยายกลุ่มคนดูหนังไทยให้กว้างอย่างชัดเจนขึ้น เพราะความเป็น ‘หนังมหาชน’ ที่ฐานการผลิตเริ่มจากภาคนิยม ก่อนร่วมชื่มชมกันทั้งประเทศ และที่สำคัญฐานนี้คือ ‘ฐานราก’ ของ ‘ฐานล่าง’ ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่ากลุ่มใด ๆ ในสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดจุดเฉพาะเพียงหมุดเป้าหมาย จึงกลายเป็นหนังไทยยุคใหม่ที่ให้บทเรียนต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ขยายกลุ่มกว้างยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

 

 

ประเด็นหลักที่ทั้งโลกต่างตระหนักร่วม

“หลานม่า” รวมตัวแทนผู้คน 4 Generation คือ B กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 (อาม่า) , กลุ่ม X ระหว่าง เกิด พ.ศ. 2508-2522 (เฮียเคี๊ยง นักธุรกิจซื้อขายหุ้นรักครอบครัว กับ แม่จิว พนักงานในซุปเปอร์มาเก็ตผู้เสียสละ ยอมจำนนต่อโชคชะตา) , กลุ่ม Y เกิด พ.ศ 2523-2540 (กู๋โส่ย ช่างซ่อมบ้านผีพนันสิง)  และ กลุ่ม Z เกิด พ.ศ. 2541-2565 (เอ็ม ผู้กำลังแสวงหาคุณค่าชีวิต กับ มุ่ย ผู้ชัดเจนแล้วว่าชีวิตที่มีความสุขแท้จริงคือการรักตัวเองให้เป็น) ในความต่างระหว่างเจนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

แม้หนังไม่ได้ชี้วิธีแก้ไขหรือผ่าทางออกให้อย่างตรงไปตรงมา แต่มีคำตอบปลายเปิดให้ทุกคนเกิดความคิดและจัดการชีวิตตามแนวทางของตัวเอง เพราะในมิติของความเป็นปัจเจกต่างก็มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน คำตอบจึงไม่สำคัญเท่ากับการค้นพบความต้องการแท้จริงของตัวเอง และในความต่างระหว่าง Generation มีวิถีที่สวนทาง สร้างภาวะความเปลี่ยวเหงา เป็นที่มาของโรคซึมเศร้าในผู้คน ที่ขาดตัวตน สับสน เลื่อนลอย เป็นจุดด้อยของสังคมใหม่ในโลกในปัจจุบัน

การแสวงหาตัวตนบนอัตลักษณ์ของคน Generation Z[1] คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2541-2565 พวกเขาเหล่านี้เติบโตมากับ นวัตกรรม เทคโนโลยี Social Media  และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีมุมมองหลากหลาย เรียนรู้ไว กล้าตัดสินใจตามความต้องการอย่างรวดเร็ว มุ่ย คือภาพแทนคนเจนนี้ที่ใช้โรงแรมหรูอยู่กับความฝันแทนบ้าน ต้องการชีวิตที่สุขสบายอย่างไร้การผูกมัดระยะยาว การสำรวจล่าสุดเปิดเผยว่ากว่า 75% ของคู่รักยุค Gen Z กลัวการแต่งงาน[2] ประเด็นนี้บอกคุณสมบัติของคนเจน Z ชัดมาก เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิตที่หวาดกลัวการผูกมัด กลัวความผูกพัน จึงไม่ต้องการความเป็นครอบครัว ซึ่งผิดปกติธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม และเป็นการประกาศเอกราชต่อคนรุ่นเก่าอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม (รุ่น B - Baby Bloom พ่อแม่และบรรพบุรุษ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 เคารพกฎเกณฑ์ กติกา จารีต อดทนรอความสำเร็จ ภักดีต่อองค์กร รักและให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว-ธรรมเนียมจีนชัดเจน)เพราะ

  1. มีค่าใช้จ่ายในงานแต่งที่สูงมาก เห็นว่างานแต่งเป็นแค่พิธีการ ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความยืนยันมุ่งมั่นต่อความรักและครอบครัว
  2. ไม่ชอบการผูกมัด เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินชีวิต
  3. ให้ความสำคัญต่อความเข้าใจตัวเอง จึงมุ่งเน้นไปที่การค้นพบตัวเอง
  4. ไม่ชอบความกดดันในชีวิตคู่ และไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบที่สังคมกำหนดผ่านประเพณีหรือวัฒนธรรม
  5. ต้องการประสบความสำเร็จก่อน เน้นการสร้างฐานะทางการเงิน บางคนอาจไม่เคยคิดจะแต่งงานเลย เพื่อตัดภาระที่จะตามมาริดรอนเสรี

ไทยเราเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด เป็นปัญหาที่ทั้งโลกกำลังเร่งรับมือ แต่รัฐบาลไทยยังไม่เห็นความสำคัญและจัดสรรให้เป็นนโยบายแห่งชาติในงานการช่วยเหลือดูแล ทั้งที่มีผู้สูงอายุมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด เห็นชัดจากแผนสวัสดิการพื้นฐานเช่น เบี้ยยังชีพ (ที่ไม่ใช่เงินเดือนสามารถประทังชีวิต) 600-1,000 บาท และเพิกเฉยต่อนโยบายบำนาญถ้วนหน้ามาตลอด แม้ได้รับการเสนอขั้นต่ำเพียง 3,000 บาท ต่อเดือน ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และที่สำคัญคือเรื่องการรักษาพยาบาลที่ควรจัดรองรับอย่างจริงจังเฉพาะกลุ่ม (ที่ไม่ใช่แค่ใช้สิทธิ์บัตรทองธรรมดารวมกับผู้ป่วยทั่วไป) ฯลฯ ฉากเอ็มพาอาม่าไปโรงพยาบาลแล้วต้องหลับรอการเข้าคิวแบบอนาถา กลายเป็นความธรรมดาที่ต้องยอมรับ ไม่ต่างจากสิทธิ์กู้ยืมเงินได้ 30,000 บาท เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพซึ่งมีข้อจำกัดสูงมาก ฯลฯ จึงมีเพียงภาคเอกชนและประชาชนที่พยายามดิ้นรนช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ในหน้าที่ตน

 

 

ล่าสุด มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) หน่วยงานที่มุ่งมั่น พัฒนางานวิชาการและสร้างองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ได้ร่วมเตรียมการรับมือให้กับประชาชนด้วยบทความวิชาการ กับชุดความรู้จากงานวิจัย เพื่อเสนอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ในระยะยาว มส.ผส. ได้สรุปสถานการณ์ “สังคมสูงวัย”[3] ซึ่งได้จากภาพยนตร์ “หลานม่า” ที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ การเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัย ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ศึกษาเพื่อร่วมขับเคลื่อนได้

  1. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีงานทำ และการสร้างระบบเพื่อการเตรียมความพร้อมในการสร้างงานสำหรับผู้สูงอายุจะสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ เพราะคนจำนวนมากไม่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ กลายเป็นกลุ่มประชากรเปราะบาง จึงนำเสนอในประเด็น “การทำงานของผู้สูงอายุ” สามารถอ่านข้อมูลเต็มและดาวน์โหลดได้จากหนังสือเรื่อง “สูงวัย ไม่เกษียณ” ที่ https://thaitgri.org/?p=40077
  2. ระบบบริการสุขภาพผู้สูงวัย รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบระบบบริการสุขภาพใหม่ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลดภาวะพึ่งพิง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ ได้อย่างเป็นอิสระโดยพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  จึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพในประเด็น “ระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ” สามารถอ่านข้อมูลเต็มและดาวน์โหลดได้จากหนังสือเรื่อง “แก่แบบสบาย สูงวัยแบบสง่า” ที่ https://thaitgri.org/?p=40070
  3. การมีที่อยู่อาศัยจากแนวคิด Aging in Place ที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถแก่ตัวในบ้านหรือชุมชนเดิมของตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างปลอดภัย มีอิสระ และสะดวกสบาย ซึ่งควรจะมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. สถานที่ (Place) 2. บริการด้านสุขภาพ (Health care) และ 3. บริการการดูแลด้านสังคม (Social care) ครอบคลุมถึงนโยบายด้าน Housing policy and living arrangements และการเข้าถึงระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่สนใจประเด็น “ที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ” สามารถอ่านข้อมูลเติมได้จากหนังสือเรื่อง “สูงวัยในถิ่นเดิม” ดาวน์โหลดได้ที่ https://thaitgri.org/?p=40084

และเรื่อง “ผู้สูงอายุไทย 2567”[4] จำนวน 6 เรื่อง มีกำหนดเผยแพร่ ในรูปแบบวารสารออนไลน์ที่ facebook : page : “สูงวัย” ภายในเดือน พฤษภาคม 2567

  1. สถานการณ์จำนวนประชากรสูงอายุของไทยและทั่วโลกที่กำลังเผชิญ
  2. การเสื่อมถอยของร่ายกาย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุ
  3. ความต้องการบริการและการดูแลทางสุขภาพ ที่ได้รับการตอบสนองและไม่ได้รับการตอบสนองในผู้สูงอายุไทย
  4. ผู้สูงอายุไทยกับสังคมไทยในปัจจุบัน
  5. อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสมและข้อพิจารณาทางเศรษฐศาสตร์
  6. ชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีของผู้สูงอายุกับความเป็นธรรมทางดิจิทัล : เราเตรียมพร้อมหรือยัง

 

 

เชื่อมโยงและต่อยอด

หนัง Realistic ของไทยทำได้ดีเคยมีมาก แนวครอบครัวที่โดดเด่นจะเป็นพิเศษคือ “น้ำพุ” ผู้น้อยวาสนา , Coming of Age มี “มหา’ลัยเหมืองแร่” เด็กหนุ่มวัยค้นหากับประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้รับจากเหมืองแร่ หนัง “หลานม่า” ให้ความรู้สึกเชื่อมโยง (Relate) หลายระดับ ทั้งในแนวดิ่งและแนวกว้าง ส่งผลให้มีทางต่อยอด ย้อนทวน หวนคิดถึงอีกหลายเรื่องในบริบทเดียวกัน ทั้งในส่วนของงานสร้าง และบทล้วนกำหนดหัวใจสำคัญที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงจุดที่น่าภูมิใจสำหรับคนไทยเพราะหนังให้มากกว่าที่เห็น แม้ถูกออกแบบโดยยึดหลัก ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ (สื่อความหมายได้ตรงจุด) “ ตอนถ่ายหนัง ‘หลานม่า’เราพยายามนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงมาประกอบรวมกัน ดังนั้นอะไรที่เป็นความฉาบฉวยใน “หลานม่า” เราจึงลดทอนออกทั้งหมด” พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับบอกเล่าเบื้องหลัง แต่ทำให้เราเชื่อมโยงและต่อยอดทางความคิดหลายทิศทาง

  • ความ Real ของ “หลานม่า” ท้าให้คิดถึงหนังเกาหลีโทนยุโรปที่ประทับใจอีกเรื่อง “PAST LIVES”  ผลงานกำกับและเขียนบทเรื่องแรกของ เซลีน ซง (Celine Song) จากค่าย A24 นำเข้าโดย GDH เรื่องรักสามเส้าใต้เงาโชคชะตา เมื่อหญิงสาวแสวงหาชีวิตและการทำงานในแบบที่รักจะเป็นนักเขียน เกาหลีใต้ไม่ได้มีนโยบายขาย Soft Power ในยุค 60-70 เธอต้องไปตามหาความฝันกับครอบครัวที่แคนาดา แล้วลงหลักที่อเมริกา และยังตามหารักแรกไม่รู้ลืม … เวลาผ่านไปกว่า 24 ปี เธอนำเขากับคุณสามีมาพบกันบนความสัมพันธ์ของผู้เจริญแล้ว เพียงเพื่อพบแล้วจากโดยไม่มีใครอยากสร้างเงื่อนไขใฝ่ครอบครอง อบอุ่น ร้าวราน หวาน เศร้า ประณีตทุกช็อตเหมือนได้เฝ้ามองชีวิตจริง เนิบนิ่งไม่อิงเทคนิคอลังการงานสร้าง ในทางจิตวิทยาวิชาภาพยนตร์คือการเว้นช่องว่างให้ผู้ชมต่างได้ร่วมไตร่ตรอง บทไม่ต้องยัดเยียดจนรู้สึกเครียดจะทำให้ได้คิด เหมือนได้ฝึกจิตทำสมาธิผ่านสารที่หนังต้องการสื่อ ความรักกับวันเวลาและการจากลาที่งดงามตื้นตัน ชีวิตต้องไปตามทางของมัน…
  • ปัญหาของผู้สูงวัยในครอบครัวจากหนังไทยเรื่อง “วัยตกกระ”[5] ของผู้กำกับหัวก้าวหน้ากล้าเสี่ยง ชนะ คราประยูร มื่อปี 2521 และนับเป็นความใจกว้างของบริษัทผู้สร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน หนังสะท้อนช่วงเวลาที่สังคมไทยเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่อยู่รวมกัน ไปเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีแค่พ่อแม่ลูก สะท้อนสังคมทุกระดับซึ่งมีอิทธิพลกับคนในครอบครัว พ่อ-ข้าราชการตรงฉิน ลูกสาวที่กำลังโตอยู่ในวัยรุ่น ล้วนมีผลต่อสุขภาพจิตสุขภาวะของผู้สูงวัย ที่ต้องการการดูแลอย่างเห็นใจและเข้าใจจากครอบครัว โดยเฉพาะกรณีแสดงความคิดเห็น หรือจัดการบางอย่างด้วยความรู้สึกที่เคยเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว แต่ความคิดขัดแย้งกันกับคนที่นั่งแทนตำแหน่งเดิมในปัจจุบัน
  • ปัญหาผู้อาวุโสจำลองสังคมโลกของหนังญี่ปุ่นเรื่อง  “Plan 75” ความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ของผู้สูงวัย แม้เป็นเรื่องแต่งแต่แฝงแนวคิดจริงเรื่องแผนการแก้ปัญหาผู้สูงวัยล้นประเทศในญี่ปุ่น หนังชวนรับสมัครผู้สูงวัยที่ต้องการจบชีวิตในช่วงอายุ 75 พร้อมค่าตอบแทน หนังชี้ชัดถึงความเปลี่ยวเหงาที่ต้องการงานเยียวยา จากหน่วยอาสาที่เข้าใจ ก่อนที่จะกระทบกลายเป็น ‘ภัยสังคม’ มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (ปัญหาคนแก่ญี่ปุ่นทำตัวลักเล็กขโมยน้อยเพื่อจะได้เข้าคุก เพราะมีคนดูแลมีที่อยู่ สวัสดิการ ฯลฯ คือปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอย่างหนัก)

แต่ที่ฮ่องกงวางแผนรับมือล่วงหน้าไป 22 ปี เพราะเขาคาดว่าภายในปี 2046 ฮ่องกงจะมีจำนวนของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 36 The Opener รายงานว่า สังคมสงเคราะห์ในฮ่องกงจึงร่วมมือกับโรงเรียนอนุบาล รับมือ ‘สังคมสูงวัยเต็มขั้น’ ด้วยการสร้าง “ห้องเรียนไร้อายุ”[6] (A Classroom Without Age) ขึ้น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กเล็ก และช่วยบรรเทา ‘ความเหงา’ ให้กับผู้สูงอายุ คุณย่าคุณยายและเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น เรื่องสภาพแวดล้อม ความรู้ภายในบ้าน สุขภาพกายและสุขภาพจิต การผจญภัย อาชีพ ประเพณี อาหาร และบทเรียนชีวิต วิธีคิดสร้างสรรค์การแก้ปัญหาน่ารักมาก

  • หนังแนว Coming of Age น่ารักอีกเรื่องของเกาหลี “The way home” เด็กชายตัวน้อยประมาณหกขวบที่แม่พาไปฝากยายไว้ในบ้านนอก หนังบีบใจด้วยยายชราหลังค่อมแต่ต้องคอยดูแลหลานตัวแสบ น้องออกฤทธิ์สารพัดจะเรียกร้องต้องการตามประสาเด็กเมืองที่ถูกสังคมสิ่งแวดล้อมหลอมให้เป็น สุดท้ายก็ได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิต หลังสัมผัสถึงความรักความเมตตาจากยาย จนขยายเป็นพัฒนาการ เติบโตเป็นผู้ใหญ่จากภายในเพราะความรักความใส่ใจที่ยายมอบให้ โดยไม่ได้พูดอะไรเลย (ยายพูดไม่ได้ หูตึง ตาฟ่าฟาง)
  • หนังเน้นประเด็นของ ‘บ้าน’ ทั้งรูปธรรม-นามธรรม มี Location หลักคือบ้านอาม่าเป็น ‘ตัวเอก’ ของเรื่อง ถูกออกแบบให้เป็นห้องแถวเก่า ไม่อิงการตกแต่งเกินวิถี ที่เป็นสาเหตุให้เกิดกิเลสและรอยร้าว , บ้านจัดสรรชานเมืองอากาศดีที่รอรับม่าของเสี่ยเคี๊ยง , บ้านสิบล้านของกงที่ตกลงยกให้มุ่ย , ห้องมุ่ย วิมานลอยฟ้าฉากพรางตางานถ่าย และบ้านหลังสุดท้ายของม่าเคหาสมมุติ ทำให้สะดุดประเด็นที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงนั่นคือ ‘บ้านของใจ’

เพราะในพุทธศาสนามนุษย์มีบ้านแท้จริงอยู่สองหลังคือ ‘บ้านภายใน’ (ที่สถิตของหัวใจ) และ ‘บ้านภายนอก’ (ที่อยู่อาศัยเป็นของชั่วคราว) ชวนให้ขุดหนังเก่าญี่ปุ่นขึ้นมาปัดฝุ่นเรื่อง “Little forest” คนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตแนวธรรมชาตินิยม ให้ ‘ธรรมชาติเยียวยา’ แบบ (Nature heal)  อย่างรื่นรมย์ในชนบท มีความสุขอยู่กับบ้านผ่านงานทำอาหารด้วยวิถีสมถะอย่างคนที่มี ‘บ้านของใจ’ แม้ห่างไกลจากคนผูกพัน ก็สามารถสร้างสรรค์ได้โดยเฉพาะในชนบทที่สงบเพราะค้นพบสวรรค์ในใจ

  • สามารถคิดข้ามศาสตร์ไปถึงงานประพันธ์ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวได้อีกมากมายเช่นเรื่อง “บ้าน” ฯลฯ งาน Master Piece ของ ปาจิน นักเขียนชาวจีน เป็นนวนิยายเรื่องแรกในไตรภาคชุด “บทเพลงแห่งกระแสเชี่ยว” ที่มีอีกสองเล่มในชุดเดียวกันคือ “ใบไม้ผลิ” และ “ใบไม้ร่วง” สะท้อนครอบครัวใหญ่ในระบอบศักดินาของจีน ความวุ่นวายจากความเป็นอยู่และการแก่งแย่งแบ่งสมบัติ มีฉากทัศน์เป็นการเมืองยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนต้องตั้งคำถาม อ่านทบทวน ชวนให้ติดตาม เพราะห้องแถวโกโรโกโสแถบเมืองเก่าของม่ายังขายได้ราคาจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาขนาดนี้ ในครอบครัวคหบดีที่มีทรัพย์ศฤงคารมหาศาล บริวารจะพลุกพล่านประมาณไหน ในความวุ่นวายซับซ้อนของผู้คนที่ดิ้นรนรอรับผลประโยชน์ และโทษของความเห็นแก่ตัว …
  • บ้านหลังสุดท้าย ความหมายที่ไม่ใช่แค่หลุมฝังศพ … ฮวงซุ้ยสวยสมปรารถนาของอาม่ากระตุ้นใจทำให้หันไปมอง สุสานโปรเตสแตนต์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Protestant Cemetery) ชาวบ้านเรียก “สุสานฝรั่ง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานที่ดินให้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2396 เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของชาวคริสเตียน (ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์)  ตั้งอยู่ถัดจากโรงงานยาสูบ 1 ซอยเจริญกรุง 72/5 (แล ะถัดไปเป็น Asiatique ที่รู้จักกันดี) ที่ดินด้านในลึกไปติดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนด้านนอกติดถนนใหญ่พื้นที่ราว 2 ไร่ได้กันแยกไว้ให้เป็นที่ตั้งสุสานชาวยิวเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพื่อฝังศพชาวยิวในกรุงเทพฯ ยืนยันความเป็นดินแดนแห่งพันธมิตรทั้งในอดีตและปัจจุบัน

สุสานฝรั่งจึงเป็นบ้านหลังสุดท้ายของผู้เดินทางไกล แสดงถึงการไว้อาลัยต่อต่างชาติผู้วายชนม์ซึ่งมากล้นคุณูปการที่ให้กับประเทศไทยหลายท่าน และเป็นการประกาศเกียรติคุณต่อมิตรประเทศที่ได้มาร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองกับสยามในสมัยนั้น เช่น แดเนียล บีช แบรดลีย์ (Daniel Beach Bradley) หรือหมอบรัดเลย์ , มิชชันนารี เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ต้นสกุลเศวตศิลา ผู้เคยเป็นรักษาการกงสุลใหญ่อังกฤษประจำไทย , แซมมวล จอห์น สมิธ ( Samuel Jones Smith) เจ้าของโรงพิมพ์หมอสมิธ ที่พิมพ์หนังสือ เช่น Siam Daily Advertiser , ตระกูลแมคฟาร์แลนด์ ผู้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดไทย และอาจารย์แพทย์รุ่นแรกๆ ของไทย ฯลฯ สุสานจึงไม่ใช่แค่หลุมฝังศพ หรือจุดนัดพบในวันทำพิธีเท่านั้น

 

 

ทุกมิติของ ‘เวลา’ เป็นสิ่งมีค่าที่สุด

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับ “หลานม่า” บอกเล่าว่า “ ‘เวลา’ สำหรับ ‘คนรอคอย’ ไม่เพียงมีคุณค่าและมีความหมายยิ่งไปกว่าเงินทอง แต่ ‘เวลา’  สำหรับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ ยังทำหน้าที่กำหนดทิศทาง เรื่องราว ควบคู่ไปกับ ‘ความเรียลลิสติก’ สององค์ประกอบที่ขาดกันไม่ได้เหมือนคู่แสงและเงา “ตอนถ่ายหนัง ‘หลานม่า’ เราพยายามนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงมาประกอบรวมกัน ดังนั้น อะไรที่เป็นความฉาบฉวยใน ‘หลานม่า’ เราจึงลดทอนออกทั้งหมด ผมรู้แค่ว่า เรื่องราวจะถูกเล่าออกไปแบบไหน แต่คนที่ทำให้ภาพเกิดขึ้นได้จริง คือช่างภาพ (ก๊อย บุณยนุช ไกรทอง ผู้กำกับภาพ) และทีมงานในแต่ละฝ่าย ทีมโลเคชัน ทีมอาร์ต ทีมไฟ ทีมกล้อง ทีมจัดการ ไปจนถึงกระบวนการแก้สี ที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง และสอดคล้องกัน พี่ดิว (ชัยธวัช ไตรสารศรี Colorist) เขามีวิธีคิดเรื่องการแก้สีด้วยไอเดียที่ทุกอย่างที่อยู่บนพื้นฐานความจริงมากไปกว่าการ Styling ภาพยนตร์ คือไม่ใช่การทำสีเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการเน้นและย่อยความจริงของแต่ละตัวละคร แต่ละสถานการณ์ อย่างเช่น ฉากที่กู๋โส่ยมาเยี่ยมอาม่า มันจะเป็นสองคัทที่เวลาต่างกันในช่วงของหนึ่งวัน กู๋โส่ยจะมาหาในช่วงบ่าย แล้วจากไปในช่วงโพล้เพล้ ให้คนดูรู้สึกว่ากู๋โส่ยเค้าอยู่จนเย็นที่สุด แล้วจึงกลับไป”

“สิ่งที่ทำให้ดีใจยิ่งกว่าการที่คนชอบหนังของเราคือการที่คนสังเกตเห็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนตั้งใจทำในทุกส่วนจริงๆ ตั้งแต่บท แคสติ้ง การแสดง การถ่ายทำ แสง เสียง โลเคชัน โปรดักชันดีไซน์ เสื้อผ้า แต่งหน้า ทำผม คอนทินิว การตัดต่อ การทำสี การออกแบบเสียง เพลงประกอบ CG การโปรโมท PR ภาพนิ่งและเคลื่อนไหวเบื้องหลัง ไปจนถึงโปรดักชัน และ Post ที่ราบรื่นได้เพราะทีมจัดการ การที่คนดูแล้วอินไปกับหนัง โดยไม่เห็นคนทำก็ทำให้พวกเรามีความสุขมาก แต่การที่คนดูหนังแล้วอินไปกับหนังจนคิดถึงความตั้งใจของบุคลากรที่ทำอยู่เบื้องหลัง ทำให้พวกเรามีความสุขมาก ๆ ขึ้นไปอีกครับ” รางวัลของคนทำหนัง กำลังใจคือความสุขใจแท้ที่ได้รับ

 

 

แม้ทุกองค์ประกอบในความเป็น “หลานม่า” จะไม่ใช่สิ่งใหม่หมาดในตลาดหนังโลก แต่ทิศทางการสร้างและการยอมรับหนังแนวนี้ของตลาดหนังไทยในวงกว้างยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากหากเทียบกับ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นรุ่นพี่ที่นำหน้าไปนานมากแล้ว แต่เรื่องที่น่ายินดีที่สุดคือการตอบรับของคนในประเทศที่ ‘ยอมรับหนังไทย’  โดยเฉพาะงานของบริษัทผู้สร้างที่เราต่างเคยวางความหวังไว้ในยุคบุกเบิก มันคือการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี ‘พี่ใหญ่’ ของวงการ แม้หนังไม่สามารถขนาดพลิกโลกด้วยฝ่ามือ ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรมหนังไทย ทำให้รัฐบาลเห็นคุณค่าแล้วลุกขึ้นมาออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานสร้างสรรค์ ด้วยรัฐสวัสดิการอย่างที่ควรจะเป็น แต่ศิลปินและศิลปะได้ทำหน้าที่ของตัวเองผ่านงานภาพยนตร์ซึ่งมีผลต่อจิตใจผู้คนไปจนถึงยกระดับหนังไทยแล้ว ส่วนจะทำให้เกิดการงอกเงยเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่นั้น คำตอบอยู่ที่ผู้ชมทุกคนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตัวเองและครอบครัว หน่วยเล็กที่สุดของสังคมจะขับเคลื่อนทุกองคาพยพให้เกิดพลวัตที่รัฐควรชัดเจนต่อการพัฒนาหนังไทยสู่เวทีโลกอย่างที่ควรจะทำนานแล้ว.

 

เพลง สวยงามเสมอ (Ost. หลานม่า)

ขับร้อง โดย : พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (Billkin)
Lyrics by:Kajondet Promraksa
Composed by:ประทีป สิริอิสสระนันท์
Arranged by:ประทีป สิริอิสสระนันท์
Produced by:ประทีป สิริอิสสระนันท์/สุพล พัวศิริรักษ์

ในช่วงเวลาดี ๆ ในสิ่งที่เรามีกัน
เธอยังเป็นรอยยิ้มของทุกวัน ที่ยังคงชัดเจนในใจ
ขอบคุณที่คอยประคอง ที่โอบกอดฉันไว้
ที่กุมมือฉันเดินไปในหัวใจของเธอ
ในทุกเรื่องราว ไม่ว่าร้ายหรือดี
ยังมีภาพเธอในทุกวินาที
นานเท่าไร ไม่เคยลบเลือนมาจนวันนี้
ยังอยู่ในหัวใจ เก็บไว้ทุกภาพจำ
ความงดงามที่มียังอยู่ตรงนี้
ยังอยู่กับฉันเหมือนเคย
ได้อยู่ข้าง ๆ กัน อยู่ในชีวิตเธอ
ช่างมีความหมายเหลือเกิน
เธอยังเป็นความสวยงามของฉันเสมอ
คงมีเพียงคำเดิม ๆ อยากให้เธอได้ฟัง
ให้เธอได้รู้เช่นกัน ว่าฉันน่ะรักเธอ
ในทุกเรื่องราว ไม่ว่าร้ายหรือดี
ยังมีภาพเธอในทุกวินาที
นานเท่าไร ไม่เคยลบเลือนมาจนวันนี้
ยังอยู่ในหัวใจ เก็บไว้ทุกภาพจำ
ความงดงามที่มียังอยู่ตรงนี้
ยังอยู่กับฉันเหมือนเคย
ได้อยู่ข้าง ๆ กัน อยู่ในชีวิตเธอ
ช่างมีความหมายเหลือเกิน
เธอยังเป็นความสวยงามของฉันเสมอ
ยังอยู่ในหัวใจ เก็บไว้ทุกภาพจำ
ความงดงามที่มียังอยู่ตรงนี้
ยังอยู่กับฉันเหมือนเคย
ได้อยู่ข้าง ๆ กัน อยู่ในชีวิตเธอ
ช่างมีความหมายเหลือเกิน
เธอยังเป็นความสวยงามของฉันเสมอ
เธอจะเป็นความสวยงามของฉันเสมอ

 

 

ขอขอบคุณภาพประกอบบทความ และข้อมูลข่าวโดย GDH559

 


 

[1]  Gen B, Gen X, Gen Y และ Gen Z , sanook.com, สืบค้น 10 เมษายน 2567 https://www.sanook.com/campus/1401267/

[2] 5 เรื่องน่ารู้ ทำไมคู่รักวัย Gen Z ถึงกลัวการแต่งงานมากขึ้น, sanook.com, สืบค้น 14 เมษายน 2567 https://www.sanook.com/women/246477/

[3] “สังคมสูงวัย”,  facebook : page “สูงวัย”, สืบค้น 20 เมษายน 2567 https://www.facebook.com/thaitgri/posts/pfbid0iuVHriAHDu3bWvuhYv2mvECNjDCq65Ja1sCgNAGY6LGjSArCj9ETbKNKCqegn5HKl?locale=th_TH

[4] “ผู้สูงอายุไทย 2567”, มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.), สืบค้น 14 เมษายน 2567 https://www.facebook.com/thaitgri/posts/pfbid02sxnVdg4NNfP66eSJW4yfZv3VBHhfFdJgMxL7gN6H9VUB9z3hMcqz69N8tLCZ36H4l

[5] วัยตกกระ, rottenheaddog 4, สืบค้น 18 เมษายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=spe7Urxo3ww

[6] ห้องเรียนไร้อายุ, theopener.co.th, สืบค้น 25 เมษายน 2567 https://tinyurl.com/3bbzark7