ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เมื่อต้นอ่อนคือความไม่ยุติธรรม ผลที่ออกมาวิมานจึงเป็นหนาม

27
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเรื่องความไม่ยุติธรรมในมิติต่าง ๆ ผ่านภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในครอบครัวของการแย่งชิงที่ดินสวนทุเรียน แต่ภายใต้ความขัดแย้งนี้กลับสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมยุติธรรมทางสังคม เช่น พื้นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม เพศ และสถานะทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ว่าใครก็ตามก็ได้รับความเจ็บปวดจากหนามทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการไม่ถูกรับรองสถานะของคนรักเพศเดียวกัน

 

 

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นกันยายน ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นกระแสแล้วถูกพูดถึงคงหนีไม่พ้นเรื่องวิมานหนาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกระแสก็เพราะเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ที่มีการพูดถึงประเด็นเรื่องความไม่ยุติธรรม ทั้งที่เห็นโดยชัดเจนตั้งแต่ยังไม่ต้องดูภาพยนตร์ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการไม่ถูกรับรองสถานะของคนรักเพศเดียวกัน

ทว่า หากผู้อ่านท่านใดได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยการนำเสนอความไม่ยุติธรรมในหลายลักษณะผ่านสัญญะที่แสดงออกในบทของภาพยนตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการไม่ถูกรับรองสถานะของคนรักเพศเดียวกัน

บทความนี้ของผู้เขียนแม้อาจจะมาสายไปสักหน่อย และตลาดอาจจะเริ่มวายแล้ว แต่ผู้เขียนก็หวังว่าบทความนี้ของผู้เขียนจะเสนอแง่มุมที่แตกต่างในแง่ของความไม่ยุติธรรมรวมถึงได้รวมแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ บ้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความไม่ยุติธรรม และสัญญะที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้

 

คำเตือน บทความนี้มีเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวภายในภาพยนตร์

 

ตัวตนของผู้กำกับ และเสน่ห์ของความแตกต่างหลากหลาย

ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจความไม่ยุติธรรมที่อยู่ในวิมานหนาม ผู้เขียนขอใช้เวลาสักนิดหนึ่งกับการชวนให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักผู้รังสรรค์งานชิ้นนี้ ผู้เขียนไม่กล้าจะประเมินคุณค่างานชิ้นนี้ว่าดีหรือไม่ เพราะผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภาพยนตร์

แต่บอส นฤเบศ กูโน นั้นเป็นคนหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจความคิดและผลงานที่เขาแสดงออกมา วิมานหนามนี้เป็นทั้งผลงานกำกับและร่วมเขียนบทของบอส การทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ลึกซึ้งด้วยการย้อนกลับไปดูร่องรอยที่ผ่านมาอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

บอสเริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานหลาย ๆ ที่ผ่านมาหลายเรื่อง อาทิ Side by Side พี่น้องลูกขนไก่, I HATE YOU, I LOVE YOU, แปลรักฉันด้วยใจเธอ และมาถึงวิมานหนาม ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของบอส เมื่อลองย้อนกลับไปดูงานที่ผ่าน ๆ มาของบอส[1] เราจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนลายเซ็นในงานของบอสคือ การนำเสนอประเด็นเรื่องความหลากหลายและความแตกต่างไว้ในผลงาน

ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่อง Side by Side พี่น้องลูกขนไก่เป็นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวนักกีฬาที่ประกอบด้วยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน (แม่ตั้มและแม่แตง) โดยมีลูกชาย 2 คนคือ พี่ยิม ซึ่งมีภาวะออทิสติก และน้องโด่ง โดยทั้งพี่ยิมและน้องโด่งต่างมีความฝันที่จะเป็นนักแบดมินตันมืออาชีพ

แม้ดูผิวเผินซีรีส์เรื่องนี้อาจจะมุ่งเน้นไปที่การมุ่งชนะเป้าหมายของตัวเอง และความรักภายในครอบครัว และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของตัวละคร แต่อีกด้านหนึ่งที่เนื้อเรื่องพยายามนำเสนอความหลากหลายและความแตกต่างอย่างแยบคายผ่านความสัมพันธ์ของแม่ตั้มและแม่แตงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ช่วยกันดูแลลูก ในแง่หนึ่งสิ่งนี้สะท้อนความสัมพันธ์แบบภคินีแห่งผู้หญิง (lesbian continuum)[2] ซึ่งสะท้อนความผูกพันทางอารมณ์ของผู้หญิงที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตกัน ไม่เพียงแต่การเน้นย้ำความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่ในเรื่องการลดบทบาทของตัวละครผู้ชายหรือพ่อออกไปจากครอบครัว ยิ่งเป็นการเน้นย้ำประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้น (แม้ว่าผู้เขียนบทอาจจะต้องการนำเสนอภาพครอบครัวที่มีความรักและความอบอุ่น โดยไม่ต้องมีบทบาทของคนเป็นผู้ชายในฐานะพ่อก็ตาม)

อีกประเด็นหนึ่งที่เรื่องนี้มีการกล่าวถึงคือ การทำความเข้าใจภาวะความเป็นอื่นของพี่ยิมในฐานะคนที่มีภาวะออทิสติก ซึ่งตัวละครแต่ละตัวจะต้องปรับตัวกับตัวละครนี้อย่างไร เพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ของครอบครัว และเรียนรู้จะทำความเข้าใจความแตกต่าง[3]

แปลรักฉันด้วยใจเธอ (Part 1) เป็นอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจของบอส ซีรีส์เรื่องนี้มีความน่าสนใจในการนำเสนอความสัมพันธ์ของเต๋และโอ้เอ๋ว ที่เป็นเพื่อนสนิทในวัยเด็กก่อนที่จะเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองคนเหินห่างกันออกไป ก่อนที่จะกลับมาสนิทกันอีกครั้งและค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นความรักในท้ายที่สุด ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ การพยายามนำเสนอช่วงเวลาของการค้นหาตัวตนของวัยรุ่นที่ตัวละครค่อย ๆ พัฒนาจนค้นพบรสนิยมความชอบของตัวเอง และยอมรับตัวเองในท้ายที่สุด[4]

การกล่าวถึงประเด็นความหลากหลายนี้อาจจะเป็นพื้นฐานที่ปรากฏในงานของบอส ซึ่งในเรื่องวิมานหนาม ประเด็นนี้ยังคงถูกชูขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง แต่ถูกซ้อนทับลงไปด้วยภาพการเมืองของความแตกต่าง

 

จุดเริ่มต้นของความไม่ยุติธรรม

กลับมาที่วิมานหนาม เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากลงเงินและลงแรงอยู่หลายปีทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) กับเสก (เต้ย พงศกร) ก็ประสบความสำเร็จ ช่อดอกทุเรียนดอกแรกของส่วนเริ่มเบ่งบาน และในที่สุดทั้งสองคนก็ได้ไถ่โฉนดที่ดินสวนทุเรียนที่พอของเสกเอามาจำนองไว้กับสหกรณ์คืน ทั้งสองคนตั้งใจให้โฉนดที่ดินนี้เป็นสัญลักษณ์ของความรักของทั้งสองคน เป็นเสมือนทะเบียนสมรสที่เป็นหลักฐานของความมุ่งมั่นและพยายาม อย่างไรก็ดี ด้วยอุบัติเหตุได้ทำให้เสกจากไปก่อนวัยอันควร และทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดิน เนื่องจากทองคำและเสกไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย ทำให้แม่แสง (สีดา พัวพิมล) ซึ่งเป็นแม่ของเสกมารับมรดกและเป็นเจ้าของที่ดินต่อจากเสกพร้อมกับโหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ซึ่งในเรื่องอธิบายว่าเป็นลูกสาวบุญธรรมที่แม่แสงเก็บมาเลี้ยง และจริง ๆ คือเมียที่ไม่ถูกต้องทำกฎหมายของเสก

 

 

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากตรงนี้ การเข้ามาของแม่แสงและโหม๋ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและการแย่งชิงมรดกขนานใหญ่ ระหว่างทองคำ แม่แสง และโหม๋ ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

ในด้านหนึ่งผู้กำกับและผู้เขียนบทอาจจะจงใจให้ผู้ชมภาพยนตร์หลงไปกับประเด็นหลักของเรื่องคือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และเหมือนจังหวะที่หลังเรื่องนี้เข้าฉายเหมาะเจาะกับช่วงที่รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประกอบกับการเกริ่นนำเรื่องนี้ว่า “แรงบันดาลใจจากความไม่เท่าเทียม” ซึ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งเสมือนเป็นการบอกเล่าความจริง พร้อมกับกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการเมือง ที่นำเสนอผ่านความเป็นเมโลดราม่า (melodrama)

แน่นอนว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศอาจจะเป็นประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนต้นอ่อนของต้นไม้ เพียงแต่ผลที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมก็คือ ความไม่ยุติธรรมนั่นแหละ กล่าวคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความไม่ยุติธรรมทางเพศเท่านั้น แต่ลึก ๆ ลงไปกว่านั้น บอสได้หยิบเอาความไม่ยุติธรรมในหลาย ๆ ลักษณะมาถ่ายทอดและเรียงร้อยออกมาเป็นเรื่องราว

 

เมื่อหนามที่ทิ่มแทงคือความไม่ยุติธรรม

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับทุเรียนคือ เคยโดนทุเรียนตกใส่เท้า สิ่งที่รู้สึกก็คือ ความเจ็บปวด แต่ในวิมานหนาม หนามที่ทิ่มแทงตัวละครในภาพยนตร์ก็คือ ความไม่ยุติธรรม

ความไม่ยุติธรรมที่ปรากฏตลอดภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งเฉพาะ แต่ทุก ๆ คนล้วนแต่เป็นเหยื่อของไม่ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ละในคนมุมเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วที่ทองคำทำไม่ดีกับแม่แสงหรือโหม๋ ก็อาจจะไม่ได้เพราะต้องการจะทำแบบนั้น หรือที่เมื่อดูจนจบเรื่องแล้วโหม๋อาจจะเป็นคนที่น่าสงสารมากที่สุดก็ได้

ทั้งนี้ ในบรรดาความไม่ยุติธรรมที่ปรากฏในเรื่อง วิมานหนามได้นำเสนอความไม่ยุติธรรม ทั้งปรากฏโดยชัดเจน และที่ปรากฏในเชิงสัญญะต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งผู้เขียนจะขอพาผู้อ่านไปสำรวจความไม่ยุติธรรมกันทีละประเด็น

 

“เพศ” เมื่อความรักไม่เท่าเทียมกัน

ประเด็นเรื่องเพศเป็นประเด็นหนึ่งที่วิมานหนามนำเสนอ ความสัมพันธ์ของทองคำและเสกที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายเหมือนคู่สมรส ทำให้แม้ทองคำกับเสกจะช่วยกันทำมาหากินจนสามารถปลดจำนองที่ดินได้ แต่เมื่อเสกถึงแก่ความตาย ทองคำกลับไม่ได้รับอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว

ไม่เพียงปัญหาเรื่องที่ดินที่เป็นปมหลักของเรื่อง หลายครั้งการไม่ได้มีสถานะทำให้ทองคำตกอยู่ในสภาพที่เป็นรองหรือด้อยกว่าคนอื่น ตัวอย่างเช่น ในตอนที่เสกประสบอุบัติเหตุและต้องได้รับการผ่าตัด หมอที่รักษาได้สอบถามว่าทองคำมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเสก ซึ่งทองคำก็ได้อธิบายว่ามีสถานะเป็นแค่เพื่อน และไม่สามารถให้ความยินยอมในการรักษา จนเป็นเหตุให้เสกถึงแก่กรรม แม้ว่าในภาพยนตร์ทองคำจะพยายามแสดงว่าตัวละครทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม (ฉากที่ถกกางเกงลงมาให้หมอและพยาบาลดู) แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกรับรองด้วยกฎหมาย

อีกลักษณะหนึ่งที่ภาพยนตร์พยายามตอกย้ำสถานะของทองคำและเสกคือ ฉากที่ทองคำต้องหอบเอาเอกสารและรูปภาพจำนวนมากไปแสดงต่อผู้พิพากษา ทนายความ และเจ้าหน้าที่ของรัฐซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อบอกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์อะไรกับเสกบ้าง แต่บรรดาเอกสารและรูปภาพเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ใด ๆ เมื่ออยู่ต่อหน้าระบบกฎหมายที่ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนโดยเสมอภาคทางเพศ

ซ้ำร้ายในภาพยนตร์ยังแสดงทัศนคติของคนทำงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มองประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมนี้เป็นเรื่องความโง่เง่าของทองคำ มากกว่าจะเป็นเรื่องความไม่ยุติธรรมของระบบ ดังเช่นในฉากที่ทนายอาสาประจำสถานีตำรวจพูดกับทองคำว่า “คนแบบเรามันโง่ยกทุกอย่างให้ผู้ชายไม่ได้หรอก”

 

 

ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับทองคำในกรณีนี้ มีสาเหตุมาจากการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่รับรองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันให้มีสถานะเหมือนชายหญิง (และหวังว่า ณ วันที่บทความนี้ได้เผยแพร่กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านรัฐสภาแล้วจะได้รับการลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว) ทว่า การไม่มีกฎหมายที่ยุติธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ มองไม่เห็นหรือเลือกจะไม่เห็นความไม่ยุติธรรม โดยให้ความเห็นว่า เพราะกฎหมายเป็นแบบนี้ สิ่งนี้อาจจะเป็นข้อบกพร่องใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ก็ได้

 

“ชีวิต” ไม่เป็นธรรม เรื่องชาวบ้าน  เรื่องชนบท

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่า ภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามพยานนำเสนอคือ ประเด็นของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งแสดงออกผ่านการเดินทาง การมีทางเลือกในชีวิต และการจำกัดการเข้าถึงทุนนิยม

การเดินทางเป็นจุดสำคัญที่เรื่องนี้หยิบนำมาเล่าในหลาย ๆ ฉาก เพื่อเน้นย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมืองกับชนบท ฉากแรกที่นำเรื่องการเดินทางมาใช้เพื่ออธิบายความแตกต่างคือ ฉากที่เสกประสบอุบัติเหตุแล้วจะต้องให้แม่แสง เดินทางจากดอยอมก๋อยเพื่อมาเซ็นหนังสือให้ความยินยอม ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง และการเดินทางจะไม่สามารถทำได้เลยหากคนที่อยู่บนดอย ไม่อาศัยยานพาหนะส่วนตัวหรือของคนในชุมชนลงมา

 

 

นอกจากฉากข้างต้น ฉากการเดินทางไปโรงพยาบาลของแม่แสง เมื่อย้ายมาอยู่ที่บ้านของทองคำและเสกที่ใกล้เมืองมากขึ้น แต่การจะไปโรงพยาบาลก็ยังไม่สะดวกอยู่ดี เพราะสถานที่ต่าง ๆ อยู่ไกลจากกันมาก หากแม่แสงจะไปหาหมอในโรงพยาบาล โดยที่ทองคำไม่ไปส่งก็จะต้องนั่งรถสองแถวเข้ามาในเมือง

อีกฉากหนึ่งที่ภาพยนตร์หยิบเอาประเด็นเรื่องการเดินทางมาใช้ก็คือ ในฉากที่ทองคำเดินทางกลับจากการติดต่อเรื่องขายทุเรียน แล้ววันนั้นพายุเข้าถล่มภาคเหนือของประเทศไทย ทองคำจะต้องรีบกลับมาโยงกิ่งทุเรียน เพื่อลูกทุเรียนร่วงจากแรงพายุ ในฉากนั้นอุปสรรคสำคัญก็คือ การเดินทาง เมื่อรถของทองคำเสีย การจะกลับมาที่สวนให้ทันมีเพียงวิธีการเดียวคือ ต้องติดรถคนอื่นกลับมา ซึ่งถ้าหากฝนตกหนักไม่มีรถผ่านก็จะกลับมาที่สวนไม่ได้

 

 

ฉากการเดินทางต่าง ๆ นี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของการไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ สถานการณ์ของจังหวัดที่มีความเป็นเมือง อาจจะดีกว่านี้หน่อย อาทิ ในเชียงใหม่อาจจะมีรถบัสวิ่งข้ามอำเภอให้บริการ หรือมีรถแดงให้บริการ แต่การมีระบบขนส่งมวลชนที่พร้อมอาจจะเป็นโจทย์สำคัญในการมีชีวิตขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ถูกให้ค่าเท่าที่ควร[5]

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบขนส่งมวลชนที่ดีไม่เกิดขึ้น ก็เกิดมาจากลักษณะของการพัฒนาที่เป็นเมืองโตเดี่ยวของประเทศไทยที่มีกรุงเทพเป็นศูนย์กลางของทั้งหมด[6] ในขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะเข้ามาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ จังหวัดใดที่จะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีมาจากการสนับสนุนของภาคเอกชน[7]

นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว ในวิมานหนามยังได้แสดงให้เห็นข้อจำกัดในทางเลือกของการใช้ชีวิต แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนอาจมีทางเลือก แต่ทางเลือกดังกล่าวนั้นอาจจะจำกัดลงโดยสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว

โหม๋เป็นตัวอย่างของคนที่ถูกสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว บีบคั้นให้เหลือทางเลือกในชีวิตไม่มาก โหม๋เกิดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกจัดให้มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง และเป็นคนชาติพันธุ์ที่ถูกสังคมผลักให้ไปอยู่ที่ชายขอบ (ภาษาที่โหม๋พูดในเรื่องกับจิ่งน่ะเป็นภาษาไทใหญ่) รวมถึงไม่ค่อยมีการศึกษา

ในภาพยนตร์ได้บอกกับเราว่าทางเลือกของโหม๋ มีเพียงแค่ 2 ทางคือ ทางเลือกแรก ตื่นตั้งแต่ตี 3-4 เพื่อมาเก็บผักที่ปลูกไว้ใส่เข่งเต็มรถเพื่อแลกเงิน และทางเลือกที่สอง โยกย้ายตัวเองไปทำงานเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้สื่อกลาย ๆ ว่า ในต่างจังหวัดความหลากหลายของอาชีพอาจจะไม่ได้มีมาก เมื่อเทียบกับในจังหวัดที่มีความเป็นเมืองมากกว่า

สิ่งที่ต้องตระหนักไว้ก็คือ การมีทางเลือก เป็นคนละเรื่องกับการพอใจ หากโหม๋พอใจที่จะมีชีวิตอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสิ่งนั้นมาจากการตัดสินใจของโหม๋ แต่ในเรื่องจะเฉลยให้เรารู้ว่าโหม๋ไม่ได้ตัดสินใจเลือก แต่ถูกบังคับให้ต้องเลือกที่จะอยู่ที่นี่

ไม่เพียงแต่โหม๋เท่านั้นที่เรื่องสะท้อนข้อจำกัดของการมีชีวิตในพื้นที่ หากผู้อ่านทุกท่านได้ชมภาพยนตร์และยังจำแม่ของทองคำได้ อันที่จริงแล้วแม่ของทองคำก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนที่เผชิญข้อจำกัดในการมีชีวิตในพื้นที่ ต้องโยกย้ายตัวเองไปทำงานนอกบ้านเกิด ซึ่งกรณีนี้ไปไกลกว่าโหม๋ เพราะแม่ของทองคำต้องทำงานเป็นหมอนวดแผนโบราณอยู่ที่ไต้หวัน เพื่อหาโอกาสทางรายได้ใหม่ ๆ

นอกจากข้อจำกัดเรื่องอาชีพแล้ว ในภาพยนตร์ยังได้อธิบายกับผู้ชมทุกคนกลาย ๆ ว่า เมื่ออาชีพในต่างจังหวัดมีอยู่อย่างจำกัด อาชีพที่ดีจึงเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ดังจะเห็นได้จากฉากงานแต่งงานของคุณปลัดกับโหม๋ แน่นอนว่าผู้ชมทุกคนเมื่อดูภาพยนตร์จบ ย่อมรู้แน่ชัดว่าโหม๋ไม่ได้รักในตัวปลัดหนุ่มคนนั้นเลย การแต่งงานไม่ได้เป็นไปเพราะความรัก ถ้าเทียบกันแล้วโหม๋อาจจะรักเสกมากกว่าบ้าง

แต่เหตุผลที่โหม๋เลือกแต่งงานกับปลัดหนุ่ม คำตอบถูกเฉลยโดยพิธีกรในงานแต่งว่า ข้าราชการเป็นอาชีพที่มั่นคง มีหน้ามีตาในสังคม และทำให้ลูกเมียได้รับสวัสดิการไปตาม ๆ กัน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า การแต่งงานของโหม๋ แท้จริงแล้วก็เพื่อให้ได้รับสวัสดิการ และการเลื่อนสถานะทางสังคมจากคนชายขอบมาสู่คนที่สังคมยอมรับ

ท้ายที่สุด ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทก็คือ การจำกัดการเข้าถึงทุนนิยม ในเรื่องจะเห็นฉากที่โหม๋พยายามเอาใจแม่แสง โดยการพาเข้าไปเที่ยวในอำเภอ โหม๋บอกกับแม่แสงว่าจะพาแม่แสงมาห้าง แต่จริง ๆ สถานที่ทั้งสองคนไปเป็นเพียงแค่มินิมาร์ทเท่านั้น ทว่า การได้เผชิญกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็ทำให้แม่แสงแปลกประหลาดใจ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องที่อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาในพื้นที่หนึ่งและของคนหนึ่ง แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา อาจจะกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาของอีกคนหนึ่งก็ได้

อ่านมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า การไม่เข้าถึงทุนนิยมน่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ และชีวิตในต่างจังหวัดก็อาจจะไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรือไม่ ผู้เขียนเองไม่สามารถให้คำตอบแทนคนทุก ๆ คนได้ เพียงแต่ในมุมของผู้เขียน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การมีทางเลือกมากกว่า หากย้อนกลับไปว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ใช่หนึ่งในจังหวัดที่มีคนยากจนเรื้อรัง และคุณภาพชีวิตโดยรวมมีแนวโน้มที่จะดี เดินทางสะดวก เข้าถึงสวัสดิการ และการได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องมีสถานะทางสังคมที่เหลือกว่าคนอื่น เท่านี้ใครจะเลือกทำอะไรก็สุดแท้แล้วแต่เขาคนนั้น

 

“งานบ้าน” เรื่องการทำงานที่ไม่ถูกให้คุณค่า

อีกเรื่องหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามบอกกับเราผู้ชมทุกคนก็คือ สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญและคุณค่ากับงานบ้าน โหม๋เป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุดในประเด็นนี้ โดยตลอดทั้งเรื่องจะเห็นได้ว่าหน้าที่สำคัญของโหม๋คือ การดูแลแม่แสงและทำงานบ้านต่าง ๆ อาทิ การทำความสะอาดปัสสาวะของแม่แสง ซึ่งเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ทำให้ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ หรือการทำอาหารให้แม่แสงทาน

สิ่งเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็สร้างความได้เปรียบให้กับโหม๋ ในการแย่งชิงความพึงพอใจที่ได้รับจากแม่แสงกับทองคำ ดังจะเห็นได้จากในฉากที่ทองคำเริ่มต้นทำดีเพื่อให้เอาชนะใจแม่แสงมากขึ้น แต่เมื่อถึงจุดที่แม่แสงผู้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างนอนปัสสาวะรดที่นอน แม้ว่าทองคำจะพยายามเข้าไปช่วยดูแลและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ แต่แม่แสงก็ปฏิเสธ เพราะในแง่หนึ่งสังคมได้สร้างบทบาททางเพศ (gender role)[8] เอาไว้โดยกำหนดลูกผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลแม่ (ผัว) การที่ทองคำก้าวเข้ามาจะทำหน้าที่นี้ก็เป็นเสมือนการไม่ดำเนินบทบาทที่สอดคล้องกับบทบาททางเพศ แน่นอนว่าในฉากนั้นโหม๋ตั้งใจให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพื่อชิงชัยในความได้เปรียบ

 

 

ท่ามกลางความได้เปรียบนี้ แต่การทำงานบ้านของโหม๋ก็ไม่ได้ถูกให้คุณค่าว่าเป็นการทำงานอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากในสายตาของแม่แสงที่ไม่ได้คิดว่าการดูแลของโหม๋เป็นการทำงาน สิ่งที่แม่แสงให้โหม๋ ทั้งเสื้อผ้าและของใช้นั้นเป็นเรื่องบุญคุณ โดยผู้อ่านที่ได้ดูจะเห็นได้ว่าสถานะของโหม๋ก่อนจะได้ที่ดินนั้นมีความยากจน ผู้กำกับและผู้เขียนบทเน้นย้ำให้เราเห็นสถานะนี้จากตอนที่โหม๋เทเหรียญออกมาจากกระเป๋าสตางค์เพื่อจ่ายค่าแซนวิชให้แม่แสง เงินจำนวนดังกล่าวก็เป็นเศษเหรียญที่เหลือ ๆ ของโหม๋ ไม่ได้เป็นเงินค่าตอบแทนที่เป็นชิ้นเป็นอัน

การไม่นับงานบ้านเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมที่แยกการผลิตมูลค่าทางเศรษฐกิจออกจากมูลค่าทางสังคม กล่าวให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ งานจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้งานใด ๆ ก็ตามที่ไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะไม่ใช่งานในความหมายนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ แรงงานที่ปราศจากคนคอยช่วยเหลือหรือดูแลงานบ้านให้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร[9] เช่นเดียวกันกับที่ก่อนหน้าเสกจะจากโลกนี้ไป หากเสกไม่มีโหม๋คอยดูแลแม่แสง เสกจะสามารถที่จะมาทำสวนทุเรียนอยู่กับทองคำได้อย่างไร

หากกล่าวว่า ทองคำลงเงินเพื่อให้เสกลงแรงในการเพาะปลูกทุเรียน ในความเป็นจริงโหม๋ก็กำลังลงแรงแบบหนึ่งเพื่อช่วยให้เสกสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ทว่า แรงงานของโหม๋ที่ถูกใช้ไปในการดูแลแม่แสงกลับไปถูกให้คุณค่าแต่อย่างใด

 

“จารีต” การสะสมทุนและการชิงชัยชนะ

นอกจากเรื่องทุนทางเศรษฐกิจแล้ว ภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามยังแสดงให้เห็นว่าคน ๆ หนึ่งสามารถสะสมทุนในทางวัฒนธรรม[10] มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ การปรากฏตัวของการเอาชัยชนะเหนือคู่แข่งด้วยทุนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในฉากที่ทองคำ ตัดสินใจจะบวชให้แม่แสงแทนเสกที่ล่วงลับ การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ทองคำได้รับความสนใจจากแม่แสงมากกว่าโหม๋ รวมถึงเป็นการพลิกเกมจากการตกอยู่ในสถานะเป็นรองให้ขึ้นมามีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น

 

 

การบวชเป็นการสะสมทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง โดยแฝงอยู่ในรูปแบบของทุนทางวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปของสถาบัน (iinstitutionalized cultural capital) กล่าวคือ การบวชทำให้ผู้ชายคนหนึ่งอยู่ในสถานะที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมาก รวมถึงเป็นการเลื่อนชั้นทางสังคมไปในตัว[11] ประกอบกับตามความเชื่อของสังคมไทยความเชื่อว่าการที่ลูกชายบวชพระสงฆ์จะทำให้พ่อแม่ได้ขึ้นสวรรค์ การบวชนี้สัมพันธ์กับบทบาททางเพศของบุคคล แม้ว่าจริง ๆ แล้วทองคำจะเป็นผู้ความหลากหลายทางเพศ แต่ในสายตาของแม่แสงและคนอื่น ๆ ทองคำก็ยังคงเป็นเพศสรีระเป็นชายที่สามารถบวชได้ตามพระพุทธศาสนาแบบไทย ความเชื่อทางศาสนาจึงกลายเป็นทุนที่ส่งเสริมทองคำให้อยู่ในสถานะที่พิเศษ และอยู่ในจุดที่เหนือกว่าโหม๋

ตรงกันข้ามกับโหม๋และผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่แม้จะดูแลบิดาและมารดาดีแค่ไหน ในความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมไทย โหม๋ก็ไม่สามารถให้แม่แสงเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ได้ สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดของพระพุทธศาสนาแบบไทยที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับความเสมอภาคทางเพศ โดยไม่ยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี[12] เช่นเดียวกันกับผู้ชาย สิ่งนี้สะท้อนความไม่เป็นธรรมในการสะสมทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงสะท้อนความไม่เสมอภาคทางเพศ ผู้หญิงไม่มีสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ชายที่จะให้บิดาและมารดาเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์

 

“ความเป็นชาย” ในวัฒนธรรมชายกระแสหลัก

นอกเหนือจากเรื่องทางวัฒนธรรมแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ชมภาพยนตร์ทุกคนจะเห็นได้จากเรื่องวิมานหนามก็คือ ประเด็นเรื่องความเป็นชายกระแสหลักที่กดทับทุกคนในสังคม ความเป็นชายกระแสหลัก (hegemonic masculinity) ในที่นี้ หมายถึง ความเป็นชายประกอบด้วยความแข็งแรง ความเข้มแข็ง ความมีอำนาจและอิทธิพล และความไม่จู้จี้จุกจิกซึ่งมักถูกพิจารณาว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้หญิง[13]

ตัวอย่างแสดงออกของความเป็นชายกระแสหลักในวิมานหนาม แสดงออกผ่านตัวละครปลัดหนุ่มที่โหม๋ได้เจอและแต่งงานด้วย ปลัดหนุ่มเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจและอิทธิพลและความแข็งแรง รวมถึงความเป็นชายในแบบวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ แม้ว่าในความเป็นจริงปลัดจะเป็นข้าราชการจะเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ มีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000-16,500 บาท[14] ซึ่งเป็นข้าราชการระดับล่างสุดของสายวิชาการ รวมถึงมีอัตราเงินเดือนที่ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับอัตราเงินเดือนและการเสี่ยงภัย แต่ในขณะเดียวกันภาพของปลัดที่ถูกแสดงออกในวัฒนธรรมไทย และผ่านสื่อร่วมสมัยต่าง ๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ละครแบบปดิวรัดาหรือลูกสาวกำนัน ได้แสดงภาพของปลัดในฐานะของข้าราชการตัวอย่างจากกรุงเทพ ผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาในต่างจังหวัด อาทิ การคอร์รัปชัน ผู้มีอิทธิพล และอื่น ๆ สิ่งนี้ได้กลายมาเป็นฐานของภาพจำของข้าราชการจากเมืองหลวงผู้นำความเจริญมาสู่ท้องที่ สถานะของปลัดหนุ่ม จึงไม่ได้แบกรับเฉพาะความเป็นชายกระแสหลักทั่วไป แต่ยังมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีในฐานะข้าราชการในพระเจ้าอยู่หัว

ในงานแต่งงานของปลัดหนุ่มกับโหม๋ สินสอดซึ่งนำมาใช้ในงานแต่งงานเป็นเงินที่ทองคำหามาได้จากการทำสัญญาตัดทุเรียนขาย แต่เมื่อโหม๋ได้กลายมาเป็นเจ้าของสวนทุเรียนแทนแม่แสงในเวลาต่อมา เงินดังกล่าวก็กลายเป็นของโหม๋ ที่ในงานแต่งโหม๋ใช้เงินก้อนนี้มาเป็นเงินสินสอดงานแต่งตัวเอง โดยที่ในภาพยนตร์พิธีกรงานแต่งจะพยายามอธิบายให้ผู้ชมทุกคนได้รับรู้ว่า เงินสินสอดนี้เป็นเงินที่ได้มาจากการร่วมกันทำสวนทุเรียนของปลัดหนุ่มกับโหม๋ ปลัดหนุ่มไม่สามารถที่จะรับเอาความดีความชอบในการหาสินสอดมาเป็นของตัวเองคนเดียวได้แน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นการถูกตีความเป็นการได้เงินมาเพราะทุจริต

แต่ในขณะเดียวกันการจะยอมรับว่าเงินสินสอดทั้งหมดเป็นของโหม๋ สิ่งนี้ก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะจะกลายเป็นการยอมรับว่าบกพร่องในบทบาทความเป็นชายที่ต้องมีสินสอดมามอบให้แก่ฝ่ายเจ้าสาว และเหนืออื่นใดนั้น สิ่งนี้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้ชายที่แอบอิงอยู่กับอำนาจรัฐว่า ไม่มีศักดิ์ศรีและเสียเกียรติภูมิข้าราชการ

การแสดงว่าสินสอดเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นจุดที่ลงตัวระหว่างการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรี รวมถึงยังทำให้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างปุบปับฉับพลันของปลัดหนุ่มและโหม๋ได้เป็นอย่างดี

ถ้าคุณปลัดหนุ่มเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายกระแสหลักในเรื่องแล้ว ใครละที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายกระแสรองในเรื่อง คน ๆ นั้นก็คือ ทองคำ และจิ่งน่ะ แต่ในกรณีของทองคำอาจจะไม่ได้มีสถานะที่เป็นรองจากปลัดหนุ่มขนาดนั้น การเติบโตในสังคมที่เป็นเมืองมากก่อนและการได้รับการยอมรับจากสังคมเมือง ทำให้ทองคำอยู่คนละสถานะกับปลัดหนุ่ม แต่คนที่ในเรื่องทำให้เห็นสถานะของความเป็นรองมากที่สุดก็คือ จิ่งน่ะ

ความเป็นชายกระแสรองของจิ่งน่ะ ปรากฏตั้งแต่ตัวละครถูกกำหนดให้เป็นคนไทใหญ่ ซึ่งอาจจะถูกมองว่าไม่ใช่คนไทยแท้ในสายตาของรัฐไท ซ้ำร้ายจิ่งน่ะยังเป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าสังคมไทยหรือรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาจะแหกปากประกาศว่า “เรายอมรับความหลากหลายทางเพศและความเสมอภาคทางเพศ” แต่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ความไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของไทยต่อไปอีกนาน

นอกจากความเป็นชาติกำเนิดและเพศวิถีแล้ว จิ่งน่ะยังเป็นคนจนมีอาชีพไม่มั่นคง ในเรื่องได้อธิบายให้ผู้ชมทุกคนได้รับรู้ว่า จิ่งน่ะ เป็นน้องชายของโหม๋ และมีอาชีพที่ไม่แน่นอนเป็นเพียงคนตัดต้นไม้เท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปลัดหนุ่มแล้ว จิ่งน่ะคือ ตัวละครที่อยู่ตรงข้ามปลัดหนุ่มทุกทาง

 

 

สถานะของความเป็นชายกระแสหลักคือ ประเด็นสำคัญของความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งที่สะท้อนอยู่ในสังคมไทย การไม่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ชาย และการไม่สามารถสร้างครอบครัวที่เป็นสุขได้ตามทัศนคติของสังคม ทำให้ผู้ชายบางคนดูบกพร่อง แม้ว่าทั้งหมดนี้จะกลายเป็นการกดบีบ บังคับ และเป็นความรุนแรงต่อผู้ชายให้มีหน้าที่รับรองและประคับประคองครอบครัวในฐานะผู้นำครอบครัว

 

“ผู้หญิง” ภายใต้วัฒนธรรม

นอกจากผู้ชายที่ถูกกดทับแล้ว ภายใต้วัฒนธรรมของสังคมไทย ผู้หญิงก็ถูกกดทับ และอาจถูกกดทับมากขึ้นภายใต้ชุดอัตลักษณ์บางอย่าง ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะถูกทำให้มีสถานะด้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ตัวละครโหม๋ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เพียงแต่การไม่มีสิทธิที่จะเลือกดังกล่าวมาข้างต้น การตกอยู่ในสถานะเป็นเมียของเสกก็ทำให้โหม๋สูญเสียอิสรภาพในการทำอะไรหลายอย่าง อาทิ การย้ายไปทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความซับซ้อนของความที่ไม่เป็นธรรมอาจจะเพิ่มขึ้นหากโหม๋มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมซ้อนทับเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

ผู้เขียนไม่แน่ใจประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของคนไทใหญ่ แต่ผู้เขียนเคยศึกษาและพอรับรู้วัฒนธรรมของชาวม้งมาบ้าง ในวัฒนธรรมของชาวม้งมีความเชื่อว่า การแต่งงานของผู้หญิงไม่ได้เป็นการแค่เปลี่ยนจากครอบครัวหนึ่งมาสู่อีกครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นการย้ายจากการนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงมาอยู่ภายใต้การดูแลของผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย ภายใต้วัฒนธรรมม้งผู้หญิงเติบโตมาโดยการดูแลของพ่อ และเมื่อแต่งงานก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของสามี ซึ่งเท่ากับตัดขาดจากสัมพันธ์ทางบ้านเดิม แง่หนึ่งผู้หญิงตัดขาดจากแซ่เดิมของตัวเอง เพื่อมาใช้แซ่ใหม่ของสามี แต่เมื่อหย่าขาดกับสามีก็ต้องตัดขาดจากแซ่ใหม่ จะกลับไปใช้แซ่เดิมก็ไม่ได้ ซ้ำร้ายการหย่าขาดก็กลายเป็นการทำให้ผู้หญิงถูกถอดถอนจากการดูแลของผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย แต่จะกลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงก็ไม่ได้อีกเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้ผู้หญิงม้งอยู่ในสถานะการไม่มีพื้นที่ทางสังคมที่แท้จริง เพราะหากกลับไปอยู่ในบ้านเดิมก็จะไม่สามารถเข้าร่วมพิธีกรรมใด ๆ ได้[15]

หากในเรื่องโหม๋เป็นชาวม้ง ไม่ใช่ชาวไทใหญ่ การกลับบ้านไปไม่ได้ของโหม๋น่าจะมีเหตุผลพอสมควร เพราะโหม๋เป็นเมียคนหนึ่งของเสก โหม๋อาจจะไม่สามารถกลับบ้านไปได้อีก เพราะโหม๋กลายเป็นคนนอกของวัฒนธรรม สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่เข้ามาทับซ้อนผู้หญิงคน ทำให้ปัญหาของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องที่สามารถใช้แนวทางเดียวกันแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และการอ้างความเป็นธรรมในภาพรวม ๆ บางครั้งก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุก ๆ เรื่อง

 

เมื่อความยากจนเฆี่ยนตี เราจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

ในภาพยนตร์ พยายามแสดงให้เห็นภาพของความยากจนที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด แม่แสงอยากได้ที่ดินเป็นของตัวเองเพื่อเป็นหลักประกันว่า ตนที่ไม่มีลูกชายแล้วและไม่มีใครดูแลจะยังพอมีทรัพย์สินไว้ใช้จ่ายจนกว่าจะตาย ในขณะที่โหม๋ซึ่งไม่มีอะไรจนถึงขนาดพูดว่า “เกิดมา…กูยังไม่เคยเจอใครที่น่าสงสารเท่ากูมาก่อนเลย” ความยากจน ความไม่แน่นอน และการขาดหลักประกันในชีวิตได้ขับเคลื่อนให้ทั้งสองคนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว แล้วพยายามช่วงชิงเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากทองคำ

ลักษณะประการสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมทุนนิยมก็คือ การทำให้เกิดความแปลกแยก (alienation) โดยมนุษย์ถูกทำให้แปลกแยกจากมนุษย์คนอื่น ๆ (human being) ในขั้นเลวร้ายที่สุดคือ การทำให้เขารู้สึกไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์ที่เอื้ออาทร หรือความเห็นอกเห็นใจคนอื่นในสังคม[16] สิ่งนี้เป็นความแปลกแยกที่กังวล เพราะทำให้สังคมไม่มีความเป็นภราดรภาพ ระบบทุนนิยมต้องการขูดรีดจากแรงงานให้มากที่สุด จนทำให้พวกเขาสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเองและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ตอบสนองต่อการผลิต

ในทางตรงกันข้าม ภาพยนตร์พยายามเน้นย้ำประเด็นนี้โดยแสดงให้เห็นในสิ่งที่ตรงข้ามกัน ในฉากงานแต่งงาน ปลัดหนุ่มได้ประกาศก้าวว่า จะแจกทุเรียนให้คนฟรี ๆ คนไม่มีเงินก็มาเอาไปได้ ทำให้เสมือนว่าความใจดีและความมีเมตตาเป็นคุณสมบัติของคนที่ร่ำรวยเท่านั้น

 

“รัฐข้าราชการ” ตัวร้ายของความสุขสมบูรณ์

มาถึงความไม่เป็นธรรมในเรื่องสุดท้าย การทำให้ข้าราชการเป็นตัวร้ายของความสุขสมบูรณ์ ในเรื่องนี้ผู้เขียนมองว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องความไม่เป็นธรรมในทีเดียว แต่สัญญะที่แฝงอยู่ในเรื่องอาจจะยึดโยงในเรื่องความไม่เป็นธรรม

ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่องคือ กฎหมายกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของการกำหนดสถานะของทองคำและเสก ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ากฎหมายยอมรับสถานะของคนทั้งสอง การสมรสเท่าเทียมเป็นการต่อสู้ระยะยาวของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เคลื่อนไหวให้เกิดการรับรองผลทางกฎหมายในการก่อตั้งครอบครัวของเขา แต่ลึก ๆ แล้วองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ยังได้แสดงทัศนคติอันเป็นเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่า กฎหมายไม่ห้าม แต่กฎหมายไม่ได้รับรองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ[17] ความเลวร้ายของทัศนคติอันน่าชิงชังนี้คือ การมองไม่เห็นประเด็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศบนพื้นฐานของกฎหมายอย่างเท่าเทียมครอบครัวหญิงชาย รวมถึงทัศนคติที่มองกฎหมายครอบครัวเป็นเพียงแค่เรื่องการสืบพันธุ์เท่านั้น[18]

ไม่เพียงแต่ประเด็นนี้เท่านั้นที่รัฐราชการกลายมาเป็นตัวร้ายของความสุขสมบรณ์ อีกสัญญะหนึ่งที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การปรากฏตัวของตัวละครปลัดหนุ่มในเรื่อง ดังกล่าวมาแล้วว่าตัวละครปลัดไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นชายกระแสหลักเท่านั้น แต่ตัวละครปลัดยังเป็นตัวแสดงแทนอำนาจรัฐ หรือเป็นตัวแทนของรัฐ การปรากฏตัวของปลัดในหลายฉากหลายตอนจึงไม่ได้มาเฉย ๆ แต่มาเพื่อแสดงนัยบางอย่าง

ตัวอย่างเช่น ในฉากงานแต่งงานนอกจากสินสอดที่ได้ถูกอธิบายว่าเป็นการหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของปลัดหนุ่มกับโหม๋แล้ว การที่ปลัดหนุ่มแถลงแก่แขกผู้ร่วมงานว่าทุเรียนกำลังจะตัด ใครไม่มีเงินก็มาเอาไปฟรี ๆ ได้ ทั้ง ๆ ที่ปลัดหนุ่มก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ตนไม่ได้เป็นคนเพาะปลูกไม่ได้เป็นคนดูแล แต่เพราะตัวเองได้ความเป็นเจ้าของมาจากการสมรสกับโหม๋ สิ่งต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

สิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนลงแรงทำงานของประชาชนเพื่อแสวงหาเงินมาใช้ชีวิตเพื่อความสุขของตัวเอง แต่รัฐข้าราชการได้ชุบมือเปิบไปในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ อาทิ ภาษีแล้วเอามาแจกจ่ายเสมือนเป็นเงินของตัวเอง โดยไม่ได้ใส่ใจต่อความเดือดร้อนลำบากของคนที่เป็นคนทำมาหาได้ รัฐข้าราชการกลายเป็นนักบุญ และแสดงตัวอย่างน่าชื่นตาบานว่าตัวเองเป็นคนมีเจตนาที่ดี แต่ไร้ความรับผิดชอบต่อเจ้าของ

ไม่เพียงแค่ในฉากงานแต่งงานเท่านั้น การปรากฏตัวของปลัดหนุ่มยังมีความสำคัญในตอนจบของเรื่อง เมื่อปมปัญหาต่าง ๆ กำลังจะคลี่คลายลง โหม๋ได้อธิบายความทุกข์ใจต่าง ๆ ที่ตนเผชิญมา ความไม่เป็นธรรมที่ได้รับมาโดยตลอด และทองคำก็รับรู้แล้วพร้อมจะก้าวข้ามความบาดหมางในอดีต ให้อภัยซึ่งกันและกัน แล้วแยกย้ายกันไปมีความสุข โดยทองคำกับจิ่งน่ะจะไปจากที่ดินแห่งนี้ แต่แล้วความสุขทั้งหมดก็มลายหายไปเมื่อปลัดหนุ่มเข้ามารัดคอทองคำจากข้างหลัง และจบลงด้วยการที่จิ่งน่ะที่มาช่วยทองคำถูกปลัดเอามีดปาดคอตาย แล้วหอบเงินสินสอดหนีไป

การหักมุมในตอนจบนี้คือ การแสดงให้เห็นสัญญะว่า เมื่อท้ายที่สุดเรากำลังจะมีความสุขสมบูรณ์ รัฐข้าราชการจะทำลายความสุขนั้นและพรากเอาทุกสิ่งไปจากเรา รัฐข้าราชการที่มุ่งหวังจะตักตวงผลประโยชน์ โดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

 

เราทุกคนล้วนเจ็บปวดกับหนามของความไม่ยุติธรรม

ในท้ายที่สุด หลังจากแจกแจงความไม่ยุติธรรมมาหลายข้อในข้างต้น ผู้เขียนอาจจะไม่ได้แจกแจงได้ครบทุกประเด็นด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาและปัญญาของผู้เขียน รวมถึงบางส่วนผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็นั่นก็สุดแท้แต่ว่าแต่ละคนจะมองความไม่ยุติธรรมอย่างไร

ในมุมมองของผู้เขียนวิมานหนามได้แสดงให้ผู้ชมทุกคนเห็นว่า ทุก ๆ คนต่างเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมทั้งสิ้น หากแต่เรามองความไม่ยุติธรรมในบริบทใด ทองคำอาจจะเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมจากมุมมองของรัฐที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ โหม๋อาจจะเป็นเหยื่อของความยุติธรรมอย่างรอบด้านทั้งการไม่มีทางเลือก สถานะความเป็นผู้หญิง และอัตลักษณ์ที่สวมทับโหม๋อยู่ แม่แสงอาจจะเป็นเหยื่อของการเข้าไม่ถึงสวัสดิการที่ดีพอ และจิ่งน่ะอาจจะเป็นเหยื่อของแห่งการถูกกดทับด้วยความเป็นชายกระแสหลัก

มนุษย์ทุกคนล้วนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ความไม่ยุติธรรมที่ปรากฏจะออกมาในรูปแบบใด

ในส่วนของทางออกของความไม่ยุติธรรมในที่นี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้เขียนยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสังคมจะหาทางออกในลักษณะใดได้เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ จนหมด สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าอาจจะต้องใส่ใจคือ การสร้างกลไกที่มีความรับผิดชอบ การกระจายอำนาจ บวกกับการสร้างรัฐสวัสดิการ

กลไกที่มีความรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ท้ายที่สุดเราจะเห็นว่าปัญหาสำคัญของการไม่รับรองความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นมาจากการไม่รับผิดชอบของรัฐต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ปี พ.ศ. 2567 นี้ไม่ใช่ปีแรกที่มีการพยายามนำเสนอร่างกฎหมายเพื่อรับรองสถานะการสมรสเท่าเทียม ก่อนหน้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีความพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติในลักษณะนี้ หรือแม้แต่ก่อนหน้าการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีความพยายามร่างกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตที่เป็นก้าวแรกของการรับรองสถานะดังกล่าว แต่ทั้งหมดก็มลายสิ้นไปหมดหลังการรัฐประหารที่ได้คณะรัฐมนตรีที่ไม่มีความยึดโยงและรับผิดชอบต่อประชาชนมาบริหารประเทศ

นอกจากการสร้างกลไกความรับผิดชอบแล้ว การกระจายอำนาจก็อาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน การเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน การไม่มีระบบดูแลคนในพื้นที่ และการมีอิทธิพลของข้าราชการจากส่วนกลางมากจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกระจายอำนาจแบบกระท่อนกระแท่น ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น แล้วเกิดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทมากเกินไป

ท้ายที่สุด การสร้างรัฐสวัสดิการอาจจะตอบโจทย์หลาย ๆ อย่างของสังคมไทย อ.ปรีดี พนมยงค์ ได้เคยแสดงเจตจำนงนี้ไว้เมื่อเริ่มร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า ไม่อยากให้มนุษย์ในสังคมต้องประหัตประหารกัน การมีหลักประกันความสุขสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ คล้าย ๆ กันกับที่เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเพิ่งจะได้อ่านบทวิเคราะห์ขนาดสั้นของ อ.เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ ข้อเสนอเรื่องฉันทามติรัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตย น่าจะเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เพราะไม่เพียงแต่การแก้ไขปัญหาเรื่องการเมืองอัตลักษณ์แล้ว การกลับไปหาคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ยอมรับและเปิดกว้าง โอบรับความหลากหลายพร้อม ๆ กับการยอมรับทุก ๆ คนอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องการ การมีระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร ไม่ได้กำหนดจากสถานะของบุคคลแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจจะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ ประการหายไปก็ได้

 

หมายเหตุ

  • ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก GDH

 


[1] งานเขียนบทซีรีส์และภาพยนตร์อาจจะไม่ได้เป็นงานของบอสแต่เพียงผู้เดียว แต่จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่างานบทของซีรีส์และภาพยนตร์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีลักษณะบางประการร่วมกัน.

[2] see Adrienne Cecile Rich, “Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence” (1980) Journal of Women's History, Vol.15, N.3, 11, https://posgrado.unam.mx/musica/lecturas/Maus/viernes/AdrienneRichCompulsoryHeterosexuality.pdf.

[3] ดู จุฑามาศ สาคร, “การสร้างตัวละครตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะและการเล่าของละครโทรทัศน์ชุดโปรเจกต์เอส เดอะ ซีรีส์ตอน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ และ SOS Skate SOS Skate ซึม ซ่าส์,” (วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=3958&context=chulaetd.

[4] ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “แปลรักฉันด้วยใจเธอกับความเป็นชายที่พร้อมจะกดทับทุกคน,” Khemmapat.org, 9 พฤศจิกายน 2565 [Online], สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://khemmapat.org/blogs/1520/.

[5] ดู เดชรัต สุขกำเนิด และนุชประภา โมกข์ศาสตร์, “ขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค: ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ระดับนโยบาย,” ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต, 3 มิถุนายน 2565 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/2638/.

[6] ดู เปรม ใจบุญ, “มองความเหลื่อมล้ำของ ‘ต่างจังหวัด’ และ ‘กรุงเทพฯ’ ผ่านระบบขนส่งมวลชน,” ANGKAEW for EQUALITY, 15 มีนาคม 2564 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://angkaew4equality.masscomm.cmu.ac.th/มองความเหลื่อมล้ำของ-ต/.

[7] กองบรรณาธิการ, “ขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด ‘ไม่มี’ เพราะรัฐไม่จัดสรร จังหวัดที่ ‘มี’ เกิดขึ้นได้โดยเอกชน,” Thairath Plus, 18 พฤศจิกายน 2564 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100718.

[8] “บทบาททางเพศ” เป็นแนวคิดทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาที่อธิบายถึงพฤติกรรม ทัศนคติ และความคาดหวังที่สังคมกำหนดให้กับบุคคลตามเพศสภาพของคนนั้น.

[9] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ฉันทามติรัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์, 2567), 69-70; วัชรพล พุทธรักษา, Crack/ลัทธิมาร์กซ์/101, (พิษณุโลก: แครกเกอร์ บุ๊กส์, 2567), 10-16.

[10] ทุนทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในทุน 4 ประเภทตามแนวคิดของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ ซึ่งประกอบไปด้วยทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสัญลักษณ์ และทุนทางสังคม. ดู กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน, สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อินทนิล, 2560), 549-551.

[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์, พระพุทธศาสนาไทยตายแล้ว?, (กรุงเทพฯ: ปลากระโดด, 2566), 32-37.

[12] มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 31/2545 เรื่อง การบวชภิกษุณี; ประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยเรื่องห้ามพระภิกษุ สามเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ. 2471; สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานผลการพิจารณา ที่ 344/2558 เรื่อง สิทธิสตรีและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีมหาเถรสมาคมมีมติห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย, https://crcfthailand.org/wp-content/uploads/2015/07/e0b8a1e0b895e0b8b4-e0b881e0b8aae0b8a1-e0b895e0b988e0b8ad-e0b8a1e0b895e0b8b4-e0b8a1e0b8aa-e0b980e0b8a3e0b8b7e0b988e0b8ade0b887e0b8ab.pdf.

[13] วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์, “องคชาต(เป็น)ใหญ่: มองขนาด อำนาจ และความเปราะบาง ผ่านอวัยวะเพศและความเป็นชาย,” ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร, 13 มิถุนายน 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/616.

[14] ดู ข้อมูลอาชีพ (Job description) ของปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) https://job.ocsc.go.th/JobShow.aspx?JobID=637553960702612227.

[15] ดู บทสัมภาษณ์ของ รัศมี ทอศิริชูชัย เลขานุการและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘โครงการพาลูกสาวกลับบ้าน’ (Koom Haum PojNiam HmoobThaib). สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์, “กลับบ้านเรา รักรออยู่: โครงการพาลูกสาวกลับบ้าน ของหญิงชาวม้งที่ลุกขึ้นมาชวนพ่อแม่ชาวม้งวางค่านิยมประเพณี เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศในกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขาสูง,” The Cloud, 6 กันยายน 2562 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://readthecloud.co/hmong-women-rights/.

[16] วัชรพล พุทธรักษา, Crack/ลัทธิมาร์กซ์/101, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 9, 16.

[17] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564.

[18] ไชยพัฒน์ ธรรมชุตินันท์, “ระหว่างบรรทัดศาลรัฐธรรมนูญ จากสมรสเท่าเทียมสู่ฟ้องชู้,” the 101.world, 13 สิงหาคม 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2567, สืบค้นจาก https://www.the101.world/constitutional-court-and-family-law/.