ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิบัติการทางทหารในเชียงตุงกับเมืองพานและชายแดนจีน

27
สิงหาคม
2567

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ภายหลังการประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตร นอกจากกระทำสงครามจิตวิทยา ทางรัฐบาลได้ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่เชียงตุงกับเมืองพาน รวมไปถึงชายแดนจีน
  • ผลจากการปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลไทยได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและความสัมพันธ์กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจนกระทั่งหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

 


ทหารไทยในเชียงตุง

 

-1-

นอกจากการปฏิบัติทางการเมืองอันเป็นปฏิปักษ์อย่างแรงต่อสัมพันธมิตรดังกล่าวแล้วประกอบด้วยการกระจายเสียงทางวิทยุประณามฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหนัก รัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ปฏิบัติทางทหาร โดยส่งกองทัพรุกเข้าไปในเชียงตุงกับเมืองพานแห่งแคว้นฉานอันเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันหนึ่งตามคติของประมุขรัฐบาลไทยในการรวบรวมชนเชื้อชาติไทยเพื่อสถาปนามหาอาณาจักรไทย การกระทำเช่นนี้ทำให้อังกฤษถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรูทั้งทางนิตินัยและทางการปฏิบัติ

 

-2-

กองทัพไทยได้ปะทะกับทหารจีนจำนวนเล็กน้อยที่ทางจีนส่งมาขัดตาทัพญี่ปุ่นไว้ ณ ที่นั้น ทหารจีนต้องล่าถอยไป

เครื่องบินไทยได้ไปทิ้งระเบิดบริเวณชายแดนจีน (ข้าพเจ้าทราบภายหลังว่าระเบิดบางลูกตกลงหมู่บ้านของคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในดินแดนจีน ทั้งนี้อาจเนื่องจากแผนที่การบินไม่อาจบอกรายละเอียดไว้ได้ว่า หมู่บ้านใดคนเชื้อชาติไทยตั้งหลักแหล่งอยู่) รัฐบาลจีนถือว่าตนถูกท้าทายจากรัฐบาลไทยประดุจถูกนักเลงตีกระทบไหล่ ขณะแรกนั้น เจียงไคเช็คได้รับแต่งตั้งจากสัมพันธมิตรให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในสมรภูมิจีนรวมทั้งในสมรภูมิไทยด้วย ทางจีนจึงหมายมั่นปั้นมือว่า จะยกกองทัพเข้ามารบญี่ปุ่นในเมืองไทยให้ได้ และจะยึดครองประเทศไทยไว้จนกว่า สัมพันธมิตรจะตกลงกันในปัญหาอนาคตของประเทศไทย

 

-3-

 


ผิน ชุณหะวัณกับปฏิบัติการในเชียงตุง

 

ภายหลังสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรและอักษะได้เปิดเผยจำนวนทหารฝ่ายตนที่ตายและบาดเจ็บ จึงสมควรที่หนังสือ ยุทธโกษ ซึ่งแสดงถึงความลำบากของทหารในสมรภูมินี้จะชี้แจงความจริงว่า มีทหารไทยต้องบาดเจ็บล้มตายเพราะเหตุใด จำนวนเท่าใดบ้าง

ภาระของรัฐบาลไทยในการยึดครองรัฐในแคว้นฉานนั้น ต้องเผชิญปัญหาหลายประการรวมทั้งปัญหาฝิ่น เนื่องจากพลเมืองส่วนมากในดินแดนนั้นมีอาชีพในการปลูกฝิ่น ผู้ที่ไม่สุจริตบางคนได้ร่ำรวยในการค้าฝิ่นเถื่อนสมัยนั้นและได้ค้านเถื่อนร่ำรวยต่อมาอีก ดั่งที่อดีตอธิบดีกรมฝิ่น ได้ชี้แจงในรัฐสภาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2492 ว่าสมัยก่อนนี้มีฝั่นเถื่อนนับได้เพียงสิบ ๆ กิโลกรัมเท่านั้น แต่สมัยที่อดีตอธิบดีนั้นกล่าว ปรากฏว่าฝิ่นเถื่อนมีจำนวนเป็นตัน ๆ

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์, “ปฏิบัติการทางทหารในเชียงตุง กับเมืองพานและชายแดนจีน” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 233-235.