ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

วิมานหนาม The PARADISE of THORNS

22
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอการวิเคราะห์ทางวัฒนธรรมและเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม (The Paradise of Thorns) ซึ่งประกอบด้วยประเด็นร่วมสมัยในสังคมไทยทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพศสภาวะ ครอบครัวในชนบท และเศรษฐกิจในท้องถิ่นห่างไกลโดยเริ่มต้นตั้งแต่ประวัติของ GDH แนวคิดและผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ ทีมงานคัดเลือกนักแสดง และวิเคราะห์บทบาทของตัวแสดงหลักไว้อย่างครบถ้วน

 

 

นักพัฒนาผู้นำความเปลี่ยนแปลงสู่หนังไทยยุคใหม่ ที่เริ่มจากการก่อเกิด Dream Team ในนาม GTH (Grammy ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ หับโห้ฮิ่น) ด้วยความรักในภาพยนตร์ของผู้นำคนสำคัญ จิระ มะลิกุล ที่พยายามบุกเบิกนำ ‘หนังไทยนอกกรอบ’ ออกมามอบ ‘ตัวเลือก’ ให้คนรักหนังในยุคบุกเบิกด้วย “15 ค่ำ เดือน 11” ปี 2545 , “แฟนฉัน” ปี 2546 , “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ปี 2547 , “มหาลัย’ เหมืองแร่” ปี 2548 ฯลฯ ล้วนงานสร้างคุณภาพที่มีทั้ง ‘หนังกล่อง’ (เฉพาะกลุ่ม) สลับกับ ‘หนัง mass’ (ขายคนหลายกลุ่มทำตลาดเพื่อการอยู่รอด) การเดินทางกว่า 20 ปี บนถนนสายนี้ของ ‘พี่เก้ง’ เก่งขึ้นทุกวัน หลังจากผันตัวเองมาเป็นกุนซือนำเข้าสู่ยุคแสวงหาและทดลอง หลังปรับผู้ถือหุ้น (ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ของ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ถอนตัว) เปลี่ยนเป็น GDH จนถึงปัจจุบันเข้า 8 ขวบแล้ว 2567 นับเป็นปีแห่งความสำเร็จอีกระดับนับตั้งแต่ “เธอกับฉันกับฉัน” , “หลานม่า” มาจนถึง “วิมานหนาม” บอกความตกผลึก ลึกในวิธีคิด ซึ่งเกิดจากทุกฝ่ายของผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญงานหนังไทย มีพัฒนาการเติบไต่เป็นกราฟที่พุ่งตรงอย่างมั่นคงส่งเส้นสูงขึ้นตามลำดับของวันเวลาและประสบการณ์ออกลูกหลานเพิ่มขึ้น

พัฒนาการทั้งหมดทั้งมวลล้วนเริ่มจากคุณภาพของ ‘บุคลากร’  ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญขององค์กร โดยมีบริษัทลูกคือ ทาดา เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (เดิมคือ บ.นาดาว บางกอก ผู้พัฒนานักแสดงและผลิตซีรีย์ป้อน ช่อง ONE จาก 9 กันยายน 2552 ถึง 1 มิถุนายน 2565) เป็นโรงเรียนดาวระดับ ประถม มัธยม ผ่านการเจียระไนอย่างเป็นระบบก่อนคัดเลือกส่งเข้ามหาวิทยาลัย GDH ผู้กำกับ ดารา ทีมงานทุกคนล้วนผ่านการกลั่นกรองความเป็น ‘มันสมอง’ สำคัญที่ช่วยกันผลักดันให้บริษัทเติบโต เป็นที่มาของผลงานดี เงินงบทบทวี มีศักยภาพในการลงทุนได้ตามแผนพัฒนางานที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด GDH ยืนยันความเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของหนังไทยที่มาพร้อมพลังไหวหวามในความเป็นมนุษย์ที่มีมิติของความจริงแท้อย่างถึงที่สุด หยุดคำปรามาส ประกาศชัย ชนะใจ mass ที่ไม่มองหนังไทยให้หันกลับมาใส่ใจอย่างจริงจัง พร้อมตั้งความหวังอย่างไม่เคยเป็น ผ่านแรงบันดาลใจในความไม่เท่าเทียมและการต่อสู้ สู่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด “วิมานหนาม” สร้างงานคุณภาพร่วมกับ ใจ​ สตูดิโอ นำแสดงโดย เจฟ ซาเตอร์ (ทองคำ) , อิงฟ้า วราหะ (โหม๋ จองย้อย / โหม๋ = ดอกบัว แสงสว่าง ที่พึ่ง) , พงศกร เมตตาริกานนท์ (เสกสรร บุญคำลือ) ,  หฤษฎ์ บัวย้อย (จิ่งนะ) , สีดา พัวพิมล (แม่แสง) / ถ่ายภาพโดย ตั้ง ตะวันวาด / กำกับการแสดงโดย บอส นฤเบศ กูโน (จาก “แปลรักฉันด้วยใจเธอ”) / อำนวยการ (สร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์) โดย ​วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์    

 

 

CASTING : อธิศ อาสนจินดา (A-tis T. Asanachinda)[1]

 

ในกระบวนการสร้างงานภาพยนตร์ งานคัดเลือกตัวผู้แสดงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของโปรดัคชัน ยิ่งให้ความพิถีพิถันต่อความ ‘สมจริง’ แค่ไหนก็ยิ่งยากมากแค่นั้น 

จากบันทึกการทำงานของ อธิศ อาสนจินดา ฝ่ายคัดสรรผู้แสดงทำให้ได้เห็นถึงรายละเอียดในการทำงานที่มีระบบ อบรมการแสดงด้วยศาสตร์เฉพาะด้าน เป็นที่มาของ ‘นักแสดงคุณภาพ’ เหมาะกับบทบาทอย่างคาดไม่ถึง ‘ออม’ บันทึกถึง 5 นักแสดงนำแต่ละคนในมุมปัจเจก ช่วงเสกสรรปั้นดาวได้อย่างน่าศึกษา น่าค้นหา ดังนี้

ได้ทำงานกับ บอส (นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ “วิมานหนาม”) เป็นเรื่องที่ 3 แล้ว ตั้งแต่ซีรี่ย์เรื่อง “SIDE BY SIDE” (เรื่องแรกของเราเหมือนกัน) , “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ของ นาดาว บางกอก แล้วก็มา “วิมานหนาม” เป็นภาพรวมแคสที่รู้สึกฟินมากที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงทุกท่านในนี้ ณ ขณะนั้น เห็นภาพเลยว่าแต่ละซีนต้องฟาดฟันกันสนุกแน่ ๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพียงแค่ฝ่ายแคสติ้งอย่างเดียวก็คงไม่สามารถทำให้หนังเป็นอย่างที่เป็นได้ ย่อมต้องมีองก์ประกอบอื่น ๆ จากทีมงานในทุก ๆ ฝ่ายที่ร่วมกันปลุกปั้นให้หนังออกมาดุเดือดถึงใจ ภายใต้การกำกับของบอส ตอนอ่านบทเพื่อทำการบ้านครั้งแรกรู้สึกว่า โอ้โห บอสและทีมบทเอาถึงตายมาก เข้มข้น จริง และยากทุกตัวละคร ทั้งในแง่การแสดง และ requirement อื่น ๆ ที่ต้องการจากประสบการณ์ชีวิตของนักแสดง

เป็นภาพรวมแคสที่รู้สึกฟินมากที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงทุกท่านในนี้ ณ ขณะนั้นเห็นภาพเลยว่าแต่ละซีนต้องฟาดฟันกันสนุกแน่ๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพียงแค่แคสติ้งอย่างเดียวก็คงไม่สามารถทำให้หนังเป็นอย่างที่เป็นได้ ย่อมต้องมีองก์ประกอบอื่นๆ จากทีมงานในทุก ๆ ฝ่ายที่ร่วมกันปลุกปั้นให้หนังออกมาดุเดือดถึงใจ ภายใต้การกำกับของบอส ดีใจที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับดรีมทีม “แปลรักฯ” หลาย ๆ ท่านอีกครั้ง การแคสติ้งไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่ต้องมีทีมที่ดี ที่เก่ง คอยสนับสนุนให้ทุกอย่างออกมาราบรื่น ทั้งในแง่การจัดการและการแสดง เพราะการแสดงในซีนแคสเรื่องนี้ยากจริง ๆ ต้องมีคนที่ไว้ใจมาก ๆ มาคอยช่วยเล่นกับนักแสดง (ยังมีอีกหลายคนที่หมุนเวียนกันมาเล่นกับนักแสดง) ขอบคุณทุกคนมากนะ

จาก direction ของบอส สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ๆ กับทุกตัวละครคือ ความรู้สึกที่จะสื่อสารออกมาทางแววตา และสัญชาติญาณความเป็นนักสู้ ความเป็นคนที่ไม่เคยมี/เคยมี แล้วสู้เพื่อที่จะได้สิ่งนั้นมา อาจจะดูนามธรรมแต่อย่างน้อยในขั้นตอนการทำ screentest ต้องทำให้เราในฐานะคนดูรู้สึกได้

โปรเจคต์นี้ทีม casting รับผิดชอบกระบวนการ screentest ทั้งหมด 5 ตัวละคร คือ ทองคำ, แม่แสง, จิ่งนะ, เสก และ ต๊าง - ในส่วนของ โหม๋ จะเป็นทาง GDH ติดต่อกับทางอิงฟ้าโดยตรง และ ตัวละครสมทบอื่น ๆ (extra) บรรยากาศ เป็นฝีมือของ นิว ผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ครับ (วัจน์กร หาญกุล)

 

 

#วิมานหนาม CASTING NOTE #1 : จิ่งนะ  - หฤษฎ์ บัวย้อย

 

“จิ่งนะ” เหมือนเป็น signature ของบทบอส ที่จะมีตัวละครเสมือนไพ่ joker ที่คนดูจะรักและจะเข้ามาปั่นป่วนหัวใจของตัวละครหลัก (นึกภาพ บาส ใน “แปลรักฉันด้วยใจเธอ”) สำหรับเราในเรื่องนี้ก็คือ จิ่งนะ

- ตอนอ่านบทแล้วคุยไดเรคชันกับบอส ตื่นเต้นกับการทำตัวละครนี้มาก requirement มันไม่ธรรมดาเลย หนุ่มชาติพันธุ์ มีซีนพูดภาษาท้องถิ่น เป็นกรรมกรชาวสวน คนซื่อ ๆ เป็น LGBT ที่ไม่ได้เปิดตัว โอ้โห ไม่เคยทำ ปกติได้โจทย์แต่เด็กเมือง อยากทำมาก

- ถ้าไม่ใช่บอสกำกับ อาจเชียร์ให้บทนี้เป็นนักแสดงอาชีพไปเลย เพราะ requirement ที่ต้องการจากนักแสดงสูงมาก ทั้งเรื่องภาษา, กายภาพ และการแสดงที่มีทั้งซีนแอคชันและเลิฟซีน แต่บอสก็เก่งมากในการดึงสัญชาตญาณของนักแสดงใหม่ เลยวางใจที่จะ explore หานักแสดงมารับบทนี้ทั้ง นักแสดงอาชีพ และหน้าใหม่

- requirement ที่ตั้งไว้กับตัวเอง ในช่วงการ explore หานักแสดง คือ 1. มีความ masculine ที่คนดูจะเชื่อว่าเป็นชาวสวนได้ (หรือพัฒนาไปได้) 2. นักแสดงที่เชื่อได้ว่า เป็นพี่น้องกับโหม๋ และ ทองคำจะรักได้

- จริง ๆ มีอีกข้อที่อยากจะตั้งไว้สำหรับการหานักแสดงใหม่ แต่คิดว่าล็อกตัวเองจนเกินไปคือ “เป็นชาติพันธุ์จริง ๆ” (แต่ก็มีการค้นหานักแสดงไปทางนี้เช่นเดิมนะ)

- ซีนแคสที่ใช้ มี 2 ซีน เป็นซีนที่มองหาสัญชาตญาณนักแสดงทั้งคู่ คือ ซีนที่ทองคำกับจิ่งนะพบกันครั้งแรก ใต้ต้นทุเรียน และซีนที่ไม่ได้อยู่ในหนังอีก 1 ซีน

- ประเมินว่าบทนี้ต้องใช้เวลาหานักแสดงนานแน่ ๆ แต่กลายเป็นว่าไม่นานอย่างที่คิด เพราะเราได้เจอกับ “เก่ง หฤษฎ์” เพราะ โบ (อังคนา วิสาโรจน์ ผู้ช่วยฝ่ายคัดเลือกผู้แสดง) โยนน้องเก่งมาจาก IG นายแบบ พอได้เห็นก็นึกขึ้นได้ว่าเอ้ย… เคยเห็นคนนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโปรเจคต์ที่เหมาะให้ชวนมาแคสสักที จำได้ลาง ๆ ว่าเป็นเด็กภาคเหนือ จังหวะที่เราติดต่อน้องไป เป็นช่วงที่น้องพึ่งเข้าสังกัด domundi พอดี

- ณ เวลานั้น (ธันวาคม 2022) เก่งเป็นนักแสดงใหม่สุด ๆ ประสบการณ์งานโฆษณา 1 ตัว แต่สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมาก ๆ ที่เก่งมอบให้ในการแคสคือ มีความกล้าเล่นในซีนที่ sensitive ไม่ติดขัดใด ๆ จังหวะการพูดติดสำเนียงคำเมือง และแววตาที่ใสซื่อ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกข้างใน เห็นไดนามิคทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไปในแววตาตลอดเวลา โอโหนี่นักแสดงใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงภาพยนตร์ซีรีส์ใด ๆ จริงหรือ ในแง่ทักษะทาง acting coach พัฒนาต่อได้แน่ ๆ เทปแคสของเก่งเลยเป็นเทปที่น่าดึงดูดมาก ๆ

- ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นรู้สึกเอะใจว่าทำไมมันดู “จริง” จังวะ น้องดูมีความเข้าใจบางอย่างมาก ๆ ระหว่างการกำกับเทปแคส เลยลองคุยสัมภาษณ์หลังแคสเสร็จดู ได้รู้ว่า อ้าว เก่งเป็นเด็กชาติพันธุ์จริง ๆ ! เฮ้ย ลงล็อคเกิน เลยขอถ่ายน้องพูดภาษาไทยลื้อเพิ่มเติม โอ้โห magic ! รู้สึกได้เลยว่าเจอคนที่ใช่แล้ว

เคยตีความไว้แบบเลี่ยน ๆ ว่า สำหรับทองคำ เสกกับจิ่งนะ เป็นเหมือนพระอาทิตย์กับพระจันทร์ แต่กลับกลายเป็นว่าในหนัง เราได้เห็นพระอาทิตย์ 2 ดวงที่โคตรจะอบอุ่นแทน ขอบคุณบอสและทีมงานทุกคนที่ทำให้เก่งเฉิดฉายได้ขนาดนี้ครับ

 

 

#วิมานหนาม CASTING NOTE # 2 : แม่แสง

 

- ถ้าถามว่าตัวละครไหนที่ยากที่สุดในการคัดเลือกนักแสดงสำหรับเราคือ แม่แสง นี่แหละ ยากในแง่เป็นตัวละครที่มีมิติมาก ๆ ในการถ่ายทอด, การใช้ Physical ในฐานะผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถใช้ร่างกายท่อนล่างได้ (สิ่งเหมือนง่าย แต่มันยากนะ) , คาแรคเตอร์ภายนอกที่ถ้าปรับลุคแล้วจะดูเชื่อได้ว่าเป็นชาวชนบทที่ยากจน ไม่ดูเป็นคนในเมือง และที่ยากที่สุดคือ “สัญชาตญาณความเป็นแม่” ที่สูญเสียลูกชายคนเดียวในชีวิตไป ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก ๆ

- สิ่งที่ตีความไว้กับตัวละครแม่แสงคือ ความเป็น Mastermind ที่ดูเหมือนจะคาดเดาได้แต่ก็คาดเดาไม่ได้ว่าคน ๆ นี้จะทำอะไรต่อไป ตอนทำการบ้านกับบทครั้งแรกคือ มึนไปเลย ไม่เห็นภาพนักแสดงคนไหนชัด ๆ เลยว่าแม่แสงน่าจะเป็นประมาณไหน แล้วนักแสดงวัยนี้ในประเทศเรามีไม่เยอะเลย ตอนนั้นเลยวาง direction ไว้เลยว่าต้องหาทั้งนักแสดงอาชีพ และดาราอาวุโส ต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันกันทางบอสและทีมตลอดว่า จะชวนใครมาลงเทปแคสบ้าง

- ซีนนึงที่ชอบมากของแม่แสง และเป็นซีนแคสด้วย คือซีนที่แม่แสงบอกทองคำตอนขอบ้านคืน ว่า ตัวเองก็เลี้ยงลูกมา 30 ปี เป็นซีนปะทะอารมณ์ที่โชว์เรื่องราวทั้งชีวิตของแม่แสงได้ในบทพูดไม่กี่ประโยค (ซึ่งซีนแคสแต่ละซีนยากมาก การมีผู้ช่วยต่อบทที่เก่งและรู้ใจคือบุญชีวิต ขอบคุณโบตลอดไป)

- การได้พบ แม่สีดา มาในโค้งสุดท้ายของกระบวนการแคสติ้งของ “วิมานหนาม” เลย พอ condition ที่ว่านักแสดงในวัยนี้มีจำกัดมาก ๆ จึงเป็นธรรมดาที่ทีมแคสติ้งต้อง explore ไปตามบุคคลต่าง ๆ มากมายว่าพอรู้จักใครไหม ทั้งนักแสดงใหม่หรือนักแสดงอาวุโส และในการ explore นั้นเลยทำให้เราได้พบกับแม่สีดา จากการแนะนำของน้องแมงมุม

- เราโตไม่ทันช่วงที่แม่สีดาเป็นนักแสดง จึงไม่เคยเห็นแม่สีดาในฐานะนักแสดงมาก่อน แต่ในแว็บแรกที่ได้พบกับแม่ รู้สึกได้เลยว่าแม่มีพลังงานข้างในเยอะมาก และดูผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน และที่สำคัญการแต่งตัวของแม่แซ่บ ที่ contrast ไปกับความโนเมคอัพ (ที่บรีฟไว้เพราะแม่แสงในชีวิตจริงคงไม่แต่งหน้า) พอทุกอย่างมาอยู่ในกล้องแล้วภาพออกมาทรงพลังมาก ๆ

- การทำแคสติ้งของแม่สีดามีทั้งหมด 2 ครั้ง ในรอบแรกเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิดมาก แม่สีดาทำการบ้านบทมาเป๊ะทุกตัวอักษร มีจริตในทุก ๆ จังหวะการแสดง ที่น่าสนใจคือจริตการแสดงของแม่สีดาในบทแม่แสง มีสไตล์แบบหนังยุคก่อน ที่พอมาอยู่กับตัวละครนี้แล้ว ดูพอดีกับตัวละครแม่แสงมาก ดูเป็นคนจากอีกโลกช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในโลก 5G ปี 2024 เข้ากับความเป็นแม่แสงสุด ๆ

- ในรอบที่สองบอสผู้กำกับมาเข้ากระบวนการแคสติ้งด้วย พวกเราลองปรับให้แม่สีดาได้ improvise เพิ่มเติมนอกเหนือจากบทด้วย ยิ่งทำให้เห็นมิติของแม่แสงที่ดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นไปอีก เราเชื่อว่าถึงแม่แสงจะดูร้ายกาจเพียงใด แต่คนดูก็จะเข้าใจเขาในฐานะมนุษย์คนนึงเช่นกัน

- สิ่งที่ชนะใจเราแบบมาแรงแซงทางโค้งคือ แม่สีดา มีประสบการณ์ชีวิตที่เทียบเคียงกับแม่แสงสูงมาก และเมื่อมาอยู่กับตัวละครแม่แสง เลยเป็นแม่แสงที่มีความสตรอง แต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้าอยู่ภายใน สัมผัสได้ถึง drive ตัวละครที่มีมิติ ไม่ดูเป็นตัวละครแบน ๆ (ความยากของตัวละครนี้คือถ้าเล่นผิดวิธีจะกลายเป็นตัวละครแบน ๆ ไปเลย) แต่สิ่งที่แม่สีดาให้ ดูเป็นการแสดงที่ขับเคลื่อนด้วยความจริงและประสบการณ์ทั้งชีวิตอยู่ข้างใน มันทรงพลังมาก ๆ

- อาจเป็นเรื่องของบาปบุญ จักรวาลจัดสรร หรือการมีกัลยาณมิตรที่ดี แต่ในที่สุดจากความไปไม่เป็นในตอนแรก เราก็ได้พบกับแม่แสงแล้ว #aomtimatorCasting

 

 

#วิมานหนาม CASTING NOTE # 3 : เสก

 

ถึง เสก จะเป็นตัวละครที่ปรากฏตัวในเรื่องไม่เยอะ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความฉิบหายทั้งหมดในวิมานหนาม ตัวละครนี้สำคัญมาก เพราะคนดูจะซื้อหรือไม่ซื้อ conflict ของทั้งเรื่อง อยู่ที่การถ่ายทอดออกมาของนักแสดงที่จะรับบทเป็น เสก และ ทองคำ เราให้ความสำคัญกับตัวละครเสกเท่า ๆ กับตัวละครอื่น ๆ เลย

ในการตีความตัวละครเสก เรามองหาคนที่มีวุฒิภาวะ ดูกร้านโลกแต่ก็มีความอบอุ่น คาแรคเตอร์ภายนอกดูเชื่อว่าจะเป็นชาวสวนได้ และที่สำคัญคนที่เป็นเหมือนพระอาทิตย์ในชีวิตของทองคำ ที่จะทำให้เราเชื่อได้ว่าทองคำจะยอมแลกทุกอย่างเพื่อยกโฉนดสวนทุเรียนให้ (นามธรรมอีกแล้ว)

 “เราจะโง่ยกทุกอย่างให้ผู้ชายไม่ได้หรอกนะ”​

สำหรับเราคำพูดของทนายความคนนั้นก็ดูจะใจแคบเกินไปหน่อย แต่เพื่อการแคสติ้งเองก็ต้องตีความเพื่อการทำงานเช่นกันว่า “ทำไมทองคำถึงรักและตัดสินใจยอมทำให้เสกขนาดนี้?” ซึ่งคำถามนี้แหละที่เราก็ต้องไปหาคำตอบร่วมกับนักแสดงที่มาแคสติ้งบทเสก

ในเรื่องคนดูอาจสงสัยว่าเสกรักทองคำจริงไหม หลอกใช้ทำสวนทุเรียนรึป่าว นั่นสินะ เป็นความลับของคนตายที่เขาบอกเราไม่ได้ แต่ในขั้นตอนการทำแคสติ้ง เราก็ต้องตีความเพื่อเป็น direction ในการกำกับเทปแคสติ้งว่า เสกรักทองคำจริง (**ย้ำว่า อันนี้ไม่ใช่เฉลย เราตีความเองเพื่อใช้ทำงาน ไม่งั้นไม่มีอะไรให้เกาะตอนกำกับ)

ในการแคสติ้ง เรามอบหมายให้ น้องเก่งกับน้องจิว เป็นผู้รับบททองคำ ในการเล่นกับผู้มาแคสติ้ง (รวมทั้งเล่นเป็นทองคำตอนแคสจิ่งนะ) เพื่ออยากสร้างความรู้สึกคู่ตัวละครที่เป็นผู้ชายให้กับผู้มาแคส และไว้ใจว่าทั้งสองคนนี้มีทักษะที่สามารถส่งความรู้สึกให้กับผู้ที่มาแคสได้ดี ขอบคุณมากๆ นะ รวมถึงท็อปด้วยที่แวะมาช่วย

ในขั้นตอนการ casting ตัวละครนี้ เช่นเดียวกับจิ่งนะ และแม่แสง เรา explore ทั้งนักแสดงอาชีพและดารานักแสดงที่เป็นที่รู้จัก แล้วเราก็นึกถึง คุณเต้ย พงศกร

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสนใจมาก ๆ อยากชวนคุณเต้ยมาแคสบทเสก คือ เทปที่คุณเต้ยไปรายการ “ร้องข้ามกำแพง” เรา appriciated ความรัก , ความ sensitive และ passion ที่คุณเต้ย มอบให้กับ Jackson Wang มาก ๆ เรามองว่านี่คือ unconditional love ที่แท้ มันงดงาม และมันทำให้เรารู้สึกว่า ความ sensitive และความรักนี้แหละ หากคุณเต้ยมาร่วมแสดงเป็นเสกจะทำให้หนังดูน่าสนใจและแข็งแรงได้แน่

ในวันแคสติ้ง คุณเต้ยถ่ายทอดตัวละครเสกออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากๆ และทำให้เราเชื่อได้เลยว่าเขารักทองคำจริง ๆ สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจคุณเต้ยมาก ๆ คือ แววตาของคุณเต้ยที่มองทองคำ มันเป็นแววตาที่อบอุ่น อ่อนโยน สัมผัสได้ถึงความรัก ความเหน็ดเหนื่อยกร้านโลกตรงกับสิ่งที่ตัวละครเป็น ผสมกับความคล้ำแดด เป็นอะไรที่ cinematic ในกล้องมาก ๆ คุณเต้ยนี่แหละคือเสกที่ทองคำจะรักหมดทั้งใจ

ถ้าจำไม่ผิด (เพราะเกือบ 2 ปีแล้ว) ตอนแคสติ้งคุณเต้ยน่าจะเล่าว่าไม่เคยเล่นโรแมนติคกับผู้ชายมาก่อน แต่การแสดงของคุณเต้ยเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า ความโรแมนติคไม่ว่ากับผู้ชายหรือกับผู้หญิง มันทำงานเหมือนกัน มันเป็นความรักเหมือนกัน และเสกในการถ่ายทอดจากคุณเต้ยก็ทำให้เราหาคำตอบได้ว่า ทำไมทองคำถึงรักเสกขนาดนี้ ดังนั้นสำหรับเราแล้วเราเชื่อว่า ทองคำไม่ได้โง่หรอก ทองคำแค่ไม่รอบคอบเท่านั้นเอง

 

 

#วิมานหนาม CASTING NOTE # 4 : ทองคำ

 

ทองคำ เป็นตัวละครตัวสุดท้ายในกระบวนการแคสติ้งนักแสดงหลัก สารภาพเลยว่ากังวลมาก เพราะ condition ท้าทายเหลือเกิน คนที่สามารถแบกหนังไปทั้งเรื่องได้ และต้องมีเคมีโรแมนติคกับ คุณเต้ย (เสก) เก่ง (จิ่งนะ), เข้าคู่ปะทะกับ อิงฟ้า (โหม๋) กับแม่สีดา (แม่แสง) แล้วจะสนุก ขนลุกไปหมด กระบวนการตามหานักแสดงนี้พวกเราตามหานักแสดงอาชีพหลากหลายคนมาแคสติ้งเพื่อรับบทแต่ด้วยกรอบเวลาที่จำกัดมาก เลยกลายเป็นขั้นตอนที่ทุกคนช่วยกันค้นหา ตามหานักแสดงที่เหมาะกับบททองคำกันอย่างเต็มที่ กระบวนการแคสติ้ง ณ เวลานั้นเรียกได้ว่า intense สุด ๆ ต้องเห็นตรงกันทุกฝ่ายจริง ถึงจะติดต่อไป

Key ที่เราเกาะในการทำแคสติ้งตัวละครทองคำคือ มองหาความ masculine ผสมกับ feminine มี physically movement ที่แข็งแรงเชื่อได้ว่าจะพัฒนาไปเป็นชาวสวนได้ ทักษะการแสดงที่แข็งแรงพอจะรับบทตัวละครนี้ และที่สำคัญคือแววตาความเป็นนักสู้ motivation พร้อมแลกเพื่อทวงทุกอย่างที่เป็นของตัวเองกลับมา

แผนการแคสติ้งตัวละครทองคำ วางกันไว้หลายซีน เพื่อเห็นทองคำได้เจอกับทุก ๆตัวละคร และเห็นไดนามิคอารมณ์ที่ตัวละครทองคำต้องแบกรับตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครแต่ละซีนก็เยอะทีเดียว ขอบคุณ เปียโน เอิท โบ ที่ผลัดเวียนกันมารับบท โหม๋ และแม่แสง รวมถึงเก่ง และนิวที่มารับบท จิ่งนะ ด้วย ขอบคุณที่มาช่วยกันต่อบทแคสนะครับ ทุกคนเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพกันทั้งนั้นที่มาช่วยกันต่อบทกัน ทำให้เทปทองคำเป็นเทปแคสติ้งที่พลังการแสดงพุ่งมาก ๆ รวมถึงบอสด้วยที่เข้ามาร่วมแคสติ้งทุกครั้งที่เวลาอำนวย งานกลุ่มที่แท้ทรู

บอส บอกว่าสนใจอยากชวนเจฟมาแคสติ้ง ณ เวลานั้น ภาพคุ้นตาของเราที่มีต่อเจฟคือ ศิลปิน ตัวเราเองก็ไม่ได้เคยเห็นเจฟแสดง แต่รู้ว่าเป็นที่พูดถึงด้านการแสดงอยู่ ลองติดต่อไปก็ลุ้นมากทีเดียวว่าเจฟจะสนใจโปรเจคต์ไหมนะ (รวมถึงมีคิวมาถ่ายหรือมาแคสไหมนะ เพราะเจฟฮอตมากจริง ๆ) ขอบคุณคุณวีนัส ผู้จัดการของเจฟนะครับ ที่ช่วยประสานให้ทุกอย่างให้ราบรื่นมากๆ ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นเจฟก็กำลังพัวพันกับคิวงานที่ต่างประเทศอยู่ด้วย!

ในวันที่เจฟมาแคส ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกเลยหละ วันนั้นพวกเราได้เห็นเจฟในโหมดมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ให้ความรู้สึกอีกแบบมาก ความคลีนปราศจากเมคอัพ ผสมกับการแสดงของเจฟในฐานะ ทองคำ เจฟใช้สัญชาตณาณนำในการแสดง (เป็นนักแสดงคนนึงที่สัญชาตณาณดีมาก ๆ เลยหละ) และด้วยสัญชาตญาณความเป็นนักสู้ของเจฟที่มาผสมกับบทแล้ว ก็ทำให้เราได้เห็นมนุษย์คนหนึ่ง มีเลือดเนื้อ มีตัวตน ความเจ็บปวด

กลายเป็นทองคำในเวอชันของเจฟ เป็นทองคำที่เป็น LGBTQ คนหนึ่งที่เป็นส่วนผสมของความ feminine แต่ในขณะเดียวกันก็ได้กลิ่นความเป็น masculine สมกับเป็นชาวสวน เต็มไปด้วย passion ที่มีต่อสิ่งที่ตนเองรัก มันทรงพลังและน่าติดตาม ในที่สุดเราก็ได้พบทองคำแล้ว

 

 

#วิมานหนาม CASTING NOTE # FINAL : ต๊าง และทีมแคสติ้ง

 

“ต๊าง” เป็นตัวละครสมทบที่ออกมาไม่มาก แต่มีผลมาก ๆ กับองก์สุดท้ายของหนัง  เรามองหานักแสดงที่ถ้าเขามารับบทบาทต๊างแล้ว คนดูจะ turn off กับการมีอยู่ของตัวละครนี้ทันที ในขณะเดียวกันนักแสดงท่านนั้นก็ต้องมี acting ที่เฉียบคมและ physical ที่แข็งแรงสำหรับซีนแอคชัน เราเฟ้นหานักแสดงหลากหลายท่าน ทั้งนักแสดงวงการละครเวที และนักแสดงที่เคยมีผลงานบนจอใหญ่มาก่อน ในช่วงทำการบ้านตัวละครนี้เราก็นึกถึงพี่นิกร เพราะฝีมือและทักษะการแสดง

ต๊าง รับบทโดยพี่ นิกร แซ่ตั้ง ถึงในหนังเราจะรังเกียจตัวละครนี้แค่ไหน แต่อยากบอกว่า พี่นิกรตัวจริงมีบุคลิคตรงกันข้ามกับต๊างโดยสิ้นเชิง (สิ่งที่คุณเห็นคือการแสดงของพี่นิกรจริง ๆ โคตรเก่ง) เป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมงานกับพี่นิกร หลังจากเห็นและติดตามชื่นชมการทำงานของแกในฐานะคนทำละครเวทีมานาน พี่นิกรเป็นคนที่น่ารักและสบายใจที่จะร่วมงานด้วยมาก ๆ คนหนึ่งเลยครับ ขอบคุณพี่นิกรมากๆ เลยนะครับ

ขอขอบคุณทาง Acting coach ครูร่ม, นัตตี้, เอิท ที่ปั้นให้นักแสดงทุกท่านออกมางดงามขนาดนี้ครับ (Fun Fact : ทุกเรื่องที่เราทำแคสติ้งกับ GDH จะมีครูร่มเป็น Acting Coach เสมอ 555 ขอบคุณครูร่ม (ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์) ตลอดไปครับ)

ดีใจที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับดรีมทีม “แปลรักฯ” หลายๆท่านอีกครั้ง แบบอ้อมๆ ขอบคุณบอส แอมมี่ และพี่ ๆ ผู้ใหญ่ GDH ที่ชวนมาสนุกนะครับ หวังว่าจะได้พบกันใหม่ในโอกาสหน้า ขอบคุณบอส แอมมี่ และพี่ ๆ ผู้ใหญ่ GDH ที่ชวนมาสนุกนะครับ หวังว่าจะได้พบกันใหม่ในโอกาสหน้า

 

 

สูตรสู่ความสำเร็จ

 

งานสร้างประณีตในทุกองคาพยพ อย่างมีระบบ โดยเฉพาะบทที่ใส่ใจการเล่นกับ หัวใจของผู้ชมด้วยการดันระดับของการรับรู้ และรู้สึกร่วม ให้เป็น ‘ใจเดียวกัน’ ผู้คนมี inner ร่วมกับนักแสดงประหนึ่งมีส่วนร่วมรักร่วมสร้าง สามคนดลให้เป็นไปในนามทีมเขียนบท บอส (นฤเบศ กูโน), จูเนียร์ (ณรณ เชิดสูงเนิน) และเกด (การะเกด นรเศรษฐาภรณ์) 

1. บทที่ประณีตตั้งแต่โครงเรื่อง เส้นเรื่อง จนถึงรายละเอียดในมิติความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ที่ล้วนเป็นตัวแทนของคน ‘โลกีย์ชน’ ในสังคมทุกระดับ สอดรับกับหลักการที่จงใจให้หนังกระชับสุด เหมาะกับการเสพรับของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการรายละเอียดเชิงสารคดี ที่อาจจะกลายเป็นส่วนเกินของเรื่อง หากไม่ลงตัวกับ Timing . Feeling . Acting ฯลฯ แม้กระนั้นก็เป็นส่วนผสมของทุกฝ่ายได้ลงตัวต่อการนำเสนอตามแนวทางของ Arts กับ Mass ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

  • บทพูดมีเท่าที่จำเป็นต้องสื่อสาร สังหารกันด้วยสายตาแทนอาวุธ โดยเฉพาะคู่อริหลัก โหม๋ กับ ทองคำ
  • การสำรวจพื้นที่ วิถีของผู้คน ตลอดจนจัดเตรียมข้อมูลอย่างละเอียดของทีมเขียนบท มีสัญลักษณ์ที่เนียนไปกับเนื้อหา
  • เส้นเรื่องไต่ระดับความแรงเล่นกับความรู้สึกคนดู สู่การขมวดปมจนแน่น ย้ำแก่นในจุดจบ ทิ้งสิ่งสมมุติ (โดยเฉพาะการจำกัดให้ใช้คำพูดเท่าที่จำเป็น แต่เต็มพลัง ประดังความรู้สึก)
  • มีมิติทั้งทาง ปัจเจก และ การเมือง เรื่องรัฐสวัสดิการ ที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่เกิดกับคนชายขอบและสังคมเมืองที่ห่างไกลความเจริญ
  • ทุกตัวละครมีจุดจบที่ต่างได้รับจากผลกระทบของ กรรม  คือการกระทำของตัวเอง แม้ว่ามีเหตุผลเพราะตนถูกกดดัน เอาเปรียบ เมื่อไม่ปลงแล้วจากไป จึงทำให้สิ่งที่ได้รับกลับมาเจ็บปวดมากกว่าหลายเท่า
  • การเฉลยภูมิหลังตัวละครตามขั้นตอนที่วางไว้ ช่วยให้คนดูลุ้น ลังเล จะรักหรือชัง ส่งพลังความเป็นมนุษย์ที่มีมากกว่าสองด้านให้น่าสงสารเห็นใจ

 

 

2. การคัดเลือกนักแสดงที่มี Inner เข้ากับการออกแบบตัวละคร และมีความเป็น ‘ศิลปินนักแสดง’ ให้เหตุผลกับทุกชีวิต มีวิธีคิดจากภูมิหลังซึ่งหลอมคนให้ ดี ร้าย ต่างกันไป เป็นมิติที่ปิดตายต่อความหมาย ‘ตัวละครแบน’ ไม่ว่าจะเป็น จิ่งนะ หฤษฎ์ บัวย้อย ชาวไทยลื้อซื่อใส ตัวจริงจากจังหวัดพะเยา, อิงฟ้า  นักสู้กอบกู้ฐานะในชีวิตจริง หรือ แม่สีดาผู้เปลี่ยนความโศกเศร้าจากการสูญเสียลูกชายไปเพิ่มพลังให้กับการแสดง และ เจฟ ผู้ไม่เคยเข้าใจในพื้นฐานการแสดง แต่สู้ด้วยสัญชาตญาณการเป็นศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง บรรเลงให้เกิด inner ได้อย่างสมจริงเหมือนสิงในตัวละคร ซ้อนไปกับบทเพลงกรีดใจที่เจฟแต่ง “เหมือนวิวาห์”

3. Workshop การแสดงเฉพาะศาสตร์ด้วยวิธี จักระบำบัด[2] วงล้อและศูนย์รวมพลังงาน 7 ตำแหน่งสำคัญในร่างกาย เพื่อปรับและสร้างความสมดุลทั้งร่างกายจิตใจให้มีประสิทธิภาพ และเรียนรู้การควบคุมระบบการทำงานของแต่ละจุดให้สัมพันธ์กันอย่างมีพลัง เป็นฐานสำคัญผลักดันให้เกิดพลังชีวิต พลังงานการแสดง

 

CHAKRAS พลังกายทิพย์และจักระทั้ง 7 จุด

จักระที่ 1 จักระราก  (มูลธาร) ที่ตั้ง บริเวณก้นกบ

เป็นรากฐานของระบบจักระ หรือระบบพลังงาน เป็นพื้นฐาน ของพลังชีวิต และเป็นกลไกที่ทำให้สืบทอดมนุษย์ เกี่ยวข้องกับ การอยู่รอด และสัญชาตญาณ

 

จักระที่ 2 จักระศักดิ์สิทธิ์  (สวาธิษฐาน) ที่ตั้ง บริเวณท้องน้อย

เป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับพลังทางเพศ รวมทั้งความเชื่อมั่นในตนเอง ควบคุมระบบการสืบพันธุ์ การขับกากอาหาร และของเสียออกจากร่างกาย (ระบบการขับถ่าย) รวมทั้งการตั้งครรภ์ และการคลอด เกี่ยวข้องกับ เรื่องเพศ การเข้าสังคมและอารมณ์

 

จักระที่ 3 จักระช่องท้อง  (มณีปุระ) ที่ตั้ง บริเวณท้อง

อยู่ตรงแนวสะดือตัดกับกระดูกสันหลัง เป็นศูนย์กลางของการหยั่งรู้ ณ จุดนี้เป็นศูนย์กลางของร่างกาย ควบคุมระบบการย่อยอาหาร และ การขับถ่ายของเสีย เกี่ยวข้องกับ พลังความมุ่งมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง

 

จักระที่ 4 จักระหัวใจ  (อนาหตะ) ที่ตั้ง บริเวณหัวใจ

อยู่ตรงแนวหัวใจตัดกบักระดูกสันหลัง บริเวณกระดูกสันหน้าอกปล้องที่ 1,2 และ 3) ควบคุมระบบหมุนเวยีนโลหิต หัวใจและระดับไขมันในเส้นเลือด เกี่ยวข้องกับความรัก และการยอมรับ

 

จักระที่ 5 จักระคอ  (วิศทะ) ที่ตั้ง บริเวณคอหอย

อยู่ตรงบริเวณเส้นแนวไหล่ตัดกับกระดูกสันหลังกระดูกคอปล้องที่ 3 ควบคุมระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และแรงบันดาลใจ

 

จักระที่ 6 จักระตาที่สาม  (อาชนะ) ที่ตั้ง ใจกลางศีรษะบริเวณหน้าผาก

อยู่ตรงกลางหน้าผากกระดูกคอปล้องที่ 1 ควบคุมสติปัญญา ความนึกคิด ความเฉลียวฉลาด และระบบประสาท เกี่ยวข้องกับสมาธิและความไว้วางใจ

 

จักระที่ 7 จักระมงกุฎ  (สหัสราร) ที่ตั้ง บริเวณยอดกระหม่อมศีรษะ

อยู่ตรงกลางกระหม่อม หรือจุดตัดของเส้นที่ลากจากปลายจมูก ผ่านกลางหน้าผาก ตัดกับเส้นที่ลากจากหูซ้ายไปหูขวา ควบคุม ระบบประสาททั้งหมดของร่างกาย เป็นศูนย์ควบคุมทุกจักระ เป็นจุดรับพลังจักรวาล เป็นจุดที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย ที่จักระอื่นไม่สามารถรักษาได้โดยตรง มีความเกี่ยวข้องกับความตระหนักรู้ และจิตวิญญาณ

 

 

4. หลักการ ‘น้อยแต่มาก’ ยังคงศักดิ์สิทธิ์เสมอ นอกจากใช้นักแสดงนำเพียง 5 คนแล้ว การกำกับยังเน้นให้เป็นธรรมชาติสะอาดงามตามความถนัดของนักแสดง ที่ต่างดิ้นรนค้นหาและทดลองด้วยตัวเอง ในความใหม่ของผู้แสดงไม่แฝงความเป็นซุปตาร์ช่วยให้ตัวละครมีมิติของความเป็นมนุษย์ ‘ชั่วเพราะภูมิหลัง คลั่งเพราะกดดัน’ คือคีย์สำคัญที่ดัน Inside Out ให้ไหลหลั่งแบบ ‘นิ่งลึก’ เก็บความรู้สึกแต่ส่งพลังสื่อสารได้มากรัศมี และมีมวลเหมือน ‘คลื่นใต้น้ำ’ รอเวลากระหน่ำจาก ‘พลังภายใน’ เป็นการแสดงที่ไม่ง่ายนัก หากไม่รักที่จะฝึก acting ให้นิ่งอีกระดับของการ ‘ขานโจทย์’ ไม่ว่าจะเป็นฉากบวชที่แม่ให้โหม๋กราบลูกแก้ว (ทองคำ) ต่างเฉือนกันด้วยสายตาอาฆาต ชัยชนะเป็นของพระที่ยังไม่ละกิเลส หรือฉากที่ย้ำสถานะ ‘ลูกเลี้ยง’ เพื่อพิศูจน์ความสำคัญที่มีต่อแม่แสง จิตเจ็บปวดท่วมใจจากสายตาของโหม๋ติดตาผู้ชม นอกจากเป็นพลเมืองชั้นสามแล้วยังไร้ศักดิ์ศรี ไร้สิทธิ์ในความเป็น สะใภ้ ที่ไม่มีใครอนุญาต ชีวิตขาดแหว่งวิ่นดิ้นสู้ทุกทาง

 

 

5. การถ่ายภาพให้ความหมายขยาย content ของบทให้ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว โดย ตะวันวาด วนวิทย์ (ตั้ง)

- บ้านสองหลัง หลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนิน กับหลังเล็กที่มีพื้นบ้านติดกับพื้นดินจนแทบจะเป็นผืนเดียวกัน บอกความเหลื่อมล้ำซ้ำซากมากความหมาย (ขยายทั้ง ฐานะ สถานะ ฯลฯ ของผู้เป็นเจ้าของ)

-  การเคลื่อนกล้องจากชั้นบนลงมาชั้นล่างของบ้าน ในทางทฤษฎีการ tilt down จะให้ความรู้สึกต่อวัตถุที่อยู่ด้านล่างเล็กลง ส่งให้ชัดทั้งเหตุการณ์ ตอกย้ำ ซ้ำเติม สถานะของคนผู้เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง ให้กลายเป็นผู้อาศัยที่ต้องนอนใต้ถุน (เรือนไทยโบราณใต้ถุนบ้านจะเป็นคอกของ วัว ควาย หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งาน)

- ภาพของคู่อรินั่งปลายเตียงคุยกับแม่ในห้องนอน แม่นอนเหยียดขายาว ถ่ายขาช่วงล่างตัดสลับกับครึ่งตัวบน ชวนให้นึกถึงคนคลอดลูก “แม่ปรึกษาหน่อยสิ โฉนดที่ดินตรงนี้ รวมบ้านแล้วก็สวนทุเรียนไว้ด้วยใช่ไหม” ภาพช่วยย้ำความคิดแม่แสง ‘ความจริงพวกมึงไม่ใช่ลูกแท้ของกู ไม่มีสิทธิ์ในมรดก กูผู้เป็นแม่เท่านั้นที่มีสิทธิ์’

- งานบวชลูกแก้ว (ปอยส่างลอง) ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มาร่วมงาน สองคน ทองคำ กับ จิ่งนะ โดดเด่นออกมาจากขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสันละลานตา ทว่า เหมือนมีเพียงเราสองอยู่บนวิมาน (จัดองค์ประกอบแบบ single fogus) จิ่งนะบอกกับทองคำก่อนให้ขี่คอว่า “ขึ้นมาเถอะไม่คว่ำหน้าหรอก” (มอบความรักความไว้ใจให้ฉันเถิด) คนแบกให้ความมั่นใจก่อนลูกแก้วขึ้นขี่คออย่างสง่างาม ส่งความรักด้วยอวัจนภาษา ฝ่ามือไล้ใบหน้าแทนรักและขอบคุณ ให้ mood ภาพที่งดงามประทับใจ

- แม่แสงสิ้นใจในเวลาที่ตะวันตกดิน สิ้นแสง…สิ้นอายุขัยไปพร้อมกัน งามชีวิต…

 

 

6. การสร้าง สัญญาณ ที่เป็นมากกว่า สัญญะ เห็นทั้ง สัจจะ  ธรรม แท้ เทียม

  • ที่ตั้งของบ้านบนเนินกับบ้านน้อยริมทาง ความต่างของ สถานะ และความอุตสาหะ ที่ต้องทุ่มเท หากว่าที่สุดของปรารถนาในความฝันคือสวรรค์วิมาน
  • มดขึ้นบ้านกับอาหารเน่าเสีย (ทั้งที่มันคือบะหมี่สำเร็จรูปพันปี) บอกมีภัยกำลังคืบคลานเข้ามาคุกคามบ้านที่เคยเป็นเรือนรัก กับความเป็นอยู่ที่ไม่ปกติ
  • เตาเผาถ่านทุเรียนลานหน้าบ้านกับการตายของสองคน โดยเฉพาะหลังแม่แสงตาย ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ต่างจากเตาเผาศพ โหม๋โยนชุดที่ใช้เช็ดฉี่เผาตรงนี้ให้เป็นจุล สิ้นสุดกันทีชีวิตที่ต้องแทนคุณเยี่ยงทาส

- การบอกรักด้วยสิ่งที่ดูไร้ค่าสำหรับคนอื่น แต่สูงค่าสำหรับ ‘สัญญาใจ’ ที่คู่รักให้กัน เมื่อดอกทุเรียนของเสกถูกมอบให้ทองคำขอแต่งงาน ดอกกะหล่ำมากมายที่ใช้บอกรักเพื่อล่ามชีวิตของโหม๋ก็มีความหมายคล้ายกัน สิ่งสำคัญคือความจริงใจจากคนให้

- พิธีวิวาห์กำมะลอ กับ เหมือนวิวาห์ ให้ความรู้สึกที่ตระหนักใน รักแท้ ที่ไม่มีทรัพย์สินทดแทน เพียงใจบริสุทธิ์สัตย์ซื่อต่อกัน น้ำบาดาลก็ศักดิ์สิทธิ์กว่าน้ำสังข์

 

7. อีกหนึ่งแรงที่เร่งความสำเร็จเร็วคือ ‘แนว’ เป็นหนังไทยในขนบเก่าแต่เข้ากับทุกยุคด้วยบริบท (Thai Traditional) เพราะธรรมเนียมการแก่งแย่งมรดกไม่เคยตกยุคทุกเชื้อชาติ ประกาศความเป็น mass แต่ประเด็นที่เหนือความเป็นละครน้ำเน่า คือความมีมิติใน ‘โครงสร้างทางสังคม’ผสมอุดมการณ์ในเนื้องาน ผ่านบทที่บอกความบิดเบี้ยว เลี้ยวลด เหลื่อมล้ำ บอกความเป็น ‘ผู้กระทำ’ ให้เกิดความไม่เท่าเทียมโดยรัฐ ที่ปฏิบัติต่อประชาชน บนระบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ไม่ขยายฐานอำนาจพัฒนาสู่ท้องถิ่นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเผ่าชาติพันธุ์ที่เรียกกันว่า ‘ชนชายขอบ’ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค (ถนนเข้าสู่ตัวเมือง) , การศึกษา (โหม๋ ชาวไทใหญ่ ที่ไม่ได้รับการศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) , ระบบสาธารณสุข ฯลฯ บอกความ ‘โบราณ’ ของงานรักษาพยาบาลที่ต้องเซ็นยินยอมการผ่าตัด โดยญาติ บทฉลาดใช้ความอุบาทว์ที่กฎหมายไม่ยอมยืดหยุ่น ทั้งที่มีความเป็นความตายที่ต้องเสี่ยงเพื่อให้หมอช่วยผ่าตัด เสก ด่วนให้ทันเวลา (แม้ญาติมาไม่ทันเซ็นมอบอำนาจ) มาขยายปมถมทับตัวละครให้ตายเพื่อเพิ่มความขัดแย้งให้แรงขึ้น

 

8. ประเพณี วัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ที่นอกจากจงใจให้ชัดด้วยภูมิประเทศที่ตั้งบ้านบนเนินสูง ล้อมรอบด้วยสวนทุเรียน(สถานที่ถ่ายทำจริงคือ ไร่ตาเพ่ง จังหวัดตราด ภาคใต้) แล้ว ยังมีประเพณี ปอยส่างลอง แม่เหล็กทางการท่องเที่ยวประจำจังหวัด จัดได้เข้มขลังอลังการเพราะชาวบ้านรวมใจนำของจริงมาร่วมขบวน (เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ในพิธีเคยบวชลูกแก้ว แต่ไม่แต่งหน้านัก ทองคำจึงโดดเด้งอยู่คนเดียว)

 

9.การคุมโทนให้หนังกระชับ แม้ต้องแลกกับรายละเอียดสำคัญที่ต้องเสียไป นอกจากรายละเอียดการทำสวนทุเรียนแล้ว ที่เหลือโดดเด่นอีกส่วนคือ emotional ของนักแสดง แต่ในภาพรวมของทั้งเรื่องออกโทนหนังโฆษณาที่ต้องสั้นแต่สวย ช่วยให้บางซึนซึ่งต้องการรายละเอียดที่ควรใส่ให้มีมิติลึก หายไป แต่ถูกใจท่านผู้ชมมาก

 

10. การพุ่งเป้าหมายรองไปที่ความเท่าเทียมทางเพศเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การสมรสที่ไม่จำกัดเพศสภาพ คือความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนบน Trend ใหม่ที่ประเทศไทยเพิ่งอนุมัติให้มีกฎหมาย ในขณะที่หลายประเทศปฏิเสธไม่ยอมรับ

 

 

กว่าจะเป็น ‘สมรสเท่าเทียม’[3]

การต่อสู้เพื่อการสมรสของคนเพศเดียวกัน จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ 23 ปีก่อน ปี 2544 : รัฐบาลยุค นายทักษิณ ชินวัตร โดย “รมว.มหาดไทย” เริ่มแนวคิดเรื่องนี้ แต่กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง รัฐบาลมองเห็นว่าสังคมไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้จึงตกไป

ปี 2555 : มีคู่รักเพศหลากหลายต้องการจดทะเบียนสมรสแต่ถูกปฏิเสธ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปี 2556 : กรแสโลกตะวันตกขณะนั้น มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ Civil Partnership ออกมา ทำให้รัฐบาลของไทยเริ่มผลักดัน พ.ร.บ.ชีวิตคู่ อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ อีกทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างดังกล่าวไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ เท่ากับคู่รักชาย-หญิง

ปี 2557 : เกิดรัฐประหาร การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯยุติลง

ปี 2563 : ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมเช่นเดียวกับกระแสทั่วโลกที่พัฒนาเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ตามหลักความเท่าเทียม รัฐบาลจะจัดทำเป็น “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แต่พรรคก้าวไกล ทำเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

มิ.ย.2563 : พรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรก

ปี 2563 - 2566 : ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระที่ 1 ไปแล้วในวันที่ 15 มิ.ย. 2565  (แต่ด้วยเหตุสภาล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตกไปตามรัฐธรรมนูญ)

ล่าสุด วันที่ 18 มิ.ย.2567 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 ผู้ลงมติ 152 เสียง คาดมีผลบังคับใช้ ปลายปีนี้ สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกในอาเซียน

สาระสำคัญของ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”

  • บุคคล 2 ฝ่ายทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • สถานะเป็น “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภริยา”

สิทธิประโยชน์สมรสเท่าเทียม “คู่สมรส”

  • สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  • สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม
  • สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
  • อื่น ๆ

 

     

    มิติความเป็น ‘คน’ ปน ‘ชะตากรรม’

     

    ทั้งชื่อภาพยนตร์และชื่อตัวละครต่างซ้อนนัย ‘ตัวตน’ บน ‘เงื่อนไขชีวิต’ ที่ต่างกัน ความผูกพันในสถานะ และชะตากรรม ถูกทำให้มี ‘มิติ’ ของความเป็นคนที่ปนไปด้วยเหตุผลหลายปัจจัยในความ ดี เลว ที่คนอื่น ไม่อาจสรุปและไม่ควรพิพากษาเฉพาะเหตุที่เห็นกับตาตามประสาวิสัยปุถุชน กลไกการทำงานอย่างเป็นระบบของทีมงานพัฒนาบทภาพยนตร์ทำส่วนนี้ออกมาได้ดีมาก เมื่อรวมกับขั้นตอนการตัดต่อ เห็นความจริงของมนุษย์ที่ต่างมีมี สีเทาเปื้อนปน เพราะความเป็น ‘คน’ ที่แปลว่า ‘ทำให้รวมกัน’ นั่นจึงมีหลายด้าน หลายเฉด ทั้งดี-ร้าย แม้มีจุดพร่องในรายละเอียดของเทคนิคการนำเสนอบางช่วงตอน แต่นั่นคือเจตจำนง

     

     

    แม่แสง (สีดา พัวพิมล) ตัวละครที่ฟ้าดลให้สีดากลับมาสู่วงการอีกครั้ง หลังพายุกระหน่ำชีวิต การหวนคืนครั้งนี้สมศักดิ์ศรีนักแสดงรุ่นเก่าเข้ามาประกาศความเก๋าแก่แก่วงการ ในบทเจ้าเลห์ลึกเพราะภูมิหลังที่ฝังใจกับความยากไร้ในชีวิต แม่แสงไม่ได้จดทะเบียนสมรสเหมือนคนในชนบททั่วไป เมื่อสิ้นสามีแล้วจึงเหลือเพียงลูกชายคนเดียวที่จะฝากผีฝากไข้ เป็นที่พึ่งเดียวทั้งปัจจุบันและอนาคต หลัง เสก ตายสิ่งสุดท้ายที่พอจะพึ่งจึงเหลือเพียงบ้านกับสวนทุเรียนที่เป็นสิทธิ์ตามกฏหมาย มิติของความเป็นคนปนสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่มีอยู่เต็มเปี่ยม หวังเสี้ยมทองคำไว้ใช้อีกคน แต่ทนความดีจากทองแท้ไม่ไหว ใจจึงยอมรับเป็นลูกเมื่อทองคำใช้สิ่งศรัทธาสูงสุดของชาวไทยพุทธ มาทดแทนความสูญเสียลูกชายให้แม่แสง

    เหตุผลที่แม่แสงให้กับ โหม๋ ลูกเลี้ยง มีเพียงความต้องการแรงงานที่ชำนาญช่วยดูแลสวนทุเรียน หลังชนะคดีได้ที่มาครอบครอง สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ทองคำปรนนิบัติแม่แสงเสมือนแม่แท้ ความอบอุ่นใจจากคนรักของลูกชายช่วยครายคิดถึง เสก ลงได้บ้าง และที่สำคัญอยู่กันสองคนผู้หญิงบ้านยิ่งต้องมีผู้ชายไว้ปกป้องดูแล โดยเฉพาะยามเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นเป็นสิ่งที่โหม๋อ่านออกจึงคิดกำจัดทองคำเพราะหวังมรดกผืนเดียว ทั้งที่ดินกับบ้านที่ไม่เคยมีคุ้มหัว ในความเป็นคนชายขอบยากจนสิ่งนี้เกินฝัน

    แม่จึงมีโหม๋เป็นคู่แข่งที่หวังแย่งสมบัติอีกคน การไม่ยอมเซ็นยกที่ให้โหม๋เพราะต้องการครอบครองสิ่งขาดมาตลอดชีวิตจนวินาทีสุดท้าย แม้ไม่รู้วันตายก็ตาม… การทวงบุญคุณกระทั่งเสื้อผ้าของโหม๋ก็ไม่อนุญาตให้ติดตัวไป นั่นยืนยันถึงความไม่เต็มใจจะยกที่ให้แม้ถูกขู่ สุดท้ายความกลัวที่ต้องเผชิญชะตากรรมเพียงลำพังบังคับ จึงจำใจต้องเซ็น กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องพบกับจุดจบเร็วกว่าที่คิด โหม๋ลูกแม่

     

     

    เสกสรร บุญคำลือ (พงศกร เมตตาริกานนท์) ทุกสิ่งในโลกนี้มีหลายด้าน แม้แต่ความรู้สึกที่เรามีทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ก็เช่นกัน โดยเฉพาะคนรักคนใกล้ชิด เสกไม่ใช่คนเลวที่หลายรัก อาจซับซ้อนในการจัดการเพื่อบริหารชีวิต แต่จิตใจที่แปรเปลี่ยนไปหลังจากมีเมียโหม๋ ก่อนตัดสินใจมาอยู่กับทองดีคือลำดับที่จัดสรรเองไม่ได้ ดอกกะหล่ำทุกช่อที่ใช้บอกรักโหม๋ กับดอกทุเรียนที่ขอทองคำแต่งงานล้วนมาจากความรู้สึกดีงามไม่ต่างกันในขณะนั้น ๆ  มันอาจไม่ใช่แผนเพื่อจัดการ ‘ผู้รับใช้’ ให้กลายเป็น ‘เมียทาส’ แต่ทุกปัจจัย เอื้อให้เกิดความเป็นไปตามครรลอง

    การจริงจังกับเรื่องจดทะเบียนสมรสยืนยันการค้นพบ ‘ความต้องการที่แท้จริง’ ของตัวละคร เมื่อชัดเจนแล้วว่าสิ่งไหนที่ใจ-ชีวิตต้องการ โฉนดที่ดินของครอบครัว บุญคำลือ คือทะเบียนสมรสของทั้งคู่ ที่ทองคำเสกให้กับคนรัก และการตายของเสกคือความสร้างสรรค์ที่สุดยอดเซียนของทีมเขียนบท ที่เป็นเหมือน KEY ของเส้นเรื่อง ที่นำให้ทุกคนตกลงไปในวังวนของกิเลส เปิดให้ตัวละครที่เหลือทุกคนกำหนดชะตากรรมด้วยตัวเอง  ปิดฉากการเป็นคนแบกความรัก และความหวังว่าจะ ‘เสก’ ความฝันของใครให้เป็นจริงได้ เพราะทุกคนต้อง ‘สรร’ มันด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะสำเร็จ

     

     

    โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) นางงามไม่ห่วงสวย ได้รับตำแหน่ง ‘นักแสดงคุณภาพ’ จากภาพยนตร์เรื่องแรก สวมวิญญาณสาวไทยใหญ่อายุ 30 ปี ตัวแทนของคนชนเผ่าผู้ถูกกระทำ แม้แค่ ‘คนชายขอบ’ ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไร้การศึกษา โหยหาคุณภาพชีวิต แต่มีความคิดที่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา แม่แสงหอบมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อเติบโตควรมีชีวิตตามทางที่ปรารถนา แต่กลับมาถูก เสก พี่ชายลูกแม่แสงใช้ ‘ความเป็นผู้ชาย’ ครอบครองชีวิตไว้ด้วยสำนึกของความเป็น ‘เมีย’ เพื่อให้โหม๋รับใช้แม่ที่พิการอัมพาตครึ่งล่าง ชีวิตนางจึงเป็นหนี้ครอบครัวนี้ รอโอกาสกบฏเพราะกดดัน

    เสกตกต้นทุเรียนเลือดคั่งในสมองต้องผ่าตัดด่วน แต่คนที่เซ็นอนุมัติได้ต้องเป็นแม่เท่านั้น วีรกรรมที่ทำจากความแค้นคือวางแผนขับมอเตอร์ไซค์ล้ม ถ่วงเวลาให้แม่ไปช่วยเสกไม่ทันจนเขาเสียชีวิต อีกทั้งยังจงใจให้แม่ไล่ ทองคำ (คู่รักเสกเจ้าของบ้านตัวจริง) ออกจากที่ เพราะต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทั้งบ้านและสวนแต่เพียงผู้เดียว ทำทุกอย่างข่มทองคำเพื่อเอาใจแม่ หวังให้แกยอมยกกรรมสิทธิ์ให้ เพราะกลัวตกไปเป็นของทองคำ เราจึงเห็นความเป็นมนุษย์ที่แท้ ทั้งในตัวแม่และลูกเลี้ยง

    เมื่อขอร้องแม่ให้แกยอมเซ็นยกบ้านให้ไม่สำเร็จ เข็นรถไปทิ้งบนเนินเผาถ่าน โยนใส่เข่งไว้ปล่อยไว้อยู่คนเดียว แม้มีมนุษยธรรมวิ่งกลับมาเมื่อได้ยินเสียงขณะแม่ตกอยู่ในอันตราย แต่เมื่อได้เห็นลายเซ็นยกบ้านให้แล้ว กลับมองการตายของแม่แสงต่อหน้าอย่างเลือดเย็น เพราะได้เป็นเจ้าของบ้าน-ที่ดินแล้ว ได้ทดแทนคุณมากพอ ขอชีวิตคืน เธอเป็นอิสระจากบุญคุณ เวรกรรมได้สนองผ่านการตายอย่างน่าอนาถของ จิ่งนะ น้องชายร่วมสายเลือด (จากน้ำมือของ ปลัดต๊าง สามีที่เพิ่งผ่านพิธี ‘สมรสหลอก’ หวังกันทองคำออกจากบ้าน และต้องการสิทธิพลเมืองตามกฎหมายที่จะตามมา) ไม่มีใครได้อะไรมาฟรี ๆ โหม๋ต้องจ่ายด้วยชีวิตของ ‘จิ่งนะผู้บริสุทธิ์’

    อิงฟ้าเปิดใจ “จำได้ว่า ก่อนกลับบ้านวันสุดท้ายของการถ่ายทำ ยืนร้องไห้ที่บ้านหลังนั้นสักพักใหญ่ ๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่บ้านหลังนี้ มันออกไปจากใจเรายากมากเลย และเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็จะเป็นแบบเราเมื่อได้ดู “วิมานหนาม” ฉันรักเธอมาก ๆ เลยนะ โหม๋ ขอบคุณตลอดระยะเวลาที่ให้ เรา ได้มีตัวตน และเข้าใจชีวิตของคนมากขึ้นในอีกมุมมองหนึ่ง และเชื่อว่าคนจะรู้จักแกเยอะขึ้น และเห็นแกมากขึ้น ขอบคุณอิงฟ้าที่ยอมให้โหม๋ได้สร้างตัวตนตัวนี้ขึ้นมา รักตัวละครตัวนี้มาก ๆ จริง ๆ”

     

     

    ทองคำ - เจฟ ซาเตอร์ หนุ่มชาวเชียงใหม่หัวใจทองคำ ไปลงทุนทำสวนทุเรียนกับคนรักที่แม่ฮ่องสอน เขามาด้วยความปรารถนาที่จะมีครอบครัวอยู่อย่างสงบกับคู่ชีวิต การให้จนหมดตัวของทองคำบอกหัวใจที่บูชารักเป็นใหญ่ในชีวิต โดยไม่เคยคิดถึงเงื่อนไขของสังคม บทเรียนจากแม่แสงกับโหม๋ที่ต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย ทำให้เขาเรียนรู้ที่ต้องสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมตามสำนึกของมนุษย์ที่ควรให้เกียรติกัน แต่เมื่อถูกยื้อเยี่ยงอย่างไร้มนุษยธรรมเขาจำเป็นต้องสู้เพื่อ ‘พยานรัก’ สวนทุเรียนกว่า 5 ไร่ พร้อมบ้านจากน้ำพักน้ำแรง แต่มารู้จาก จิ่งนะ น้องชายโหม๋ว่า รักที่ได้รับคือ ‘รักลวง’ เหมือนถูกหลอกใช้หมายประโยชน์จากเสกคนเจ้าเล่ห์ (“เมียผู้หญิงเขาเอาไว้ดูแลแม่ เมียผู้ชายเขาเอาไว้ทำสวน”) ความรักกลับกลายเป็นแรงผลักให้เขาใช้ความเป็น ‘ผู้ชาย’ ซึ่งมีจุดได้เปรียบผู้หญิงเข้าสู้ (ปิตาธิปไตยในสังคมไทย ชายยังคงมีอำนาจเหนือหญิงอยู่ดี)

    หลังทองคำขอขมา ขอเป็นลูกแม่ ทำคะแนนจนชนะใจและชนะเลิศเมื่อบวชให้แม่แทนลูกชายที่ตายไป ยิ่งทำให้โหม๋คลั่ง แก้แค้นปล่อยน้ำนองสวนทุเรียน แผนทำให้ผลผลิตเสียหาย ทิดทองคำสึกออกมาสู้รักษาสิทธิ์ โดยมีจิ่งนะเป็นเดิมพัน ไม่ใช่เพราะทองคำสิ้นไร้ฯ ไม่มีที่จะไป แต่การพบรักใหม่กับ จิ่งนะ เสมือนสิ่งประโลมที่ทำให้เขาโถมความหวังใหม่ไปการกอบกู้ ‘ความเป็นครอบครัว’ กลับคืน

    ในวันที่ไปเที่ยวกันเพียงสอง ทองคำคะยั้นคะยอให้จิ่งนะอธิษฐานบ้าง สักข้อก็ยังดี (อยากให้ศรัทธาในพลังจิต ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้ตามความเชื่อ) นั่นแปลว่าคำขอนี้มีความหมาย สายตาที่ทองคำตอบรับคำอธิษฐานของจิ่งนะเหมือนคำสัญญา ทั้งคู่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ “ขอให้โหม๋กับทองคำอยู่ด้วยกันได้” มันมีความหมายกับคนหัวใจทองมาก เพราะเขาอยากให้คนรักสมหวัง แล้วยังจะมีผลดีให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในบ้านและที่ดินซึ่งทุกคนต้องการ ทองคำนำไปเขียนเป็นข้อความลงบนแผ่นอธิษฐาน ส่งใจจารไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน แล้วรอวันที่สิ่งนั้นจะเป็นจริง

    ทองคำขายทุเรียนได้เงินล้านที่รอคอยเขายกให้โหม๋ทั้งหมด แต่เมื่อไม่ได้ใจไม่เห็นค่า เขาก็พร้อมทิ้งทุกสิ่งแล้วจากไป ขอตั้งต้นชีวิตใหม่กับคนรัก ในวันแต่งงานโหม๋ทั้งคู่ก็แต่งงานมีน้ำบาดาลแทนน้ำสังข์ ความเป็นคนนิสัยจิตใจดี รู้เคารพในสิทธิ์ของคนอื่นตามสถานะ ทำให้ทองคำร้องขอชีวิตน้องชายจากพี่สาว (ทั้งที่จะพากันหนีไปไม่ต้องทำขนาดนี้ก็ได้) แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธ พร้อมการกระทำที่กดดันจนให้เขาต้องเก็บข้าวของออกจากบ้าน พร้อมทุเรียนผลผลิตที่เป็นสิทธิ์สุดท้าย ความเลวร้ายจึงทวีขึ้นจนถึงที่สุด…

    เหมือนหมาจนตรอกในเหตุการณ์ที่หมดทางสู้ ขณะกำลังจะตัดสินใจใช้ความเป็นชายฝากทายาทไว้กับโหม๋ เพื่อรับสิทธิ์แทนผู้เป็นพ่อในวันข้างหน้า โหม๋ให้ความจริงกับทองคำว่า เสกจริงใจต่อความรักที่มอบให้เขาเช่นกัน เพราะก่อนตายเสกทิ้งโหม๋เพื่อไปใช้ชีวิตกับทองคำ โดยมีเงินทดแทนเพียงหมื่นเดียวพร้อมภาระรับใช้แม่ หมดสิทธิ์มีชีวิตเป็นของตัวเอง (ปิตาธิปไตย มีในทุกเชื้อชาติเพราะมันคือธรรมชาติของผู้ชาย) คนที่มีหัวใจเป็นทองคำจึงอภัยให้กับเสก และยินยอมยกทุกสิ่งที่ต่อสู้มาให้กับโหม๋ ด้วยมีสำนึกผิดอยากไถ่โทษแทนเสกที่ทำไว้กับ ‘เมียทาส’ ส่งผลถึงตอนจบที่หลายคนประหลาดใจ ทำไมทองคำยอมแพ้ทิ้งบ้าน-สวนไปง่าย ๆ ทั้งที่แย่งชิงแทบตาย เพราะคนจิตใจดีระดับนี้มีความคิดรับผิดชอบต่อทุกการกระทำ แม้ตัวเองไม่ใช่คนผิด และเมื่อคนรักถึงสองคนตายจากไป (แล้วสาเหตุที่จิ่งนะตายก็มาจากการแก่งแย่ง สมบัติคือเหตุแห่งทุกข์สาหัส) ทุกอย่างจึงหมดความหมาย

     

     

    จิ่งนะ (หฤษฎ์ บัวย้อย ) หนุ่มน้อยชาวไทยลื้อ ดาวเด่นราชภัฏพะเยา เข้าตากรรมการด้วยรูปลักษณ์เป็นต่อ เขามีความเป็นหนุ่มนุ่มนวล หน้านิ่ง ตามแบบฉบับของหนุ่มเหนือ เหมาะกับบท ‘จิ่งนะน้อย’ เป็นนักหนา น้องมาเป็นคนฉุดทองคำให้ออกจากคุกน้ำตาได้ด้วย ความใส จากใจซื่อบริสุทธิ์ ทุกซีนที่จิ่งนะปรากฏตัวเขาทำให้เรารู้สึกชื่นมื่นรื่นรมย์ไปกับความไม่เดียงสา น่าเอ็นดูกระทั่งกริยาหอมกลิ่นเงินล้านจากการขายทุเรียน ซีนขณะเที่ยวเล่นกับทองคำผู้ให้ความศรัทธากับคำอธิษฐาน เมื่อถูกถามว่าอธิษฐานว่าอะไร เมื่อตัวละครไม่รู้จะอธิษฐาน บทประทานคำตอบให้ตื้นตันสั้น ๆ แต่ประทับใจเหมาะกับบุคลิกคือ “ขอให้คำอธิษฐานของทองคำเป็นจริง” ทั้งที่ไม่รู้คำอธิษฐาน เมื่อถูกคะยั้นคะยอเขาก็อธิษฐานขอให้พี่สาวกับคนรักเข้ากันได้ ความเป็นครอบครัวอบอุ่น คือที่สุดแห่งปรารถนาของสองคน

    ความที่ไม่ใช่คนปราดเปรียวเฉลียวฉลาดรู้หลบหลีกฉับไว ทำให้จิ่งนะกลายเป็นเหยื่อของผู้สังหาร มันไม่ได้มาในนาม ‘ความบังเอิญ’ เพียงอย่างเดียว แต่คือ ชะตากรรม ที่พี่ทำไว้กับผู้มีพระคุณ จิตใจของปุถุชนทุกคนที่มีทั้งดีและเลว ต่างสร้าง ‘บาป’ แปลว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับในผลการกระทำ ซึ่งมาในรูปของทุกข์ทั้งปวง ความสูญเสีย ความเศร้า หายนะ ฯลฯ  อาจจะเกิดกับครอบครัวหรือคนที่เรารักก็ได้ ความร้ายกาจที่พี่ก่อคือมรดกที่น้องต้องรองรับ แม้เขาเป็นผู้มาใหม่ ไม่มีส่วนได้เสียก็ตาม

     

     

    ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น

     

    บทที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังรังสรรค์ออกมาละเอียดละออดี โดยเฉพาะรายละเอียดของการดูแลสวนทุเรียน กับความเพียรของเกษตรกร กึ่ง Semi - Documentary ที่เนียนไปกับเนื้อหา แม้ว่ามีจุดพร่องเพียงน้อยแต่ถ้าใส่ใจจะทำให้ ‘สมบูรณ์’ ขึ้นได้เพราะแนวหนัง realism จะทำให้หนังมีมิติจากรายละเอียด ที่ให้ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมมากขึ้น บางประเด็นจึงเห็นความจงใจที่จะใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง ที่ไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่าง เพื่อสร้างโอกาสให้เกิด ‘การคิดต่อ(ยอด)’

    • การให้ภูมิหลังของตัวละครที่ไม่ย้อนอดีตลึก (เพียงปัจจุบันที่เป็นจุดสำคัญก็รู้สึกเพียงพอแล้ว?) ช่วยให้หนังกระชับ โฟกัสเฉพาะปมปัญหาล่าสุด แต่ว่าหากมีการ Flash Back ในมุมลึกกว่านี้ได้จะช่วยให้แต่ละตัวละครมีมิติมากขึ้น โดยเฉพาะ โหม๋ กับ ทองคำ / ความสัมพันธ์ของ แม่ กับ เสก จะทำให้เห็นเหตุแห่งความเจ้าเล่ห์ ความโลภ ในความเป็นสามัญของมนุษย์ได้สุดติ่งยิ่งขึ้น
    • แม่แสง (สีดา พัวพิมล) โดยรูปลักษณ์แล้วมีความเป็นคนไทยภาคกลาง และใกล้เคียงกับ คนใต้ มากกว่า ‘แม่อุ้ย’ ของคนเหนือ (แต่ในเมื่อไม่มีใคร อู้คำเมือง ทำให้เรื่องมีความเป็น ‘ไทยสากล’ เหมาะกับคนกลุ่มใหญ่ในประเทศมากกว่า แต่ไม่เนียนสนิทไปกับเนื้อหาและสถานที่ ซึ่งได้เลือกแล้วว่าต้องเป็นสวนทุเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านที่ตัวละครเกิดและอยู่อาศัยมาค่อนชีวิตในพื้นที่แห่งนี้) หากให้บุคลิกเป็น แม่อุ้ย ที่ดูอ่อนโยนเยือกเย็นแต่เจ้าเล่ห์อยู่ในทีอาจจะ Anti Climax ไม่เหมาะกับภาพลักษณ์ใจดีที่คุ้นเคยตามธรรมชาติของคนเหนือ แต่ในความเป็น Realistic ต้องการโจทย์ยากกว่านี้
    • ฉากในศาลไม่มีการไต่สวนในประเด็นสำคัญ ที่ตัวละครควรได้สู้กันด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายมากกว่านี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิทธิมนุษยชนกับความเป็นคนที่ควรได้รับความยุติธรรม จากพฤติกรรมและสถานะจริงแท้ที่เป็นอยู่ สู้กับสิทธิ์ตามกฎหมายของแม่แม้รู้ว่ายังไงก็แพ้ (พยายามให้เท่ากับตอนที่อ้อนวอนหมอ จนจะถอดกางเกงให้ดูก้นเพื่อยืนยันร่องรอยพยานรัก เห็นถึงหัวใจไม่ยอมแพ้ หากคิดว่าหมดทางสู้กับกฎหมาย ยังไงก็ปิดประตูแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ไม่ควรเสียเวลา แล้วกลับมาขอขมาเพื่อทวงสิทธิ์ ก็เป็นหลักการในวิธีคิดของงานเขียนบทที่ฉลาดผูกเงื่อนเลื่อนระดับ ให้เส้นเรื่องเข้าสู่ Theme

     

     

    • การเซ็นต์ยกบ้านให้โหม๋ที่ชัดเจนตัวบรรจง ทั้งที่อยู่ในเวลาแม่ไม่สมประกอบ ควรบอกสภาพสายตาคนชรา กับภาวะที่ไม่เอื้อมากกว่านี้ และควรอยู่บนกระดาษแผ่นที่ใหญ่กว่านี้อีกนิด เพื่อให้พื้นที่สำหรับตัวอักษรที่ใหญ่โย้เย้ขึ้นเพราะสายตายาว (จงใจให้แผ่นเล็กกว่าฝ่ามือ เพื่อย้ำว่าข้อความไม่กี่คำในกระดาษบนพื้นที่เล็กน้อยเพียงแค่นี้ ที่สามารถแสดงอำนาจครอบครองสิ่งที่ใหญ่โตกว้างใหญ่ได้ ทั้งที่สิ่งนั้นเป็นเพียง ‘สมมุติ’ ที่มนุษย์บัญญัติขึ้น)
    • ฉากแต่งงานของ โหม๋ ตามประเพณีชาวไทยใหญ่ ไม่มีพิธีรดน้ำสังข์แบบไทยให้สมเกียรติท่านปลัด มีเพียงผูกข้อมืออวยพรง่ายงามตามวิถี ถ้ามีพิธีรดน้ำสังข์แล้วตัดสลับกับน้ำบาดาล ขณะที่ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน (บนบ้านกับในไร่) จะเป็นภาพที่ช่วยอธิบายประเพณีไทย กับความนัยของคู่รักนอกรีต ให้คนชาติอื่นดูแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที และเห็นถึงความหมายของการรดน้ำในพิธีสมรส และสามารถสื่อ contrast ระหว่างคู่รักในไร่ที่ใช้น้ำบาดาลบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตใจ (แม้ไม่รู้ลึกถึงความ แท้-เทียม ที่เป็นอยู่ในความจริงอย่างชัดเจนก็ตาม) หลังเสร็จพิธีทองคำเข้าไปคุกเข่าร้องขออนุญาตขอความเมตตากับโหม๋ เพื่อให้จิ่งนะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน - เหตุเกิดวันเดียวกัน

     

     

    • เนื้อหาหลักเน้นหนักเส้นเรื่องไม่เปลืองงบทบเวลา และเกรงว่าจะเป็นการยัดเยียดสารคดี เราจึงไม่เห็นรายละเอียดในอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นหลายด้าน โดยเฉพาะประเพณีบวชแทนคุณบิดามารดาของชาวไทยใหญ่ หนึ่งเดียวในโลกของเมืองแม่ฮ่องสอน (ปัจจุบันการท่องเที่ยวช่วยกระจายถ่ายเทไปถึงเชียงใหม่กับเชียงราย) จึงสัมผัสได้เพียงมุมมองสายตานักท่องเที่ยวที่บังเอิญผ่านมาพบพิธี ปอยส่างลอง หรือ บวชลูกแก้ว (อุปสมบทสามเณรหมู่ช่วงเดือนเมษายน) แม้มีช่วงสำคัญหลายขั้นตอนซึ่งสามารถขยี้บท ใส่รายละเอียด หรือสัญลักษณ์ได้โดยไม่นอกเรื่อง เพียงเพิ่มเนื้อหาอีกนิด ให้เวลากับพิธีช่วงสำคัญ และบรรยากาศงานอีกหน่อย (ไม่ต้องยาว โยนเข้าตอน โกนหัวกับทำขวัญ แค่นั้นการใช้สายตาเฆี่ยนฆ่ากันกลางงานบวชก็จะมีมิติมากขึ้น ได้เห็นแก่นประเพณีชัดเจนด้วย) จะช่วยเคี่ยวให้เนื้อหาอลังเข้มขลัง ขายได้ทั้งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ศรัทธา และวิถีเอเชีย ที่ชาวโลกควรได้มีส่วนร่วมรับรู้การบันทึกประวัติศาสตร์ ที่อาจถูกปรับเปลี่ยนไปในอนาคต

     

     

    • มีตัวอย่างบางตอนที่หายไปจากเนื้อเรื่องซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรตัดออก (คือฉากที่ทองคำมาคุกเข่าขออนุญาตโหม๋ให้ยอมปล่อยจิ่งนะไปใช้ชีวิตคู่กับเขา ฉากนี้เชื่อมโยงกับฉากขนของเตรียมหนีไปด้วยกัน แต่โหม๋สกัดไว้ “กูไม่ให้น้องไปกับมึง”) ยอมเป็นเบี้ยล่างอย่างคนที่ยอมแพ้ ของคนที่บูชาความรักเป็นสรณะ ยอมเสียสละสิทธิ์ที่เคยคิดว่าควรต้องได้อย่างไม่เสียดาย ยอมละทิฐิลดศักดิ์ศรีอีกครั้งเพื่อมีชีวิตใหม่ในเส้นทางที่ปรารถนา ปิตาธิปไตยถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยความเป็น ‘ทองคำ’ ในใจคน แม้มีเหตุผลของการตัดออกบอกคำเดียวว่า เสียดายมาก อยากให้ต่อเนื่องเรื่องของเหตุผล
    • หลายฉากที่ควรมีเวลาได้ทอดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับเนื้อหามากกว่าแค่วิ่งผ่าน คือความพร่องของงานตัดต่อที่เร่งรีบอารมณ์ซีรีส์วัยรุ่น หรือหนังโฆษณาที่ตั้งสปีดแข่งกับเวลา เช่น ตอนจบที่ต๊างสามีโหม๋ลงมาจะช่วยเมียขณะโดนยาฆ่าแมลงสาดใส่ตา พิษของยาตามที่ปูมาแต่ต้น (เสกสอนทองคำ ทองคำบอกจิ่งนะ) ตามความเป็นจริงต๊างเจ็บปวดตาจากพิษของยาฆ่าแมลงไม่น้อย ต้องมะงุมมะงาหราหาทิศไม่เจอนานกว่านี้ ผู้ชมมีลุ้นมากขึ้นกว่าที่รีบฟันให้โดนเป้า (ยังไงจิ่งนะก็เอียงคอรอจังหวะอยู่) เพราะภาพพยายามฆ่าไปกันได้กับโทนเรื่องแนว Drama Thriller จะได้ภาพสมจริงมากขึ้นกว่านี้ ฯลฯ

     

     

    มากกว่าสมบัตินอกกายใด ๆ ที่ทุกคนใฝ่หา คือ ‘ความรัก ความเมตตา’ ต่อเพื่อนมนุษย์ จุดจบไม่มีใครต้องการยื้อแย่งอีกต่อไป โหม๋อภัยไถ่โทษให้ทองคำออกจากคุก ทองคำยอมเสียสละบ้านที่ดินจากน้ำพักน้ำแรงให้โหม๋และพร้อมจากไป  ทุกคนเป็นอิสระจากการดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งที่ขาด ต่างมีชีวิตใหม่หลังการสูญเสียซึ่งเกิดจาก ‘เวรกรรม’ และ ‘ชะตากรรม’ ผ่านไป หนังนำให้ตระหนักว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีชีวิตที่เป็นอิสระ พ้นจากพันธะของกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง …

    GDH เดินทางมาถึงจุดที่เป็น ‘ตัวแทนหนังไทย’ สร้างให้ไปต่อได้ในตลาดโลก จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในยุคนี้ ที่ทั้งการเมืองการตลาดประกาศ ‘เผาจริง’ แข่งกันอย่างน่าใจหาย นโยบาย Soft Power ของ รัฐบาลเพื่อไทย ผู้เป็นเจ้าของ THACCA และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องแขวนรออย่างไม่รู้ชะตากรรม ขอให้ผู้สร้างหนังไทยทุกกลุ่มหลุดพ้นจากภาวะความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ ‘ใช้เท่าที่มี ทำให้ดีเท่าที่ทำได้’ ยังศักดิ์สิทธิ์เสมอ เราจะสู้ไปด้วยกันในภาวะคับขันของบ้านเมือง.

     

     

    'Rain Wedding (เหมือนวิวาห์)'[4]

    ('วิมานหนาม' soundtrack)
    โดย JEFF SATUR

     

    ท่ามกลางหมู่ดอกไม้มากมาย ทันใดฝนกลับรังแก เหยียบดวงใจ
    ฝนร่วงโรยดังรักล่วงเลย ไม่มีรักจริงจากใจ จากผู้ใด

    แต่เมื่อฉันได้พบเธอ ลมฝนที่ได้เจอ มันก็เปลี่ยนไปจากเคย
    ลมพัดแรงเท่าไร เปียกและปอนเท่าใด แต่เมื่อฉันมีเธออยู่

    ยามเมื่อฝน เทลงมา เดาว่าฟ้านั้นอวยพร
    ให้ความรักเราทั้งสองครองคู่ไปนิรันดร
    ฮักเจ้าหลาย ฮักเจ้าหลาย จงยื่นมือให้ฟ้าท่านเถิด
    ฝนที่เทลงบนมือเราดั่งงานวิวาห์
    หากวันใด เจอพายุ คงไม่กลัวสักเท่าไหร่
    ต่อให้ฝนสาดดวงใจ รักจากเธอนั้นปลอบฉัน
    ฮักเจ้าหลาย ฮักเจ้าหลาย จงเต้นรำยามฟ้ากระหน่ำ
    ขอแค่มีเธอทุกๆ วัน ก็เป็นเหมือนวิวาห์

    รักที่เคยได้พบและผ่าน ในวันนี้เป็นดังเงา เฝ้ารังควาญ
    ขังฉันอยู่ในกรงน้ำตา แต่เธอพาใจฉันออกมา

    แต่เมื่อฉันได้พบเธอ ลมฝนที่ได้เจอ มันก็เปลี่ยนไปจากเคย
    ลมพัดแรงเท่าไร เปียกและปอนเท่าใด แต่เมื่อฉันมีเธออยู่

    ยามเมื่อฝน เทลงมา เดาว่าฟ้านั้นอวยพร
    ให้ความรักเราทั้งสองครองคู่ไปนิรันดร
    ฮักเจ้าหลาย ฮักเจ้าหลาย จงยื่นมือให้ฟ้าท่านเถิด
    ฝนที่เทลงบนมือเราดั่งงานวิวาห์
    หากวันใด เจอพายุ คงไม่กลัวสักเท่าไหร่
    ต่อให้ฝนสาดดวงใจ รักจากเธอนั้นปลอบฉัน

    ฮักเจ้าหลาย ฮักเจ้าหลาย จงเต้นรำยามฟ้ากระหน่ำ
    ขอแค่มีเธอทุก ๆ วัน ก็เป็นเหมือนวิวาห์

     

     

    หมายเหตุ :

    • ขอบคุณภาพนิ่งและวิดีโอจาก GDH

      


    [1] A-tis Aom Thammaruja, CASTING NOTE, facebook.com, สืบค้น 25 สิงหาคม 2567 https://www.facebook.com/photo?fbid=10161837756414306&set=pcb.10161837759009306

    [2] จักระคืออะไร , www.emcthai.com, สืบค้น 25 สิงหาคม 2567  https://www.emcthai.com/chakra-beginner-guide

    [3] กว่าจะเป็น ‘สมรสเท่าเทียม’, thaipbs.or.th, สืบค้น 25 สิงหาคม 2567 https://www.thaipbs.or.th/news/content/340504

    [4] เพลงเหมือนวิวาห์, Jeff Satur, 25 สิงหาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=7lKLFVHAQMo